โดย กนกวรรณ มะโนรมย์
ธรรมชาติของแม่น้ำมีความซับซ้อน หลากหลายมิติ กว้างขวาง เลื่อนไหล ตื้นเขิน กว้างไกล แคบ ลึกจนหยั่งไม่ถึง เว้าออก เว้าเข้า เชี่ยวกราด เอื่อยๆ เนิบนาบ นิ่งสงบ เย็น ร้อน เน่า หรือเหม็น ปรับเปลี่ยนตามฤดูกาลและบริบทการพัฒนา
นิยามความหมายของแม่น้ำก็ไม่ต่างจากธรรมชาติของแม่น้ำ นั่นคือ มีความซับซ้อน ขึ้นอยู่กับความสัมพันธ์ระหว่างคนกลุ่มต่างๆ กับแม่น้ำ ผ่านการใช้ประโยชน์เชิงสังคม วัฒนธรรม สัญลักษณ์ เศรษฐกิจและการเมือง
ดังนั้น การต่อสู้คนท้องถิ่นเพื่อรักษาแม่น้ำจึงไม่ง่าย เพราะต้องเผชิญกับอำนาจของภาครัฐและทุนที่มีมากกว่า ที่เข้ามากำกับและครอบงำการจัดการและนิยามความหมายของแม่น้ำ จนทำให้คนในท้องถิ่นต้องต่อสู้เพื่อช่วงชิงการนิยามความหมายของแม่น้ำ และใช้ความหมายดังกล่าวเพื่อเป็นเครื่องมือในการต่อสู้ช่วงชิงอำนาจในการบริหารจัดการและรักษาแม่น้ำจากรัฐและนายทุน
การประชุมใหญ่เรื่อง “ผู้หญิงและแม่น้ำ” (Women and Rivers Congress 2019) ที่เมืองนากากอต ประเทศเนปาล (ภาพจาก: NEW SPOTLIGHT ONLINE)
การประชุมใหญ่เรื่อง “ผู้หญิงและแม่น้ำ” (Women and Rivers Congress 2019) ที่เมืองนากากอต ประเทศเนปาล ระหว่างวันที่ 6-10 มีนาคม พ.ศ. 2562 ที่ผ่านมา จัดโดยองค์กรแม่น้ำนานาชาติ (International Rivers) มีผู้หญิงจากลุ่มน้ำหลักๆของโลก จากทุกทวีป ใน 32 ประเทศ จำนวนนับร้อยกว่าคนเข้าร่วม
ผู้เขียนได้มีโอกาสเข้าร่วมประชุมนี้ และสัมผัสได้ถึงอารมณ์และความรู้สึกเปราะบาง ปะปนกับความเข้มแข็ง พลังบวก และอำนาจของผู้หญิง ในการช่วงชิงความหมายของแม่น้ำ และใช้ความหมายดังกล่าวเพื่อเป็นเครื่องมือเชิงอุดมการณ์และเทคนิคในการต่อสู้ เรียกร้อง ต่อรองกับรัฐ ทุน และระบบชายเป็นใหญ่ เพื่อปกป้องสิทธิ์และความเป็นธรรมในการจัดการแม่น้ำ ทั้งเชิงนโยบายและปฎิบัติการในพื้นที่
เมื่อผู้เขียนหันมามองผู้หญิงที่ต่อสู้เรื่องเขื่อนและแม่น้ำในภาคอีสาน เช่น เขื่อนปากมูล เขื่อนหัวนา และเขื่อนราษีไศล อีกทั้งเขื่อนในแม่น้ำโขง ทั้งที่สร้างในประเทศจีนและประเทศลาว ที่ส่งผลกระทบต่อคนอีสาน ก็พบว่า การที่ผู้หญิงลุกขึ้นมาร่วมสู้กับรัฐและทุน เคียงบ่าเคียงไหล่กับผู้ชายทั้งหลาย ส่วนสำคัญส่วนหนึ่งเกิดมาจากการที่ผู้หญิงให้ความหมายกับแม่น้ำเฉกเช่นเดียวกับผู้หญิงทั่วโลกที่รวมตัวกัน ณ ประเทศเนปาล
ที่นั่น ผู้หญิงเห็นว่าแม่น้ำมิได้มีความหมายตื้นเขินเพียงเรื่องของธรรมชาติเพื่อให้มนุษย์นำมาใช้ประโยชน์ในการเพาะปลูก เลี้ยงสัตว์ ชำระล้างร่างกาย สิ่งต่างๆ นำมากิน มาใช้ มาหุงหาอาหาร สร้างเงินตรา
แต่ความหมายของแม่น้ำมีมากกว่านั้น แม่น้ำถูกสร้างให้มีอัตลักษณ์ทางสังคมวัฒนธรรมและเศรษฐกิจ เป็นพื้นที่แห่งการสร้างความภูมิอกภูมิใจ พื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ พื้นที่ลี้ลับ เชื่อว่าเป็นที่อยู่ของผีหรือเจ้าที่ที่อาศัยในแม่น้ำ พื้นที่ของการพักผ่อนหย่อนใจ และพื้นที่ของการทำมาหากินและสร้างความมั่งคั่ง
แม่น้ำคือ แหล่งอาหารและรายได้ บ้านตามุย อ.โขงเจียม จ.อุบลราชธานี
ความหมายบางส่วนสอดคล้องกับ Holyfield and Lilian (2003) ที่กล่าวว่าแม่น้ำมีองค์ประกอบของความหรรษา ความสุขทางใจและสุนทรีย์ พร้อมๆ กับการทำหน้าที่ด้านการผลิต ได้แก่ การมองที่ทรัพยากรน้ำก็เป็นปัจจัยการผลิต
การแสดงออกผ่านการบอกเล่าของผู้หญิงในที่ประชุมที่เนปาล และจากพื้นที่ที่ผู้เขียนเคยเข้าไปเก็บข้อมูลเกี่ยวกับผลกระทบของเขื่อนปากมูล จ.อุบลราชธานี และเขื่อนหัวนา จ.ศรีสะเกษ ทำให้ผู้เขียนนึกถึงบทความเรื่องหนึ่งที่เขียนเกี่ยวกับ “จิตสำนึกลุ่มน้ำ” (The Catchment Consciousness) ของ Selman และคณะ (2010) ที่ได้วิเคราะห์ “จิตสำนึกลุ่มน้ำ” ว่าเกิดจากการมี “ส่วนร่วมในจิตนาการ” (Imaginative Engagement) ของผู้คนที่อาศัยในลุ่มน้ำ ซึ่งคณะผู้เขียนบทความได้จัดการอบรมเชิงปฏิบัติการเกี่ยวกับการเขียนเชิงสร้างสรรค์ (Creative Writing Workshop) ให้กับคนในท้องถิ่นเกี่ยวกับการฟื้นฟูแม่น้ำ (Recovering River) ที่เกิดมาจากผลกระทบของอุตสาหกรรม
ผลจากการจัดอบรมดังกล่าว ทำให้ทราบว่า ผู้คนมีจินตนาการเกี่ยวกับแม่น้ำที่หลากหลายร่วมกัน มีความลึกซึ้งเกี่ยวกับแม่น้ำ ทั้งเชิงศิลปะ การเมือง สังคม วัฒนธรรม ความงาม และความหายนะที่เกิดจากการพัฒนาอุตสาหกรรมที่มีต่อแม่น้ำ
ความงามของแม่น้ำโขง ตะวันอ้อมโขง ณ หมูบ้านตามุย อ. โขงเจียม จ.อุบลราชธานี
ณ การประชุมที่เนปาล ผู้หญิงบางคนกล่าวว่า การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในแม่น้ำของกลุ่มคนที่มีอำนาจมากกว่าผู้หญิงและคนท้องถิ่น ทำให้แม่น้ำมีความหมายเชิงการเมืองเพิ่มขึ้นมาอีก เพราะกิจกรรมทางเศรษฐกิจดังกล่าวได้สร้างปรากฎการณ์การแย่งชิงแม่น้ำระหว่างกลุ่มคนอื่นๆ ที่ไม่ใช่คนท้องถิ่นกับคนท้องถิ่นมากขึ้นทั่วทุกมุมโลก นับจากตีนเขาหิมาลัย ลุ่มน้ำอะเมซอน ลุ่มน้ำโขง ลุ่มน้ำแดง ลุ่มน้ำสาละวิน ลุ่มน้ำคงคา และ ลุ่มน้ำแยงซีเกียง รวมทั้งสาขาของแม่น้ำเหล่านี้ นั่นคือเสียงสะท้อนของผู้หญิงในการประชุมครั้งนี้
ถ่ายภาพโดย เพียรพร ดีเทศน์ (International Rivers)
สำหรับผู้หญิงอีสาน พบว่าพวกเธอได้ผลิตสร้างความหมายของแม่น้ำสาขาหลักและสาขารองของแม่น้ำโขง ได้แก่ แม่น้ำมูล แม่น้ำชี และแม่น้ำสงคราม รวมทั้งสาขาย่อยๆ ของแม่น้ำเหล่านี้มาหลายชั่วอายุคน ความหมายของแม่น้ำถูกส่งต่อผ่านคนรุ่นต่างๆ และปรับเปลี่ยนไปตามบริบทของสังคม เศรษฐกิจและการเมือง
ผู้หญิงที่อาศัยริมแม่น้ำโขงที่บ้านตามุย อ.โขงเจียม จ. อุบลราชธานี เล่าว่ากระแสการเปลี่ยนแปลงของแม่น้ำโขงทำให้ความใกล้ชิดสนิทสนมของเธอและแม่น้ำเปลี่ยนแปลงไปมาก เธอไม่มั่นใจว่าควรจะลงไปหาปลาริมฝั่งแม่น้ำเมื่อใดจึงจะปลอดภัย เพราะระดับน้ำขึ้นลงโดยคาดคะเนได้ยาก เธอได้ยินคนพูดกันว่าแม่น้ำโขงเปลี่ยนแปลงไปเพราะมีเขื่อนสร้างอยู่ทางเหนือของแม่น้ำเป็นหลายร้อยกิโล
หรือกรณีของผู้หญิงในพื้นที่เขื่อนปากมูลเพื่อผลิตไฟฟ้า สะท้อนว่า แม่น้ำคือพื้นที่ของการทำมาหากิน เป็นเมืองหลวงของปลา ซึ่งเป็นแหล่งอาหารของพวกเธอ การออกมาสู้กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ก็เพื่อต้องการให้พื้นที่การทำมาหากินที่เป็นแม่น้ำ พื้นที่สังสรรค์ทางสังคมที่ตกทอดมาจากบรรพบุรุษ รวมทั้งสิทธิ์ในแม่น้ำที่เป็นของพ่อแม่ เช่น พื้นที่จับปลาที่ ที่เรียกว่า “ลวงปลา” ซึ่งเป็นมรดกที่พ่อแม่มอบให้กลับมานั้นถือเป็นเรื่องยากมากขึ้น และปัจจุบันพื้นที่ดังกล่าวได้สูญหายไปหมดเพราะมีเขื่อนเกิดขึ้น
กรณีเขื่อนหัวนาก็เช่นกัน พบว่า การสร้างเขื่อนหัวนาเพื่อการชลประทานได้ทำลายระบบแม่น้ำย่อยที่เรียกว่าระบบนิเวศแม่น้ำแบบบุ่งทาม (Wetlands) ซึ่งส่วนมากผู้หญิงจะเข้าไปใช้พื้นที่มาก เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่มีน้ำท่วมขังเป็นหย่อมๆ และบางฤดู มีระบบนิเวศย่อยๆ มากมายที่เหมาะกับการทำกิจกรรมทางเศรษฐกิจของคนท้องถิ่น เช่น ร่องน้ำ หนอง บึง ธารน้ำ ที่สูง ที่ลุ่ม พื้นที่ป่าสลับกับทุ่งนาและที่เนิน เป็นต้น
ดังนั้น จึงเหมาะสำหรับเป็นแหล่งหากินของผู้หญิง แหล่งเลี้ยงวัวควาย ทำนา เพาะปลูก หาปลา หาสัตว์น้ำต่างๆ เช่น หอย ปู และแมลง เป็นพื้นที่เข้าถึงง่ายไม่อันตรายเพราะน้ำไม่ลึก เขื่อนหัวนาทำให้เกิดน้ำท่วมพื้นที่บุ่งทามของผู้หญิง ความภาคภูมิใจของผู้หญิงที่ได้เข้าไปใช้พื้นที่ดังกล่าวลดน้อยลงไปเพราะพื้นที่ที่เคยเข้าไปใช้ประโยชน์ได้ถูกน้ำจากเขื่อนหัวนาท่วม ซึ่ง Pedroli (2005) เห็นว่า ความภาคภูมิใจในพื้นที่ของคน (People’s Pride in Place) หรือความประทับใจส่วนตัว (Personal Impression) เกิดจากการที่คนได้สร้างอัตลักษณ์หรือตัวตนให้กับพื้นที่ที่พวกเขาอยู่อาศัยและใช้ทำมาหากินและสร้างสังคมวัฒนธรรมร่วมกัน
ความภูมิใจในแม่น้ำชาวบ้านขนานนามพื้นที่ว่าเป็นโรงแรมดาวล้านดวง ชาวบ้านตามุย อ.โขงเจียม จ.อุบลราชธานี อธิบายพื้นที่แม่น้ำโขง
ดังนั้น นิยามความหมายของแม่น้ำของผู้หญิงและคนท้องถิ่นควรถูกนำมาประกอบการวางแผนร่วมกับความรู้ของภาควิชาการและรัฐ เพื่อการจัดการแม่น้ำอย่างยั่งยืนให้กับชุมชนอีสาน
อ้างอิง
Holyfield, L and Lilian J. 2003. From River God to Research
Grunt: Identity, Emotions, and the
River Guide. Symbolic Interaction. 26(2): 285-306. https://doi.org/10.1525/si.2003.26.2.285
Pedroli, B. 2005. The nature of lowland rivers: a search for river
identity. Pages 259-273 in J. A.
Wiens and M. R. Moss, editors. Issues and perspectives in landscape ecology. Cambridge University Press, Cambridge, UK
Selman, P., C. Carter, A. Lawrence and C. Morgan. 2010.
Re-connecting with a neglected river
through imaginative engagement. Ecology and Society 15(3): 18. [online] URL: http://www.ecologyandsociety.org/vol15/iss3/art18/