โดย ภาณุพงศ์ ธงศรี

“วงเวียนชีวิต” เป็นลำเรื่องต่อกลอนของคณะดนตรีหมอลำ “เสียงอิสาน” ประพันธ์โดย นกน้อย อุไรพร บันทึกเทปเอาไว้เมื่อประมาณ พ.ศ. 2543 เป็นเรื่องราวของความรักระหว่างชายหญิงต่างฐานะทางสังคมของบุญจันทร์และวาสนา เมื่อความรักเป็นความผิดทั้งสองจึงต้องหลบซ่อนตัว เข้าสู่เมืองหลวง กระทั่งต่างฝ่ายต่างแยกย้ายกัน เพราะวาสนาต้องพรากออกจากบ้านโนนสำราญ เข้าสู่เมืองหลวง ไต่เต้าฐานะของตัวเองโดยการเป็นภรรยาของเสี่ยหลี เจ้าของธุรกิจร้านอาหารในกรุงเทพ

บทประพันธ์เรื่อง วงเวียนชีวิต นี้ได้รับความนิยมจากชาวอีสานเป็นอย่างมาก ส่งผลให้วงเสียงอิสานได้รับความนิยมเป็นที่สุด

การแสดง โดยเฉพาะการแต่งกาย ไม่ได้มีความเป็นหมอลำที่ต้องใส่ชุดพลอยชุดเพชรมากมาย แต่เสียงอิสานกลับเลือกใช้ชุดธรรมดา ทำให้ความรู้สึกและบรรยากาศของการแสดงเหมือนจริงมากยิ่งขึ้น ถือได้ว่าเป็นการพัฒนาของหมอลำอีกขั้นในการนำเสนอให้กับผู้ชมได้เข้าถึงกลอนลำและการแสดง แต่น่าเสียดายที่ปัจจุบันรูปแบบการแสดงของคณะเสียงอีสานเปลี่ยนไป เพราะการแสดงปัจจุบันเน้นไปที่การจัดฉากและแต่งชุดที่อลังการ

แต่แท้จริงแล้วความสำคัญของการแสดงที่เป็นเสน่ห์ของเสียงอิสานคือความเหมือนจริง และความสมจริงในบทบาทของหมอลำ

หน้าปก ดีวีดี บันทึกการแสดงสด คณะเสียงอิสาน เรื่อง วงเวียนชีวิต ตอน ใต้ฟ้า กทม. โดยบริษัท ท็อปไลน์มิวสิค จำกัด
(ที่มา : https://www.taradplaza.com/product/3324978)

ปรากฏการณ์ความนิยมดังกล่าว ส่วนหนึ่งเป็นเพราะหมอลำเริ่มเข้าสู่กรุงเทพมหานคร ที่มีคนต่างจังหวัดเข้าไปทำงานในเมืองหลวงมากขึ้น การเสนอเรื่องราวคล้ายคลึงกับชีวิตจริง ที่คนรากหญ้าจำเป็นต้องไปเผชิญในเมืองหลวง ทำให้วงเวียนชีวิต ไม่ใช่แค่กลอนลำบนเวที แต่คือภาพสะท้อนวงเวียนชีวิตในเมืองกรุงฯ ของแรงงานอีสานอีกด้วย

บ้านโนนสำราญ ภาพแทนความสำราญในชนบท

บ้านโนนสำราญ คณะเสียงอิสานเลือกใช้ชื่อนี้ มีรากของคำว่า “สำราญ” มีความหมายว่าชุมชนที่มีความสุข เต็มไปด้วยวัฒนธรรมประเพณีของชาวอีสาน เห็นได้จากฉากแรกของเรื่อง นำเสนอบรรยากาศของประเพณีบุญบั้งไฟ ตัวละครเอก คือ บุญจันทร์ ได้รับหน้าที่จากชุมชนเป็น “ผาแดง

วาสนา ได้รับหน้าที่จากชุมชนให้เป็น “นางไอ่” และ จะเด็ด ได้รับบทบาทเป็น “พังคี” แต่งตัวประกอบขบวนของหมู่บ้าน ในฉากนี้สะท้อนให้เห็นการรับรู้ของวรรณกรรรมอีสานและวิถีชีวิตในชุมชน ภาพของแม่ผู้ใหญ่ ซึ่งเป็นมีต้นทุนสูง เป็นตัวแทนของการเข้ามาของทุนนิยมในชนบทอีสาน

แม่ผู้ใหญ่มักมองคนที่มีฐานะแตกต่างเป็นคนด้อยกว่า บุญจันทร์เป็นตัวแทนของคนรากหญ้า เขาจึงถูกกีดกันความรักที่มีให้กับวาสนา แม้ตัวแม่ผู้ใหญ่เองจะอยู่ในชนบทร่วมกัน แต่ความแตกต่างทางฐานะก็เป็นกำแพงที่ทำให้บุญจันทร์ไม่มีโอกาสเข้าถึงความรักของตัวเอง

ความไม่เท่าเทียมดังกล่าว เป็นสาเหตุที่ทำให้ครอบครัวของบุญจันทร์ และครอบครัวของแม่ผู้ใหญ่ไม่ถูกกัน บุญจันทร์และสมาชิกในครอบครัว ตอบโต้ความไม่พอใจด้วยการเผาเถียงนา ถ่ายอุจจาระลงในโอ่งเก็บน้ำ ซึ่งโอ่งเก็บน้ำเป็นสิ่งที่ใช้ดื่มกินในครอบครัวของแม่ผู้ใหญ่ เป็นสัญลักษณ์ให้เราได้พินิจถึงการโต้ตอบของความไม่เท่าเทียมในสังคมที่จะมีมากขึ้น พฤติกรรมจะรุนแรงขึ้นหากได้รับการกดขี่ ดูถูกและทำให้จนมุม เช่นเดียวกับครอบครัวของบุญจันทร์นั่นเอง

เหตุการณ์ที่ถือเป็นจุดเริ่มต้นในการสร้างปมขัดแย้งของเรื่อง บุญจันทร์และวาสนาได้มาอยู่กินร่วมกันสร้างความไม่พอใจให้กับจะเด็ด ทั้งสองมีเรื่องกระทั่งชกต่อยกัน บุญจันทร์ฝากรอยแผลไว้บนใบหน้าของจะเด็ดเสมือนกับรอยแผลเป็นที่สร้างความบาดหมางของจะเด็ดที่ปรากฏในหัวใจ ด้วยถูกบังคับแต่งงานและการชกต่อยทำร้ายจะเด็ด บุญจันทร์และวาสนา ต้องหนีจากชนบทสู่เมืองหลวง เป็นภาพของตัวแทนของชาวชนบทที่ต้องดิ้นรน เพราะความกดดันทางทุนนิยม (โดยมีกำนันและแม่ผู้ใหญ่ เป็นภาพแทนของระบบทุนนิยม) และกฏหมายบ้านเมือง หนีเพื่อการขายแรงงาน และวาดหวังการสร้างอนาคตของคนทั้งสอง เสมือนกับภาพของแรงงานอีสานที่เข้าไปขายแรงงาน ล้วนวาดภาพอนาคตที่ดีของตนในเมืองหลวง

พร้อมกันนั้นในเหตุการณ์บุญบั้งไฟ อุดมศักดิ์ เป็นลูกของพ่อกำนัน น้องชายของจะเด็ด จากที่เขาได้ไปเข้าเรียนในกรุงเทพมหานคร เขากลายร่างเป็นสาวประเภทสอง ซึ่งในสมัยนั้นการยอมรับยังไม่มากนัก มองว่าตัวละครนี้ เป็นตัวตลกของเรื่อง หากมองในความเสรีทางเพศ เสียงอิสานกำลังวิพากษ์สังคมอีสาน ว่าควรที่จะเปิดกว้างให้กับ ดาว หรืออุดมศักดิ์ ลูกชายพ่อกำนันทองเพชรและพี่ชายตัวเอง คือ จะเด็ดทำร้ายเหตุเพราะเป็นกะเทย กระทั่งต้องเดินทางกลับกรุงเทพในเร็ววัน ไม่ได้ร่วมงานบุญบั้งไฟในชุมชน เหตุการณ์นี้เป็นภาพของความโลกเสรีที่กำลังเดินทางเข้าสู่อีสาน ในช่วงรอยต่อระหว่างสังคมโลกาภิวัตน์และสังคมในโลกเสรีเข้ามาถึงมากยิ่งขึ้น

หนังวงเวียนชีวิต คณะเสียงอิสาน เป็นผลงานเมื่อ พ.ศ.2548 โดย บริษัท ท็อปไลน์มิวสิค จำกัด (ที่มา : https://www.youtube.com/watch?v=kHnNQe7Zs5U)

คนรากหญ้า

จะเด็ด เป็นลูกของกำนันทองเพชร หากมองในแง่มุมหนึ่งก็คือ ตัวแทนของผลผลิตจากทุนนิยม ได้รับการศึกษา การปลูกฝังมาอย่างดี แต่ความรักและความแค้น ก็ทำให้เขาแสดงพฤติกรรมอันป่าเถื่อนออกมา โดยเฉพาะเมื่อได้คบกับเพื่อนพ่อ คือ เสี่ยหลี เป็นกลุ่มโจรในเมืองกรุง เขาได้ใช้กลุ่มโจรของเสี่ยหลี ปล้นครอบครัวของบุญจันทร์ ข่มขืนบัวตอง

พร้อมทั้งฆ่าพ่อใหญ่บุญกอง ฆ่าควาย ซึ่งเป็นเหมือนขวัญของชาวนา ทำให้ครอบครัวของบุญจันทร์ต้องล่มสลายลง กลายเป็นครอบครัวที่แตกกระจายไปคนละทิศละทาง บัวตองกลายเป็นโรคประสาท เพราะถูกทำร้ายข่มขืนอย่างรุนแรง หากมองอีกนัยการปล้นของกลุ่มโจรที่มาจากกรุงเทพ นำโดยจะเด็ด เสมือนกับภาพแทนของคนในชุมชนได้นำทุนนิยมจากเมืองหลวง เข้ามาปล้นทรัพยากรในชุมชน พร้อมทั้งยังฆ่าคนรากหญ้า ผ่านการแข่งขันที่ไม่เท่าเทียม ทำให้หลายครอบครัวจำเป็นต้องหนีจากถิ่นฐานบ้านเกิดเพื่อความอยู่รอด

บุญจันทร์และวาสนา เดินทางสู่กรุงเทพมหานคร มาอยู่ในเขตพระโขนงเพื่อขายแรงงาน ทั้งสองอยู่กินกันฉันผัวเมีย ทั้งสองเป็นภาพแทนของคนชนบท เข้ามาขายแรงงานในเมืองหลวง ปัญหาชีวิตหลายด้านที่เขาต้องเผชิญ ลำบากเป็นอย่างมาก กระทั่งวาสนาได้ไปทำงานเป็นนักร้อง อยู่ด้วยกันไม่นานเจ้าของร้านก็ไล่บุญจันทร์และลูกออกจากร้าน ด้วยร่างกายของบุญจันทร์ทำงานหนักและประสบอุบัติเหตุจากการทำงาน ทำให้ขาใช้งานไม่ได้

เขาต้องพาลูกขอข้าวในวัดเพื่อประทังชีวิต แหลมและชาลี เดินทางเข้ากรุงเทพเพื่อตามหาบุญจันทร์ เมื่อพบกันบุญจันทร์ก็ต้องโกหกเรื่องราวของตัวเองออกไป ชาลีชักถามเขาจึงต้องเอ่ยความจริงออกมา ว่าตอนนี้เขากับลูกต้องลำบากเพราะวาสนาไม่ยอมกลับมาหาเขาเลย แหลมและชาลี นอกจากเป็นตัวตลกในเรื่อง เขาทั้งสองยังเป็นตัวแทนของความบ้านนอก หรือความเปิ่นอีกด้วย เช่น การบอกว่า ทอดกะเพรา แทนผัดกะเพรา แม้จะทำให้คนหัวเราะแต่หากมองกลับกัน ทั้งสองก็คือภาพแทนของการรับรู้ที่แตกต่าง ไม่ได้มีมาตรฐานเป็นกลางดังเช่นสังคมกรุง ดูถูกคนนอกมาตรฐานที่ตนตั้งไว้ว่าในเมือง ในตอนท้ายที่แหลมสรุปอย่างขบขันว่า “มันกะทอดใส่กะทะคือกันนั่นล่ะ” ทำให้เรามองเห็นว่าไม่มีอะไรหรอกที่จะเป็นมาตรฐานที่แท้จริง นอกจากคนจะสร้างขึ้นมาเพื่อเหยียดกันเอง

นอกจากนี้ความรักและความแตกแยกของบุญจันทร์และวาสนา เป็นภาพแทนการเดินทางการต่อสู้ของคนชนบทในการเดินทางเข้ามาหางานทำในเมืองหลวง การทำงานหนักทำให้บุญจันทร์มีร่างกายพิการไปบางส่วน เสมือนการต่อสู้ของคนชนบทที่ต้องเสียทรัพยากรบางอย่างให้กับระบบทุนนิยม โดยที่ชุมชนไม่ได้อะไรตอบแทนเลย เป็นเพียงกลุ่มคนรากหญ้าที่มีหน้าที่ใช้แรงงานเท่านั้น ความแตกแยกคือการยอมรับอำนาจที่ไม่เป็นธรรมและไหลตามกระแสสังคม ปิดบังตนเองว่ามาจากคนรากหญ้า เราสังเกตเห็นได้ผ่านมุมมองของวาสนา

บุญจันทร์และวาสนา ต่อรองเรื่องการดูแลลูกและเดินทางกลับบ้านโนนสำราญ
(ที่มา : https://live-kino.ru/mobile/video/GMTNav5vJzs)

คุณค่าของมนุษย์

เมื่อวาสนาได้สามีใหม่เป็นเจ้าของร้านอาหาร ซึ่งก็คือ เฮียหลี หัวหน้าโจรในกรุงเทพ ลูกพี่ของจะเด็ด บุญจันทร์และต๋อมแต็ม ลูกสาว เดินทางไปหาวาสนา แต่วาสนาปฏิเสธเพราะกลัวเฮียหลีจะรู้ว่ามีลูกมีผัวมาก่อน กระทั่งมีปากเสียงกัน เฮียหลีชกบุญจันทร์และยื้อปืนจะออกมายิง แต่วาสนาคว้าไว้ได้ทัน เธอลงมาเจรจากับบุญจันทร์และลูกด้วยความใจเย็น อีกใจนั้นวาสนาคิดถึงครอบครัวอย่างที่สุด เมื่อเผชิญหน้ากันบุญจันทร์เล่าความในใจ ออกมาว่า

“วาสนากลับคืนเมือบ้าน ไปอยู่กับลูกไปอยู่กับอ้ายคือเก่าเถาะวาสน์ ลำพังโตอ้ายมันบ่เป็นหยังดอกวาสน์ เห็นวาสน์มีความสุขอ้ายกะสบายใจ แต่อ้ายทนบ่ได้ที่เห็นลูกมันมีปมด้อย เห็นลูกมันต้องเป็นกำพร้า ทั้งๆ ที่แม่บ่ทันได้ตาย วาสนาโนนสำราญบ้านเก่าตั้งแต่กี้ เฮาเคยสาบดสาบานบ่แม่นเบาะวาสน์ ว่าเกิดปัญหาอิหยังขึ้นเฮาสิบ่ทิ่มบ่ป๋ากัน หลายปีที่เฮามาอยู่นำกัน จนได้ลูกได้เต้านำกัน ร่วมทุกข์ร่วมสุขกันมา วาสนาคงคิดพ้อบ่หลายกะหน่อย วาสนาอย่าให้ลูกเป็นกำพร้า เป็นปัญหาในสังคมเถาะวาสน์”

ประโยคที่ยกมาข้างต้น เห็นได้ว่าบุญจันทร์ ไม่ได้อยากให้ลูกปัญหาสังคมเลย แต่ทุกอย่างล้วนบีบรัดให้เขาต้องเป็นอย่างนี้ หากวาสนากำลังหลงใหลไปกับกระแสสังคม ที่ไม่ได้ให้เกียรติคุณค่าของมนุษย์ เขาและลูกก็กลายเป็นเพียงมนุษย์ไร้ค่า ที่ไม่มีศักยภาพในการแข่งขันและสร้างฐานะได้เลย ตอนนี้หากวาสนาไม่ได้หลงไหลมากมายยังหันหน้ากลับไปยังบ้านโนนสำราญ จุดเริ่มต้นของความรัก ความเท่าเทียมของทั้งสองได้

วาสนา เผยความอ่อนแอ และการตัดสินใจของตนเองออกมาว่า

วาสนาน้ำตาร่วง อ้ายบุญจันทร์มาทวง

ชายตัดพ้อพาฮู้ฮ่อม โตหากยังบ่พร้อมสิยอมกล้าว่าผัว

แนวได้หลงเกือกกลัว มั่วหมู่กามารมณ์

บ่สมเขาคนดี บ่คู่ศักดิ์ศรีอ้าย

คิดแล้วหายใจสั้น ลูกของแม่กะสำคัญ

อยากกลับบ้านคืนเก่า แต่ยังเฮ็ดบ่ได้แข็งใจไว้สิไล่หนี

การสูเฮ็ดจั่งซี้ มันดีบ่กูขอถาม

ซ่างมาหยามศักดิ์ศรี หมิ่นสตรีอยู่ในบ้าน

พวกคนพาลหาเรื่อง หรือเป็นแก้งกวนเมือง

เดี๋ยวสิแจ้งตำรวจหย่อง กูบ่มีพี่น้องตระกูลไฮ่ไฝ่หมู่กา หมู่เวรเอ้ย

ในกลอนลำบทนี้ วาสนาเผยให้เห็นว่า เธอหลงใหลไปกับความสุขสบายนี้แล้ว ที่สุด เธอมองว่าความเท่าเทียมของเธอกับบุญจันทร์นั้นไม่เท่ากัน การเรียกร้องเป็นการหยามศักดิ์ศรี อำนาจบารมีในตอนนี้เธอสามารถควบคุมได้ทั้งหมด ดังนั้นการกระทำของเธอจึงไม่จำเป็นต้องฟังเสียงใครทั้งสิ้น

วาสนาไม่เดินทางกลับบ้านโนนสำราญ ทั้งสองทะเลาะกันเรื่องลูกว่าใครจะรับผิดชอบ อ้างเหตุผลทุกอย่าง รุนแรงถึงขั้นตบตีลูกของตัวเอง เป็นภาพที่น่าสลดสังเวทใจ ด้วยความรักครั้งอดีตกินไม่ได้ วาสนาเผยว่า “ถ้ากูแต่งงานกับอ้ายจะเด็ด ถะกูเชื่อพ่อเชื่อแม่ กูกะสิบ่ได้ลำบากนำมึง” แต่คนที่สงสารลูกที่สุดก็เป็นบุญจันทร์ ภาพความแตกแยกของครอบครัวเป็นภาพสะท้อนของปัญหาครอบครัวในระบบทุนนิยม บุญจันทร์และต๋อมแต๋มเดินทางกลับมาหาชาลีและแหลมที่ที่พัก ความแตกแยกระหว่างศักดิ์ศรีนี้ไม่สามารถกลับมาเป็นเหมือนเดิมได้อีก เมื่อเงินเป็นโจทย์สำคัญของการสร้างคุณค่าของมนุษย์

หลังจากที่บัวตองถูกข่มขืน เธอได้กลายเป็นโรคประสาท หนีเข้ากรุงเทพเพื่อตามหาพี่ชาย วันหนึ่งบุญจันทร์ได้พบกับบัวตองน้องสาว ที่กำลังคุ้ยขยะหาอาหารกิน ชาลีและแหลมจึงได้เล่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นให้กับบุญจันทร์ฟัง พร้อมทั้งเอาจดหมายจากแม่ให้อ่าน เขาตัดสินใจกลับบ้าน การตัดสินใจนี้เสมือนการกลับสู่อ้อมกอดของชุมชนชนบทนามว่า บ้านโนนสำราญ พร้อมกันกับวาสนาจบชีวิตลงที่กรุงเทพเพราะมีเรื่องกับเสี่ยหลี่ เหตุเพราะเล่นชู้กับจะเด็ด ลูกน้องโจรของเสี่ยหลี่ เมื่อเสียชีวิตเธอยกสมบัติทั้งหมดให้บุญจันทร์ อุดมศักดิ์และหมวดจื้น ที่กำลังตามจับจะเด็ดได้มาเจอเหตุการณ์พอดี เหตุการณ์ทุกอย่างคลี่คลายเมื่อจะเด็ดถูกจับเพราะฆ่าเสี่ยหลี่ วาสนาได้ฝากจดหมายถึงบุญจันทร์เพื่อมอบมรดกทั้งหมดให้กับเขา หลังจากจะเด็ดถูกจับกุม บุญจันทร์ได้บวชเพื่ออุทิศส่วนกุศลให้กับพ่อใหญ่กองและวาสนา รวมถึงล้างซวยให้กับเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในอดีต

ภาพการบวชของบุญจันทร์เป็นการแสดงในเชิงสัญลักษณ์ว่าได้ถอดความเป็นตัวตน หรือ ทิฐิมานะ กลับมาสู่สามัญสำนึก ตระหนักถึงคุณค่าของมนุษย์ ชี้ให้เราเห็นคุณค่าของเพื่อนร่วมโลกว่าไม่ใช่การมีทรัพย์มากมาย หรือการแข่งขันในระบบทุนนิยม หากแต่เป็นการแบ่งปัน การสร้างครอบครัวที่อบอุ่น คนในชุมชนไม่ต้องดิ้นรนต่างถิ่น อำนาจเงินไม่สามารถชี้ศักดิ์ศรีของความเป็นคนได้ ความเท่าเทียมเสมอภาคจะเกิดขึ้นหากเรามองเห็นความสำคัญของการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น ให้คนในพื้นที่ได้บริหารจัดการทรัพยากรของตนเองอย่างเหมาะสม

นกน้อย อุไรพร และทีมงานหมอลำคณะเสียงอิสาน ในช่วงปี 2540 (ที่มา : http://www.wikiwand.com/th/%E0%B9%81%)

สรุป

ลำเรื่องต่อกลอน เรื่อง วงเวียนชีวิต ของคณะเสียงอิสาน ไม่ใช่เพียงเรื่องราวของหมอลำเรื่องต่อกลอน หากแต่เป็นภาพสะท้อนสังคมอีสานที่เริ่มรับระบบทุนนิยมอย่างเต็มตัว ในช่วงก่อน พ.ศ. 2540 มีการเปิดเสรีทางการเงิน ประเทศไทยพึ่งพาเงินทุนจากต่างประเทศได้สะดวก ลงทุนสร้างเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว มีนโยบายหลายอย่าง มีเพิ่มการลงทุนมากขึ้น แรงงานจากชนบทต้องปรับตัวเพื่อสร้างรายได้ให้กับตนเองและครอบครัวก็เพิ่มมากขึ้นเช่นเดียวกัน การแสดงหมอลำเรื่องนี้สะท้อนชีวิตของคนรากหญ้า สร้างปรากฏการณ์แรงงานให้สังคมอีสานเป็น “กระบอกเสียงของอีสาน” ในการบอกเล่าเรื่องราวได้อย่างชัดเจน ตรงกับคนรับชมเสมือนเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับคนที่กำลังนั่งรับชมด้านหน้าเวทีด้วยกันเอง และเพราะเหตุนี้ วงเวียนชีวิต จึงได้รับการยอมรับ สร้างสื่อใหม่เพื่อเสพอยู่หลายครั้ง ในรูปแบบต่างๆ ทั้งการแสดงหมอลำและภาพยนตร์

แหล่งข้อมูลอ้างอิง

NUT&PON คอนสาดฟังลำ OFFICIAL. (15 กุมภาพันธ์ 2561). หนังวงเวียนชีวิต คณะเสียงอิสาน. เข้าถึงได้จาก www.youtube.com: https://www.youtube.com/watch?v=kHnNQe7Zs5U

taradplaza. (2559). DVD TL155 บันทึกการแสดงสด คณะเสียงอิสาน เรื่อง วงเวียนชีวิต ตอน ใต้ฟ้า กทม. เข้าถึงได้จาก www.taradplaza.com: https://www.taradplaza.com/product/3324978

wikiwand. (ม.ป.ป). แสงอรุณ บุญยู้. เข้าถึงได้จาก www.wikiwand.com: http://www.wikiwand.com/th/%E0%B9%8

image_pdfimage_print