ต้นฉบับภาษาอังกฤษเผยแพร่ครั้งแรกที่ Open Democracy

โดย อภิญญา จตุปริสากุล

ฉันจำได้อย่างชัดเจน ช่วงหน้าหนาวปี 2008 ฉันนั่งขัดสมาธิอยู่บนเตียงนอนของตัวเอง พลางดูช่องรายการต่างๆ บนจอทีวี พยายามเบี่ยงเบนความสนใจของตัวเองให้ออกห่างจากความเหงาที่มาพร้อมกับการเป็นวัยรุ่นอายุ 16 ปี ผู้พลัดพรากจากบ้านและครอบครัวที่ห่างไกลออกไปหลายพันกิโลเมตร

ฉันจำความรู้สึกเมื่อตอนดวงตาของฉันสบสายตากับคู่ดวงตาของผู้หญิงคนนั้นบนหน้าจอ ผู้หญิงคนนั้นจ้องมองกลับมาที่ฉัน เธอเหมือนกับแม่ของฉัน เธอเหมือนกับผู้หญิงที่ฉันเติบโตมาด้วยที่อีสาน ซึ่งเป็นภูมิภาคที่ยากจนที่สุดในประเทศไทย เรื่องราวของเธอเป็นเรื่องเดียวกันกับของแม่ฉัน แล้วก็เพื่อนๆ ของแม่ ผู้หญิงคนนี้เดินทางมาที่เดนมาร์กเพื่อแต่งงานกับผู้ชายผิวขาว

ฉันรู้สึกเจ็บที่ท้อง อาการเจ็บที่มักจะแผ่ขยายจากท้องไปจนทั่วทั้งร่างกาย มักจะเกิดขึ้นเมื่อตอนที่คุณรู้ว่าเรื่องไม่ดีกำลังจะเกิดขึ้น ฉันคิดว่าไม่มีเหตุผลอันใดเลยที่จะต้องดูสารคดีเรื่องนี้ต่อไป เพราะฉันรู้ว่าท้ายที่สุดแล้ว เรื่องราวของมันจะลงเอยอย่างไรนั่นเอง

ผู้หญิงคนนั้นก็คงจะถูกนำเสนอว่าเป็นคนที่ว่านอนสอนง่าย ไม่มีอำนาจ แล้วก็ไม่รู้เรื่องอะไร เป็นแค่คนที่มาจากประเทศยากจนแห่งหนึ่ง ไม่มีทางเลือกเลยต้องแต่งงานกับผู้ชายผิวขาวหน้าโง่คนหนึ่ง แล้วผู้ชายคนนี้ก็ต้องการภรรยาไทยที่ยังอายุน้อย ทำหน้าที่คอยรับใช้เขา เป็นสาวใช้ที่อาศัยอยู่ใต้ชายคาเดียวกัน ฉันเคยเห็นเคยฟังเรื่องราวแบบนี้ในสื่อต่างๆ มาหลายครั้งนับไม่ถ้วน ตั้งแต่เดินทางมาที่เดนมาร์กเมื่อตอนอายุ 5 ขวบ ไม่เคยมีสักครั้งเลยที่ภาพของผู้หญิงกับผู้ชายเหล่านี้จะได้รับการนำเสนอด้วยเกียรติ ศักดิ์ศรี ด้วยความสนใจใคร่รู้และด้วยความเคารพ ไม่เคยเลยแม้แต่สักครั้งเดียวที่จะมีการนำเสนอภาพที่ใกล้เคียงกับความสัมพันธ์ภายในครอบครัวของฉันหรือเรื่องราวการอพยพย้ายถิ่นมาอยู่ต่างแดนของแม่

แม่ของฉันเดินทางมาประเทศเดนมาร์กในฐานะผู้อพยพย้ายถิ่นผ่านการสมรส แม่ขอวีซ่าท่องเที่ยวที่ประเทศไทย แม่มาประเทศเดนมาร์ก แล้วก็ลงโฆษณาในหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นพาดหัวว่า “หญิงไทยที่กำลังมองหา” ผู้ชายคนที่กลายมาเป็นพ่อเลี้ยงของฉันเขียนตอบโฆษณาที่ว่า

แม่ของผู้เขียนบทความนี้ที่ไปอยู่อาศัยที่ประเทศเดนมาร์กผ่านการแต่งงาน

ทั้งสองคนแต่งงานกัน ไม่นานหลังจากนั้นฉันก็ได้เดินทางมาเดนมาร์ก มาอยู่กับพวกเขาทั้งสองคน ความรักของทั้งสองเติบโตตามช่วงเวลาที่ผ่านไป เป็นรูปแบบของความรักที่ตลอดช่วงเวลาหลายปีตั้งแต่ฉันมาอยู่ที่เดนมาร์ก สิ่งที่ฉันเห็นก็คือ มันมักจะถูกตีความว่าเป็นรูปแบบความรักที่ผิดเพี้ยน ผู้คนมักจะพากันดูถูกแม่หรือพากันสงสารเธอ พวกเขาประณามพ่อเลี้ยงของฉัน แล้วพวกเขาก็พากันรู้สึกเห็นอกเห็นใจฉันอย่างผิดที่ผิดทาง

การใช้ชีวิตอยู่ในโลกตะวันตกในฐานะเด็กที่อพยพย้ายมาอยู่กับครอบครัวจะมีลักษณะของการแบ่งแยกเป็นสองขั้วอยู่ในนั้น เพราะเรา ซึ่งเป็นเด็กที่ย้ายตามพ่อหรือแม่มาอยู่ที่นี่ ก็จะต้องเติบโตขึ้นในที่สุด เราเป็นเด็กที่ย้ายมาอยู่รวมกันเป็นครอบครัวกับแม่ของเราในช่วงทศวรรษ 1990 และ 2000 ตอนนี้เราเติบโตเป็นผู้ใหญ่ ใช้ชีวิตของตัวเองในเดนมาร์ก ไกลโพ้นจากบ้านเกิด อันเป็นหนแห่งที่เราต่างรู้สึกห่างไกลมากขึ้นอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน

ฉันรู้ตัวดีว่าฉันในหลายๆ ด้านเอง ก็โชคดีมาก ฉันได้รับโอกาสแทบจะทุกอย่าง มีโอกาสที่จะก่อร่างสร้างชีวิตของตัวเอง เพราะแม่ของฉันตัดสินใจเดินทางมาเดนมาร์กเพื่อมาหาสามีที่นี่ ฉันรู้สึกขอบคุณแม่สำหรับทุกสิ่งอย่างที่แม่ได้เสียสละให้กับฉัน

แต่การเป็น “คนนั้น” คนที่ต้องย้ายออกมาจากความยากจนเพื่อที่จะมีโอกาสลืมตาอ้าปากในประเทศที่เจริญแล้ว ก็มีค่าราคาที่ต้องจ่ายเช่นกัน

[pullquote]สำหรับผู้หญิงอีสาน การอพยพย้ายถิ่นฐานและความเป็นแม่มีความเกี่ยวโยงพันกันอย่างแยกไม่ขาด [/pullquote]

ผู้อพยพที่ “โชคดี”

ฉันคิดถึงประเทศไทยและตากับยายทุกวัน บางวันความโหยหาที่ว่าก็แสดงออกมาทางกายภาพ ฉันรู้สึกแน่นที่อก เหมือนกับว่าฉันอยู่ในน้ำ ค่อยๆ จมลงไปในนั้น ฉันคิดถึงตายายแม้กระทั่งตอนที่ฉันไปเยี่ยมพวกเขาที่หมู่บ้าน เพราะภาษาแม่ที่ฉันเคยพูดได้เลือนหายไปหลังจากย้ายไปอยู่ต่างประเทศหลายปี ฉันต้องคอยนึกหาคำบางคำหรือประโยคบางประโยค เหมือนกับว่าคำหรือประโยคเหล่านี้ถูกเก็บไว้บนชั้นบนสุดของชั้นวางของในซุปเปอร์มาร์เก็ต ความรู้สึกเจ็บใจที่ของสิ่งนั้นอยู่ใกล้นิดเดียวแต่ก็เอื้อมไม่ถึง

ฉันไม่รู้ว่าจะต้องจัดการกับความคิดถึงนั้นอย่างไร แม่ยอมแลกชีวิตและครอบครัวของตนเองเพื่อให้ฉันมีอนาคตที่ดีขึ้น และแม่ก็ไม่เข้าใจอย่างเต็มเปี่ยมว่าทำไมฉันถึงคิดถึงชีวิตความเป็นอยู่ที่แม่ทิ้งไว้เบื้องหลัง ในฐานะที่เป็นลูกของคนที่อพยพย้ายมาอยู่ต่างแดน คุณอยู่ระหว่างพรมแดน ติดอยู่ระหว่างความกตัญญูและความโหยหา อยู่ระหว่างความคาดหวังของครอบครัวตัวเองที่ต้องการให้คุณช่วยเหลือพวกเขากับความฝันและความหวังของตัวคุณเองที่หล่อหลอมขึ้นมาในแบบตะวันตก ผู้หญิงรุ่นเดียวกันกับแม่มีเป้าหมายเพียงหนึ่งเดียว นั่นคือการอพยพย้ายไปอยู่ที่อื่นแล้วก็สร้างชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นกว่าเดิมให้ลูกๆ ของเธอ แล้วคุณจะอธิบายให้พวกเขาเข้าใจได้อย่างไรว่าคุณ ที่อยู่ในวัยหนุ่มสาวกำลังก้าวเป็นผู้ใหญ่เติบโตในยุโรป ก็มีความหวังและความฝันที่แตกต่างออกไป โดยไม่ทำให้พวกเธอรู้สึกว่าเราเอาแต่ใจแล้วก็งี่เง่า ไม่สนใจในสิ่งที่พวกเธอเพียรพยายามทำมาให้เรา คุณจะอธิบายยังไงดีล่ะ

เพื่อนฝูงชาวตะวันตกของฉันต่างไม่เข้าใจว่า การที่มีคนเลือกทางเดินในชีวิตพร้อมกับผลลัพธ์ที่ตามมาให้กับเรานั้นเป็นเรื่องที่ยากลำบากแค่ไหน เหตุผลเพราะแม่หวังดี รักและเสียสละ ต้องการที่จะมอบโอกาสที่ดีกว่าให้กับลูกๆ แทนที่จะมอบให้กับตัวเอง แต่ทว่า ตัวคุณเองก็ยังห้อมล้อมไปด้วยความโหยหาอยากกลับบ้านเกิดอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน

สำหรับผู้หญิงอีสาน การอพยพย้ายถิ่นฐานและความเป็นแม่มีความเกี่ยวโยงพันกันอย่างแยกไม่ขาด ฉันหยุดคิดไม่ได้ถึงความน่าเศร้าใจที่เราต่างต้องเผชิญร่วมกันเพื่อไขว่คว้าหาชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นกว่าเดิม แทบจะเป็นไปไม่ได้เลยที่บรรดาแม่ๆ จะอยู่เลี้ยงดูลูกๆ ของตัวเอง เพราะพวกเธอต้องออกไปหางานทำ แม่ของฉันทำงานที่โรงงานนอกกรุงเทพอยู่หลายแห่งก่อนที่จะเดินทางไปเดนมาร์ก ตากับยาายก็เลยเป็นคนที่ต้องดูแลฉันตั้งแต่แบเบาะ นานหลายปีอยู่เหมือนกันที่ฉันคิดว่าตากับยายเป็นพ่อแม่ของฉัน เพราะฉันเจอแม่ของตัวเองน้อยครั้งมาก ตอนที่แม่มาหาฉันหลังจากที่แต่งงานกับผู้ชายชาวเดนมาร์ก ฉันแทบจะจำแม่ไม่ได้ ฉันตะโกนร้องไห้หาตากับยายตอนที่แม่ลากพาฉันขึ้นเครื่องที่สนามบินดอนเมือง ซึ่งเคยเป็นสนามบินนานาชาติหลักของกรุงเทพ ตอนนั้นฉันไม่เข้าใจว่าผู้หญิงคนนี้เป็นแม่ของฉัน

ถ้าแม่ไม่ได้ย้ายไปอยู่ที่อื่นนอกประเทศไทย ฉันก็คงจะยังอยู่ที่อีสานจนถึงทุกวันนี้ ฉันอาจจะมีลูกสองหรือสามคน แล้วก็ทำไร่ทำนาบนที่ดินของครอบครัว อาจจะทำงานที่โรงงานสักแห่ง หรือทำงานงานค่าแรงถูกๆ สักที่ บางทีฉันอาจจะต้องย้ายไปอยู่กรุงเทพ ไปทำงานเป็นแรงงานไร้ฝีมือที่โรงงานสักแห่ง ทิ้งลูกๆ ให้ตายายดูแลในช่วงหลายเดือนที่ว่างเว้นจากการทำไร่ทำนา บางทีฉันอาจจะต้องไปทำงานในอุตสาหกรรมค้าบริการทางเพศที่พัทยา แล้วก็ส่งเงินกลับบ้านไปให้ลูกๆ กับแม่ของตัวเอง เพราะงานบริการทางเพศคงจะเป็นสายงานที่ทำให้มีรายได้มากที่สุด ในฐานะที่เป็นแรงงานไร้ฝีมือผู้หญิงคนหนึ่งยังไงล่ะ

ภายใต้สายตาของสาธารณชน

เมื่อตอนที่ยังเป็นเด็ก ฉันรู้สึกอับอายกับวิธีการที่เราพากันมาอยู่ที่เดนมาร์กได้อย่างไร ในภูมิภาคที่เราอาศัยอยู่ที่เดนมาร์กที่ฉันเติบโตขึ้นมานั้น ฉันได้ยินคนเรียกแม่ว่าเป็น “เมียสั่งทางไปรษณีย์” ฉันเป็นลูกของเมียสั่งทางไปรษณีย์คนหนึ่ง ฉันเริ่มมองตัวเองจากภายนอก เหมือนคนแปลกหน้าทั่วไปคนหนึ่งจะมอง ด้วยความสงสารและความรู้สึกสะอิดสะเอียน ตอนที่ฉันยังเป็นวัยรุ่นอยู่นั้น แม่ขอให้ฉันช่วยจัดการเรื่องเว็บไซต์หาคู่ออนไลน์ให้กับน้าผู้หญิงคนไทยคนหนึ่ง เพื่อที่เธอจะมีโอกาสได้แต่งงานมีสามีคนเดนมาร์กบ้างเหมือนกัน ฉันถามแม่กลับไปว่าแม่จะไม่เคารพตัวเองบ้างเลยหรืออย่างไร แต่แม่ถามกลับมาว่า ทำไมฉันถึงไม่อยากช่วยให้น้ามีชีวิตที่ดีขึ้นที่นี่ล่ะ นั่นเป็นคำตอบของแม่

หากคุณเติบโตขึ้นในฐานะที่เป็นลูกของผู้หญิงที่อพยพย้ายถิ่นผ่านการสมรสที่มาจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ไม่นานนักคุณก็จะพบว่ามันมีลำดับชั้นภายในการอพยพย้ายถิ่น และลำดับชั้นระหว่างคนกันเอง การอพยพย้ายไปทำงานถูกมองว่ามีความสง่างามมากกว่าการแต่งงาน การกล่าวโทษและการประณามมาจากชนกลุ่มน้อยอื่นๆ รวมถึงคนเอเชียคนอื่นๆ ฉันเคยเห็นผู้หญิงหลายคน คนที่ควรจะเป็นพันธมิตร ผู้หญิงคนที่รู้ว่าการต้องเผชิญกับอคติทางเชื้อชาติและอคติทางเพศเป็นอย่างไร แต่พวกเธอกลับอวดอ้างว่าตนเองนั้นไม่ได้อพยพโยกย้ายมาอยู่ที่นี่ด้วยวิธีนั้น พวกเธอแต่งงานกับชาวตะวันตกด้วยความรักที่บริสุทธิ์ “แท้จริง” และไม่ใช่เพราะพวกเธอเห็นการแต่งงานเป็นเครื่องมือที่ทำให้ได้อพยพย้ายมาอยู่ต่างประเทศ ฉันเคยได้ยินผู้หญิงไทยคนอื่นๆ ที่มักจะเน้นย้ำอยู่เสมอว่าตนเองนั้นไม่ได้เป็นผู้หญิง “พรรค์นั้น” ที่มาจากอีสาน และแน่นอนว่าพวกเธอไม่ได้ทำงานที่บาร์อะโกโก้ที่พัทยา อย่างกับว่าการทำงานที่นี่เป็นเรื่องไม่ดี

[pullquote]แม่ช่วยเหลือครอบครัวของเราให้หลุดพ้นจากความยากจนด้วยเงินที่เธอส่งกลับบ้านไปหมู่บ้าน แต่แม่กลับถามว่าฉันรู้สึกอายไหมที่แม่ทำงานแบบนี้[/pullquote]

ทำไมผู้หญิงที่เปลี่ยนแปลงชีวิตของตนเองด้วยการขายบริการทางเพศหรือด้วยการแต่งงานถึงถูกดูหมิ่นเหยียดหยามขนาดนี้ ทำไมผู้คนมากมาย รวมทั้งคนที่อพยพย้ายมาอยู่ต่างถิ่นเอง ถึงมองว่านั่นเป็นวิธีที่ต่ำที่สุด ทำไมเราถึงดูถูกผู้หญิงคนที่แค่คว้าเอาโอกาสที่ตนเองมี วิธีการอพยพย้ายไปอยู่ที่อื่นไม่มีคำว่าถูกหรือผิด พวกเธอก็แค่พยายามสร้างชีวิตความเป็นอยู่ให้ดีขึ้นให้กับตัวเธอเองแล้วก็ลูกๆ ตามโอกาสที่ได้รับการหยิบยื่นก็เท่านั้นเอง

การย้ายไปอยู่ที่อื่นเพื่อแต่งงาน ไม่ว่าจะในกรณีใดก็ตาม ก็เป็นการย้ายเพื่อไปทำงาน นอกเหนือจากงานเต็มเวลาที่จะต้องคอยดูแลความเป็นอยู่ภายในบ้านแล้ว ผู้หญิงไทยที่เดนมาร์กต่างต้องออกแรงทำงานหนักในภาคส่วนบริการหรือทำงานเป็นแม่บ้านทำความสะอาดเพื่อส่งเงินกลับบ้านไปให้ครอบครัวตนเอง แม่ของฉันทำงานเป็นพนักงานทำความสะอาดที่สนามบินโคเปนเฮเกน ฉันมักจะคิดถึงแม่เสมอทุกครั้งที่ฉันตื่นนอนขึ้นมาตอนกลางดึก แล้วก็หลับตานอนลงอีกไม่ได้ ในหัวของฉันมัวแต่คิดถึงแม่ ว่าแม่เหงาหรือเปล่าถ้าต้องทำงานกะกลางคืน หรือร่างกายของแม่จะยังรับมือกับปริมาณงานได้อยู่เปล่า แต่ส่วนใหญ่แล้ว ฉันนึกถึงความรู้สึกเศร้าน่าสลดใจตอนที่แม่มาหามาเยี่ยมฉันที่อพาร์ตเมนต์ แม่มักจะหวาดระแวงคอยถามฉันอยู่เสมอว่าฉันรู้สึกอายไหม อับอายที่คนอื่นเห็นว่าอยู่กับแม่หรือเปล่า เพราะแม่ใส่ชุดยูนิฟอร์มที่ตะโกนก้องบอกโลกว่าแม่เป็นพนักงานทำงานสะอาด แม่ช่วยเหลือครอบครัวของเราให้หลุดพ้นจากความยากจนด้วยเงินที่เธอส่งกลับบ้านไปหมู่บ้านของเรา แม่เป็นผู้หญิงที่แกร่งที่สุดที่ฉันรู้จักอีกคนหนี่ง แต่แม่กลับถามว่าฉันรู้สึกอายไหมที่แม่ทำงานแบบนี้

คอยดูแลครอบครัว จากรุ่นสู่รุ่น

บรรดาผู้หญิงรุ่นเดียวกันกับแม่ของฉันที่ต่างเป็นผู้อพยพย้ายถิ่นผ่านการแต่งงาน ตอนนี้พวกเธออยู่ในช่วงอายุราว 50-60 ปี ผลลัพธ์จากการทำงานอย่างหนักหน่วงกำลังปรากฎแก่ร่างกายของพวกเธอ ฉันไม่รู้เหมือนกันว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับความมั่งคั่งที่แม่ได้เพียรสร้างไว้ที่ประเทศไทยตอนที่แม่ทำงานต่อไปไม่ได้แล้ว ฉันไม่รู้ว่าต่อไปมันจะตกเป็นหน้าที่ของฉันหรือเปล่าที่จะต้องรับช่วงต่อในการคอยให้ความช่วยเหลือทั้งครอบครัวในประเทศไทย ฉันไม่รู้ว่าในท้ายที่สุดแล้วภาระหน้าที่ความรับผิดชอบนั้นจะตกไปเป็นของลูกสาวของฉันหรือเปล่า

ฉันเองก็ได้กลายเป็นแม่คนแล้วเช่นกัน ฉันคลอดลูกสาวเมื่อเดือนที่ผ่านมา ลูกสาวของฉันจะเติบโตร้อมกับมีพ่อและแม่อยู่เคียงข้าง พ่อแม่ของเธอไม่จำเป็นต้องเดินทางไปไกลเพื่อไปหาเงินมาเลี้ยงดูเธอ

ฉันเข้าใจแม่ในอีกด้านหนึ่งแล้วตอนนี้ แม่ของฉันย้ายมาอยู่ที่นี่เพื่อที่ฉันจะได้ไม่ต้องย้ายไปไหน แม่ของฉันทิ้งให้ฉันอยู่กับพ่อแม่ของตนเองเพื่อที่ฉันจะได้ไม่ต้องทิ้งลูกสาวไว้ให้พ่อแม่ของฉันช่วยเลี้ยงดู ลูกสาวของฉันเป็นเด็กทารกแบเบาะ พ่อของลูกและตัวฉันเองก็ยังอยู่ในวัยหนุ่มสาว ตอนนี้เราได้รับดูแลปกป้องด้วยวัยที่ยังอ่อนเยาว์ของเรา แต่การปกป้องที่ว่าก็มีวันหมดอายุ ฉันสงสัยจังเลยว่าผู้คนจะมองลูกสาวของฉันกับพ่อของเธออย่างไร ตอนที่เธออายุ 15 ปี และเขาอายุ 45 ปี พวกเขาจะถามเธอไหมว่าเธอเป็นภรรยาของพ่อตนเองหรือเปล่า เหมือนใครคนหนึ่งเคยถามฉันกับพ่อเลี้ยงเมื่อตอนที่ฉันอายุแค่ 12 ปี จะมีคนเธอถามแบบนี้ไหม…

นอกเหนือจากลูกสาวของฉันเองแล้ว แม่เป็นคนเดียวที่เป็นญาติผูกพันกันทางสายเลือดของฉันในประเทศเดนมาร์ก และฉันก็กลัวว่าความโหยหาของแม่ที่ต้องการกลับไปอยู่ประเทศไทยนั้นจะถึงวันที่เต็มเปี่ยมจนล้น แล้วแม่ก็จะเดินทางกลับบ้านของเธอสักที คนที่ย้ายมาอยู่ในต่างประเทศมักพูดถึง “วันนั้น” วันที่พวกเขาจะกลับไปบ้านเกิดของตน แม่ของฉันพูดถึงเรื่องนี้มาตั้งแต่ตอนที่ฉันเดินทางมาถึงเดนมาร์ก ตั้งแต่อายุ 5 ขวบ ฉันได้ยินแม่พูดถึง “วันนั้น” และเธอเฝ้ารอคอยที่จะกลับบ้านมากแค่ไหนทันทีที่ฉันโตพอที่จะดูแลตัวเองได้ ฉันไม่รู้ว่าวันนั้นของแม่จะมาถึงหรือเปล่า แต่ฉันก็สงสัยว่า “วันนั้น” จะเกิดขึ้นกับฉันหรือไม่ บางครั้งหยดน้ำตาที่เกิดจากความโหยหาอยากกลับบ้านทำให้ฉันเจ็บปวดรวดร้าว แต่ลึกลงในหัวใจอันแท้จริงของฉัน ฉันรู้ว่าฉันไม่มีวันรู้สึกเติมเต็มอย่างสมบูรณ์ที่บ้านที่ประเทศไทย

ฉันเขียนบทความนี้เพื่อแสดงความคิดเห็นต่อภาพยนตร์สารคดีเรื่อง “Heartbound” โดย Sine Plambech และ Janus Metz ซึ่งเป็นภาพยนตร์สารคดีที่เจาะลึกเรื่องการแต่งงานระหว่างผู้หญิงไทยกับชายชาวเดนมาร์ก และการอพยพย้ายถิ่นฐานของผู้หญิงไทยผ่านการแต่งงาน ภาพยนตร์เรื่องนี้แสดงให้เห็นถึงการอพยพย้ายถิ่นที่อยู่ผ่านการแต่งงาน เพศสัมพันธ์และการทำงาน โดยนำเสนอในอีกด้านที่แตกต่างออกไป แตกต่างจากที่เรามักจะเห็นในสื่อสัญชาติตะวันตก ซึ่งส่วนใหญ่มักจะนำเสนอเชิงลึกในแง่ลบ การย้ายถิ่นที่อยู่ในรูปแบบนี้ยังถูกใส่ร้ายป้ายสีโดยคนชาวไทยอภิสิทธิ์ชนคนที่ไม่เคยต้องเผชิญกับทางเลือกอันจำกัดจำเขี่ยเฉกเช่นที่แม่ของฉันและผู้หญิงอีกหลายคนในภาพยนตร์สารคดีเรื่องนี้ ภาพความเป็นมาและลักษณะความสัมพันธ์ภายในครอบครัวของฉันได้รับการนำเสนอใน Heartbound ในแบบที่มีความหลากหลายและมีความเป็นมนุษย์มนา ปราศจากแบบแผนและอคติที่มักแฝงอยู่ทุกครั้งที่มีการเอ่ยถึงการย้ายถิ่นฐานผ่านการแต่งงาน

 

image_pdfimage_print