โดย กนกวรรณ มะโนรมย์

“คนอีสานต้องการให้รัฐมาเหลียวแลและพัฒนา ต้องการเป็นส่วนหนึ่งของรัฐไทย ต้องการมีสิทธิ์มีเสียงเหมือนกับคนภาคอื่น ต้องการแสดงออกและได้รับการยอมรับในอัตลักษณ์และตัวตน”

นี่คือคำอธิบายเชิงวิชาการของศาสตราจารย์ทางด้านมานุษยวิทยาชาวอเมริกัน ชาร์ล เอฟ คายส์ (Charles F. Keyes) ที่กล่าวไว้เกี่ยวกับคนอีสานในยุคสงครามเย็น ซึ่งเป็นมุมมองต่อคนอีสานภายใต้ภาวะความตึงเครียดจากสงครามอินโดจีนและอิทธิพลของอุดมการณ์คอมมิวนิสต์

อีสานในยุคนั้นที่อยู่ภายใต้ “ยุคสนามรบ” โดยรัฐมองว่า คนอีสานต้องการแยกตัวออกจากรัฐไทยและต้องการอิสระจากการปกครองของรัฐไทย จนนำมาสู่การกล่าวหาและเข่นฆ่านักการเมืองอีสานหลายคนในยุคนั้นด้วยข้อหาบ่อนทำลายความมั่นคงของชาติ

ชาวบ้านหนองโอง ต.โนนสังข์ อ.กันทรารมย์ จ. ศรีสะเกษ กำลังล้างปลาก่อนตากแห้งเพื่อนำไปแลกข้าว ถ่ายภาพโดย กนกวรรณ มะโนรมย์

ต่อมา ภูมิศาสตร์การเมืองของอีสาน (Isan Geopolitics) ได้เปลี่ยนแปลงไปภายหลังสงครามเย็นสิ้นสุดลง อีสานได้เปลี่ยนแปลงจาก “สนามรบ”  (Battle Field) กลายเป็น “สนามการค้า” (Market Place) และกลายเป็นประตูสู่ประเทศลุ่มน้ำโขง ได้แก่ ลาว เวียดนาม และกัมพูชา

นักวิชาการท่านเดิมได้อธิบายคนอีสานว่าเป็น “ผู้รู้จักโลกกว้าง” (Cosmopolitan People) หมายถึง คนอีสานคือผู้เดินทางข้ามพรมแดนไปในภูมิภาคต่างๆ ของประเทศและโลก เพื่อแสวงหารายได้ ความรู้ ประสบการณ์ การศึกษา ทักษะชีวิต และไลฟ์สไตล์ใหม่ๆ เพื่อการดำรงชีพที่หลากหลายและหาอุปกรณ์เสริมความสะดวกสบายในการดำเนินชีวิต และต้องการความเป็นอยู่ให้ดีขึ้น

บ้านทรงสมัยใหม่ในหมู่บ้านหนองโอง ต.โนนสังข์ อ.กันทรารมย์ จ. ศรีสะเกษ ซึ่งเป็นของบุตรหลานที่ออกไปขายแรงงานต่างถิ่น (ถ่ายภาพโดย กนกวรรณ มะโนรมย์)

พัฒนา กิติอาษา นักวิชาการอีสานศึกษาอีกท่าน ซึ่งเขียนหนังสือเรื่อง “อีสานใหม่” ได้อธิบายคนอีสานว่าเป็นผู้มีแรงปรารถนา (Desired) อยากมีความทันสมัย มีแรงบันดาลใจเรื่องความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น มีการศึกษา มีความรู้ใหม่ เป็นผู้อยากมั่งมี อยากได้ อยากมี และอยากเป็นเหมือนชนชั้นกลางทั่วๆ ไป ที่มีความเป็นอยู่สะดวกสบาย

ซึ่งแน่นอนว่า การพัฒนาอีสานตลอดช่วงเวลา 30 กว่าปีที่ผานมา ผลจากการพัฒนาได้เกิดขึ้นชัดเจนอย่างเป็นรูปธรรม อาทิ รัฐได้พัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เช่น การสร้างถนน เขื่อนพลังงานไฟฟ้า เขื่อนและฝายชลประทาน สนามบิน โทรคมนาคม และระบบขนส่งเชื่อมอีสานกับกรุงเทพและภาคอื่นๆ ของประเทศ ส่งเสริมให้เกิดการเชื่อมต่อระหว่างเมืองกันชนบท นอกจากนี้ รัฐยังได้ส่งเสริมให้คนอีสานการปลูกพืชเงินสดมากขึ้น โดยการนำที่ดินมาเพิ่มมูลค่าในตลาด เช่น ปลูกข้าวหอมมะลิ ปอ อ้อย มันสำปะหลัง และต่อมาได้แก่ ยางพารา และผลไม้ที่มีมูลค่าสูงที่สามารถปลูกได้ในบางภูมิประเทศ  เช่น ทุเรียน เงาะ และ ลำไย ที่ปลูกตามแนวชายแดนอีสานตอนล่าง เป็นต้น

(ถ่ายภาพโดย กนกวรรณ มะโนรมย์)

การพัฒนาเหล่านี้ได้เปลี่ยนโฉมภาคอีสานให้เป็นพื้นที่เศรษฐกิจการผลิตพืชสินค้าขั้นปฐมของประเทศไปโดยปริยาย อย่างไรก็ตาม การพัฒนาหลายอย่างมิได้นำมาซึ่งความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นกับคนทุกกลุ่มในภาคอีสาน

การพัฒนานำมาสู่การสร้างความแตกต่างหลากหลายกลุ่ม แบ่งขั้ว แบ่งชนชั้น เนื่องจากประโยชน์จากการพัฒนาไม่เท่าเทียมกัน สร้างพื้นที่ของความเหลือเฟือมั่งคั่งให้เกิดขึ้นพร้อมกับพื้นที่ของการขาดแคลนและเต็มไปด้วยข้อจำกัดของทางเลือกในการดำรงชีพ

ดังเช่น กรณีพื้นที่การสร้างโครงการขนาดใหญ่ของรัฐที่มีกระจัดกระจายโดยทั่วไปอาทิ โครงการเขื่อนหัวนา อ.กันทรารมย์ จังหวัดศรีสะเกษ ในพื้นที่ลุ่มน้ำมูลตอนล่าง ที่สามารถเห็นขั้วความมั่งคั่งได้ชัดเจนระหว่างผู้สูญเสียทรัพยากรที่ดิน ปลา สัตว์น้ำ ป่า และพื้นที่ชุ่มน้ำ ในฐานะที่เป็นฐานการดำรงชีพมาจากบรรพบุรุษกับผู้ได้ประโยชน์หรือผู้ไม่ได้รับผลกระทบจากโครงการพัฒนาดังกล่าวในพื้นที่นอกผลกระทบ

ระดับน้ำมูลสูงขึ้นท่วมสองฝั่งและที่ดินชาวบ้านหนองโอง จากการกักเก็บน้ำจากเขื่อนหัวนา (ถ่ายภาพโดย กนกวรรณ มะโนรมย์)

ยิ่งภายใต้เศรษฐกิจแบบตลาด กล่าวสำหรับทรัพยากรที่ดิน ซึ่งมีความสำคัญมากในฐานะทรัพย์สินที่สร้างมูลค่าให้กับการดำรงชีพและส่งผ่านความมั่นคงของการดำรงชีพของชาวนาจากรุ่นสู่รุ่น และยิ่งในยุคการหวนกลับมาทำภาคเกษตรอีกครั้ง (Re-peasantry) ของสังคมชนบท เพื่อผลิตพืชเงินสดและรักษาความมั่นคงอาหาร เพราะชาวนาส่วนใหญ่ยังไม่ได้ก้าวออกจากการผลิตบนที่ดิน(De-agrarianization)  ชาวนาเน้นให้บุตรหลานหรือสมาชิกในครัวเรือนสร้างความหลากหลายทางอาชีพและรายได้ ทั้งจากที่ดินและนอกภาคเกษตรกรรมไปพร้อมๆ กัน เช่น ชาวนาในพื้นที่บ้านหนองโอง อ.กันทรารมย์ จ.ศรีสะเกษ ใช้พื้นที่ปลูกข้าว เลี้ยงวัวนม ปลูกไผ่ เลี้ยงปลากระชัง พัฒนาแหล่งท่องเที่ยว และปลูกพืชผักต่างๆ ที่จะสามารถสร้างรายได้และผลิตอาหารให้กับสมาชิกครัวเรือน และ คนในชุมชนยังนิยมส่งบุตรหลานเข้ารับการศึกษาที่สูงกว่าภาคบังคับมากขึ้นเพื่อให้มีงานและรายได้ที่มั่นคงขึ้น การศึกษาภาคสนามของผู้เขียนร่วมกับนักศึกษาเมื่อปลายเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา พบว่าชาวบ้านครัวเรือนหนึ่งมีลูกรับราชการ 3 คน ในขณะที่พ่อแม่ยังทำนาและหาปลาในลำน้ำมูล และมีหนึ่งครอบครัวที่ยังคงหาปลา ทำนา รับซื้อปลา และเปิดร้านขายก๋วยเตี๋ยวไปด้วย

หม้อก๋วยเตี๋ยวในหมู่บ้านหนองโอง ต. โนนสังข์ อ.กันทรารมย์ จ. ศรีสะเกษ (ถ่ายภาพโดยกนกวรรณ มะโนรมย์)

การสร้างเขื่อนในลุ่มน้ำมูลตอนล่างเพื่อผลิตไฟฟ้าและพัฒนาระบบชลประทานบีบบังคับให้ชาวนาต้องสูญเสียที่ดินโดยไม่มีทางเลือก สร้างความขาดแคลนและข้อจำกัดต่อการดำรงชีพ

จากการศึกษาผ่านการสัมภาษณ์ชาวบ้านในพื้นที่ พบว่าชาวบ้านมีที่ดินขนาดเล็กในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากเขื่อนหัวนา โดยเฉลี่ยมีไม่เกิน 10 ไร่ต่อครัวเรือน ชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากน้ำเขื่อนท่วมที่ดินทำกินไม่มีทางเลือกอื่นนัก ชาวบ้านต้องเลือกรับค่าชดเชยในราคาที่ไม่เป็นธรรม กรณีมีเอกสารสิทธิ์จะได้รับค่าชดเชยที่ดิน 45,000 บาทต่อไร่ หากมีเอกสารสิทธิ์ เช่น โฉนด จะได้รับค่าชดเชยไร่ละ 120,000 บาท โดยประมาณ

ชาวบ้านอีสานภายใต้ภาวะความขาดแคลนและข้อจำกัดเรื่องที่ดิน มีแรงปรารถนาทางการเมืองอย่างไร

แน่นอนว่าการศึกษาประวัติศาสตร์ชาวนาของนักวิชาการจะพบว่า ชาวนาเป็นกลุ่มที่มักถูกกระทำและถูกเอารัดเอาเปรียบจากระบบทุนนิยม ในขณะเดียวกัน พวกเขาก็มีตัวตน มีพลัง มีศักยภาพและมีความปรารถนาในการต่อต้าน ต่อรอง และต่อสู้กับพลังอำนาจของทุนและโลกาภิวัฒน์เพื่อความยุติธรรม

จอร์จ ลูคาซ (Georg Lukacs) เรียกประวัติศาสตร์ของชาวนาว่าเป็นประวัติศาสตร์แบบฝาแผดระหว่างการเป็นผู้กระทำและผู้ถูกกระทำ  (Identical Subject-object of History) ที่เกิดขึ้นไปพร้อมๆ กัน ส่วน ไมเคิล เคียร์นีย์ (Michael Kearney) ผู้เสนอแนวคิดหลังชาวนา (Post Peasantry) ให้การอธิบายชาวนาในยุคการเปลี่ยนแปลงสังคมหลังสงครามเย็น ยุคโลกสมัยใหม่และโลกาภิวัตน์ที่ไม่มีเส้นแบ่งที่ชัดเจนระหว่างเมืองกับชนบทว่า ชาวนามักแสดงตัวตนผ่านการต่อสู้กับรัฐและทุนนั้น ก็เพื่อต้องการแสวงหาความเท่าเทียม การได้รับความเป็นธรรมและแสวงหามีประชาธิปไตย ซึ่งผู้เขียนขอเพิ่มเติมว่า ชาวนามีความปรารถนาให้รัฐยอมรับความสำคัญและความจำเป็นของการมีกรรมสิทธิ์ในทรัพยากรที่ดิน ทั้งการครอบครองและการใช้ประโยชน์เป็นหลัก และสร้างความหลากหลายของอาชีพ ซึ่ง แอนดรู วอล์คเกอร์ (Andrew Walker) ระบุในหนังสือชาวนาการเมืองวิเคราะห์ว่า ชาวนาเชื่อมโยงกับรัฐและทุน และมักฉวยใช้ประโยชน์จากรัฐและทุนมากขึ้น พร้อมกับไม่ไว้ใจรัฐมากนักเรื่องการเข้ามาควบคุมและจัดการทรัพยากรท้องถิ่น

กรณีกลุ่มชาวนาบ้านหนองโอง ต.โนนสังข์ จังหวัดศรีสะเกษ และชุมชนอื่นๆ เช่น บ้านโนนสังข์ในพื้นที่เขื่อนหัวนาที่ลุกขึ้นมาต่อสู้กับรัฐ ล้วนมีความปรารถนาให้เกิดความเท่าเทียมและความยุติธรรมผ่านการต่อรองของพวกเขา แต่การแสดงออกในชีวิตประจำวัน เช่น การสร้างอาชีพและทางรอดของการดำรงชีพใหม่ๆ ก็เพิ่มมากขึ้นดังที่กล่าวมาแล้ว ทั้งได้รับการสนับสนุนจากรัฐและภาคราชการ เช่น โครงการนวัตวิถี และการต่อสู้ต่อรองทางการเมืองก็ไม่ได้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันเสียทีเดียว เช่น กลุ่มที่ต้องการสร้างอาชีพใหม่ๆ เพิ่มขึ้นจากศักยภาพและความสามารถของตัวเอง กลุ่มเรียกร้องค่าชดเชยจากการสูญเสียที่ดินจากการสร้างเขื่อน กลุ่มไม่รับค่าชดเชยเพียงต้องการสร้างข้อเสนอให้รัฐเข้ามาพัฒนาอาชีพและรายได้ทดแทนช่วงที่นำไม่ท่วมที่ดินทำกินระหว่างเปิดประตูเขื่อนหัวนา (เขื่อนหัวนาบริหารจัดการเขื่อนโดยการปิดเขื่อน 8 เดือนในแต่ละปี เพื่อรักษาระดับน้ำสำหรับการเกษตรในช่วงฤดูแล้งและต้นฤดูฝน) เนื่องจากพวกเขาต้องการรักษากรรมสิทธิ์ในที่ดินเอาไว้ให้คงอยู่ แทนการยอมรับค่าชดเชยเป็นเงินจากรัฐหากแต่ต้องสูญเสียที่ดินอย่างถาวร

ถือเป็นกลยุทธ์อันชาญฉลาดของชาวนาในเชิงการเมืองเรื่องการต่อรองกับภาครัฐเพื่อรักษาฐานทรัพยากรเพื่อการผลิตให้ยั่งยืนต่อไป

image_pdfimage_print