โดย ถนอม ชาภักดี
นับเป็นความท้าทายต่อการสร้างสรรค์ผลงานในพื้นที่ ที่เต็มไปด้วยเรื่องราวของสงคราม ที่มีความเป็นความตายเป็นเครื่องเซ่นสังเวยในสมรภูมิทางศิลปะ การเพิ่ม “ ศิลปะ ” ลงไปในพื้นที่แห่งสงครามจะมีผลเช่นไร จากการเผชิญหน้ากับผลงานศิลปะชุดแรกที่อาคารเรดาห์และอุโมงค์สายฟ้า มีผลงานของศิลปิน 5 คน ได้แก่ บุญโปน โพทิสาน , ธนัชชา ไชยรินทร์ , ธิดารัตน์ ชุ่มจังหรีด , สุรสิทธิ์ มั่นคง และ จิรวัฒน์ เอื้อสังคมศาสตร์
ผลงานจากศิลปินทั้ง 5 คนอยู่ในพื้นที่หัวใจของค่ายรามสูร (อาคารเรดาห์และอุโมงค์ใต้ดิน) แต่ผลงานที่ออกมาเท่ากับศูนย์ ไม่มีความหมายอะไร เพราะในเมื่อมีโอกาสได้สร้างผลงานในพื้นที่ที่เต็มไปด้วยเรื่องราวทางประวัติศาสตร์สงครามเย็นร่วมสมัยที่ดีสุด มีเรื่องราวมากมายทั้งข่าวสารและสื่อต่างๆ จากทั่วโลกที่เผยแพร่เรื่องราวของค่ายรามสูร แต่ศิลปินกลับละเลยความสัมพันธ์ของพื้นที่กับผลงานที่นำเสนอออกมา
แน่ละการแสดงงานดังกล่าวย่อมถูกใจเจ้าของพื้นที่ที่เป็นทหาร แต่ผลงานศิลปะถูกสายฟ้าของรามสูรผ่าเปรี้ยงลงแสกหน้าจนพร่ามัว
อันที่จริงแค่เขียนชื่อศิลปินแปะไว้ทางเข้าอาคารและอุโมงค์ ก็เพียงพอต่อการสถาปนาความเป็นศิลปะในพื้นที่อย่างสมบูรณ์ โดยไม่ต้องไปทำอะไรกับปฎิกูลแห่งสงคราม อย่างอุโมงค์ก็ปล่อยให้มันมืดมิดเช่นนั้น ท้าทายผู้ดูกับการมุดอยู่ในความมืด 300 เมตรดูสิจะเกิดประสบการณ์การรับรู้อย่างไร แสงไฟในอุโมงค์กลับสร้างความรำคาญเสียมากกว่า ยิ่งมุดไปเจอภาพเขียนทหารอุ้มปลาไหลยักษ์ ก็ยิ่งมีคำถามว่านี่มันเกี่ยวกับรามสูรตรงไหน เดินไปเกือบปลายอุโมงค์เจอไม้รองทางเดินจนสุดอยู่ปากปล่องทางออกของอุโมงค์ …เรารักประเทศไทย…ครับนี่คือสิ่งเติมเต็มในผลงานชุดแรก
อุโมงค์ใต้อาคารวิทยุสื่อสารมีความยาว 300 เมตร เดิมเป็นอุโมงค์เข้า-ออกปฎิบัติการของนายทหาร ซึ่งเชื่อมออกไปยังอาคารสำนักงานที่ผุพังทางโครงสร้าง เหลือเพียงซากให้เห็นว่าเดิมเคยเป็นอาคารสำนักงานบัญชาการค่ายรามสูร ภาพโดย: อติเทพ จันทร์เทศ
ออกจากอุโมงค์มาก็ทำให้นึกถึงค้างคาวสองตัว ที่บินฉวัดเฉวียนเล่นกับความมืดในอุโมงค์ ดูเป็นการแสดงสดของค้างคาวที่ได้อารมณ์ร่วมดีแท้ และทำให้นึกถึงหนังสือของ Brandon LaBelle ที่ว่าด้วยเรื่อง Sonic Agency;Sound and Emergent Forms of Resistance และผลงานของ James Turrell ที่เกาะ Naoshima ที่แสดงให้เห็นถึงความมืดมิดอิ่มซิ่ม และเสียงแห่งการต่อต้าน (ข่าวสาร) จากค้างคาว หรือ “เจีย” ในภาษาลาว
ปรักแห่งโรแมนติกของนักล่ากวางและ Apocalypse Now
ออกจาก Tunnel of Bats ในยามตะวันขลิบขอบฟ้าสีทอง แยงแสงปะทะกับซากปรักของอาคารปฎิบัติการรามสูรที่ระเบิดทิ้ง เหลือแต่ซากอิฐปูน กำแพงระเบียงราย พยายามเพ่งมองหาชิ้นส่วนของศิลปะที่แทรกตัวอยู่ในปรักราวกับหน่วยแซปเปอร์ของเวียตกง
จิตประหวัดพลัดหลงเข้าสู่พงไพรเสียงเพลง The End ของวง The Doors จากหนังเรื่อง Apocalypse Now (1979) เสียงใบพัดเครื่องบินแมงน้ำมวกปัดป้านต้านลมกลางแสงเพลิงตะวันในยามอาทิตย์อัสดง เสียงสับไกปืนในการเล่น Russian Roulette เกมส์แข่งความตายจากหนัง The Deer Hunter (1978) เหงื่อเปียกชุ่มทั่วสรรพางค์กายเพราะหวลถึงฉากหนังที่เกี่ยวกับสงครามเวียตนาม หนังยังสร้างได้สะเทือนอารมณ์ปานนี้ แล้วผู้คนในสมรภูมิสงครามจะย่อยยับขนาดไหน ถอยห่างออกมากลางลานโล่ง ปาดเหงื่อที่ผุดพรายออกมาราวกับท่อน้ำรั่ว มองเศษซากปรักด้วยความระโหยไห้ ความพ่ายแพ้ของกองทัพอเมริกันในสมรภูมิเวียตนาม ลาว เขมรในช่วงทศวรรษสงครามเย็นอันยะเยือก บรรดานักรบจีไอเป็นไปได้เพียงวีรบุรุษในหนัง ความจริงที่แสนเจ็บปวดขมขื่น ถูกโบกปูนทับไว้ในฐานอนุสาวรีย์แห่งชัยชนะและสุสานผู้วายชนม์
โรแมนติกแห่งความตาย อันแสนโหดร้ายท่ามกลางปรักซากรามสูร ทำให้นึกถึงผลงานจิตรกรรมของ Caspar David Friedrich ศิลปินยุคโรแมนติก ชาวเยอรมันที่สร้างสรรค์ผลงานในช่วงต้นศตวรรษที่19 เช่น The Abbey in the Oakwood(1809-10) และ The Sea of Ice (1823-24) ความหวั่นไหวสะเทือนใจต่อบริบทแห่งความหฤโหดของสงคราม กับความเงียบงันในยามที่หน่วยปฏิบัติการและนักรบไซเบอร์ของทหาร (IO) กำลังคุกคาม ไม่ได้ต่างจากการยืนอยู่ท่ามกลางสนามรบสมรภูมิสงครามเย็นสักเท่าไหร่
สายลมร้อนอบอ้าวต้นฤดูฝนจากเฉียงเหนือ พัดผวนควันบุหรี่เข้าตา ฟ้ากำลังเปลี่ยนสีส้มแดงลับยอดเสาวิทยุสื่อสาร เข้าสู่ภวังค์ของเงาสลัว
ผลงานของศิลปินที่สถาปนาในบริเวณอาคารปฎิบัติการรามสูร มีทั้งหมด 5 คน ได้แก่ สิทธิกร ขาวสะอาด , ดุษฎี ฮันตระกูล , ธนัฐชัย บรรดาศักดิ์ , ปณชัย ชัยจิรรัตน์ และ วิลาวัณย์ เวียงทอง
ด้วยความฟุ้งฝันที่ถูกปะทะจากเรื่องราวของสงครามเวียตนาม ทั้งจากภาพยนตร์ ดนตรี วรรณกรรม สารคดี ภาพถ่ายและสื่ออื่นๆ ที่ตอกย้ำภาพของสงครามมาตลอด 30-40 ปี ทำให้ภาพปรากฎของศิลปะบนเส้นขนานของ PARALLEL ไม่ว่าจะเป็นประติมากรรมขนาดเล็กจากดินแดงสี่ตัวที่วางไว้สี่มุมบนซากตอเสาปูน
หรืองานตะแกรงที่แขวนไว้ข้างผนังที่ถูกทะลุเป็นบานหน้าต่างที่มองเห็นลายพราง ภาพถ่ายกวางที่ผนึกไว้บนกำแพงที่มีรอยอุดปะ แผ่นเหล็กสามแผ่นที่ฉลุลายคล้ายคลื่นวิทยุรหัสมอส ดึกเดื่องด้างกลางลานปูนพร้อมกับการแสดงสดที่ชุ่มซับด้วยคราบไคลราวกับชายชาติทหารเหล่านี้ล้วนเป็น fragmentation ประติมาทางความคิดของศิลปินที่มีต่อพื้นที่และห้วงเวลาที่ชั้นกระชับ เวลาและพื้นที่ของค่ายรามสูรอาจมี layered ที่ผนึกบริบทของมันไว้หลายชั้น ยากที่จะงัดแงะออกมาเป็นรูปเป็นนามได้ แต่สำหรับเวลาและพื้นที่ของศิลปินที่เล่นกับสนามแห่งนี้ ก็อาจเป็นเพียงวินาทีของการสัมผัสในยามที่ทุกอย่างราบป่าพนาศูนย์ ภาพปรากฏของผลงานศิลปะในพื้นที่แห่งนี้ ถูกดึงให้จมลงไปพร้อมๆ กับ ความโดดเด่นของซากปรักหักพังที่ปะทะแสงแดดอ่อนในยามเย็น
ตำนานพื้นที่สันทนาการและวัฏฏะสังขารของศิลปะ
รถยีเอ็มซีของกองพันทหารราบที่ 1 กรมทหารราบที่ 13 ค่ายพญาสุนทรธรรมธาดาจ.อุดรธานี ขนพลคนรักศิลปะเคลื่อนขับไปยังพื้นที่สุดท้ายของการ orientation งานครั้งนี้ แต่ก็ยังอาวรณ์อยู่กับเขาวงกตแห่งสถาปัตยกรรมทางทหารอเมริกันไว้ข้างหลัง ผ่านลานเฮลิคอปเตอร์จนมาถึงสนามขนาดใหญ่ที่มีการฝึกระเบียบ ส่งเสียงดังโหวกเหวก น่าจะไม่ใช่พลทหารใหม่เพราะดูจัดแถวอิเหละเขะขะ มีเสียงกระซิบบอกว่าเป็นนักศึกษามาเข้าค่ายฝึกระเบียบ แต่ไม่รู้ว่ามาจากสถาบันไหน ก็ยิ่งทำให้เห็นว่าวิธีคิดแบบทหารนั้นมันแทรกเข้าไปทุกอณูในสังคมยุคนี้
รถมาจอดข้างๆ สระน้ำขนาดมาตรฐาน American standards ผู้คนต่างมองลงไปในสระที่เกรอะกรังมีน้ำขังติดก้นสระ สังเกตเห็นว่ามีโฟมสองชิ้นลอยอยู่ในสระและมีแท๊กอยู่บนโฟม ทุกคนต่างก็เล็งโทรศัพท์ส่องลงบนโฟมเพื่ออ่านรหัสและถอดรหัส ส่วนมนุษย์ในยุค Pre-modern ก็ได้แต่ชะเง้อดูจากคนข้างๆ ถึงได้รูว่าผลงานของ วิริยะ โชติปัญญาวิสุทธิ์ ซ่อนอยู่ในเส้นขยุกขยุยนั่นเอง
ถ้าพ่อใหญ่สอนแม่ใหญ่สามาท่องเที่ยวดูสถานที่รามสูรขว้างขวาน ดูงานศิลปะตามเจตนารมณ์ของทหารในนามแหล่งท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ในค่ายแห่งนี้ ไม่มีโทรศัพท์ที่สามารถเปิดรหัสสัญญาณภาพได้ แกจะรู้ไหมว่า โฟมที่ลอยอยู่ในสระอโนดาต (สระว่ายน้ำ) แห่งนี้มันมีอะไร หรือแม้จะเห็นภาพปลาสลิดหัวขาดวางอยู่บนหน้าหนังสือพิมพ์ ซึ่งมีรูปของท่านผู้นำอยู่ด้วย ทั้งสองเฒ่านั้นคงนึกถึงกระด้งตากปลาเข็งที่บ้าน มากกว่าที่จะให้เกิดการแปลความหมายจากผู้สร้างงาน หรือแกอาจจะวาบความคิดขึ้นมาในฉับพลันก็ได้ว่า ทำไมไม่เอาปลากระป๋องซาดีนที่ทหารจีไอยุคนั้นกินกันเป็นอาหารหลักมาปล่อยในสระให้สะพรั่งไปเลย
อีกชิ้นหนึ่งข้างสระว่ายน้ำ เป็นผลงานของ ธงชัย ศิรินันทิภาคย์ พลาดที่จะได้เข้าไปปฏิสัมพันธ์ เวลาก็มืดลงทุกขณะ กลัวว่าจะไม่ดูงานในโรงยิม
ในโรงยิมได้กลิ่นขี้ค้างคาวฟุ้งมาแต่ไกล แต่ที่สะกดกลิ่น bat man ฮีโร่การ์ตูนของคนอเมริกันได้ คงเป็นผลงานของ เจษฎา ตั้งตระกูลวงศ์ ศิลปินที่ไม่อธิบายอะไรมาก แต่ให้ผลงานพูดแทน ผลงานของเขาในห้องข้างโรงยิม เป็นภาพถ่ายเอกสารจากภาพถ่าย 3 พื้นที่ในค่ายรามสูร มีภาพถ่ายอาคารทรงกลมสถานีรับ-ส่งวิทยุ อาคารปฏิบัติการ อาคารสันทนาการ โดยที่เขาถ่ายเอกสารซ้ำไปซ้ำมาจากที่เคยเป็นรูปเป็นร่างทางกายภาพจนเหลือเพียงคลื่นของสีในเชิงนามธรรม ภาพถ่ายเอกสารเหล่านี้ไม่ได้ปฏิบัติการที่เมืองหลวง แต่ทำที่เชียงใหม่ เพื่อให้รู้ว่ามหานครไม่ใช่ศูนย์กลางของทุกอย่าง
เจษฏา ศิลปินผู้เล่นกับพื้นที่ และสามารถควบคุมพื้นที่ในการทำงานแม่นมั่นที่สุดคนหนึ่ง ผลงานในโรงยิมกลิ่นขี้ค้างคาวในค่ายรามสูรแห่งนี้ยัง relate กับผลงานชุดทนได้ทนไป แสดงที่ Cartel Art Space ซอยนราธิวาส 22 กรุงเทพ ขณะนี้ หากใครได้ดูที่ใดที่หนึ่งแล้วก็ควรจะเก็บการรับรู้ให้ครบวงจรของเจษฎา
ในอาณาเขตสันทนาการยังมีโรงหนังสำหรับทหารจีไอในยุคนั้น แต่ค่ำนี้ไม่มีโปรแกรมหนัง จะมีในวันที่ 9 มิถุนายน โดยมีผลงานของ กรกฤต อรุณานนท์ชัย, ปฐมพล เทศประทีป และ Nguyen Trinh Thi เข้าฉาย ย้อนหลังกลับมาดูการแสดงสดของ วิลาวัณย์ เวียงทอง ที่ซากอาคารปฏิบัติการ (Operation House) ผลงานการแสดงสดของวิลาวัณย์เป็นการแสดงของความต่อเนื่องและเชื่อมโยงในประเด็นของเวลา หากใครสังเกต จะเห็นว่า ศิลปินได้แสดงตั้งแต่ผู้ชมมาถึงจุดแรกที่อาคารสถานีวิทยุ ศิลปินเดินตีนเปล่าใส่ซิ่นมัดหมี่ เคียนนมเอารองเท้าตบหัว รวมถึงการวิดพื้นแบบทหาร การแสดงไหลเรื่อยไปตามพื้นที่จนกระทั่งมืดค่ำ พร้อมกับเสียงดนตรีจากทหารแว่วมาในยามราตรีกาลรามสูร อันเป็นสัญญาณและรอยต่อของ Ramasun Station Art Trail กับความเป็นปัจจุบันแห่งทหารค่ายพญาสุนธรธรรมธาดา ที่ไม่ธรรมดา
อำนาจของภัณฑารักษ์และความเป็นศูนย์กลางของศิลปิน
ปัญหาในเชิงปฏิบัติการทางศิลปะในพื้นที่จริง
อภิมหาเรื่องเล่ารามสูรในรามเกียรติ์กับค่ายรามสูร ซึ่งเป็นสถานีวิทยุความถี่สูงขนาดใหญ่ ของทหารอเมริกันในช่วงสงครามเวียตนาม แต่วันนี้ผ่านมากว่าครึ่งศตวรรษ มันกำลังถูกทำให้เป็นพื้นที่ทางประวัติศาสตร์ที่ตายแล้ว ในฐานะพิพิธภัณฑ์พื้นที่ แม้ว่าทางการทหารจะเปิดให้เป็นแหล่งท่องเที่ยว แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า พื้นที่การท่องเที่ยวแห่งนี้จะเปิดปูมภูมิหลังให้ได้รับรู้ในมิติของสงคราม ที่เคยใช้เป็นฐานทัพสร้างความหายนะให้กับประเทศกลุ่มอินโดจีนได้
หากมันเผยตัวในฐานะซากปรักหักพัง ที่ทับถมไว้ด้วยชีวิตและจิตวิญญาณของผู้คนในรัศมีที่คลื่นวิทยุแผ่กระจายไปถึง ที่ยังรอร่างอวตารมาปลุกชีวิตและวิญญาณขึ้นมาในฐานะพยานแห่งสงครามเย็น
ศิลปะในฐานะพยานแห่งยุคสมัย ในปฏิบัติการศิลปะ The Ramasun Station Art Trail ครั้งนี้ ไม่ได้อยู่ในฐานะของนิทรรศการศิลปะ แต่เป็น Praxis ทางศิลปะที่จะต้องอาศัยทั้งข้อมูลแนวคิดอันแหลมคม เทคนิคชั้นเชิงที่สามารถเชื่อมโยงประวัติศาสตร์ชีวิตของความเป็นค่ายรามสูรมาสู่ Praxis ทางศิลปะ ในพื้นที่ real space
อำนาจของภัณฑารักษ์ : ปณชัย ชัยจิรรัตน์ และ ปุญญิศา ศิลปรัศมี แห่งนัวโรว์ อาร์ตสเปซ (Noir Row Art Space) อุดรธานีในฐานะ Curator ที่มีอำนาจในการต่อรองในการปฏิบัติการทางศิลปะครั้งนี้ แต่ด้วยค่ายรามสูรแห่งนี้ มีเนื้อที่กว่า 800 ไร่ ที่อัดแน่นด้วยบริบทของประวัติศาสตร์สงครามเย็น อันรวมไปถึงวิถีชีวิตของผู้คนในช่วงประวัติศาสตร์นั้นด้วย จึงเป็นเรื่องที่ไม่ง่ายที่จะเปิดประตูประวัติศาสตร์บานไหน ยิ่งแล้วภัณฑารักษ์ในฐานะผู้ดูแลปฏิบัติการครั้งนี้ มันกลายเป็นโจทย์การปฏิบัติการศิลปะที่ไม่ใช่แค่เรื่องศิลปะเท่านั้น หากมันมีความสัมพันธ์เชิงอำนาจทางทหาร สงคราม สังคม-มานุษยวิทยาท้องถิ่นและประวัติศาสตร์อาณาบริเวณทับซ้อนกันอยู่ในโนนขี้กระต่ายของแม่ใหญ่สาในอดีต
Parallel แม้ในความหมายจะเป็นเส้นขนาน แต่สำหรับปฏิบัติการศิลปะในค่ายรามสูร มันควรจะเป็น ร่างอวตาร ของความเป็นพื้นที่และบริบทแห่งนี้ ในฐานะศิลปะกับพื้นที่ทางประวัติศาสตร์ที่จะ engage ผู้คนได้รับรู้ถึงความเป็นพื้นที่ของมัน หวังเป็นอย่างยิ่งว่า วัตถุทางศิลปะที่เกิดจากปฏิบัติการครั้งนี้ จะดำรงอยู่ทั้งในฐานะกายภาพและความทรงจำ แม้บางชิ้นอาจบอบบางเมื่อยามเข้าสู่ฤดูฝน ละลายหายไปกับสายฝนและสายฟ้า แต่ก็ไม่บ่อยครั้งนักที่จะได้เยือนค่ายทหารผ่านปฏิบัติการทางศิลปะ