โดย สมานฉันท์ พุทธจักร

ปี 2537 ศรีคูณ เจียงกระโทก ผู้คุมงานก่อสร้างหรือในวงการช่างเรียกกันว่า โฟร์แมน จากหมู่บ้านแห่งหนึ่งในอำเภอนางรอง จังหวัดบุรีรัมย์ เดินทางมาทำงานไกลถึงประเทศสิงคโปร์ วันหนึ่งขณะที่ศรีคูณกำลังใช้เวลาในวันหยุดเดินทอดน่องในห้าง Golden Mile (ปัจจุบันกลายเป็นแหล่งรวมคนไทยในสิงคโปร์) เขาได้พบนักท่องเที่ยวสาวชาวไทยซึ่งเดินทางมาจากจังหวัดอุดรธานี กำลังถ่ายรูปสิ่งต่างๆ ในห้าง

ศรีคูณเห็นว่าเป็นคนไทยด้วยกัน จึงเดินเข้าไปทักทายพูดคุย รวมทั้งได้ทักถามถึงกล้องที่เธอกำลังถืออยู่ว่าซื้อหามาจากที่ไหน หลังจากนั้นไม่นาน ศรีคูณก็ได้ซื้อหากล้องถ่ายภาพเป็นของตัวเองกลับไปที่พัก ซึ่งต่อมากล้องถ่ายภาพใหม่เอี่ยมตัวนี้ก็ได้กลายเป็นอุปกรณ์ที่เขาใช้บันทึกเก็บภาพชีวิตผู้คน ตลอดจนสิ่งของต่างๆ ที่วนเวียนเกี่ยวข้องกับชีวิตของแรงงานไทยในไซต์ก่อสร้างในยุคที่สิงคโปร์์กำลังสร้างชาติ

ปี 2557 ระหว่างที่ Simon A. Peth นักวิจัยชาวเยอรมัน กำลังทำวิจัยเกี่ยวกับการเคลื่อนย้ายของแรงงานข้ามชาติในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เขาเดินทางไปทั่วอีสานเพื่อสัมภาษณ์พูดคุยกับผู้คนที่เคยเดินทางออกจากชุมชนไปขายแรงงานในต่างแดน และศรีคูณก็เป็นหนึ่งในกลุ่มเป้าหมายที่นักวิจัยชาวเยอรมันคนดังกล่าวต้องการเดินทางมาพบ

“ตอนนั้นเขาเดินทางมาที่นางรอง ถามหาคนที่เคยไปทำงานเมืองนอก ชาวบ้านก็รู้ว่าผมเคยไป” ศรีคูณกล่าว

ลังกระดาษบรรจุอัลบั้มภาพถ่ายของชีวิตแรงงานไทยในสิงคโปร์ที่ศรีคูณถ่ายไว้เมื่อครั้งยังทำงานอยู่ที่สิงคโปร์

ด้วยเหตุนี้นักวิจัยหนุ่มเยอรมันจึงมีโอกาสได้เจอกับศรีคูณ อดีตแรงงานพลัดถิ่นที่ปลดระวางจากการทำงานในสิงคโปร์ กลับมาอยู่ที่บ้านเกิดพร้อมกับภาพถ่ายชีวิตคนงานไทยในต่างแดนมากกว่า 900 แผ่น ซึ่งต่อมาภายหลัง Simon ได้หยิบยืมไปสแกนเก็บบันทึดลงในโลกดิจิทัล กลายเป็นนิทรรศการภาพถ่ายบนโลกออนไลน์ ทำหน้าที่บอกเล่าเรื่องราวชีวิตของแรงงานไทยในต่างแดนได้อย่างมีสีสันและน่าค้นหา

(เล่าเรื่องด้วยภาพ ชีวิตพลัดถิ่น – แรงงานอีสานในสิงคโปร์ยุคสร้างชาติ แปลจากภาษาอังกฤษ “Work Men on the Move”)

ปี 2562 ผู้เขียนเดินทางตามรอยของ Simon มาถึงบ้านริมถนนลาดยางในอำเภอนางรอง หลังเจ้าของบ้านเปิดบ้านต้อนรับ พร้อมมอบน้ำดื่มเย็นๆ ให้ได้ดื่มดับร้อน และคลายความเหน็ดเหนื่อยบนศาลาไม้ที่ตั้งอยู่ข้างตัวบ้าน กว่าบทสนทนาของเราจะเริ่มต้นได้ ก็ต้องรอจนกว่าศรีคูณจะไล่จับลูกหลานตัวเล็กตัวน้อย 4-5 คน ที่พ่อแม่ของเด็กฝากให้ช่วยเลี้ยงและคอยดูไม่ให้วิ่งสารวนออกไปเล่นใกล้ถนนระหว่างช่วงที่เดินทางออกไปทำงานในเมืองกรุงเทพฯ

หลังจากหายเข้าไปในตัวบ้านสักครู่ ศรีคูณ ด้วยร่างสูงโปร่งกำยำแม้อายุจะล่วงเลยผ่านวัยเลข 6 ก็เดินกลับออกมาพร้อมกับถือลังกระดาษดูเก่าแต่ทว่าอัดแน่นไปด้วยอัลบั้มภาพถ่ายที่กองเรียงทับกันเป็นชั้นๆ

“คือมันไม่ใช่แบบนั้น มันเกี่ยวกับความสนุก เพื่อนชวนไป มันเป็นวัยของเราที่อยากรู้อยากลองงานต่างๆ เราอยากศึกษา เราอยากรู้ว่ามันเป็นยังไงเราก็ไป แค่นั้น” ศรีคูณกล่าวออกตัว หลังผู้เขียนเล่าให้ฟังถึงอดีตแรงงานข้ามชาติคนอื่นๆ ที่เคยได้สัมภาษณ์ถึงสาเหตุที่ต้องออกไปทำงานยังต่างประเทศมาก่อนหน้านี้ ซึ่งที่ผ่านมา แรงงานไทยในต่างแดนส่วนมากจะบอกว่าราคาพืชผลทางการเกษตรตกต่ำเป็นสาเหตุผลักดันให้พวกเขาออกไปทำงานหารายได้ในต่างแดน

แต่ในกรณีของศรีคูณกลับไม่ได้เป็นเช่นนั้น ศรีคูณก้าวเดินออกจากมาตุภูมิไปไกลเรื่อยๆ ตามจังหวะชีวิต เขาเดินทางออกไปไกลเพราะความอยากรู้และความสนุกสนาน ไม่แตกต่างจากภาพถ่ายบันทึกที่เขานำออกมาให้ดู ภาพถ่ายเหล่านี้ดูรุ่มรวยไปด้วยเรื่องราวของชีวิตและน่าค้นหา

กล่องลังกระดาษสภาพไม่แข็งแรงนี้บรรจุอัลบั้มภาพถ่ายที่ศรีคูณถ่ายไว้ตลอดช่วงเวลาที่ไปทำงานก่อสร้างที่สิงคโปร์

ออกจากบ้านเกิด

ศรีคูณเติบโตในครอบครัวเกษตรกรรมแบบดั้งเดิมในอำเภอนางรอง จ.บุรีรัมย์ หลังจากจบการศึกษาชั้นประถม 4 ซึ่งเป็นระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานที่คนส่วนใหญ่ในชนบทได้รับขณะนั้น เขาประกอบอาชีพเกษตรกรทำนา

“เราไม่เคยสนใจ เมืองนอกเมืองอะไรเราไม่รู้ ตั้งใจไปทำงานที่พัทยาเฉยๆ ช่วงนั้นไม่ค่อยมีคนในหมู่บ้านไปต่างประเทศกัน มีแค่ไปทำงานที่กรุงเทพกัน”

หลังจากผ่านการรับใช้ชาติด้วยการเกณฑ์ทหารเป็นทหารบก 2 ปี ศรีคูณเดินทางกลับมาทำนาที่บ้านได้ไม่นานนักก็ได้รับการชักชวนจากเพื่อนฝูงให้ไปทำงานด้วยกันที่เมืองพัทยา ด้วยวุฒิการศึกษาเพียงแค่ประถมศึกษา 4 เขาเลยได้เริ่มทำงานในตำแหน่งคนงานก่อสร้างโรงแรมหรูสูง 7 ชั้น

ศรีคูณเล่าว่า ด้วยตัวเขามีความทะเยอทะยานสูง พยายามเรียนรู้วิชาเกี่ยวกับการก่อสร้าง การดูแบบจากผู้คุมงาน โดยเฉพาะเรียนรู้พูดคุยกับผู้คุมงานตามวงร่ำสุราหลังเลิกงาน ทำให้เขามีความรู้และสามารถพัฒนาตัวเองจนได้รับหน้าที่คุมงานก่อสร้างแทนหัวหน้างานในบางครั้ง ในกรณีที่ผู้คุมงานไม่ว่าง ไม่นานหลังจากนั้นเขาจึงเริ่มขอรับเหมาแบ่งงานจากผู้คุมมาทำเอง

เมื่อประสบการณ์และวิชาความรู้พร้อมแล้ว ศรีคูณรวมตัวกับเพื่อนคนงานด้วยกันออกมารับเหมางานก่อสร้างทีมเล็กๆ โดยจะรับเหมาก่อสร้างอาคารส่วนงานเล็กๆ ในพัทยา ทำงานร่วมกันได้ไม่นาน ทีมของศรีคูณก็ต่างต้องแยกย้ายกันไป

ซ้ำหนึ่งในทีมงานของเขาที่อาสาไปรับเงินค่างานกับผู้ว่าจ้าง ได้หายไปพร้อมกับซองขาวบรรจุเงิน 25,000 บาท โดยไม่ได้กลับมาอีกเลย

หลังผ่านเรื่องเลวร้าย หัวหน้างานเก่าได้ชักชวนให้เขาไปทำงานด้วยกันกับบริษัทข้ามชาติในไซต์งานก่อสร้างที่เมืองทองธานี แต่ยังไม่ทันได้เริ่มงานใหม่ เขาก็ได้รับการต้อนรับด้วยมวลน้ำไหลท่วมกรุงเทพ ซึ่งเป็นอุทกภัยใหญ่ครั้งหนึ่งของกรุงเทพ

“เมืองทองนี่แหละพ่อเป็นคนสร้าง เริ่มกันตั้งแต่ 9 คน เป็นบริษัทฝรั่ง เขาเอารถมารับถึงพัทยาไปกรุงเทพ จำได้ว่าไป 3 วันแรก ฝนตกน้ำท่วมกรุงเทพ” ศรีคูณกล่าว

หลังน้ำลด งานก่อสร้างก็เริ่มขึ้น ศรีคูณกลับมาเริ่มงานในตำแหน่งคนงานทั่วไปอีกครั้ง เขาใช้เวลา 2 ปี จึงสามารถขยับขึ้นมาทำงานในตำแหน่งผู้ช่วยโฟร์แมน และไม่นานจากนั้น เขาก็ได้รับเลื่อนตำแหน่งให้เป็น “โฟร์แมน” หรือหัวหน้าผู้คุมงานก่อสร้าง

แต่ด้วยวุฒิการศึกษาเพียงแค่ประถมศึกษา 4 ทำให้บริษัทไม่สามารถเลื่อนตำแหน่งให้ได้ เขาต้องเอาใบผ่านการเป็นทหารที่เทียบเท่าวุฒิ ปวช. มายื่น เพื่อขอเลื่อนมาเป็นโฟร์แมนจนสำเร็จ

วันหนึ่งระหว่างที่กลับมาพักผ่อนที่บ้านกับครอบครัวได้เพียงแค่ 1 เดือน เพื่อนคนงานขับมอเตอร์ไซต์ข้ามภาคจากกรุงเทพมาตามศรีคูณถึงบ้านที่นางรอง “เฮ้ย ฝรั่งให้มาตามว่ะ”

“ไหนว่าให้พัก 3 เดือน ทำไมมาตามเร็วจัง” ศรีคูณถามเพื่อนคนงาน “ทางโน้นขาดคนคุมงาน” เพื่อนคนงานตอบ

คำว่า “ทางโน้น” ในครั้งนั้นหมายถึง ศรีคูณต้องเดินทางไปทำงานที่ประเทศสิงคโปร์ หลังจากบริษัทที่เขาสังกัดอยู่ไปเปิดไซต์งานสร้างโรงแรมหรูที่นั่น การได้จากบ้านไปทำงานไกลถึงประเทศสิงคโปร์ เหมือนชีวิตกำลังเดินไปตามจังหวะของมันอีกครั้ง คล้ายกับช่วงเวลาที่เขาออกจากบ้านครั้งแรกไปทำงานก่อสร้างที่เมืองพัทยา

วันนั้นยังไม่ทันได้ร่ำลาครอบครัวอย่างเต็มที่ ศรีคูณก็เก็บกระเป๋า แล้วกระโดดขึ้นซ้อนมอเตอร์ไซค์เพื่อนเข้ากรุงเทพ เพื่อเตรียมตัวเดินทางไปทำงานในต่างประเทศเป็นครั้งแรกในชีวิต

pasted image 0

บ้านเมืองและการงาน

เมื่อเท้าของศรีคูณเหยียบแตะผืนดินประเทศสิงคโปร์ เขาสัมผัสได้ถึงความแตกต่างหลายอย่างในประเทศนี้ที่ประเทศไทยไม่มีได้ทันที ความเป็นระเบียบของบ้านเมืองคือสิ่งที่ศรีคูณประทับใจมากที่สุดและยังคงกล่าวถึงแทบทุกวันนี้

เขาเล่าว่า ช่วงแรกของชีวิตในต่างแดนแห่งนี้ ตัวเขารู้สึกเกรงกลัวกับกฎระเบียบของบ้านเมืองนี้มาก แต่เมื่อเริ่มมีโอกาสได้ออกไปท่องเที่ยวและเรียนรู้วิถีชีวิตของคนสิงคโปร์ ทำให้ตัวเขาเข้าใจถึงข้อกฎระเบียบต่างๆ ได้ดีขึ้น จนสามารถทำหน้าที่เป็นคนกลางพูดคุยกับเจ้าหน้าที่รัฐ เมื่อมีคนงานทำผิดกฎระเบียบในประเทศนี้ได้

ศรีคูณเลือกที่จะอาศัยและใช้ชีวิตร่วมกับคนงานคนอื่นๆ แม้ทางบริษัทจะเตรียมที่พักสำหรับโฟร์แมนไว้ให้เฉพาะ โดยแยกกับคนงานอื่นๆ ซึ่งที่พักคนงานดัดแปลงมาจากตู้คอนเทนเนอร์ขนาดใหญ่ เพียงแต่เขาได้พักในห้องส่วนตัวเพียงคนเดียว ต่างจากคนงานทั่วไปที่ต้องใช้พื้นที่ภายในตู้คอนเทนเนอร์ร่วมกัน

“มีคนงานทั้งจากมาเล อินโด บังคลาเทศ ที่ต้องการไปอยู่กับคนงานก็เพราะมีคนหลายประเทศ หลายเผ่าพันธุ์ คนไทยส่วนมากจะเป็นลาวภาคอีสาน”

ปัญหาความไม่เข้าใจกันระหว่างคนงานด้วยกันจนถึงขั้นเกิดความบาดหมาง ดูเหมือนจะเป็นปัญหาที่ศรีคูณพบเห็นบ่อยครั้ง เขากล่าวว่าสาเหตุที่เกิดความไม่เข้าใจกันเนื่องจากมีคนงานมาจากหลากหลายประเทศ หลากหลายภาษา พออยู่ด้วยกันก็ทำให้เกิดปัญหาจากการสื่อสารที่ไม่เข้าใจกัน

“แค่ทำตามกฎ” เป็นคำที่ศรีคูณท่องไว้ในใจตลอด

ส่วนชีวิตประจำวันของศรีคูณและคนงานที่นี่ไม่ต่างจากชีวิตการทำงานในไซต์งานก่อสร้างในเมืองไทยเท่าใดนัก โดยพวกเขาจะตื่นนอนตอนเช้า แล้วก็เตรียมตัวเริ่มทำงาน โดยกินอาหารเช้าที่ทางแคมป์คนงานเตรียมไว้ให้ การทำงานในแต่ละวันเริ่มตั้งแต่เช้าไปถึงเย็น หากมีเวลาว่างในช่วงเย็นหลังเลิกงาน พวกเขาจะพากันทำอาหารเย็นเพื่อกินกันเอง ตลอดจนรวมตัวสังสรรค์บ้างในบางค่ำคืน หรือบ้างค่ำคืนก็ต้องพากันทำงานล่วงเวลา ส่วนกิจกรรมความบันเทิงหนีไม่พ้นการเล่นพนันสารพัดเท่าที่จะสรรหามาพนันกันได้ตามประสาคนไกลบ้าน

โรงแรม Ritz Carlton ซึ่งเป็นโรงแรมที่บริษัทว่าจ้างให้พวกเขามาก่อสร้าง และโรงแรมแห่งนี้ก็ได้กลายเป็นจุดเด่นแห่งหนึ่งที่แสดงถึงความศิวิไลซ์ของเมืองแห่งนี้

ศรีคูณมีหน้าที่ควบคุมงานให้เป็นไปตามที่นายจ้างสั่งมาอีกที พร้อมกับต้องคอยจดเวลาทำงาน ลากิจ ลาป่วย จนถึงชั่วโมงล่วงเวลาของคนงานที่เขาควบคุมดูแล

หากเมื่อดูจากภาพถ่ายที่เปิดให้ดูพร้อมเล่าให้ฟังถึงความเป็นมาแต่ละภาพ ดูเหมือนว่าชีวิตการทำงานในต่างประเทศของศรีคูณดูจะมีสีสัน เต็มเปี่ยมด้วยมิตรภาพและความรื่นเริง อันเป็นประสบการณ์ที่คงหาไม่ได้ในชีวิตชนบทบ้านเกิดของตน หลายครั้งบทบาทที่ได้รับทำให้ตัวเขาต้องรู้สึกกดดันและเครียด เนื่องจากตำแหน่งและความรับผิดชอบของเขานั้นตั้งอยู่ตรงกลางระหว่างนายจ้างและคนงานชาวไทย บวกกับปัจจัยเรื่องกำหนดการเวลาส่งงานให้กับนายจ้างที่เร่งรัดเข้ามา ไปจนถึงสารพัดเรื่องปวดหัวที่ต้องมารับผิดชอบชีวิตของคนงานที่เกิดจากการทะเลาะวิวาทกันเองไปจนถึงการบาดเจ็บจากงานที่อันตราย

“เขามาจี้สั่งเราให้ทำอย่างนั้นอย่างนี้ ครั้งหนึ่งเคยเครียดๆ เลยขึ้นลิฟท์ไปชั้นบนสุด ไปนั่งดูฟุตบอลที่เขาเตะในสนาม เห็นคนตัวเท่ามดก็ดู เหนื่อยมาก คิดถึงบ้านเลยนะ เคยคิดว่าทำไมต้องมาทำอะไรแบบนี้”

pasted image 0

ศรีคูณ อยู่ที่สิงคโปร์ 3 ปี ทำหน้าที่คุมคนงานในแผนกหล่อคอนกรีต 15 คน

ความเหน็ดเหนื่อยจากภาระหน้าที่และการทำงานที่ได้รับมอบหมายอย่างหนัก ทำให้บางครั้ง ตัวเขาเอง ตลอดจนเพื่อนแรงงานไทยคนอื่นๆ อดไม่ได้ที่จะรู้สึกท้อแท้ จนอยากเดินทางกลับไปหาครอบครัว หลายคนจึงสรรหาวิธีเพื่อเป็นทางออกคลายความเหน็ดเหนื่อยและความคิดถึงคนที่จากไกลมา

สำหรับคนอีสาน แม้จะอยู่ไกลบ้านแต่สิ่งที่ขาดไม่ได้คือ “อาหารท้องถิ่น” ที่ต้องพกติดตัวไปกินไกลกันถึงต่างแดนหรือจะต้องสรรหามาให้ได้ทาน

“ที่เอาข้าวเอาปลาไปทำกินส่วนมากจะเป็นคนอีสานอุบล นครพนม” ศรีคูณเล่าถึงวันวานในอดีตที่เคยได้หุงหาอาหารอีสานร่วมรับประทานกับเพื่อนแรงงานไทยในสิงคโปร์

ว่ากันว่าอวัยวะของร่างกายมนุษย์ส่วนที่มีความอนุรักษ์นิยมที่สุดในร่างกายของมนุษย์ก็คือ ลิ้น เจ้ากล้ามเนื้อโครงร่างขนาดใหญ่อยู่บริเวณฐานของช่องปาก เป็นอวัยวะสำคัญในการรับรส ช่วยในการเคี้ยวและการกลืน ทำให้การได้ลิ้มรสสัมผัสกับอาหารที่คุนเคยมาแต่กำเนิดจึงช่วยผ่อนคลายความเหน็ดเหนื่อย ความเหงา และความเศร้าที่พลัดพรากจากมาไกลได้มากอยู่ทีเดียว การสนทนากับเพื่อนร่วมชาติพันธุ์ที่มีวัฒนธรรมขนบธรรมเนียมประเพณีและภาษาพูดเดียวกัน ยิ่งทำให้รสของอาหารเอร็ดอร่อยขึ้นไปกว่าเดิม การทำอาหารท้องถิ่นอีสานและร่วมกันรับประทานจึงกลายเป็นทางออกของแรงงานพลัดถิ่นในต่างแดน เพื่อบรรเทาทุกข์และเติมความสุขอิ่มใจให้กันและกันอยู่เสมอ

ไม่ต่างกันกับคนจากชาติอื่นๆ ในไซต์งานที่มักจับกลุ่มทำอาหารตามแบบของชาติและสังคมตัวเอง ดูเหมือนวิถีการประกอบอาหารอาจเป็นสิ่งเดียวที่แยกความแตกต่างทางเชื้อชาติพวกเขาในแคมป์ที่พักออกจากกัน

“คนอินเดียก็ทำมาแบ่งเรา แต่เรากินไม่ได้นะ มันใส่ผงอะไรไม่รู้ ชิมคำเดียวยกนิ้วเยี่ยมๆ พอมันไปเราก็แอบคายทิ้ง”

นอกจากนั้นยังมีผ้าป่า-กฐินข้ามแดน คนที่อยู่บ้านเกิดส่งซองมาให้ช่วยระดม สร้างวัดสร้างโรงเรียน แม้จะไม่ได้ไปร่วมแห่กองผ้าป่ากองกฐิน แต่คนงานในต่างแดนก็จะช่วยระดมทุนคนละเล็กละน้อยอยู่เสมอ บางครั้งบางคราก็มีต่างชาติต่างศาสนามาช่วยสมทบด้วย

ศรีคูณเล่าว่า การอยู่ไกลบ้านไม่ใช่เรื่องน่ากลัวอะไรอย่างที่ตัวเขาเคยคิด วันเวลาช่างผ่านไปรวดเร็ว การโลดแล่นในเมืองที่เจริญหูเจริญตา เมืองที่ล้อมรอบด้วยทะเลก็คงจะดำเนินต่อไป หากตัวเขาไม่ยุติเส้นทางโฟร์แมนไว้แค่ 3 ปี ตามสัญญาที่เขียนไว้กับทางบริษัท ชีวิตของเขาคงจะได้ไปไกลกว่านี้ อาจจะได้ทำงานต่างแดนในอีกหลายประเทศก็เป็นได้

“3 ปีสร้างเสร็จ แล้วก็กลับ จะชวนเราไปที่อื่นเราไม่ไป จะชวนไปเกาหลี ไปกัมพูชา เขาจะให้ไปทำวังสีหนุ เราบอกไม่ไปหรอก แต่ก็มีรุ่นพี่เราไป ไปก็โดนสงครามเขมรแดงพอดี”

ก่อนที่จะเดินทางกลับ ทางบริษัทเคยยื่นข้อเสนอให้ศรีคูณไปคุมไซต์งานที่ประเทศอื่นต่อ แต่เขาปฏิเสธ เพราะคิดว่าถ้าอยู่ต่ออาจจะต้องเลิกรากับภรรยาที่เมืองไทย เหมือนกับเพื่อนร่วมชาติหลายคนที่ล้มเหลวกับความสัมพันธ์รักระยะไกล รูปแบบความสัมพันธ์ที่ทำได้เพียงฝากถ้อยคำสนทนาหากันผ่านจดหมายกระดาษเพียงเดือนละไม่กี่ฉบับ มิหน้ำซ้ำบางคนผ่านพบประสบรู้ความจริงว่า เงินที่ส่งให้ภรรยาถูกละลายสูญเปล่า เมื่อคนรักหอบเงินย้ายไปอยู่กินกับชายคนอื่น

“ไม่มีโทรศัพท์แบบทุกวันนี้ มีแต่จดหมาย อ่านแล้วทำงานอยู่ บางคนเสียใจทำงานอยู่ชั้นสามสิบสี่สิบ เราก็ต้องปลอบ ไม่ให้เขากระโดดฆ่าตัวตาย เราก็ต้องหาเล่ห์เหลี่ยมให้ได้ คอยปลอบคอยกล่อมไม่ใช่ไปสมหน้ามัน”

กลับบ้าน

การทำงานในสิงคโปร์เกือบจะเสร็จสมบูรณ์แล้ว รวมถึงสัญญางานของศรีคูณที่ทำไว้กับทางบริษัทก็สิ้นสุดลงด้วยเช่นกัน แม้ทางเจ้านายที่ทำงานด้วยกันมาตั้งแต่งานก่อสร้างตึกเมืองทองที่กรุงเทพฯ จะขอให้เขาทำงานกับบริษัทต่อ พร้อมข้อเสนอให้ไปคุมงานและผจญโลกในประเทศอื่นๆ ด้วยกัน เนื่องจากการจะหาคนคุมงานที่รู้ใจได้อย่างเขานั้นเป็นเรื่องยากเย็นแสนเข็ญเสียเหลือเกิน

แต่กระนั้นดูเหมือนข้อเสนอต่างๆ ของบริษัทจะไม่สามารถเทียบเคียงกับเป้าหมายสูงสุดในชีวิตที่ต้องการกลับไปอยู่บ้านเกิดและอยู่กับครอบครัวได้

ศรีคูณตอบปฎิเสธอย่างสุภาพเช่นเคย ไม่ว่าจะถูกถามกี่ครั้งก็ตาม การทำงานนอกมาตุภูมิได้สิ้นสุดแล้วตามที่วางแผนชีวิตไว้ ไม่ว่าจะเป็นกรุงเทพหรือต่างประเทศ เขาต้องการหันชีวิตกลับสู่ถิ่นกำเนิดที่จากมาเพื่อไปอยู่กับครอบครัว

หลังกลับจากต่างประเทศ ชีวิตของเขาก็ไม่ได้สวยหรูอย่างที่หลายคนคาดคิด ว่าเขาจะหอบกอบโกยเงินกลับมาบ้านจำนวนมาก

“ก็ได้เงินเก็บมาพอสมควร ได้มาอยู่ประมาณ 300,000 บาท ซื้อนั่นสร้างนี่ก็หมด”

เงินส่วนใหญ่ที่หามาได้ใช้ไปกับการสร้างบ้านและต่อเติมส่วนต่างๆ ที่ทำทิ้งค้างไว้ สำหรับรองรับครอบครัวที่ขยายใหญ่ขึ้น แต่อย่างน้อยการก่อสร้างครั้งนี้ เขาเป็นคนสร้างเองกับมือ จึงทำให้ไม่ต้องจ่ายเงินในส่วนค่าจ้างคนงาน

ชีวิตศรีคูณดำเนินต่อด้วยอาชีพผู้รับเหมาก่อสร้างและคุมงานก่อสร้างเช่นเคย อีกทั้งเวลาว่างจากงานรับเหมา เขาก็รื้อฟื้นอาชีพเกษตรกรกลับมาอีกครั้ง แม้หลายครั้งเขาจะต้องพบเผชิญกับปัญหาราคาผลผลิตที่ตกต่ำ ตลอดจนฟ้าฝนที่ไม่เป็นใจ แต่เขาก็เชื่อว่ามันเป็น “วิถี” ของคนชนบทอย่างตัวเขา ที่อย่างน้อยก็ต้องทำนาไว้กิน “ไม่ได้อดไม่ได้อยากอะไร”

ศรีคูรกล่าวสรุปภาพรวมชีวิตหลังจากกลับจากต่างแดนมาอยู่บ้านไว้ว่า การที่เคยได้ไปทำงานต่างประเทศไม่ได้ทำให้ชีวิตที่บ้านเกิดที่อำเภอนางรองแตกต่างกันไปจากคนอื่นๆ ในหมู่บ้านนัก นอกจากจะมีเพียงแค่ชื่อเสียงในฐานะคนที่เคยส่งเงินจากแดนไกลมาสมทบกองผ้าป่า-กฐิน สร้างวัดสร้างโรงเรียนอยู่บ่อยๆ

หากมองย้อนไป สิ่งที่ได้กลับมาคงเป็นมิตรภาพของผู้คนในไซต์งานที่ผ่านความทรงจำหลากหลายร่วมกันมา แม้จะกลับมาอยู่ไทยนานหลายปีแล้วก็ตาม ทุกวันนี้ก็ยังมีมิตรสหายที่เคยทำงานด้วยกันแวะเวียนมาหาศรีคูณอยู่ตลอด บางคนก็กลับมาหาอยู่หากินตามภูมิลำเนาบ้านเกิด แต่บางคนก็ยังคงวนเวียนกับการเดินทางไปสู่สังเวียนงานก่อสร้างในต่างแดนอยู่ไม่เปลี่ยนแปลง

หลานของศรีคูณหยิบอัลบั้มภาพของเขาออกมาดู

จากนี้คงเหลือเพียงภาพถ่ายหลายร้อยรูปที่ได้เขาเพียรกดชัตเตอร์ แล้วล้างอัดรูปก่อนหอบขึ้นเครื่องบินจากสิงคโปร์กลับบ้านเกิดด้วย เพื่อเตือนความทรงจำในช่วงหนึ่งของชีวิต และหวังจะเก็บเอาไว้นั่งนอนดูเล่น หรือเผื่อไว้ให้ลูกหลานได้เปิดดูเท่านั้นเอง

“ถ้าลูกหลานมันคิดว่าตากูไปอยู่เมืองนอกไปทำอะไร เขาก็จะได้รู้ว่า อ้อเป็นแบบนี้นะ”

ก่อนจบบทสนทนาในวันนั้น ศรีคูณกล่าวว่า ภาพที่เขาถ่ายมานั้น เขาไม่เคยคิดว่าจะเป็นสิ่งที่คนอื่นมาให้ความสนใจนำมาศึกษาว่าเป็นตัวอย่างชีวิตคนงานไทยในต่างแดนยุคสมัยหนึ่ง ในแต่ละปีมีแรงงานจากไทยข้ามเขตแดนออกไปทำงานนับหลายแสนคน บางคนได้รับประสบการณ์ในโลกกว้างที่แตกต่างกันไป บนโลกที่พวกมีส่วนทำให้มันเปลี่ยนแปลงไปตลอดเวลา

“เวลาดูทีวี ก็จะเห็นสิงคโปร์เปลี่ยนไปแบบนั้นแบบนี้ รู้สึกดีใจ เราเคยมีส่วนไปสร้างประเทศนี้นะ” ศรีคูณทิ้งท้าย

image_pdfimage_print