โดย ถนอม ชาภักดี
กระแสโลกาภิวัฒน์บีบรัด มีของต้องสำแดง
ตั้งแต่ปลายทศวรรษปี 2520 เป็นต้นมา ประเทศไทยและประเทศในภูมิภาคที่ตามไม่ทันประเทศพัฒนาทั้งหลาย ต่างตระหนกและตระหนักถึงวิกฤตทางอัตลักษณ์การดูดกลืน สังคม จารีต ประเพณีของชาติอย่างหวั่นไหว ด้วยกระแสโลกาภิวัฒน์ทางศิลปวัฒนธรรมแบบเสรีนิยมใหม่จากประเทศพัฒนาแล้ว ไม่ว่าจะเป็นจากยุโรป อเมริกาเหนือ หรือแม้แต่เอเชียด้วยกัน เช่น ญี่ปุ่น เกาหลี เป็นต้น
การไหลบ่าเข้ามาของวัฒนธรรมดังกล่าวทำให้รัฐไทยหาหนทางสร้างภูมิคุ้มกันขนาดใหญ่ เพื่อปลุกกระแสสำนึกรักษ์บ้านเกิด ขุดค้นแสวงหาเรื่องราววิถีชีวิตของบรรพบุรุษ/สตรีขึ้นมา เพื่อก่อร่างสร้างวัฒนธรรมประดิษฐ์ขึ้นมาใหม่ เพื่อต้านกระแสสึนามิทางศิลปวัฒนธรรมจากที่อื่น เสมือนเป็นการต่อต้านเพื่อการต่อรอง
ก่อนหน้านี้ประเทศไทยมีการสถาปนาหน่วยงานหนึ่งทางวัฒนธรรมขึ้นมาตั้งแต่ปี 2481 และก่อตั้งกระทรวงวัฒนธรรมขึ้นมาครั้งแรกในปี 2495
แต่ละครั้งแต่ละคราวที่สถาปนาองค์กรทางวัฒนธรรมเหล่านี้ขึ้นมานั้น ก็เพื่อกระตุ้น เร่งเร้า สร้างขึ้น เพื่อสืบสานแนวคิดความเป็นไทย ความเป็นชาติไทย และส่งเสริมสถาบันต่างๆ ให้เป็นเสาหลักของชาติ ให้คนในชาติตระหนัก สร้างสำนึกจินตนาการที่รัฐได้ประดิษฐ์สร้างขึ้นมา ไม่ว่าจะเป็นแนวคิดชาตินิยม ประเพณี ศิลปะ วัฒนธรรม วรรณกรรม ดนตรี ประวัติศาสตร์ ให้มีเอกภาพ
เมื่อผลลัพธ์เป็นที่พึงพอใจของรัฐแล้ว ก็ไม่จำเป็นที่จะต้องดำเนินการสืบสานพันธกิจอีกต่อไป และจึงยุบหน่วยงานนั้นๆ เมื่อหมดความจำเป็น ครั้นเมื่อถึงคราวเผชิญกับวิกฤตทางเอกลักษณ์ อัตลักษณ์ตามทัศนะของรัฐ จึงมีการสถาปนากระทรวงวัฒนธรรมขึ้นมาอีกครั้งในปี 2545 เพื่อรับมือกับกระแสคลื่นใหม่ทางโลกาภิวัฒน์ ทั้งเศรษฐกิจ ศิลปวัฒนธรรมและเทคโนโลยีสมัยใหม่ นัยว่าการตั้งกระทรวงครานี้เพื่อทำให้เกิดความมั่นคงทางศิลปวัฒนธรรม ก่อนหน้านั้นรัฐไทยเคยประกาศให้ช่วงปีต่างๆ มีวาระสำคัญทางศิลปวัฒนธรรม เช่นในปี 2537 เป็นปีแห่งการรณรงค์วัฒนธรรมไทย ปี 2538 – 2540 เป็นปีแห่งการสืบสานวัฒนธรรมเพื่อการพัฒนาและกำหนดให้ช่วงปี 2541 – 2550 เป็นทศวรรษสืบสานวัฒนธรรมเพื่อการพัฒนา
วาระต่างๆ ที่กล่าวมานั้นเป็นการปลุกกระแสศิลปวัฒนธรรมความเป็นท้องถิ่นในแต่ละภูมิภาคต่างๆ ของประเทศไทยขึ้นมา เพื่อต่อกรกับวิถีโลกาภิวัฒน์ที่แทรกซ้อนไปทั่วทุกพื้นที่ การกระทำดังกล่าวเป็นเพราะรัฐทนไม่ได้กับความแปรปรวนทางศิลปวัฒนธรรม ความเป็นไทยที่กำลังถูกบั่นเซาะในยุคปัจ

ผู้ร่วมงานเทศกาลดอกลำดวนกำลังทำพานบายศรีสู่ขวัญเพื่อประกวด
ประเพณีวัฒนธรรมประดิษฐ์ถูกลิขิตให้แสดง
อย่าได้แปลกใจว่าทำไมช่วงทศวรรษ 2530 เป็นต้นมา ประเทศไทยทั่วทุกภูมิภาคจึงเต็มไปด้วยงานเทศกาลและประเพณีกันอย่างครึกครื้นไม่เว้นแต่ละเดือน
ว่ากันว่าสถานการณ์เหล่านี้มีวิถีสืบทอดกันมาตามวิถีของชุมชน แม้หลายๆ แห่งแหล่งที่อาจมีชุมชนตามท้องถิ่นสืบสานตามวาระและโอกาสของชุมชนตนเอง แม้ไม่ได้ใหญ่โตมโหฬารดั่งที่เป็นอยู่ในปัจจุบันที่หวังให้เกิดเกิดผลทางธุรกิจการท่องเที่ยว รวมถึงการคาดหวังให้เกิดกระแส การตื่นตัวของกลไกตลาดโลกาภิวัฒน์ที่จะหวังสร้างมูลค่าเชิงเศรษฐกิจจากศิลปวัฒนธรรมที่จับต้องได้ และเปลี่ยนแปลงมูลค่าเชิงศิลปะการแสดงเหล่านั้นให้กลายเป็นเงินตรา
ถือเป็นการนำเสนอการแสดงศิลปวัฒนธรรมที่ผ่านการจัดสรรอย่างเป็นระบบแบบแผนตามความมุ่งหวังของหน่วยงานภาครัฐ ไม่ว่าจะเป็นกระทรวงการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย กระทรวงวัฒนธรรม สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัด องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น หรือแม้กระทั่งเอกชน บริษัทผูกขาดสินค้า ห้างร้านต่างๆ ที่ใช้วลี “การคืนกำไรแก่สังคม” อ้างทำเพื่อศิลปวัฒนธรรม
แน่นอนว่าปรากฏการณ์ประเพณีวัฒนธรรมประดิษฐ์ใหม่เหล่านี้ จะต้องสืบสาวเล่าเรื่องจากตำนานประเพณีในอดีต ทั้งจากประวัติศาสตร์การบอกเล่า ตำราเอกสารต่างๆ เพื่อสลักหลักให้เทศกาลงานบุญมีที่มาที่ไป อย่างน้อยก็ทำให้ผู้ชมในงานได้มีความรู้สึกว่า ได้วาดสายตา โหยหาอดีตความเป็นไทยในอดีตก่อนที่จะหายจากความทรงจำมาสู่ความจำใหม่ และตอกย้ำให้เห็นถึงกำพืดตัวเอง แม้ว่าจะถูกดูแคลนมาตลอด
แต่ครั้นอยู่ในสภาวะของงานเทศกาล งานประเพณีแล้ว กลับทำให้เกิดความกระหยิ่มภูมิใจในชาติพันธุ์ของตัวเองขึ้นมา ราวกับตกอยู่ในภวังค์ของออร่า (Aura) อย่างกรณีงานเทศกาลประเพณีในภาคอีสาน ไม่ว่าจะเป็นเทศกาลแห่เทียนพรรษา จังหวัดอุบลราชธานี เทศกาลไหลเรือไฟ จังหวัดนครพนม งานการจัดดอกฝ้ายบานสืบสานวัฒนธรรมไทยและผีตาโขน จังหวัดเลย เทศกาลแห่ปราสาทผึ้ง จังหวัดสกลนคร เทศกาลดอกคูณเสียงแคน จังหวัดขอนแก่น มหกรรมภูไทนานาชาติ จังหวัดกาฬสินธุ์ เทศกาลดอกลำดวนบาน จังหวัดศรีสะเกษ เป็นต้น
ปรากฏการณ์เทศกาล งานบุญ ประเพณีเหล่านี้ เป็นสถานการณ์ที่ถูกสร้างขึ้นมาใหม่ นัยหนึ่งเพื่อตอบสนองกับกระแสบริโภคยุคใหม่ที่หวนโหยถึงอดีต ที่เชื่อว่าจารีตประเพณีเหล่านี้มีความรุ่งเรืองมาก่อน และประเด็นหนึ่งก็เพื่อเป็นการต่อรองทางศิลปวัฒนธรรมในการยืนยันว่า ความเป็นท้องถิ่นของตนนั้นมีเอกลักษณ์ อัตลักษณ์อะไรบ้างในวิถีการดำรงอยู่
ดังที่ Eric Hobsbaum นักประวัติศาสตร์แนวสังคมนิยม ได้เสนอว่า ประเพณีที่ถูกสร้างขึ้น หมายถึง แบบฉบับของการปฏิบัติชุดหนึ่ง โดยปรกติจะรับรู้กันจากพิธีกรรมหรือสัญลักษณ์ทั้งที่มุ่งปลูกฝังคุณค่าด้วยการทำอย่างซ้ำๆ ซากๆ ซึ่งมีนัยสัมพันธ์กับอดีต เมื่อความ “จริงแท้” ของประเพณี ทั้งที่ความจริงอาจจะเกิดจากความขัดแย้งระหว่างสิ่งเก่าและสิ่งใหม่ ทั้งนี้เป็นเพราะบางครั้งประเพณีเก่าไม่อาจปรับเปลี่ยนตัวให้เข้ากับสภาพสังคมใหม่ที่เปลี่ยนแปลง จึงจำเป็นต้องเกิดกระบวนการที่ทำให้มันกลายเป็นที่ยอมรับของสังคม (เมธาวี ศิริวงษ์ 2556 อ้างในธเนศ อาภรณ์สุวรรณ, 2548)

การแสดงการร่ายรำประจำท้องถิ่น
เทศกาลดอกลำดวน (ไม่) บาน 2562
กับการนำเสนอภาพลักษณ์ของกลุ่มชาติพันธุ์ในศรีสะเกษ
ในระยะเวลา 4-5 ปีมานี้ จังหวัดศรีสะเกษมักจะถูกกล่าวถึงความเอร็ดอร่อย มหัศจรรย์ของทุเรียนภูเขาไฟ ซึ่งกลิ่นอาย ตัวตน ภูเขาไฟ ไม่ทราบเหมือนกันว่าอยู่แถวไหน แต่ที่แน่ๆ ทุเรียนแถบอำเภอกันทรลักษณ์ ขุขันธ์ ขุนหาญ ชายแดนติดเขมร กลายเป็นผลผลิตราคาแพงที่ชาวบ้านไม่มีปัญญาซื้อกินได้ง่ายๆ
นอกจากเรื่องทุเรียน ผามออีแดงหรือแหล่งท่องเที่ยวอื่นๆ ในจังหวัด กำลังมีงานประจำปี เทศกาลดอกลำดวนบาน: สืบสานประเพณีสี่เผ่าไทศรีสะเกษ หรือชื่อเต็มๆว่า งานมหกรรม “ของดีบ้านฉัน” จังหวัดศรีสะเกษ อันที่จริงไม่ได้ประหลาดใจกับการจัดงานเทศกาลประเพณีแบบนี้ แต่อยากตั้งข้อสังเกตว่า การที่พึ่งจะเชิดชูกลุ่มชาติพันธุ์ส่วย (กูย) เยอ เขมรและลาว เมื่อราวกลางทศวรรษ 2530 ที่มาพร้อมกับการขุดอดีต การผลิตอุตสาหกรรมทางวัฒนธรรมนั้น มันสามารถภูมิคุ้มกันและทำให้คนในจังหวัดศรีสะเกษตระหนักถึงกำพืดตัวเองจริงๆ หรือ?
ในอดีตตั้งแต่ยุคสร้างชาติ ตลอดจนมาถึงยุคสิ้นสุดยุคสงครามเย็น ศรีสะเกษไม่ค่อยยินดีนักกับการที่คนอื่นมองด้วยสายตาหรือท่าทางว่าตัวเองเป็นส่วย (กูย) เยอ เขมร ส่วนลาวนั้นไม่น่าแปลกใจเท่าไหร่ ส่วนชาติพันธุ์ที่ถูกมองอยู่ในฐานะชั้นล่างสุดของชาติพันธุ์ที่แคลนในคำสบถหรือล้อเลียน เสียดสี เช่น พวกส่วย
ศรีสะเกษ ลูกส่วย!!!
เมื่อถึงคราวจักต้องแสดงอัตลักษณ์แห่งชาติพันธุ์ ซึ่งส่วนมากคือคนรุ่นอายุ 50 ปีขึ้นไป ที่พอจะสืบสานเล่าตำนานจากการบอกเล่าได้ เพราะเอกสารหลักฐานจริงๆนั้นสืบค้นกันอย่างลำบากและหายาก ด้วยจากการเคยถูกดูถูก ดูแคลน กลุ่มชาติพันธุ์เหล่านี้มาก่อน ถึงแม้มีการค้นคว้าวิจัยมากขึ้นเกี่ยวกับเรื่องนี้ แต่เป็นข้อมูลที่ถูกกล่อมเกลา สลักเหลา จนงดงามราวกับว่าตัวตนของชาติพันธุ์ในจังหวัดศรีสะเกษนั้นเป็นที่กล่าวขานมาพร้อมกับแผ่นดินอีสาน จึงไม่แปลกใจว่า งานเทศกาลดอกลำดวนบานนั้นมีส่วนประกอบอยู่ที่การแสดงตนของกลุ่มชาติพันธุ์ และกลุ่มชาติพันธุ์สำคัญกว่าดอกลำดวน
เมื่อวางตำแหน่งของความสำคัญไว้ที่ดงและดอกลำดวน เสียดายปีนี้ดอกลำดวนไม่มีบานสักต้น เหลือแต่ภาคแสดงบนเวทีที่ให้ชาวบ้านแต่งตัวมาแสดงตามท้องถิ่นของตน เช่น การแสดงประเพณีแซนโฎนตา อำเภอขุขันธ์ ประเพณีปังอ้อกเปรี๊ยะแด จากอำเภอขุนหาญ เซิ้งสะไน จากราษีไศล นอกเหนือจากนั้นก็มีการสาธิตของการสานกระบุง ตะกร้า กระด้ง อาหารการกินประจำถิ่น ที่ขาดไม่ได้คือสินค้าโอท็อป หรือชื่อใหม่ว่า นวัตวิถี การแสดงสำคัญที่ขาดไม่ได้คือ มหกรรมการแสดงแสงสีเสียงที่ตระการตา ถือเป็นไฮไลท์ของตำนานการสร้างเมืองศรีสะเกษ เรื่องอารยธรรมแห่งศรัทธา มนตรา!! นี่แหล่ะประเพณีประดิษฐ์ใหม่ที่ตอกย้ำมาตลอดเทศกาลดอกลำดวนบานมากว่าสามทศวรรษ ถือเป็นความย้อนแย้งของกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีตัวตนอยู่ภายใต้การเหยียดมอง กับการแสดงที่เชิดชูบูชาเจ้าผู้ครองจักรวาลแห่งศรีพฤทเธศวร!!
เทศกาลดอกลำดวน (ไม่) บานในปีนี้เพิ่งผ่านไปเมื่อต้นเดือนมีนาคม จัดขึ้นที่สวนสมเด็จพระศรีนครินทร์ศรีสะเกษ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีต้นลำดวนเป็นหมื่นๆ ต้น แต่ปีนี้ไม่มีแม้กลิ่นหอมมนต์เสน่ห์ของดอกลำดวน แต่มีความระอุร้อนปนความอบอ้าวในยามค่ำคืนแห่งศรีนครลำดวน!!!
อ้างอิง : เมธา ศิริวงษ์ (2556) ประเพณีประดิษฐ์กับการจัดการทรัพยากรวัฒนธรรม กรณีศึกษา งานประเพณีแซนโฏน อำเภอขุขันธ์ จังหวัดศรีสะเกษ, บัณฑิตวิทยาลัยมหาวิทยาลัยศิลปากร