โดย ถนอม ชาภักดี
มรดกบาปแห่งสงครามเย็น (สมรภูมิรบในเวียดนาม ลาวและเขมร) ที่สหรัฐอเมริกาได้กระทำไว้มิอาจลบล้างด้วยความรื่นรมย์ใดๆ ได้
ความทรงจำอันขมขื่นที่ทอดยาวมาจนถึงปัจจุบันถูกนำไปบันทึก ส่งผ่านและสะท้อนออกมาในรูปแบบของศิลปะนานาชนิด ไม่ว่าจะเป็นภาพยนตร์ ภาพถ่าย สารคดี บทกวี วรรณกรรม หรืองานทางทัศนศิลป์จากศิลปินในภูมิภาคนี้และเจ้าภาพผู้ก่อสงคราม
ผลงานทางศิลปะที่ศิลปินในภูมิภาคอุษาคเนย์ได้สะท้อนเรื่องราวบาดแผลของสงคราม เช่น Jun Nguyen-Hatsushiba ศิลปินลูกครึ่งเวียตนาม-ญี่ปุ่น หรือศิลปินจากเขมร เช่น Vandy Rattana, Sopheap Pich, และ Sareth Svay เป็นต้น
จากโคกดอนขี้กระต่าย โคกเลี้ยงวัวของแม่ใหญ่สาในราคา 400 เหรียญยูเอสดอลลาร์ (25 บาท / U.S. Dolar เมื่อต้นทศวรรษ 2500) กลายมาเป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์ทางสงครามในนามค่ายรามสูร ซึ่งเป็นสถานีรับ-ส่งสัญญาณคลื่นวิทยุความถี่สูงแบบ AN/FLR-9CDAA ใหญ่เป็นอันดับ 2 รองจากสถานีวิทยุที่ประเทศเยอรมนี (ขณะนั้น)
เสาตรวจจับสัญญาณวิทยุสูงกว่า 20 เมตร จำนวนกว่า 48 ต้น ของกองทัพสหรัฐอเมริกา กระทั่งปี 2519 กองทัพอเมริกันได้ขนย้ายกำลังพลและยุทโธปกรณ์บางส่วนกลับประเทศ เหลืออาคาร ที่พัก และสิ่งก่อสร้างไว้ ภาพโดย : อติเทพ จันทร์เทศ
พื้นที่ทางทหารฐานทัพอเมริกาแห่งนี้สร้างขึ้นเพื่อด้านการข่าว (กรอง) ตรวจจับสัญญาณวิทยุฝ่ายตรงข้ามที่มีรัศมีทำการทั่วทั้งภูมิภาคเอเชียตะวันตกเฉียงใต้ รวมถึงจีนตอนใต้
ค่ายนี้จึงเป็นค่ายทางทหารมั่นคงสูงสุดที่แม้แต่แมลงวันแมลงสาบก็มิอาจเล็ดลอดเข้าไปได้
ลองนึกภาพปี 2508-2519 ที่ทหารจีไอเดินขวักไขว่ราวกับมด ถนนมิตรภาพที่สร้างเพื่อปฏิบัติการสงครามผ่ายาวตลอดภาคอีสานทุกทิศทางและค่ายรามสูรก็อยู่ริมทางมิตรภาพ บ้านโนนสูง
พื้นที่นี้เต็มไปด้วยทหารฝรั่งดังโม คราคร่ำแทบจะทุกจังหวัดใหญ่ๆ ดินแดนเฉียงเหนืออย่างอุดรธานี ขอนแก่น โคราช อุบลราชธานีและนครพนม ล้วนได้รับมิตรภาพจากมหามิตรอเมริกาอย่างรื่นรมย์ อุดมไปด้วยคลับบาร์ สถานเริงรมย์และลูกครึ่ง
ไม่มีใครล่วงรู้ในทไวไลท์โซน ทุกๆ พื้นที่ของฐานทัพทหารอเมริกันในประเทศไทย ยุคสงครามเย็น การโฆษณาชวนเชื่อถือเป็นอาวุธละมันอันทรงพลัง
การป่าวประกาศถึงโลกเสรีที่รื่นรมย์ซึ่งต่างจากโลกคอมมิวนิสต์ที่ขมขื่น กลายเป็นวลีฝังจิตฝังใจให้กับผู้คนมาถึงทุกวันนี้ เครื่องบินรบเหนือฟ้าอีสาน บินว่อนราวกับแมงเม่าบินตอมแสงไฟ พร้อมๆ กับการปราบปรามคอมมิวนิสต์ในฝั่งไทย ทฤษฎีโดมิโนที่อเมริกากลัวว่าประเทศไทยจะตกเป็นคอมมิวนิสต์ถูกกระพือข่าวราวกับว่ามหามิตรอเมริกาพญาอินทรีมีอำนาจเหนือประเทศทั้งปวง
แม้ทหารจีไอจากไปตั้งแต่ปี 2519 ทิ้งค่ายรามสูรให้รกร้างว่างเปล่า และชาวบ้านเข้ามาเก็บเศษซากเหล็กปฏิกูลสงครามไปขาย จนกระทั่งเมื่อปี 2540 จึงได้สถาปนาเป็นค่ายพญาสุนทรธรรมธาดา (ร.13 พัน1.) อุดรธานี และได้เปิดค่ายรามสูรเพื่อการท่องเที่ยวเมื่อเดือนพฤษภาคม 2561 นี่เอง
พื้นที่ปฏิบัติการทางศิลปะ
ไม่ใช่งานแสดงนิทรรศการศิลปะ
ได้ข่าวว่าจะมีการจัดงานแสดงในพื้นที่รามสูรมาตั้งแต่ขึ้นไปจัดงาน Khonkaen Manifesto ปี 2561 ไม่ได้ประหลาดใจกับข่าวนี้สักเท่าไหร่ ด้วยเหตุที่ระยะช่วง 10 ปีมานี้ เขตทหารที่เคยเป็นเขตหวงห้าม เริ่มเปิดพื้นที่สีเขียวให้กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวตามนโยบายของปฏิบัติการจิตวิทยา (ปจว.) ของทหาร เพื่อหวังสร้างความใกล้ชิดเป็นมิตรกับประชาชนมากขึ้น
ภาพถ่ายของ Bounpaul Phothyzan (2018) ศิลปินจาก สปป.ลาว ที่พยายามบอกเล่าเรื่องราวของระเบิดที่เกิดจากการโจมตีทางอากาศของสหรัฐฯ ที่กระจายอยู่ทั่วทุ่งนาในประเทศลาว ที่สุดแล้วสหรัฐฯ ไม่สามารถขับไล่กองกำลังคอมมิวนิสต์ออกจากลาวได้ ภาพโดย : อติเทพ จันทร์เทศ
ค่ายรามสูรก็เช่นกัน ซึ่งได้เปิดประตูต้อนรับนักท่องเที่ยวไปถ่ายรูปเซลฟี่มาตั้งแต่ ปี 2561 แต่นั่นแหละ เขตทหารก็คือเขตทหาร ก่อนเข้าไปมีไกด์แต่งชุดลายพรางมาบรรยายพื้นที่ที่จะเข้าไปชมได้ มีบอร์ดจัดแสดงรูปถ่ายกิจกรรมนำเที่ยว ที่เหลือนอกนั้นต้องแสวงหาจากแหล่งความรู้อื่นว่า ค่ายแห่งนี้มีพลานุภาพอย่างไร ซึ่งมิได้พูดถึงในพื้นที่การท่องเที่ยว
ในมุมของทหารเชื่อว่า ศิลปะเป็นส่วนหนึ่งที่จะสร้างกิจกรรมความรื่นรมย์ได้ จึงมีการเชื้อเชิญให้ศิลปินผ่านกระบวนการคัดสรรเข้าไปสร้างประติมาทางศิลปะค่ายรามสูร ในพื้นที่ที่เคยเป็นเขตปฏิบัติการทางทหารอเมริกันเมื่อปี 2508-2519 เช่นอาคารวิทยุสื่อสาร อุโมงค์ที่มีความยาว 300 เมตร ซึ่งเป็นทางเข้า-ออกอุโมงค์กับฐานปฏิบัติการ อาคารสำนักงานบัญชาการ เลยไปถึงพื้นที่พักและสันทนาการ เช่น อาคารโรงยิม โรงภาพยนตร์ และสระว่ายน้ำที่อยู่ห่างจากเขตสายฟ้าฟาดเกือบสองกิโลเมตร
ความเป็นค่ายรามสูรที่มีบริบททางประวัติศาสตร์สงคราม สัมพันธ์กับการก้าวกระโดดของผู้คนในจังหวัดอุดรธานีกว่าทศวรรษกับพื้นที่ทางกายภาพที่น่าสะพรึงกลัว
ปัจจุบันนี้กลายเป็นอาคารทรงกลมโล่งๆ และซากปรักหักพังรอบอาคารที่ทหารอเมริกันระเบิดทำลายหลักฐานทางทหารทิ้ง หลังจากที่นักศึกษา-ประชาชนเดินขบวนไล่ฐานทัพอเมริกาออกจากประเทศไทยในช่วงหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516
ปฏิบัติการทางศิลปะในพื้นที่ที่จริง (Real Space) ที่เต็มไปด้วยเขาวงกตทางประวัติศาสตร์ที่ซับซ้อนอย่างยิ่ง เพราะไม่ใช่ Site Specific ที่ศิลปินจำลองพื้นที่ไปแสดงในพื้นที่อื่น แต่มันคือพื้นที่จริงที่หลอนยิ่งกว่าความมืดของอุโมงค์สายฟ้า ศิลปินที่เข้ามาในพื้นที่แห่งนี้เพื่อจะสร้างงานตัวเองหย่อนลงจุดใดจุดหนึ่ง ซึ่งไม่รู้ว่ามันคือพื้นที่ที่เคยเป็นอะไรมาก่อน ย่อมมองเห็นแล้วสถานะของสรรพวัตถุที่เรียกว่าศิลปะนั้นจะสร้างมรรคผลอะไรกับอภิมหาเรื่องเล่าของยักษ์ตนนี้
“ถ้าเราจะเพิ่ม “ศิลปะ” ลงไปในฐานะ “ช่วงเวลาหนึ่ง” ให้กับสถานที่แห่งนี้ โดยที่ไม่มีขอบเขตของกล่องสีขาวบริสุทธิ์ หรือพื้นที่สีขาวของหอศิลป์ แกลเลอรี แล้วศิลปะจะเข้าไปมีบทบาทอย่างไร จะสามารถนำเสนอตัวเองได้หรือไม่ รวมถึงศิลปะจะสามารถอุปมา สื่อนัยยะหรือเปิดเผยตัวตนภายในพื้นที่ตรงนี้ได้หรือไม่ ในช่วงเวลาที่ทับถมกันเช่นนี้ หรือจะโดนกลบไปพร้อมกับสิ่งปลูกสร้างที่ยิ่งใหญ่และสิ่งต่างๆ ปะปนกัน พร้อมๆ กับประวัติศาสตร์ของมันที่เลือนหาย ดังนั้น นิทรรศการ “PARALLEL: The Ramasun Station Art Trail” จึงมีจุดมุ่งหมายที่จะค้นหาคำตอบให้กับประเด็นนี้” (จากแผ่นพับประกอบการแสดงงาน : ย่อหน้าสุดท้าย)
*งานแสดงศิลปะมีไปจนถึงวันที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2562
**พบกับตอนที่ 2 ว่าด้วยงานศิลปะในพื้นที่ปรักหักพังในค่ายรามสูร จะให้คำตอบกับเจตนารมณ์ของผู้จัดหรือไม่?