นโยบายแก้ไขปัญหาความยากจน รวมถึงการพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนอีสาน โดยเฉพาะประชาชนในภาคการเกษตร ยังคงเป็นนโยบายที่แต่ละพรรคการเมืองนิยมนำเสนอในช่วงหาเสียงทุกการเลือกตั้ง เพื่อหวังได้เสียงสนับสนุนจากคนในภาคอีสาน ภาคที่จำนวนผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งมีมากที่สุดในประเทศ
แต่ทว่าต้นเหตุของปัญหาดังกล่าวต่างเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย ซึ่งถือว่าเป็นความท้าทายของพรรคการเมืองแต่ละพรรค ที่จะคิดและนำเสนอนโยบายที่จะแก้ไขปัญหาดังกล่าวได้จริง เป็นรูปธรรม และเข้ากับรูปแบบปัญหาที่เปลี่ยนไป
ปัญหาหนี้สินจากการทำการเกษตรเป็นปัญหาที่เกษตรกรจำนวนมากำลังประสบ ข้อมูลจากสำนักจัดการหนี้เกษตรกร กองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร ปี 2561 เปิดเผยว่า มีเกษตรกรยากจนกว่า 6 ล้านคน ในจำนวนนี้เป็นเกษตรกรจากภาคตะวันออกเฉียงเหนือเกือบ 3 ล้านคน ซึ่งเกษตรกมีรายได้เฉลี่ยต่อปีอยู่ที่ 56,000 บาท ขณะที่รายจ่ายเฉลี่ยอยู่ที่ปีละ 130,000 บาท และเกษตรกรมีหนี้สะสมมากกว่า 84,000 ล้านบาท
สาเหตุของการเกิดหนี้สินมาจากต้นทุนการผลิตที่สูง แต่ราคาผลผลิตที่ตลาดรับซื้อกลับต่ำ มีการใช้แรงงานจากเครื่องจักรมากกว่าแรงงานคน ทำให้เกษตรกรต้องเช่าหรือซื้อเครื่องจักรกลทางการเกษตร รวมถึงกรณีผลผลิตทางการเกษตรลดลงเนื่องจากภัยธรรมชาติต่างๆ เช่น ภัยแล้งที่ทำให้ขาดแคลนน้ำในการเพาะปลูก เป็นต้น
เดอะอีสานเรคคอร์ดรวบรวมความเห็นจากตัวแทนพรรคการเมืองต่างๆ ที่มาแถลงนโยบายแก้ไขปัญหาเกษตรกรที่จังหวัดขอนแก่นและอุบลราชธานี
ประชาธิปัตย์: ยกระดับสินค้าเกษตรส่งนอก ประกันราคา ตั้งกองทุนน้ำเพื่อลดต้นทุนการผลิต
กรณ์ จาติกวณิช รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์และประธานคณะกรรมการนโยบายพรรค กล่าวว่า วิธีการที่จะแก้ไขปัญหาหนี้สินเกษตรกรของพรรคคือ การยกระดับผลผลิตทางการเกษตรในภาคอีสานให้เป็นสินค้ามีที่คุณภาพเพื่อส่งออกไปขายในต่างประเทศ
ภาคอีสานอยู่ในเขตศูนย์กลางเส้นทางการค้าในระดับภูมิภาคอาเซียน กรณ์มองว่า 10 กว่าปีที่ผ่านมานี้ กลุ่มประเทศเพื่อนบ้านอย่าง เวียดนาม กัมพูชา และลาว มีอัตราการการเติบโตทางเศรษฐกิจสูงและมีกำลังซื้อเพิ่มมากขึ้น
“คนในประเทศเหล่านั้นก็นิยมซื้อสินค้าในไทย โดยเฉพาะในภาคอีสานที่อยู่ใกล้พวกเขา ซึ่งถือเป็นความได้เปรียบของคนอีสานที่มีตลาดต่างประเทศใกล้เคียง” กรณ์กล่าว

ชาวนาที่จังหวัดสุรินทร์กำลังปักต้นกล้าข้าว (ภาพจากแฟ้ม)
นอกจากนี้ พรรคประชาธิปัตย์จะยังสานต่อนโยบายประกันราคาสินค้าเกษตร นโยบายที่พรรคประชาธิปัตย์เคยทำสำเร็จในช่วงที่เป็นรัฐบาลเมื่อปี 2551 ให้เกษตรกรเช่นเคย เนื่องจากเป็นนโยบายที่รัฐบาลจะช่วยเหลือเกษตรกรเมื่อราคาผลผลิตทางการเกษตรตกต่ำ หากเกษตรกรขายผลผลิตแล้วขาดทุน รัฐบาลจะต้องจ่ายเงินคืนเกษตรกรในส่วนที่ขาดทุน ซึ่งเรียกว่า เงินชดเชยส่วนต่าง
“เราคิดว่า ปัญหาราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ รัฐบาลควรรับผิดชอบดูแลเกษตรกร โดยดูแลให้เกษตรกรพออยู่ได้ในเวลาที่ราคาตกต่ำ” กรณ์กล่าว
อีกเรื่องที่พรรคประชาธิปัตย์อยากจะให้ความสำคัญคือเรื่องน้ำ ซึ่งถือเป็นปัจจัยสำคัญในการเกษตรและเป็นหนึ่งในต้นทุนทางการเกษตรที่สูง ศุภชัย ศรีหล้า อดีต ส.ส. อุบลราชธานี พรรคประชาธิปัตย์และอดีตรองเลขาธิการพรรค กล่าวว่า
พรรคจะเสนอนโยบายกองทุนน้ำของชุมชน โดยให้เงินแก่ชุมชนทั่วประเทศในการออกแบบแหล่งกักเก็บน้ำไว้ใช้ในการเกษตรด้วยตัวชุมชนเอง
“พรรคเราเชื่อว่า ชุมชนแต่ละชุมชน เกษตรกรแต่ละพื้นที่ มีความรู้ในใช้น้ำ กักเก็บน้ำ ซึ่งเป็นความรู้แบบภูมิปัญญา พวกเขารู้ว่าหน้าแล้งจะเก็บน้ำอย่างไร หน้าฝนจะเก็บอย่างไร เพื่อใช้ในการเกษตร” ศุภชัยกล่าว
ส่วนเรื่องที่ดินทำกินนั้น พรรคประชาธิปัตย์ได้นำเสนอนโยบายโฉนดสีฟ้า คือ การออกกฎหมายโฉนดชุมชน เพื่อให้ชุมชนมีสิทธิ์ในการจัดการดินทำกินของชุมชน รวมถึงจะยกระดับเอกสารสิทธิ์ที่ดินแบบ สปก. ให้สามารถนำไปกู้เงินจากธนาคารรัฐและจะนำเสนอนโยบายธนาคารที่ดิน
“น้ำ ที่ดิน เงิน คือยุทธศาสตร์แก้ปัญหาความเดือดร้อนของเกษตรกรเฉพาะหน้าที่ พรรคประชาธิปัตย์จะทำเมื่อได้เป็นรัฐบาล” ศุภชัยกล่าว
สหกรณ์การเกษตรครบวงจรแก้ปัญหาต่างๆ ที่เกษตรกรประสบ
อีกหนึ่งนโยบายยกระดับคุณภาพชีวิตเกษตรกรและแก้ไขปัญหาความยากจนของเกษตรกรที่ศุภชัยและกรณ์นำเสนอคือ นโยบายส่งเสริมให้มีสหกรณ์การเกษตรครบวงจรในทุกท้องถิ่น โดยให้เกษตรกรรวมตัวกันจัดตั้งสหกรณ์การเกษตรครบวงจรในพื้นที่ ทั้งสองเชื่อว่านโยบายนี้จะเปลี่ยนแปลงวิถีการทำการเกษตรของเกษตรกรไทยไปอย่างไม่เคยมีมาก่อน
“สหกรณ์แห่งนี้จะรวมปัจจัยการผลิต เครื่องมือการเพาะปลูก มีนักวิจัยเมล็ดพันธุ์ มีนักการตลาด มีนักออกแบบผลิตภัณฑ์ครบวงจรการทำการเกษตร” ศุภชัยกล่าว
เขายกตัวอย่างว่า ในบางพื้นที่มีการปลูกข้าว ที่นั่นจะมีสหกรณ์ข้าวครบวงจร ในสหกรณ์ก็จะมีฝ่ายบริหารมืออาชีพ มีฝ่ายรับซื้อข้าวจากเกษตรกรในพื้นที่ในราคาที่เป็นธรรม ฝ่ายการตลาด ฝ่ายขนส่ง ฝ่ายออกแบบผลิตภัณฑ์ ฝ่ายวิจัยขยายพันธุ์ข้าว โดยแต่ละฝ่ายมีเกษตรกรรุ่นใหม่ในท้องถิ่นนั้นๆ เข้าไปบริหารจัดการร่วมกับเกษตรกรในพื้นที่
ศุภชัยกล่าวอีกว่า สหกรณ์นี้จะรับซื้อข้าวจากชาวนาในพื้นที่ แล้วจะนำมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์อื่นๆ เช่น แปรรูปเป็นอาหาร ขนม หรือเป็นส่วนผสมในอุตสาหกรรมเคมีทางการเกษตร เช่น ผลิตเครื่องสำอาง หรือผลิตเป็นยาสมุนไพร เป็นต้น รวมถึงมีการออกแบบผลิตภัณฑ์ก่อนขาย
“เมื่อได้ผลิตภัณฑ์ นอกจากข้าวเปลือกที่เคยขาย ฝ่ายการตลาดในสหกรณ์จะจัดหาตลาดที่ใกล้ชุมชน เช่น ขายให้หน่วยงานราชการ โรงเรียน โรงพยาบาล เพื่อให้เศรษฐกิจหมุนเวียนในพื้นที่ คิดว่าสหกรณ์นี้จะแก้ไขปัญหาของเกษตรได้หลายอย่าง” ศุภชัยกล่าว

เจ้าของโรงสีแห่งหนึ่งในจังหวัดสุรินทร์สาธิตวิธีการวัดความชื้นของข้าว (ภาพจากแฟ้ม)
อนาคตใหม่: ผลักดันบริษัทการเกษตรของชุมชนทุกพื้นที่ หวังค้าขายกับเอกชนได้อย่างคล่องตัว
อนุกูล ทรายเพชร ผู้สมัคร ส.ส. เขต 4 สุรินทร์ พรรคอนาคตใหม่ กล่าวว่า พรรคจะปลดและปรับหนี้ให้เกษตรกร ภายใน 4 ปี โดยเฉพาะเกษตรกรที่สูงอายุและเกษตรกรที่มีปัญหาสุขภาพ ไม่สามารถทำงานหาเงินมาใช้หนี้ได้ ซึ่งพรรคลองคำนวณจำนวนเงินที่รัฐจะต้องนำมาปลดหนี้ครั้งนี้ พบว่ามีจำนวนเพียงแค่ 1 แสนกว่าล้านบาท ซึ่งคิดว่าเป็นจำนวนเงินที่สามารถนำมาใช้จ่ายได้โดยไม่กระทบงบประมาณประเทศ
“เราคิดว่า เมื่อเกษตรกรหลุดพ้นจากภาวะหนี้สิน เกษตรกรจะสามารถมีกำลังใจและมีแรงในการทำงานต่อไป” อนุกูลกล่าว
หลายคนตั้งคำถามว่า แล้วเกษตรกรจะกลับมาเป็นหนี้เหมือนเดิมหรือไม่ อนุกูลตอบว่า พรรคจะมีโครงการรองรับเกษตรกรที่หลุดพ้นจากภาวะหนี้สินให้กลับมาทำการเกษตรได้อีกครั้ง โดยเสนอกองทุนเกษตรก้าวหน้า ซึ่งหลักการของกองทุนคือ รัฐบาลจะสนับสนุนและพัฒนาสร้างโครงสร้างพื้นฐานในระบบการผลิตทางการเกษตรในแต่ละพื้นที่ทั่วประเทศใหม่ เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับเกษตรกร เช่น การพัฒนาที่ดิน ปรับปรุงที่ดิน แหล่งน้ำ คลองส่งน้ำ เครื่องมือในการทำการเกษตร รถไถ รถเกี่ยว ถนนหนทางจากไร่นาสู่ตลาดรับซื้อผลผลิต รวมถึงใบอนุญาตในการค้าขายกับตลาดที่มีมาตรฐาน เป็นต้น
“ตามหลักแล้ว รัฐบาลต้องพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานในระบบผลิตการค้าขายดังกล่าวให้กับเกษตรกร เพื่อให้เกษตรกรไม่ต้องหาเงินมาลงทุนในสิ่งที่สิ้นเปลือง เหมือนที่เคยเกิดขึ้น” อนุกูลกล่าว
อีกหนึ่งนโยบายที่พรรคอนาคตใหม่เสนอเพื่อแก้ไขปัญหาหนี้สินเกษตรกรระยะยาวคือ การตั้งบริษัทการเกษตรของชุมชน ในรูปแบบธุรกิจเพื่อสังคม (Social Enterprise) ซึ่งจะเป็นการรวมตัวของเกษตรกรชุมชนเพื่อทำธุรกิจค้าขายสินค้าเกษตรและผลิตภัณฑ์แปรรูปต่างๆ ระหว่างเอกชนกับเอกชนได้โดยตรง โดยไม่ต้องผ่านพ่อค้าคนกลาง
อนุกูลกล่าวว่า รัฐบาลที่ผ่านมามักจะส่งเสริมให้ชุมชนมีสหกรณ์การเกษตรในชุมชน แต่รูปแบบสหกรณ์มีปัญหาใหญ่คือ สหกรณ์ไม่สามารถค้าขายกับบริษัททั้งในและต่างประเทศได้ เพราะไม่มีใบอนุญาตตามหลักการของการทำการค้าที่มีมาตรฐานสากล
“พรรคอนาคตใหม่จะผลักดันให้มีบริษัทการเกษตรในชุมชน เพื่อให้คนในชุมชนสามารถพัฒนาสินค้าและทำสัญญาการค้าได้กับบริษัททั้งในและต่างประเทศ มันจะทำให้ผลผลิตทางการเกษตรของเกษตรกรมีมูลค่าสูงขึ้น” อนุกูลกล่าว
พรรคพลังท้องถิ่นไท: ส่งเสริมตลาดรับซื้อผลผลิตจากเกษตรอินทรีย์
เกรียงไกร ภูมิเหล่าแจ้ง รองหัวหน้าพรรคพลังท้องถิ่นไท มองว่า ต้นทุนการการเกษตรปัจจุบันเกิดจากการพึ่งพาปุ๋ยเคมีจำนวนมากในการเพาะปลูก ซึ่งไม่ตรงกับความต้องการของผู้บริโภคในตลาดปัจจุบันที่ให้ความสนใจบริโภคผลผลิตทางการเกษตรที่ปลอดสารพิษมากขึ้น
“ปัจจุบันคนรักสุขภาพมากขึ้น หันมากิน พืช ผักและอาหารที่ปลอดสารพิษ ดังนั้น เราจะส่งเสริมให้ตลาดรับซื้อผลผลิตทางการเกษตรจากเกษตรกรที่ไม่ใช้สารเคมี”
เกรียงไกรเชื่อว่า สินค้าเกษตรปลอดสารพิษจะมีราคาสูงกว่าที่มีสารพิษ ซึ่งจะเป็นหนทางหนึ่งที่จะทำให้ราคาสินค้าเกษตรสูงขึ้น แล้วเกษตรกรจะมีรายได้เพิ่มขึ้น
เพื่อไทย: พักชำระหนี้ 3 ปี โรงสีทุกตำบล ส่งเสริมอาหารสุขภาพปลอดสารพิษ
พรรคเพื่อไทยจะเสนอนโยบายเร่งด่วนแก้ไขปัญหาระยะสั้นคือ พักชำระหนี้สินเกษตรกรเป็นเวลา 3 ปี
ชูวิทย์ พิทักษ์พรพัลลภ ผู้สมัคร ส.ส. เขต 2 อุบลราชธานี กล่าวว่า เมื่อเกษตรกรเป็นหนี้อยู่ ถึงจะขยันเพาะปลูก แต่หนี้สินก็ไม่หมดเสียที เกษตรกรหลายคนยิ่งทำงานมากยิ่งเป็นหนี้ การพักชำระหนี้จะทำให้เกษตรมีเงินเก็บ และพรรคจะกระตุ้นให้ราคาสินค้าเกษตรมีราคาดีขึ้นภายใน 6 เดือนต่อไป
พรรคจะส่งเสริมให้ตลาดรับซื้อผลผลิตทางการเกษตรที่ปลอดสารพิษ เพราะตลาดผู้บริโภคปัจจุบันหันมาสนใจอาหารสุขภาพ พรรคเพื่อไทยจะทำให้พื้นที่การเกษตรภาคอีสานเป็นพื้นที่เพาะปลูกพืช ผัก และเลี้ยงสัตว์ปลอดสารเคมี ผลิตอาหารสุขภาพคุณภาพดี
“ราคาสินค้าปลอดสารพิษจะมีราคาดีกว่าสินค้าที่มาจากฟาร์มที่มีการใช้สารเคมี เราคิดว่าเกษตรกรจะมีรายได้เพิ่มขึ้นจากเดิมมาก เมื่อขายผลิตภัณฑ์การเกษตรปลอดสารพิษ” ชูวิทย์กล่าว

ตลาดพืชผักปลอดสารพิษที่ในเมืองจังหวัดขอนแก่น (ภาพจากแฟ้ม)
ชูวิทย์กล่าวอีกว่า ในภาคอีสาน เกษตรกรส่วนใหญ่ปลูกข้าวขาย โดยปัจจุบันจะเน้นขายข้าวเปลือก ซึ่งราคารับซื้ออยู่ที่ประมาณกิโลกรัมละ 10 – 11 บาท ถือว่าราคายังต่ำอยู่
พรรคเพื่อไทยจึงจะเสนอนโยบาย 1 ตำบล 1 โรงสีข้าว ที่จะสนับสนุนให้ชาวนาขายข้าวที่ผ่านการสีแล้ว ซึ่งข้าวสีพร้อมบริโภคจะขายในตลาดกิโลกรัมละ 20 – 30 บาท ซึ่งจะทำให้เกษตรกรขายข้าวได้ราคาสูงกว่าเดิม
“เราจะสร้างโรงสีข้าวให้ทุกตำบล เพื่อให้ชาวนาได้นำข้าวเปลือกไปสีก่อนนำมาจำหน่าย มันจะเพิ่มมูลค่าให้ข้าวของชาวนาได้มากกว่าเดิม” ชูวิทย์กล่าว
ภูมิใจไทย: เสนอกฎหมายจัดระบบจัดสรรปันผลประโยชน์พืชเศรษฐกิจ ดันปลูกกัญชาถูกกฎหมาย
ธีระชัย แสนแก้ว คณะกรรมการยุทธศาสตร์พรรคภูมิใจไทย มองว่า ปัญหาหนี้สินเกษตรกรล้วนเกิดจากราคารับซื้อจากตลาด ที่มีนายทุน-พ่อค้าคนกลางเป็นผู้กำหนดราคารับซื้อที่ต่ำและไม่เป็นธรรมกับเกษตรกร จึงไม่แปลกที่จะเกิดภาพพ่อค้าคนกลาง-นายทุนร่ำรวยจากการนำผลผลิตเกษตรกรไปขาย ซึ่งไม่ได้ลงแรงเพาะปลูก แต่เกษตรกรผู้ลงแรงเพาะปลูกกลับขายผลผลิตได้ราคาต่ำ เพราะนายทุนกดราคา
“ต้นตอปัญหาหนี้สินเกษตรกรเจอจากนายทุน-พ่อค้าคนกลางที่กำหนดราคารับซื้อจากเกษตรกรที่ไม่เป็นธรรม” ธีระชัยกล่าว
พรรคภูมิใจไทยจะเสนอวิธีการแก้ไขปัญหานี้โดยการผลักดันกฏหมายจัดสรรปันผลประโยชน์ระหว่างเกษตรกรกับพ่อค้าคนกลาง โดยประเทศไทยเคยมีกฎหมายลักษณะนี้บังคับใช้แล้ว ซึ่งก็คือ พ.ร.บ. อ้อยและน้ำตาลทราย ซึ่งกำหนดระบบแบ่งปันผลประโยชน์ระหว่างเกษตรกรกับนายทุนรับซื้อให้เป็นธรรม
กฎหมายดังกล่าวกำหนดให้ผู้มีส่วนในระบบการตลาดมีส่วนได้ผลประโยชน์ที่แตกต่างกัน คือ นายทุนส่งออกจะได้กำไรจากการขายร้อยละ 10 พ่อค้าคนกลางได้ร้อยละ 15 ส่วนเกษตรกรได้ร้อยละ 75 ซึ่งหากทำได้จริง เกษตรกรจะมีรายได้จากการขายผลผลิตทางการเกษตรที่เป็นธรรมกว่าปัจจุบัน
“เราเคยทำกับอ้อยได้ เราก็สามารถทำกับพืชเศรษฐกิจตัวอื่นๆ ได้ เช่นกัน นี่คือวิธีการช่วยเหลือเกษตรกรโดยที่รัฐไม่ต้องจ่ายเงินอุดหนุนราคาสินค้าเกษตรเลย” ธีระชัยกล่าว
นอกจากนี้ ภูมิใจไทยอยากสนับสนุนให้เกษตรกรหรือประชาชนสามารถปลูกกัญชาขายได้อย่างถูกกฎหมาย โดยพรรคจะเสนอแก้ไขกฎหมายเกี่ยวกับยาเสพติด ให้กัญชาสามารถนำมาบริโภคเป็นยาและเพื่อสุขภาพได้อย่างถูกฎหมาย โดยจะสนับสนุนให้คนไทยปลูกกัญชาได้ครอบครัวละ 6 ต้น โดย 1 ต้นจะได้ผลผลิต 1 กิโลกรัม ซึ่งสามารถขายได้กิโลกรัมละ 72,000 บาท รวมแล้วถ้าทุกบ้านมี 6 ต้น ครอบครัวนั้นจะมีรายได้ปีละ 420,000 บาท
พรรคประชาชนปฏิรูป: ชูเปลี่ยนที่นาที่ไร่ปลูกต้นไม้โตเร็วขาย
ไพบูรณ์ นิติตะวัน หัวหน้าพรรคประชาชนปฏิรูป เสนอนโยบายเปลี่ยนการปลูกข้าวและพืชไร่อื่นๆ เป็นการปลูกต้นไม้โตเร็วเพื่อขาย และการปลูกต้นไม้โตเร็วสามารถปลูกง่าย เกษตรกรไม่ต้องดูแลอะไรมาก ไม่ต้องใช้สารเคมีในการเพาะปลูก เมื่อไม่ใช้สารเคมีแล้ว ต้นทุนการเพาะปลูกก็จะลดลง มีตลาดรับซื้อต้นไม้โตเร็วเหล่านี้อยู่แล้ว เขามองว่าเกษตรกรจะมีรายได้ที่มั่นคง ยั่งยืนมากกว่าการปลูกพืชล้มลุกที่เคยทำมา โดยนโยบายดังกล่าว รัฐบาลจะสนับสนุนพันธุ์ไม้โตเร็วให้เกษตรกรในช่วงแรก
“การปลูกพืชล้มลุกขาย มันทำให้เกษตรกรล้มลุกคลุกคลาน ยากลำบาก อยากให้เลิกปลูก มาปลูกต้นไม้ขายดีกว่า” ไพบูรณ์กล่าว