ที่เพิงไม้ริมถนนที่มีหลังคาเหล็กลูกฟูกและไฟนีออนสีเขียว แพรวชี้ไปยังเฟอร์นิเจอร์ที่ทำจากไม้ไผ่
“นั่งทางนอกบ่จ้า ลมเย็นดี บ่เสียงดังคือทางในเด้” เธออธิบาย พร้อมพยักหน้าไปทางบ้านที่อยู่ถัดออกไปจากเพิง ซึ่งมีทั้งห้องครัว ห้องน้ำ และตู้คาราโอเกะที่กำลังส่งเสียงดังกังวาลออกมา
เรานั่งอยู่ท่ามกลางอากาศในยามค่ำคืนที่ร้อนอบอ้าวเต็มไปด้วยกลิ่นอายของพืชไม้ผักหญ้าที่เกิดตามธรรมชาติในเขตร้อนชื้น ผสมกับกลิ่นของดินที่ถูกพระอาทิตย์เผาจนแข็งเมื่อตอนกลางวัน และกลิ่นของอะไรบางอย่างที่กำลังถูกทอดกับกระเทียม
ในขณะที่อาหารและเบียร์เริ่มทะยอยออกมาจากด้านใน แพรวเริ่มพูดคุยเกี่ยวกับการเป็นพนักงานบริการทางเพศที่ร้านคาราโอเกะแห่งหนึ่งในอำเภอเดชอุดม จังหวัดอุบลราชธานี
4 ปี หลังจากปฏิบัติการบุกค้นและล่อซื้อทั่วประเทศ สถานที่ให้บริการทางเพศและบาร์คาราโอเกะที่อยู่บริเวณชายแดนไทย-ลาว ก็ยังคงเปิดให้บริการตามปกติ ผู้หญิงลาวที่มาจากครอบครัวยากจนยังคงหาวิธีเข้ามาสู่อุตสาหกรรมการค้าบริการทางเพศในไทย แม้ว่าจะมีความเสี่ยงในการถูกจับกุมและส่งตัวกลับประเทศก็ตาม
ในขณะเดียวกัน การที่พนักงานบริการทางเพศจากลาวไม่ไว้ใจเจ้าหน้าที่รัฐของไทย ก็ได้สร้างความอึดอัดใจแก่เจ้าหน้าที่สาธารณสุข ด้วยอุปสรรคในการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อโรค
คนลาวที่ขายบริการทางเพศบางคนนิยมทำงานที่บาร์คาราโอเกะในต่างจังหวัดมากกว่าที่สถานที่ค้าบริการทางเพศในเมือง พวกเธอมองว่าการอยู่ตามชนบทมีความเสี่ยงที่จะถูกจับกุมน้อยกว่า
แค่ข้ามชายแดน
แพรวมาจากหมู่บ้านชนบทในเขตโพนทอง ที่ๆ เธอบอกว่า “บ่มีอีหยังเลย” ซึ่งอยู่ห่างจากจุดผ่านแดนถาวรช่องเม็กบริเวณชายแดนไทย-ลาวประมาณ 20 กิโลเมตร
ด้วยอายุ 29 ปี เธอมาตามหางานเมืองไทยในขณะที่อายุ 20 ปีต้นๆ ทั้งเพื่อเลี้ยงดูครอบครัวของเธอ และเพื่อหนีให้พ้นจากข้อจำกัดของชีวิตในหมู่บ้านเล็กๆ
เพื่อนๆ บอกเธอว่า หากข้ามไปที่ฝั่งไทยเธอจะสามารถหาเงินได้มากกว่าการทำงานที่เมืองปากเซ
องค์การแรงงานระหว่างประเทศระบุว่า ไทยเป็นเป้าหมายหลักสำหรับแรงงานต่างด้าวลาว โดยกระทรวงแรงงานของไทยระบุตัวเลข ณ เดือน พ.ค. 2561 ว่า มีแรงงานต่างด้าวจากลาวประมาณ 110,000 คนที่ได้รับอนุญาตให้ทำงานในไทย การเคลื่อนย้ายแรงงานดังกล่าวเป็นผลมาจากแรงงานลาวจำนวนมากที่มีความยากจน ขาดฝีมือที่ตลาดแรงงานต้องการ และขาดแคลนทางเลือกในการทำงาน
เงินเดือนเฉลี่ยในลาวอยู่ที่ประมาณ 900,000 กีบ (3,500 บาท) หรือเพียงครึ่งเดียวของเงินเดือนเฉลี่ยในไทย
แพรวและเพื่อนร่วมงานของเธอที่บาร์คาราโอเกะไม่มีเงินเดือน แต่ได้รับเงินค่าคอมมิชชั่นประมาณ 5-15 บาทจากน้ำอัดลมหรือชาเขียวแต่ละขวดที่ลูกค้าซื้อให้ พวกเขามีรายได้ประมาณ 10,000 บาทต่อเดือน โดยเงินส่วนมากมาจากการให้บริการทางเพศแก่ลูกค้า ซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนท้องถิ่น
“อยู่ปากเซก็บ่ได้ฮอดเคิ่งนั้นซ้ำ แล้วก็เฮ็ดงานเหมิดมื้อพร้อม” ตุ๊กตา เพื่อร่วมงานวัย 26 ปีของแพรว กล่าว
แพรวและตุ๊กตาบอกว่า รายได้ของพวกเขาเพียงพอที่จะส่งกลับไปให้ครอบครัวในลาวบ้าง “โดยที่บ่ต้องเฮ็ดงานหนักปานได๋”
“ถึงแพรวสิบ่ได้เงินเดือนแต่แพรวก็สามารถเข้ามาเฮ็ดงานยามได๋ก็ได้ เข้ามาจักโมงก็ได้แล้วแต่เฮา” แพรวกล่าว “คั่นมื้อได๋อยากนอนตื่นสวยก็เฮ็ดได้ บ่มีปัญหา คั่นอยากเมือบ้านไปหาอีพ่ออีแม่หรือไปงานบุญฝั่งพุ่น อีหยังจังเซี่ยะ แพรวก็แค่บอกเจ้าของฮ้านล่วงหน้าจักหน่อยแล้วก็ไปได้”
ธนาคารโลกประเมินว่าในปี 2559 แรงงานต่างด้าวจากลาวที่ทำงานในไทยมีการส่งเงินกลับบ้านกว่า 4 พันล้านบาท
ทั่วภูมิภาคอีสาน ผู้หญิงลาวหางานทำในสถานที่ค้าบริการทางเพศและบาร์คาราโอเกะที่ตั้งอยู่เรียงรายตามพื้นที่ชายแดน แต่ข้อมูลเกี่ยวกับจำนวนคนลาวที่ขายบริการทางเพศในไทยนั้นค่อนข้างหายาก
งานวิจัยที่ได้รับการสนับสนุนโดยสำนักงานสาธารณสุข จ.อุบลราชธานีระบุว่า ในปี 2558 มีผู้หญิงที่ทำงานในร้านอาหารและบาร์คาราโอเกะใน จ.อุบลราชธานีทั้งหมด 2,410 คน ในจำนวนนั้น มี 1,230 คนที่ได้รับการยืนยันว่าเป็นพนักงานบริการทางเพศ ซึ่งเกินครึ่งหนึ่ง (692 คน) มาจากลาว
ไฟหลากหลายสีในตอนกลางคืนเป็นสัญญาณอย่างหนึ่งที่บ่งบอกว่าสถานที่แห่งนั้นอาจมีคาราโอเกะและพนักงานบริการหญิง
การปราบปรามครั้งใหญ่
การวิพากษ์วิจารณ์จากนานาชาติที่เกิดขึ้นหลังจากที่มีการตรวจพบว่า ประเทศไทยมีการค้ามนุษย์เป็นจำนวนมาก ทำให้รัฐบาลทหารทำการปราบปรามครั้งใหญ่ในปี 2558 โดยการบุกค้นสถานที่ค้าบริการทางเพศ อาบอบนวด และบาร์คาราโอเกะ โดยปฏิบัติการดังกล่าวให้ผลลัพธ์ที่ค่อนข้างคลุมเครือ
ในขณะที่มีความพยายามในการกระตุ้นให้เจ้าหน้าตำรวจให้ความใส่ใจต่อการคุ้มครองเหยื่อให้มากขึ้น ซึ่งหลักๆ มาจากการสร้างคณะทำงานที่เกี่ยวกับการต่อต้านการค้ามนุษย์ ที่ประกอบไปด้วยเจ้าหน้าที่ตำรวจ เจ้าหน้าที่สังคมสงเคราะห์ และ NGO การที่เจ้าหน้าที่บางคนมีส่วนรู้เห็นกับการกระทำผิดก็ยังคงทำให้ความพยายามในการต่อต้านการค้ามนุษย์เป็นไปอย่างยากลำบาก
รายงานของรัฐบาลสหรัฐฯ ระบุว่า เจ้าหน้าที่ยังคงจับกุม ลงโทษ และส่งกลับประเทศผู้ที่เป็นเหยื่อของการค้ามนุษย์ ในฐานะผู้ร้ายที่ได้ก่ออาชญากรรมที่เป็นผลพวงโดยตรงจากการค้ามนุษย์ เช่น การค้าประเวณี
บางภาคส่วน เช่น นายจ้าง ยังมีการใช้กฎหมายหมิ่นประมาทที่เข้มงวดของไทยเพื่อป้องกันไม่ให้เหยื่อ นักกิจกรรม และเจ้าหน้าที่รัฐ ดำเนินคดีหรือทำการสืบสวน
ในปี 2556 กองทัพเรือได้ดำเนินคดีกับนักข่าวสองคนในข้อหาหมิ่นประมาท หลังจากที่พวกเขาอ้างอิงรายงานของสำนักข่าวรอยเตอร์ ที่มีการเชื่อมโยงกองทัพเรือกับการค้ามนุษย์ผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญา
แม้ว่าการปราบปรามครั้งนี้จะส่งผลให้ผู้เยาว์จากประเทศเพื่อนบ้านเข้ามาขายบริการทางเพศในไทยน้อยลงอย่างเห็นได้ชัด แต่ผู้หญิงลาวที่เป็นผู้ใหญ่ก็ยังคงเข้าไทยโดยถูกกฎหมายเพื่อทำงานบริการทางเพศ พวกเขาเข้ามาในรูปแบบของพนักงานเสิร์ฟ พนักงานร้านค้า หรือ แรงงานอื่นๆ
ผู้หญิงลาวส่วนใหญ่ที่เข้ามาในลักษณะนี้จะมีพื้นฐานครอบครัวที่ยากจนและอาจจะไม่ได้ผ่านการศึกษาเพียงพอที่จะมีทักษะทางด้านเอกสาร พวกเขาจึงต้องพึ่งนายหน้าที่เรียกเงินสูงถึง 20,000 บาทในการจัดหาวีซ่าและใบอนุญาตทำงาน ซึ่งบางครั้งร้านคาราโอเกะจะช่วยออกค่าใช้จ่ายเหล่านี้บางส่วนหรือเต็มจำนวน
เมื่อแรงงานต่างด้าวถูกจับกุมเนื่องจากทำงานที่ไม่ตรงกับงานที่ระบุไว้ในใบอนุญาตทำงาน พวกเขาจะถูกปรับเป็นเงิน 2,000 บาท และถ้าเผอิญถูกจับในวันศุกร์หรือวันใกล้วันหยุดราชการ พวกเขาก็อาจจะถูกฝากขังในขณะที่รอการดำเนินเอกสารการส่งตัวกลับประเทศ แล้วจึงถูกส่งตัวกลับลาว
“มันก็คือจั่งลางานแบบบ่ได้วางแผนนั่นล่ะ” แพรวกล่าวด้วยรอยยิ้ม “เฮาก็แค่ย้ายชื่อไปอยู่ทะเบียนบ้านของญาติพี่น้องแหน่ ของหมู่แหน่ แล้วก็เฮ็ดเรื่องมาไทยใหม่ บ่ยากดอก เจ้าหน้าที่ไทยเขาก็บ่ได้สนใจตรวจคักปานได๋”
แพรวและเพื่อนร่วมงานยอมรับว่ารวมๆ กันแล้วพวกเขาถูกส่งตัวกลับลาวกว่าสิบครั้งในรอบหลายปีที่ผ่านมา
ตำรวจนายหนึ่งจากกองบังคับการสืบสวนสอบสวน ตำรวจภูธรภาค 4 บอกกับเดอะอีสานเรคคอร์ดว่า การปราบปรามเมื่อปี 2558 ไม่ได้แก้ไขปัญหาค้ามนุษย์ของไทย
“จากที่ผมเห็นนะครับ การปราบปรามการค้ามนุษย์เป็นการสร้างภาพเสียมากกว่า เขาไปบุกจับอาบอบนวดใหญ่ๆ ในเมือง หรือบางทีก็ไปบุกจับซ่องหรือร้านคาราโอเกะในต่างจังหวัดเพื่อให้มันดูดีมีผลงานออกสื่อทีวีหรือหนังสือพิมพ์ แต่การค้ามนุษย์ของแรงงานทาสที่เอาไปใช้งานบนเรือประมงล่ะ…” ตำรวจนายนั้นที่ไม่ขอระบุชื่อ กล่าว
เขาอธิบายเพิ่มเติมว่า หน่วยเฉพาะกิจส่วนมากจะบุกตรวจสถานที่ต่างๆ ได้ก็ต่อได้รับคำสั่งจากผูบังคับบัญชาเท่านั้น ในขณะที่ตำรวจในพื้นที่มักจะ “คุยกันรู้เรื่อง” กับสถานที่ค้าบริการทางเพศและบาร์คาราโอเกะ ซึ่งเจ้าหน้าที่รัฐน่าจะรู้อยู่แล้วว่าสถานที่เหล่านั้นมีพนักงานบริการทางเพศ และบางครั้งได้รับเงิน “ค่าคุ้มครอง” จากเจ้าของสถานที่เสียด้วยซ้ำ
ในขณะที่บาร์คาราโอเกะบางแห่งมีที่ให้พนักงานพักอาศัย บาร์แห่งนี้หลีกเลี่ยงที่จะจัดสถานที่ดังกล่าวให้แก่พนักงานเพื่อลดความเสี่ยงทางด้านกฎหมาย หากมีการตรวจพบคนลาวที่ขายบริการทางเพศอยู่ที่นั่น เจ้าของร้านอาจถูกตั้งข้อหาให้ที่พักพิงคนต่างด้าวผิดกฎหมาย
การบังคับใช้กฎหมาย
ผู้เชี่ยวชาญระบุว่า กฎหมายที่ควบคุมการขายบริการทางเพศในไทยส่งผลเสียมากกว่าผลดี โดยกฎหมายที่ถูกนำมาใช้กับพนักงานบริการทางเพศ คือ พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ. 2539 ซึ่งให้นิยามของการค้าประเวณีว่าเป็น “การยอมรับการกระทำชำเราหรือการยอมรับการกระทำอื่นใด หรือการกระทำอื่นใดเพื่อสำเร็จความใคร่ในทางกามารมณ์ของผู้อื่น อันเป็นการสำส่อนเพื่อสินจ้างหรือประโยชน์อื่นใด ทั้งนี้ ไม่ว่าผู้ยอมรับการกระทำและผู้กระทำจะเป็นบุคคลเพศเดียวกันหรือคนละเพศ”
นัยนา สุภาพึง ทนายความ นักสิทธิมนุษยชน และกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ระบุว่า กฎหมายเหล่านี้สร้างช่องว่างให้เกิดการทุจริต เมื่อสถานที่ค้าบริการทางเพศจ่ายเงินค่าคุ้มครอง ตำรวจและเจ้าหน้าที่รัฐก็ไม่ปฏิบัติหน้าที่อย่างเคร่งครัด เมื่อไม่ปฏิบัติหน้าที่อย่างเคร่งครัด พวกเขาก็ทิ้งพื้นที่ไว้ให้การค้ามนุษย์เกิดขึ้น
ทันตา เลาวิลาวัณยกุล ผู้ประสานงานมูลนิธิเอ็มพาวเวอร์ และอดีตพนักงานบริการทางเพศ ไม่เห็นด้วยกับกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับงานด้านการค้าบริการทางเพศในไทย รวมถึงแนวทางปฎิบัติของเจ้าหน้าที่ตำรวจ
“เจ้าหน้าที่รัฐที่ถือกฎหมายในมือนี่แหละ ที่สร้างปัญหาให้กับพนักงานบริการทางเพศมากที่สุด ไม่ใช่ลูกค้าของพนักงาน หรือโรคติดต่อทางเพศ” เธอกล่าว
ในปี 2554 ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า การที่เจ้าหน้าที่ตำรวจล่อซื้อพนักงานบริการทางเพศได้ โดยการร่วมประเวณีกับพนักงานบริการทางเพศถึงขั้นร่วมเพศ จ่ายค่าบริการโดยใช้เงินหลวง และทำการจับกุมในภายหลังนั้น เป็นการปฏิบัติหน้าที่ที่ชอบด้วยกฎหมาย
“เมื่อไรก็ตามที่เขาสารภาพต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจว่าเขาเป็นพนักงานบริการทางเพศ เขาก็จะมีสิทธิ์ถูกปรับเป็นเงินจำนวน 1,000 บาท และมีประวัติอาชญากรรมทันที” นัยนา กล่าว “มันค่อนข้างที่จะเศร้าและหดหู่นะ ที่พนักงานบริการทางเพศ ที่จัดว่าเป็นกลุ่มเสี่ยงสูงในหลายๆ ด้านอยู่แล้ว ยังต้องเกรงกลัวกฎหมายในเวลาที่พวกเธออาจจะจำเป็นหรือต้องการที่จะพึ่งกฎหมายมากที่สุด”
เช่นเดียวกันกับนัยนา ทันตา มองว่าธรรมชาติของงานบริการทางเพศทำให้พนักงานบริการทางเพศอยู่ในภาวะที่เสี่ยงอยู่แล้ว
“ลองคิดดูสิว่าพนักงานบริการทางเพศจะรู้สึกยังไงเมื่อเขาไม่สามารถไปหาตำรวจได้เมื่อเพื่อนร่วมงานถูกทำร้าย ถูกข่มขืน หรือเมื่อเขาพบว่าเขาต้องทำงานร่วมกับเด็กที่ถูกค้ามนุษย์” เธอกล่าว
ทันตามองว่ากฎหมายกำลังกระทำความรุนแรงต่อพนักงานบริการทางเพศในระดับโครงสร้างหรือสถาบัน เนื่องจากกฎหมายส่งผลโดยตรงให้พวกเขาถูกจับกุมโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจ ปรับ จำคุก และในบางกรณี ถูกส่งตัวกลับประเทศ
“ไม่มีพนักงานบริการอื่นๆ เลยที่ต้องเผชิญกับความเสี่ยงทางอาชีพแบบนี้” ทันตา กล่าว พร้อมเพิ่มเติมว่า การขายบริการทางเพศไม่ควรจะผิดกฎหมาย
ไม่มีข้อมูลสาธารณสุข
เนื่องจากขาดความเชื่อใจในเจ้าหน้าที่รัฐ คนลาวที่เป็นพนักงานบริการทางเพศมักจะหลีกเลี่ยงการติดต่อกับเจ้าหน้าที่สาธารณสุข
นอกจากจะเป็นอุปสรรคต่อการเข้าถึงบริการทางด้านสาธารณสุขแล้ว ยังทำให้เจ้าหน้าที่ที่อยู่ในพื้นที่ชายแดนไม่สามารถตอบสนองต่อการแพร่กระจายของโรคระบาดได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ในปี 2561 รัชนีวรรณ์ นิรมิตร นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยขอนแก่นที่ทำงานวิจัยเกี่ยวกับการเข้าถึงระบบสาธารณสุขของคนลาวที่เป็นพนักงานบริการทางเพศใน จ.อุบลราชธานี พบว่าการที่การขายบริการทางเพศผิดกฎหมายนั้น ทำให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุขไม่สามารถที่จะจัดเก็บข้อมูลเกี่ยวกับผู้ที่ขายบริหารทางเพศที่ละเอียดและถูกต้อง
“สำหรับตำรวจท้องถิ่นหรือเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองท้องถิ่นก็เช่นเดียวกัน” รัชณีวรรณ์ กล่าว “ทุกอย่างในพื้นที่ชายแดนเดินได้ด้วยความสัมพันธ์ ไม่มีใครต้องการให้เรื่องอะไรก็ตามแดงขึ้นมาแล้วบานปลายจนมีการสั่งตรวจหรือสั่งปราบจากส่วนกลาง”
อย่างไรก็ตาม เธอพบว่าเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองระดับท้องถิ่น ตำรวจ และเจ้าหน้าที่สาธารณสุขในบริเวณพื้นที่ชายแดนได้ตกลงที่จะให้ความช่วยเหลือและรักษาคนลาวที่เป็นพนักงานบริการทางเพศในบางกรณี โดยที่ไม่คำนึงถึงหรือตรวจสอบสถานะทางกฎหมายหรืออาชีพของพวกเขามากนัก
ทว่าเจ้าหน้าที่สาธารณสุขคนหนึ่งที่ถูกสัมภาษณ์ในงานวิจัยดังกล่าวมองว่า คนลาวที่ขายบริการทางเพศเป็นหนึ่งในกลุ่มคนที่ทำงานด้วยยากที่สุดในแง่ของการให้บริการทางสาธารณสุข
แม้ว่าเจ้าหน้าที่สาธารณสุขระดับท้องถิ่นจะเดินทางไปให้บริการตรวจสุขภาพถึงสถานที่ทำงานโดยไม่คิดค่าใช้จ่ายให้แก่พนักงานบริการทางเพศ หญิงลาวที่อยู่ในพื้นที่ก็มักจะหลีกเลี่ยงการใช้บริการดังกล่าวอยู่ดี
งานวิจัยเชิงคุณภาพของรัชนีวรรณ์พบว่าพนักงานบริการทางเพศส่วนมากไม่ได้คำนึงถึงความเสี่ยงของการติดโรคและความจำเป็นในการป้องกันจนกระทั่งพวกเขาเข้าสู่การค้าบริการทางเพศ และวัฒนธรรมดั้งเดิมของพวกเขามีบทบาทอย่างมากในการกำหนดว่าเขาจะปฏิบัติตัวต่อลูกค้าอย่างไร
“ที่บ้านหนูนับถือผี … ถ้ามีอะไรกันก่อนแต่งงานมันผิดผี จะเจ็บป่วยทั้งครอบครัว ตอนนั้นหนูน้ำท่วมปอดไม่รู้สาเหตุ ก็กินยาค่ะ ยาแผนปัจจุบันไม่หาย พอกลับบ้านแม่เอายาพื้นเมือง พวกสมุนไพร ยาต้ม ยาหม้อให้กินก็ไม่หาย แม่แกจึงให้ไปครอบฮีตครอบคลอง ตั้งคลองขันธ์ 5 …แล้วเขาให้ไปตัดเวรตัดกรรมสามวัน ถ้าไปก็ต้องพาลูกพาหลานพาพี่พาน้องไปด้วยไปหมดครอบครัว หนูบอกลูกค้าว่าถ้าไม่ใส่ถุงยางต้องไปขอพ่อแม่หนูแต่งงานกับหนูนะ” ตู่ คนลาวที่เป็นพนักงานบริการทางเพศ บอกกับรัชนีวรรณ์
งานวิจัยของรัชนีวรรณ์ค้นพบว่า พนักงานบริการทางเพศในพื้นที่ที่ห่างไกลไม่มีทางเลือกนอกจากจะไปโรงพยาบาลรัฐและคลินิกที่พวกเขาต้องจ่ายเงินเต็มจำนวนในการรักษาพยาบาล แต่พวกเขาก็ยังนิยมใช้บริการภาคเอกชนมากกว่า เนื่องจากมองว่ามีความเป็นส่วนตัวและมีประสิทธิภาพมากกว่า
“โลว์ซีซั่น” หรือช่วงที่ธุรกิจซบเซาสำหรับคนลาวที่เป็นพนักงานบริการทางเพศในชนบทไทยตรงกับช่วงฤดูปลูกข้าว ส่วน “ฮายซีซั่น” หรือช่วงที่ธุรกิจทำเงินได้ดีนั้นตรงกับช่วงหลังการขายพืชผล ซึ่งเป็นช่วงที่กลุ่มลูกค้าหลักจะมีเงินใช้จ่ายมากที่สุด
มองไปข้างหน้า
พนักงานบริการทางเพศเหล่านี้และผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมาย ดูเหมือนจะมีความเห็นที่ตรงกันว่า กฎหมายไทยและหน่วยงานตำรวจยังล้าหลังในแง่ของการให้ความเป็นธรรมต่อผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับงานค้าบริการทางเพศ
นัยนาชี้ว่ากฎหมายที่เกี่ยวข้องกับพนักงานบริการทางเพศสามารถมองได้หลายแง่มุม
“การร่างกฎหมายสำหรับเรื่องนี้มันยากมาก เพราะมันมีความขัดแย้งระหว่างการใช้กฎหมายเพื่อความยุติธรรมในสังคม กับคนที่มองว่ากฎหมายเป็นเรื่องของศีลธรรม” เธอกล่าว
ทันตามองว่าการยกเลิก พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ. 2539 เป็นสิ่งสำคัญที่สุดที่ทำได้ ณ เวลานี้
“กฎหมายเป็นตัวสร้างกำแพงที่กีดกันไม่ให้พนักงานบริการทางเพศสามารถเข้าถึงสิทธิต่างๆ ได้ อย่างเช่น สิทธิทางสุขภาพ สิทธิในการดำรงชีพ การทำมาหากิน และสิทธิอื่นๆ อีกมากมาย” เธอกล่าว
ในขณะเดียวกัน ทันตาเชื่อว่าพนักงานบริการทางเพศสามารถเป็นผู้แจ้งเบาะแสในการต่อสู้กับการค้ามนุษย์และค้าประเวณีเด็ก
“พนักงานบริการทางเพศทั้งหมด หรือแทบทั้งหมดไม่อยากเห็นเด็กมาทำงานในอาชีพนี้หรอก แต่เมื่อเขาพบเจอเขาก็ไม่สามารถพูดอะไรได้เพราะสถานะทางกฎหมายของพวกเขา หรือพูดง่ายๆ คือพวกเขาเองก็ผิดกฎหมายอยู่” ทันตา กล่าว “เชื่อเถอะว่าถ้าหากว่าการเป็นพนักงานบริการทางเพศนั้นถูกต้องตามกฎหมายแล้ว พนักงานบริการทางเพศเองจะเป็นคนแรกเลยที่จะไปแจ้งตำรวจเมื่อพบเด็กหรือเยาวชนที่ตกเป็นเหยื่อของการค้ามนุษย์”
ในสมัยที่ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี ได้มีความพยายามที่จะเปลี่ยนแปลงกฎหมายที่ส่งผลต่อการค้าบริการทางเพศ โดยมีการจัดตั้งคณะทำงานด้านกฎหมาย ซึ่งมีนัยนาเป็นหนึ่งในคณะกรรมการ เพื่อศึกษากฎหมายและให้คำแนะนำกับรัฐบาล หนึ่งในข้อแนะนำในตอนนั้นคือการจดทะเบียนและออกกฎระเบียบควบคุมพนักงานบริการทางเพศ แต่ภายหลังรัฐประหารปี 2557 รัฐบาลทหารได้ยกเลิกโครงการนี้อย่างกะทันหัน และสั่งยุบคณะทำงานดังกล่าว
นัยนา สุภาพึง มีความหวังว่าการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลในทางที่ดีอาจจะทำให้ความพยายามนี้ก่อกำเนิดขึ้นมาอีกครั้ง และในที่สุดจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่เป็นผลบวกต่อพนักงานบริการทางเพศทั่วประเทศไทย ไม่ว่าจะมาจากที่ไหนก็ตาม
แพรวเองอยากจะเลิกทำอาชีพขายบริการทางเพศ แต่การจะเป็นพนักงานบริการทางเพศที่ถูกกฎหมายคงจะสายเกินไปที่จะก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในชีวิตของเธอ
เธอสารภาพอย่างเอียงอายว่าลูกค้าประจำคนหนึ่งเพิ่งซื้อตู้เย็นให้
“ต่อไปสิซื้อแหวนให้บ่น้อ” เธอกล่าว ซึ่งก็ได้เรียกเสียงแซวจากเพื่อนร่วมงาน
“ก็จั่งว่านั่นล่ะ คั่นบ่ต้องหลบๆ ซ่อนๆ บ่ต้องตั๋วทำเป็นจังซั่นจังซี่ก็สิดี สิใคแหน่จักหน่อย” เธอกล่าว “บัดยามขายข้าวแล้วผู้ซายก็บ่ได้เฮ็ดคือจั่งเฮาเป็นพนักงานเสริฟซื่อๆ ดอก”