หมาในมหาวิทยาลัย
คุณจะเลือกชื่นชมสัตว์ชนิดใดระหว่างสุนัขจรจัดที่ยืนตรงและเห่าหอนเวลาได้ยินเสียงเพลงชาติและกระรอกตัวน้อยที่มีอิสระจากเสียงเพลงปลุกใจ เรื่องสั้น “หมาในมหาวิทยาลัย” ชายคาเรื่องสั้นชวนตั้งคำถาม
โดย ภาณุพงศ์ ธงศรี
ภาพหน้าปกจาก www.isangate.com
ศิลปวัฒนธรรม มีการแลกเปลี่ยนกันไปมาอยู่เสมอ เมื่อพลเมืองของภูมิภาคหนึ่ง ได้เดินทางไปรับชมหรือรับฟังศิลปะจากต่างภูมิภาคก็รับอิทธิพลมาปรับเปลี่ยนเป็นของตนเอง เมื่อเวลาผ่านไปก็พัฒนากลายเป็นรูปแบบเฉพาะของตนเอง
พฤติกรรมเหล่านี้เป็นกระบวนการทางวัฒนธรรม ที่มนุษย์จะยอมรับและปรับเปลี่ยนเพื่อความเหมาะสมให้เกิดความสะดวกกับตนเอง ซึ่งศิลปะการแสดงของภาคอีสานมีทั้งเผยแพร่ไปยังต่างภูมิภาค เคลื่อนย้ายตามผู้คนของภูมิภาคที่ได้ไปขายแรงงาน และรับศิลปะการแสดงเข้าสู่ภูมิภาค เช่น หุ่นกระบอกอีสาน คณะเพชรหนองเรือ อำเภอหนองเรือ จังหวัดขอนแก่น และหนังประโมทัย หรือที่คนอีสานเรียกว่า หนังบักตื้อ บ้านโพนทัน ตำบลโพนทัน อำเภอคำเขื่อนแก้ว จังหวัดยโสธร คือหนึ่งในวัฒนธรรมที่คนอีสานรับมาจากภาคใต้
หนังประโมทัยจากแดนใต้สู่อีสานที่ราบสูง
“หนังตะลุง” “หนังประโมทัย” หรือที่คนอีสานเรียกว่า “หนังบักตื้อ” มีลักษณะการแสดงความคล้ายกัน แต่สิ่งที่แตกต่างกันคือภาษาที่ใช้ในการแสดง หนังตะลุงใช้ภาษาทางภาคใต้ หนังประโมทัยหรือ หนังบักตื้อจะใช้ภาษาถิ่นอีสานในการแสดง
หนังตะลุง หนังต้นฉบับของหนังประโมทัยหรือหนังบักตื้อ นั้นมีประวัติความเป็นมาแตกต่างหลายกระแสด้วยกัน ชุมเดช เดชพิมล (2548 อ้างถึงในจักรกฤษณ์ เรือนวุฒิ, 2555 : 14) กล่าวว่า เดิมชาวใต้เรียกหนังตะลุงว่า “หนัง” เฉยๆ เช่น ไปแลหนังที่เรียกว่า “หนังควน”
คำว่า “หนังควน” สันนิษฐานว่ามาจากชื่อบ้านควนมะพร้าว จังหวัดพัทลุง ซึ่งเป็นที่นิยมเล่นหนังกันแพร่หลายมาก่อที่เรียกว่า “หนังลุง” เพราะมาจากคำว่า “หนังพัทลุง” ตามวิธีการพูดตัดคำของคนใต้ เช่น เรียกเมืองพัทลุงว่าเมืองลุง หนังพัทลุงจะไม่กลายเป็น “หนังตะลุง” เป็นอันขาด คำว่า “หนังตะลุง” เป็นคำที่ชาวกรุงเทพฯ ใช้เรียกหนังของชาวใต้ เพราะบางครั้งชาวใต้ถูกเรียกว่าชาวตะลุง
ส่วนคำว่า “หนังประโมทัย” มาจากรากศัพท์ว่า “ปราโมทย์หทัย” หมายถึง ความยินดี ความบันเทิงใจและความปลื้มใจ โดยคำว่า “ปราโมทย์” แปลว่า ความยินดี ความบันเทิง และ คำว่า “หทัย” แปลว่า ใจ
รวมความแล้วจึงหมายถึง หนังหรือละครที่ทำให้มีความบันเทิงใจ ปลื้มใจ นอกจากนี้ ชาวอีสานยังเรียกอีกว่า “หนังบักตื้อ” ซึ่งเรียกตามตัวละครที่โดดเด่น คือ ปลัดตื้อ โดยคำว่า “ปลัด” หมายถึง ผู้ช่วยหรือตำแหน่งของคนที่รองลงมาจากคนที่มีตำแหน่งสูงกว่า สันนิษฐานว่าคงหมายถึง ตัวประกอบหรือพระรอง สร้างความสนุกสนานให้กับการแสดง ส่วนคำว่า “ตื้อ” เป็นคำภาษาอีสานแปลว่า ตัน ไม่เฉียบแหลม ไม่มีไหวพริบปฏิภาณ
คำว่า “ปลัดตื้อ” จึงเป็นตัวละครบทรองที่มีลักษณะเด่น ไม่มีไหวพริบปฏิภาณ มักแสดงพฤติกรรมไม่เหมือนคนทั่วไป สร้างอารมณ์ขันให้กับผู้ชม
รูปหุ่นเชิดสำหรับการแสดงหนังประโมทัยในพิพิธภัณฑ์หนังประโมทัย บ้านโพนทัน อำเภอคำเขื่อนแก้ว จังหวัดยโสธร ซึ่งเป็นตัวละครในรรณคดีเรื่องรามเกียรติ์
หนังประโมทัยในภาคอีสาน สันนิษฐานว่าคงเริ่มต้นในช่วง พ.ศ. 2434 – พ.ศ. 2473 เป็นช่วงที่มีการสร้างทางรถไฟสายอีสานใต้ ชาวอีสานเริ่มเดินทางเข้าไปทำงานที่ภาคใต้และภาคกลางเป็นอย่างมาก
ทำให้มีการรับศิลปะการแสดงหนังตะลุงเข้าสู่อีสาน จึงสันนิษฐานว่าน่าจะได้รับอิทธิพลจากภาคใต้ผ่านภาคกลาง โดยมีกลอนบทละคร ระนาดและสำเนียงการร้องเวลาที่ตัวละครออกฉาก เป็นหลักฐานแสดงให้เห็นความสัมพันธ์ดังกล่าว
จังหวัดอุบลราชธานี ถือได้ว่าเป็นศูนย์กลางแห่งแรกของหนังประโมทัยที่มีคณะหนังประโมทัยที่เก่าแก่ที่สุด คือ คณะฟ้าบ้านทุ่ง (คณะกรรมการฝ่ายประมวลเอกสารและจดหมายเหตุในคณะกรรมการอำนวยการจัดงานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว, 2542) รวมถึงคณะบ้านโพนเมือง ตำบลหนองเหล่า อำเภอเขื่องใน จังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งได้รับความนิยมมากในระหว่าง พ.ศ. 2469 -2472 หลังจากพ.ศ. 2472 ความนิยมลดน้อยลงอีกครั้ง เนื่องจากมีการแสดงหมอลำหมู่และหมอลำเพลิน ซึ่งพัฒนาจากการแสดงลิเกและเพลงรำวงเข้ามาแสดงในภาคอีสาน หนังประโมทัยกลับมาได้รับความนิยมอีกครั้งภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 กระทั่งถึงปัจจุบัน
หนังประโมทัยบ้านโพนทัน คณะการแสดงอยู่ 2 คณะ คือ คณะเพชรโพนทัน และคณะรุ่งเรืองเสียงทอง จากการสัมภาษณ์ คุณพ่อสุข ประกอบแสง หัวหน้าคณะเพชรโพนทัน ได้กล่าวว่าหนังประโมทัย บ้านโพนทัน ได้เรียนมาจากบ้านโนนแคน ตำบลสร้างถ่อน้อย อำเภอหัวตะพาน จังหวัดอำนาจเจริญ โดยมีอาจารย์สมหมาย เป็นผู้สอนให้ในช่วง พ.ศ. 2496 เริ่มต้นเพราะชาวบ้านติดใจฝีมือการแสดงของอาจารย์สมหมายในงานบุญแจกข้าวของชาวบ้านโพนทัน จึงได้รวมตัวกันเป็นกลุ่มเพื่อเรียนการแสดงหนังประโมทัย โดยมีพ่อใหญ่ภูมี ทองหิน เป็นหัวหน้าคณะ อีกทั้งยังเป็นคนสอนบทละครของหนังประโมทัย ต่อมาได้ร่วมมือกับพ่อใหญ่เหลา หงส์คำ เป็นหัวหน้าคณะและร่วมแสดงกันต่อมา กระทั่งปัจจุบันหัวหน้าวง คือ คุณพ่อสุข ประกอบแสง เป็นหัวหน้าคณะเพชรโพนทัน ซึ่งได้ฝึกฝนประสบการณ์ในการแกะสลักตัวละคร การเล่นดนตรีและเล่นหนังประโมทัยในบทของพระเอก
ฉากสำหรับการแสดงหนังประโมทัย ในพิพิธภัณฑ์หนังประโมทัย บ้านโพนทัน
ลักษณะเด่นของหนังประโมทัยบ้านโพนทัน
หนังประโมทัย บ้านโพนทัน จะเล่นเฉพาะเรื่อง รามเกียรติ์ แต่ถ้าหากเจ้าภาพต้องการเรื่องอื่นก็สามารถเล่นให้ได้ โดยการแสดงจะเน้นความสนุกสนาน เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับวิถีชีวิตของชาวบ้าน พร้อมทั้งผสานความเชื่อในท้องถิ่นเข้าไปด้วย โดยมีองค์ประกอบคือ ดนตรี กลอนบทละครและกลอนลำ นำเสนอเรื่องราวให้ผู้ชมได้รับความบันเทิง
ดนตรีของหนังประโมทัย บ้านโพนทัน มีเครื่องดนตรีสำคัญที่ขาดไม่ได้เลย ประกอบด้วย ระนาด แคน กลองตุ้ม ฉิ่ง ฉาบ และพิณ ในสมัยต่อมาได้พัฒนาเป็นหนังประโมทัยประยุกต์ จึงมีการนำเอาเครื่องดนตรีสากล เช่น กลองชุด กีตาร์ เบส คีย์บอร์ด เข้ามาเล่นผสมกันเพื่อสร้างความสนุกสนานให้กับผู้ชม
ในส่วนของระนาดนั้น จุดที่น่าสังเกตคือ มีความสำคัญเป็นอย่างมากในการโหมโรงและการบรรเลงประกอบ โดยเฉพาะการไหว้ครู ซึ่งเป็นเครื่องหมายที่ทำให้เราเห็นการรับอิทธิพลของการแสดงหนังประโมทัยจากภาคกลางเข้ามาสู่ภาคอีสาน เมื่อผู้ร้องร้องบทไหว้ครูจบ ก็จะมีการตีกลองและตีระนาดรับ เรียกว่า การตีโหมโรงเรียกผู้ชม ในส่วนของการเจรจาสนทนาประกอบ ตัวละครซึ่งเป็นตัวละครเอก เช่น พระราม นางสีดา พระลักษณ์ ทศกัณฐ์ จะเรียกว่า ตีร้อยแก้ว ส่วนตัวละครที่เป็นตัวตลกจะไม่ใช้ระนาดตีประกอบ เพราะโดยมากตัวตลกจะใช้ภาษาอีสานในการสนทนา
“แคน” ยังคงเป็นเครื่องดนตรีประกอบการแสดงหนังบักตื้อของคนอีสาน โดยเฉพาะช่วงที่มีการร้องหมอลำ และการแสดงเนื้อเรื่อง ซึ่งเป็นนิทานพื้นบ้านของชาวอีสาน เช่น ย่ากินปลิง สินไซ ขูลู-นางอั้ว พร้อมทั้งใช้เป่าประกอบตัวละตลกเวลาที่เจรจา สนทนา หรือตัวละครที่พูดอีสานจะใช้แคนเป่าประกอบ ใช้มากคือ “ลายสังข์สินชัย” สลับกับการพูด ลายสังข์สินชัยจะมีความเร้าใจ และเล่นสลับเสียงแคนได้ไว ตัดลมได้กระชับ
คำว่า “ลายสังข์สินชัย” นอกจากหนังประโมทัยแล้ว การฟ้อนของหมอลำหมู่ หรือที่เรียกว่า ลำกกขาขาว ซึ่งในตอนชมดงจะใช้ทำนองคล้ายทำนองลำเพลิน เพราะเป็นตอนที่มีทำนองเร้าใจแตกต่างจากการลำเล่าเรื่องธรรมดา และตอนชมดงจะเป็นตอนที่สนุกสนานที่สุดของเรื่อง ก็ใช้ลายเดียวกัน
สรุปลักษณะเด่นของดนตรีที่ใช้ประกอบหนังประโมทัยได้ว่า เมื่อตัวละครเอกของเรื่องรามเกียรติ์ จะใช้ระนาดเป็นเครื่องดนตรีประกอบการแสดง การสนทนาและบทร้อง แต่ถ้าหากเป็นตัวละครตลกหรือตัวละครอื่นๆ ที่เป็นนิทานพื้นบ้านของชาวอีสาน จะใช้แคนเป็นดนตรีประกอบ สลับกับบทร้องไปเรื่อยๆ หากมีการขอเพลงตามสมัยนิยม ก็จะใช้ดนตรีสากลในการเล่นเพลงเพื่อความสนุกสนาน
กลอนบทละครเรื่องรามเกียรติ์ จะนำภาษาอีสานมาใช้ในการแสดง
กลอนบทละคร เป็นอีกองค์ประกอบสำคัญของหนังประโมทัย จะใช้ร้องในเรื่องรามเกียรติ์ มีอยู่ 2 รูปแบบ ได้แก่ บทไหว้ครูและบทแสดง โดยบทไหว้ครูเป็นบทร้องในตอนต้น มีเนื้อหาของบทกลอน ดังนี้
เออ…เอิง…เอย ผมจะขอคำนับจับเป็นกลอน ยกเอาบทสุนทรมากล่าวว่า
ผมจะขอคำนับจับเป็นกลอน ยกเอาบทละครแต่โบราณท่านมีมา
(ระนาดบรรเลง)
ผมจะเล่นไปตามเรื่องที่มันมี มิได้แหกพระบาลีนั้นมาว่า
ถ้ามันพลาดไปนิดผิดพลั้งเอ้ยไปหน่อย ขออภัยแต่น้อยเถิดคุณนายเจ้าขา
เชิญดูเล่นพอให้เป็นขวัญตา ขอให้ดูเถิดว่าจะอย่างไร
(ระนาดบรรเลง)
ผมจะได้เล่นลัดตัดฉันท์ ตัดเอาบทเอาตอนสำคัญน้อมากล่าวว่า
ผมจะได้เล่นลัดตัดฉันท์ ตัดเอาบทเอาตอนสำคัญน้อมากล่าวว่า
ผมจะเล่นไปตามเรื่องที่มันมี มิได้แหกพระบาลีออกกล่าวจา
(ระนาดบรรเลง)
นี่แหละเขาเรียกว่าหนังประโมทัย ที่มีมาตั้งแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยากรุงไกร
(ระนาดบรรเลง)
สิบนิ้วลูกจะยกขึ้นเหนือเศียร ขอไหว้คุณธูปเทียนมาลา
ไหว้ทั้งคุณพระพุทธที่ร่ำ ไหว้ทั้งคุณพระธรรมที่เลิศหล้า
ไหว้ทั้งคุณพระสงฆ์สุดแสน ผู้สืบต่อแทนพระพุทธศาสนา
ไหว้ทั้งคุณบิดามารดร ผู้ได้อุ้มอุทรเลี้ยงมา
ไหว้ทั้งคุณครูเพลงขอให้มาดลใจจิต จงมาช่วยแก้คิดในยามขัดสน
ลูกจะรำหรือร้องขอให้คล่องปัญญา จงนึกถึงตัวข้าอย่างลืมเอย
(สุข ประกอบแสง, 2562 : สัมภาษณ์)
จากบทละครที่ได้ยกมาข้างต้น คุณพ่อสุข ประกอบแสง ผู้ให้สัมภาษณ์กล่าวว่า บทไหว้ครูนี้ จะปรับเปลี่ยนไปไม่ได้เหมือนบทละคร หากออกมาจากครูคนเดียวกันจะมีบทไหว้ครูเป็นกลอนเดียวกัน ซึ่งกลอนบทไหว้ครูนี้ มีปรากฏในหลายคณะในเขตจังหวัดอุบลราชธานี อำนาจเจริญ ยโสธร ศรีษะเกษและร้อยเอ็ด ลูกศิษย์ส่วนหนึ่งที่เคยเรียนหนังประโมทัยจากบ้านโพนทันคือ คณะหนังประโมทัยบ้านลาด ตำบลนาเมือง อำเภอธวัชบุรี จังหวัดร้อยเอ็ด
สุข ประกอบแสง อายุ 82 ปี หัวหน้าคณะหนังประโมทัยเพชรโพนทันปัจจุบัน สุข ถือเป็นหัวหน้าคณะหนัง รุ่นที่ 3 กำลังจัดเรียง “สิ่ว” อุปกรณ์แกะสลักหุ่นหนังประโมทัย
เมื่อพิจารณาบทไหว้ครู ในความที่ว่า “ยกเอาบทละครแต่โบราณท่านมีมา” เป็นหลักฐานที่แสดงให้เห็นว่าเป็นการนำบทละครของภาคกลาง เช่น เรื่องรามเกียรติ์ มาแสดงแล้วร้องทำนองคล้ายกับเสภาลาว ซึ่งเป็นลักษณะการขับของหนังประโมทัย โดยรักษารูปแบบดั้งเดิมมิได้มีการเปลี่ยนแปลง ดังความที่ว่า “มิได้แหกพระบาลีนั้นมาว่า” เป็นความที่บ่งชี้ว่าการใช้บทละครยังคงเดิม มิได้มีการดัดแปลงให้แปลกออกไปแต่อย่างใด ซึ่งการแสดงหนังประโมทัย จะมีลักษณะสำคัญคือ “เล่นลัดตัดฉันท์ตัดเอาบทเอาตอนสำคัญน้อมากล่าวว่า” คือ จะคัดเลือกเอาเฉพาะตอนที่สนุกสนานเท่านั้นมาเล่น มิได้ยกมาทั้งเรื่อง เช่นคณะประโมทัยบ้านโพนทันนิยมเล่นตอนศึกกุมภกรรณและตอนศึกอินทรชิต เป็นต้น
“หนังประโมทัยที่มีมาตั้งแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยากรุงไกร” ข้อความนี้เป็นที่น่าสังเกตถึงความเป็นไปได้ของหนังประโมทัยว่าน่าจะมีตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา แต่ก็ยังไม่สามารถยืนยันได้ว่าหนังประโมทัยที่ว่านี้หมายถึง หนังใหญ่ที่เล่นเรื่องรามเกียรติ์ด้วยหรือไม่ ในส่วนนี้คงต้องหาคำตอบถึงการเชื่อมโยงต่อไป แต่การกล่าวถึงกรุงศรีอยุธยาในบทไหว้ครูนี้ เป็นความที่บ่งชี้แล้วว่าหนังประโมทัยได้รับวัฒนธรรมของภาคใต้ผ่านภาคกลางของไทย ทั้งการขับร้อง และท่วงทำนอง ผ่านคำว่า “ครูเพลง” ซึ่งหมายถึง ผู้ที่ได้รับการยกย่องว่ามีความรู้และความสามารถสูง เป็นผู้ที่มีคนมาฝากตัวเป็นศิษย์ เป็นคนถ่ายทอดการแสดงนี้มาให้ ส่วนบทแสดง
มีสัมผัสคล้ายกลอนบทละคร โดยบางครั้งก็คัดลอกจากบทละครในเรื่อง รามเกียรติ์มาเป็นบทร้อง ส่วนการสนทนาจะแต่งขับร้องกันเอง
เมื่อหนังประโมทัยได้รับความนิยมในภาคอีสานแล้ว จึงมีการปรับเปลี่ยนเป็นรูปแบบของตนเองมากยิ่งขึ้น มีการร้องผ่านกลอนลำเพื่อสร้างความสนุกสนานและเข้าถึงผู้ชมได้ในลักษณะของการใช้ภาษา อีกทั้งยังมีการปรับประยุกต์นำกลอนลำของลำเรื่องต่อกลอนมาใช้เป็นบทละครในการแสดงหนังประโมทัย
บริเวณหน้าพิพิธภัณฑ์หนังประโมทัย บ้านโพนทัน ตำบลโพนทัน อำเภอคำเขื่อนแก้ว จังหวัดยโสธร
พิพิธภัณฑ์หนังประโมทัย
ปัจจุบันชุมชนบ้านโพนทัน ตำบลโพนทัน อำเภอคำเขื่อนแก้ว จังหวัดยโสธร มีการอนุรักษ์ศิลปะการแสดงชนิดนี้ โดยสร้างพิพิธภัณฑ์หนังประโมทัย ถือเป็นพิพิธภัณฑ์หนังประโมทัยแห่งแรกในภาคอีสาน มีส่วนช่วยส่งเสริมสนับสนุนอนุรักษ์ประเพณีและวัฒนธรรมท้องถิ่น ปลูกจิตสำนึกให้เด็กเยาวชน สืบทอดการแสดงให้แก่เด็กเยาวชน เพื่อการอนุรักษ์ ฟื้นฟู สืบสานศิลปวัฒนธรรม ด้านในมีการจัดแสดงตัวหนังประโมทัยที่สำคัญมีคำอธิบายประกอบ พร้อมกับจำลองฉากการแสดงและดนตรีให้ผู้ที่สนใจได้รับชม เมื่อเข้าไปด้านในจะพบกับกับเวทีใหญ่ ใช้แสดงเมื่อมีคนมาศึกษาดูงาน ถือได้ว่าพิพิธภัณฑ์หนังประโมทัยแห่งนี้
ได้ช่วยบอกเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับหนังประโมทัยอีสานได้เป็นอย่างดี
สรุป
ศิลปะการแสดงเป็นสิ่งสำคัญที่ย้ำชัดถึงภูมิปัญญาของผู้คนในถิ่นนั้นๆ หนังประโมทัยเป็นหลักฐานยืนยันการรับและพัฒนาปรับประยุกต์ศิลปวัฒนธรรมจนกลายเป็นเอกลักษณ์ของตนเอง พร้อมทั้งมีการพัฒนาปรับประยุกต์ให้เข้ากับยุคสมัย ทั้งนี้ในฐานะเยาวชนคนรุ่นใหม่ เราควรเห็นคุณค่าของการอนุรักษ์และพัฒนาภูมิปัญญา เราจะสามารถเพิ่มมูลค่าและสร้างรายได้ให้กับชุมชนผ่านศิลปวัฒนธรรม หากท่านใดสนใจ สามารถเข้าชมพิพิธภัณฑ์หนังประโมทัยได้ทุกวัน การเดินทางสะดวกสบายเพราะติดกับถนนแจ้งสนิทสายอุบลราชธานี – ยโสธร ทางเข้าบ้านโพนทัน ตำบลโพนทัน อำเภอคำเขื่อนแก้ว จังหวัดยโสธร
เอกสารอ้างอิง
คณะกรรมการฝ่ายประมวลเอกสารและจดหมายเหตุในคณะกรรมการอำนวยการจัดงานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว. (2542). วัฒนธรรมพัฒนาการทางประวัติศาสตร์ เอกลักษณ์และภูมิปัญญา จังหวัดอุบลราชธานี. กรุงเทพฯ: ม.ป.พ.
ครูมนตรี โคตรคันทา. (13 กุมภาพันธ์ 2562). หนังประโมทัยอีสาน. เข้าถึงได้จาก www.isangate.com: https://www.isangate.com/new/drama-acting/156-pramo-tai.html
จักรกฤษณ์ เรือนวุฒิ. (2555). การศึกษาดนตรีประกอบการแสดงหนังประโมทัย ของคณะเพชรโพนทัน อำเภอคำเขื่อนแก้ว จังหวัดยโสธร. กรุงเทพฯ: ปริญญานิพนธ์ หลักสูตรปริญญาศิลปกรรมศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชามานุษยดุริยางควิทยา มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ.
ชุมเดช เดชพิมล. (2548). คติชนวิทยาคุณค่าต่อสังคมไทย : ผลกระทบต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิต. มหาสารคาม: มหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคาม.
สุข ประกอบแสง. (11 เมษายน 2562). การแสดงหนังประโมทัย คณะเพชรโพนทัน. ยโสธร.
jintana. (1 มีนาคม 2562). หนังประโมทัยอีสาน : หนังตะลุงของคนอีสาน. เข้าถึงได้จาก web2.stou.ac.th: http://web2.stou.ac.th/oce/edupark/?p=1254
ภาณุพงศ์ ธงศรี นิสิตคณะศึกษาศาสตร์ ปี 3 มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ผู้สนใจ
และชื่นชอบวรรณกรรมอีสาน การวิจารณ์วรรณกรรม การเมือง รวมถึงศิลปวัฒนธรรมอีสาน