โดย กนกวรรณ มะโนรมย์

คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กำหนดให้มียุทธศาสตร์สินค้าเกษตรเป็นรายพืชเศรษฐกิจ 4 สินค้า เพื่อทดแทนการปลูกข้าว ได้แก่ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปาล์มน้ำตาล มันสำปะหลังและอ้อย โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อ “การขับเคลื่อนสินค้าเกษตร อาหารและพลังงานทดแทนจากสินค้าเกษตร และ เพื่อเกิดความสมดุล เข้มแข็ง และมั่นคง รวมทั้งมีขีดความสามารถในการแข่งขันที่ยั่งยืน อันก่อให้เกิดประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศได้ในภาพรวม” (คำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 116/ 2557)

ยุทธศาสตร์ดังกล่าวนำมาซึ่งการขยายตัวของรวดเร็วของพื้นที่การปลูกอ้อยหลายแสนไร่ทั้งประเทศ รัฐกำหนด “ยุทธศาสตร์อ้อยและน้ำตาล 10 ปี (พ.ศ. 2558-2569)” (กระทรวงอุตสาหกรรม, 2559) ส่งผลให้เกิดการเพิ่มพื้นที่การผลิตจากเดิม 10.5 ล้านไร่ เป็น 16 ล้านไร่ จะทำให้สามารถเพิ่มปริมาณน้ำตาลจาก 105.96 ล้านตันอ้อย เป็น 180 ล้านตันอ้อย ภายในปี 2569  และการผุดขึ้นโรงงานน้ำตาลทั่วประเทศรวม 36 แห่ง (ดลวรรฒ สุนสุข, 2561)

ตามยุทธศาสตร์สินค้าเกษตรเป็นรายพืชเศรษฐกิจ 4 สินค้า เพื่อทดแทนการปลูกข้าวดังกล่าว จังหวัดศรีสะเกษจะมีโรงงานน้ำตาลของบริษัท เอเคเอ็น แอสโซซิเอท ที่จะก่อสร้างในอ.ไพรบึง, อ.ขุนหาญและอ.กันทรารมย์ ภายใต้กลุ่มเนตรจรัสแสง (อุตสาหกรรมน้ำตาลอีสาน)

“ชาวบ้านคัดค้านก่อสร้างโรงงานน้ำตาลในอำเภอขุนหาญ จังหวัดศรีสะเกษ ที่กำลังจะก่อสร้างในชุมชน เนื่องจากเกรงว่าจะได้รับผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม และอ้างการดำเนินโครงการไม่โปร่งใส เพราะคนในพื้นที่ไม่มีส่วนร่วม” (ไทพีบีเอส ศูนย์ข่าวภาคอีสาน, 2562) จากการมีโครงการโรงงานน้ำตาล  3 โครงการ ในเภอกันทรารมย์ โดย บริษัทบรรจงมอเตอร์สปอร์ต, โครงการอำเภอกันทรลักษณ์ โดย บริษัทอุตสาหกรรมโคราช และที่อำเภอไพรบึง โดย บริษัทเอเคเอ็น แอสโซซิเอท (Thai PBS, 2561)

อ้างอิงเว็บเพจ ศรีสะเกษซิตี้ : Sisaket City, Thailand

จากเว็บของเครือข่ายคนรักปทุมรัตน์ พบว่าชาวบ้านในพื้นที่ไพรบึงได้รวมตัวคัดค้าน โดยระบุในเว็บไซต์ว่า  

“ความคืบหน้าอีกหนึ่งโครงการลงทุนขนาดใหญ่ในพื้นที่ จ.ศรีสะเกษ เม็ดเงินลงทุนกว่า 2,000 ล้านบาท กับโครงการ “โรงงานน้ำตาลและโรงไฟฟ้าชีวมวล” โดยบริษัท เอเคเอ็น แอสโซซิเอท จำกัด (AKN Associates Group) ซึ่งได้จัดเวทีประชาพิจารณ์แสดงความคิดเห็น ครั้งที่ 2 ของหน่วยงานภาครัฐ ประชาชนและผู้มีส่วนได้เสีย ในกระบวนการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) ขึ้นเมื่อ 24 พ.ค. 62 ที่ผ่านมา ณ ห้องประชุม สำนักงานเทศบาลตำบลสำโรงพลัน อ.ไพรบึง สำหรับที่ตั้งโครงการคือ บริเวณสี่แยกหัวช้าง อ.ไพรบึง บนพื้นที่กว่า 600 ไร่ ขนาดกำลังการผลิต 20,000 ตันอ้อย/วัน โครงการโรงงานน้ำตาลแห่งนี้เป็น 1 ใน 3 โครงการโรงงานน้ำตาลในพื้นที่ จ.ศรีสะเกษ ที่ได้รับอนุมัติจากกระทรวงอุตสาหกรรมแล้ว โดยอีก 2 โครงการจะตั้งอยู่ที่อ.กันทรลักษ์ และอ.กันทรารมย์”  (เว็บเพจ ศรีสะเกษซิตี้ : Sisaket City, Thailand, 2562)

ขณะเดียวกัน จังหวัดศรีสะเกษได้กำหนดตำแหน่งการพัฒนาว่า จะเป็นนครอินทรีย์โดยพยายามขับเคลื่อนงานตามแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาเกษตรอินทรีย์แห่งชาติ พ.ศ. 2562-2564 ที่มีวิสัยทัศน์ว่า

“ประเทศไทยเป็นผู้นำในระดับภูมิภาคด้านการผลิต การบริโภค และการค้าสินค้าและบริการเกษตรอินทรีย์ที่มีความยั่งยืนและเป็นที่ยอมรับในระดับสากล” โดยต้องการเพิ่มพื้นที่เกษตรอินทรีย์ให้ได้ 600,000 ไร่ทั่วประเทศ” (เอกสารของสำนักงานเกษตรจังหวัดศรีสะเกษ)

จังหวัดศรีสะเกษจึงมุ่งขับเคลื่อนงานเกษตรอินทรีย์ภายใต้สโลแกน “ศรีสะเกษ: เดินหน้าเกษตรอินทรีย์สู่ครัวโลก”

ข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้จากชุมชนบ้านมะยาง ตำบลหนองแค อำเภอราษีไศล จังหวัดศรีสะเกษ

เห็นได้จากการพยายามบูรณาการของทุกภาคส่วนและการส่งเสริมเกษตรกรผลิตข้าวอินทรีย์ในพื้นที่ทุ่งกุลาร้องให้ นับจากปี 2560 จนถึงปี 2562 พบว่า มีจำนวนเกษตรกรผู้ปลูกข้าวอินทรีย์ จำนวน 18,772  คน ครอบคลุมพื้นที่ 151,151 ไร่ (ได้รับการรับรองมาตราฐานเกษตรอินทรีย์จาก PGS จำนวน 46,586 ไร่ จาก มกท. จำนวน 79,785 ไร่ และจากสากล จำนวน 24,748 ไร) และมีเครือข่ายต่างๆ ตลอดจนกลุ่มวิสาหกิจเกษตรอินทรีย์หลายกลุ่ม จังหวัดมีเป้าหมายจะขับเคลื่อนเกษตรอินทรีย์ทุกประเภทให้ครบ 300,000ไร่ให้ได้ภายในปี 2564 จากพื้นที่การเกษตรทั้งหมด 3,150,989 ไร่ (สำนักงานเกษตรจังหวัดศรีสะเกษ, 2562)  
นอกจากนี้ เกษตรกรของจังหวัดยังได้ผลิตสินค้าที่มีข้อบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (Geographical Indication) ขึ้นชื่อคือ “ทุเรียนภูเขาไฟ” ที่มีการผลิตในพื้นที่เขตเทือกเขาพนมดงรัก ในอำเภอขุนหาญ และกันทรลักษณ์ เป็นหลัก ซึ่งเป็นแหล่งภูเขาไฟโบราณ ทำให้ดินมีคุณภาพสำหรับการปลูกไม้ผลต่างๆ ของจังหวัด และขณะที่ “ทุเรียนภูเขาไฟ” เป็นที่รู้จักกันทั้งประเทศและต่างประเทศ สร้างรายได้มหาศาลให้กับคนท้องถิ่น ตลอดจนยกระดับการพัฒนาในจังหวัดเป็นอย่างมาก

จังหวัดศรีสะเกษมีทุเรียนที่รสชาติอร่อย เป็นทุเรียนพันธ์ภูเขาไฟ ซึ่งนำต้นพันธ์ทุเรียนไปปลูกบนพื้นที่ภูเขาไฟในอดีต

ไม่เพียงโรงงานน้ำตาลที่กำลังจะผุดขึ้นมาในจังหวัดเท่านั้น โดยพบว่านักลงทุนได้รับสัมปทานจากรัฐให้มาทำโรงโม่หินในพื้นที่ที่ปลูกทุเรียนภูเขาไฟในอำเภอกันทรลักษณ์ การขุดหินจากภูขมิ้นได้ตัดขาดทางน้ำธรรมชาติที่เป็นน้ำซับ แหล่งน้ำที่ไหลจากภูขมิ้นลงลำห้วยขมิ้นอันเป็นลำน้ำสำคัญที่ชาวบ้านในพื้นที่ใช้อุปโภคบริโภคร่วมกันและยังเป็นแหล่งน้ำสำคัญสำหรับการปลูกทุเรียนอีกด้วย เข้าทำนอง “ความควายยังไม่หายความวัวเข้ามาแทรก” เพราะในพื้นที่ปลูกทุเรียนภูเขาไฟเอง ก็พบว่ามีความสัมพันธ์ทางอำนาจที่ไม่เท่ากันระหว่างเกษตรกร รัฐ และทุน ชายชาวสวนทุเรียนคนหนึ่งกล่าวว่า

“อยากให้จังหวัดเลือกว่าจะเอาอะไร ระหว่างจะส่งเสริมทุเรียนภูเขาไฟให้เป็นสินค้าจีไอที่เป็นสิ่งเดียวในโลก เป็นเอกลักษณ์ของศรีสะเกษ หรือ นายทุนโรงโม่”

     ภาพโรงโม่หินใกล้กับบ้านซำขี้เหล็ก อ.ขุญหาญ จ.ศรีสะเกษ

การส่งเสริมภาคเอกชนเพื่อทำโรงงานและอุตสาหกรรมของรัฐบาลปัจจุบัน ไม่ได้เน้นการศึกษาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสังคมที่รอบด้าน โดยเฉพาะการมีส่วนร่วมภาคประชาชนทุกๆ กลุ่ม ทั้งผู้สนับสนุนโครงการและผู้คัดค้านโครงการ เช่น กรณีโรงงานน้ำตาล รัฐต้องการขับเคลื่อนการผลิตอ้อยและการเกิดขึ้นของโรงงานน้ำตาลให้รวดเร็วเพื่อรองรับผลผลิตอ้อย ทำให้เกิดการคัดค้านโรงงานน้ำตาลในภาคอีสานและพื้นที่อื่นๆ จากหลายเหตุผล ได้แก่

  1. ขาดการมีส่วนร่วมของประชาชนในกระบวนการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสังคม

2. ข้อมูลที่ไม่ครบถ้วน ชัดเจนและสับสน ทำให้ชาวบ้านที่คาดว่าจะได้ผลกระทบขาดข้อมูลเกี่ยวกับโรงงานน้ำตาล โรงงานที่พ่วงเข้ามา ได้แก่ โรงไฟฟ้าชีวมวล

3. การจัดทำผังเมืองใหม่ที่เกิดขึ้นจะส่งผลกระทบอย่างไร เพราะต้องปรับแก้ไขผังเมืองรองรับ โดยกรณีโรงงานเหล่านั้นตั้งใกล้กับเมือง

4. การเข้ามาของโรงงานน้ำตาลและโรงโม่หิน นำมาสู่การแย่งชิงแหล่งทรัพยากรน้ำและแหล่งน้ำของชุมชนที่ใช้น้ำทำนา, ปลูกพืชฤดูแล้ง, แหล่งน้ำใช้ และเลี้ยงสัตว์  

5. ผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมต่อที่ดินและป่าไม้ในท้องถิ่น จะมีมาตรการการชดเชยและเยียวยาอย่างไร

6. ปัญหามลภาวะทางอากาศและฝุ่นละอองจะจัดการให้ยั่งยืนได้อย่างไร

7. ความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจของโรงงานน้ำตาลที่เกิดกับชุมชน เช่น การจ้างงาน การพัฒนาเศรษฐกิจท้องถิ่นเมื่อเปรียบเทียบกับความสูญเสียของเศรษฐกิจท้องถิ่นที่ดีและมีอยู่เดิมแล้วของชุมชน เช่น รายได้จากข้าวอินทรีย์ การผลิตพืชและสัตว์จากการใช้ที่ดิน และอื่นๆ หลังจากมีโรงงานน้ำตาลและโรงโม่หิน

อะไรควรจะเป็นทางออก

การสร้างพื้นที่สาธารณะเพื่อเปิดโอกาสให้กลุ่มคนที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบได้นำเสนอความเห็น, ข้อวิตกกังวล, ผลกระทบต่อวิถีชีวิตที่ต้องการผลิตอินทรีย์ และการเสนอทางออก เช่น ความต้องการมีชีวิตอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัย มีรายได้ดีและยั่งยืน และมีอาหารบริโภคที่ปลอดภัยจากมลภาวะและการสูญทรัพยากร นอกจากนี้ ทางจังหวัดควรต้องมีบทบาทในกำหนดนโยบายให้ชัดเจนว่า การกำหนดตำแหน่งแห่งที่ให้เมืองศรีสะเกษเป็นเมืองเกษตรอินทรีย์สู่ครัวโลก นั้นจะทำอย่างไรในทางนโยบายและปฏิบัติ

ไบรอัน (Bryant 1998: 79-94) นักวิชาการผู้มีชื่อเสียงด้านนิเวศวิทยาการเมือง (Political Ecology) ยกประเด็นเกี่ยวกับความเชื่อมโยงระหว่างสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจและการเมืองอย่างน่าสนใจว่า

“การเน้นนโยบายการพัฒนาด้วยการใช้ทรัพยากร ในฐานะปัจจัยการผลิต นำมาสู่หายนะต่อคนในสังคมและตัวทรัพยากรนั้น สะท้อนให้เห็นถึง การนำทรัพยากรมาจัดสรรและการกระจายมูลค่าและเพื่อผลประโยชน์ของทุนและรัฐ มากกว่าผลประโยชน์ของท้องถิ่น นำมาสู่การจัดสรรทรัพยากรที่ไม่เท่าเทียมและเพิ่มความไม่เป็นธรรม”

เมื่อกลับมามองกรณีโรงงาน้ำตาลและโรงโม่หินกับการทำเกษตรอินทรีย์ที่ศรีสะเกษ พบว่า การผูกขาดอำนาจในการจัดการทรัพยากรเพื่อสนับสนุนโรงงานน้ำตาลและโรงโม่หิน ส่งผลกระทบต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อม รวมทั้งละเมิดสิทธิของชุมชน ดังนั้น จึงควรเปิดโอกาสให้ประชาชนในพื้นที่มีส่วนร่วมในการออกแบบ “เมืองเกษตรอินทรีย์สู่ครัวโลก”

อ้างอิง

  • กรมทรัพย์สินทางปัญญา. ข้อบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ http://www.ipthailand.go.th/th/gi-001.html)  
  • ดลวรรฒ สุนสุข. 2561. (น้ำตา(ล)อ้อย’ หวานหรือขม? ภายใต้ปม ม.44

https://www.tcijthai.com/news/2018/6/scoop/8089 (เข้าใช้ข้อมูลวันที่12 มิถุนายน 2562)

  • ไทพีบีเอส ศูนย์ข่าวภาคอีสาน. 2562. ชาวบ้านศรีสะเกษคัดค้านการก่อสร้างโรงงานน้ำตาล
  • คำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 116/ 2557 เรื่อง แต่งตั้งคณะอนุกรรมการร่วมจัดทำยุทธศาสตร์สินค้าเกษตรเป็นรายพืชเศรษฐกิจ 4 สินค้า (Roadmap) คือข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มันสำปะหลัง ปาล์มน้ำมัน และอ้อย
  • ยุทธศาสตร์อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย ปี 2558-2569 (กระทรวงอุตสาหกรรม, 21/4/2559)
  • สำนักงานเกษตรจังหวัดศรีสะเกษ. 2562. การขับเคลื่อนเกษตรอินทรีย์จังหวัดศรีสะเกษ. เอกสารอัดสำเนา.
  • Bryan, R. 1998. “Power, knowledge and political ecology in the third world: a review”. Progress in Physical Geography 22 (1): 79-94.

หมายเหตุ

ข้อมูลจากบทความนี้ส่วนหนึ่งมาจากโครงการวิจัยเรื่อง “กระบวนการกลายเป็นเมืองกับความหลากหลายด้านเกษตรกรรม กรณี ศึกษาเมืองศรีสะเกษ” สนับสนุนโครงการวิจัยโดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) 2562

image_pdfimage_print