โดย วิศรุต แสนคำ

“ถามลูกสุคน กะบ่มีไผบอกว่าสิอยู่กรุงเทพจักคน เขาว่าสิกลับมาอยู่บ้านเบิด” 

ศรีฟอง ชันถาวร อายุ 59 ปี ชาวบ้านจากหมู่บ้านวังบงน้อย ต.วานรนิวาส อ.วานรนิวาส จ.สกลนคร เล่าให้ฟังถึงสาเหตุที่ต้องลุกขึ้นมาปกป้อง “บ้านนอก” เพื่อที่ลูกหลานของตนจะสามารถกลับมาอาศัยอยู่ที่บ้านได้ในอนาคต การเข้ามาของโครงการสำรวจและทำเหมืองแร่โพแทชของบริษัทไซน่าหมิงต๋า ทำให้ศรีฟองหวาดกลัวว่า หากเกิดเหมืองแร่ใต้ดินขนาดใหญ่ขึ้น มันจะเปลี่ยนแปลงบ้านนอกของเธอไปจนไม่เหลือเค้าเดิม

หมู่บ้านวังบุงน้อยคือ 1 ใน 82 หมู่บ้าน ในอ.วานรนิวาส จ.สกลนคร ที่อยู่ในเขตพื้นที่กว่า 120,000 ไร่ ที่บริษัทไชน่าหมิงต๋าได้รับอนุญาตจากรัฐบาลไทยให้ทำการสำรวจแหล่งแร่โพแทชใต้ดินตั้งแต่ปี 2558 เป็นต้นมา

แหล่งแร่โพแทชวานรนิวาส นับว่าเป็นหนึ่งในแหล่งแร่โพแทชที่ดีที่สุดในโลก ดังนั้น รัฐบาลไทยจึงมีความพยายามนำแร่ขึ้นมาใช้ประโยชน์ด้านอุตสาหกรรมและผลิตปุ๋ยเคมี เพื่อหวังสร้างประโยชน์ทางเศรษฐกิจมาตั้งแต่ปี 2510 และโครงการฯ เริ่มดำเนินการชัดเจนมากเมื่อปี 2558

แต่ความฝันของรัฐบาลไทยนั้นยังไม่สามารถเกิดขึ้นได้จริง เพราะชาวบ้านในพื้นที่ลุกขึ้นมาต่อต้านโครงการตั้งแต่ปี 2558 ยืดเยื้อมานานจนถึงปัจจุบัน

“ย่าน” หรือ ความกลัว คือสาเหตุของการลุกขึ้นมาปกป้องบ้านเกิดของชาวบ้านที่นี่

ความกลัวที่ว่า คือความกลัวของชาวบ้านจากประสบการณ์ที่เห็นถึงผลกระทบของน้ำเค็มที่แพร่กระจายมาจากการทำนาเกลือไหลลงสู่นาข้าวจนทำให้ต้นข้าวตายด้วยตาตัวเองมาแล้ว นอกจากนี้หลายคนยังเคยเห็นหลุมยุบขนาดใหญ่เท่าสนามฟุตบอลที่เกิดจากการสูบน้ำเกลือใต้ดินมาทำนาเกลือตาก ดังกล่าวคือตัวอย่างของผลกระทบจากการทำนาเกลือขนาดเพียงไม่กี่สิบไร่ ซึ่งหากจินตนาการถึงการทำ “เหมือง” แร่เกลือขนาดใหญ่หลายแสนไร่ ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับชุมชนและสิ่งแวดล้อมจะมีมากขนาดไหน

นอกเหนือ “ความย่าน” ที่เกิดจากประสบการณ์ในพื้นที่แล้ว ยังมีเรื่องความ “เหลือใจ” หรือ ความน้อยเนื้อต่ำใจ คับแค้นใจ ต่อเจ้าหน้าที่รัฐที่ศรีฟองคิดว่า พวกเขาไม่เห็นใจ ไม่ช่วยเหลือคนในพื้นที่ ทั้งในเรื่องการให้ข้อมูลเกี่ยวกับการทำเหมือง และการให้ชาวบ้านเข้าไปมีส่วนร่วมกับการทำเหมืองในขั้นตอนแรก

“ตอนที่เขามาเจาะหลุมแรก กะพากันไปเรียกร้องกับนายอำเภอ เพิ่นกะไปลี้อยู่ไสวู้หนิ” ศรีฟองเล่าไปถึงความขับแค้นใจเมื่อครั้งที่ชาวบ้านรวมตัวกันพยายามเข้าไปหานายอำเภอเพื่อสอบถามเกี่ยวกับโครงการเหมืองแร่ แต่ไม่พบกับนายอำเภอ สาเหตุที่ชาวบ้านเรียกร้องขอข้อมูลเกี่ยวกับโครงการ เนื่องจากต้องการทราบข้อมูลการขุดเจาะสำรวจแร่ในพื้นที่ว่าจะอยู่บริเวณไหนบ้างและจะใกล้บ้านที่ตัวเองอาศัยหรือไม่

“ความย่าน” และ “เหลือใจ” ของศรีฟองและชาวบ้านจากหมู่บ้านวังบง ที่ทำให้พวกเขาลุกขึ้นมาเพื่อปกป้องหมู่บ้านและต่อต้านการทำเหมืองแร่

การกระทำดังกล่าวคงไม่อาจมองได้ว่าเป็นเรื่องไร้เหตุผล เพราะพวกเขาล้วนมีเป็นประสบการณ์และเป็นประจักษ์พยานได้เห็นและเรียนรู้เกี่ยวกับผลกระทบมาจากในพื้นที่และหมู่บ้านใกล้เคียง

ความพยายามที่จะรักษาหมู่บ้านเพื่อลูกหลาน และการเรียกร้องสิทธิในการจัดการทรัพยากรท้องถิ่นกับรัฐบาลและบริษัทไซน่าหมิงต๋า ศึกในการแย่งชิงทรัพยากรระหว่างชาวบ้าน รัฐและทุนที่จะยังคงต้องติดตามกันต่อไป

ป้ายแสดงการคัดค้านของชาวบ้านที่บ้านหินเหิบหินกอง ตำบลวานรนิวาส ซึ่งเป็น 1 ใน 6 ตำบลที่จะอยู่ภายใต้พื้นที่การสำรวจแร่โพแทชของบริษัท ไชน่าหมิงต๋าฯ

วิถีชีวิตของคนบ้านหินเหิบหินกอง หนึ่งในหมู่บ้านที่จะอยู่ภายใต้พื้นที่การสำรวจแร่โพแทชของบริษัทไชน่าหมิงต๋าฯ ยังคงเป็นวิถีชีวิตที่เรียบง่าย ตามแบบชุมชนท้องถิ่น

บรรยากาศภายในห้องครัวของชาวบ้านหมู่บ้านหินเหิบหินกอง 

นอกเหนือไปจากการทำการเกษตร ชาวบ้านที่หมู่บ้านหินเหิบหินกองยังทอผ้าขายเพื่อสร้างรายได้เสริม

โขง อายุ 68 ปี ชาวบ้านจากหมู่บ้านวังบง พึ่งพาอาหารจากอ่างเก็บน้ำห้วยโท่งที่ตั้งอยู่ไม่ไกลจากหมู่บ้าน บ้านวังบงนี้ก็อยู่ในพื้นที่ของการสำรวจแหล่งแร่โพแทช ชาวบ้านหลายคนมีความกังวลว่า ถ้าหากเหมืองเกิดขึ้น เหมืองอาจต้องนำน้ำจากอ่างเก็บน้ำนี้ไปใช้ในอุตสาหกรรมเหมือง เมื่อนั้นอาจจะเกิดปัญหาการแย่งชิงน้ำระหว่างชาวบ้านและเหมืองแร่ขึ้นในพื้นที่

ที่ดินหลายที่ในหมู่บ้านหินเหิบหินกอง ถูกกว้านซื้อโดยนายทุนนอกพื้นที่เมื่อหลายสิบปีก่อน โดยชาวบ้านมองว่าเป็นการซื้อเพื่อเตรียมไว้สำหรับการสำรวจแร่โพแทช

แผนที่การสำรวจแหล่งแร่โพแทช บริษัท ไชน่าหมิงต๋าฯ ที่ได้รับอาชญาบัตรพิเศษสำรวจแร่โปแตชตั้งแต่ปี 2558 ซึ่งตั้งเป้าจะทำการสำรวจในพื้นที่ 6 ตำบล ได้แก่ ตำบลศรีวิชัย ตำบลคอนสวรรค์ ตำบลนาคำ ตำบลวานรนิวาส ตำบลขัวก่าย และตำบลธาตุ โดยจะครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 120,000 ไร่ ในเขตอำเภอวานรนิวาส จังหวัดสกลนคร

หนึ่งในพนักงานของบริษัทไชน่าหมิงต๋าฯ กำลังชี้ให้ดูบ่อขุดเจาะสำรวจแร่บ่อที่ 3 ซึ่งอยู่ในบริเวณพื้นที่ส่วนบุคคลที่เป็นของนักการเมืองท้องถิ่น บ้านหนองมะเกลือ ต.คอนสวรรค์ จังหวัดสกลนคร

มะลิ แสนบุญศิริ หนึ่งในตัวแทนเครือข่ายประชาชนวานรนิวาส นอกเหนือจากงานการทำนาประจำปีและการเป็นตัวแทนเรียกร้องสิทธิชุมชน เธอยังมีอีกหน้าที่หนึ่ง คือการเลี้ยงหลานทั้ง 4 คน

เมื่อวันที่ 27 พฤษาคม พ.ศ. 2561 กลุ่มรักษ์อำเภอวานรนิวาส กลุ่มคัดค้านการทำเหมืองแร่โพแทชในพื้นที่ จ.สกลนคร เดินรณรงค์ประชาสัมพันธ์ผลกระทบจากการทำเหมืองแร่ให้กับประชาชนในพื้นที่ 6 ตำบลของอำเภอวานรนิวาสรับทราบและขอให้ทุกคนออกมาต่อต้านโครงการด้วยกัน

ความต้องการใช้ปุ๋ยที่เติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่องในประเทศที่กำลังพัฒนา มักถูกใช้เป็นสาเหตุหนึ่งในการทำเหมืองโพแทช โดยในปัจจุบันประเทศไทยนำเข้าปุ๋ยโพแทชราว 7 แสนตันต่อปี ฝั่งผู้สนับสนุนการทำเหมืองดังกล่าวอ้างว่า เหมือนงจะทำให้ราคาของปุ๋ยโพแทชถูกลงและยังช่วยเพิ่มผลผลิตทางการเกษตรให้มีมากขึ้น

ในพื้นที่หมู่บ้านโนนสะแบง อำเภอบ้านม่วง จังหวัดสกลนคร มีการทำอุตสาหกรรมเกลือ การสูบน้ำเค็มใต้ดินขึ้นมาตากในภาคอีสานเริ่มต้นขึ้นเมื่อประมาณ 45 ปีที่แล้ว โดยนายทุนที่เคยทำเกลืออยู่แล้วในภาคกลาง หลังจากน้ำท่วมนาเกลือในพื้นที่ภาคกลาง นายทุนคนดังกล่าวจึงมองหาพื้นที่ทำเกลือแห่งใหม่ในอีสานแทน

เกลือที่ได้จากการทำนาเกลือ จะเรียกว่า เกลืออุตสาหกรรม โดยจะถูกนำไปเป็นส่วนประกอบในอุตสาหกรรมเคมี ทำให้เกลือที่นี่ไม่สามารถไปรับประทานหรือประกอบอาหารได้ 

นอกจากการทำนาเกลือ บริเวณพื้นที่อำเภอบ้านม่วง จังหวัดสกลนคร ยังมีทำโรงงานอุตสาหกรรมการต้มเกลือ ซึ่งเกลือที่ได้สามารถนำไปประกอบอาหารได้ 

สำหรับอุตสาหกรรมการต้มเกลือในอีสานนั้น ว่ากันว่าเกิดมานานหลายร้อยปีแล้ว ปัจจุบันที่หมู่บ้านกุดเรือคำ จังหวัดสกลนคร มีการต้มเกลือที่เป็นอุตสาหกรรม และมีนายทุนเป็นเจ้าของบ่อต้มเกลือ มีจ้างคนในพื้นที่ต้มเกลือ โดยคนต้มเกลือจะได้รับเงินค่าจ้างตามเกลือที่ต้มได้ ซึ่งคำนวณโดยประมาณแล้วเฉลี่ย 350 บาทต่อคน

การทำไอศครีมคืออาชีพเก่าแก่ของชาวบ้านจากหมู่บ้านหินเหิบหินกอง โดยทำกันมากว่า 30 ปีแล้ว และนำเกลือจากพื้นที่ใกล้เคียงมาใช้ในกระบวนการทำไอศครีม​ซึ่งเป็นรายได้เสริมหลังจากช่วงการทำนา

ของเสียจากการตากเกลือถูกปล่อยไหลไปยังบ่อน้ำแห่งหนึ่ง ซึ่งบ่อน้ำแห่งนี้เกิดจากการยุบตัวของดินอันเป็นผลมาจากการทำนาเกลือที่หมู่บ้านโนนสะแบง อำเภอบ้านม่วง จังหวัดสกลนคร

น้ำเสียที่เกิดจากอุสาหกรรมการต้มเกลือถูกปล่อยลงในคลองที่มีการขุดล้อมแหล่งต้มเกลือเอาไว้ และพบว่าหลายครั้งที่น้ำเสียจากการต้มเกลือรั่วไหลปนเปื้อนไปยังแหล่งน้ำอื่นๆ รอบพื้นที่การต้มเกลือ

หลุมยุบขนาดประมาณ 1 สนามฟุตบอล และลึกประมาณ 15 เมตร เกิดจากการสูบน้ำเค็มใต้ดินขึ้นมาทำนาเกลือที่หมู่บ้านโนนสะแบง อ.คำม่วง จ.สกลนคร การยุบตัวของหลุมขนาดใหญ่หลุมนี้เริ่มขึ้นเมื่อประมาณ 30 ปีที่แล้ว โดยเริ่มจากหลุมเล็กๆ ขนาดเท่าโอ่งแดงเก็บน้ำของคนอีสาน แล้วขยายตัวใหญ่ขึ้นทุกปี หลุมในภาพคือ 1 ใน 3 หลุม ขนาดใหญ่ที่ยุบตัวลงเนื่องจากการทำนาเกลือ

ปัจจุบันแม้แม่น้ำเสียวจะเริ่มฟื้นฟูกลับมาจนเห็นได้ว่าเริ่มมีสัตว์น้ำอาศัยอยู่ แต่ในลึกลงไปในดินใต้น้ำ ความเค็มยังคงหลงเหลืออยู่ โดยสังเกตุเห็นได้จากต้นธูปที่เกิดขึ้นมากมาย

ชาวบ้านจากหมู่บ้านหนองสิมกำลังหาปลาในบึงหนองบ่อ ซึ่งเป็นหนองน้ำในลุ่มน้ำเสียว อ.บรบือ จ.มหาสารคาม หนองน้ำแห่งนี้้เป็นสถานที่แรกๆ ที่ได้รับผลกระทบจากการทำเกลือเชิงอุตสาหกรรมในอีสานเมื่อช่วงประมาณ 30 ปีที่แล้ว ซึ่งส่งผลให้ระบบนิเวศและวัฒนธรรมของแม่น้ำเสียวล่มสลาย 

พื้นที่หนองบ่อ อดีตเคยเป็นนาเกลือขนาดใหญ่ ปัจจุบันกลายเป็นลานดินกว้างที่สามารถซ้อมตีกอล์ฟได้


งานชิ้นนี้ทำงานร่วมทำสำนักข่าว China Dialogue

image_pdfimage_print