โดย เศรษฐศาสตร์ วัตรโศก เรียบเรียง

หากมองย้อนกลับไปถึงพัฒนาการทางเศรษฐกิจและสังคมภาคอีสานที่ผ่านมา ก็คงจะปฏิเสธไม่ได้ว่า หนึ่งในกลุ่มคนที่มีบทบาทสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของภูมิภาคนี้คือ กลุ่มชาวจีน หรือต่อมาเรียกกันว่ากลุ่มชาวไทยเชื้อสายจีน ที่เริ่มเข้ามาค้าขายในภาคอีสานตั้งแต่ช่วงการเปิดเส้นทางรถไฟสายอีสานสมัยรัชกาลที่ 5 รวมถึงการทำการค้าและการลงทุนภายหลังประเทศไทยประกาศใช้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเมื่อกว่า 60 ปีก่อน

ปัจจุบันพบว่า กลุ่มนักธุรกิจชาวไทยเชื้อสายจีนในภาคอีสานยังคงมีบทบาทสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจท้องถิ่นตามจังหวัดต่างๆ รวมถึงกลุ่มทุนจีนข้ามชาติที่เข้ามาดำเนินธุรกิจในพื้นที่

เดอะอีสานเรคคอร์ดเก็บประเด็นที่น่าสนใจระหว่างร่วมฟังเสวนาเรื่อง จีนศึกษาในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง ซึ่งพูดถึงเรื่อง “จีนอีสาน-กลุ่มทุนจีน” ผ่านสายตาของนักวิชาการที่ค้นคว้าวิจัยประเด็นจีนศึกษา (Chinese Studies) ซึ่งจัดขึ้นโดยศูนย์ศึกษาอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง ณ มหาวิทยาลัยนครพนม เมื่อวันที่ 28 มีนาคมที่ผ่านมา มีวิทยากรร่วมเสวนา ได้แก่ รศ.ดร.นิติ ภวัครพันธุ์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ดร.อภิราดี จันทร์แสง ม.มหาสารคาม, ดร.แก้วตา จันทรานุสรณ์ ม.ขอนแก่น, อ.สุริยา คำหว่าน และ ดร.ปุณณฑรีย์ เจียวิริยบุญญา ม.นครพนม

วิทยากรและผู้ร่วมงานเสวนาจีนศึกษาในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงที่ ม.นครพนม (ภาพ : อนุชิต สิงห์สุวรรณ)

จีนอีสาน ความหลากหลายทางชาติพันธุ์ในอีสาน

ในอดีต ชาวจีนในอีสานมักมีบทบาททางด้านเศรษฐกิจ โดยช่วงก่อนหน้าที่อีสานจะมีทางรถไฟ ได้ปรากฏมีกองคาราวานชาวจีนเดินทางเข้ามาภาคอีสานของประเทศไทยจากทางทิศตะวันออก โดยเดินทางเรือสำเภาขึ้นฝั่งที่เวียดนามตอนกลาง แล้วเดินเท้าเข้ามายังหัวเมืองลาว บริเวณช่องเขาเมืองคำเกิดคำม่วน ข้ามแม่น้ำโขงเข้ามาที่เมืองนครพนมก่อนที่จะเดินทางเข้ามายังดินแดนตอนในของภาคอีสาน

ต่อมาในสมัยการสร้างทางรถไฟจากกรุงเทพฯ มายังอีสานผ่านโคราช ตั้งแต่พุทธทศวรรษ 2440 ชาวจีนได้หลั่งไหลเข้ามาทำการค้าขายตามบริเวณที่เส้นทางรถไฟพาดผ่าน กระทั่งยุคแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติสมัยรัฐบาลจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ชาวจีน (ซึ่งได้เริ่มเข้าสู่รุ่นที่ 2-3 กลายเป็นชาวไทยเชื้อสายจีน) ก็ยังเป็นกลุ่มคนที่มีบทบาทอันเป็นส่วนสำคัญของการขยายตัวทางเศรษฐกิจในภาคอีสานเรื่อยมา

การเข้ามาของชาวจีนในภาคอีสานผ่านช่วงเวลาต่างๆ จนถึงปัจจุบัน ทำให้เกิดการผสมผสานทางชาติพันธุ์ ผ่านการแต่งงานระหว่างผู้คนที่มีเชื้อสายจีนและผู้คนที่มีเชื้อสายลาวและเวียดนาม รวมทั้งกลุ่มชาติพันธุ์อื่นๆ ที่มีอยู่ในภาคอีสาน

การผสมผสานทางชาติพันธุ์ทำให้เกิดกลุ่มคนไทยเชื้อสายจีน ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีบทบาทต่อการพัฒนาเมืองและพัฒนาเศรษฐกิจในท้องถิ่นนั้นๆ อย่างที่ปรากฏให้เห็นในปัจจุบัน เช่น การจัดกิจกรรมบวงสรวงศาลหลักเมืองขอนแก่นที่นำโดยเทศบาลนครขอนแก่นที่มีกลุ่มชาวไทยเชื้อสายจีนเป็นแกนนำ รวมถึงการพัฒนาในเขตเทศบาลเมืองนครพนมที่กลุ่มผู้บริหารชาวไทยเชื้อสายจีนร่วมกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ พัฒนาและปรับปรุงภูมิทัศน์บริเวณริมแม่น้ำโขงจนเกิดเป็นกระแสความนิยมในหมู่นักท่องเที่ยวอยู่ในขณะนี้ เป็นต้น

“การเรียนรู้ความหลากหลายทางสังคมในอีสาน โดยเฉพาะความหลากหลายด้านชาติพันธุ์ เพื่อให้เกิดความเข้าใจในความแตกต่างที่ดำรงอยู่ในสังคม จนนำไปสู่การพัฒนาทักษะการใช้ชีวิตภายใต้สังคมที่มีความหลากหลายนี้ต่อไป” ดร.ปุณณฑรีย์ เจียวิริยบุญญา ผู้ช่วยอธิการบดี ม.นครพนมกล่าวถึงความสำคัญของการศึกษาและเข้าใจความรู้ด้านชาติพันธุ์ โดยเฉพาะชาติพันธุ์จีนในสังคมอีสาน  

ปุณณฑรีย์กล่าวอีกว่า คนจีนหลายคนไม่ต้องการให้คนอื่นเรียกตนว่าเป็นคนจีน แต่ชอบให้เรียกว่าเป็นคนไทยเชื้อสายจีนมากกว่า เพราะคนจีนแต่ละรุ่นที่เข้ามาในอีสานมีการประกอบสร้างอัตลักษณ์ผ่านประสบการณ์ของแต่ละคน ซึ่งคนจีนรุ่น 4 หรือรุ่น 5 อาจจะมีสำนึกความเป็นจีนที่ไม่เหมือนสำนึกความเป็นจีนของคนจีนรุ่น 1 หรือรุ่น 2 ที่เข้ามาอยู่ในอีสานก็ได้

“อยากให้ทุกคนเข้าใจว่า การมองตัวตนของคนๆ หนึ่ง ไม่ควรเอาความเป็นคนจีนหรือความเป็นคนไทยในการตัดสินคนๆ นั้น แต่เราต้องเคารพความเป็นคนของเขา มองความเห็นต่างทางการเมืองอย่างเข้าใจ” ปุณณฑรีย์กล่าว

ส่วนหนึ่งของตลาดโบ๊เบ๊อุดรธานีมีพ่อค้าแม่ค้าจีนรุ่นใหม่เข้ามาทำการค้าขายอย่างหนาแน่น ถึงขนาดเรียกโซนนี้ว่า “ตลาดจีน” (ภาพ : skyscrapercity)

“ชาวจีนอพยพรุ่นใหม่ในอีสาน” ทิศทางจีนศึกษาในอนาคต

ปัจจุบัน สถานภาพความรู้ด้านจีนศึกษาได้รับความสนใจจากนักวิชาการหลายมิติ ทั้งในประเด็นด้านความสำเร็จและความล้มเหลวของชาวจีนโพ้นทะเลในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ตลอดจนประเด็นเรื่องบทบาทของธุรกิจข้ามชาติจีนในกระแสโลกาภิวัฒน์ นอกจากนั้น ในส่วนของประเทศไทยและประเทศเพื่อนบ้าน พบว่ามีการศึกษาถึงความสัมพันธ์กับจีนที่มีลักษณะของการพึ่งพาอาศัยกันภายใต้เงื่อนไขที่สำคัญๆ เช่น การขยายตัวทางการค้าและการลงทุน, การขยายอิทธิพลของจีนผ่านการสัมปทานที่ดินเพื่อทำธุรกิจขนาดใหญ่, การขยายตัวทางวัฒนธรรมและเศรษฐกิจของชาวไทยเชื้อสายจีน เป็นต้น

ในช่วง 10-15 ปีที่ผ่านมา ได้มีกลุ่ม “ชาวจีนอพยพรุ่นใหม่” ยกตัวอย่างเช่น กลุ่มชาวจีนที่เข้ามาค้าขายที่ตลาดโบ๊เบ๊ จ.อุดรธานี ได้อพยพเข้ามาอยู่ในภาคอีสานไม่มีความสัมพันธ์ใดๆ เลยกับกลุ่มชาวไทยเชื้อสายจีนในภาคอีสาน หรือที่เรียกว่าชาวจีนอีสานรุ่นเก่า (ที่อยู่อาศัยมาราว 4-5 ชั่วคน) โดยกระบวนการย้ายถิ่นของกลุ่มชาวจีนอพยพรุ่นใหม่นี้มีความแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิงจากชาวจีนอพยพรุ่นเก่า และยังสามารถสะท้อนให้เห็นถึงอำนาจในการต่อรองของผู้ค้าชาวจีนอพยพรุ่นใหม่ในปัจจุบัน ที่ไม่ได้เป็นผู้ตกอยู่ภายใต้สถานการณ์ที่ถูกบีบบังคับหรือขาดอำนาจในการต่อรอง หากแต่เป็นกลุ่มคนที่มีโอกาสและเต็มไปด้วยทางเลือกในชีวิตที่มากกว่าผู้อพยพชาวจีนรุ่นเก่าที่เข้ามายังภาคอีสานในอดีต

อย่างไรก็ตาม ปุณณฑรีย์ได้ให้ข้อคิดเห็นถึงกระแสจีนศึกษาที่เกี่ยวข้องกับภาคอีสานจากการจัดงานเสวนาในครั้งนี้ว่า

“…องค์ความรู้เรื่องจีนศึกษาในอีสานยังมีน้อย มันขาดการอัปเดตมาซักระยะหนึ่งแล้ว มันคือความไม่พอ เพราะในวงวิชาการทุกวันนี้ เราไม่ได้พูดถึงเพียงแค่คนจีน/คนไทยเชื้อสายจีน ที่เขาอพยพมาจากจีนแผ่นดินใหญ่เมื่อประมาณต้นกรุงรัตนโกสินทร์ หรือช่วงประมาณหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 รวมถึงช่วงสงครามเย็น แต่มันมีมิติอื่นๆ เข้ามา เช่น กลุ่มคนจีนที่เป็นกลุ่มทุนจากเมืองจีนที่เพิ่งเข้ามาในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ที่เรียกว่า “กลุ่มคนจีนไร้ราก” ที่เข้ามาในอุดรธานีหรือที่เข้ามาในเชียงใหม่ ซึ่งไม่ได้มีอะไรสัมพันธ์กับคนในท้องถิ่นเลย แต่เข้ามาเพื่อลงทุน เพราะฉะนั้น การอัปเดตเหล่านี้จึงมีความจำเป็น…”

ดังนั้น จะเห็นว่า งานศึกษาในแวดวงวิชาการที่เกี่ยวข้องกับคนจีน/ชาวไทยเชื้อสายจีนในภาคอีสานยังมีขอบเขตที่จำกัด สวนทางกับการขยายตัวของกลุ่มนักธุรกิจชาวจีน รวมทั้งกลุ่มชาวไทยเชื้อสายจีนในภาคอีสานที่ได้เข้ามามีบทบาทในสังคมอีสานมากขึ้นในทุกขณะ

ขณะเดียวกัน ปุณณฑรีย์ยังได้นำเสนอถึงการศึกษาชาวไทยเชื้อสายจีนกลุ่มเก่าที่เข้ามาในภาคอีสานนับเป็นรุ่นที่ 4-5 ว่า นอกเหนือไปจากการศึกษาในประเด็นด้านการผสมผสานทางวัฒนธรรม การปรับตัว หรือแม้กระทั่งการสร้างอัตลักษณ์แล้ว ยังควรมีการศึกษาในประเด็นการสะสมทุนทางเศรษฐกิจ-การเมือง หรือแม้กระทั่งการพัฒนาบทบาททางการเมืองในท้องถิ่นต่อไป

image_pdfimage_print