โดย ภาณุพงศ์  ธงศรี

ในช่วงบุญบั้งไฟที่ผ่านมา ผู้อ่านหลายท่านอาจได้เดินทางไปชมประเพณีประจำปีของชาวอีสานที่สืบทอดกันมาอย่างยาวนาน โดยปกติแล้วประเพณีบุญบั้งไฟจัดขึ้นสองวันด้วยกัน วันแรกเป็น “วันโฮม” ในวันนี้ชาวบ้านจะจัดขบวนบั้งไฟแห่ไปรวมกัน ในสมัยโบราณจะเป็นวันรวมบั้งไฟจากหมู่บ้านต่างๆ ที่มาร่วมจุดในวันรุ่งขึ้น

ส่วนวันที่สอง เรียกว่า “วันจุด” ในตอนเช้าจะนำบั้งไฟไปที่ลานจุด โดยทำค้างบั้งไฟ (ฮ้าน) บนต้นไม้สูงตามขนาดของบั้งไฟ ในปัจจุบันค้างบั้งไฟทำจากเสาซีเมนต์วางเอียงประมาณ 80 องศา โดยหางบั้งไฟต้องพ้นจากพื้นดิน การจุดบั้งไฟจะจุดไปตามลำดับตามที่ตกลงกัน หากบั้งไฟของค่ายไหนหรือของหมู่บ้านใดขึ้นได้สูงจับเวลาได้นานก็จะได้รับคำชื่นชม หากค่ายไหนหรือคณะใดบั้งไฟไม่ขึ้นก็จะต้องโดนลากลงตม (ดินโคลน)

ในวันโฮม ชาวบ้านจะร่วมกันจัดขบวนแห่บั้งไฟ ในอดีตแต่ละหมู่บ้านไม่ได้มีบั้งไฟหลายบั้ง ดังนั้นการแห่บั้งไฟและการจุดบั้งไฟ ทำขึ้นได้ภายในวันเดียว ในช่วงหลังบั้งไฟมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น จึงต้องมีวันจุดอีกวันหนึ่ง ในขบวนแห่บุญบั้งไฟ หลายชุมชนมีขบวน “ฟ้อนกลองตุ้ม” โดยการฟ้อนนี้มีเครื่องดนตรีอยู่เพียงสองอย่าง คือ กลองตุ้มและพังฮาด รูปแบบการฟ้อนนี้ เห็นได้ชัดเจนในเขตจังหวัดอุบลราชธานี ร้อยเอ็ด ศรีสะเกษ อำนาจเจริญ และยโสธร

การฟ้อนกลองตุ้มของชาวบ้านยางขี้นก ตำบลยางขี้นก อำเภอเขื่องใน จังหวัดอุบลราชธานี ภาพถ่ายประมาณปี พ.ศ. 2530

คำว่า “ฟ้อนกลองตุ้ม” เป็นคำเรียกตามการร่ายรำประกอบดนตรี คือ กลองตุ้ม และพังฮาด

กลองตุ้ม เป็นกลองที่ขึงหน้าด้วยหนังวัวหรือหนังควาย มีสองหน้าและต้องขึงหนังทั้งสองหน้า (มีลักษณะคล้ายกลองเพลขนาดเล็ก) ในส่วนของท่าฟ้อนในแต่ละชุมชนจะแตกต่างกันออกไป วัฒนธรรมการฟ้อนกลองตุ้ม ที่โดดเด่นมากที่สุด อยู่ในเขตอำเภอยางชุมน้อย อำเภอกันทรารมย์ จังหวัดศรีสะเกษ ชาวบ้านโดยทั่วไปถือว่าการฟ้อนกลองตุ้มเป็นการฟ้อนรำหรือการร่ายรำที่มีความศักดิ์สิทธิ์ หากมีบุญบั้งไฟต้องมีการฟ้อนกลองตุ้ม

ประเพณีบุญบั้งไฟ ไม่มีใครบอกได้ว่าเริ่มต้นเมื่อครั้งใด แต่หลักฐานของประเพณีการขอฝนมีมานานตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ อายุประมาณ 2,500 – 2,000 ปีมาแล้ว หลักฐานที่สำคัญ คือ กลองมโหระทึก พบในกลุ่มวัฒนธรรมโบราณแบบดงเซิน (Dong Son culture) ในประเทศเวียดนาม แพร่กระจายอยู่ในจีนตอนใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมทั้งในประเทศไทย นักวิชาการเชื่อว่าใช้ประกอบพิธีกรรมเกี่ยวกับความตาย การขอฝน  การรักษาโรค รวมถึงใช้ตีในการทำสงครามตามความเชื่อของมนุษย์สมัยก่อนประวัติศาสตร์

สำหรับลวดลายบุคคล สัตว์ สิ่งของที่พบบนหน้ากลองรอบดวงอาทิตย์หรือดาว ได้แก่ กลุ่มบุคคลที่แต่งกายด้วยขนนก กลุ่มบุคคลทำกิจกรรมต่างๆ เรือหรือกระบวนเรือ นกกระสาหรือนก Plover บินทวนเข็มนาฬิกา ปลา กบ ช้าง วัว กวาง นกยูงบินทวนเข็มนาฬิกา และบ้าน

นักวิชาการส่วนใหญ่ให้ความเห็นว่าลวดลายที่พบบนหน้ากลอง มาจากความเชื่อในการทำพิธีกรรมบูชายัญสัตว์ พิธีกรรมเกี่ยวกับความตายพิธีกรรมเกี่ยวกับความอุดมสมบูรณ์ ลวดลาย ทั้งหมดนี้ล้วนแล้วแต่แสดงถึงความสัมพันธ์ของมนุษย์กับการดำรงชีวิตและระบบนิเวศวิทยาในสังคมบรรพกาล (สำนักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กรมศิลปากร, 2546)

ลักษณะลายเส้น ที่ปรากฏหน้ากลองมโหระทึกเป็นลายเส้นบนขอบวงกลมมีคนและนก อายุราว 3,000 ปีมาแล้ว ในวัฒนธรรมดงเซิน พบที่เวียดนาม (ภาพจากสุจิตต์ วงษ์เทศ)

กลองมโหระทึกและการร่ายรำในพิธีกรรมเกี่ยวกับความอุดมสมบูรณ์ไม่สามารถรู้ได้ชัดเจน ว่ามีรูปแบบเป็นเช่นไร แต่หากพิจารณาการฟ้อนกลองตุ้มกับภาพที่ปรากฏบนลวดลายหน้ากลองมโหระทึก จะเห็นว่ามีการยกแขนยกขา ประดับประดาร่างกายสวยงาม ทั้งนิ้วมือ หมวก เลียนแบบท่าสัตว์ที่แสดงถึงความอุดมสมบูรณ์

พร้อมกันนั้นท่าร่ายรำไปตามจังหวะกลองและจังหวะพังฮาด มีลักษณะคล้ายคลึงกับกลองมโหระทึก แตกต่างกันเพียงขนาดและรูปร่าง ซึ่งพังฮาดจะสามารถเคลื่อนย้ายได้เร็วกว่าเพราะมีน้ำหนักเบา การร่ายรำดังกล่าว หากเป็นพิธีกรรมเกี่ยวกับการขอฝน น่าจะต้องมีความเกี่ยวข้องกันกับการร่ายรำในลักษณะแบบนี้

การฟ้อนกลองตุ้มก็มีการร่ายรำและประดับประดาร่างกาย ร่ายรำโดยมีวัตถุประสงค์ในรูปแบบเดียวกัน เชื่อมโยงให้เราเห็นร่องรอยความเป็นไปได้จากการที่มี “กบ” อยู่หน้ากลองมโหระทึก ซึ่งกบ หรือคันคาก ก็มีตำนาน “พระยาคันคาก” เชื่อมโยงกันกับประเพณีบุญบั้งไฟ ดังนั้นการร่ายรำหน้ากลองมโหระทึก ต้องเชื่อมโยงกับการฟ้อนกลองตุ้มนี้อย่างแน่นอน ในมิติของวัตถุประสงค์การฟ้อนเพื่อความอุดมสมบูรณ์ให้เกิดขึ้นในพื้นที่ การฟ้อนรำมีลักษณะเลียนสัตว์ศักดิ์สิทธิ์ เช่น นก กบ

ฟ้อนกลองตุ้ม บุญบั้งไฟบ้านละทาย ตำบลเมืองน้อย อำเภอกันทรารมย์ จังหวัดศรีสะเกษ ภาพโดย ทองจันทร์ ศรีสุธรรม

ร่องรอยอีกอย่างที่ผู้เขียนอยากชวนผู้อ่านได้พิจารณา คือ การฟ้อนนกกาบบัว หากพิจารณารูปแบบการฟ้อนแล้ว จังหวะการร่ายรำและจังหวะดนตรี ไม่ได้มีความแตกต่างจากการฟ้อนกลองตุ้มมากนัก

สิ่งที่แตกต่างกัน คือ ชื่อการร่ายรำเลียนแบบนกกาบบัว เป็นชื่อที่บ่งชี้ว่ามีการร่ายรำเลียนแบบนก โดยนกกาบบัวนี้มักหากินเป็นฝูงเล็ก ๆ ตามหนองน้ำ ที่น้ำขัง เป็นนกน้ำขนาดใหญ่มีความสูงขณะยืน ประมาณ 90 เซนติเมตร การที่คนในอดีตจะใช้นกกาบบัวมาร่ายรำ สันนิษฐานว่านกชนิดนี้น่าจะมาพร้อมกับฤดูฝน เมื่อฝนตกแล้วมีน้ำขังในที่ลุ่ม นกจะย้ายถิ่นหากินตามที่ลุ่มน้ำขัง หากนกชนิดนี้มาหากินในถิ่นใด ก็แสดงว่าพื้นที่นั้นฝนกำลังจะตก มีน้ำเหมาะแก่การปลูกข้าว ดังนั้นนกกาบบัวจึงเป็นสัญลักษณ์ของฝน การฟ้อนนกกาบบัว

จึงเสมือนกับการร่ายรำเพื่อเชิญนกกาบบัว หรือไท้ฟ้าพระยาแถน ให้ฝนตกต้องตามฤดูกาล ดังนั้นการที่นักมานุษยวิทยาโบราณคดีมักอธิบายว่า ลายเส้นรูปนกศักดิ์สิทธิ์ที่ปรากฏบนหน้ากลองมโหระทึก คล้ายนกกระเรียนนั้น ผู้เขียนคิดว่า คงจะเป็นนกกาบบัว ด้วยร่องรอยจากการฟ้อนนกกาบบัวนี้ โดยหลายชุมชนในภาคอีสานยังมีการอนุรักษ์และสืบทอดอย่างต่อเนื่องกระทั่งปัจจุบัน คือ ชุมชนบ้านผักแว่น ตำบลยางขี้นก อำเภอเขื่องใน จังหวัดอุบลราชธานี และบ้านหนองโน ตำบลโพนทอง ตำบลโพนทอง อำเภอเสนางคนิคม จังหวัดอำนาจเจริญ

การฟ้อนนกกาบบัวของชาวบ้านโพนทอง อำเภอเสนางคนิคม จังหวัดอำนาจเริญ
ภาพถ่ายประมาณปี พ.ศ. 2530 เผยแพร่โดยฉลาด ระหงส์

ด้วยเหตุที่กล่าวมา การฟ้อนกลองตุ้มและการฟ้อนนกกาบบัว จึงเป็นการร่ายรำอย่างมีวัตถุประสงค์สัมพันธ์กันกับท่ารำการแต่งตัว ที่ปรากฏบนหน้ากลองมโหระทึก การประดับประดาด้วยขนนก เล็บ ตกแต่งร่างกายให้แปลกไปจากเดิม พบเห็นได้ในการฟ้อนกลองตุ้มของชาวกันทรารมย์ เป็นหลักฐานชี้ให้เราเห็นว่า การแต่งกายให้มีความสวยงามนั้น เป็นการอ้อนวอนขอฝน รวมถึงสร้างความศักดิ์สิทธิ์ในพิธีกรรม แม้ในภาคอีสานการฟ้อนกลองตุ้มไม่ได้มีแบบแผนในการแต่งกายชัดเจน แต่จังหวะกลองและการร่ายรำยังคงมีเอกลักษณ์ที่โดดเด่นประดับประดาด้วยผ้าไหม และสิ่งของมีค่าเพื่ออ้อนวอนขอฝน  

ในปัจจุบันการฟ้อนกลองตุ้ม ได้รับการส่งเสริมและอนุรักษ์จากชุมชน หน่วยงานราชการและมีการศึกษาวิจัยมากมาย หลายชุมชนมีการปรับประยุกต์การแต่งกายให้สวยงาม เช่น การใส่หมวกกาบ การใส่แว่นตาดำ การกางร่ม ประยุกต์ความร่วมสมัยนำเสนออย่างน่าสนใจ วัฒนธรรมการฟ้อนกลองตุ้ม

จึงเป็นจุดเริ่มต้นที่จะนำไปสู่การสร้างความเข้มแข็งทางวัฒนธรรมให้กับท้องถิ่นและสร้างพลังทางวัฒนธรรมอันเป็นจิตวิญญาณของบรรพชนที่ได้มีการสร้างสรรค์มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมอันล้ำค่าเหล่านี้ไว้ตราบจนชั่วลูกชั่วหลานสืบไป   

เอกสารอ้างอิง

  • สำนักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กรมศิลปากร. 2546. กลองมโหระทึกในประเทศไทย. กรุงเทพฯ: บริษัท อาทิตย์ โพรดักส์ กรุ๊ป จำกัด.
  • สารานุกรมสัตว์. 2560. นกกาบบัว/Painted Stork (Mycteria leucocephala). เมษายน 11 . Accessed พฤษภาคม 31, 2562. http://www.zoothailand.org/animal_view.php?detail_id=184&c_id=.
image_pdfimage_print