รายงานผลการนับคะแนนของ Voice TV โดยอ้างอิงจากคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เมื่อเวลา 9.10 น. ของวันที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2562

[pullquote][/pullquote]

พรรคเพื่อไทยยังคงได้รับความนิยมสูงสุดในภาคอีสาน รายงานผลการนับคะแนนของ Voice TV โดยอ้างอิงจากคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ระบุว่า พรรคเพื่อไทยได้จำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) เขตจำนวน 84 ที่นั่ง จากจำนวน ส.ส. เขตทั้งหมด 116 ที่นั่ง ซึ่งมีจำนวนมากกว่าทุกพรรค รองลงมาคือ พรรคภูมิใจไทย ได้ ส.ส. เขตจำนวน 16 ที่นั่ง และพรรคพลังประชารัฐได้ 11 ที่นั่ง

การเลือกตั้งครั้งนี้ ภาคอีสานมีผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งทั้งหมด 17,266,120 คน มาใช้สิทธิ์ 10,974,047 คน หรือคิดเป็นร้อยละ 63.56 ถือว่ามีผู้ใช้สิทธิ์เลือกตั้งเกินครึ่ง

อย่างที่ทราบกัน ภาคอีสานมีผู้สนับสนุนพรรคเพื่อไทยจำนวนมาก นับตั้งแต่สมัยเป็นพรรคไทยรักไทยและพลังประชาชน และภาคอีสานถือเป็นถิ่นของคนเสื้อแดงที่เคลื่อนไหวทางการเมืองและสนับสนุนพรรคเพื่อไทยมาตั้งแต่ปี 2550

กว่า 2 ทศวรรษ ยังไม่มีพรรคการเมืองไหนนอกจากพรรคเพื่อไทยที่จะสามารถยึดครองฐานเสียงครอบคลุมเกือบทั้งภูมิภาคได้สำเร็จเท่ากับพรรคเพื่อไทยมาก่อน

อย่างไรก็ตาม หากเปรียบเทียบผลการเลือกตั้งและจำนวน ส.ส. เขต ที่เพื่อไทยได้ระหว่างการเลือกตั้งปี 2554 และการเลือกตั้งปี 2562 พบว่า จำนวน ส.ส. ลดลงอย่างเห็นได้ชัด โดยปี 2554 เพื่อไทยได้ ส.ส. เขตเกือบทั้งภูมิภาคจำนวน 104 ที่นั่ง จากจำนวนทั้งหมด 126 ที่นั่งในอดีต แต่การเลือกตั้งปี 2562 นอกจากกฎหมายการเลือกตั้งจะมีการแบ่งเขตการเลือกตั้งทั่วประเทศใหม่จากเดิม 375 เขต เหลือ 350 เขต ซึ่งภาคอีสานจำนวนเขตเลือกตั้งเหลือ 116 เขต จากเดิม 126 เขต ซึ่งเพื่อไทยได้ ส.ส. เพียงแค่ 84 ที่นั่ง ซึ่งเป็นจำนวนที่ลดลงเกือบ 20 กว่าที่นั่ง โดยพรรคที่สามารถแย่ง ส.ส. เขตของเพื่อไทยได้ในบางจังหวัดของอีสานได้ ได้แก่ พรรคภูมิใจไทยและพรรคพลังประชารัฐ

ถึงแม้เพื่อไทยจะยังคงได้เสียงสนับสนุนจากคนอีสานอยู่จำนวนมาก แต่สมชัย ภัทรธนานันท์ รองศาสตรจารย์และอดีตอาจารย์ประจำภาควิชาภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ม.มหาสารคาม ผู้ศึกษาการเมืองในอีสาน มองว่า คะแนนความนิยมพรรคเพื่อไทยที่ได้จากคนอีสานลดลงอย่างมีนัยสำคัญ โดยสมชัยวิเคราะห์ว่า สาเหตุมาจากการเลือกตั้งครั้งนี้คนอีสานมีพรรคตัวเลือกใหม่เพิ่มขึ้น อย่างเช่นพรรคอนาคตใหม่และพรรคพลังประชารัฐ

“คิดว่าหลายคนต้องการทางเลือกใหม่ ต้องการตัวเลือกใหม่ ในอดีตมีแค่เพื่อไทย แต่ปัจจุบันมีพรรคใหม่ อุดมการณ์ใหม่ นโยบายใหม่เกิดขึ้น ทำให้อีสานมีตัวเลือกมากกว่าเพื่อไทย” สมชัยวิเคราะห์

เขามองว่า กรณีพรรคพลังประชารัฐสามารถได้ ส.ส. เขตในภาคอีสานมาเป็นอันดับ 3 เนื่องจากนโยบายหลายนโยบายของพลังประชารัฐ คล้ายกับนโยบายที่เพื่อไทยทำสำเร็จในอดีต รวมถึงกรณีที่พลังประชารัฐได้อดีต ส.ส. เพื่อไทยเก่าร่วมพรรค ทำให้คนที่ชอบและรักอดีต ส.ส. คนนั้นได้รับเลือกจากประชาชน

อดีต ส.ส. พรรคเพื่อไทยในภาคอีสานจำนวน 10 คนที่ย้ายไปร่วมกับพรรคพลังประชารัฐ อาทิ ส.ส. จังหวัดเลย อุบลราชธานี นครราชสีมา ชัยภูมิ และนครพนม เป็นต้น

พรรคอนาคตใหม่ถือเป็นอีกพรรคหนึ่งที่ได้รับคะแนนเสียงจากฐานเสียงเพื่อไทยเก่า อย่างเช่นคนเสื้อแดงหัวก้าวหน้า มีแนวโน้มจะเลือกอนาคตใหม่มากกว่าเพื่อไทย เพราะด้วยความที่ ส.ส. เขตของเพื่อไทยบางพื้นที่อยู่ในตำแหน่งนานเกินไป ซึ่ง ส.ส. บางคนไม่กระตือรือร้นในการทำงาน การออกไปพบปะสอบถามความเดือดร้อนและความต้องการของประชาชน รวมถึงหลังรัฐประหารปี 2557 ส.ส. เพื่อไทยหลายคนไม่สามารถเคลื่อนไหวทางการเมืองได้ในพื้นที่ เพราะถูกเจ้าหน้าฝ่ายความมั่นคงติดตาม ซึ่งทำให้ผลงานการทำงานของ ส.ส. เพื่อไทยไม่ค่อยดีเท่าที่ควร

ประชาชนที่มาให้กำลังใจพรรคเพื่อไทยระหว่างลงพื้นที่ปราศรัยช่วยผู้สมัคร ส.ส. เขต 2 ขอนแก่น พรรคเพื่อไทย เมื่อวันที่ 1 มีนาคม พ.ศ. 2562 ที่ผ่านมา นำภาพผู้สมัครมาแปะไว้ที่หน้าอก ภาพจาก : วิศรุต แสนคำ

ตอบโต้ที่พรรคของตัวเองถูกทหารรังแก

การเลือกตั้งปี 2562 ถือเป็นการเลือกตั้งหลังจาก รัฐบาลทหาร คสช. ยึดอำนาจรัฐบาลจากการเลือกตั้งและปกครองประเทศมาตั้งแต่ปี 2557 รวมเวลานานถึงเกือบ 5 ปี ซึ่งหลังจากรัฐบาลทหารปกครองประเทศ รัฐบาลมีการประกาศบังคับใช้คำสั่งและกฎหมายหลายฉบับเพื่อปิดกั้นการเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐบาลของประชาชน คนเสื้อแดงอีสานถือเป็นคนอีกกลุ่มหนึ่งที่ได้รับผลกระทบจากคำสั่งและกฎหมายของรัฐบาลทหารดังกล่าว

“คนเสื้อแดงหลายคนในภาคอีสานถูกทหารคุกคาม จับปรับทัศนคติ ผลการเลือกตั้งครั้งนี้สะท้อนว่าคนอีสานเสื้อแดง ต้องการตอบโต้สิ่งที่ทหารทำกับพวกเขา” เสาวนีย์ ตรีรัตน์ อเลกซานเดอร์ อาจารย์คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี นักวิชาการที่ศึกษาการเคลื่อนไหวทางการเมืองคนเสื้อแดงกลุ่มย่อยที่คนในสังคมมักเรียกกันว่า “แดงบ้านๆ” “ชาวบ้าน/ไทบ้านเสื้อแดง” กล่าว

เธอกล่าวอีกว่า การรัฐประหารเมื่อปี 2557 รัฐบาลทหารต่างติดตามและคุกคามคนอีสานที่เคยเคลื่อนไหวทางการเมือง โดยเฉพาะคนเสื้อแดงที่เคยเคลื่อนไหวตั้งแต่ปี 2550 – 2553  ซึ่งหลังเหตุการณ์ความรุนแรงปี 2553 พวกเขาถูกจับตามองจากเจ้าหน้าที่รัฐอย่างต่อเนื่อง ยาวนานจนถึงหลังรัฐประหารปี 2557

เหตุผลที่คนอีสานยังคงนิยมในพรรคเพื่อไทยอยู่ เสาวนีย์เชื่อว่า ไม่ใช่มีเพียงแค่นโยบายของเพื่อไทยเท่านั้น แต่เป็นเรื่องของความรู้สึกเป็นเจ้าของพรรคนี้ด้วย เนื่องจากพรรคนี้ถูกยึดอำนาจโดยทหารมาถึง 2 ครั้ง ตั้งแต่การรัฐประหารรัฐบาลไทยรักไทยเมื่อปี 2549 และรัฐประหารรัฐบาลพรรคเพื่อไทยเมื่อปี 2557

“พรรคการเมืองที่พวกเขารักและศรัทธาถูกฝ่ายทหารรังแกอย่างต่อเนื่อง” เสาวนีย์แสดงความคิดเห็น

คนอีสานไม่สนับสนุนพรรคที่ได้เปรียบในกติกาเลือกตั้ง

นอกจากนี้ เสาวนีย์ยังวิเคราะห์ว่า อย่างที่ทราบกัน พรรคฝ่ายรัฐบาลได้เปรียบในกติกาการเลือกตั้งรวมถึงมีความได้เปรียบในการลงพื้นที่ปราศรัยหาเสียงหลาย ๆ เรื่อง มากกว่าทุกพรรค แต่คนอีสานก็ไม่เลือกพรรคดังกล่าว ซึ่งสะท้อนว่าคนอีสานไม่สนับสนุนพรรคการเมืองที่เอาเปรียบในกติกา ซึ่งทำให้การเลือกตั้งครั้งนี้ไม่บริสุทธิ์ยุติธรรม

“พรรครัฐบาล นอกจากมี 250 ส.ว. ในการเลือกนายกฯ การลงพื้นที่ปราศรัยหาเสียงยังมีเจ้าหน้าที่รัฐอำนวยความสะดวกในการทำกิจกรรมทางการเมืองได้ที่สถานที่ราชการบางแห่ง ซึ่งแตกต่างจากพรรคเพื่อไทยกลับถูกทหารตำรวจติดตาม และไม่ให้ใช้สถานที่ราชการในการหาเสียง” เสาวนีย์วิเคราะห์

ประชาชนในเขตเลือกตั้งที่ 2 จังหวัดขอนแก่นเข้าคูหาเลือกตั้ง เมื่อวันที่ 24 มีนาคม พ.ศ. 2562 ภาพจาก : Mike Eckel

การส่งคะแนนเลือกตั้งผ่านแอปพลิเคชั่นของ กกต. โปร่งใสจริงหรือ

หลังจากปิดหีบเลือกตั้งนับคะแนน ตลอดทั้งคืนวันที่ 24 มีนาคม คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ของส่วนกลาง ถูกสังคมตั้งคำถามถึงความพร้อมในการจัดการเลือกตั้ง รวมถึงไปการนับคะแนนที่โปร่งใส สำหรับข้อสังเกตการณ์การเลือกตั้งในภาคอีสานจากอาสาสมัครสังเกตการณ์การเลือกตั้ง (We Watch) ก็พบความผิดปกติของการทำงานของกรรมการการเลือกตั้งบางหน่วยเลือกตั้งในภาคอีสานเช่นกัน

ชฎาพร คำศรียา ผู้ประสานอาสาสมัครสังเกตการณ์การเลือกตั้ง (We Watch)ภาคอีสานตอนกลาง กล่าวว่า อาสาสมัครจากหลายหน่วยเลือกตั้งในอีสานแจ้งมาว่า ช่วงที่คณะกรรมการส่งคะแนนการเลือกตั้งในแต่ละหน่วยให้ กกต. ส่วนกลาง ผ่านแอปพลิเคชั่นนั้น เป็นการส่งโดยใช้โทรศัพท์มือถือส่วนตัวของคณะกรรมการฯ ผู้สังเกตการณ์การเลือกตั้งไม่ทราบว่า คณะกรรมการหน่วยเลือกตั้งนั้นส่งคะแนนตรงกับคะแนนที่แสดงบนกระดานหรือไม่ ซึ่งเกิดการตั้งคำถามถึงความโปร่งใสในการนับคะแนน

“ตามหลักแล้ว การส่งคะแนนในลักษณะนี้ควรที่จะแสดงผลการส่งคะแนนผ่านหน้าจอคอมพิวเตอร์เพื่อให้ประชาชนที่มาสังเกตการณ์การนับคะแนนเห็นตัวเลขที่จะส่งให้ กตต. ส่วนกลาง” ชฎาพรกล่าว

สอดคล้องกับ ศุภกิจ จันทะพงษ์ ผู้ประสานงานอาสาสมัครสังเกตการณ์การเลือกตั้งภาคอีสานตอนบนที่กล่าวว่า การส่งคะแนนผ่านแอปพลิเคชั่นให้ กกต. ส่วนกลางนั้นเสี่ยงต่อการส่งคะแนนไม่ตรงกับความจริง ซึ่งในบางหน่วยเลือกตั้งคณะกรรมการจับกลุ่มส่งคะแนน โดยไม่แจ้งหรือประกาศให้ประชาชนหรือผู้ที่มาสังเกตการณ์เลือกตั้งรู้ว่าส่งคะแนนเท่าไหร่

ชฎาพรกล่าวอีกว่า มีความผิดปกติเกี่ยวกับรายชื่อผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งในบางพื้นที่ เช่นในเขตเลือกตั้งที่ 5 จังหวัดมหาสารคาม มีผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งแจ้งมาว่า ช่วงค้นหารายชื่อหน้าคูหา พบว่าชื่อตัวเองได้ใช้สิทธิ์เลือกตั้งไปแล้วในช่วงการเลือกตั้งล่วงหน้า เมื่อวันที่ 17 มีนาคมที่ผ่านมา แต่ความจริงคือ ผู้มีสิทธิ์คนดังกล่าวยังไม่ได้ใช้สิทธิ์เลือกตั้ง ซึ่งคิดว่าผู้มีสิทธิ์คนดังกล่าวจะติดตามสอบถาม กกต. หลังจากนี้ต่อไป  

สำหรับศุภกิจ ในบางหน่วยการเลือกตั้งที่จังหวัดนครพนม คณะกรรมการจัดการเลือกตั้งยังนับคะแนนบัตรเลือกตั้งที่เลือกพรรคไทยรักษาชาติ ซึ่งเป็นพรรคที่ถูกยุบไปแล้ว ซึ่งในกรณีนี้ทางหน่วยได้แก้ไขทำการลบคะแนนของพรรคนี้ออกแล้ว

รวมถึงมีกรณีที่คนสูงอายุมาเลือกตั้งแต่ไม่เข้าใจวิธีการเลือกตั้ง เจ้าหน้าที่ประจำหน่วยเลือกตั้งก็ไม่ได้อธิบายวิธีการดังกล่าวให้ผู้มีสิทธิ์สูงอายุคนนั้นแต่อย่างใด

“บางหน่วยคนสูงอายุมาใช้สิทธิ์ เข้าคูหา แล้วเดินออกจากคูหามาถามเจ้าหน้าที่ว่าเลือกตั้งอย่างไร แต่เจ้าหน้าที่บอกว่าห้ามออกมานอกคูหา จึงทำให้ผู้สูงอายุคนนั้นต้องเลือกตั้งทั้งๆ ที่ยังไม่รู้ว่าเลือกตั้งอย่างไร” ศุภกิจกล่าว

หลังเลือกตั้งไม่อยากให้ทหารยึดอำนาจอีก

ร้อยตรีธนากร ธรรมสริต อายุ 59 ปี ข้าราชการบำนาญ ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งเขต 2 ตำบลนาราชควาย อ.เมือง จ.นครพนม กล่าวว่า การเลือกตั้งครั้งนี้ถือว่าเป็นครั้งสำคัญ เพราะประเทศไทยไม่มีการเลือกตั้งมานานแล้ว ซึ่งทำให้ประชาชนไม่ได้เลือกผู้บริหารประเทศ และการไม่มีรัฐบาลมาจากการเลือกตั้งเป็นเวลาเกือบ  5 ปีนั้น ทำให้หลายประเทศไม่ยอมรับและไม่เชื่อมั่นรัฐบาลที่ไม่ได้มาจากประชาชน รวมถึงนักลงทุนต่างชาติก็ไม่กล้ามาลงทุน เพราะกังวลการเมืองไม่มีเสถียรภาพ เพราะมีรัฐบาลที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง

“คิดว่าหลังการเลือกตั้ง เมื่อพรรคไหนได้เป็นรัฐบาลก็อยากให้พรรคนั้นบริหารประเทศ ตั้งใจทำงานให้เต็มที่จนครบ 4 ปี ตามกำหนด รัฐบาลนั้นทำไม่ดี เดี๋ยวประชาชนจะเลือกตั้ง ตัดสินเอง ทหารไม่ต้องยึดอำนาจ” ธนากรกล่าว

ธนากรกล่าวอีกว่า ในอนาคตไม่อยากให้ทหารเข้ามายึดอำนาจ รัฐประหารรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง เพราะว่าการยึดอำนาจแล้วแต่งตั้งพวกตัวเองเป็นรัฐบาลนั้นเป็นวิธีการได้มาซึ่งอำนาจทางการเมืองที่ไม่ชอบธรรม และการบริหารประเทศช่วงรัฐบาลทหารก็ไม่มีฝ่ายค้าน ไม่มีการเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจ หรือการตรวจสอบการทำงานและใช้งบประมาณของรัฐบาล

“จริงๆ แล้ว หากการรัฐประหารทำให้ประเทศดีจริง พัฒนาขึ้นจริง ทำไมปัจจุบันประเทศยังไม่พัฒนาขึ้นแต่อย่างใด” ธนากรกล่าว

สุรัตน์ บัวเคน อายุ 60 ปี (ซ้าย) และ ชอบ อาสาวัง อายุ 57 ปี (ขวา) ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งเขต 2 ตำบลนาราชควาย อ.เมือง จ.นครพนม

ชอบ อาสาวัง อายุ 57 ปี ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งเขต 2 ตำบลนาราชควาย อ.เมือง จ.นครพนม กล่าวว่า หลังจากการเลือกตั้ง ต้องการเห็นรัฐบาลมาจากการเลือกตั้งของประชาชน ไม่ว่าจะเป็นพรรคไหนก็ตาม ถ้าผลการเลือกตั้งออกมาว่าประชาชนเลือก พรรคนั้นก็สมควรที่จะบริหารประเทศ ไม่ใช่เหมือน 5 ปีที่ผ่านมาที่ทหารยึดอำนาจรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งแล้วแต่งตั้งพวกตัวเองเป็นรัฐบาล

“ส.ส. ที่เป็นผู้แทนเราก็ไม่มีในสภา ในสภามีแต่คนที่ถูกรัฐบาลแต่งตั้งขึ้นมา ในสภาไม่มีฝ่ายค้าน รัฐบาลจะทำอะไรก็ได้ ซึ่งผมคิดว่ามันไม่ถูกต้อง” ชอบกล่าว

การเลือกตั้งครั้งนี้สำหรับ สุรัตน์ บัวเคน อายุ 60 ปี ชาวบ้านในหมู่บ้านเดียวกัน กล่าวว่า การเลือกตั้งครั้งนี้มีความสำคัญมาก เพราะประชาชนจะได้ใช้สิทธิ์ของตัวเองในการพิจารณาว่าจะเลือกใครเป็นผู้นำประเทศ ตามระบอบประชาธิปไตย แต่สำหรับสุรัตน์ยังคงกังวลว่า หลังเลือกตั้ง ถ้าพรรคการเมืองที่ประชาชนส่วนใหญ่เลือกชนะและได้เป็นรัฐบาล อาจจะถูกพรรคเสียงข้างน้อยที่จับมือกับทหารออกมายึดอำนาจอีกเหมือนที่ผ่านมาอีก  

“ผมไม่อยากให้มีการปฏิวัติ ยึดอำนาจรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งเกิดขึ้นอีก อยากให้ทุกคนเคารพกติกาประชาธิปไตย ถ้าพรรคนั้นได้เป็นรัฐบาล บริหารประเทศไม่ดี 4 ปี ก็ค่อยเลือกพรรคใหม่ หรือคนใหม่มาบริหาร”

ส่วนพรรคการเมืองที่สุรัตน์และชอบอยากได้นั้น ต้องเป็นพรรคที่มีนโยบายทำให้ชีวิตความเป็นของประชาชนทุกคนดีขึ้น เป็นพรรคที่สนใจปัญหาเศรษฐกิจของคนทุกระดับ และที่สำคัญพรรคนั้นต้องเป็นพรรคที่ทำตามนโยบายที่เคยหาเสียงกับประชาชนไว้ให้ได้

“หลายพรรคมีนโยบายที่จะทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนดีขึ้น พรรคไหนได้เป็นรัฐบาล อยากให้ทำตามที่เคยหาเสียงไว้ให้ได้” ชอบกล่าว

ศิริเจริญ เจริญศิริ อายุ 23 นักศึกษาคณะศึกษาศาสตร์ เอกคณิตศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น

ศิริเจริญ เจริญศิริ อายุ 23 นักศึกษาคณะศึกษาศาสตร์ เอกคณิตศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่า หลังเลือกตั้ง ไม่อยากให้ทหารออกมายึดอำนาจรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งอีก เพราะรัฐบาล ผู้นำประเทศ ควรมาจากการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตย

“อยากเห็นให้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งใช้ศักยภาพของรัฐบาลทำงานอย่างตั้งใจจนจบครบวาระ ทำตามนโยบาย ทำตามสิ่งที่ได้พูดไว้ในการปราศรัย” ศิริเจริญกล่าว

ศิริเจริญกล่าวอีกว่า หลังจากนี้อยากให้ประเทศไทยมีรัฐบาลที่บริหารประเทศอย่างต่อเนื่องมั่นคง ไม่อยากให้มีการแย่งอำนาจกันระหว่างที่รัฐบาลทำหน้าที่อยู่

“กังวลว่า การเมืองไทยจะไม่พัฒนาไปไหน ถ้าทหารยึดอำนาจอีก” ศิริเจริญกล่าว

 

image_pdfimage_print