เรียบเรียงโดย เศรษฐศาสตร์ วัตรโศก

ตลาดสดบ้านโนนม่วงในช่วงเย็นของแต่ละวันจะมีผู้คนจับจ่ายซื้อของกันอย่างเนืองแน่น แม้ว่าตลาดสดแห่งนี้จะถูกขนาบด้วยห้างสะดวกซื้อ 7-Eleven และ Tesco Lotus Express จำนวนกว่า 3 แห่งก็ตาม (ภาพโดยผู้เขียน)

งานสัมมนาเรื่อง “กำเนิดและพัฒนาการของตลาดสดและผู้ค้ารายย่อยในชนบทอีสาน” ซึ่งจัดขึ้นที่คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน พ.ศ. 2562 ที่ผ่านมา

โดยงานสัมมนาดังกล่าวมีการพูดถึงพัฒนาการของตลาดสดและการเกิดขึ้นของผู้ค้ารายย่อยตามชุมชนในภาคอีสาน รวมถึงมีการวิเคราะห์ความเชื่อมโยงระหว่างรูปแบบการค้าของผู้ค้ารายย่อยในตลาดกับวัฒนธรรมบริโภคและเศรษฐกิจในวงกว้าง เพื่อชี้ให้เห็นถึงการปรับตัวเพื่อความอยู่รอดของพ่อค้าแม่ค้ารายย่อย

ผู้เขียนมีโอกาสเข้าร่วมงานและจับประเด็นที่น่าสนใจมาเล่าสู่กันฟัง ผสมผสานไปกับข้อมูลที่ผู้เขียนได้เตร็ดเตร่เก็บรวบรวมตามตลาดสดในยามว่าง

ความสำคัญของตลาดสด

“ยายสีมีไก่มาขาย       แม่หมายสับบักหุ่งใส่ถุงพ้อม

ตาหอมเก็บกะเดาเอามามัด     ถั่วตัดเอื้อยอ่ำมานำกัน

พ่อใหญ่สามาเลาะหาซื้อหลายอัน   ย้อนวันจันทร์มีงานอยู่บ้านเพิ่น

นี่คือตะเอ๋ยตลาด                     สะอ้านสะอาดเป็นตาย่างเดิน

คนขายยิ้มแย้มคนซื้อเพลิดเพลิน          เมืองเจริญตลาดใหญ่ไปคู่กัน

ตลาดหรือคือที่ขายสินค้า                    คือชีวิตเป็นชีวาสร้างสีสัน

ข้าวของมากมายให้เลือกสรร    แบ่งปันแลกเปลี่ยนหมุนเวียนไป

มีตลาดมีเงินมีรายได้           เศรษฐกิจก้าวไกลไทยเจริญ”

บทกวีโดย “นักวิจัยพเนจร”

ในจดหมายข่าว WeSD ฉบับที่ 2/2562

บทกวีข้างต้นได้รับการแจกจ่ายให้กับผู้เข้าร่วมงานสัมมนา ผู้เขียนเห็นว่ามีความน่าสนใจ เพราะนอกจากจะพรรณนาถึงสภาพแวดล้อมการซื้อขายสินค้าภายในตลาดแล้ว ยังพบว่าตลาดมิใช่เพียงสถานที่ดำเนินกิจกรรมซื้อขายแลกเปลี่ยนสินค้าเท่านั้น แต่มีการสะท้อนร่องรอยความสัมพันธ์ระหว่างตลาดกับวีถีชีวิตของผู้คนในรูปแบบต่างๆ

ตลาดเปรียบเสมือนปากท้องของผู้คน สามารถสะท้อนสภาพชีวิตความเป็นอยู่ สภาพเศรษฐกิจ รวมถึงสะท้อนการเปลี่ยนแปลง การปรับตัว และการเอาตัวรอดของผู้คนในท้องถิ่นนั้นๆ  ภายใต้บรรยากาศของตลาดซึ่งมีความจอแจ วุ่นวาย ของทั้งผู้ค้าและผู้คนที่มาเดินตลาดสด

เมื่อสภาพสังคมเกิดความเปลี่ยนแปลงในแต่ละช่วงเวลา บทบาทและสถานการณ์ของตลาดสดจึงเลี่ยงไม่ได้เลยที่จะได้รับผลกระทบจากความเปลี่ยนแปลงต่างๆ ที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะการเกิดขึ้นของห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่ที่มีการปรับตัวและกระจายสาขาจากระดับตัวจังหวัดเข้าสู่พื้นที่ระดับอำเภอ

ความเปลี่ยนแปลงของตลาดสดหลังการเกิดขึ้นของ Modern Trade

การค้าปลีกสมัยใหม่ (Modern Trade) เป็นการค้าขายที่มีประสิทธิภาพสูง สะดวกสบาย มุ่งเน้นการนำเสนอสินค้าที่หลากหลาย มีการนำระบบเทคโนโลยีมาใช้ดำเนินการให้เกิดความรวดเร็วและสะดวกสบายในการค้าขาย รวมถึงจัดระเบียบ ตกแต่งสถานที่ให้สวยงาม เพื่อเอื้ออำนวยให้ผู้ซื้อสินค้าได้รับความสะดวกสบายมากที่สุด ในบางครั้งมีการจัดโปรโมชั่นเพื่อกระตุ้นยอดขายอีกด้วย ธุรกิจที่มีลักษณะ Modern Trade ยกตัวอย่างเช่น 7-Eleven, Big C-mini, และ Lotus Extra

การขยายตัวของ Modern Trade ก่อให้เกิดการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของลูกค้าที่เริ่มหันหลังให้กับการซื้อของในตลาดสด ยกตัวอย่างเช่นเหตุผลในเรื่องของความสะดวกสบายตามสไตล์ห้างสรรพสินค้า ความเป็นระเบียบและความสะอาดของสถานที่ เหตุผลเหล่านี้ได้ส่งผลให้ยอดขายของผู้ค้าในตลาดสดลดน้อยลง

นอกจากนี้การดำเนินนโยบายของรัฐ อาทิ การจัดตลาดธงฟ้าประชารัฐและการแจกบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ก็ยังเป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ส่งผลกระทบต่อผู้ค้าในตลาดสดให้มีรายได้ที่ลดน้อยลง เนื่องจากผู้ค้ารายย่อยไม่สามารถเข้าสู่ระบบของการเป็นร้านค้าประชารัฐได้ทั้งหมด

ดังนั้น ในช่วงเวลาที่มีการดำเนินนโยบายเหล่านี้ ผู้ค้าในตลาดสดจึงได้รับผลกระทบจากการที่ลูกค้าหันไปซื้อสินค้าตามช่องทางที่รัฐได้จัดสรรผ่านโครงการประชารัฐ

นางบัวผัน จันทร์พวง (ขวา) ตัวแทนแม่ค้าจากตลาดสด อ.เดชอุดม จ.อุบลราชธานี เล่าถึงผลกระทบจากการดำเนินนโยบายบัตรสวัสดิการแห่งรัฐและตลาดประชารัฐ ที่ส่งผลให้พ่อค้าแม่ค้ารายย่อยในตลาดสดขายของได้น้อยลง (ภาพโดยผู้เขียน)

การปรับตัวและการเอาตัวรอดของชาวตลาดสด

ภายในงานสัมมนาได้มีการนำเสนอและแลกเปลี่ยนมุมมองเกี่ยวกับการปรับตัวและการเอาตัวรอดของผู้ค้ารายย่อยในตลาดสด ท่ามกลางกระแสการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและเศรษฐกิจที่มีการกระจายตัวของ Modern Trade เข้าสู่แทบทุกพื้นที่ โดยพบว่ามีอย่างน้อย 5 แนวทางที่สำคัญดังนี้

ตลาดสด ของสดและมีความหลากหลาย

ตลาดสดมักจะมีจุดเด่นที่สำคัญคือการชูความสดและความหลากหลายของสินค้าโดยเฉพาะสินค้าพื้นบ้าน ผู้ค้าในตลาดสดส่วนใหญ่มักไม่ทำการเก็บตุนสินค้าสดไว้เป็นเวลานาน เนื่องจากจะกลายเป็นภาระค่าใช้จ่ายในเรื่องการเก็บรักษาสภาพ

ดังนั้นเมื่อมีการจำหน่ายสินค้าสด อาทิ เนื้อสัตว์ ผัก ผู้ค้ามักจะไม่ทำการสำรองสินค้าไว้เป็นจำนวนมาก แต่จะเก็บตุนไว้เฉพาะปริมาณที่คาดว่าจะจำหน่ายหมดได้ภายใน 1-2 วันเท่านั้น นอกจากนี้ การจำหน่ายอาหารพื้นบ้านก็ยังคงเป็นจุดแข็งของผู้ค้าตลาดสด ที่บรรดาห้างสะดวกซื้อยังไม่สามารถตอบโจทย์ผู้บริโภคได้ในปัจจุบัน

ปูพื้นบ้าน ถูกวางขายในตลาดสดเล็กๆ แห่งหนึ่งในเขต จ.มุกดาหาร เป็นหนึ่งในอาหารพื้นบ้านที่ไม่มีจำหน่ายตามห้างสะดวกซื้อ (ภาพโดยผู้เขียน)

ราคาขายที่ค่อนข้างถูก

บัวผัน จันทร์พวง แม่ค้าจาก อ.เดชอุดม จ.อุบลราชธานี เล่าประสบการณ์การปรับตัวของผู้ค้ารายย่อยเกี่ยวกับรูปแบบการจำหน่ายสินค้าและการกำหนดราคาไว้ตอนหนึ่งน่าสนใจว่า

“…บางวันเราก็ให้ลูกพาไปเดินดูในโลตัส เห็นเขาทำเครื่องผัดเครื่องแกงมัดรวมๆกัน เราดูแล้วต้นทุนน่าจะประมาณ 10 บาท 15 บาท แต่เขาทำขาย 25-35 บาท เราก็กลับมาแล้วก็ทำแบบเขา แต่เราขาย 20 บาท ลูกค้าก็กลับมา มันก็พออยู่ได้ ภูมิใจในอาชีพเพราะทำมาตั้งแต่เด็ก ถ้าไม่ขายของก็ไม่รู้จะไปทำอะไร…”

นอกจากนี้ ดารา คัณทักษ์ แม่ค้าในตลาดสด อ.ศรีสงคราม จ.นครพนม ยังได้ให้ข้อมูลว่าการซื้อของในตลาดสดไม่จำเป็นต้องใช้เงินจำนวนมากนัก

ยกตัวอย่างหากลูกค้ามีเงินจำนวน 10 บาท ก็สามารถซื้อพริก มะเขือ กระเทียม เพียงเท่านี้ก็สามารถนำไปประกอบอาหารเป็นเมนูน้ำพริกมะเขือได้แล้ว เนื่องจากสินค้าบางประเภท เช่น ผัก ผลไม้ ผู้ค้าสามารถจำหน่ายได้ในราคาถูกกว่าห้างสรรพสินค้าเนื่องจากผู้ค้าเป็นผู้ผลิตเอง การคำนวณราคาจึงไม่มีพ่อค้าคนกลางมาเป็นปัจจัยทำให้ราคาสินค้าเพิ่มขึ้น

เป็นกันเองเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่

“…ป้าขายของบ่แพง เพราะว่าบางคนเขากะบ่มีเงิน อย่างข้าวสาร 5 บาท 10 บาท ป้ากะแบ่งขาย ข่หน่วยเดียวกะขาย หลูโตนเขา จั่งเหล้าขาว ขั่นเขาบ่อยากซื้อเป็นขวด กะซื้อทีละเป๊กกะมี ลูกค้าประจำบางคนขั่นเขาบ่มี เขากะขอป้าเซ็นต์ไว้ก่อน ป้ากะให้เขาเซ็นต์ พอได้ช่วยเหลือกันไป…”

นี่เป็นคำตอบของหญิงสูงอายุเจ้าของร้านชำแห่งหนึ่งในตลาดสดบ้านโนนม่วง อ.เมือง จ.ขอนแก่น หลังผู้เขียนถามว่าร้านของชำได้รับผลกระทบอย่างไรจากห้างค้าปลีกอย่าง 7-Eleven จำนวน 2 แห่ง และ Lotus Extra อีก 1 แห่ง ที่มาเปิดตั้งอยู่ไม่ไกลจากร้านขายของชำ คำตอบได้สะท้อนให้เห็นถึงปัจจัยในการซื้อขายที่มีมากกว่าการค้า แต่กลับรวมถึงการมีเรื่องของความไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างผู้ค้าและลูกค้า การมีน้ำใจและความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ที่ผู้ค้าเปิดโอกาสให้กับกลุ่มลูกค้าที่มีรายได้ไม่สูงนัก

การพัฒนาการให้บริการลูกค้า

สมัยก่อนผู้ค้าบางส่วนไม่ได้ใส่ใจลูกค้าที่มาซื้อของมากนัก ต่อมาเมื่อมีคู่แข่งทางการค้ามากขึ้น ลูกค้ามีตัวเลือกในการซื้อหาสินค้ามากขึ้น ผู้ค้าจึงจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนการบริการลูกค้าให้ดีมากขึ้น เช่น สมัยก่อนผู้ค้าอาจไม่มีบริการขนส่งสินค้าไปส่งที่รถของลูกค้า แต่ในปัจจุบันผู้ค้าหลายๆ รายเริ่มมีการปรับตัว มีการให้บริการขนส่งสินค้าไปยังรถของลูกค้า โดยเฉพาะเมื่อมีการซื้อขายสินค้าที่มีน้ำหนักมากซึ่งลูกค้าไม่สะดวกถือไปด้วยตนเอง

หาจุดแข็งของตัวเอง

อารยานี เนียมประดิษย์ ผู้จัดการตลาดบางลำภู จ.ขอนแก่น ได้เสนอถึงแนวทางการปรับตัวและเอาตัวรอดของผู้ค้าในตลาดสด โดยชี้ว่าปัจจุบันการค้าขายเป็นเรื่องของปลาใหญ่กินปลาเล็ก ผู้ค้ารายย่อยมักเสียเปรียบกลุ่มทุนที่มีกำลังทรัพย์สูงกว่า เพราะฉะนั้นผู้ค้ารายย่อยจึงจำเป็นต้องและใช้จุดแข็งให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด นอกจากนั้นยังมีการเสนอให้พ่อค้าแม่ค้าตลาดสดควรมีการรวมตัวกันเป็นกลุ่มก้อนเพื่อกำหนดราคาหรือยุทธศาสตร์ในการซื้อขาย ไม่ควรแข่งกันกันเอง ไม่ตัดราคากันเอง เพราะเรื่องเหล่านี้ล้วนจะบ่อนทำลายระบบการค้าของผู้ค้ารายย่อย

image_pdfimage_print