ผ่านพ้นการเลือกตั้งอันเป็นวิถีประชาธิปไตยมาแล้วกว่า 2 สัปดาห์ แต่ทว่าหลายคนยังรู้สึกเคลือบแคลงใจในกระบวนการต่างๆ อยู่ไม่น้อย จนถึงกับอดที่จะสงสัยไม่ได้ว่า ตนถูกหลอกให้เลือกตั้งหรืออย่างไรกันแน่

หทัยรัตน์​ พหลทัพ ผู้สื่อข่าวพิเศษเดอะอีสานเรคคอร์ด

กรุงเทพฯ​ – “โป๊ก โป๊ก โป๊ก” เสียงสากกระทบครกดังเป็นจังหวะออกจากร้านอาหารแผงลอยของ วิไล แสนพล แม่ค้าวัย 61 ปี ชาว จ.ร้อยเอ็ด เธอขายส้มตำอยู่กลางสุขุมวิทซอย 13 ที่เป็นย่านเศรษฐกิจใจกลางกรุงเทพมหานครมานานกว่า 30 สิบปี

“ถ้าเศรษฐกิจที่บ้านดี มีงานทำ ก็คงไม่ดิ้นรนมาถึงกรุงเทพฯ” เธอตัดพ้อ พร้อมกล่าวเสริมว่า “ก็หวังว่า หลังการเลือกตั้งเศรษฐกิจจะกลับมาดีเหมือนเดิม”

แม้เธอจะบอกว่าเศรษฐกิจไม่ดี แต่ก็มีลูกค้าต่อแถวรอซื้ออาหารอย่างไม่ขาดสาย

เดอะอีสานเรคคอร์ดเริ่มบทสนทนาชวนคิดว่า การเลือกตั้งที่ผ่านมาไปใช้สิทธิ์หรือไม่ แล้วเลือกใครและทำไม

ก่อนที่จะตอบคำถามนี้ เธอก็ร้องเสียงหลงออกมาว่า “อ้าว ตำมะม่วงหรอกหรือ นึกว่าส้มตำปูปลาร้า ป้าลืม มัวแต่คุย” เธอบอกว่าสมาธิไม่อยู่กับเนื้อกับตัว แต่โชคดีลูกค้าที่เป็นขาประจำก็เข้ามาช่วยชีวิตด้วยการขอซื้อส้มตำปูปลาร้าครกนั้นแทน

จากนั้นเธอจึงเริ่มบรรจงตำมะม่วงให้ลูกค้าตามสั่ง พร้อมกับตอบคำถามว่า “กลับไปใช้สิทธิ์เมื่อวันที่ 24 มีนาคมที่ผ่านมา และเลือกพรรคพลังประชารัฐ เพราะมี ส.ส.เก่าที่เป็นผู้แทนคนเดิม แต่ความจริงชอบพรรคเพื่อไทย เพราะข้าวเป็นราคาและมีนโยบายช่วยคนจน” เธอบอกพร้อมกับส่งอาหารให้ลูกค้า

วิไล แสนพล แม่ค้าส้มตำวัยในซอยสุขุมวิท 13 กรุงเทพฯ​ วัย 61 ปี ชาว จ.ร้อยเอ็ด เธอเลือกพรรคพลังประชารัฐเพราะรู้จัก ส.ส.เก่า

วิไลและลูกสาวขายอาหารอีสานที่ร้านอาหารแผงลอยแห่งนี้เกือบทุกวัน มีรายได้หลังหักค่าใช้จ่ายเฉลี่ยวันละ 1 พันบาท แต่เมื่อถึงฤดูทำนา เธอต้องกลับบ้านที่จังหวัดร้อยเอ็ดด้วยเหตุผลว่า “ต้องกลับไปปลูกข้าวไว้กิน”

“อยากให้รัฐบาลหาทางช่วยปลดหนี้สินนอกระบบ และหาทางช่วยให้มีที่ดินทำกิน เพราะตอนนี้ที่ดินติดอยู่ในธนาคาร จะได้ไม่ต้องมาทำงานกรุงเทพฯ” แม่ค้าวัย 61 บอกด้วยแววตามีความหวัง

เดอะอีสานเรคคอร์ดพูดคุยกับคนขับรถตุ๊กตุ๊ก 2 คน ทั้งคู่จอดรถอยู่บริเวณสถานีรถไฟฟ้านานา ที่เป็นย่านของนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ

สุทัศน์ สิทธิรักษ์ ชายวัย 66 ปี ชาวจังหวัดสุรินทร์ กล่าวว่า ตนเริ่มทำงานตั้งแต่ช่วงเช้ามืด ตลอดทั้งวันมีรายได้ที่ยังไม่หักค่าใช้จ่ายเพียง 300 บาทเท่านั้น หากเทียบจากสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ (ชินวัตร) เขามีรายได้ถึงวันละ 3 พัน

“ผมตั้งใจไปกาเลือกให้พรรคเพื่อไทยกลับมาเป็นรัฐบาลอีกครั้ง เพราะหาเงินง่าย และเลือกมาตลอดตั้งแต่เป็นพรรคไทยรักไทย หลังมีรัฐบาลทหารก็ไม่มีนักท่องเที่ยวเลย แขกไม่มา ไม่มีคนขึ้นตุ๊กๆ” สุทัศน์กล่าวพร้อมหัวเราะอย่างขมขื่น

สุทัศน์ สิทธิรักษ์ ชายวัย 66 ปี ชาวจังหวัดสุรินทร์ เลือกพรรคเพื่อไทย เข้ามาแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ

ส่วน จัด วันนา คนขับตุ๊กตุ๊ก วัย 56 ปี ที่มาจากหมู่บ้านเดียวกับ “สุทัศน์” กล่าวเสริมว่า “ในหมู่บ้าน ส่วนใหญ่เลือกพรรคเพื่อไทย เพราะคนเชื่อว่า ทำมาหากินง่าย ได้กันทุกคน ไม่เหมือนสมัยนี้ที่หากินลำบาก

จากเดิมผมเคยมีรถกระบะ 2 คัน แต่มีหนี้สินจนต้องนำรถเข้าไฟแนนซ์ท์และนำที่ดินไปจำนอง คราวนี้ผมจึงไปเลือกให้พรรคเพื่อไทยกลับมาเป็นรัฐบาลเหมือนเดิม ให้มาแก้ปัญหาหนี้สิน”

หนี้สินของ จัด เกิดจากค่าใช้จ่ายภายในครัวเรือน เขาต้องดูแลลูกที่อยู่ในวัยเรียนถึง 3 คน ทุกเดือนเขาต้องส่งเงินให้ลูกและภรรยาที่อยู่ต่างจังหวัดประมาณเดือนละ 2-3 หมื่นบาท แต่ตอนนี้รายได้ไม่พอกับรายจ่าย ทำให้ต้องกู้เงินจากนอกระบบ

จัด วันนา คนขับรถตุ๊กตุ๊ก วัย 56 ปี ชาวจังหวัดสุรินทร์

“ที่เศรษฐกิจเป็นแบบนี้ก็เพราะรัฐบาลทหาร ถ้าจะโทษก็ต้องรัฐบาล เพราะสมัยก่อน ผมไม่ลำบากแบบนี้ มีรายได้เดือนละ 3-4 หมื่นบาท เงินไม่ขาดมือ” ชาวจังหวัดสุรินทร์กล่าวด้วยน้ำเสียงโมโห

เขายังพูดถึงผลการเลือกตั้งอย่างไม่เป็นทางการว่า เป็นการนับคะแนนที่ไม่โปร่งใสที่อาจส่งผลให้รัฐบาลทหารกลับมาบริหารประเทศต่อ

“ถ้าทหารกลับมา บ้านเราก็จะไม่เป็นประชาธิปไตยอีก แม้เขาจะมาจากการเลือกตั้ง แต่ก็ตอบคำถามไม่ได้ว่า คะแนนที่ได้มาโปร่งใสและยุติธรรมไหม เพราะกฏกติกาทุกอย่างอยู่ในมือ เขาเหมือนหลอกเรา หลอกประชาชนให้ไปลงคะแนน แต่สุดท้ายก็กลับมาเหมือนเดิม” ชายวัย 56 ปีกล่าว

การเลือกตั้งเมื่อ พ.ศ. 2554 ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ หรือ ภาคอีสาน เคยมี ส.ส. 126 คน แต่รัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2560 ทำให้การเลือกตั้งปี พ.ศ. 2562 จำนวน ส.ส. ลดลงเหลือเพียง 116 คน

แม้ตัวเลขจะลดลง แต่ก็ยังถือว่าเป็นพื้นที่ที่มี ส.ส. มากที่สุด หากเทียบกับภาคอื่น

ผลการเลือกตั้งอย่างไม่เป็นทางการระบุว่า การเลือกตั้งเมื่อวันที่ 24 มีนาคมที่ผ่านมา พรรคเพื่อไทยมี ส.ส.เขต 84 คน รองลงมาคือ พรรคพลังประชารัฐ 16 คน อันดับ 3 พรรคภูมิใจไทย 11 คน และจะประกาศผลอย่างเป็นทางการในวันที่ 9 พฤษภาคมที่จะถึงนี้

หลังการเลือกตั้ง คณะกรรมการเลือกตั้ง (กกต.) ถูกวิจารณ์อย่างหนักถึงการจัดการที่ไร้ประสิทธิภาพ รวมถึงการประกาศผลการเลือกตั้งที่ล่าช้า

รศ.ดร.สิริพรรณ นกสวน สวัสดี คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เห็นว่า ผลการเลือกตั้งครั้งนี้ยังคงมีคำถามถึงการทำงานของ กกต.​

“การเลือกตั้งครั้งนี้ไม่สามารถพูดในเชิงภาพรวมได้ เพราะผลการเลือกตั้งอาจเกิดขึ้นจากกลไกอำนาจรัฐหรือไม่ แต่อิทธิพลของบัตรสวัสดิการแห่งรัฐก็มีส่วนทำให้พรรคพลังประชารัฐได้รับคะแนนเสียง เป็นสิ่งที่ต้องหาคำตอบ” รศ.ดร.สิริพรรณ กล่าว

บัตรสวัสดิการแห่งรัฐถูกนำมาใช้ภายใต้การบริหารของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ตั้งแต่ปี 2560 มีผู้ได้รับสิทธิ์ 11.7 ล้านคน มีผู้สิทธิ์สามารถใช้จ่ายซื้อสินค้าได้ประมาณ 200-300 บาทต่อเดือน

“หาก กกต.ไม่มีคำอธิบายที่ดีกว่านี้ อาจทำให้ประชาชนไม่ยอมรับผลการเลือกตั้งว่ามีความโปร่งใสและเป็นธรรม” รศ.ดร.สิริพรรณ กล่าว

เมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา กกต.ได้ประกาศให้นับคะแนนใหม่ในเขตเลือกตั้ง 2 เขต และสั่งให้เลือกตั้งใหม่อีก 6 เขต เพราะตัวเลขไม่ตรงกับการประกาศผลคะแนนก่อนหน้านี้

ขณะที่ ดร.ฐิติพล ภักดีวานิช คณบดีคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี กล่าวว่า หากดูผลการเลือกตั้งในภาคอีสานเมื่อปี 2554 จะเห็นว่า ประชาชนมีความเชื่อมั่นในพรรคเพื่อไทยที่ทำนโยบายให้เป็นจริงได้ ทำให้คนเห็นศักยภาพ และการเลือกตั้งครั้งนี้ก็เห็นว่า พื้นที่ที่ได้รับเลือกนั้นส่วนใหญ่เป็นฐานเสียงของ ส.ส.เก่า

“การที่พรรคพลังประชารัฐไม่สามารถครองใจคนภาคอีสานได้ เพราะคนยังมีคำถามว่า 4-5 ปีที่ผ่านมายังทำให้สำเร็จไม่ได้ แล้วจะทำต่อได้หรือ เป็นการตั้งคำถามเชิงศักยภาพในการทำนโยบาย มากกว่าการเอาหรือไม่เอา คสช.” คณบดีคณะรัฐศาสตร์ ม.อุบลราชธานี กล่าว

สิ่งหนึ่งที่นักรัฐศาสตร์ทั้งสองคนเห็นตรงกัน คือ องค์กรอิสระที่ทำหน้าที่ในการกำกับดูแลการเลือกตั้งควรมีความโปร่งใสและสุจริต เพื่อให้ผลการเลือกตั้งครั้งนี้เป็นที่ยอมรับและสามารถอธิบายพฤติกรรมของประชาชนอย่างแท้จริง

image_pdfimage_print