ปฏิเสธไม่ได้ว่าหลังการรัฐประหารยึดอำนาจโดย คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เมื่อปี 2557 ภาพของอังคณา นีละไพจิตร กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติและบทสัมภาษณ์เกี่ยวกับเจ้าหน้าที่รัฐประเด็นที่ประชาชนที่เป็นนักเคลื่อนไหวทางการเมืองถูกเจ้าหน้าที่รัฐจับกุมปรากฎในหน้าสื่อหลายต่อหลายครั้ง
แต่ทว่าความเห็นของเธอหลายครั้งมักถูกวิพากษ์วิจารณ์จากผู้เห็นต่างในโลกออนไลน์เสมอ ในฐานะที่อังคณาเป็นบุคคลที่ทำงานคลุกคลีกับประเด็นการเมือง โดยเฉพาะประเด็นเกี่ยวกับประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน ซึ่งเป็นประเด็นที่เดอะอีสานเรคคอร์ดติดตามและให้ความสนใจ
เราจึงไม่พลาดที่จะพูดคุยเรื่องเหล่านั้นกับเธออย่างไม่เป็นทางการ ในโอกาสที่เธอมาบรรยายพิเศษเรื่อง “การเมืองไทยกับสิทธิมนุษยชน” ให้กับนักศึกษาชาวต่างชาติที่จังหวัดขอนแก่น

อังคณา นีละไพจิตร กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ บรรยายพิเศษเรื่อง “การเมืองไทยกับสิทธิมนุษยชน” ให้กับนักศึกษาชาวต่างชาติที่จังหวัดขอนแก่น
IR : เท่าที่ทำงานมา คิดว่าภาคอีสานมีจำนวนนักปกป้องสิทธิมนุษยชนมากหรือน้อยกว่าภูมิภาคอื่นหรือไม่
เป็นหลักร้อยเลย ส่วนมากเป็นผู้หญิง น่าจะร้อยละ 80 กว่า ซึ่งพวกเขาก็ทำงานอย่างจริงจังด้วย คิดว่าในอีสานมีแทบทุกจังหวัด หลากหลายอายุ มีตั้งแต่วัยเด็ก อย่างกรณีที่บริษัทฟ้องร้องนักปกป้องสิทธิชุมชน กรณีเหมืองแร่ทองคำจังหวัดเลย ซึ่งมีนักข่าวพลเมืองที่อายุเพียงแค่ 15 ปีเอง
IR : คิดว่าทำไมผู้หญิงในภาคอีสานกลายเป็นนักปกป้องสิทธิต่างๆ ของชุมชน
ส่วนตัวคิดว่า ผู้ชายอาจกลัวเรื่องความปลอดภัย ส่วนมากจึงให้ผู้หญิงออกมาเคลื่อนไหว ถ้าเป็นเมื่อก่อนอย่างกรณีเขื่อนปากมูล สังเกตว่าจะมีพวกแม่ๆ ผู้หญิงที่ออกหน้าต่อสู้เรียกร้องความเป็นธรรม เรียกร้องสิทธิ์ จนถูกโดนดำเนินคดีกว่า 30 คดี
IR : แล้วทำไมผู้หญิงจึงกล้าออกมากเรียกร้องสิทธิ์ เรียกร้องความเป็นธรรมแบบนี้
คิดว่าเวลาผู้หญิงอีสานมีความกล้า อดทนและมุ่งมั่น เคยคุยกับผู้หญิงที่เป็นนักเคลื่อนไหวเรื่องนี้ เขาบอกว่า เมื่อก่อนผู้หญิงก็ทำไร่ทำนาเหมือนกับผู้ชาย รวมถึงต้องหาอาหารเช่นกัน เช่น จับกบ จับเขียด ไปเก็บผัก หาปลา เมื่อไม่มีอาหารตามธรรมชาติ ผู้หญิงก็ต้องดิ้นรนทำงานเอาเงินไปซื้อ จะเห็นได้ว่าผู้หญิงมีบทบาทนอกบ้านและในบ้าน ผู้หญิงต้องเป็นคนหาให้คนในบ้านกิน
IR : แล้วบทบาทของผู้หญิงกับการปกป้องสิทธิมนุษยชนใน 3 จังหวัดภาคใต้ที่คุณอังคณาเคยทำงานด้วยเป็นอย่างไร
3 จังหวัดภาคใต้ก็มีผู้หญิงออกมาเคลื่อนไหวจำนวนมาก อีกทั้งยังเป็นถึงนักการเมือง แต่ว่าที่นั่นยังมีวัฒนธรรมชายเป็นใหญ่อยู่ จึงทำให้ผู้หญิงที่ออกมาบางครั้งถูกคนในสังคมไม่ยอมรับ โดยเฉพาะผู้ชาย
IR : แล้วทำไมดูเหมือนจะเป็นผู้หญิงมากขึ้นที่จะสมัครใจออกมาเคลื่อนไหวในพื้นที่
เพราะผู้หญิงเหล่านั้นเป็นผู้หญิงที่อยู่กับปัญหา ประสบกับปัญหาการละเมิดสิทธิจริง
IR : มองปรากฏการณ์ที่มีผู้หญิงลงสมัคร สส. ช่วงก่อนการเลือกตั้งอย่างไร
ในอีสาน ส่วนตัวเห็นผู้หญิงสมัครเป็น สส. ในพื้นที่หลายคน ผู้หญิงเหล่านั้นเป็นผู้หญิงบ้านๆ ที่เสนอตัวเป็นนักการเมือง ส่วนมากหลายคนที่เป็นเด็กๆ รุ่นใหม่ด้วย เช่น มีผู้หญิงคนหนึ่งที่จังหวัดชัยภูมิลงสมัคร สส. พรรคการเมืองหนึ่งเช่นกัน ก่อนหน้านี้เขาทำงานเคลื่อนไหวเรื่องสิทธิที่ดินทำกินในภาคอีสาน เขาเคยบอกเหตุผลที่ลงสมัคร สส. ว่า คือเขาต้องทำงานเป็นตัวแทนเคลื่อนไหวนำปัญหาและความต้องการของชาวบ้านในพื้นที่นำเสนอให้รัฐบาลแก้ไข
IR : คิดว่าถ้าคนอีสานที่เป็นคนรุ่นใหม่ ถ้าได้ไปเป็น สส. จริงๆ จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอะไรหรือไม่
เชื่อว่ามันน่าจะเกิดการเปลี่ยนแปลง อย่างน้อยคนรุ่นใหม่หลายคนที่ลงเล่นการเมืองก็จะรู้จักการทำงานในพรรคการเมือง รู้จักการทำงานในฐานะตัวแทนของประชาชน ถึงแม้เขาอาจจะไม่ได้รับเลือกตั้ง แต่อย่างน้อยเขาควรจะได้เริ่มเรียนรู้การทำงานในพรรคการเมือง เขาเป็นคนรุ่นใหม่เขามีความตั้งใจ ถึงแม้เขาจะไม่ได้รับเลือก แต่เป็นการเรียนรู้ให้เขาได้เข้าไปเป็นผู้ช่วย ไปเป็นที่ปรึกษา มันทำให้เขาสามารถเข้าไปเรียนรู้ การทำงานในระบบกลไกรัฐสภาได้
IR : คิดว่าสถานการณ์นักปกป้องสิทธิมนุษยชนในอีสานปัจจุบันเป็นอย่างไร
ในส่วนตัวมองว่า ในวันนี้สิ่งที่นักปกป้องสิทธิฯ ทุกภาค ไม่เพียงแค่อีสานกังวลนั้นคือประเด็นเรื่องการทำธุรกิจที่กระทบต่อสิทธิมนุษยชน สิทธิชุมชน สิ่งแวดล้อมและวิถีชีวิตผู้คน ซึ่งในภาคอีสานตอนนี้มีโครงการการลงทุนขนาดใหญ่จำนวนมากเข้ามาในภาคอีสาน แล้วคนในพื้นที่ที่จะมีโครงการพัฒนาขนาดใหญ่นั้นต่างกังวลผลกระทบต่อสุขภาพ สิ่งแวดล้อมและชุมชน อีกทั้งคนในพื้นที่ไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลเกี่ยวกับโครงการเหล่านั้นอย่างรอบด้าน พวกเขาไม่รู้ว่าผลกระทบจะเป็นอย่างไรในระยะสั้นหรือระยะยาว ซึ่งทำให้เกิดการเคลื่อนไหวสอบถามข้อมูลโครงการ รวมถึงเคลื่อนไหวคัดค้านโครงการที่อาจจะส่งผลกระทบต่อชุมชน ผู้คนและสิ่งแวดล้อมในพื้นที่มากมาย การเคลื่อนไหวเพื่อปกป้องสิทธิมนุษยชน สิทธิชุมชนของชาวนี้ ทำให้หลายคนก็ถูกฟ้องร้องถูกดำเนินคดี และโดยส่วนมากตอนนี้เป็นผู้หญิงด้วย ทำให้ต้องขึ้นโรงขึ้นศาล ไม่ได้ทำมาหากิน เป็นต้น