โดย ภาณุพงศ์  ธงศรี

“เฮ็ดในสิ่งที่เซื่อ เซื่อในสิ่งที่เฮ็ด” เป็นประโยคเด็ดที่ติดหูหลายคน จากภาพยนตร์ “15 ค่ำ เดือน 11” ภาพยนตร์สะท้อนความเชื่อเรื่องบั้งไฟพญานาค 

ด้วยบุคลิกท่าทางยิ้มแย้มแจ่มใส สายตาที่อิ่มเอม ภาษาสำเนียงที่ชัดเจน บ่งบอกถึงความเป็นคนอีสานโดยตรง นพดล ดวงพร จึงเป็นที่จดจำของบรรดาผู้ชม ทั้งจาก เพชรพิณทอง และบรรดาภาพยนตร์อีสานอีกหลายเรื่องที่เขาร่วมแสดง

นพดล ดวงพร (กลาง) และครูหมอลำกลอนและตลกชั้นนำของภาคอีสาน ภาพจากอรวรรณ พงษ์ภาพ

การจากไปของนพดล ดวงพรเมื่อค่ำคืนวันที่ 4 กรกฏาคม พ.ศ. 2562  ต่างทำให้บรรดาแฟนเพลงและภาพยนตร์พากันตกใจและเกิดเป็นกระแสแสดงความอาลัยบนโลกออนไลน์อย่างต่อเนื่อง โดยนพดลจากไปอย่างสงบ ณ โรงพยาบาลศิริราช ต่อจากนี้ไป เรื่องราวของเขาคงเหลือไว้เพียงความทรงจำที่ปรากฏผ่านผลงาน และคุณูปการต่อศิลปวัฒนธรรมอีสานที่มิอาจลืมเลือน

นอกจากความเสียใจ สิ่งหนึ่งที่หลายคนตระหนักต่อการจากไปของนพดลก็คือ เขาเป็นผู้นำนวัตกรรมการแสดงสมัยใหม่มาสู่วงการหมอลำธรรมดา ยกระดับให้กลายเป็นวงดนตรีลูกทุ่งหมอลำอีสาน 

ภูมิหลังของนพดล ดวงพร

นพดล ดวงพร หรือชื่อเดิม ณรงค์ พงษ์ภาพ เกิดเมื่อ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2484 ที่หมู่บ้านท่าวังหินและเรียนจบระดับประถมศึกษาปีที่ 4 จากโรงเรียนท่าวังหิน ตำบลปทุม อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี 

เบ้าหลอมสำคัญที่ทำให้เขาเป็นศิลปินมาจากพ่อ ซึ่งประกอบอาชีพหมอลำกลอน และแม่เป็นนักร้องเพลงโคราช พร้อมกันนั้นชุมชนท่าวังหินและหมู่บ้านใกล้เคียง ในจังหวัดอุบลราชธานี ก็เป็นแหล่งเรียนรู้หมอลำกลอนชั้นเยี่ยม เพราะมีสำนักงานหมอลำที่ฝึกสอนหมอลำกลอนเรียงรายกันไม่ขาดสาย เช่น หมอลำทองมาก จันทะลือ หมอลำจันทร์เพ็ญ นิติอินทร์ หมอลำเปลี่ยน วิมลสุข หมอลำสุพรรณ อ่างทอง หมอลำบุญถือ ป้องศรี และหมอลำคำเก่ง บัวใหญ่

ช่วงวัยรุ่น นพดลเดินทางเก็บเกี่ยวประสบการณ์ที่กรุงเทพฯ และภาคกลางของประเทศไทย ร่วมงานกับวงดนตรีลูกทุ่งคณะพิพัฒน์ บริบูรณ์ และวงดนตรีของครูมงคลอมาตยกุล (วงดนตรีจุฬารัตน์) 

วงดนตรีเหล่านี้มีอิทธิพลต่อความคิดของนพดลในการตั้งวงเป็นอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบการแสดง การแต่งเพลง ดนตรีและหางเครื่อง 

เมื่อเดินทางกลับอีสาน เขาสร้างเพชรพิณทองขึ้นมา จึงเป็นที่ฮือฮาของภาคอีสาน เพราะเป็นรูปแบบการแสดงสมัยใหม่ ต่างจากลำเรื่องต่อกลอนของเดิม 

นวัตกรรมสมัยใหม่ในเพชรพิณทอง

นพดลพกความฝันการตั้งวงจากกรุงเทพฯ เดินทางกลับอุบลราชธานี เข้าเป็นนักจัดรายการวิทยุ ทางสถานีวิทยุทหารอากาศ 08 (ทอ.08) จังหวัดอุบลราชธานี เปิดเพลงลูกทุ่งและหมอลำ กระทั่งเป็นที่รู้จัก

ต่อมาเมื่อปี 2514 วงเพชรพิณทองเริ่มเป็นรูปร่าง โดยนำเอาเครื่องดนตรีพื้นบ้าน คือ พิณ มาร่วมบรรเลงกับเครื่องดนตรีสากลจนมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวของวง ใช้ภาษาถิ่นอีสานเป็นหลักในการนำเสนอเนื้อหา เน้นบทบาทของพิธีกรใส่สูท เล่าเรื่องราวและลำดับการแสดงจากความเป็นท้องถิ่นที่ผู้ชมมีประสบการณ์ร่วม 

จุดนี้เองที่ทำให้คณะเพชรพิณทองมีจุดเด่นในการแสดงหน้าเวที กระทั่งมีคำเปรยไว้ว่า ตลกใส่สูท

“เพชรพิณทอง” วงหมอลำพื้นบ้านอีสานที่นำพิณและแคนมาเล่นผสมกับเครื่องดนตรีสากล โดยแสดงพร้อมหางเครื่องสาว จนกลายเป็นจุดเริ่มต้นของ “วงดนตรีลูกทุ่งหมอลำอีสาน” ภาพจาก อรวรรณ พงษ์ภาพ

เพลงลูกทุ่ง เพลงลูกกรุง สู่ลูกทุ่งหมอลำอีสาน

ย้อนไปในช่วงปี 2500 – 2520 กระแสเพลงลูกทุ่งถูกปรับประยุกต์จากเพลงไทยสากลมากขึ้น เห็นได้จากนักร้องคนสำคัญ เช่น ทูล ทองใจ สุรพล สมบัติเจริญ ชาย เมืองสิงห์ ไวพจน์ เพชรสุพรรณ

กระแสในเมืองกรุงมีการแบ่งแยกระหว่างนักร้องผู้ดีและนักร้องเพลงตลาด เกิดกระแสลูกทุ่งและลูกกรุง โอกาสสำคัญของนภดล คือ การได้ร่วมงานกับบรรดาศิลปินลูกทุ่งในวงดนตรีลูกทุ่ง

เขาเห็นรูปแบบการนำเสนอและลีลาการแสดง เมื่อเดินทางกลับอีสานจึงพัฒนาวงดนตรีของตัวเองขึ้น และเกิดกระแสการตอบรับจากชาวอีสานเป็นอย่างมาก เพราะรูปแบบการนำเสนอไม่ได้เป็นการลำเรื่องต่อกลอนเต็มรูปแบบ แต่เป็นการผสมผสานระหว่างวงดนตรีลูกทุ่งและคณะหมอลำ 

ความโดดเด่นที่ชัดเจน คือ แนวเพลงลูกทุ่งหมอลำอีสานที่ประยุกต์จากเพลงสากล เช่น เพลงอยาก ในอัลบั้มรวมเพลงเด็ดจากเพชรพิณทอง ได้ใช้แนวเพลง Wipe Out ของ The Ventures  ถือเป็นการนำนวัตกรรมเพลงมาเปลี่ยนแปลงกระแสของกลอนลำจากขนบเดิม โดยปรับประยุกต์เป็นแนวเพลงลูกทุ่งอีสานมากขึ้น หลายเพลงเป็นบทเพลงอมตะ ติดหูชาวอีสานมาอย่างยาวนาน เช่น สัจจาหญิง, นกน้อยจ๋า, หมอลำบันลือโลก, ภาพถ่ายวิญญาณรัก, จากบ้านนาด้วยรัก และ อีสานกู

ด้วยเหตุนี้ เพชรพิณทองจึงเป็นจุดเริ่มต้นของการพัฒนานักร้องลูกทุ่งหมอลำ เช่น
วิเศษ เวณิกา เทพพร เพชรอุบล คม คีรีบูน (สนธิ สมมาตร) เฉลิมพร เพชรศยาม และตลกชั้นนำของภาคอีสาน เช่น ลุงแนบ, หนิงหน่อง, ใหญ่ หน้ายาน, ชัย ชุมแพ ป.ซวดลวด, สุนทร คางแพะ, พ่อใหญ่จ่อยจุกจิก, อาวแท็กซี่, และ ฝ้าย เม็ดใน

อีกหนึ่งเอกลักษณ์ที่เด่นชัดของคณะเพชรพิณทองที่ทำให้หลายคนจดจำ คือการการแสดงตลกแบบสดๆ บนเวทีพร้อมบรรเลงดนตรีหมอลำไปด้วย ภาพจาก อรวรรณ พงษ์ภาพ

พิณบ้านนา สู่พิณไฟฟ้า

หากพูดถึงปรมาจารย์ด้านพิณ คงเป็นใครไปไม่ได้นอกจาก ทองใส ทับถนน มือพิณคณะเพชรพิณทอง ต้นฉบับลายปู่ป๋าหลาน ทองใสเป็นมือพิณคนแรกที่ได้ใช้พิณไฟฟ้าตัวแรกของโลก โดยนพดลเป็นคนพัฒนาขึ้นมา เพราะต้องการให้พิณสามารถเล่นประสมกับวงดนตรีได้ดี 

“เวลาแสดงต้องให้เอาไมโครโฟนไปจ่อ บางทีคนเล่นพิณโยกตัวไปตามจังหวะอารมณ์ของเพลง ออกห่างจากไมค์ก็ไม่ได้ยินแล้ว ตอนนั้นเอลวิส เพรสลีย์กำลังดัง ผมเห็นเขาเอากีตาร์ต่อไฟฟ้า เสียงดังชัดดี ผมก็เอามาดัดแปลงบ้าง อาศัย ความรู้เรื่องช่างอิเล็กทรอนิกส์ที่เรียนมา จนทำพิณไฟฟ้าได้สำเร็จเป็นตัวแรก” คำกล่าวของนพดล ในวารสารวัฒนธรรม ฉบับที่ 4 เล่าถึงจุดเริ่มต้นการพัฒนาพิณอีสานของตน ซึ่งได้ให้สัมภาษณ์ไว้เมื่อปี 2559  

คำบอกเล่านี้ชี้เห็นได้ว่า นพดลเป็นผู้พัฒนาดนตรีพื้นบ้านให้ได้รับการยอมรับมากขึ้น อีกทั้งยังนำนวัตกรรมสมัยใหม่มาประยุกต์ใช้สร้างมูลค่าให้กับเครื่องดนตรีท้องถิ่นอีกด้วย

ทองใส ทับถนน ปรมาจารย์พิณสองสายลายโบราณแห่งวงเพชรพิณทอง ต้นตำรับลายพิณปู่ป๋าหลาน และลายอื่น ๆ อีกมากมาย จนเป็นที่ยอมรับของมือพิณทั่วไป ภาพจาก อรวรรณ พงษ์ภาพ

หางเครื่อง

เอกลักษณ์สำคัญของหมอลำ นอกจากกลอนลำและผู้แสดงแล้ว ในปัจจุบัน หางเครื่อง เป็นส่วนสำคัญที่สร้างความสนุกสนานให้กับผู้ชม ทุกวันนี้หมอลำหลายคณะพัฒนากระทั่งเป็นการแสดงโชว์ที่ยิ่งใหญ่ตระการตา หากเรามองย้อนกลับไปในอดีต หางเครื่องได้รับการพัฒนาการมาพร้อมกับเพลงลูกทุ่ง เข้าสู่วงการหมอลำโดยคณะรังสิมันต์เป็นคณะแรก แต่รูปแบบของการแสดงยังไม่ชัดเจน ท่าเต้น
ยังเป็นการฟ้อนรับประกอบจังหวะ ไม่ได้มีรูปแบบชัดเจน 

หลังปี 2515 วงเพชรพิณทอง นำหางเครื่องมาแสดงด้านหน้าเวที สร้างความสนใจให้กับผู้ชมเป็นอย่างมาก เพราะชุดที่มีสีสันสดใส จังหวะเต้นเร้าใจแปลกตา ท่าทางประกอบดนตรีสากล กระทั่งหมอลำหมู่หลายคณะต้องมีการปรับตัวครั้งใหญ่ เช่น หมอลำคณะรัตนศิลป์อินตาไทยราษฎร์, หมอลำคณะอุบลพัฒนา, หมอลำคณะขวัญใจจักรวาล, คณะ ป. สามัคคี และคณะสารคามเพชรลำเพลิน 

ด้วยเหตุนี้ หมอลำในยุคต่อมาจึงจำเป็นต้องมีหางเครื่อง ด้วยอิทธิพลจากแนวคิดและการพัฒนาดังกล่าว เครื่องแต่งกายของหางเครื่องและท่าเต้น จึงเป็นองค์ประกอบสำคัญที่สร้างบรรยากาศความสนุกให้กับคณะหมอลำจนกระทั่งปัจจุบัน

นพดล ดวงพร มีคุณูปการในฐานะนักปราชญ์ ผู้นำนวัตกรรมสมัยใหม่ที่ได้จากประสบการณ์ การสังเกต ทดลอง และปฏิบัติจริง ส่งเสริมให้วงการหมอลำและศิลปะการแสดงของอีสานพัฒนาไปอีกขั้น ด้วยเหตุนี้ นพดล ดวงพร หรือ นายณรงค์ พงษ์ภาพ จึงไม่ใช่แค่ศิลปิน แต่เป็นปูชนียบุคคลที่ชาวอีสานต้องจดจำตลอดไป ในโอกาสนี้ ผู้เขียนขอแสดงความเสียใจต่อการจากไปของ “คุณพ่อนพดล ดวงพร” ในฐานะคนรุ่นใหม่ที่สนใจศิลปะการแสดงอย่างอาลัยยิ่ง

เอกสารอ้างอิง

ขอบคุณรูปภาพหน้าปกจาก kapook.com

รูปภาพในเนื้อหาจาก อรวรรณ พงษ์ภาพ

กรมส่งเสริมวัฒนธรรม. 2559. วารสารวัฒนธรรม ฉบับโขนที่สุดแห่งนาฏกรรมไทย. โรงพิมพ์ สำนักงานพระพุทธศาสนา. ฉบับที่ 4 / ตุลาคม – ธันวาคม 2559.

ชาญสุวรรณ, ปัทมาวดี. 2542. พัฒนาการของหางเครื่องหมอลำหมู่วาดขอนแก่น. มหาสารคาม: ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต ไทยคดีศึกษา กลุ่มมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม.

โปร่งจิตร, จีรพงษ์. 2550. วิถีชีวิตหางเครื่องหมอลำหมู่ คณะรัตนศิลป์อินตาไทยราษฎร์ อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น. เลย: ปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิต ไทยศึกษาเพื่อการพัฒนา มหาวิทยาลัยราชภัฏเลย.

วีระพูล, พรเทพ. 2535. การแสดงหางเครื่องหมอลำหมู่. มหาสารคาม: ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต ไทยคดีศึกษา เน้นมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม.

สิงห์อุดม, กาญจนา. 2555. อัตลักษณ์เลขนศิลป์ลูกทุ่งไทย. กรุงเทพฯ: สาขาวิชาการออกแบบนิเทศศิลป์ ภาควิชาการออกแบบนิเทศศิลป์ บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร.

สารานุกรมเสรี, วิกิพีเดีย. 2562. นพดล ดวงพร.

ศิลปินพื้นบ้านผู้เป็นตำนานเพชรพิณทอง isangate. 2562. ณรงค์ พงษ์ภาพ.

image_pdfimage_print