โดย วุฒิชัย นาคเขียว

“จังหวัดศรีสะเกษ” ได้ยินครั้งแรกอาจแปร่งหู บางคนเคยได้ยิน แต่แทบไม่รู้ว่าศรีสะเกษมีพื้นที่อยู่ตำแหน่งแห่งไหนของประเทศไทย หรือซ้ำร้ายกว่านั้นบางคนอาจเคยรับรู้ผ่านสื่อต่างๆ แต่เพียงว่า ศรีสะเกษเป็นบ้านป่าเมืองเถื่อน บ้างว่าอนาถายากจน บ้างก็ตราหน้าว่าเป็นเขมรป่าดง และเป็นพื้นที่รองรับความกระหายหิวสงครามและความขัดแย้งระหว่างไทยและกัมพูชาไม่จบสิ้น

นั่นจึงเป็นการแจ้งเตือนที่ชัดเจนประการหนึ่งว่า ศรีสะเกษยังคงอยู่ห่างไกลจากความสนใจของคนไทยส่วนใหญ่เป็นอันมาก ยิ่งถ้านับถึงความเข้าใจในประเด็นทางประวัติศาสตร์ ก็ยิ่งดูห่างออกไปเรื่อยๆ แต่ใครเล่าจะรู้ว่าจังหวัดศรีสะเกษ เป็นพื้นที่ที่มีวัฒนธรรมร่วมกับอารยธรรมเขมรโบราณมาช้านานที่สุดแห่งหนึ่งในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีหลักฐานทางประวัติศาสตร์และโบราณคดีปรากฏร่องรอยอยู่เกือบร้อยแห่ง มีรากฐานทางวัฒนธรรมสลับซับซ้อนสูง กลุ่มชาติพันธุ์วรรนณาก็ดำรงอยู่กันอย่างแน่นหนา

แน่นอนว่าคนเขมรเอง ซึ่งเรียกได้ว่าเป็นผู้ถือวัฒนธรรมหลักที่ครั้งหนึ่งเคยแผ่ขยายอิทธิพลเข้ามาบริเวณนี้ ก็ได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์ศรีสะเกษอย่างมีนัยสำคัญ

บทความชิ้นนี้จะพาผู้อ่านย้อนไปพิจารณาการสร้างองค์ความรู้ทางประวัติศาสตร์เกี่ยวกับอารยธรรมเขมรโบราณ อย่างน้อยนับตั้งแต่สมัยการล่าอาณานิคมคริสต์ศตวรรษที่ 19 เป็นต้นมา ว่ามีบทบาทสำคัญต่อกระบวนการสร้างอัตลักษณ์ความเป็นเขมรในประวัติศาสตร์ศรีสะเกษอย่างไร

ปราสาทสระกำเเพงใหญ่ อ.อุทุมพรพิสัย จ.ศรีสะเกษ ปราสาทขอมที่มีขนาดใหญ่และสมบูรณ์ที่สุดของจังหวัดศรีสะเกษ (ภาพและข้อมูลจาก เเนะนำจังหวัดศรีษะเกษ)

“เขมร” เป็นใครและสำคัญอย่างไรต่อการศึกษาประวัติศาสตร์

ก่อนจะไปดูกระบวนการสร้างอัตลักษณ์ความเป็นเขมรดังกล่าว อยากพาผู้อ่านทำความเข้าใจคำถามข้างต้นก่อน เพราะคำถามนี้ถูกหยิบมาถกเถียงทางวิชาการอย่างจริงจังนับตั้งแต่ศตวรรษที่ 19 เป็นต้นมา

โดยเฉพาะการขยายอำนาจของจักรวรรดินิยมฝรั่งเศสเข้าสู่ดินแดนอินโดจีนในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 19 ถือเป็นช่วงเปลี่ยนผ่านที่สำคัญของงานเขียนประวัติศาสตร์นิพนธ์ในกัมพูชา ซึ่งสัมพันธ์อย่างยิ่งกับการสร้างความรู้ ความคิด และการสร้างอัตลักษณ์ความเป็น “เขมร” ในประวัติศาสตร์ศรีสะเกษ

ช่วงเวลาดังกล่าวนอกจากเป็นช่วงที่กระแสตะวันออกศึกษากำลังได้รับความสนใจจากนักวิชาการตะวันตกอย่างกว้างขวางแล้ว การเดินทางสำรวจค้นพบแหล่งอารยธรรมโบราณขนาดใหญ่ที่รู้จักกันในชื่อปราสาท “นครวัด” ในทศวรรษ 1860 ก็ยิ่งกระตุ้นให้อาณาบริเวณที่มีร่องรอยมรดกทางวัฒนธรรมสัมพันธ์กับอารยธรรมเขมรโบราณได้รับความสนใจจากนักวิชาการผู้ศึกษาประวัติศาสตร์กัมพูชาและอารยธรรมโบราณในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มากขึ้นตามลำดับ โดยนักวิชาการเหล่านั้นจะเน้นการเก็บข้อมูลประวัติศาสตร์ ชาติพันธุ์วรรณนา ภาษา ศิลปะ วรรณคดี โบราณสถาน จารึก คัมภีร์ทางศาสนา พงศาวดาร และรวมถึงการฝังตัวศึกษาแหล่งอารยธรรมโบราณของชนพื้นเมือง

ความคึกคักของกระแสการศึกษาดังกล่าว นอกจากจะทำให้นักวิชาการตะวันตกสนใจศึกษาอารยธรรมตะวันออกมากขึ้นแล้ว อีกมิติหนึ่งคือกระบวนการศึกษาเหล่านี้ยังนำมาสู่การผลิตและการเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ศรีสะเกษในสังคมไทยด้วย เนื่องจากศรีสะเกษเป็นอาณาบริเวณที่มีร่องรอยวัฒนธรรมสัมพันธ์แนบชิดกับอารยธรรมเขมรโบราณมาช้านานนับตั้งแต่ประมาณคริสต์ศตวรรษที่ 9-13

ที่สำคัญ อิทธิพลอันเกิดจากกระแสการศึกษานี้ ยังส่งผลทำให้ปัญญาชนและตลอดรวมถึงนักประวัติศาสตร์ชาวไทยที่สนใจวัฒนธรรมเขมร ยอมรับที่จะปรับเปลี่ยนมโนทัศน์และวิธีวิทยาทางประวัติศาสตร์ของตนเองที่เคยมองภาพอดีตตามลำดับเหตุการณ์ในพงศาวดาร มุ่งสู่การมองภาพอดีตและการสร้างเรื่องเล่าประวัติศาสตร์ (Historical Narrative) ตามแนวทางการวิพากษ์วิจารณ์ และพยายามให้เหตุผลต่อการสืบค้นข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ตามกระบวนการของตะวันตกมากขึ้น

นอกจากนั้น การศึกษาดังกล่าวยังพยายามปรับมุมมอง ความคิด และเทคนิคการนำเสนอเนื้อหาประวัติศาสตร์ให้สอดคล้องกับบริบทสังคมการเมืองร่วมสมัยด้วย ดังจะเห็นได้จากกลุ่มงานเขียนประวัติศาสตร์นิพนธ์ในผลงานเรื่อง พงษาวดารหัวเมืองมณฑลอิสาณ (2458) ของหม่อมอมรวงษ์วิจิตร (หม่อมราชวงศ์ปฐม คเนจร), ประวัติศาสตร์อีสาน (2513) ของเติม วิภาคย์พจนกิจ, ความเป็นมาของคำสยาม, ไทย ลาวและขอมและลักษณะทางสังคมของชนชาติ (2519) ของจิตร ภูมิศักดิ์, เจ๊กปนลาว ลาวปนเจ๊ก คนไทยอยู่ที่นี่ คนลาวก็อยู่ที่นี่ (2530) ของสุจิตต์ วงษ์เทศ และผลงานเรื่อง แอ่งอารยธรรมอีสาน (2533) ของศรีศักดิ์ วัลลิโภดม เป็นต้น

กระแสความสนใจประวัติศาสตร์ท้องถิ่นศรีสะเกษ

ธงชัย วินิจจะกูล นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ชาวไทยเคยเสนอแนวคิดและพัฒนาการของความสนใจประวัติศาสตร์ท้องถิ่นในประเทศไทยไว้ในบทความเรื่อง ประวัติศาสตร์ท้องถิ่นของชาติไทยกับประวัติศาสตร์ท้องถิ่น (เฉยๆ)(1) ว่างานศึกษาประวัติศาสตร์ท้องถิ่นไทยมีการจัดสัมมนาครั้งใหญ่ในจังหวัดต่างๆ มากกว่า 30 ครั้ง บางแห่งจัด 3-4 ครั้งในปีเดียว จนอาจกล่าวได้ว่าประวัติศาสตร์ท้องถิ่นเป็นกระแสทางวิชาการที่โดดเด่นที่สุดกระแสหนึ่ง

หลังจากนั้นเมื่อย่างเข้าสู่ทศวรรษ 1990-2000 แม้ว่าการสัมมนาครั้งใหญ่และกระแสประวัติศาสตร์ถิ่นลดความคึกคักลง แต่มิได้หมายความว่าความสนใจประวัติศาสตร์ถิ่นได้จบลงไปด้วย

ในทางตรงข้าม ประวัติศาสตร์ถิ่นได้เข้าสู่ระยะของการขยายความรู้ครั้งใหม่และกลายเป็นที่รู้จัก ยอมรับ และลงหลักปักฐานมั่นคงในสังคมไทย เป็นต้นว่า มีการเปิดหลักสูตรและวิชาท้องถิ่นศึกษาในสถาบันการศึกษาต่างๆ เป็นระยะตลอดมา ทั้งนี้ถึงแม้ว่าการจัดสัมมนารายการใหญ่ๆ จะลดน้อยลง

ทว่าก็ยังมีวิทยานิพนธ์และผลงานวิชาการทยอยผลิตออกมาจากสถาบันอุดมศึกษาอยู่เสมอ อีกทั้งยังมีการก่อตั้งพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นในที่ต่างๆ แหล่งเรียนรู้ในห้องสมุดชุมชน สถานที่ราชการและอาคารเอกชนที่ให้ความสำคัญกับประวัติศาสตร์ท้องถิ่นเกิดขึ้นมากมายในระยะหลังทศวรรษ 1980 ซึ่งได้รับการสนับสนุนทั้งจากภาครัฐและเอกชนอย่างแข็งขัน หรือแม้แต่ปัญญาชนท้องถิ่นเอง ก็ได้รับอิทธิพลจากกระแสนี้ไม่น้อยเช่นกัน ดังที่จะเห็นได้จากคำกล่าวของ พระเทพวรมุนี เจ้าคณะจังหวัดศรีสะเกษ เคยกล่าวถึงการศึกษาประวัติศาสตร์ท้องถิ่นศรีสะเกษไว้ในหลายวาระว่า

ประวัติหมู่บ้าน ชุมชน สถานที่ บุคคลสำคัญและภูมิปัญญาท้องถิ่น นับเป็นความภาคภูมิใจของชาวจังหวัดศรีสะเกษ เนื่องจากอดีตเป็นเครื่องชี้ปัจจุบัน และปัจจุบันเป็นเครื่องชี้อนาคต…การเขียนประวัติศาสตร์จึงต้องศึกษาค้นคว้าในหลายด้านให้ได้ข้อมูลตรงตามความเป็นจริงมากที่สุด…การเขียนประวัติศาสตร์จึงต้องมีความระมัดระวังและยึดถือเอกสารหลักฐานก่อนจึงมีการยืนยัน ตลอดทั้งมีการปรับเปลี่ยนข้อมูลให้ทันสมัยตลอดเวลา…(2)

นอกจากนั้น ครั้นเมื่อมหาวิทยาลัยราชภัฏศรีสะเกษจัดงานสัมมนาประวัติศาสตร์ศรีสะเกษขึ้นเมื่อพ.ศ. 2543 ท่านก็ได้อธิบายถึงความสำคัญของการศึกษาประวัติศาสตร์ท้องถิ่นเพิ่มเติมอีกครั้งว่า

…การเขียนประวัติเมืองศรีสะเกษนั้นควรศึกษาประวัติศาสตร์ท้องถิ่นและภาษาถิ่นมากๆ ไม่ควรเน้นเรื่องราวของประวัติศาสตร์โลกมากนัก เพราะเมื่อประมาณ 7- 8 ปีที่แล้ว มีการประชุมที่ศรีสะเกษแต่เป็นการศึกษาและมองแค่ประวัติศาสตร์โลกเท่านั้น เราจึงไม่เห็นประวัติศาสตร์ท้องถิ่น ภาษาที่ใช้ทางราชการ ปัจจุบันมีความหมายเพี้ยนไปจากภาษาถิ่นเดิมค่อนข้างมาก บางคำถูกตีความแบบไม่ถูกต้อง เมื่อไม่รู้จักภาษาถิ่นก็ทำให้เขียนผิดและตีความหมายผิด การชำระประวัติศาสตร์ที่สมบูรณ์จำเป็นต้องเสนอข้อบกพร่องทางประวัติศาสตร์ด้วย แล้วเราถึงจะนำข้อมูลเหล่านั้นมาพัฒนาเป็นหลักสูตรของท้องถิ่นได้…”(3)

จากคำอธิบายที่ยกมาข้างต้น จะเห็นว่านักปราชญ์ท้องถิ่นเองก็ได้ยึดถือให้ความรู้เรื่องท้องถิ่นกลายเป็นสิ่งจำเป็นต่อการเรียนรู้ด้านวิชาการทางประวัติศาสตร์อย่างเป็นรูปธรรม นอกจากนั้นภูมิปัญญาท้องถิ่นยังกลายเป็นกระแสทางวิชาการที่เติบโตขึ้นเป็นปัจจัยสนับสนุนกันและกัน โดยเฉพาะค่านิยมที่ยอมรับความแตกต่างหลากหลายของสังคมมากขึ้น ก็มีส่วนช่วยส่งเสริมการศึกษาประวัติศาสตร์ถิ่นมีจำนวนที่เพิ่มมากขึ้น รวมถึงวิธีการการวิพากษ์ประวัติศาสตร์ท้องถิ่นอย่างจริงจัง แต่ก็โดยการรับเอาแบบแผนวิธีการศึกษาที่ครอบงำโดยกรุงเทพฯ เป็นศูนย์กลาง

แต่อย่างไรก็ตาม กระแสการศึกษาประวัติศาสตร์ท้องถิ่นก็ยังอยู่ในกรอบของรัฐรวมศูนย์ภายใต้วัฒนธรรมการเมืองและอุดมการณ์แบบชาตินิยมของศูนย์กลางที่กรุงเทพฯ ซึ่งผลิตความเป็นไทยแบบมาตรฐานครอบลักษณะความเป็นท้องถิ่นอีกชั้นหนึ่ง ดังนั้นสิ่งเหล่านี้จึงเป็นเงื่อนไขของการผลิตประวัติศาสตร์ท้องถิ่นที่มีลักษณะเฉพาะของสังคมไทยเช่นกัน(4)

การสร้างอัตลักษณ์ความเป็นเขมรในศรีสะเกษ

จากการสำรวจข้อมูลเอกสารและสังเกตปรากฎการณ์ทางวัฒนธรรมในจังหวัดศรีสะเกษ พบว่ากระบวนการสร้างความรู้และการสร้างอัตลักษณ์ความเป็น “เขมร” ในประวัติศาสตร์ท้องถิ่นศรีสะเกษ มีการนำเสนอค่อนข้างหลากหลาย

โดยเฉพาะที่เห็นได้ชัดเจน ส่วนใหญ่จะถูกนำเสนอใน 6 ลักษณะสำคัญ กล่าวคือ (1) ในฐานะส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์ท้องถิ่นอีสานหรือภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (2) ประวัติศาสตร์ชาติพันธุ์ (3) สารคดีการท่องเที่ยว (4) งานนิทรรศการเชิงวัฒนธรรม (5) ประวัติศาสตร์การเมืองเรื่องความขัดแย้งระหว่างไทยกัมพูชา และ (6) ในฐานะส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์ชาติไทยที่สัมพันธ์กับอารยธรรมเขมรโบราณ ทั้งหมดนี้มักถูกนำเสนอออกมาในสื่อสาธารณะหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นวิทยุกระจายเสียง บทเพลง ภาพถ่าย หนังสือพิมพ์ สื่อโทรทัศน์ หนังสือทั่วไป หรือแม้แต่ที่ปรากฏในตราสัญลักษณ์และคำขวัญประจำจังหวัดดังต่อไปนี้

         ตราประจำจังหวัด
         (พ.ศ. 2483-2512)

ศรีสะเกษ แดนปราสาทขอม

หอมกระเทียมดี มีสวนสมเด็จ เขตดงลำดวน

หลากล้วนวัฒนธรรม เลิศล้ำสามัคคี

คำขวัญประจำจังหวัดศรีสะเกษ

แต่งโดย นายประเมธ เพราะพินิจ เริ่มใช้เมื่อ พ.ศ. 2530-ปัจจุบัน

 ตราประจำจังหวัด
 (พ.ศ. 2512-ปัจจุบัน)

คำขวัญและตราประจำจังหวัดถือเป็นหัวใจสำคัญอย่างหนึ่งของจังหวัดต่างๆ ในประเทศไทย และกลายเป็นเสมือนสิ่งที่แสดงถึงอัตลักษณ์เฉพาะที่บ่งบอกถึงความพิเศษในด้านต่างๆ ของจังหวัดนั้นๆ โดยปริยาย

ไม่ว่าจะเป็นสถานที่ท่องเที่ยว บุคคลสำคัญ อนุสาวรีย์ อาหาร ทรัพยากรทางธรรมชาติ วิถีชีวิต วัฒนธรรม และ/หรือแม้แต่รากฐานทางประวัติศาสตร์ก็มักจะได้รับการบรรจุเข้าเป็นส่วนหนึ่งในคำขวัญและตราประจำจังหวัดอยู่เสมอ ซึ่งในกรณีของจังหวัดศรีสะเกษ

หากย้อนกลับไปพิจารณาจากคำขวัญประจำจังหวัดก็จะพบร่องรอยทางประวัติศาสตร์สำคัญที่บ่งบอกถึงอัตลักษณ์เฉพาะในประวัติศาสตร์ศรีสะเกษก็คือการเป็น “ดินแดนปราสาทขอม” จากคำสั้นๆ คำนี้บ่งบอกถึงความสอดคล้องกับภาพปราสาทหินที่ปรากฏในตราประจำจังหวัดอย่างมีนัยสำคัญ

จากความสอดคล้องดังกล่าว ในแง่หนึ่งผู้เขียนมองว่าทั้งข้อความและภาพที่ปรากฏอยู่นั้น แสดงให้เห็นถึงความผูกพันทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมของจังหวัดศรีสะเกษที่รับเอามาจากอารยธรรมเขมรโบราณเป็นสำคัญ ซึ่งการสร้างอัตลักษณ์เฉพาะของจังหวัดศรีสะเกษเช่นนี้เองที่ผู้เขียนมองว่า (อย่างน้อยนับตั้งแต่มีการเริ่มใช้คำขวัญประจำจังหวัดมาตั้งแต่ประมาณ พ.ศ. 2530 เป็นต้นมา) อาจจะเป็นไปได้ที่อัตลักษณ์ความเป็นเขมร ได้เริ่มถูกบันทึกและถูกสร้างให้เป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์ศรีสะเกษอย่างเป็นทางการครั้งแรก สอดคล้องกับการที่กระแสการศึกษาประวัติศาสตร์ท้องถิ่นในประเทศไทยและการท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมภายในประเทศ ได้รับความสนใจในทุกมิติ

ดังนั้นจึงส่งผลทำให้ส่วนราชการต่างๆ โดยเฉพาะที่ทำหน้าที่อนุรักษ์วัฒนธรรมและส่งเสริมการท่องเที่ยวของรัฐที่มีสำนักงานประจำอยู่ทุกจังหวัดทั่วประเทศ ต้องสร้างอัตลักษณ์เฉพาะถิ่นขึ้นมา เพื่อให้ชุมชนท้องถิ่นตระหนักรู้ถึงความเปลี่ยนแปลงของสังคมโดยรวม สำนึกรักในตัวตนและอัตลักษณ์ของตนเอง ซึ่งการสร้างความเป็นเขมรในประวัติศาสตร์ศรีสะเกษก็น่าจะได้รับอานิสงส์จากสภาพการณ์ดังกล่าวเช่นกัน

ไม่เพียงแต่คำขวัญและตราประจำจังหวัดเท่านั้นที่แสดงให้เห็นถึงการสร้างอัตลักษณ์ความเป็นเขมรในจังหวัดศรีสะเกษ แต่การมีพื้นที่ลักษณะทางภูมิศาสตร์ใกล้ชิดกันกับอาณาบริเวณอารยธรรมขอมโบราณของจังหวัดนี้เมื่อครั้นอดีต ก็ถือเป็นปัจจัยสำคัญอีกประการหนึ่งที่ทำให้ร่องรอยทางอารยธรรมเขมร (ซึ่งต่อมาเป็นมรดกทางประวัติศาสตร์) กลายเป็นหลักฐานสนับสนุนทำให้อารยธรรมเขมรเด่นชัดมากขึ้น ดังเช่นปราสาทเขมรโบราณที่พบกระจัดกระจายอยู่ในพื้นที่ต่างๆ เช่น ปราสาทหินเขาพระวิหาร ปราสาทโดนตวล ปราสาทสระกำแพงใหญ่ ปราสาทลุมพุก (ตาเล็ง) ปราสาทตำหนักไทร ปราสาทบ้านปราสาท ปราสาทปรางค์กู่ เป็นต้น

ขณะเดียวกัน ความใกล้ชิดทางภูมิศาสตร์เช่นนี้ยังทำให้ผู้คนเกิดการเคลื่อนย้ายปะทะสังสรรค์กันไปมา จึงทำให้ตัวพื้นที่ของจังหวัดศรีสะเกษกลายเป็นที่รองรับกลุ่มผู้คนที่อาศัยอยู่ใกล้เคียงให้มาตั้งหลักแหล่งบริเวณนี้ด้วย ซึ่งแน่นอนว่าการเคลื่อนย้ายของผู้คนเช่นนี้ มิใช่เป็นเพียงการเคลื่อนย้ายเฉพาะตัวบุคคลและสำมโนครัวประชากรเท่านั้น แต่ยังเคลื่อนย้ายมาพร้อมกับองค์ความรู้ ความคิด และวัฒนธรรมดั้งเดิมที่ติดตัวของผู้คนที่อพยพเข้ามาด้วย

ดังนั้นอาจกล่าวได้ว่า คนเขมรที่เคลื่อนย้ายเข้ามาในบริเวณจังหวัดศรีสะเกษ จึงน่าจะกลายเป็นผู้ขับเน้นและบ่มเพาะวัฒนธรรมชุมชนท้องถิ่นให้ปรากฏในประวัติศาสตร์ศรีสะเกษเด่นชัดมากขึ้น รวมถึงมีการปรับตัวเพื่อให้มีลักษณะที่ยืดหยุ่นต่อความเปลี่ยนแปลงของผู้คนและบริบทสังคมอยู่เสมอ

ดังที่ได้สัมภาษณ์นายจัน ศรีอุทุมพร ชาวบ้านในอำเภอกันทรลักษ์ อายุ 75ปี ได้เล่าเรื่องเกี่ยวกับความเป็นมาของเมืองกันทรลักษ์ให้ฟังว่า

“…ตนเป็นลูกหลานของพระยาขุขันธ์ภักดี (วัง) ซึ่งมีศักดิ์เป็นคุณตาทวด เป็นชาวเขมร เล่าสืบต่อกันมาว่าในสมัยก่อนนั้นเมืองอุทุมพรพิสัยเดิมอยู่ในเขตประเทศกัมพูชา ต่อมาได้ย้ายขึ้นมาอยู่ในประเทศไทย โดยมาตั้งเมืองที่บริเวณบ้านผือเก่าและบ้านผือใหม่ เขตอำเภอกันทรลักษ์ในปัจจุบัน เมืองอุทุมพรพิสัยที่ย้ายมานี้จึงได้ใช้ชื่อเดิมคือเมืองอุทุมพรพิสัย แต่ต่อมาเมืองอุทุมพรพิสัยได้ย้ายอีกครั้งหนึ่งไปตั้งตัวอำเภอเมืองกันทรลักษ์แทน ด้วยเหตุผลว่าเพราะพื้นที่ของบ้านผือแคบเกินไปที่จะตั้งเมืองได้ และยังประสบกับเหตุการณ์น้ำท่วมห้วยขะยุงด้วย…(5)  

จากข้อมูลการสัมภาษณ์จะเห็นว่าร่องรอยการเคลื่อนย้ายของผู้คนยังคงปรากฏในความทรงจำของผู้คนท้องถิ่นคนเขมรอย่างชัดเจน โดยเฉพาะประเด็นเรื่องการเคลื่อนย้ายเมืองจากกัมพูชาเข้ามาอยู่ในฝั่งดินแดนไทย และพยายามปรับตัวให้สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงของผู้คนและบริบทสังคม

จากสภาพการณ์ที่ได้กล่าวมาข้างต้น อาจจะสรุปได้ไม่ชัดเจนว่าอัตลักษณ์ความเป็นเขมรในประวัติศาสตร์ศรีสะเกษมีที่มาจากกระบวนการสร้างความรู้ทางประวัติศาสตร์ในแบบอื่นอีกหรือไม่ แต่อย่างน้อยที่สุดมี 2 ส่วนด้วยกันที่สร้างให้ความเป็นเขมรในประวัติศาสตร์ศรีสะเกษโดดเด่นมากขึ้น ส่วนแรก เกิดขึ้นจากการกระตุ้นโดยหน่วยราชการของรัฐ เช่น สำนักงานวัฒนธรรมประจำจังหวัด สถาบันการศึกษา มหาวิทยาลัย ฯลฯ และส่วนที่สอง เกิดขึ้นจากลักษณะเฉพาะทางชาติพันธุ์และภาษาของคนเขมรท้องถิ่นที่ดำรงอยู่ในพื้นที่ต่างๆ ของจังหวัดศรีสะเกษเองที่ทำให้ความเป็นเขมร กลายเป็นจุดสนใจที่สุดจุดหนึ่งในหน้ากระดาษประวัติศาสตร์ศรีสะเกษ

แต่ถึงกระนั้น เรื่องราวประวัติศาสตร์เช่นนี้ดูจะยังไม่ได้รับการกล่าวถึงมากนักในวงวิชาการประวัติศาสตร์ท้องถิ่นไทยและอีสาน รวมถึงยังคงอยู่ห่างไกลจากความสนใจของคนไทยส่วนใหญ่เป็นอันมาก ดังนั้นจึงทำให้องค์ความรู้ที่จะมาแต้มเติมให้ประวัติศาสตร์ศรีสะเกษสมบูรณ์มากขึ้น ยังคงถูกละเลยจากความสนใจของผู้คนไปอย่างน่าเสียดาย และนั่นจึงเป็นเหตุผลว่าทำไมประวัติศาสตร์ “ศรีสะเกษ” ตลอดหลาย 10 ปีที่ผ่านมาจึงดูอ่อนแอเปราะบาง และมักจะถูกบิดเบือนข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ได้แสนง่ายดาย  

อ้างอิง

(1) ธงชัย วินิจจะกูล, “ประวัติศาสตร์ท้องถิ่นของชาติไทยกับประวัติศาสตร์ท้องถิ่น (เฉยๆ),” ใน ประวัติศาสตร์นอกขนบ (มหาสารคาม:  อินทนิล, 2555), หน้า 28-36.

(2) พระเทพวรมุนี, “คำนิยม,” ใน ประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม และภูมิปัญญาท้องถิ่น ประวัติอำเภอ ตำบล หมู่บ้าน ของจังหวัดศรีสะเกษ (ศรีสะเกษ: ศรีสะเกษการพิมพ์, 2549), คำนิยม.

(3) พระเทพวรมุนี, “สรุปการสัมมนาประวัติศาสตร์ศรีสะเกษ,” http://lek-prapai.org/home/view.php? id=895 (เข้าถึงเมื่อ 3 กุมภาพันธ์ 2562).

(4) ธงชัย วินิจจะกูล, “ประวัติศาสตร์ท้องถิ่นของชาติไทยกับประวัติศาสตร์ท้องถิ่น (เฉยๆ),” ใน ประวัติศาสตร์นอกขนบ (มหาสารคาม:  อินทนิล, 2555), หน้า 28-36.

(5) พิพัฒน์ กระแจะจันทร์, ประวัติศาสตร์ผู้คนบนเส้นพรมแดนเขาพระวิหาร (กรุงเทพฯ: มติชน, 2556), หน้า 38.

image_pdfimage_print