โดย มาโนช  พรหมสิงห์

หลังจากการแสดงความสามารถ (ก้าวเท้าจากการบริหารประเทศ ข้ามมายังดินแดนแห่งศิลปะ) ทั้งแต่งเพลง, แต่งกลอน (Poetry) เมื่อเดือนที่ผ่านมา พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีก็แนะนำหนังสือดีที่ควรอ่านเล่มแรก คือ 

‘Animal Farm’ ผลงานเขียนของ George Orwell (นามจริงคือ Eric Arthur Blair ชาวอังกฤษ (ค.ศ. 1903-1950) ที่เสียชีวิตจากวัณโรคด้วยวัยเพียง 48 ปี)

‘Animal Farm’ นับเป็นหนังสือขายดีเล่มแรกของเขา โดยมีชื่อเต็มว่า ‘Animal Farm: A Fairy Story’ ก่อนที่เขาจะเขียนนวนิยายอันถือเป็นวรรณกรรมอมตะเช่นกัน คือ ‘1984’

นวนิยาย ‘Animal Farm’ มีเนื้อหาส่วนหนึ่งซึ่งถือเป็นวาทะเด็ด อันเปรียบได้กับใบหน้าของหนังสือ คือ บัญญัติ 7 ประการของแอนิมอล ฟาร์ม /และข้อความที่ว่า

สัตว์ทุกตัวเสมอภาคกัน

แต่สัตว์บางตัวเสมอภาคยิ่งกว่าสัตว์อื่นๆ

จากคำพูดแนะนำผ่านสื่อของนายกฯ ทำให้หนังสือแปลเล่มนี้มีการซื้อหา/สั่งซื้อจากสำนักพิมพ์จนหนังสือหมดภายในเวลารวดเร็ว จนต้องจัดพิมพ์ใหม่เพิ่มขึ้นอีก

ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น ?

นั่นก็เพราะคำพูดของนายกฯ (ผู้มีอำนาจสั่งการ/กำกับการทำหน้าที่บริหารประเทศของคณะรัฐมนตรี/ผู้ใต้บังคับบัญชาในฐานะหัวหน้า คสช./มี ม.44 อยู่ในมือ) ย่อมมีอำนาจเจืออยู่อย่างไม่อาจปฏิเสธหรือหลีกเลี่ยง จึงมีน้ำหนักเพื่อให้คนคล้อยตาม/เชื่อฟัง/ปฏิบัติตาม ยิ่งกว่าวาทะของคนธรรมดา ซึ่งรวมถึงบรรณาธิการอย่างผมด้วย

ปกติแล้วผู้คนในสังคมย่อมมีการสื่อสารระหว่างกัน ในการสื่อสารนั้นต้องใช้สัญญะ(Sign) ทั้งเครื่องหมาย, สัญญาณ, ภาพ สารพัด รวมถึง ‘วาทะ’ หรือ ‘ภาษา’ อันเป็นทั้งคำพูดหรือข้อเขียน ซึ่งปกติแล้วจะมีอำนาจแฝงอยู่อย่างที่ผู้ใช้อาจไม่รู้ตัวด้วยซ้ำ (Ferdinand de Saussure บิดาแห่งภาษาศาสตร์และโครงสร้างนิยมชาวสวิส ได้แยกวาทะ/ภาษาออกจากกัน) 

โดย วาทะ (Parole) หมายถึงข้อความที่ปัจเจกบุคคลพูดหรือเขียนขึ้นจริงๆ เพื่อใช้สื่อสารในสถานการณ์ใดสถานการณ์หนึ่ง ส่วน ภาษา (Langue) หมายถึงรหัสหรือกติกาที่ใช้เป็นเครื่องมือสื่อสาร (เช่นคำศัพท์, โครงสร้างประโยค) ภาษาจึงเป็นวิทยาศาสตร์ มีระบบแบบแผนมั่นคง แต่วาทะนั้นสัมพันธ์กับปัจจัยหลากหลายที่เปลี่ยนแปลงได้ ภาษาจึงเปรียบกับตัวโน้ตของซิมโฟนี่ที่มีตัวตนเป็นเอกเทศจากวิธีนำไปบรรเลงในแต่ละครั้ง)

คำพูดของนายกฯ จัดเป็น ‘วาทศิลป์’ (Rhetoric) อันประกอบด้วย วาทะคือคำพูดหรือข้อเขียน โดยมีเป้าหมายที่จะโน้มน้าวผู้รับสารให้คล้อยตาม รวมถึงการสร้างสีสันให้ประทับใจ/สะดุดหูสะดุดตา วาทศิลป์ (ไม่ใช่วาทกรรม (Discourse)) จึงมีอยู่ในทุกๆ การสื่อสารในสังคม อาทิ การโฆษณา, คำปราศรัยของนักการเมือง,วรรณกรรม, งานวิชาการ 

ดังนั้น ผู้รับสารจึงเป็นผู้ถูกกระทำโดยไม่รู้ตัว การถูกกระทำโดยคำพูดยังมีอีกลักษณะ ซึ่งเรียกว่า ‘วาทกิจ’ (Speech Act) อย่างคำพูดที่ว่า ห้องนี้ร้อนจัง ผู้รับสารต้องรีบเปิดหน้าต่าง/พัดลม/เครื่องทำความเย็น หรือคำพูด สวัสดี (เมื่อเดินผ่านกัน) ย่อมแฝงอำนาจของการสั่งให้หยุดและตอบ

ภาษา/วาทะจึงถูกนำมาใช้ในสังคมการเมืองทุกระดับอย่างเข้มข้น นี่ยังไม่รวมไปถึง Hate Speech กับ Crime Speech ซึ่งกำลังเป็นประเด็นอยู่ในขณะนี้

จอร์จ ออร์เวลล์ นักเขียนชาวอังกฤษ ผู้มีชีวิตในช่วง พ.ศ. 2446 ถึง พ.ศ. 2493 เป็นอดีตนักข่าว นักวิจารณ์ด้านการเมืองและวัฒนธรรม ทำให้เขาเขียนนิยายล้อเลียนการเมืองภายใต้การปกครองแบบเผด็จการทหาร ที่รวบอำนาจเบ็ดเสร็จในการครอบงำความคิดคนในสังคม

‘Animal Farm’ ถูกอ่านโดยนายกฯ (?) แล้วจึงเอ่ยปากแนะนำ แหละมีผู้คนแห่ตามกันไปซื้อหามาอ่าน

‘อ่าน’ (พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542 ให้ความหมายว่า) ก. ว่าตามตัวหนังสือ (ถ้าออกเสียงเรียกอ่านออกเสียง ถ้าไม่ออกเสียงเรียกอ่านในใจ),พิจารณาดูเพื่อให้เข้าใจ เช่น อ่านสีหน้า อ่านใจ, ตีความ เช่น อ่านรหัส อ่านลายแทง คิด นับ

ดังนั้น การอ่าน คือ การแปลความ ทั้งภาษาถ้อยคำ (วัจนภาษา), ไม่ใช่ถ้อยคำ (อวัจนภาษา) รวมทั้งอ่านสัมผัสรู้สึก, อ่านสภาวธรรมต่างๆ ถ้าแปลความหมายได้ ถือว่าเกิดผลสัมฤทธิของการอ่าน หรือถือว่า  ‘อ่านออก’

การอ่านออก เป็นศาสตร์แห่งการตีความ (Hermeneutic) ซึ่งผู้อ่านมีอำนาจตีความตัวบท (Text) ได้เองอย่างอิสระไม่ขึ้นกับสิ่งใดๆ โดยอาศัยความคุ้นเคยจากประสบการณ์ทางวัฒนธรรม/ความปรารถนา/อารมณ์/ค่านิยมส่วนตัว/พลังการอ่านงานเขียนอื่นมาก่อน แต่ไม่ใช่การตีความตามใจฉันแบบเพ้อเจ้อไร้เหตุผลหรือไร้ตรรกะใดๆ 

พึงระวังไว้เสมอว่า ภาษาเป็นสัญญะที่มีอำนาจ/พลังของภาษาในหนังสือเป็นประชาธิปไตย เปิดกว้างอย่างเท่าเทียมสำหรับคนที่อ่านมัน 

ฉะนั้น เมื่อหยิบหนังสือขึ้นมาอ่านครั้งคราใด จงระวังว่า คุณอาจอ่านได้ แต่อ่านไม่ออก ถ้านายกฯ อ่าน Animal Farm จริง นายกฯ อ่านออกหรือไม่ เพียงใด จึงสามารถเอ่ยแนะนำประชาชนทั่วไป และโปรดตระหนักเสมอว่า ‘You are what you read.’

จากหนังสือเล่มแรกที่แนะนำ นายกฯ ก็จัดหาหนังสือเล่มอื่นเอ่ยแนะนำตามมาอีก…

ทว่าเรามั่นใจได้เลยว่า หนังสือที่นายกฯจะไม่แนะนำแน่นอน ก็คือ หนังสือที่เขียนโดยนักคิดนักเขียนซึ่งเห็นต่างจาก คสช.และรัฐบาล กับหนังสือต้องห้าม(Forbidden Books) จากอดีตจนปัจจุบัน ทั้งจากนักเขียนไทย/ต่างประเทศ

แหละในทัศนะของผม หนังสือที่น่าอ่านที่สุด ก็คือ หนังสือที่นักคิดนักเขียนเขียนอย่างมีเสรีภาพเต็มที่ที่จะคิดจะเขียน โดยไม่สยบหรือรับใช้อำนาจอื่นใด มีเสรีภาพในการพิมพ์ วางจำหน่าย และเลือกซื้อหา เพราะรสนิยม/การตีความ/ให้คุณค่า/เชื่อ/ไม่เชื่อ เป็นสิทธิเสรีภาพของปัจเจกบุคคล เป็นประชาธิปไตย และเป็นอำนาจในมือประชาชนผู้อ่านหนังสือแต่เพียงผู้เดียวเท่านั้น

image_pdfimage_print