เล่าเรื่องด้วยภาพ โดย ศรีคูณ เจียงกระโทก และ ซีโมน พีซ (Simon A. Peth) แปลจากภาษาอังกฤษ “Work Men on the Move

ปัจจุบันมีผู้อพยพทั่วโลกทั้งหมดรวมกัน 257.7 ล้านคน ส่วนใหญ่ในจำนวนนี้เป็นผู้อพยพใช้แรงงาน มีเรื่องราวมากมายเบื้องหลังการย้ายถิ่นฐานเหล่านี้ที่ไม่ได้รับการเล่าขาน ต่อไปนี้คือเรื่องของผู้ใช้แรงงานชาวไทยที่จากถิ่นฐานไปทำงานยังประเทศสิงคโปร์ โดยทำงานเป็นคนงานก่อสร้างในไซต์งานหรือในท่าเรือขนส่งสินค้ามากมายนับไม่ถ้วน เป็นฟันเฟืองที่ทำให้การค้าระหว่างประเทศดำเนินไป

นิทรรศการนี้วิวัฒมาจากงานวิจัยระดับปริญญาเอกของ ซีโมน พีซ มหาวิทยาลัยบอนน์ ซึ่งศึกษาเรื่องการย้ายถิ่นฐานแรงงานข้ามชาติในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ซีโมนศึกษาวิจัยโดยติตตามเส้นทางการย้ายถิ่นฐานในรูปแบบต่างๆ จากเมืองไทยไปยังประเทศปลายทางหลายแห่ง เช่น ประเทศสิงคโปร์ เป็นต้น

นี่คือเรื่องราวของผู้ใช้แรงงานชาวไทยที่ทิ้งหมู่บ้านออกไปขายแรงงานในสิงคโปร์

“ในช่วงทศวรรษ 1990 สิงคโปร์เป็นประเทศจุดหมายปลายทางของแรงงานโพ้นทะเลจากประเทศไทย และผมเองก็อยากเรียนรู้เกี่ยวกับเรื่องนี้มากขึ้น”

ระหว่างการเดินทางเก็บข้อมูล ซีโมนพบปะผู้คนมากมายหลากหลาย เช่น แรงงานอพยพ ครอบครัวของพวกเขา เจ้าของกิจการ เอกอัครราชทูตและผู้ลักลอบขนแรงงานเข้ามาจากต่างประเทศ สิ่งที่ทำให้ซีโมนประทับใจคือ การได้พบกับแรงงานอพยพ ผู้ที่ได้สละเวลาว่างอันมีค่าและมีอยู่น้อยนิดเพื่อมาพูดคุยกับเขา

ในช่วงระยะแปดเดือนแห่งการเก็บข้อมูลสัมภาษณ์ ซีโมนรับรู้ถึงเรื่องราวหลากหลายมากมายตั้งแต่สภาพการทำงาน การบาดเจ็บจากการทำงาน แม้กระทั่งการทรมาน และความคิดถึงบ้าน ไปจนถึงความสุข ความรัก และความภาคภูมิใจ

บุคคลผู้หนึ่งที่ซีโมนได้พบคือ “ศรีคูณ” อดีตแรงงานอพยพที่เดินทางกลับมายังหมู่บ้านของเขาในภาคอีสานของประเทศไทยแล้ว

ศรีคูณ เจียงกระโทก

อดีตแรงงานพลัดถิ่นในต่างแดน เจ้าของภาพภ่าย

“ผมพบกับคุณศรีคูณที่หน้าบ้านของเขา หลังผมบอกเขาไปว่า ผมอยากเรียนรู้เรื่องแรงงานอพยพชาวไทย เขาก็เดินเข้าไปในบ้าน แล้วหยิบเอากล่องใส่อัลบั้มรูปถ่ายออกมา เขาเปิดอัลบั้มรูปให้ผมดู แล้วก็เริ่มพูดถึงช่วงเวลาที่เขาอยู่ที่สิงคโปร์ และตอนนั้นเอง ผมรู้ทันทีว่า ผมจะต้องทำอะไรสักอย่างเกี่ยวกับรูปภาพเหล่านี้ เพราะรูปภาพเหล่านี้ไม่เหมือนใคร แล้วก็ไม่มีใครเคยได้พบเห็นมาก่อนเกี่ยวกับช่วงชีวิตที่สาหัสแต่ก็เต็มเปี่ยมไปด้วยมีความสุขใจของแรงงานในต่างประเทศ”

ภาพชุดเล่าเรื่องต่อไปนี้จะช่วยให้คุณเข้าใจได้อย่างลึกซึ้งถึงความหมายของการเป็นแรงงานที่อพยพไปทำงานในต่างประเทศนั้นคืออะไร

ศรีคูณเกิดในหมู่บ้านเล็กๆ แห่งหนึ่งในจังหวัดบุรีรัมย์ หลังจากแต่งงาน เขาได้จากบ้านเกิดเป็นครั้งแรกเพื่อไปทำงานเป็นแรงงานก่อสร้างที่กรุงเทพฯ โดยเขาอยู่ที่เมืองหลวงแห่งนี้ราวแปดปีจนกระทั่งได้รับตำแหน่งเป็นหัวหน้าคนงาน ต่อมาปี 1994 บริษัทส่งเขาไปทำงานที่ประเทศสิงคโปร์ ซึ่งบริษัทกำลังก่อสร้างโรงแรมริทซ์ คาร์ลตันอันโด่งดังอยู่ทีนั่น ศรีคูณอยู่ที่สิงคโปร์ 3 ปี ทำหน้าที่คุมคนงานในแผนกหล่อคอนกรีต 15 คน

เขาใช้กล้องตัวใหม่ที่เพิ่งซื้อ บันทึกเรื่องราวช่วงชีวิตที่อยู่ที่สิงคโปร์ เวลาผ่านไปสามปีศรีคูณถ่ายบันทึกภาพไว้มากกว่า 900 ภาพ ซึ่งรูปภาพเหล่านี้ล้วนเผยให้เห็นถึงชีวิตของแรงงานพลัดถิ่นในต่างแดน ไม่ว่าจะเป็นภาพของการทำงานอย่างหนักหน่วงไปจนถึงภาพของการดื่มด่ำสังสรรค์ในยามค่ำคืน ซึ่งคงช่วยให้พวกเขาบรรเทาความห่างไกลจากครอบครัวและการคิดถึงบ้านได้บ้าง

“ผมถ่ายรูปพวกนี้ เพราะผมอยากให้คนอื่นเห็นว่าการทำงานในเมืองนอกเป็นอย่างไร มันลำบากมากนะ” ศรีคูณ เจียงกระโทก

ฝันถึงความสำเร็จ

เหมือนชายหนุ่มทั่วไป ศรีคูณฝันอยากมีรถจักรยานยนต์เป็นของตัวเอง ชายหนุ่มจำนวนมากในหมู่บ้านอันห่างไกลของประเทศไทยเดินทางออกไปด้วยความฝันที่จะกลับมาพร้อมกับเงินทองมากมาย

ลูกไม้ใต้ต้น

หลายครั้งหลายคราลูกชายอีสานต่างเคยเติบโตพากันเห็นบรรดาพ่อๆ ของตนเดินทางไปทำงานยังต่างประเทศมาก่อนแล้ว ทำให้การอพยพย้ายทำงานในต่างถิ่นกลายเป็นสิ่งที่ได้รับการปลูกฝังทางสังคมไปโดยปริยาย

“คนมีเงินเหมือนเป็นพระราชาในหมู่บ้าน” ศรีคูณ เจียงกระโทก

ทิ้งไว้ข้างหลัง

แต่การย้ายที่อยู่จากที่เดิมไปที่ใหม่มีราคาที่ตามมา การย้ายถิ่นไม่ได้หมายถึงผู้ที่ออกเดินทางเท่านั้น แต่หมายถึงผู้ที่จากไปเช่นกัน รูปถ่ายนี้เป็นรูปของลูกสาวที่รอพ่อกลับมาเยี่ยมบ้านปีละครั้ง โทรทัศน์ที่พ่อซื้อให้ตอนกลับมาเยี่ยมบ้านครั้งสุดท้ายคือเครื่องเตือนใจว่าพ่อไม่อยู่ด้วยในขณะนี้

การเดินทาง

แผนที่นี้คือแผนที่การเดินทางของแรงงานข้ามชาติชาวไทยไปยังสิงคโปร์ ในอดีต การเดินทางทางบกผ่านหาดใหญ่และมาเลเซียเป็นเส้นทางที่มีราคาถูกและได้รับความนิยม แต่ปัจจุบัน ผู้ใช้แรงงานใช้การเดินทางด้วยเครื่องบินแทน จากแผนที่จะเห็นว่า 65% ของแรงงานข้ามชาติมาจากภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จุดแดง ๆ ในแผนที่คือที่ตั้งของหอพักของแรงงานข้ามชาติที่อาศัยอยู่ ณ ชายขอบของประเทศสิงคโปร์

ขอบฟ้าสิงคโปร์ 1994

ยามจากชนบทมา แรงงานย้ายถิ่นที่มาจากต่างประเทศมักประทับใจกับตึกสูงระฟ้าของสิงคโปร์

17 ปีต่อมา ภูมิทัศน์ขอบฟ้าของสิงคโปร์เปลี่ยนแปลงจากหน้ามือเป็นหลังมือ ด้วยสองมือของแรงงานย้ายถิ่นนับล้านคนที่เดินทางมาจากหลายประเทศทั่วโลกนั่นเอง (รูปโดย W. Zhang, under CC BY 2.0)

เมื่อมาถึงสนามบินชางฮี (สิงคโปร์)

ในช่วงทศวรรษที่ 1990 แรงงานไทยส่วนมากเดินทางมายังสิงคโปร์ทางบก ในขณะที่หัวหน้าคนงานและแรงงานมีฝีมือนั่งเครื่องบินมา แต่ทุกวันนี้ แรงงานจากต่างประเทศพากันใช้บริการสายการบินโลว์คอสต์ที่เติบโตมีให้เลือกสรรมากมาย

เมื่อมาถึงแคมป์คนงาน

ในอดีต แรงงานจากต่างประเทศในสิงคโปร์พากันอนอยู่ด้วยกันอย่างแออัดในที่พักที่ทำจากตู้คอนเทนเนอร์เก่า โดยคอนเทนเนอร์หนึ่งตู้จะมีคนใช้เป็นที่หลับที่นอนอยู่ด้วยกันราว 25 คน

หอพักคนงาน

ในประเทศสิงคโปร์ แรงงานจากต่างประเทศไม่สามารถออกไปเลือกหาที่พักอยู่เองได้ นายจ้างจะเป็นคนหาหอพักให้อยู่ โดยหอพักที่ว่าแทบจะไม่มีความเป็นส่วนตัวให้กับพกวเขาเลย

ห้องนอนเดี่ยว

มีเพียงหัวหน้าคนงานที่ได้รับความเป็นส่วนตัวในที่พักบ้าง ศรีคูณมักเชิญคนงานใหม่ที่เพิ่งเข้ามาทำงานมารับร่วมทานอาหารเย็นที่ห้องพักของเขา

ถึงเวลาทำงาน

งานหนักที่ความสูงลิบลิ่ว แรงงานต่างชาติมักทำงานที่เสี่ยงอันตราย ยากลำบาก และสกปรก

เตรียมหล่อเสาคอนกรีต

แรงงานข้ามชาติมักถูกแบ่งเป็นกลุ่มตามลำดับงานก่อสร้าง

การคุมงาน

หัวหน้าคนงาน ศรีคูณ ยืนดูลูกน้องก่อสร้างชั้นล่างของโรงแรมระดับห้าดาว ริทซ์ คาร์ลตัน

แก๊งค์คนงาน

กลุ่มคนงานจากประเทศอินเดียทำคานเพื่อรองรับน้ำหนักของผนังและเพดาน เพื่อให้ง่ายต่อการสื่อสาร คนงานมักถูกแบ่งเป็นกลุ่มตามสัญชาติ สีของหมวกกันกระแทกจะแบ่งตามตำแหน่งของคนงานและตามกลุ่มงานที่คนงานทำงานอยู่

เหนื่อยหนักจากงาน

การใช้แรงงานจะคุ้มค่าก็ต่อเมื่อทำงานล่วงเวลา ดังนั้น แรงงานข้ามชาติจึงมักทำงานในแต่ละวันกว่า 12 ถึง 14 ชั่วโมง

“คนที่ไปทำงานที่สิงคโปร์จะโดนฝึกเหมือนเป็นทหาร ถ้าไม่ถึงเวลาก็ไม่ต้องกิน ถ้าไม่ถึงเวลานอนไม่ต้องนอน” แรงงานข้ามชาติจากจังหวัดอุดรธานีกล่าว

พื้นเสร็จแล้ว

คนงานยืนบนพื้นคอนกรีตที่ถูกยกขึ้น ด้านหลังคือภูมิทัศน์ขอบฟ้าของสิงคโปร์

โรงอาหารสวัสดิการ

เฉพาะในพื้นที่ก่อสร้างขนาดใหญ่ของบริษัทใหญ่เท่านั้นที่คนงานจะได้สวัสดิการพื้นฐานเช่นโรงอาหารแบบนี้

ช่างเชื่อม

นอกจากทักษะพื้นฐานอย่างงานคอนกรีตแล้ว คนงานชาวไทยยังได้ทำงานเฉพาะทางอย่างการเชื่อมเหล็กด้วย

อุบัติเหตุและการบาดเจ็บ

อุบัติเหตุในที่ทำงานเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ เมื่อไซต์งานก่อสร้างมักเป็นสถานที่ที่วุ่นวายในบางครั้ง การบาดเจ็บจากการทำงานมักหมายถึงการจบลงของการใช้แรงงานข้ามชาติ เพราะนายจ้างมักไม่ยอมเสียเงินให้กับคนงานที่ทำงานไม่ได้

ชีวิตแคบๆ ในแคมป์คนงาน

ชุมชนคนงานมีความสำคัญกับแรงงานไม่ใช่เพียงเพราะเป็นเพื่อนร่วมงานแต่เป็นตัวแทนให้กับครอบครัวที่ขาดหายไปด้วย ในหลาย ๆ แคมป์ คนงานมักอยู่แยกกันตามสัญชาติเพื่อป้องกันการทะเลาะเบาะแว้ง ประเทศสิงคโปร์เองยังมีนโยบายที่ป้องกันไม่ให้แรงงานอพยพได้อยู่ปะปนกับประชากรสิงคโปร์อีกด้วย

วันเงินเดือนออก

เป็นวันแห่งการเฉลิมฉลอง คนงานได้รับค่าจ้างเดือนละหนึ่งครั้ง ได้เวลากินอาหารไทยและดื่มฉลองเสียที คนงานด้านหลังนอนพักเหนื่อยจากงาน

คาราโอเกะแบบคนงาน

กลุ่มคนงานรวมตัวกันร้องคาราโอเกะเพลงพื้นบ้านไทย อย่างเพลงหมอลำอีสาน

ไปเที่ยวในเมือง

นานๆ ครั้ง แรงงานที่อพยพมาจากต่างประเทศจะมีโอกาสใช้เวลาว่างอันน้อยนิดเข้าไปเที่ยวในตัวเมือง ซึ่งหากมีโอกาส พวกเขาจะพากันแต่งตัวให้ดูดีอยู่เสมอ

อ่านข่าวสารจากบ้านเกิด

คนงานอ่านหนังสือพิมพ์จากเมืองไทย ในอดีตเป็นเรื่องยากที่จะได้รับข่าวสารจากทางบ้านเนื่องจากการส่งจดหมายใช้เวลานาน แต่อย่างน้อยก็มีหนังสือพิมพ์ไทยไว้อ่าน แต่เดี๋ยวนี้อินเทอร์เน็ตเปลี่ยนแปลงทุกอย่างไปแล้ว

โทรกลับบ้าน

การโทรกลับมายังเมืองไทยในสมัยก่อนมีราคาแพงและเป็นสิ่งที่มีคุณค่าอย่างมาก โดยแถวต่อคิวใช้โทรศัพท์สาธารณะมักจะยาวเสมอ และทุกครั้งที่โทรกลับ อาจจะไม่มีคนรับสายจากตู้สาธารณะปลายทางในหมู่บ้านเลยก็ได้

สิงโตทะเลแห่งสิงคโปร์

ศรีคูณถ่ายรูปกับตัวเมอร์ไลอ้อน โดยมีโรงแรมริทซ์คาร์ลตันที่เขากับผองเพื่อนคนงานร่วมกันสร้างอยู่ด้านหลัง

ชีวิตที่หายไป

ณ บ้านเกิด เด็กๆ เกิดมาใหม่และคนเฒ่าคนแก่ก็พากันจากไป แต่แรงงานที่อพยพไปขายแรงงานที่อื่นแทบไม่ได้กลับมาเยี่ยมบ้านเลย ในกรณีที่พวกเขามีสัญญาจ้างงานที่ได้มาตรฐาน ก็อาจจะกลับบ้านได้ปีละครั้ง แรงงานหลายคนต่างบอกเล่าถึงความคิดถึงบ้าน และบอกว่าการมีคนชาติเดียวกันเป็นเพื่อนในต่างแดนช่างมีความสำคัญอย่างยิ่ง

ดาวยั่ว

รูปของดาวยั่วซึ่งพบในหอพักคนงานแห่งหนึ่ง แรงงานหลายคนเผชิญกับปัญหาความสัมพันธ์เนื่องจากต้องย้ายมาอยู่ต่างประเทศเป็นเวลาหลายปี

กลับบ้านด้วยความสำเร็จ

ศรีคูณถ่ายรูปกับรถของบริษัทที่สิงคโปร์ เมื่อฝันอยากมีกินมีใช้ ผู้คนก็ย้ายถิ่นฐาน แต่ราคาทางจิตใจก็สูง การย้ายถิ่นฐานเพื่อใช้แรงงานต้องประสบกับความเสี่ยงมากมายเช่นถูกหลอก แรงงานหลายคนต้องทำงานหลายปีเพื่อหาเงินมาใช้หนี้คืนเมื่อเดินทางมาทำงาน

“ผมอยู่ที่สิงคโปร์เกือบ 22 ปี แต่ประเทศไทยก็ยังเป็นบ้าน ที่สิงคโปร์คือไปทำงาน แต่อยู่เมืองไทยแล้วมีความสุข จะกินอะไรก็ได้กิน จะไปไหนก็ได้” แรงงานย้ายถิ่นที่เดินทางกลับมายังบุรีรัมย์เป็นที่เรียบร้อยกล่าว

image_pdfimage_print