“ผู้เฒ่าผู้แก่บอกผมเสมอตั้งแต่เด็กว่า กินขี้ดีกว่ากินความเด้อลูก”

กิจตกรณ์ น้อยตาแสง อายุ 42 ปี หนึ่งในสมาชิกกลุ่มรักษ์อำเภอวานรนิวาส กลุ่มคัดค้านการสำรวจและทำเหมืองแร่โพแทชในพื้นที่ อ.วานรนิวาส จ.สกลนคร พูดถึงคำสอนของผู้เฒ่าที่เคยบอกเขาเมื่อยังเด็กว่า อย่าทำสิ่งผิดกฎหมายจนถึงต้องขึ้นศาลหรือเข้าคุกเข้าตะราง

กิจตกรณ์ น้อยตาแสง หนึ่งในผู้ที่ร่วมชุมนุมและถูกบริษัทฟ้องร้องคดี เขาไม่ยอมสารภาพผิด เพราะคิดว่าสิ่งที่ทำนั้นเพื่อผลประโยชน์ให้คนทั้งอำเภอที่ไม่ต้องการเหมืองแร่ (ภาพโดย : Mike Eckel)

ผ่านมาเกือบ 30 ปี คำสอนที่เขาเคยยึดถือเป็นคติเตือนใจ ตัวเขาไม่สามารถทำตามได้แล้ว เนื่องจากเขากลายเป็น 1 ใน 9 คน ที่ถูกบริษัทเหมืองแร่ฟ้องคดีอาญาข้อหากระทำผิดกฎหมายอาญา มาตรา 309 ฐานร่วมกันข่มขืนใจผู้อื่นให้กระทำการใดจนทำให้กลัวว่าจะเกิดอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย และเสรีภาพ ฯลฯ รวมถึงเรียกร้องค่าเสียหาย เป็นจำนวนเงินกว่า 3,600,000 บาท

คดีเกิดจากกรณีชาววานรนิวาสหลายสิบคน ชุมนุมขัดขวางการขนอุปกรณ์ขุดเจาะสำรวจแร่โพแทชหลุมที่ 4 บริเวณบ้านน้อยหลักเมือง ต.วานรนิวาส อ.วานรนิวาส จ.สกลนคร เมื่อเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2561 เพราะกังวลว่าหากเจาะพบแร่ก็จะมีการทำเหมืองแร่เกิดขึ้นในพื้นที่

คดีดังกล่าวถือเป็นคดีอาญาคดีแรกที่กลุ่มชาวบ้านผู้คัดค้านโครงการฯ ต้องขึ้นศาล ทั้งหมด 20 คดี จากคดีอาญาและเพ่งที่พวกเขาถูกทั้งรัฐและบริษัทฟ้องร้อง

เมื่อวันที่ 20 –  21 พฤษภาคม ที่ผ่าน ผู้ถูกกล่าวหาทั้งหมด 9 คนจากอำเภอวานรนิวาส เข้าร่วมงานการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ที่หมู่บ้านนาหนองบง อ.วังสะพุง จ.เลย และพบกับสมาชิกกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด กลุ่มประชาชนที่ต่อต้านการทำเหมืองแร่ทองคำในพื้นที่ที่มีประสบการณ์การต่อสู้คดีในชั้นศาลมาอย่างยาวนาน

เมื่อตกเป็นผู้ถูกกล่าวหาว่าทำผิดคดีอาญาครั้งแรกในชีวิต

หลังจากบริษัทไชน่า หมิงต๋า โปแตช คอร์ปอเรชั่น (ประเทศไทย) จำกัด ได้สิทธิ์สำรวจแร่โพแทชบนพื้นที่ประมาณ 120,000 ไร่ ในเขต อ.วานรนิวาส จ.สกลนคร เมื่อปี 2558 ก็ได้เกิดการเคลื่อนไหวเพื่อคัดค้านโครงการทำเหมืองแร่ที่ว่าจากชาววานรนิวาสเป็นต้นมา

หลายคนในพื้นที่กังวลเรื่องผลกระทบด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อมจากโครงการ เช่น ดินทรุดจากการทำเหมืองใต้ดิน การแพร่กระจายของน้ำเกลือซึมลงพื้นที่ทางการเกษตร ซึ่งอาจทำให้เกิดดินเค็มจนไม่สามารถเพาะปลูกพืชได้ รวมถึงน้ำเค็มเกลือจากภูเขาเกลืออาจไหลลงแหล่งน้ำสาธารณะ

“ผลกระทบเหล่านี้อาจทำให้คนในชุมชนได้รับความเดือดร้อน เรากังวลตรงนี้ จึงออกมาขัดขวางการสำรวจแร่ของบริษัท” ไสว อายุคง อายุ 51 ปี หนึ่งในผู้ร่วมชุมนุมขัดขวางไม่ให้รถบรรทุกขนอุปกรณ์เจาะสำรวจแร่เข้าพื้นที่จนถูกบริษัทฟ้องร้องดำเนินคดีกล่าว

เช่นเดียวกับ พิศมัย สุขะ อายุ 54 ปี อีกหนึ่งคนในสมาชิกกลุ่มรักษ์อำเภอวานรนิวาสที่ถูกบริษัทฟ้องดำเนินคดีเดียวกัน กล่าวว่า เหตุผลที่ไปร่วมชุมนุมเพราะไม่ต้องการให้มีการเจาะสำรวจแร่ในพื้นที่  

ไสว อายุคง หนึ่งในผู้ที่ถูกบริษัทฟ้องร้องดำเนินคดี กล่าวว่า หากเธอถูกตัดสินว่าทำความผิดและต้องติดคุก คงไม่มีใครดูแลพ่อที่เป็นผู้ป่วยติดเตียงอายุ 80 ปี (ภาพโดย : Mike Eckel)

“ถ้าบริษัทพบว่าตำแหน่งไหนมีแร่ ตำแหน่งนั้นก็มีอาจจะมีการทำเหมืองแร่เกิดขึ้น” พิศมัยกล่าว

บรรยากาศการชุมนุมของชาวบ้าน มีการตั้งเต็นท์ค้างคืนและผลัดเปลี่ยนกันมาคอยเฝ้าติดตามไม่ให้รถขนอุปกรณ์เจาะสำรวจเข้าพื้นที่ (ภาพจาก : เพจเฟซบุ๊คเกลุ่มรักษ์อำเภอวานรนิวาส)

เช้าวันที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ. 2561 ขณะที่รถบรรทุกกำลังจะเข้าพื้นที่ของบริษัท ชาวบ้านที่ชุมนุมรวมถึงตัวเขาได้ขอให้รถหยุดและสอบถามคนขับรถบรรทุกว่ารถขนอะไรมา จากนั้นตัวเขาและชาวบ้านก็เดินดูรอบรถ พบว่าบนรถได้บรรทุกแผ่นเหล็กและสังกะสี แต่ยังไม่มีอุปกรณ์ขุดเจาะสำรวจแร่

จากนั้นไม่นานตำรวจก็มาถึงบริเวณที่ชุมนุมและได้แจ้งกับผู้ชุมนุมว่า การชุมนุมปิดถนนไม่ให้รถผ่านเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย

การชุมนุมยืดเยื้อเป็นเวลา 6 วัน โดยชาวบ้านมีการตั้งที่พักและผลัดกันเฝ้าเวรยามไม่ให้รถขนอุปกรณ์เจาะสำรวจเข้าพื้นที่ แต่การชุมนุมต้องถูกยกเลิกไปในที่สุดเนื่องจากเจ้าหน้าที่ตำรวจแจ้งว่าอาจผิดกฎหมายชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 เนื่องจากไม่แจ้งเจ้าหน้าที่ให้ทราบก่อนมีการชุมนุม

บริษัทไชน่า หมิงต๋า โปแตช คอร์ปอเรชั่น อ้างว่า การขัดขวางการเจาะสำรวจแร่ 1 หลุมทำให้บริษัทสูญเสียเงินในการลงทุนเจาะสำรวจไปประมาณ 5 ล้านกว่าบาทในละครั้ง

ทั้งกิจตกรณ์ พิศมัยและไสวยืน ยันว่า พวกเขาและชาวบ้านไม่มีการทำพฤติกรรมที่ข่มขืนใจหรือบังคับขู่เข็ญคนขับรถขนอุปกรณ์เจาะสำรวจของบริษัทตามที่ถูกกล่าวหา

ทำให้ในกระบวนการของคดีในชั้นตำรวจ ชาวบ้านทั้ง 9 คนที่ถูกบริษัทฯฟ้องร้องจึงปฏิเสธทุกข้อกล่าวหาและยืนยันจะสู้คดีในชั้นศาล

“ไม่ยอมสารภาพผิด ผมไม่อยากมีประวัติการทำความผิด คิดว่าที่ผมไปชุมนุมไม่ผิดกฎหมาย และผมไม่ได้ทำเพื่อผลประโยชน์ของผม แต่ทำเพื่อประโยชน์ต่อคนทั้งอำเภอ ยืนยันจะสู้คดี” กิจตกรณ์กล่าว

ถ้าแพ้คดี คนข้างหลังคงลำบาก

หลังจากวันที่ 24 พฤษภาคม พ.ศ. 2562 นี้ ศาลจังหวัดสว่างแดนดินจะเริ่มพิจารณาคดีดังกล่าว โดยจะเริ่มนัดสืบพยานฝ่ายโจทก์ในคดีนี้ก่อน ถือว่าเป็นการขึ้นศาลครั้งแรกของกิจตกรณ์ พิศมัยและไสว และชาวบ้านอีก 6 คน

“ไม่เคยคิดเลยว่าอายุ 50 กว่าปี จะได้ขึ้นศาล ทั้งที่ตลอดชีวิตไม่เคยคิดจะกระทำความผิดจนถูกตำรวจจับ” พิศมัยกล่าว

“เกิดมาไม่เคยขึ้นศาล มาขึ้นศาลตอนแก่” ไสวกล่าวเสริม

พิศมัย สุขะ หนึ่งในสมาชิกกลุ่มรักษ์อำเภอวานรนิวาสที่ถูกบริษัทฟ้องดำเนินคดีเดียวกัน (ภาพโดย : Mike Eckel)

พิศมัย ยอมรับว่า หากตัวเธอแพ้คดีและถูกพิพากษาจำคุก แม่ของเธอที่เป็นผู้ป่วยติดเตียงวัย 83 ปีคงลำบาก เพราะจะไม่มีใครดูแล รวมถึงตัวเธอทำงานรับจ้างทั่วไปเพื่อหารายได้มาใช้จ่ายในครอบครัวอีกด้วย

เช่นเดียวกับ ไสว หากเธอถูกตัดสินว่ากระทำความผิดและต้องติดคุกหลายเดือน คงไม่มีใครดูแลพ่อที่เป็นผู้ป่วยติดเตียงอายุ 80 ปี และลูกของเธอเช่นกัน เพราะสามีของเธอทำงานอยู่ต่างประเทศ

“คดีที่ผมสู้ ผมคิดว่าไม่ใช่คดีฆ่าคนตาย ไม่ใช่คดีที่ละอายแก่ใจ เราคัดค้านเหมืองแร่ไม่ใช่เพื่อผลประโยชน์ตัวเอง แต่ทำเพื่อประโยชน์ส่วนรวม” กิจตกรณ์กล่าว

ผู้ถูกกล่าวหาทั้งหมด 9 คนกังวลเรื่องเงินประกันตัวออกมาสู้คดีหากศาลพิพากษาว่ากระทำผิดจริง เพราะคนที่ถูกฟ้องทุกคนมีฐานะเพียงแค่ระดับปานกลางไปจนถึงยากจน

กิจตกรณ์กล่าวว่า หนทางเดียวที่พวกเขาจะหาเงินเผื่อไว้ประกันตัวคือ การยื่นขอกับกองทุนยุติกรรม แต่การยื่นขอเงินก็ใช่ว่าจะได้รับอนุมัติทุกคน เพราะเงื่อนไขค่อนข้างซับซ้อนและยุ่งยาก

วงสนทนาแลกเปลี่ยนเรียนรู้การต่อสู้คดีในชั้นศาลระหว่างกลุ่มรักษ์อำเภอวานรนิวาส จ.สกลนคร กับกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด จ.เลย (ภาพโดย : Mike Eckel)

นอกจากกำลังใจอันเข้มแข็ง ต้องยึดหลักการในการต่อต้านด้วย

ชาวบ้านจากอำเภอวานรนิวาสและชาวบ้านจากบ้านนาหนองบงกว่า 20 คน เข้าร่วมกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้การต่อสู้คดีในศาล โดยนั่งล้อมวงสนทนา พร้อมซักถามกันในบรรยากาศที่เป็นกันเอง

สุรพันธ์ รุจิไชยวัฒน์ ตัวแทนจากกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด จ.เลย ผู้มีประสบการณ์การขึ้นศาลและเบิกความในคดีที่ถูกหน่วยงานของรัฐและบริษัทเหมืองแร่ทองคำฟ้องร้อง ทั้งคดีอาญาและคดีเพ่ง ให้คำแนะนำว่า นอกจากต้องจะมีกำลังใจและเชื่อมั่นในการกระทำของตัวเองว่าเป็นการต่อสู้เพื่อชุมชนแล้ว ผู้ที่ต้องขึ้นศาลต้องจะเข้าใจหลักการพื้นฐานของการต่อสู้ทางการเมืองเรื่องทรัพยากร อีกทั้งต้องยึดหลักการนี้ให้แน่นในการเบิกความต่อศาลด้วย

“ต้องเข้าใจว่า การเมืองไม่ใช่มีเพียงแค่การเลือกตั้งเพียงอย่างเดียว แต่ต้องเข้าใจว่าการเมืองคือ การต่อรองสิทธิ์เพื่อเข้าถึงอำนาจในการจัดการทรัพยากรด้วย” สุรพันธ์กล่าว

เขากล่าวอีกว่า เมื่อเข้าใจความหมายดังกล่าวแล้ว ก็จะทำให้การขึ้นเบิกความต่อศาลมีเหตุผลมากขึ้น โดยเฉพาะเหตุผลการต่อสู้และคัดค้านโครงการเป็นไปเพื่อสาธารณประโยชน์ เพื่อชุมชน เพื่อสิ่งแวดล้อม ไม่ได้ต่อสู้เพื่อตัวเองเพียงคนเดียว

อีกทั้งยังจะต้องฝึกฝนตัวเองให้มีความพร้อมก่อนการขึ้นเบิกความต่อศาลควรจะทำให้สม่ำเสมอ เรียนรู้คำศัพท์ ตลอดจนภาษาทางกฎหมายที่จะใช้ในการเบิกความ เพราะว่าสถานการณ์จะเกิดความกดดันรอบตัวอาจจะทำให้ตัวผู้เบิกความไม่สามารถตอบคำถามศาลได้

สุรพันธ์เคยถูกชายฉกรรจ์ทำร้ายจนได้รับบาดเจ็บ​ครั้งเมื่อกลุ่มชาวบ้านนาหนองบงปิดทางรถบรรทุกขนย้ายแร่​ทองคำในปี 2557 ภายหลังเหตุการณ์เขาถูกตั้งค่าหัว 200,000 บาท ทำให้ตัวเขาไม่สามารถออกไปกรีดยางพาราตอนกลางคืนได้ เพราะกลัวถูกทำร้าย​ ทำให้ขาดรายได้ที่จะมาจุนเจือครอบครัว (ภาพโดย : Mike Eckel)

นอกจากนี้ การเตรียมหลักฐานไม่ว่าจะเป็นข้อมูลเชิงเอกสารและทำงานร่วมกับทนายความถือว่าเป็นสิ่งที่ผู้ถูกกล่าวหาต้องทำเช่นกัน  

ธีรพันธ์ พันธ์คีรี ทนายความมูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชนที่รับช่วยเหลือทางคดีความเกี่ยวกับปัญหาสิทธิชุมชน ปัญหาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่ดำเนินการว่าความให้กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด จ.เลย กล่าวว่า ข้อมูลโดยเฉพาะองค์ความรู้เกี่ยวกับชุมชน สภาพพื้นที่และข้อมูลทรัพยากรธรรมชาติต่างๆ ที่ได้รับผลกระทบหรืออาจได้รับผลกระทบ ผู้ถูกกล่าวหาควรทราบ เพราะข้อมูลเหล่านี้มีความสำคัญในการต่อสู้หรือโต้แย้งในศาล

“ข้อมูลประวัติชุมชน พื้นที่ ข้อมูลทรัพยากรในชุมชน แล้วต้องมีการเรียบเรียงอย่างเป็นระบบ เพราะเมื่อผู้ถูกกล่าวขึ้นศาลจะอธิบายกับให้ศาลเห็นภาพและเข้าใจที่มาที่ไปของปัญหาได้” ธีรพันธ์กล่าว

เขายังกล่าวอีกว่า ผู้ถูกกล่าวหายังต้องทราบและเข้าใจรายละเอียดของโครงการพัฒนาของรัฐและทุนที่จะเข้ามาในพื้นที่ด้วย

“หลักการสำคัญในการสู้คดีแบบนี้คือ ต้องเบิกความให้ศาลเห็นถึงมูลเหตุจูงใจในการต่อต้านโครงการฯ ถึงแม้วิธีการต่อต้านของชาวบ้านจะเป็นการทำผิดกฎหมายบางมาตรา ทำอย่างไรให้ศาลเห็นว่า ทำไมชาวบ้านถึงยอมทำผิดกฎหมาย” บดินทร์ สมบัติดี ทนายความอีกหนึ่งคนในทีมมูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชนกล่าวเสริม

การฟ้องคดีให้ตัดกำลังและหยุดการเคลื่อนไหว

ปฏิเสธไม่ได้ว่า เส้นทางการต่อสู้คดีของชาวบ้านรอบเหมืองแร่ทองคำ จ.เลย กว่าจะชนะคดี และศาลพิพากษาให้บริษัทเหมืองแร่ทองคำชดใช้ค่าเสียหายให้กับชาวบ้าน โดยเฉพาะค่าเสียหายเกี่ยวกับการทำมาหากินให้​ชาวบ้านหลายร้อยคนที่อาศัยอยู่บริเวณรอบเหมืองแร่ ชาวบ้านต้องใช้เวลานานกว่า 10 ปี และเผชิญอุปสรรคในการต่อสู้คดีมากมาย

วิรอน รุจิไชยวัฒน์ ภรรยาของสุรพันธ์ เคยให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับปัญหาและอุปสรรคในการต่อสู้คดีไว้ว่า ชาวบ้านที่ถูกฟ้องร้องดำเนินคดีรับภาระเรื่องค่าใช้จ่ายในทางคดีความ ทั้งค่าเดินทาง ค่าอาหารระหว่างไปขึ้นศาล รวมทั้งค่าใช้จ่ายในการเตรียมหลักฐานร่วมกับทนายความ

อีกทั้งชาวบ้านที่มีคดีความส่วนใหญ่ทำอาชีพเกษตรกรสวนยางพารา​ บางคนต้องหยุดกรีดยางเพื่อไปขึ้นศาลในตัวเมืองจังหวัดเลย

ธีรพันธ์ พันธ์คีรี ทนายความมูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชน (ภาพโดย : Mike Eckel)

“ยิ่งการต่อสู้คดีเป็นระยะเวลานานหลายเดือน​ ชาวบ้านบางคนต้องหยุดทำงานจนขาดรายได้และทำให้มีหนี้สินในครอบครัวเพิ่มขึ้น” วิรอนกล่าว

สำหรับ วิเชียร อันประเสริฐ อาจารย์ประจำสาขาวิชาสังคมศาสตร์ ม.อุบลราชธานี ศึกษาและวิจัยเกี่ยวกับการฟ้องร้องคดีเพื่อกีดกันการมีส่วนร่วมของประชาชน หรือ SLAPP (Strategic Lawsuit Against Public Participation) โดยศึกษากรณีของกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด จ.เลย กล่าวว่า รัฐและทุนเจ้าของโครงการฟ้องร้องคดีความต่อกลุ่มที่เคลื่อนไหวต่อต้านโครงการโดยไม่หวังผลถูกผิดในทางคดี แต่เพียงต้องการทำให้ชาวบ้านที่เคลื่อนไหวอ่อนแอลง

“พวกเขาจับชาวบ้านมาขึ้นศาล เพราะศาลถือเป็นพื้นที่ที่ชาวบ้านกลัว ภาษาที่ศาลพูดเป็นภาษาที่ชาวบ้านบางคนไม่เข้าใจ ทำให้พวกเขาไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ สุดท้ายพวกเขาไร้อำนาจต่อสู้ ชาวบ้านต้องรู้ทันวิธีการนี้” วิเชียรกล่าว

เขาเชื่อว่า การที่ชาวบ้านถูกฟ้องร้องดำเนินคดีและต้องขึ้นศาลนั้นส่งผลกระทบต่อจิตใจของผู้ถูกฟ้อง ทำให้ผู้ถูกฟ้องเกิดความกลัวศาล เช่น กล้วว่าศาลจะพิพากษาจำคุกและเสียค่าปรับ รวมถึงเงินในการใช้จ่ายในครอบครัว กรณีที่ไปขึ้นศาลแล้วไม่ได้ทำงาน ไม่ได้ไปกรีดยาง ซึ่งทำให้ขาดรายได้ จนนำไปสู่ความเครียด

“ชาวบ้านบางคนคิดว่า หากตัวเองติดคุกหลายเดือน ไม่เพียงแต่ตัวเขาที่ได้รับผลกระทบ แต่คนในครอบครัวก็อาจจะได้รับผลกระทบด้วย เช่น ไม่มีหัวหน้าครอบครัวทำงานหาเงินมาใช้จ่าย” วิเชียรกล่าว

วิเชียรกล่าวอีกว่า กฎหมายและคดีความกลายเป็นเครื่องมือที่รัฐและทุนใช้เอารัดเอาเปรียบชาวบ้าน ทำให้ชาวบ้านไร้อำนาจ แต่รัฐและนายทุนได้ประโยชน์

นอกจากนี้แล้ว สำหรับวิเชียร การฟ้องร้องเป็นความพยายามเปลี่ยนเวทีการต่อสู้ จากการต่อสู้ของชาวบ้านที่เคยเป็นแบบกลุ่ม เวทีที่ชาวบ้านทั้งหมู่บ้านร่วมกันต่อสู้ ให้เหลือเพียงการต่อสู้เชิงตัวบุคคล

“พวกเขาฟ้องร้องเพื่อกำจัดแกนนำ แยกคนในขบวนเคลื่อนไหวออกจากประเด็นการต่อสู้เพื่อบ้านเกิด ลูกหลาน ให้เหลือเพียงการต่อสู้เพื่อให้ได้ประกันตัวเท่านั้น” วิเชียรกล่าว “ดังนั้น ชาวบ้านต้องร่วมกันต่อสู้ ต่อสู้กันเป็นกลุ่ม เคลื่อนไหวกันเป็นกลุ่มถึงจะชนะ”  

image_pdfimage_print