สกุณา สาระนันท์ ส.ส. สกลนคร เขต 5 พรรคเพื่อไทย กล่าวถึงสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างประชาชนในพื้นที่อำเภอวานรนิวาส จ.สกลนคร ที่กังวลผลกระทบด้านสุขภาพ สิ่งแวดล้อมและชุมชนจากโครงการสำรวจและทำเหมืองแร่โพแทช (แร่เกลือ) แร่ธาตุโพแทสเซียม (K) ในอุตสาหกรรมการผลิตปุ๋ยเคมีของรัฐบาลไทยกับบริษัท ไชน่าหมิงต๋า โปแตช คอร์เปอเรชั่น (ประเทศไทย) จำกัด 

บริษัทดังกล่าวเป็นบริษัทสัญชาติจีนที่ได้รับอาชญาบัตรพิเศษจากรัฐบาลไทยในการสำรวจแร่และการทำเหมืองแร่ สำรวจพื้นที่จำนวน 12 แปลงรวมพื้นที่ 116,875 ไร่ ครอบคลุม 6 ตำบล 82 หมู่บ้านในเขตอำเภอวานรนิวาส พูดครั้งแรกในการประชุมสภาผู้แทนราษฏร ชุดที่ 25 สมัยสามัญประจำปีครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2562 ที่ผ่านมาตอนหนึ่งว่า

สกุณา สาระนันท์ ส.ส. สกลนคร เขต 5 พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ขออ้างของรัฐบาลและบริษัทที่ว่ามีเหมืองแร่โพแทชฯ จะทำให้ไทยและคนในพื้นที่ได้ซื้อปุ๋ยเคมีที่ถูกนั้นไม่จริง เพราะขนาดไทยมีแท่นขุดเจาะน้ำมัน คนไทยยังซื้อน้ำมันแพงกว่าประเทศเพื่อนบ้าน 

สกุณากล่าวว่า ถึงแม้โครงการเหมืองแร่ยังอยู่ในขั้นตอนการสำรวจหาตำแหน่งแร่ ยังไม่ถึงขั้นตอนการทำเหมือง แต่ตนคิดว่าโครงการดังกล่าวของรัฐบาลขัดกับแผนปฏิรูปประเทศและยุทธศาสตร์ 20 ปี ของรัฐบาลที่กำหนดให้จังหวัดสกลนครเป็นจังหวัดที่ต้องคุ้มครองความหลากหลายทางชีวภาพ แต่รัฐบาลนี้ได้มีการอนุมัติให้บริษัทต่างประเทศเข้าไปขุดเจาะสำรวจแร่โพแทซและทำเหมืองแร่

“สกลนคร เป็น 1 ใน 9 จังหวัด ทั่วประเทศที่แผนปฏิรูปประเทศให้เป็นจังหวัดที่มีการตั้งศูนย์เรียนรู้ของความหลากหลายทางชีวภาพ แต่รัฐบาลนี้ได้มีการอนุมัติให้โครงการสำรวจแร่และทำเหมืองแร่ สะท้อนว่ารัฐบาลไม่มีความจริงใจทำตามแผนฯ ที่เขียนไว้” สกุณากล่าว

ป้ายแสดงการคัดค้านของชาวบ้านในบ้านหินเหิบหินกอง ในตำบลวานรนิวาส คือหนึ่งใน 6 ตำบลที่จะอยู่ภายใต้พื้นที่การสำรวจแร่โพแทช ของบริษัท ไชน่าหมิงต๋าฯ ภาพโดย: วิศรุต แสนคำ

สกุณากล่าวอีกว่า หลังจากรัฐบาลอนุญาตให้บริษัทจีนเข้าไปขุดเจาะสำรวจแร่ในพื้นที่ ก็เกิดความวุ่นวายในพื้นที่ขึ้น เพราะคนในพื้นที่ไม่ทราบรายละเอียดของโครงการดังกล่าวอย่างรอบด้าน ไม่ได้ฟังคำอธิบายเกี่ยวกับโครงการอย่างละเอียด ทำให้คนในพื้นที่เคลื่อนไหวต่อต้านโครงการฯ 

“แต่เมื่อคนออกมาต่อต้าน หน่วยงานภาครัฐกลับไม่ดูแลและช่วยเหลือประชาชนรวมถึง กลับบอกว่าโครงการนี้เป็นนโยบายของรัฐ นี่คือความเจ็บปวดของพี่น้องประชาชนที่ได้ยินคำตอบนี้” สกุณากล่าว

เธอเล่าอีกว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเคยพูดว่าภาคอีสานมีทรัพยากรที่สำคัญ ที่ประเทศไทยจะเอาขึ้นมาใช้ประโยชน์และท่านก็บอกว่ารัฐบาลกำลังพิจารณาที่จะขยายผลในเรื่องนี้ เมื่อครั้งที่ได้ลงพื้นที่ จ.บึงกาฬ 

สำหรับสกุณา หากรัฐบาลพยายามผลักดันโครงการนี้ให้สำเร็จ การกระทำของรัฐบาลอาจขัดกับบทบัญญัติ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 57 (2) และ 58 ซึ่งว่าด้วยการ คุ้มครองทรัพยากรธรรมชาติของประเทศและคุ้มครองประชาชน และการให้ประชาชนได้ใช้ประโยชน์ทรัพยากรธรรมชาติ

“สิ่งที่รัฐบาลทำได้สวนทางและขัดกับแผนปฏิรูปประเทศ ขัดกับยุทธศาสตร์ประเทศ ฉะนั้นจึงอยากให้รัฐบาลกรุณาทบทวนใหม่ ไม่อยากให้รัฐบาล มองภาคอีสานเสมือนเป็นศูนย์รวมของอุตสาหกรรมที่สร้างมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม” สกุณากล่าว

สกุณาทิ้งท้ายว่า ภาคอีสานมีพื้นที่เพาะปลูกจำนวนมาก ซึ่งสามารถเป็นแหล่งผลิตอาหารอินทรีย์ส่งออกให้คนทั้งโลกได้ 

ด้านคนในพื้นที่ชื่นชนสกุณาว่าทำหน้าที่ตัวแทนประชาชนได้อย่างสมเกียรติ เพราะนำความเดือดร้อนของประชาชนไปเสนอให้รัฐบาล

ทั้งนี้ หลังจากบริษัทไชน่า หมิงต๋า ได้สิทธิ์สำรวจแร่โปแตชเมื่อปี 2558 ก็ได้เกิดการเคลื่อนไหวเพื่อคัดค้านโครงการทำเหมืองแร่ จากชาววานรนิวาส

หลายคนในพื้นที่กังวลเรื่องผลกระทบด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อมจากโครงการ เช่น ดินทรุดจากการทำเหมืองใต้ดิน การแพร่กระจายของน้ำเกลือซึมลงพื้นที่ทางการเกษตร ซึ่งอาจทำให้เกิดดินเค็มจนไม่สามารถเพาะปลูกพืชได้ รวมถึงน้ำเค็มเกลือจากภูเขาเกลืออาจไหลลงแหล่งน้ำสาธารณะ

การเคลื่อนไหวของคนในพื้นที่ดังกล่าว ทำให้ผู้ที่ออกมาเคลื่อนไหวถูกเจ้าหน้าที่รัฐฟ้องร้องดำเนินคดีอาญา เช่น คดีการชุมนุมสาธารณะ เป็นต้น

รวมถึงถูกบริษัทฟ้องร้องดำเนินคดีทางแพ่งเรียกร้องค่าเสียหายที่บริษัทสูญเสียไปช่วงที่ถูกคนในพื้นที่ชุมนุมปิดกั้นการขุดเจาะสำรวจแร่ของบริษัท โดยบริษัทยื่นฟ้องคดีทั้งทางอาญาและทางเพ่งไป 20 คดี มีการเรียกร้องค่าเสียหายชาวบ้านกลุ่มต่อต้านเกือบ 40 ล้านบาท 

ปัจจุบันคดีที่ชาวบ้านที่ถูกบริษัทฟ้องร้องดำเนินคดีกำลังอยู่ในการพิจารณาในชั้นศาล

image_pdfimage_print