โดย ปิ่นวดี ศรีสุพรรณ

ในช่วงของรัฐบาลพลเอกประยุทธ์  จันทร์โอชา การพัฒนาพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษเป็นนโยบายหนึ่งที่มีการใช้ มาตรา 44 เร่งรัดให้เกิดเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ มีการจัดทำผังเมืองใหม่ รวมถึงการเวนคืนที่ดินเพื่อเปิดพื้นที่ให้เอกชนเช่า

โดยหลักการแล้วเขตเศรษฐกิจพิเศษเป็นแนวคิดการพัฒนามุ่งหวังว่า จะเป็นการส่งเสริมการค้าการลงทุนและส่งเสริมคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของประชาชน โดยดูจากต้นแบบในหลายประเทศในเอเชียที่ประสบความสำเร็จในการพัฒนาเศรษฐกิจเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของคนในพื้นที่ชายแดน เช่น จีน เป็นต้น

พื้นที่ชายแดนจึงเป็นพื้นที่หนึ่งซึ่งเป็นเป้าหมายในการพัฒนาให้เกิดการเติบโตทางเศรษฐกิจ เนื่องจากพื้นที่ชายแดนถูกมองว่าเป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพในการค้าการลงทุน ทั้งนี้การเปิดเสรีทางการค้าได้กระตุ้นให้มีการไหลเวียนของสินค้าข้ามแดนมากขึ้น ในขณะเดียวกันหลายพื้นที่อาจถูกมองว่ายังไม่มีความทันสมัยทัดเทียมกับพื้นที่อื่น โดยเฉพาะการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่ล่าช้า

ในกรณีของจังหวัดมุกดาหาร ภาครัฐได้นำที่ดินของรัฐมาเปิดประมูลกว่า 3 รอบเพื่อพัฒนาเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ แต่ที่ดินชายแดนก็ไม่เป็นที่ต้องการของภาคเอกชน เนื่องจากปัจจัยหลายด้าน ทั้งในเชิงทำเลที่ตั้งที่ไม่เหมาะสม ความไม่พร้อมของพื้นที่ แรงงาน และสิทธิประโยชน์เมื่อเปรียบเทียบกับโครงการของประเทศเพื่อนบ้าน แม้ว่าจะมีโครงข่ายด้านการคมนาคมที่พร้อมจะสนับสนุนด้านการขนส่งในอนาคต เช่น การสร้างทางรถไฟ ก็ตาม

จากงานวิจัยของผู้เขียนและสุรสม กฤษณะจูฑะ เรื่อง “การสร้างธรรมาภิบาลการบริหารจัดการที่ดินชายแดนแบบมีส่วนร่วม: กรณีศึกษาเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษมุกดาหาร” (2561) พบว่า ความต้องการพัฒนาพื้นที่ของชาวมุกดาหาร ค่อนข้างเป็นความต้องการที่ย้อนแย้งกับการบริหารจัดการ กล่าวคือ ในขณะที่ประชาชนในพื้นที่ต้องการให้เกิดการสร้างงาน สร้างรายได้ แต่ในขณะเดียวกันก็ไม่ต้องการให้เกิดโรงงานอุตสาหกรรมในพื้นที่ที่ส่งผลในด้านมลพิษ แต่ที่ผ่านมาการพัฒนาพื้นที่พิเศษสำหรับพัฒนาด้านเศรษฐกิจโดยส่วนใหญ่การจัดสรรที่ดินให้เอกชนเช่ามักเป็นที่ดินสำหรับการทำโรงงานขนาดใหญ่ ซึ่งหากไม่ใช่พื้นที่สำหรับการเป็นโรงงานอุตสาหกรรมขนาดของที่ดินแปลงใหญ่ก็อาจจะไม่จำเป็นมากนัก การใช้โมเดลการจัดสรรที่ดินให้กับเอกชนในรูปแบบเดียวกันหมด จึงอาจไม่ตอบสนองต่อความต้องการที่แท้จริงของประชาชน

ราคาที่ดินริมแม่โขงที่อำเภอดอนตาล จังหวัดมุกดาหารมีราคาสูงขึ้น หลังจากมีนโยบายจะพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ (ภาพโดย : ปิ่นวดี ศรีสุพรรณ)

เมื่อมองพื้นที่อย่างอำเภอดอนตาลซึ่งเป็นอำเภอขนาดเล็กริมโขง นโยบายดังกล่าวมีส่วนส่งผลให้ราคาที่ดินสูงขึ้นเช่นเดียวกับพื้นที่อื่น แต่ก็คงไม่ใช่ผลจากนโยบายนี้ทั้งหมด ที่ดินที่มีราคาแพงมักเป็นพื้นที่ริมโขงซึ่งมีศักยภาพในเชิงการท่องเที่ยว ในขณะที่มีความพยายามในการหาพื้นที่ขนาดใหญ่ แต่พบว่าอำเภอดอนตาลกลับไม่มีพื้นที่ที่ตอบโจทย์ของเอกชน เพราะที่ดินส่วนใหญ่เป็นของเกษตรกรรายย่อยและมีขนาดเล็ก การกว้านซื้อที่ดินรวมกันจึงมีความยากลำบาก นอกจากนี้ พบว่าประชาชนในหลายพื้นที่ยังประสบปัญหาที่ดินทำกิน ทั้งไม่มีที่ดินทำกินและที่ดินไม่มีเอกสารสิทธิ์

เมื่อเกิดนโยบายเขตเศรษฐกิจพิเศษ ชาวบ้านที่ไม่มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินทำกินมีความกังวลในเรื่องของ “การพรากสิทธิ์” จากที่ดินทำกินที่มีทำกินเดิม ดังนั้น ข้อเสนอของท้องถิ่นก็คืออยากให้รัฐมีการสำรวจพื้นที่ที่ดินทำกินของชาวบ้าน เพื่อให้ชาวบ้านมีเอกสารสิทธิ์ที่มั่นคงและขอบเขตที่ดินสาธารณะที่ชัดเจน จะได้มีการป้องกันไม่ให้มีการบุกรุกพื้นที่ใหม่เพิ่มเติมไปจากเดิม นอกจากนี้ คนในท้องถิ่นเห็นว่า ไม่ควรที่จะเข้ามารุกรานการถือครองที่ดิน และผู้ที่เข้ามาลงทุนไม่ควรที่จะมีอำนาจเหนือกฎหมายที่จะพรากหรือแย่งชิงที่ดินของชาวบ้านไป

ในส่วนของข้อเสนอเรื่องการใช้ประโยชน์ที่ดิน คนในท้องถิ่นเห็นว่า การบริหารจัดการที่ดินเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษสามารถพัฒนาจากศักยภาพของพื้นที่ คน ทรัพยากร ของท้องถิ่นได้

ดังนั้น เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษควรคำนึงถึงต้นทุนที่มีอยู่ของท้องถิ่น โดยในการพัฒนาด้านอาชีพนั้น พื้นที่ดอนตาลส่วนใหญ่เป็นพื้นที่เกษตรกรรม มีทั้งการทำนา ปลูกพริก ปลูกมันสำปะหลัง อ้อย รวมถึงปลูกพืชริมโขงเช่น กล้วย โดยในอดีตหลายครอบครัวเคยปลูกมะขามกันมาก แต่ก็เลิกไป คนในท้องถิ่นจึงอยากให้เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษเชื่อมโยงกับกิจกรรมที่ชาวบ้านทำแล้วประสบผลสำเร็จ โดยเห็นว่ารัฐควรเข้ามาส่งเสริมหรือเชื่อมโยงกับเกษตรกรให้ก้าวหน้ายิ่งขึ้น

นอกจากนี้ การข้ามแดนถือเป็นเงื่อนไขหนึ่งในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจท้องถิ่น เนื่องจากฐานรากเศรษฐกิจของดอนตาลนั้นไม่ได้มาจากการเชื่อมโยงกับเมืองใหญ่ภายในประเทศ แต่ฐานรากเศรษฐกิจท้องถิ่นมาจากการเชื่อมโยงกับเมืองที่ตั้งอยู่ในสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว กล่าวคืออำเภอดอนตาลเป็นอำเภอชายแดนตรงกันข้ามเมืองไซพูทอง แขวงสะหวันนะเขต สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ตลาดนัดชายแดนและการเปิดจุดผ่อนปรนการค้าชายแดนจึงแนวทางเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจอีกทางหนึ่ง แต่ทว่าในช่วงดำเนินนโยบายเขตเศรษฐกิจพิเศษ การปิดจุดผ่อนปรนฯ หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า “ด่านประเพณี” คนท้องถิ่นมองว่าเป็นแนวทางที่สวนทางกับนโยบายดังกล่าว

“พิเศษที่ไม่พิเศษ” ชาวบ้านคนหนึ่งกล่าวในเชิงตั้งคำถามว่าชาวบ้านจะได้อะไรที่พิเศษกว่าเดิม

แม้ว่าในปัจจุบันนโยบายดังกล่าวจะไม่ดึงดูดนักลงทุนให้เข้าไปลงทุนในพื้นที่อำเภอดอนตาล แต่สำหรับอำเภอดอนตาล ชาวดอนตาลต่างเห็นพ้องกันอย่างชัดเจนว่าตัวอย่างการมีโรงงานอุตสาหกรรมในพื้นที่ใกล้เคียงไม่เป็นผลดีต่อสุขภาพของประชาชนและการมีอาชีพที่ดีขึ้นก็ไม่ได้หมายความว่าต้องมีโรงงานอุตสาหกรรม โดยรัฐไม่ควรสร้างมายาคติให้กับประชาชนว่าการเป็นเมืองเขตเศรษฐกิจพิเศษแล้วจะเป็นการการันตีว่าคุณภาพชีวิตของประชาชนทุกคนจะดีขึ้น

รูปแบบการพัฒนาเศรษฐกิจที่คนในอำเภอดอนตาลต้องการไม่ใช่โรงงานอุตสาหกรรมที่อาจสร้างมลพิษต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อม แต่คือ ธุรกิจท่องเที่ยวที่คนในชุมชนมีส่วนร่วมในการพัฒนา (ภาพโดย : ปิ่นวดี ศรีสุพรรณ)

ดอนตาลไม่ใช่อำเภอขนาดใหญ่และไม่ใช่เส้นทางผ่านด้านโลจิสติกต์ แต่ดอนตาลสามารถที่จะพัฒนาพื้นที่เชิงท่องเที่ยวได้หลายแห่งโดยเฉพาะการพัฒนาพื้นที่ริมโขงและการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวในชุมชนโดยการออกแบบเส้นทางการท่องเที่ยวและร้อยเรื่องราวให้เห็นภาพความเป็นดอนตาลที่ชัดเจน รวมถึงการปรับปรุงพื้นที่ท่องเที่ยวบางแห่งที่สร้างขึ้นแล้วอาจจะไม่สัมพันธ์กับความเป็นดอนตาล ซึ่งเจ้าหน้าที่รัฐผู้รับผิดชอบต้องเข้าใจความเป็นชุมชนท้องถิ่นและสร้างการมีส่วนร่วมจากประชาชน สิ่งที่น่าสนใจคือนโยบายการพัฒนาสู่เมืองสีเขียว (Green City) ของผู้นำท้องถิ่น ซึ่งเป็นนโยบายที่ควรสนับสนุนและผลักดันให้เกิดอย่างเป็นรูปธรรมเนื่องจากพื้นที่ยังไม่ถูกผลกระทบจากโรงงานอุตสาหกรรม ซึ่งอาจจะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการใช้กระแสเชิงนโยบายในการดูแลพื้นที่อย่างยั่งยืน

แหล่งข้อมูลอ้างอิง

  • สุรสม กฤษณะจูฑะ ปิ่นวดี ศรีสุพรรณ. (2561). การสร้างธรรมาภิบาลการบริหารจัดการที่ดินชายแดนแบบมีส่วนร่วม: กรณีศึกษาเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษมุกดาหาร. อุบลราชธานี: สำนักงานกองทุนสนับสนุนงานวิจัย.

 

 

image_pdfimage_print