โดย ปฐวี โชติอนันต์

เคยคิดไหมว่า “จังหวัดอุบลราชธานี” เกิดขึ้นมาได้อย่างไร และรู้หรือไม่ว่า จังหวัดอุบลราชธานีเพิ่งจะเป็นจังหวัดหนึ่งของรัฐไทย (สยาม) เมื่อช่วงพ.ศ. 2476 นี้เอง 

ก่อนหน้านั้น อุบลฯ ไม่ใช่จังหวัด อุบลฯ เป็นแค่เมืองซึ่งมีอิสระในการปกครองตัวเอง มีแม้กระทั่งเจ้าผู้ปกครองเมืองของตัวเอง 

จนกระทั่งในช่วงต้นพุทธศตวรรษที่ 25 ช่วงการล่าอาณานิคมที่ประเทศอังกฤษเริ่มเข้ามายึดพม่าและมาเลเซีย ส่วนฝรั่งเศสก็เข้ามายึด เวียดนาม กัมพูชาและลาว ให้อยู่ภายใต้การปกครองของเจ้าอาณานิคมตะวันตกทั้งสองประเทศนั้น

“สยาม” ซึ่งเป็นเมืองที่มีอำนาจและมีอิทธิพลในบริเวณลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาในขณะนั้น ได้มีการปรับตัวเองในช่วงพ.ศ.2435 ด้วยการปฎิรูประบบราชการให้มีความทันสมัยและมีนโยบายในการรวมศูนย์อำนาจเข้าสู่ส่วนกลางเพื่อความอยู่รอดของอธิปไตย แต่ไม่ต้องการตกเป็นเมืองขึ้น

การปฏิรูปและปรับตัวของสยามในช่วงการล่าอาณานิคม ทำให้สยามถึงโอกาสการรวมศูนย์อำนาจผ่านการผนวกเมืองต่างๆ ที่เคยมีอิสระในการปกครองตนเองให้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของสยาม เช่น เมืองเชียงใหม่ เมืองนครศรีธรรมราช เมืองปัตตานี รวมถึงเมืองอุบลราชธานี เป็นต้น 

การฉวยโอกาสดังกล่าวทำให้สยามสามารถเข้ามาจัดการทรัพยากรทั้งทรัพยากรธรรมชาติ แรงงาน เข้าสู่ส่วนกลางได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น 

การกระทำดังกล่าวของสยามในขณะนั้นไม่ได้ต่างจากเจ้าอาณานิคมที่ล่าเมืองขึ้นในทวีปต่างๆ แต่ของสยามเป็นลักษณะของล่าอาณานิคมภายในภูมิภาค (Internal Colonial) ที่ ไชยันต์ รัชชกูล (Chaiyan Rajchagool,1994) เคยศึกษาไว้ 

คำถามสำคัญคือ สยามมีวิธีการอย่างไรในการผนวกเมืองที่เคยมีอิสระและอำนาจในการปกครองตนเองในอดีตให้เข้ามาอยู่ภายใต้การปกครองของสยามได้ ที่สำคัญคือ เกิดอะไรขึ้นกับเจ้าเมืองและผู้ปกครองที่เคยมีอำนาจในการปกครองเมือง ซึ่งภายหลังถูกแทนที่ด้วยข้าราชการส่วนภูมิภาคที่ถูกส่งลงมาจากสยามเพื่อทำหน้าที่แทนเจ้าเมืองและขุนนางท้องถิ่น

การส่งข้าหลวงเข้ามาประจำการในเมืองอุบลราชธานี เพื่อถ่วงดุล และตรวจสอบการทำงานเจ้าเมืองให้สามารถเก็บส่วยได้ตามที่กำหนด 

สยามได้มีการส่งข้าหลวงที่สำคัญสองท่านคือ พระยาศรีสิงหเทพ เจ้ากรมมหาดไทยฝ่ายเหนือ เป็นข้าหลวงรักษาเมืองลาวตะวันออกมาที่เมืองจำปาศักดิ์ ส่วนอีกท่านหนึ่งคือ หลวงภักดีณรงค์ (สิน ไกรฤกษ์) ปลัดบัญชีกระทรวงมหาดไทย เป็นข้าหลวงคนแรกของเมืองอุบลราชธานี เมื่อพ.ศ. 2434 ภายหลังได้มีการส่งพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงพิชิตปรีชากร มาประจำตำแหน่งข้าหลวงเมืองอุบลราชธานีคนเก่า กรมหลวงพิชิตปรีชากร ถูกส่งมาได้ 2 ปี ได้เสด็จกลับพระนคร หลังจากนั้นทางกรุงเทพได้ส่งกรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์ ผู้ที่มีความเชี่ยวชาญทางด้านการเมืองและการทหารให้เข้ามาเป็นข้าหลวงในเมืองอุบลราชธานีแทน กรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์นั้นประจำอยู่ที่เมืองอุบลราชธานีถึง 17 ปีด้วยกัน โดยเสด็จกลับพระนคร พ.ศ. 2453 

การลดสถานะของเจ้าเมืองอุบลราชธานีลงให้เป็นเพียงผู้ดำรงตำแหน่งทางราชการของสยาม 

การปกครองเมืองอุบลราชธานีแต่เดิมนั้นตำแหน่งเจ้าเมืองจะสืบทอดส่งต่อการทางสายเลือด อย่างไรก็ตาม ภายในเมืองอุบลราชธานีมีความขัดแย้งในด้านการปกครองระหว่างกลุ่ม เจ้าพรหมเทวานุเคราะห์วงศ์ (เจ้าหน่อคำ) กับ กลุ่มของเจ้านายอุบลราชธานี ความขัดแย้งดังกล่าวส่งผลให้ทางสยามใช้เป็นข้ออ้างเรียกตัวผู้ขัดแย้งทั้งสองฝ่ายคือ เจ้าพรหมเทวนุเคราะห์วงศ์และเจ้านายกลุ่มเจ้านายที่เป็นคู่กรณีลงมาไกล่เกลี่ย ข้อพิพาทที่กรุงเทพ แต่เจ้าที่ลงไปไกล่เกลี่ยข้อขัดแย้งทั้งสองฝ่ายนั้นต่างถึงอสัญกรรมโดยไม่ทราบสาเหตุ หลังจากนั้นสยามไม่มีการแต่การแต่งตั้งจากเมืองที่มาจากราชวงศ์ของท้องถิ่นอีกแต่ส่งคนจากส่วนกลางมาดำรงตำแหน่งเจ้าเมืองแทน และเปลี่ยนให้เจ้าราชวงศ์ท้องถิ่นเดิมที่เคยมีอำนาจทำหน้าที่ในการช่วยการปกครองและบริหารเมืองและรับเงินจากเบี้ยหวัดจากสยามแทน การที่เคยมีอำนาจปกครองและสามารถจัดเก็บภาษีได้ 

การยกเลิกกลุ่มคณะอาญาสี่ซึ่งเป็นการปกครองแบบลาวและเปลี่ยนการปกครองมาเป็นการปกครองในรูปแบบภูมิภาคและท้องที่ 

ความต้องการที่จะลดอำนาจของเจ้าเมืองและขุนนางท้องถิ่นอื่นๆ ลงโดยการสถาปนาอำนาจของสยามให้อยู่เหนือทุกกลุ่ม ในเมืองอุบลราชธานีนอกจากมีการยกเลิกตำแหน่งเจ้าและมีการแต่งตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดมาจากส่วนกลาง มีการแต่งตั้งปลัดเมือง ยกกระบัตรเมือง และผู้ช่วยราชการเมือง นอกจากนี้มีการยกเลิก การปกครองแบบเส้นและแขวงและเป็นการปกครองในระดับท้องที่โดยการตั้งอำเภอ ตำบลและหมู่บ้านขึ้นเพื่อดูแลคนในแต่ละพื้นที่ 

การสร้างขอบเขตพื้นที่การปกครองให้มีความชัดเจนให้การปกครองและการจัดการทรัพยากรในท้องถิ่นต่างๆ

สยามได้มีการออกแบบพื้นที่ในการจัดการปกครองใหม่เพื่อสอดรับกับระบบการบริหารราชการแผ่นดินที่ถูกนำเข้ามาใช้ในเมืองอุบราชธานี  สิ่งที่สยามทำคือ การตั้งมณฑล จังหวัด และ อำเภอ หมู่บ้าน ปรากฏการณ์นี้สะท้อนให้เห็นถึงวิธีคิดในเรื่องของการปกครองที่ให้ความสนใจในเรื่องของพื้นที่และเขตอำนาจการปกครองนั้นไม่ได้อยู่ภายใต้อำนาจของเจ้าเมืองหรือขุนนางผู้ที่เคยมีอำนาจอีกต่อไป แต่อำนาจทั้งหมดถูกรวมไปที่สยาม และพื้นที่ต่างๆ ที่ไม่มีความชัดเจนถูกจัดแบ่งใหม่ตามเป้าหมายในการจัดการทรัพยากรในท้องถิ่นต่างๆ ของสยาม ผ่านระบบกลไก ราชการที่ส่งลงมาในการควบคุมคนและจัดเก็บภาษีในเขตที่ตนรับผิดชอบแทนที่เจ้าเมืองและขุนนางเดิม

การจัดระบบควบคุมคนใหม่ 

สยามได้มีการยกเลิกธรรมเนียมเกณฑ์ข้าหลวงและไพร่ ที่เคยเป็นธรรมเนียมการปกครองเดิมโบราณเดิมที่มีมาตั้งแต่สมัยอาณาจักรล้านช้างในการเกณฑ์แรงงานให้เข้ามารับใช้เจ้านายและขุนนางท้องถิ่น ที่สำคัญคือ มีการสำรวจไพร่ทาส และปรับปรุงการให้เลิกไพร่ขึ้นอยู่ตามแขวงที่ตนเองสังกัดอย่างชัดเจน ทั้งนี้เป็นไปเพื่อที่สยามจะได้สามารถนับจำนวนไพร่ทาสที่มีอยู่ในเมือง และสามารถที่จัดเก็บภาษีและส่วยจากขุนนางได้ตามที่กำหนด เนื่องจากรู้จำนวนไพร่ทาสซึ่งเป็นแรงงานสำคัญในการผลิตสมัยนั้น

การปฏิรูปการเก็บส่วย 

การเก็บส่วยของสยามในเมืองอุบลราชธานีเป็นปัญหามาตลอด เนื่องจากเนื่องจากขุนนางท้องถิ่นไม่ส่งส่วยให้ตามที่สยามต้องการ อีกด้านหนึ่งไม่สามารถที่จะเรียกเก็บจากไพร่ทาสได้ สิ่งที่สยามทำคือ การเร่งเก็บส่วยเพิ่มมากขึ้น โดยแบ่งการเก็บส่วยเป็น 2 ประเภท คือ ประเภทแรกที่ถูกเก็บไปแล้วจากนายหมู่ ขุนนางท้องถิ่น ให้รีบนำส่งให้กับสยาม ประเภทที่สอง เงินส่วยที่ตกค้างยังไม่สามารถเก็บได้จากไพร่ให้ผู้ดูแลที่สยามจัดตั้งขึ้นตามแขวงนั้นเร่งเก็บจากไพร่ ทาส นอกจากนี้ เพื่อให้การเก็บส่วยมีประสิทธิภาพมากขึ้น เมื่อพ.ศ.2442 ได้มีการยกเลิกระบบการปกครองท้องถิ่นในรูปแบบแขวงและเส้น โดยเปลี่ยนมาเป็นอำเภอ ตำบล และหมู่บ้าน ส่วยและภาษีต่างๆ ที่ไพร่ทาสต้องจ่ายให้กับเจ้าเมืองและขุนนางท้องถิ่นเพื่อนำส่งให้กับสยามนั้นถูกเก็บโดยข้าราชการ กำนันและผู้ใหญ่บ้านที่เป็นคนที่สยามตั้งขึ้น 

การตั้งกองทหารภายในบริเวณเมืองอุบลราชธานี

เมื่อพ.ศ.2431 สยามได้มีการตั้งกองทหารภายในบริเวณเมืองอุบลราชธานี มีวัตถุประสงค์สำคัญคือ ความมั่นคงบริเวณชายแดนที่สยามกำลังมีข้อพิพาทกับทางฝรั่งเศส แต่อีกด้านหนึ่งคือ ความต้องการควบคุมความสงบเรียบร้อยและความเปลี่ยนแปลงที่เกิดภายในเมือง เนื่องจากการที่สยามส่งคนของตนเองเข้ามาปกครองเมืองอุบลราชธานีและมีการจัดระบบการปกครองใหม่ ส่งผลให้ขุนนางหลายกลุ่มสูญเสียอำนาจและผลประโยชน์ที่ตนเคยได้รับในอดีต อีกทั้งนโยบายของสยามในเรื่องของการเปลี่ยนระบบการจัดเก็บภาษีและการควบคุมคนนั้นขัดแย้งกับวิถีชีวิตของชาวบ้าน อย่างไรก็ตาม เนื่องจากกรุงเทพมีทหารประจำการไม่เพียงพอที่จะส่งให้กับหัวเมืองทุกหัวเมือง กรมหมื่นสรรพสิทธิประสงค์จึงได้มีนโยบายเปิดรับรับสมัครเกณฑ์ผู้ชายที่แข็งแรงเข้ามาเป็นทหาร และนำนักโทษหรือผู้ที่ก่อให้เกิดความขัดแย้ง หรือ การวิวาททะเลาะกัน เข้ามาฝึกทหาร การกระทำดังกล่าวนี้มีนัยสำคัญคือ การทำให้คนในพื้นที่มีความรู้สึกว่าเป็นส่วนหนึ่งของสยามผ่านการเป็นทหารและได้รับเงินเบี้ยหวัดจากทางราชการ นอกจากนี้ทำให้กองทัพมีทหารประจำการเพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้สยามสามารถที่จะจัดการกับกลุ่มผู้ที่ต่อต้านและเสียประโยชน์ได้อย่างรวดเร็ว ไม่ต้องใช้เวลารอให้ทางกรุงเทพส่งกองทัพเข้ามาเพื่อปราบปราม ซึ่งต้องใช้เวลาในการเดินทัพถึง 24 วัน

การเข้าควบคุมกิจการด้านศาสนาของท้องถิ่น

ภายหลังจากที่สยามได้มีการตราพระราชบัญญัติลักษณะปกครองคณะสงฆ์ ร.ศ. 121 ขึ้นเพื่อใช้ในการรวมอำนาจทางวัฒนธรรมผ่านการจัดระเบียบพระสงฆ์ให้อยู่ภายใต้การปกครองของคณะสงฆ์ส่วนกลางที่จัดตั้งขึ้นโดยสยาม ความพยายามรวมอำนาจทางด้านศาสนามีนัยยะสำคัญทางการเมืองคือ ความต้องการที่จะทำให้คนในอุบลราชธานีและในเมืองต่างๆ ที่มีวัฒนธรรมที่คล้ายกับทางฝั่งลาว มีความรู้สึกว่าเป็นส่วนหนึ่งของสยามมากกว่าลาว สิ่งที่สยามทำคือ การรวบอำนาจในการปกครองและการจัดการศาสนาใหม่เพื่อที่สยามจะสามารถที่จะควบคุมพระสงฆ์ให้เผยแพร่แผ่วัฒนธรรม คำสอน และองค์ความรู้ต่างๆ ของสยามให้กับชาวเมืองได้เข้าใจ ที่สำคัญคือการสอนภาษาไทยให้กับชาวเมืองอุบล  

การรวมศูนย์อำนาจทางด้านการศึกษา 

การศึกษา คือหนึ่งในเครื่องมือสำคัญในการสร้างสำนึกร่วมความของสยามที่มีต่อชาวเมืองอุบลราชธานี เนื่องจากสยามต้องการแก้ไขปัญหาความความแตกต่างในเรื่องของชาติพันธุ์ และภาษา คนในเมืองอุบลราชธานีนั้นส่วนใหญ่มีชาติพันธ์ ภาษาและวัฒนธรรมที่ใกล้คล้ายคลึงกับทางลาวมากกว่า สยามได้มีการตั้งโรงเรียนอุบลวิทยาคม ขึ้นโดยใช้บริเวณวัดสุปัฏนารามวรวิหาร เป็นจัดการเรียนการสอน เมื่อพ.ศ.2440  ภายหลังได้มีการเปลี่ยนชื่อ เมื่อพ.ศ. 2458 โดยใช้ชื่อว่า โรงเรียนเบ็ญจะมะมหาราช ซึ่งเป็นโรงเรียนประจำจังหวัดอุบลราชธานีในปัจจุบัน ผู้ที่เป็นครูสอนหนังสือนั้นคือ พระสงฆ์ที่ถูกส่งได้ไปร่ำเรียนที่กรุงเทพเป็นครูสอนหนังสือ ภายหลังมีครูที่ถูกส่งมาสอนหนังสือในโรงเรียน วิชาสำคัญที่ถูกสอนกันในโรงเรียนคือ วิชาภาษาไทยและวิชาทางด้านคำนวณ เป็นต้น 

การยกเลิกประเพณีและพิธีกรรมท้องถิ่นในเมืองอุบลราชธานี 

การรวมอำนาจทางวัฒนธรรมไม่ใช่เพียงแค่ทางด้านศาสนาและการศึกษาเท่านั้น ประเพณีและพิธีกรรมของท้องถิ่นที่แสดงถึงความมีอำนาจของเจ้าเมืองอุบลราชธานีในอดีตได้ถูกยกเลิกไปด้วย โดยเฉพาะประเพณีที่เรียกว่า พิธีศพแบบนกหัสดีลิงค์ ซึ่งเป็นพิธีกรรมของทางลาวที่ใช้ในการเผาศพของเจ้าเมืองและราชวงศ์ชั้นสูง การยกเลิกพิธีกรรมเผาศพเจ้าเมืองบริเวณทุ่งโล่งกว้างนั้นมีข้อสังเกตจากนักวิชาการว่า สยามไม่ต้องการให้เจ้าเมืองหรือเชื้อพระวงศ์ของเมืองท้องถิ่นนั้นมีสถานะที่เทียบเท่ากับกษัตริย์สยาม เนื่องจากการเผาศพของกษัตริย์สยามจะถูกจัดขึ้นที่ท้องสนามหลวงบริเวณหน้า วัดพระศรีรัตนศาสดาราม หรือวัดพระแก้ว การที่เจ้าเมืองต่างๆ สามารถที่จะเผาศพตนเองบริเวณท้องสนามใจกลางเมืองที่เป็นโล่งกว้างนั้น จึงมีนัยยะสำคัญคือการพยายามเทียบอำนาจและบารมีกับกษัตริย์สยาม ดังนั้น การเผาศพเจ้าเมืองบริเวณสนามกลางเมืองจึงถูกยกเลิกไปและแทนที่ด้วยการเผาศพพระผู้ใหญ่ที่ได้รับความนับถือและได้รับการแต่งตั้งสมศักดิ์จากทางสยามแทน 

กล่าวโดยสรุป ก่อนที่เมืองอุบลราชธานีจะกลายเป็นจังหวัดหนึ่งของสยามนั้น เมื่อพ.ศ. 2476 สยามได้มีการเข้ามาจัดการปกครองในเมืองอุบลราชธานีใหม่ให้มีเหมือนกับกับการปกครองของสยาม นอกจากนี้ สยามยังได้มีการทำลายประเพณีและวัฒนธรรม ภาษา ของท้องถิ่นลงและแทนที่ด้วยวัฒนธรรม ประเพณี ภาษาและอุดมการณ์ความคิดของสยามให้ประชาชนในเมืองอุบลราชธานี 

หมายเหตุ: บทความ เรื่อง ยุทธวิธีการขยายอำนาจกับการทำให้เมืองอุบลราชธานีกลายเป็นจังหวัดหนึ่งของสยาม สามารถอ่านเพิ่มเติมได้ใน ปฐวี โชติอนันต์. เหตุผล ความสำเร็จ และยุทธวิธีการผนวกเมืองอุบลราชธานีให้กลายเป็นจังหวัดหนึ่งของสยาม (ในช่วง 2425-2476) ใน วารสารการบริหารการปกครอง (Governance Journal) ปีที่7 ฉบับที่2 (กรกฎาคม-ธันวาคม 2561).

ภาพหน้าปกจาก : https://toziroandcar.blogspot.com/2007/09/blog-post_7874.htmlfbclid=IwAR309rvwzL9UoTy1Oj2iPgXwbgFLasT_s_eLbXKNA-CMMlmlNA-uvVjSc8Y

image_pdfimage_print