การเลือกตั้งที่จะถึงนี้ จำนวนผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งครั้งแรกจะมีมากถึง 7,368,589 คน นอกจากผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งอายุ 18 ปีแล้ว ยังมีผู้ที่เกิดระหว่างปี 2537-2544 ซึ่งยังไม่มีโอกาสเลือกตั้งเลยนับตั้งแต่ปี 2555 เป็นต้นมา คนกลุ่มนี้จะได้ใช้สิทธิ์เลือกตั้งครั้งแรกในวันอาทิตย์ที่จะถึงนี้ด้วย

สติธร ธนานิธิโชติ นักวิชาการผู้ชำนาญการจากสถาบันพระปกเกล้า วิเคราะห์ไว้ว่า รัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 กำหนดระบบการเลือกตั้งเป็นแบบจัดสรรปันส่วนผสม ซึ่งพรรคการเมืองแต่ละพรรคต้องการคะแนนเสียงประมาณ 70,000 เสียเพื่อให้ได้ ส.ส. 1 ที่นั่ง หากนำจำนวนผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งครั้งแรกกว่า 7 ล้านคนมาคำนวณก็เท่ากับว่า กลุ่มนี้จะสามารถเลือก ส.ส. ได้ประมาณ 100 ที่นั่ง

นักศึกษามหาวิทยาลัยขอนแก่น

จึงไม่แปลกที่พรรคการเมืองหลายพรรคต่างให้ความสนใจกับผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งครั้งแรกเพื่อหวังให้กลุ่มคนเหล่านี้เทคะแนนให้พรรคของตน ทว่าไม่ยากเลยที่พรรคการเมืองแต่ละพรรคจะเชิญชวนให้คนกลุ่มนี้มาลงคะแนนสนับสนุนได้ เพราะคนกลุ่มนี้ต่างมีทัศนคติและความเห็นต่อเรื่องสังคม ตลอดจนเรื่องการเมืองที่แตกต่างจากคนรุ่นก่อนหน้านี้ ซึ่งคนกลุ่มเหล่านี้ถูกจัดให้อยู่คนกลุ่ม Gen Y (Generation Y หรือ Millenials) ซึ่งเป็นกลุ่มคนที่เติบโตมากับการใช้สื่อออนไลน์หรือโซเชียลมีเดียในการติดตามเรื่องราวที่เกิดขึ้นในสังคม กลุ่มคนเหล่านี้จึงมีค่านิยม แนวคิด ทัศนคติหรือพฤติกรรมทางการเมืองที่แตกต่างจากคนรุ่นก่อนหน้านี้ ซึ่งทำให้ยากที่จะคาดเดาว่าคนกลุ่มนี้จะเลือกพรรคการเมืองไหน

เดอะอีสานเรคคอร์ดพูดคุยกับผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งครั้งแรกในรั้วมหาวิทยาลัยและโรงเรียนมัธยมศึกษาในภาคอีสานว่า พวกเขามีความรู้สึกและความเห็นอย่างไรต่อการที่จะได้เลือกตั้งเป็นครั้งแรก ต้องการรัฐบาลแบบไหนและนโยบายอะไรบ้าง  

การเลือกตั้งเพื่อนาคตของตนเองและประเทศ

“รู้สึกแปลกใหม่ดีครับ เพราะผมเพิ่งมีสิทธิ์เลือกตั้งครั้งแรก ไม่รู้สึกอะไรมากเท่าไหร่ ผมเองยังไม่รู้ด้วยซ้ำว่าจะเลือกพรรคไหนดี”

ที่กล่าวข้างต้นคือความเห็นของ ปุญญาพัฒน์ คำหลอย อายุ 19 ปี นักศึกษาคณะนิติศาสตร์ ชั้นปีที่ 1 มหาวิทยาลัยราชภัฎอุดรธานี เขาคือหนึ่งในกลุ่มคนผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งครั้งแรกกว่า 7 ล้านคน ที่จะได้เข้าคูหาเลือกผู้แทนราษฏรเข้าสภาบริหารประเทศในวันอาทิตย์ที่ 24 มีนาคม พ.ศ. 2562 นี้

ปุญญาพัฒน์ คำหลอย อายุ 19 ปี นักศึกษาคณะนิติศาสตร์ ชั้นปีที่ 1 มหาวิทยาลัยราชภัฎอุดรธานี

เขาออกตัวว่าไม่ค่อยสนใจการเมือง รู้เพียงว่าการเมืองเป็นเรื่องของการเลือกตั้งเท่านั้น

แต่ปุญญาพัฒน์เชื่อว่า การเลือกตั้งครั้งนี้ ทุกพรรคมีนโยบายใกล้เคียงกันหมด แต่คนส่วนใหญ่จะเลือกฝ่ายทางการเมืองมากกว่าเรื่องอื่น

“คนจะสนใจแต่คนที่ตัวเองชอบเข้าไปที่สภามากกว่านโยบาย” ปุญญาพัฒน์กล่าว

ดังกล่าวแตกต่างกับ ชัยพร บุญสืบ อายุ 22 ปี ภูมิลำเนาจังหวัดอุบลราชธานี อาชีพพนักงานบริษัทเอกชนแห่งหนึ่งในจังหวัดอุบลราชธานี ผู้เพิ่งจะมีสิทธิ์ได้เลือกตั้งครั้งแรกเช่นกัน โดยชัยพรเชื่อว่า หนึ่งเสียงของตนสำคัญ เพราะจะสามารถกำหนดอนาคตประเทศไทยหลังจากนี้

“หนึ่งเสียง ผมต้องการได้รัฐบาลที่มาแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจให้ดีขึ้น เพราะตลอดระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมา เศรษฐกิจย่ำแย่มาก” ชัยพรกล่าว

ศุจินทรา ผางโคกสูง อายุ 22 ปี กำลังศึกษาชั้นปี 3 คณะบริหารธุรกิจและเทคโนโลยีสารสนเทศ สาขาการตลาด มหาวิทยาลัยราชมงคลอีสาน วิทยาเขตขอนแก่น

สอดคล้องกับ ศุจินทรา ผางโคกสูง อายุ 22 ปี กำลังศึกษาอยู่ชั้นปี 3 คณะบริหารธุรกิจและเทคโนโลยีสารสนเทศ สาขาการตลาด มหาวิทยาลัยราชมงคลอีสาน วิทยาเขตขอนแก่น ที่เชื่อว่า การเลือกตั้งอาจจะทำให้ได้รัฐบาลที่มีความสามารถด้านการบริหารเศรษฐกิจเข้ามาบริหารแทนรัฐบาลทหารที่กำลังควบคุมและบริหารอยู่

“ถ้าสมมุติหลังเลือกตั้งมีรัฐบาลใหม่ พรรคการเมืองใหม่ที่มีความสามารถด้านบริหารเศรษฐกิจเป็นรัฐบาล เศรษฐกิจอาจดีกว่านี้ คนในสังคมจะได้มีรายได้เพิ่มขึ้น” ศุจินทรากล่าว

สาเหตุที่เชื่อเช่นนั้นเป็นเพราะเวลากว่า 5 ปี ที่รัฐบาลทหารบริหารประเทศ ทำให้นักลงทุนต่างชาติไม่มั่นใจเข้ามาลงทุนในประเทศไทย และเป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้เศรษฐกิจไทยแย่ลง

“เพราะที่เศรษฐกิจแย่ มันต้องเป็นพรรคที่มีนโยบายเศรษฐกิจที่ดี ไม่ใช่แต่จะเอาเงินไปแจกอะไรอย่างเดียว” นักศึกษาคณะนิติศาสตร์ ชั้นปีที่ 1 มหาวิทยาลัยราชภัฎอุดรธานีกล่าวในประเด็นนี้เช่นกัน  

สำหรับ พันกร คันธี อายุ 21 ปี คณะมนุษย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฎอุดรธานีกล่าวว่า การเลือกตั้งครั้งนี้จะเลือกพรรคที่มีนโยบายที่ดี และทำให้เศรษฐกิจไทยดีขึ้น

“ผู้นำประเทศ เมื่อเห็นบ้านเมืองเราเศรษฐกิจไม่ดี เศรษฐกิจตกต่ำ พวกท่านก็ต้องรู้ว่าเราควรพัฒนาอย่างไรเพื่อให้เศรษฐกิจดีขึ้น” พันกรแสดงความเห็น

เลือกตั้งอาจแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในประเทศ

ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งครั้งแรกบางคนมองว่าการเลือกตั้งครั้งนี้อาจจะแก้ไขปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองที่เคยเกิดขึ้นได้

“การเลือกตั้งจะเป็นทางออกของความขัดแย้งทางการเมืองที่เป็นมาอย่างยาวนาน” สุฐิตา เหลืองอุทัย นักเรียนหญิงชั้น ม.6 โรงเรียนอุดรพิทยานุกูล จังหวัดอุดรธานี บอก “จะคลี่คลายลง เพราะคนไทยทุกคนเห็นแล้ว ขัดแย้งกันแล้วมันมีผลเสียอย่างไร”  

ดังกล่าวต่างจากความเห็นของ กิตติ์ราดา โฉมหาญ นักเรียนชั้น ม.6 โรงเรียนเดียวกันที่มองว่า การเลือกตั้งไม่อาจแก้ไขความขัดแย้งทางการเมืองที่มีมานานได้ แต่เขาเชื่อว่าหนทางประชาธิปไตยจะเป็นเครื่องมือในการทำให้แต่ละฝ่ายที่ขัดแย้งกันสามารถปรับความเข้าใจและยอมรับความเห็นต่างกันได้

“ถ้าเราปรับทัศนคติเข้าหากัน ยอมรับความเห็นต่าง มันก็จะพัฒนาประเทศไปได้” กิตติ์ราดาเชื่อ

รัฐบาลชุดใหม่ พรรคการเมืองใหม่ ตัวเลือกใหม่

ดูเหมือนว่าการเลือกตั้งครั้งนี้ กลุ่มผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งครั้งแรกที่เดอะอีสานเรคคอร์ดได้สอบถามต่างล้วนมีความเห็นคล้ายคลึงกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งความเห็นที่ต้องการนักการเมืองหน้าใหม่ พรรคการเมืองใหม่ ตลอดจนวิสัยทัศน์การบริหารบ้านเมืองใหม่  

“คิดว่าน่าจะเป็นพรรคอนาคตใหม่  เขาก็เป็นคนรุ่นใหม่ เขาเข้าใจเรา” เนตรสุริยา สอนนำ อายุ 24 ปี กำลังศึกษาชั้นปี 4 คณะบริหารธุรกิจและเทคโนโลยีสารสนเทศ สาขาการตลาด มหาวิทยาลัยราชมงคลอีสาน วิทยาเขตขอนแก่นกล่าว

ทั้งนี้ เขายังเปิดเผยอีกว่าจะเลือกพรรคที่มีนโยบายเป็นประโยชน์ต่อตนเอง รวมถึงนโยบายเศรษฐกิจที่พัฒนาประเทศไทยให้ก้าวกระโดดมากกว่านี้

รถหาเสียงของ อรนุช ผลภิญโญ ผู้สมัคร ส.ส. เขต 5 จ.ชัยภูมิ พรรคอนาคตใหม่

คล้ายกับเพชรรัตน์ พิทักษ์ อายุ 22 ปี นักศึกษาคณะเดียวกันที่กล่าวว่า ตนจะเลือกพรรคอนาคตใหม่ เพราะอยากเห็นประเทศไทยมีอนาคตใหม่ที่ดีกว่านี้ เพราะพรรคอนาคตใหม่มีนโยบายใหม่ๆ และผู้นำที่จะมาบริหารก็เป็นคนรุ่นใหม่แบบนี้ น่าจะมีความรู้ที่สามารถนำมาพัฒนาได้ดี และสามารถรับฟังความคิดเห็นของคนรุ่นใหม่ด้วยกันได้ดีกว่า

“ผมจะเลือกพรรคอนาคตใหม่ ผมคิดว่า ถ้าผมเลือกพรรคใหญ่เดิมๆ ก็ไม่รู้ว่าจะเป็นแบบเดิมหรือเปล่า อยากเลือกพรรคใหม่ๆ ว่าจะเข้ามาเปลี่ยนแปลงอะไรได้ไหม” ณัฐภัทร อุดมศิลป์ อายุ 19 ปี กำลังศึกษาชั้นปีที่ 1 คณะเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าว

ด้าน สโรชา สุวรรณโส อายุ 22 ปี  นักศึกษาชั้นปีที่ 4 คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ยืนยันจะเลือกพรรคอนาคตใหม่ เพราะพรรคนี้น่าจะเป็นพรรคที่นำพาประเทศไปสู่การพัฒนาให้มีความเจริญก้าวหน้าได้ มีความคิดที่ทันสมัย เข้าใจความขัดแย้งในการเมือง และต่อสู้ทางการเมืองด้วยความหวังที่มุ่งมั่นให้ประเทศพัฒนา

วราภรณ์ พันเทศ อายุ 20 ปี กำลังศึกษาชั้นปีที่ 2 คณะบริหารธุรกิจมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตขอนแก่น

คล้ายกับ วราภรณ์ พันเทศ อายุ 20 ปี กำลังศึกษาชั้นปีที่ 2 คณะบริหารธุรกิจมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตขอนแก่น ที่บอกว่าจะเลือกพรรคอนาคตใหม่ เพราะเป็นพรรคคนรุ่นใหม่ เป็นคนรุ่นใหม่ที่อยากจะมาพัฒนาและมีนโยบายที่ทำให้คนรุ่นใหม่สนใจ

“คิดว่าพรรคนี้จะอาจจะทำให้อนาคตเราดีกว่าปัจจุบันนี้” วราภรณ์กล่าว

สอดคล้องกับ สุภาวดี โพธิ์คุณ อายุ 20 ปี กำลังศึกษาชั้นปีที่ 2 สาขาบริหารธุรกิจ คณะบริหารธุรกิจและการบัญชี ม.ขอนแก่น ที่เชื่อว่า หากยังเลือกพรรคการเมืองเก่า พรรคการเมืองเดิมที่มีความคิดและวิสัยทัศน์บริหารประเทศแบบเดิม ประเทศไทยก็จะวนเวียนอยู่กับสิ่งเดิม ๆ เขาจึงจะเลือกพรรคการเมืองใหม่ มีคนรุ่นใหม่เข้าไปบริหารประเทศ

หากดูผลสำรวจความเห็นของคนอีสาน เรื่อง “คนอีสานกับโค้งสุดท้ายเลือกตั้ง ส.ส. 2562” ของ อีสานโพล (E-Saan Poll) ศูนย์วิจัยธุรกิจและเศรษฐกิจอีสาน (ECBER) คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เมื่อวันที่ 13 มีนาคม พ.ศ. 2562 ระบุว่า คนอีสานจากกลุ่มตัวอย่างอายุ 18 ปีขึ้นไป จำนวน 1,093 คน มีแนวโน้นจะสนับสนุนพรรคเพื่อไทยร้อยละ 43.6 รองลงมาจะสนับสนุนพรรคอนาคตใหม่ 23.2

ข้อสังเกตที่ว่านักศึกษาชอบพรรคอนาคตใหม่ ด้วยเพราะว่าเป็นคนรุ่นใหม่ที่มีความเข้าใจคนรุ่นใหม่ว่าต้องการอะไรนั้น บทวิเคราะห์ของ สติธร ธนานิธิโชติ นักวิชาการผู้ชำนาญการจากสถาบันพระปกเกล้า เรื่อง “บทบาทคนรุ่นใหม่กับประชาธิปไตยช่วงเปลี่ยนผ่าน – ความหวังหรือความฝัน” เผยแพร่ที่ประชาไท วิเคระห์ประเด็นนี้ไว้อย่างน่าสนใจว่า สาเหตุดังกล่าวมาจากการที่คนรุ่น Gen Y จะชอบสิ่งที่ชัดเจน ตรงไปตรงมาในทางการเมือง พวกเขาจะชอบตั้งคำถาม เช่น ปฏิรูปคืออะไร ปฏิรูปอย่างไร อยากได้รายละเอียดและความชัดเจน ชอบซักไซ้ไล่เลียง ต้องการสิ่งที่กระชับและเข้าใจง่าย ไม่ชอบสิ่งที่เป็นนามธรรม ต้องการความเป็นรูปธรรมมากกว่า มีแต่คำพูดที่สวยหรูอย่างเดียวไม่พอ ต้องแสดงวิธีการด้วย ซึ่งแตกต่างจากคนรุ่น Baby Boomer (Gen-B) หรือ คนที่เกิดระหว่าง พ.ศ. 2489 – 2507 หรือในยุคสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 ในทางการเมืองจะมีแนวคิดหรือทัศนคติที่ชื่นชอบถ้อยคำที่ดูเป็นหลักการใหญ่ๆ อย่างเช่น คำว่า ปฏิรูป ประเทศชาติ ความเจริญก้าวหน้า มั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน เป็นต้น

“คนรุ่นนี้ถ้ามาทำงานเป็นนักการเมือง ก็จะมีสโลแกนในการหาเสียงเป็นคำกว้างๆ แต่วิธีการยังไม่ชัดเจน ไม่ได้บ่งบอกขั้นตอนว่าต้องทำอย่างไร” สติธรวิเคราะห์

เลือกตั้ง การเมืองเปิด บรรยากาศคึกคัก

อย่างที่ทราบว่าบรรยากาศการเลือกตั้งครั้งนี้ ประชาชนให้ความสนใจพรรคการเมืองที่ตนชื่นชอบตั้งแต่การหาเสียง ปราศรัยแถลงนโยบาย และแสดงจุดยืนทางการเมืองของแต่ละพรรค เพราะประเทศไทยไม่มีการเลือกตั้งมานานถึง 8 ปี ประกอบกับการเมืองในช่วง 5 ปีที่ผ่านอยู่ภายใต้รัฐบาลทหาร คสช. ซึ่งทำให้บรรยากาศทางการเมืองเป็นการเมืองปิด รัฐบาลมีการจำกัดสิทธิและเสรีภาพทางการเมืองของประชาชน

แต่สำหรับ พสิษฐ์ วงษ์งามดี อาจารย์ประจำสาขาวิชารัฐประศาสนศาสตร์ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี แม้บรรยากาศการเมืองบนท้องถนนที่ผ่านมาจะเงียบ แต่ในสื่อสังคมออนไลน์กลับคึกคัก เพราะเป็นพื้นที่เดียวที่ประชาชน รวมถึงกลุ่มผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งครั้งแรก ได้ใช้แสดงออกทางการเมือง พูดคุย ไปจนถึงวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลและสิ่งที่เกิดขึ้นสังคมการเมืองได้

พสิษฐ์ วงษ์งามดี อาจารย์ประจำสาขาวิชารัฐประศาสนศาสตร์ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี กล่าวว่า การเลือกตั้งครั้งนี้ถือเป็นโอกาสที่ทำให้ประชาชน คนรุ่นใหม่ที่เคยบ่น วิจารณ์การเมืองในสังคมออนไลน์ ออกมาแสดงจุดยืนทางการเมือง วิพากษ์วิจารณ์การเมืองในสังคมได้จริง

“ในสังคมออนไลน์คนได้แค่บ่นๆ วิจารณ์รัฐบาล วิจารณ์สิ่งที่เกิดขึ้นในสังคมกัน แต่ไม่สามารถออกมาเคลื่อนไหวเรียกร้องให้รัฐบาลแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นได้เหมือนบรรยากาศการเมืองปกติ” พสิษฐ์กล่าว

เขามองว่า การเลือกตั้งครั้งนี้ถือเป็นโอกาสที่ทำให้ประชาชน คนรุ่นใหม่ที่เคยบ่น วิจารณ์การเมืองในสังคมออนไลน์ ออกมาแสดงจุดยืนทางการเมือง วิพากษ์วิจารณ์การเมืองในสังคมได้จริง  

“พูดง่ายๆ  บรรยากาศทางการเมืองเปิดให้คนเหล่านั้นสามารถเข้ามามีส่วนร่วมได้มากกว่าที่ผ่านมา” พสิษฐ์กล่าว

ครั้งนี้หลายคนต้องการตัวเลือกทางการเมืองใหม่

พสิษฐ์วิเคราะห์ว่า การเลือกตั้งครั้งนี้มีข้อสังเกตที่น่าสนใจคือ ประชาชนในสังคมมีจุดร่วมและความหวังทางการเมืองหลังการเลือกตั้งเหมือนกัน โดยต่างต้องการตัวเลือกทางการเมืองใหม่ ต้องการรัฐบาลใหม่ที่แก้ปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองที่ประชาชนแบ่งฝ่ายกันอย่างชัดเจน ไม่ใช่เป็นฝ่ายเพื่อไทย ฝ่ายประชาธิปัตย์เหมือนที่ผ่านมา ทั้งนี้ รัฐบาลใหม่นั้นจะต้องมาจากการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตยอีกด้วย

“ช่วงเกิดความขัดแย้งเหลือง-แดง มีทหารยึดอำนาจเป็นรัฐบาลแล้วอาสาแก้ไขปัญหา แต่เหมือนว่าปัญหาดังกล่าวไม่ถูกแก้ไข คนเลยต้องมองหาตัวเลือกใหม่ พรรคการเมืองใหม่เข้ามาแก้ไขแทน แต่ต้องมาจากการเลือกตั้ง ไม่ใช่ยึดอำนาจมา” พสิษฐ์วิเคราะห์

สำหรับพสิษฐ์ ไม่ว่าจะเป็นพรรคอนาคตใหม่ พรรคเสรีรวมไทย พรรคพลังประชารัฐ พรรคเศรษฐกิจใหม่ เป็นต้น ถือว่าเป็นตัวเลือกใหม่สำหรับการเลือกตั้งครั้งนี้

ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ บรรยายพิเศษที่คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เมื่อวันที่ 20 เมษายน พ.ศ. 2561

ความนิยมอนาคตใหม่ในหมู่นักเรียนนักศึกษา

พสิษฐ์ยอมรับว่า พรรคอนาคตใหม่ถือว่าเป็นพรรคที่ได้รับความนิยมจากสังคมในการเลือกตั้งครั้งนี้อย่างรวดเร็ว เขาเชื่อว่าความนิยมดังกล่าวเกิดจากการที่พรรคมีจุดยืนทางการเมือง และนโยบายพรรคที่ตอบสนองความต้องการของคนในสังคมบางกลุ่ม ด้วยจุดยืนของอนาคตใหม่ที่ออกตัวเป็นฝ่ายไม่ชอบ คสช. และทหาร สู้กับฝ่ายชอบ คสช. ทหาร

“อนาคตใหม่มีจุดยืนที่ชัดเจน ไม่เอา คสช. ไม่เอาการสืบทอดอำนาจ ไม่เอาเผด็จการ ซึ่งถือเป็นจุดยืนที่สอดคล้องกับกระแสสังคมในช่วงนี้” พสิษฐ์กล่าว

พสิษฐ์กล่าวต่อว่า ตัวตนของพรรคอนาคตใหม่เป็นจุดขายหนึ่งของพรรคที่คนให้ความสนใจ โดยเฉพาะคนบางกลุ่มที่ถูกเพิกเฉยหรือกดทับ (oppress) จากสังคม เช่น คนพิการถูกคนที่ไม่พิการเพิกเฉย เด็ก วัยรุ่นถูกผู้ใหญ่เพิกเฉย ไม่สนใจปัญหาในตัวเด็ก หรือคนในท้องถิ่นถูกรัฐบาลส่วนกลางเพิกเฉย เป็นต้น โดยพรรคอนาคตใหม่มีตัวแทนของคนที่ถูกเพิกเฉยดังกล่าวเป็นสมาชิกพรรค เป็นกรรมการบริหารพรรค เป็นผู้สมัคร ส.ส. ของพรรคอีกด้วย

อนาคตใหม่สื่อสารทางการเมืองตรงกับคนรุ่นใหม่

ประเด็นการสื่อสารทางการเมืองของพรรคอนาคตใหม่ที่สามารถเข้าถึงวัยรุ่นในปัจจุบัน ถือเป็นสิ่งที่พสิษฐ์มองว่าเป็นจุดเด่นและเป็นเหตุผลให้พรรคได้รับความนิยมเช่นกัน โดยเฉพาะภาพลักษณ์ของพรรค เช่น สีประจำพรรค สีส้ม หรือโลโก้ รวมถึงชื่อพรรคมีความเป็นไม่เป็นทางการเหมือนพรรคอื่นๆ

“พรรคอื่นมักจะมีคำว่า ประชาไท ประชาชาติไทย รวมพลังประชาไทย ประชารัฐ ประชาๆ ชาติๆ ซึ่งเป็นคำใหญ่โต เป็นทางการเมือง แต่อนาคตใหม่ใช้คำง่ายๆ เข้าใจง่าย” พสิษฐ์อธิบาย

อาจารย์ประจำสาขาวิชารัฐประศาสนศาสตร์ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานีผู้นี้ กล่าวอีกว่า ภาพลักษณ์ของหัวหน้าพรรคและผู้บริหารพรรคอนาคตใหม่เป็นหนึ่งในจุดขายของพรรคที่ทำให้คนรุ่นใหม่สนใจเช่นกัน เช่น การแต่งกายที่ไม่เป็นทางการเมือง ใส่เสื้อคอกลม เสื้อที่วัยรุ่นสวมใส่กัน หรือภาพลักษณ์ของหัวหน้าพรรคที่ชอบผจญภัย ชอบออกกำลังกาย ซึ่งเป็นกิจกรรมที่เหล่าวัยรุ่น คนในยุคนี้ชอบกัน  

“สิ่งเหล่านี้มันสะท้อนผ่านจุดยืนทางการเมืองและภาพลักษณ์อนาคตใหม่ ทันสมัย เข้าถึงคนรุ่นใหม่” พสิษฐ์กล่าวทิ้งท้าย

 

image_pdfimage_print