เลย – เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม พ.ศ. 2562 ศาลจังหวัดเลยนัดสืบพยานโจทก์ปากแรกในคดีที่สมาชิกกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด ซึ่งเป็นชาวบ้านใน 6 หมู่บ้าน ในตำบลเขาหลวง อ.วังสะพุง จ.เลย กลุ่มชาวบ้านที่คัดค้านโครงการทำเหมืองแร่ทองคำในอำเภอวังสะพุง 6 คน ถูกสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบล (ส.อบต.) เขาหลวง 16 คน แจ้งความร้องทุกข์กล่าวโทษว่าชาวบ้านทั้ง 6 คน ร่วมกันข่มขืนใจผู้อื่นให้กระทำการใด ไม่กระทำการใดหรือจำยอมต่อสิ่งใด และทำให้กลัวว่าจะเกิดอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย และเสรีภาพของผู้ถูกข่มขืนใจ ฯลฯ

จำเลย 6 คน ในคดีนี้ (จากซ้ายมือ) ได้แก่ ภรภัทรา แก่งจำปา, วรรณิศา สุทธิ, ระนอง กองแสน, วิรอน รุจิไชยวัฒน์, พรทิพย์ หงชัย, และมน คุณนา (ไม่อยู่ในภาพ)

กรณีชาวบ้านทั้ง 6 คนและพวกจำนวนมากร่วมกันขัดขวางการประชุมสภา อบต. สมัยที่ 3 เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบต่ออายุหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ หรืออยู่อาศัยในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าโคกภูเหล็ก และการยื่นคำขอใช้ที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดิน เพื่อนำทรัพยากรธรรมชาติในเขตปฏิรูปที่ดินไปใช้ประโยชน์ (ส.ป.ก.4-106) ของบริษัท ทุ่งคำ จำกัด เพื่อทำเหมืองแร่ทองคำ และมีการข่มขู่ให้โจทก์ทั้ง 16 คน ลงลายมือชื่อเลื่อนการประชุมดังกล่าวออกไป หากไม่เลื่อนการประชุม จะไม่ให้ทั้ง 16 คนออกจากห้อง อันเป็นการทำให้ผู้เสียหายทั้งหมดกลัวว่า จะเกิดอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย และเสรีภาพ จึงยอมลงลายมือชื่อ เหตุเกิดเมื่อวันที่ 17 สิงหาคม พ.ศ. 2559

ทั้งนี้ เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นหลังคณะรัฐมนตรีมีมติห้ามทำเหมืองทองคำทั่วประเทศเมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2559 เหมืองแร่ทองคำของบริษัท ทุ่งคำ จำกัดเป็นหนึ่งในบริษัทที่ต้องหยุดดำเนินการ

คำเบิกความพยานโจทก์ปากแรกโดยสรุป

ศักดิ์โชติ เรียนยศ อายุ 46 ปี อาชีพเกษตรกร กล่าวว่า ในขณะเกิดเหตุตนเป็นหนึ่งในสมาชิกสภา อบต.เขาหลวง ปัจจุบันรักษาการสมาชิกสภาฯ วันที่ 17 สิงหาคม พ.ศ. 2559 เป็นวันที่ประธานสภาฯ เรียกสมาชิกสภาฯ ทุกคนเข้าร่วมประชุมพิจารณาหนังสืออนุญาตฯ ตนเดินทางถึงที่ทำการ อบต. พบว่ามีกลุ่มจำเลยและชาวบ้านกว่า 100 คน กระจายอยู่ในบริเวณที่ทำการ บางกลุ่มนั่งใต้ต้นไม้ บางกลุ่มนั่งอยู่บริเวณบันใดทางขึ้นเพื่อปิดทางขึ้นห้องประชุมสภาฯ ทำให้ตนและสมาชิกสภาฯ ทั้งหมดไม่สามารถขึ้นประชุมได้ ตนและสมาชิกสภาคนอื่นจึงเดินทางไปที่ห้องนายก อบต. เพื่อรอประธานสภาชี้แจงว่าจะมีการประชุมหรือไม่

จากนั้นเวลา 9.30 น. ประธานสภาฯ ขึ้นมาห้องนายก อบต. และแจ้งตนกับสมาชิกสภาคนอื่นว่า ชาวบ้านมีการประท้วงไม่ให้มีการประชุม จึงเห็นว่าควรเลื่อนประชุมออกไปก่อน เนื่องจากอาจจะเกิดการกระทบกระทั่งและเกิดความรุนแรง

อีกทั้งบริเวณนอกห้องมีจำเลยบางคนและชาวบ้านปราศรัยปลุกระดมให้เกิดการใช้ความรุนแรง เช่น มีการพูดออกเครื่องขยายเสียงว่า “ฆ่ามัน” อีกด้วย

บรรยากาศที่ชาวบ้านรอบเหมืองแร่ทองคำรวมตัวกันขัดขวางไม่ให้สมาชิกสภาอบต. เขาหลวงประชุมพิจารณาใบอนุญาตใช้พื้นที่ป่าสงวนฯ และที่ดิน สปก. ให้บริษัทเหมืองแร่ทองคำทำเหมือง เมื่อวันที่ 17 สิงหาคม พ.ศ. 2559 (ภาพจาก : เพจเฟชบุ๊คเหมืองแร่ทองคำ v.2)

ระหว่างนั้นมีจำเลยบางคนและชาวบ้านจำนวนมากเดินขึ้นมาห้องนายกฯ ที่ตนและสมาชิกสภาฯ อยู่ขณะนั้น ตนเห็นว่าอาจเกิดอันตรายจึงปิดประตูห้องไว้ จำเลยบางคนและชาวบ้านได้พยายามผลักประตู ตนจึงเปิดประตูให้

เมื่อจำเลยและชาวบ้านเข้ามาที่ห้องได้ จำเลยบางคนได้บังคับให้ตนและสมาชิกฯ ลงลายมือชื่อในเอกสารที่จำเลยอ้างว่าเป็นเอกสารเลื่อนการประชุม แต่ตนไม่ยอมลงลายมือชื่อ เพราะไม่แน่ใจว่าเอกสารดังกล่าวเป็นของประธานสภาฯ จริงหรือไม่

กักขัง-บังคับให้เซ็นเอกสาร

ฝ่ายโจทก์กล่าวหาจำเลยทั้ง 6 คนและชาวบ้านว่าบังคับให้โจทก์ทั้ง 16 คน ลงลายมือชื่อในเอกสารเลื่อนการประชุมฯ ออกไป โดยหากโจทก์ไม่ยอมทำตามจะไม่ให้ออกจากห้อง ทำให้ ศักดิ์โชติ เรียนยศ สมาชิกสภา อบต.เขาหลวง ซึ่งเป็นโจทก์ขึ้นเบิกความปากแรก และพวกอีก 16 คนขณะนั้น กังวลจะเกิดอันตรายต่อชีวิตจึงยอมลงลายมือชื่อ

ศักดิ์โชติกล่าวว่า หลังจากนั้น ประธานสภาฯ จึงบอกว่าการประชุมจำเป็นต้องเลื่อนเพราะชาวบ้านไม่ยอมให้มีการประชุม เกรงว่าจะเกิดการกระทบกระทั่งกัน จำเลยบางคนอ้างว่าได้ถือหนังสือเลื่อนการประชุมมาให้ตนและสมาชิกสภาอีกหลายคนที่ห้องนายกลงลายมือในเอกสารเลื่อนประชุม

“ตอนแรกที่ยังไม่ลงลายมือชื่อเพราะไม่แน่ใจว่าหนังสือดังกล่าวเป็นฉบับของประธานสภาฯ หรือไม่” ศักดิ์โชติกล่าว

ตนเห็นว่า การกระทำของชาวบ้านทำให้โจทก์ทั้ง 16 คนได้รับความเสียหาย โดยทำให้โจทก์ทั้งหมดเกิดความกลัวว่าจะเกิดอันตรายต่อชีวิตและร่างกาย รวมถึงการขาดซึ่งเสรีภาพและเสียชื่อเสียง จึงขอให้จำเลยทั้ง 6 คน ชดใช้ค่าเสียหายเป็นเงินคนละ 50,000 บาท

ตำรวจชุดควบคุมฝูงชนจาก สภ.วังสะพุง จ.เลย กำลังหลักในการดูแลรักษาความสงบเรียบร้อยบริเวณที่ทำการ อบต. เขาหลวง (ภาพจาก : เพจเฟชบุ๊คเหมืองแร่ทองคำ v.2)

ไม่ได้บังคับให้เซ็นเอกสาร ไม่ได้กักขัง

ธีรพันธ์ พันธ์คีรี ทนายความจำเลย ถามค้านในประเด็นว่า วันนั้นมีเจ้าหน้าที่ตำรวจจากสถานีตำรวจภูธรวังสะพุง และเจ้าหน้าที่อาสาสมัครรักษาดินแดนทั้งในและนอกเครื่องแบบกว่า 70 นาย กระจายกำลังรักษาความปลอดภัยทั่วบริเวณที่ทำการ อบต. รวมถึงบริเวณอาคารที่อยู่ของห้องนายก อบต. ซึ่งเป็นที่พยานโจทก์ปากแรกและสมาชิกสภาฯ คนอื่นหลายคนรวมตัวกันอยู่ รวมถึงช่วงที่พยานโจทก์และพวกเดินขึ้นไปห้องนายก มีผู้กำกับการสถานีตำรวจภูธรอำเภอวังสะพุงและตำรวจอีกหลายนายยืนอยู่บริเวณนั้น

“พยานอ้างว่าถูกจำเลยบังคับ ข่มขู่ เหตุใดพยานจึงไม่แจ้งให้ผู้กำกับฯ และตำรวจที่อยู่บริเวณนั้นคุ้มกันพยานและสมาชิกสภาฯ คนอื่นๆ” ธีรพันธ์ ทนายความจำเลยถาม

“จำไม่ได้ว่าได้แจ้งตำรวจให้ดูแลหรือไม่” ศักดิ์โชติ พยานโจทก์ตอบ

ทนายความจำเลยยังถามอีกว่า จากหลักฐานที่เป็นภาพถ่ายภายในห้องนายกที่พยานอยู่นั้น มีตำรวจในเครื่องแบบอยู่ในห้องนั้นด้วย รวมถึงกรณีที่พยานเบิกความช่วงแรกว่า จำเลยบางคนถือเอกสารที่อ้างว่าเป็นเอกสารเลื่อนการประชุมสภาฯ มาบังคับให้พยานลงลายมือชื่อนั้น แต่ความเป็นจริงแล้วประธานสภาเป็นผู้ถือเอกสารนั้นมาให้พยานลงลายมือชื่อ จากนั้นจำเลยและชาวบ้านเพียงเดินขึ้นมาดูว่าพยานและสมาชิกสภาคนอื่นจะลงลายมือชื่อหรือไม่เท่านั้น ถูกต้องหรือไม่

“ใช่”  ศักดิ์โชติ พยานโจทก์ตอบ

ชาวบ้านขัดขวางการประชุมเพราะกังวลเหมืองแร่จะเปิดทำการ

เหตุผลที่จำเลยและชาวบ้านขัดขวางการประชุมสภาฯ ในวาระการพิจารณาต่อใบอนุญาตให้บริษัทเหมืองแร่ใช้ที่ดินป่าสงวนฯ และที่ดิน สปก. ใช้ประโยชน์นั้น เพราะกังวลว่าเหมืองแร่จะเปิดทำการอีกครั้งและผลกระทบจากการทำเหมืองแร่จะกระทบต่อชาวบ้านและสิ่งแวดล้อมเหมือนที่เคยเกิดขึ้น

ทนายความจำเลยถามพยานโจทก์ว่า ทราบหรือไม่ว่า จำเลยและกลุ่มชาวบ้านที่มาขัดขวางการประชุมส่วนใหญ่มาจากบ้านนาหนองบงหมู่ที่ 1, 3, 12, 15 ซึ่งเป็นหมู่บ้านที่ตั้งอยู่บริเวณรอบๆ เหมืองแร่ทองทำ และชาวบ้านในหมู่บ้านเหล่านี้เคยได้รับผลกระทบด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อมจากการทำเหมืองแร่

ทนายความจำเลยถามด้วยว่า พยานทราบหรือไม่ว่า พื้นที่ดังกล่าวหน่วยงานสาธารณสุขเคยประกาศเตือนไม่ให้ชาวบ้านจับสัตว์น้ำจากแหล่งน้ำธรรมชาติมารับประทาน เนื่องจากแหล่งน้ำดังกล่าวมีการตรวจสอบพบว่ามีการปนเปื้อนของสารโลหะหนัก เช่น แมงกานีสและสารหนู ซึ่งคาดว่าเกิดการจากการทำเหมืองแร่และมีการเคลื่อนไหวร้องเรียนให้เหมืองแร่ยุติการดำเนินการ ในนามกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด

“เคยทราบเรื่องนี้ แต่ไม่เคยเห็นประกาศฉบับจริงของสาธารณสุขหรือหน่วยงานราชการดักล่าว” ศักดิ์โชติ พยานโจทก์ตอบ  

ทั้งนี้ พรทิพย์ หงชัย จำเลยที่ 1 ได้กล่าวต่อศาลในช่วงก่อนพยานโจทก์ขึ้นเบิกว่า ตนและจำเลยทั้งหมดขอปฏิเสธทุกข้อกล่าวหาของฝ่ายโจทก์ เพราะไม่ได้กระทำการข่มขู่หรือบังคับลักษณะข่มขืนใจให้โจทก์และพวกลงลายมือชื่อในเอกสารตามที่โจทก์กล่าวหา แต่ประธานสภาฯ ต่างหากเป็นผู้ถือเอกสารเลื่อนประชุมไปให้โจทก์และพวกลงลายมือชื่อ รวมถึงไม่เคยพูดคำว่า “ฆ่ามัน”

“พวกเราต้องการไม่ให้มีการประชุมวาระการประชุมดังกล่าว เพราะการประชุมดังกล่าวอาจทำให้เหมืองแร่สามารถดำเนินการทำเหมืองได้และอาจเกิดผลกระทบด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อมกับชาวบ้านต่อไป” พรทิพย์ จำเลยที่ 1 กล่าว

ทำไมสภา อบต. เร่งเสนอวาระการประชุมใบอนุญาตนี้

กรณีการเปิดประชุมสภาวาระดังกล่าวนี้ ทำให้ฝ่ายจำเลยเกิดคำถามว่า ทำไมพยานและสมาชิกสภาฯ คนอื่น เร่งเปิดประชุมเพื่อพิจารณาวาระดังกล่าว ทั้งที่ที่ผ่านมาตั้งแต่ปี 2556 จนถึงปี 2559 ช่วงที่เกิดเหตุการณ์ สภาฯ ชุดนี้ทำงานไม่เคยเสนอญัตติหรือวาระการประชุมเรื่องใดเข้าสภาเลย

“มีการเสนอเรื่องข้ออนุญาตให้บริษัทเหมืองแร่เข้าใช้พื้นที่ป่าสงวนและพื้นที่ที่ดิน สปก. ให้ที่ประชุมสภาฯ พิจารณา ทั้งที่ 3 ปีที่ผ่าน วาระประชุมหรือญัตติต่างๆ ฝ่ายบริหารเป็นผู้เสนอเข้าที่ประชุมใช่หรือไม่” ธีรพันธ์ ทนายความจำเลยถาม

“ใช่” ศักดิ์โชติ พยานโจทก์ตอบ “แต่การประชุมในวาระนี้ก็ไม่เคยเกิดขึ้นได้ เพราะชาวบ้านมาขัดขวางไม่ให้มีการประชุม”

อีกทั้ง โดยหลักการแล้ว การพิจารณาขอใบอนุญาตใช้ป่าสงวนฯ และที่ดิน สปก. ให้บริษัททำเหมืองแร่ ไม่ใช่อำนาจหน้าที่โดยตรงของ อบต. อีกทั้งกรมป่าไม้ฯ และสำนักงานปฏิรูปที่ดินก็ไม่ได้ยื่นเรื่องนี้มาให้สภา อบต. พิจารณาถูกต้องหรือไม่

“ใช่” พยานตอบ “แต่พวกผมเห็นว่า หากเหมืองแร่ดำเนินการในพื้นที่ ถ้าชาวบ้านมีงานทำ และอบต.ได้ประโยชน์โดยการได้เก็บภาษีจากกิจการเหมือง ก็ถือว่าเป็นสิ่งที่ควรทำ”

อย่างไรก็ตาม พยานยืนยันว่า การนำญัตติเรื่องดังกล่าวเข้าที่ประชุมสภาเป็นไปตามขั้นตอนการประชุมสภาปกติ ไม่ได้ดำเนินการเร่งด่วน รวมถึงตนและสมาชิกสภาฯ ก็เข้าประชุมตามอำนาจหน้าที่ที่กฎหมายกำหนด

แจ้งความหลังเกิดเรื่อง 5 เดือน

นอกจากนี้ ธีรพันธ์ ทนายความจำเลย ยังตั้งคำถามต่อพยานโจทก์ว่า เหตุใดทำไมแจ้งความร้องทุกข์ในกรณีนี้หลังจากเรื่องเกิดขึ้นตั้งแต่เดือนสิงหาคมปี 2559 หรือ 5 เดือนก่อนหน้านั้น

ศักดิ์โชติ พยานโจทก์ ตอบว่า เพราะตั้งแต่เกิดเรื่อง จำเลยและชาวบ้านทั้งหมดไม่เคยมาขอโทษต่อการกระทำที่เกิดขึ้นที่ ทำให้ตนและสมาชิกสภาฯ คนอื่นๆ เสียชื่อเสียง จึงดำเนินการแจ้งความให้ตำรวจดำเนินคดีและเรียกร้องหาเสียหาย

หมายเหตุ* ปัจจุบันการสืบพยานโจทก์และพยานจำเลยยังคงดำเนินการที่ศาลจังหวัดเลย โดยวันนี้เป็นวันที่ 3 ของการสืบพยานทั้งสองฝ่าย คาดว่าจะสืบพยานเสร็จสิ้นในวันศุกร์ที่จะถึงนี้

นอกจากนี้ คดีในลักษณะเดียวกันที่เคยเกิดขึ้นช่วงเดือนพฤศจิกายน ปี 2559 ศาลชั้นต้นได้พิพากษาว่า จำเลยไม่มีความผิดตามคำฟ้อง ศาลจึงพิพากษายกฟ้องไปแล้วอีกด้วย

 

image_pdfimage_print