โดย ศมณพร สุทธิบาก

จากกรณีการนำเสนอข่าวเกี่ยวกับปัญหามลพิษทางอากาศจากการเผาขยะติดเชื้อและปัญหาน้ำเสียที่ชาวบ้านดอนผอุง ต.คูเมือง อ.วารินชำราบ จ.อุบลราชธานี ได้รับจากบ่อขยะวารินชำราบทั้ง 3 เรื่อง ได้แก่ ความป่วยไข้ใกล้กองขยะ: เมื่อกลิ่นความตายมาเยือน ชาวชุมชนใกล้บ่อขยะวารินฯ อุบลราชธานีไม่กล้ากินปลาในหนองน้ำ โรงเรียนบ้านดอนผอุง มีกลิ่นเหม็นจากบ่อขยะและแมลงวันเป็นเพื่อน เมื่อช่วงเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2561 ที่ผ่านมา จึงทำให้คิดว่าปัญหามลพิษจากกระบวนการจัดการขยะของรัฐและหน่วยงานท้องถิ่นยังล้มเหลว

เดอะอีสานเรคคอร์ดเชิญ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ศมณพร สุทธิบาก อาจารย์ประจำสาขาวิศวกรรมโยธาและสิ่งแวดล้อม คณะวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์ วิทยาเขตสกลนคร นักวิชาการที่ศึกษาการจัดการขยะในชุมชน หนึ่งในทีมวิจัย “การกำจัดขยะอินทรีย์โดยหนอนแมลงวันลาย” เขียนบทความคิดเห็นต่อประเด็นนี้

เศษขยะพลาสติกและน้ำสีดำเข้มไหลลงหนองน้ำธรรมชาติภายในบริเวณเขตบ่อขยะบ้านดอนผอุงของเทศบาลเมืองวารินชำราบ (ภาพจากแฟ้ม)

ปัจจุบันหน่วยงานภาครัฐและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) กำลังเผชิญกับปัญหาการจัดการขยะมูลฝอยในประเทศไทย เนื่องจากปริมาณขยะที่เพิ่มมากขึ้นตามจำนวนประชากร การพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม ประกอบกับการขาดการจัดการขยะที่ถูกสุขลักษณะ ส่งผลให้เกิดปัญหาต่างๆ อาทิ เป็นแหล่งสะสมเชื้อโรค ส่งกลิ่นเหม็นรบกวน น้ำชะขยะปนเปื้อนต่อน้ำผิวดินและน้ำใต้ดิน และผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมที่อยู่รอบบริเวณกองขยะ ภาพประชาชนออกมาต่อต้านวิธีการจัดการขยะของ อปท. จึงได้เกิดขึ้นในหลายๆ ท้องถิ่นในประเทศไทย

ทั้งนี้ รัฐบาลได้มีความพยายามในการออกกฎระเบียบและแนวปฏิบัติเพื่อให้ท้องถิ่นได้ดำเนินการ โดยเฉพาะกรอบการดำเนินงานภายใต้แผนปฏิบัติการจัดการขยะมูลฝอยชุมชน “จังหวัดสะอาด” ประจำปี 2562 โดยกรอบการดำเนินงานในการจัดการขยะที่สำคัญประกอบด้วย การจัดการขยะที่ต้นทาง กลางทาง และปลายทาง

บ่อขยะบ้านดอนผอุงของเทศบาลเมืองวารินชำราบ จ.อุบลราชธานี (ภาพจากแฟ้ม)

เริ่มต้นจากการจัดการขยะที่ต้นทาง มุ่งเน้นการลดปริมาณและคัดแยกขยะมูลฝอย ณ แหล่งกำเนิด โดยใช้หลัก 3Rs คือ ใช้น้อย (Reduce) ใช้ซ้ำ (Reuse) และนำกลับมาใช้ใหม่ (Recycle) ทั้งนี้ ความพยายามในการจัดการขยะมูลฝอยที่ต้นทางของ อปท. ที่ผ่านมามุ่งเน้นในส่วนขยะมูลฝอยที่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ โดยการส่งเสริมผ่านโครงการต่างๆ อาทิ โครงการธนาคารขยะชุมชน ขยะแลกแต้ม ขยะแลกไข่หรือสิ่งของ เป็นต้น ซึ่งเมื่อปี 2559 ประเทศไทยมีการนำมูลฝอยกลับมาใช้ประโยชน์ใหม่ 5.81 ล้านตัน จากขยะที่เกิดขึ้นทั้งหมด 27.06 ล้านตัน หรือร้อยละ 21.47 ซึ่งเป็นขยะรีไซเคิลที่ถูกคัดแยกจากบ้านเรือน สำหรับขยะอินทรีย์ในครัวเรือนมีการใช้ประโยชน์ประมาณ 0.60 ล้านตันหรือร้อยละ 2.22 จากตัวเลขดังกล่าวจะเห็นได้ว่า ยังขาดการส่งเสริมและการจัดการที่ต้นทางให้เป็นระบบและมีประสิทธิภาพเมื่อเทียบกับสัดส่วนของปริมาณขยะที่เกิดขึ้นทั้งหมดและมีศักยภาพที่จะถูกคัดแยกและนำกลับมาใช้ประโยชน์ได้ใหม่ที่มีมากกว่าร้อยละ 50 (กรมควบคุมมลพิษ, 2559)

ผังการจัดการขยะในชุมชน จัดทำโดย ศมณพร สุทธิบาก

เหตุใดการจัดการขยะที่ต้นทางถึงยังไม่บรรลุเป้าหมายที่นโยบายรัฐบาลกำหนดไว้ “สร้างวินัยของคนในชาติมุ่งสู่การจัดการที่ยั่งยืน” หากมองย้อนกลับไปในการส่งเสริมให้ประชาชนใช้หลัก 3Rs ในการจัดการขยะที่ต้นทาง ทำไมถึงไม่เกิดผลมากกว่าร้อยละ 50 คำตอบคือ จิตสำนึกและวินัยในการคัดแยกและทิ้งขยะให้เป็นที่เป็นทาง ยังไม่สามารถใช้ได้กับคนไทยในคนหมู่มาก ซึ่งแตกต่างจากประเทศญี่ปุ่นอย่างสิ้นเชิง ทั้งนี้ เพราะคนไทยรักความสะดวกสบาย ดังนั้น สิ่งที่จะทำให้เกิดผลในการคัดแยกขยะที่ต้นทางในประเทศไทยจึงจำแนกออกเป็น 2 ส่วน ดังนี้

  1. การสร้างแรงจูงใจ (Incentive) โดยกลุ่มสังคมกึ่งเมือง กึ่งชนบท การใช้หลักการได้ประโยชน์ร่วมกัน (Win-Win Situation) ผ่านรูปแบบธนาคารขยะ ขยะแลกไข่ ขยะแลกสิ่งของยังใช้ได้ผล แต่สำหรับสังคมเมืองที่ไม่มีเวลาในการขนย้ายขยะไปฝากธนาคารหรือไม่ร่วมกิจกรรมขยะแลกสิ่งของ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจะต้องกำหนดรูปแบบการเก็บขน โดยกำหนดวันเก็บขนขยะรีไซเคิลและคิดเป็นมูลค่าเงินและโอนเงินคืนให้กับเจ้าของบ้านในลักษณะที่เรียกว่า Buy Back Center หรือนำรายได้จากการขายขยะรีไซเคิลกลับมาพัฒนาท้องถิ่นอย่างเป็นรูปธรรม โดยการดำเนินการและกำกับติดตามอย่างจริงจังจากภาครัฐและ อปท.
  2. การบังคับใช้กฎหมายในลักษณะผู้ก่อมลพิษเป็นผู้จ่าย (Polluter Pays Principle : PPP) นั่นหมายความว่า ถ้าครัวเรือนใดผลิตขยะมาก ไม่มีการคัดแยกขยะ ไม่มีการลดการเกิดขยะ ณ แหล่งกำเนิด จะต้องเสียค่าใช้จ่ายในการเก็บขนและการกำจัดตามน้ำหนักของขยะที่ทิ้งในแต่ละเดือน ทั้งนี้ อปท.จะต้องมีรูปแบบการจัดการที่สามารถประเมินปริมาณขยะที่ทิ้งในแต่ละครัวเรือนได้ โดยจัดรูปแบบการกำหนดเวลาเก็บขนในแต่ละเส้นทางการเก็บขน

นอกจากนี้ ในการกำหนดตัวชี้วัดความสำเร็จโครงการด้านการจัดการขยะที่ต้นทางนั้น ในเชิงนโยบายควรกำหนดตัวชี้วัดเชิงปริมาณที่สะท้อนปริมาณขยะที่ลดลง เช่น อัตราการนำขยะรีไซเคิลกับมาใช้ใหม่ (Recycling Rate หรือ Utilization Rate) แทนจำนวนโครงการ จำนวนครัวเรือน หรือจำนวนประชาชนที่เข้าร่วมโครงการ เพราะการเข้าร่วมโครงการไม่ได้เป็นตัวสะท้อนถึงปริมาณขยะที่ถูกนำกลับมาใช้ใหม่อย่างแท้จริง แต่ทั้งนี้ อัตราการมีส่วนร่วมของประชาชน (Participation Rate) นั้นจะเหมาะสมในช่วงเริ่มต้นโครงการ ที่ต้องการประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม เข้ามารับรู้ปัญหาด้านการจัดการขยะในชุมชนของตนเอง

สำหรับการจัดการขยะที่กลางทาง โดยมุ่งเน้นการเพิ่มประสิทธิภาพการเก็บขนขยะมูลฝอยของ อปท. นั้น การดำเนินการของ อปท. ยังคงเป็นการเก็บรวบรวมขนส่งขยะรวมทุกประเภทในรถเก็บขนเที่ยวเดียวกัน หากมองประเด็นด้านการอำนวยความสะดวกต่อการคัดแยกขยะและนำกลับมาใช้ประโยชน์ใหม่นั้น การจัดการที่กลางทางไม่ประสบผลสำเร็จอย่างสิ้นเชิง รถยังดำเนินการขนขยะรวม ไม่แยกเที่ยว ไม่แยกเวลา ทำให้ขยะทุกประเภทถูกทิ้งรวมและกำจัดรวมในสถานที่เดียวกันที่ปลายทาง

ในด้านการจัดการขยะมูลฝอยที่ปลายทาง (End-of-Pipe) นั้น วิกฤตการณ์ที่เกิดขึ้นในอดีตคือ การเปลี่ยนสภาพของสถานที่กำจัดขยะแบบฝังกลบอย่างถูกหลักสุขาภิบาล (Sanitary Landfill) เป็นกองกลางแจ้ง (open dump) ซึ่งเกิดจากการที่รัฐจัดสรรงบประมาณในการก่อสร้าง และท้องถิ่นไม่มี/ไม่ได้จัดสรรงบประมาณในการดำเนินการและบำรุงรักษาระบบดังกล่าว ดังนั้น ปรากฏการณ์การต่อต้านการสร้างบ่อฝั่งกลบขยะจึงเกิดขึ้นเสมอ เพราะประชาชนขาดความเชื่อมั่นในการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพของ อปท.

นโยบายอีกส่วนหนึ่งของรัฐบาลคือ การแก้ไขปัญหากองขยะมูลฝอยเก่า ตกค้างสะสม โดยการปรับปรุงให้มีการฝั่งกลบที่ควบคุมและถูกสุขลักษณะ และอีกหนึ่งวิธีคือ การแปรรูปขยะเป็นพลังงาน (Waste to Energy) โดยนำขยะเก่าแปรรูปเป็นเชื้อเพลิงขยะ (Refuse Derived Fuel: RDF) ทั้งนี้ ปัจจัยความสำเร็จในการจัดการดังกล่าวคือ รูปแบบการคัดแยกขยะตั้งแต่ต้นทาง จนถึงปลายทาง และการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพของ อปท.

สำหรับโรงไฟฟ้าขยะนั้น ในระดับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จะมีปัญหาเรื่องการบริหารจัดการ ทั้งในด้านการดูแลบำรุงรักษา และการควบคุมการทำงานของเทคโนโลยีและเครื่องจักรให้สามารถดำเนินการได้ตามที่ได้ออกแบบไว้ การควบคุมปัญหามลพิษที่จะปล่อยออกจากโรงไฟฟ้าขยะ โดยเฉพาะปัญหามลพิษทางอากาศ ตลอดจนการควบคุมปริมาณและคุณลักษณะของขยะที่จะเข้าสู่ระบบ ทางออกที่มีความเป็นไปได้ควรมีการคัดเลือกภาคส่วนเอกชนเข้ามาดำเนินการและมีข้อตกลงในการกำหนดค่าใช้จ่ายตามปริมาณขยะที่กำจัด (บาท/ตัน) หรือทำงานในลักษณะการร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน (Public Private Partnership: PPP) เพื่อให้เกิดการบริหารจัดการขยะที่ปลายทางให้เกิดประสิทธิภาพและยั่งยืนต่อไป

 

image_pdfimage_print