โดย หทัยรัตน์ พหลทัพ ผู้สื่อข่าวพิเศษเดอะอีสานเรคคอร์ด

ลมหนาวพัดมาเอื่อยๆ แม้จะเป็นช่วงหน้าร้อน แต่ด้วยอุณหภูมิ 10 องศาในช่วงบ่ายก็ทำให้ผู้เขียนที่เพิ่งมาเยือนแดนผู้ดียังไม่นานหนาวสะท้าน แต่สำหรับ รันดร แอริด หรือ ดา ผู้หญิงอีสานวัย 45 ปี จากเมืองขอนแก่น เธอชาชินกับสภาพอากาศลอนดอน ประเทศอังกฤษที่แปรผันไม่เว้นแต่ละวัน

“ในหนึ่งวันอาจมี 2 -3 ฤดู โดยเฉพาะลมและฝนตก นี่แหละอังกฤษ”เธอเล่าด้วยประสบการณ์ 21 ปีในลอนดอน

ผู้เขียนพบเธอที่วัดพุทธปทีป ลอนดอน ขณะเธอและเพื่อนนำอาหารมาแลกเปลี่ยนกันที่ม้านั่งในสวนของวัด

กลิ่นเครื่องแกงจากผัดพริกแกงไก่คลุกเคล้ากันดีกับกลิ่นแกงอ่อมไก่จากฝีมือต้นตำรับ เย้ายวนให้ผู้เขียนอยากร่วมสำรับ แต่ก็อดใจรอกระทั่งพวกเธออิ่มเอมจากอาหารเลิศรส จากนั้นจึงเริ่มบทสนทนา

รันดร แอริด หรือ “ดา” สาวอีสานวัย 45 ปีจากจังหวัดขอนแก่น

“ชีวิตในลอนดอนไม่ได้สุขสบาย ผู้หญิงไทยที่แต่งงานกับฝรั่งไม่ได้หมายความว่า มีความเป็นอยู่ดีทุกคน เราต้องทำงานหาเลี้ยงดูตัวเอง สร้างครอบครัว บางคนต้องอดมื้อกินมื้อ อยากบอกคนที่อยู่เมืองไทยจงภูมิใจที่ได้อยู่เมืองไทย เพราะดีกว่าอยู่ต่างประเทศ” เป็นบทสนทนาที่ออกรสตั้งแต่คำถามแรก เมื่อผู้เขียนถามถึงความเป็นอยู่หลังแต่งงานกับชาวอังกฤษ

ก่อนแต่งงานและย้ายมาอยู่กับสามี รันดร มีวิถีชีวิตไม่แตกต่างจากคนอื่น หลังเรียนจบมัธยมต้นจากอำเภอแวงน้อย จังหวัดขอนแก่น เธอตัดสินใจเข้ามาหางานทำในกรุงเทพฯ​ เริ่มจากการเป็นสาวโรงงาน กระทั่งได้ทำงานเป็นแม่บ้านให้ชาวต่างชาติด้วยเงินเดือนๆ ละ 6,500 บาท ถือเป็นค่าตอบแทนที่สูงทีเดียว หากเทียบกับอาชีพอื่นในช่วงเวลานั้น

รันดรได้พบกับสามีจากการแนะนำของเพื่อน พวกเขาใช้เวลาทำความรู้จักไม่ถึงเดือนก็ตัดสินใจแต่งงาน

“ตอนแต่งงานมีเพื่อนบ้านหลายคนคิดว่า เราถูกหลอกให้มาขายตัว เพราะช่วงนั้นมีข่าวหญิงไทยถูกฝรั่งหลอกไปขาย แต่ตอนนั้นก็คิดว่า ตายเป็นตาย ไม่กลัว เพราะเราไม่มีอะไรจะเสีย อีกอย่างก็เชื่อมั่นว่า ฝรั่งคนนี้เป็นคนดี”เธอเล่าถึงความหลังเมื่อ 21 ปีที่แล้ว

หมอนวดร้านสปาอีกทางรอดในแดนผู้ดี

แม้จะแต่งงานและย้ายมาอยู่กับสามีที่อังกฤษ แต่รายได้จากการเป็นข้าราชการชั้นผู้น้อยของสามี ก็ไม่เพียงพอกับค่าใช้จ่ายภายในบ้าน เมื่อพวกเขามีลูก 2 คนต้องดูแล ทำให้เธอต้องแบ่งเบาภาระด้วยการทำงานรับจ้างทำความสะอาด และเป็นหมอนวดในร้านสปาไทย

“ไม่มีวันไหนที่ไม่อยากกลับบ้าน คิดฮอตบ้าน แต่มีภาระที่ต้องดูแลสามี ดูแลลูก อยากให้ลูกเรียนจบสูงๆ อยากให้เขามีงานทำ ยิ่งตอนนี้สามีเกษียณแล้ว รายได้ก็ลดน้อยลง เราต้องเป็นกำลังหลักของครอบครัว” รันดรกล่าว

ไม่เพียงแต่ต้องดูแลครอบครัวที่อังกฤษ แต่รันดรต้องส่งเงินกลับบ้านให้พ่อแม่ที่เมืองไทยเพื่อยกระดับฐานะครอบครัวจากครอบครัวเกษตรกรให้เป็นครอบครัวที่มีลูกสาวแต่งงานกับฝรั่ง

“มีการเปรียบเทียบในหมู่บ้านที่เมืองไทยว่า คนที่แต่งงานฝรั่งจะต้องสร้างบ้านหลังใหญ่ให้พ่อแม่ ส่งเงินให้พ่อแม่ แต่พวกเขาไม่รู้ว่า เราลำบากขนาดไหนกว่าจะได้เงินมา เพราะสามีไม่ได้มีวัฒนธรรมเหมือนเรา เขาไม่ได้ส่งเงินให้พ่อแม่เหมือนเรา เราต้องหาเงินเอง ความกดดันจึงตกอยู่ที่เราคนเดียว ตอนนี้จึงไม่มีทางออกนอกจากยอมรับชะตากรรม” รันดรเล่าความกดดันที่เกิดขึ้นกับชีวิตในต่างแดน ทำให้เธอต้องหันหน้าเข้าวัดและเจอเพื่อนคนไทยเพื่อให้ลืมความเจ็บปวด

ข้อมูลจากเว็บไซด์สถานทูตไทยในกรุงลอนดอนระบุว่า จนถึงปี 2560 ในอังกฤษมีคนไทยอาศัยอยู่กว่า 36,000 คน และกว่า 20,000 คน ทำงานในร้านอาหารไทยที่มีกว่า 1,000 ทั่วประเทศอังกฤษ แต่ละปีแรงงานเหล่านี้ส่งเงินกลับบ้านที่ประเทศไทยกว่า 1 แสนบาทต่อคนต่อปี หรือประมาณ 2 พันล้านบาทต่อปี

ข้อมูลการศึกษาเกี่ยวสังคมอีสานของมูลนิธิเอเชียล่าสุด (2561) พบว่า ครอบครัวคนอีสานพึ่งพาเงินที่ลูกหลานที่ไปทำงานต่างถิ่นส่งมาให้ จากการสำรวจ 1,400 ครัวเรือนอีสาน พบว่าร้อยละ 70 ของครอบครัวคนอีสานต่างพึ่งพาเงินจากลูกหลานที่ทำงานต่างถิ่น และครึ่งหนึ่งของการสำรวจพบว่า เงินที่ลูกหลานส่งมาให้จากต่างถิ่นเป็นรายได้หลักของครอบครัวนั้นอีกด้วย

เรียนภาษาต่ออายุวีซ่าคนนอก

รัชฎาพร สร่างโศรก หรือ “ดา” เป็นคนอีสานอีกคนที่เป็นขาประจำของวัดพุทธปทีป เธอมาอยู่ที่ประเทศอังกฤษเป็นแม่บ้านให้เจ้านายชาวฮ่องกงกว่า 13 ปี

“ตอนแรกก็มาด้วยวีซ่าท่องเที่ยว 6 เดือน จากนั้นเจ้านายก็ต่อวีซ่าให้ปีต่อปี แต่ตอนนี้สถานการณ์คนเข้าเมืองเริ่มเปลี่ยนไป เพราะรัฐบาลอังกฤษเปลี่ยนระเบียบใหม่ เขาไม่อนุญาตให้ทำงาน เราต้องเลี่ยงกฎหมายด้วยการลงทะเบียนเรียนภาษาอังกฤษเพื่อให้ได้ต่อวีซ่า ตอนนี้นายจ้างกำลังทำเรื่องอุทธรณ์การขอวีซ่าทำงาน ถ้าอุทธรณ์ไม่ได้ต้องถูกส่งตัวกลับภายใน 14 วัน” รัชฎาพร เล่าความทุกข์ที่เธอกำลังเผชิญ

แม้เธอจะไม่มีครอบครัวให้ต้องดูแล แต่เมื่อต้องเผชิญการส่งตัวกลับในวัย 54 ปี ก็ทำให้เธอเตรียมรับสภาพ “คนตกงาน” ซึ่งเป็นภาวะกดดันอีกรูปแบบ

“ชีวิตเรายังดีกว่าเพื่อนคนไทยอีกหลายคนที่อยู่ที่นี่ เพราะบางคนวีซ่าหมดแล้วเขาต้องอยู่แบบหลบๆ ซ่อนๆ ถ้ารัฐบาลจับได้ มีทางเดียว คือ ส่งตัวกลับไทย”เธอบอก

ตั้งแต่เดือนมีนาคมที่ผ่านมา รัฐบาลอังกฤษได้ปรับระเบียบการเข้าเมืองใหม่เพื่อให้สอดคล้องกับผลการโหวตออกจากสหภาพยุโรปเมื่อปี 2557 โดยปรับให้การเข้าเมืองของคนที่อยู่สหภาพยุโรปและนอกสหภาพยุโรปเป็นมาตรฐานเดียวกันและให้สิทธินักลงทุน รวมทั้งแรงงานที่มีทักษะสูงมีสิทธิเข้ามาทำงานและมาลงทุนเป็นอันดับแรกๆ

ส่วนแรงงานไร้ฝีมือจะต้องมีรายได้ไม่ต่ำกว่าอัตราขั้นต่ำหรือประมาณ 3 หมื่นปอนด์ หรือ 1.2 ล้านบาทต่อปี

รัชฎาพร สร่างโศรก หรือ “ดา” ชาวอีสานจากจังหวัดยโสธร ที่อยู่ประเทศอังกฤษมา 13 ปี

ซิเน่ พลามเบค (Sine Plambech) นักวิจัยอาวุโส สถาบันศึกษานานาชาติแห่งเดนมาร์ค ซึ่งทำงานวิจัยเกี่ยวกับชาวอีสานในยุโรปมานานนับ 10 ปีให้ข้อมูลว่า ชาวอีสานที่เข้ามาอยู่ในยุโรป ชีวิตความเป็นอยู่ขึ้นอยู่กับชีวิตหลังแต่งงาน

“แต่เมื่อแต่งงานแล้วพวกเขาก็ต้องทำงาน บางคนเป็นคนทำความสะอาด บางคนทำงานในโรงงาน มีบางกลุ่มที่เป็น sex workers ในเดนมาร์กหญิงไทยถือเป็นกลุ่มใหญ่ที่สุดที่ทำงานนี้ ไม่แตกต่างจากในอังกฤษและอีกหลายประเทศในยุโรป” นักวิจัยผู้นี้กล่าว

เธออธิบายเหตุผลที่หญิงไทยเหล่านั้นแต่งงานกับชาวยุโรปและอพยพครอบครัวมาอยู่ต่างประเทศทั้งที่มีกำแพงภาษาและกำแพงวัฒนธรรมว่า

“พวกเขาต้องการชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นแบบก้าวกระโดด เพราะรอการพัฒนาประเทศและการพัฒนาผืนดินอีสานในอีก 20 ปีไม่ไหว พวกเขามีชีวิตเดียว พอมายุโรปชีวิตพวกเขาก็เปลี่ยน มีบ้าน มีรถ เมื่อเทียบคนที่มาตอนนี้กับคนที่มาเมื่อ 20 ที่แล้ว พวกเขาแตกต่างกันมาก เพราะชีวิตวัยเด็กคนที่มาก่อนหน้านี้แทบไม่มีเงินซื้อข้าวกิน” ซิเน่ อธิบายข้อมูลจากการสัมภาษณ์ชาวอีสานในยุโรป

วัดพุทธปทีป ลอนดอน ประเทศอังกฤษ  กลายเป็นเสมือนศาลาคนเศร้า ให้ผู้คนได้มาพบเจอกัน แลกเปลี่ยนประสบการณ์ บางคราวก็เป็นศูนย์กลางความช่วยเหลือให้กับคนไทยในต่างแดน

นักวิจัยผู้นี้คาดการณ์ว่า การเข้ามายุโรปของชาวอีสานในอนาคตจะทำได้ยากยิ่งขึ้น เพราะการขอวีซ่าเข้ายุโรปมีความเข้มงวดมากขึ้น

จากการเก็บข้อมูลนานกว่า 15 ปีทำให้เธอรู้จักสาวอีสานในต่างแดนเป็นจำนวนมาก ทุกคนล้วนสะท้อนความรู้สึกไม่ต่างกัน

“คิดถึงบ้าน  คิดถึงครอบครัวที่เมืองไทย คิดถึงบ้านเกิด อยากกลับไปตายที่เมืองไทย” ซิเน่กล่าว   “แต่สถานการณ์บังคับไม่ให้กลับบ้าน เพราะต้องดูแลครอบครัวที่นี่และต้องส่งเงินกลับไปดูแลครอบครัวที่เมืองไทย”

image_pdfimage_print