โดย สุนี ไชยรส

ก่อนการเลือกตั้งมีประเด็นปัญหาและผลกระทบที่ประชาชนวิพากษ์วิจารณ์คัดค้านนโยบายของรัฐและการออกกฎหมายของรัฐบาลร่วมกับสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) จำนวนมาก แต่ไม่ได้รับการตอบสนองใดๆ จากรัฐบาลและ สนช. ซึ่งทำให้ภาคประชาชนไม่คาดหวังรัฐบาลชุดปัจจุบัน มีการเรียกร้องความชัดเจนในนโยบายของพรรคการเมืองต่างๆ เท่าที่ทำได้ก่อนการเลือกตั้ง แต่แน่นอนว่า ไม่ใช่การฝากความหวังไว้กับรัฐบาลใหม่เท่านั้น เพราะมีเงื่อนไขบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญ 2560 ที่ให้สมาชิกวุฒิสภามาจากการแต่งตั้งของ คสช. 250 คน และมีสิทธิ์ร่วมตั้งรัฐบาล ซึ่งเป็นการเบี่ยงเบนแทรกแซงการเลือกตั้งของประชาชนทั้งประเทศ แต่บทท้าทายหลังการเลือกตั้งมีความหมายว่า ภาคประชาชนต้องพร้อมตรวจสอบรัฐบาลใหม่ ไม่ว่าจะเป็นใครมาจากไหน… และร่วมมือกันสร้างพลังของประชาชนในการแก้ปัญหาทั้งจากนโยบายรัฐบาลและปัญหาจากกฎหมายที่ผ่าน สนช. จำนวนมาก โดยไม่ฟังเสียงของประชาชน รวมทั้งการทบทวนรัฐธรรมนูญทั้งฉบับที่มีปัญหาหลากหลายมิติ

ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (พีมูฟ) ชุมนุมคัดค้าน สนช เมื่อ 6 มี.ค. 2562 ให้หยุดการพิจารณากฎหมายทุกฉบับ

มีตัวอย่างประเด็นรูปธรรมมากมายที่ต้องรื้อทันทีและมีผลกระทบอย่างร้ายแรงต่อพี่น้องชาวอีสานและในขอบเขตทั่วประเทศ ที่ชัดเจนที่สุด เช่น การแถลงข่าวผลวิจัยการค้นพบผู้ป่วยหนักและเรื้อรังจำนวนมากของชาวบ้าน อ.สุวรรณคูหา จ.หนองบัวลำภู บ้านของเราเองเมื่อปี 61 ตามด้วยการออกมาแถลงและยื่นหนังสือกว่า 700 องค์กร อยู่หลายระลอก เพื่อไม่ให้ต่ออายุการนำเข้าสารพาราควอต หรือที่เรียกกันว่า ยาฆ่าหญ้า กระทั่งเรียกร้องให้แบนพาราควอตทันที… โดยที่ผู้คนจำนวนมากเชื่อมั่นว่า โรคเนื้อเน่าที่น่ากลัวอย่างยิ่งจากชีวิตจริงของพี่น้องนับพันราย คงจะเพียงพอต่อการตัดสินใจของรัฐบาล เพราะในพื้นที่อีสานกับทุกภาคก็มีแนวโน้มใช้ยาฆ่าหญ้าที่อันตรายนี้มากมาย  

แต่ที่สุดแล้ว รัฐบาลกลับต่ออายุการใช้พาราควอตอีก และรัฐบาลก็โยนเรื่องให้คณะกรรมการวัตถุอันตรายตัดสินใจ โดยมีการลงมติ 16 ต่อ 4 เสียงอนุมัติให้ใช้ต่อไปอีก  …สังคมไทยช็อคกับมตินี้อย่างยิ่ง ขณะที่คณะกรรมการชุดนี้ไม่ยอมเปิดเผยรายชื่อคนที่เห็นด้วย…. แสดงถึงผลประโยชน์และการครอบงำของทุนที่มีต่อนโยบายรัฐอย่างชัดเจน

ตัวอย่างอีกเรื่องคือ การอนุมัติโครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษนับสิบแห่งทั่วประเทศ ที่ไม่มีส่วนร่วมของประชาชน โดยเอื้อประโยชน์สูงสุดต่อทุนขนาดใหญ่ ทั้งต่างชาติและทุนในประเทศ ให้เช่าที่ดินได้ถึง 99 ปี มีการแย่งยึดที่ดินทำกินของประชาชนผ่านหน่วยงานของรัฐ ทั้งธนารักษ์  สปก. และการเวนคืนที่ดิน ยังทำลายระบบนิเวศที่อุดมสมบูรณ์ และใช้อำนาจยกเว้นผังเมือง ยกเว้นการดำเนินงานที่ไม่ต้องรอให้ครบกระบวนการของการอนุมัติรายงานประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ทั้งหมดเพียงเพื่อเร่งรัดให้โครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษเกิดขึ้นโดยเร็ว ท่ามกลางการคัดค้านของประชาชนจำนวนมาก

มีประเด็นกฎหมายจำนวนมากที่รัฐบาลร่วมกับ สนช. เร่งรัดการพิจารณาโดยไม่มีส่วนร่วมของประชาชน และมีการคัดค้านมาโดยตลอด    ที่เดือดร้อนกับพี่น้องทั่วประเทศอย่างมาก เช่น การเร่งรัดของ สนช. ออกกฎหมายอุทยานแห่งชาติที่ซ้ำเติมปัญหาความขัดแย้งระหว่างคนกับป่า ที่มีการขีดวงเขตป่าให้เป็นกฎหมาย ภายหลังการเกิดขึ้นของชุมชนจำนวนมาก การไม่มีนโยบายตรวจสอบและยอมรับสิทธิชุมชนอย่างจริงจัง ปล่อยให้ยืดเยื้อยาวนานมาหลายสิบปี และซ้ำเติมชาวบ้านอย่างหนักด้วยนโยบายทวงคืนผืนป่า นอกจากต้องเสียทรัพย์สิน ถูกยึดที่ดิน จำนวนมากต้องถูกจับต้องถูกคุมขัง และบางส่วนถูกอุ้มหายจับใครมาลงโทษไม่ได้

กฎหมายอุทยานแห่งชาติ แทนที่จะแก้ปัญหาให้ประชาชน กลับจะเอื้อต่อการประกาศเขตอุทยานเพิ่มโดยไม่แก้ไขปัญหาเดิม การอนุมัติสัมปทานเหมืองแร่ การอนุมัติพื้นที่อุตสาหกรรมต่างๆ… นี่คือตัวอย่างกฎหมายที่ต้องรื้อหรือยกเลิกทันที เพื่อทำให้เกิดการแก้ปัญหาของชุมชนจำนวนมากทั่วประเทศ เพราะที่ดินคือพื้นฐานของชีวิตชุมชน ขณะที่นโยบายของรัฐกลับอนุมัติให้ใช้พื้นที่ป่าแก่การประทานบัตรเหมืองแร่ โดยเฉพาะการระเบิดภูเขาทั้งที่ผิดหลักเกณฑ์จำนวนไม่น้อย ทั้งกรณีที่ศาลปกครองกลางมีคำวินิจฉัยว่าไม่ชอบด้วยกฎหมาย กรณีการให้ใช้พื้นที่ป่าไม้ 10 ปี ในการขอสัมปทานระเบิดภูเขาหินปูน ที่ ต.ดงมะไฟ อ.สุวรรณคูหา จ.หนองบัวลำภู แต่รัฐบาลไม่เร่งแก้ปัญหาใดๆ และกรณีล่าสุดที่ถูกวิจารณ์คัดค้านอย่างกว้างขวางคือการอนุมัติให้ใช้พื้นที่ป่าไม้ 10 ปี เช่นกันในการระเบิดภูเขาหินปูนที่ อ.มวกเหล็ก จ.สระบุรี

ที่ชัดเจนอีกฉบับหนึ่งคือ พ.ร.บ.โรงงาน ที่ผ่าน สนช. แล้วเช่นกัน  เพราะจะก่อผลกระทบแก่ชุมชนทั้งเขตเมืองและชนบทอย่างมาก ขณะที่กฎหมายเดิมก็ไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้อยู่แล้ว แต่การแก้ไขกลับเอื้อต่ออุตสาหกรรมมากยิ่งขึ้น

ภาคอีสานและชนบททั่วประเทศเป็นแหล่งฐานทรัพยากรอุดมสมบูรณ์ จึงเป็นแหล่งช่วงชิงของทุน ทั้งต่างชาติและในประเทศ ที่สมคบกับนโยบายรัฐมายาวนาน การพัฒนาที่เน้นประโยชน์ของทุน ไม่ยอมปฏิรูปที่ดินให้กระจายการถือครองที่ดินอย่างจริงจัง จึงซ้ำเติมความเหลื่อมล้ำและความไม่เป็นธรรมที่หนักหน่วงในสังคมไทยให้หนักหนาสาหัสยิ่งขึ้น

ประเด็นที่ต้องรื้อทันทีในตัวอย่างสุดท้าย คือ การเร่งรัดยกเลิกประกาศและคำสั่ง คสช. หลายฉบับที่มีผลกระทบต่อการใช้สิทธิเสรีภาพของประชาชน ทั้งในมิติเสรีภาพ สิทธิชุมชน และการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นและชุมชน และที่สำคัญคือ การทบทวนและแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 ที่มีปัญหาในหลายมิติ อาทิ หมวดสิทธิเสรีภาพที่บัญญัติแคบลงและไม่ชัดเจน การจำกัดสิทธิในการเข้าชื่อเสนอกฎหมายของประชาชนที่เป็นประชาธิปไตยทางตรงให้แคบลง ระบบวิธีการการเลือกตั้งทั้ง ส.ส. และ ส.ว. ที่มีปัญหาในการได้มาซึ่งผู้แทนของประชาชน และอำนาจหน้าที่กับกระบวนการสรรหาองค์กรอิสระต่างๆ ตามรัฐธรรมนูญที่ไม่ส่งเสริมความเป็นอิสระอย่างแท้จริง เป็นต้น

ภารกิจของเราคือ ประชาชนต้องกำหนดอนาคตตนเอง

เราต้องติดตาม ตรวจสอบ นโยบายของพรรคการเมืองต่างๆ ทั้งก่อนและหลังการเลือกตั้งอย่างจริงจัง และที่สำคัญที่สุดคือ การร่วมพลังสามัคคีประชาชนในการรื้อ ทบทวน ทั้งนโยบายของรัฐ และกฎหมายต่างๆที่ถูกเร่งรัดให้ดำเนินการของรัฐบาลและ สนช. รวมทั้งรัฐธรรมนูญ

ในการเปลี่ยนแปลงสังคมสู่ความเป็นธรรมและเป็นประชาธิปไตย ประชาชนต้องมีสิทธิเสรีภาพในการออกแบบ มีส่วนร่วม และตัดสินใจในวิถีชีวิตและอนาคตของตนเอง

image_pdfimage_print