โดย ลุก ดักเกิลบี
ภาพถ่ายชุดนี้ได้รับการสนับสนุนโดย พิพิธภัณฑ์ศิลปะร่วมสมัยใหม่เอี่ยม (MAIIAM Contemporary Art Museum)
ภายใต้ท้องทุ่งนาอันเขียวขจี ลึกลงไปใต้ผืนดินภาคอีสานแห่งนี้ คือฐานทรัพยากรแร่โพแทชอันมหาศาล ที่บริษัทเหมืองแร่หลายแห่งพากันเฝ้ามองจ้องจะเก็บเกี่ยวผลประโยชน์มานานหลายทศวรรษ โดยแร่ชนิดนี้มีโพแทสเซียมคลอไรด์เป็นส่วนประกอบสำคัญ ซึ่งสามารถใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตปุ๋ยทางการเกษตรนั่นเอง
เมื่อประมาณ 20 ปีก่อน บริษัทสัญชาติแคนาดาเป็นบริษัทแรกที่เริ่มกระบวนการสำรวจในจังหวัดอุดรธานี โดยบริษัทดำเนินการจนผ่านการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมและได้รับประทานบัตรทำเหมืองแร่มาอย่างเงียบๆ
แต่ทันทีที่ชาวบ้านในพื้นที่รับทราบข้อมูลดังกล่าว การต่อต้านจึงเริ่มต้นขึ้นอย่างหนัก เป็นผลทำให้ทุกวันนี้ยังไม่มีการขุดเจาะโพแทชแม้แต่กระบิเดียวในพื้นที่ แท่งสัญลักษณ์แสดงจุดสำรวจที่เคยติดตั้งก็มีสนิมขึ้นเกาะและโค้งงอหมดแล้ว
ต่อมาเมื่อปี 2558 บริษัทสัญชาติจีน ไชน่า หมิงต๋า โปแตช คอร์ปอเรชั่น ได้สิทธิ์สำรวจแร่โพแทชในจังหวัดสกลนคร เป็นระยะเวลา 5 ปี ด้วยจำนวนแปลงสำรวจทั้งหมด 12 แปลง ซึ่งครอบคลุมพื้นที่ 120,000 ไร่ และหมู่บ้าน 82 แห่งในอำเภอวานรนิวาส
การต่อต้านเหมืองแร่ในภาคอีสานจึงเกิดขึ้นอีกครั้ง หลังจากปรึกษาหารือกับชาวบ้านนักเคลื่อนไหวจากจังหวัดอุดรธานี ผู้ซึ่งมีประสบการณ์สร้างชื่อเสียงโด่งในการต่อต้านเหมือง ชาวบ้านอำเภอวานรนิวาสก็ได้จัดตั้ง “กลุ่มรักษ์อำเภอวานรนิวาส” ของตนเองขึ้นมา โดยชาวบ้านนักเคลื่อนไหวของกลุ่มฯ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้หญิง พร้อมเพรียงกันสวมเสื้อสัญลักษณ์ต้านเหมืองสีเขียว และเริ่มเคลื่อนไหวคัดค้านการสำรวจและทำเหมืองแร่โปแตชในพื้นที่อำเภอวานรนิวาสเป็นต้นมา
การขุดเจาะโปแตชจะทำให้มีเศษหางเกลือเป็นจำนวนมาก และยิ่งในภูมิภาคที่มีเกลือเป็นจำนวนมากอยู่แล้ว ชาวบ้านจึงมีความกังวลว่าเหมืองจะส่งผลกระทบทำให้ไม่สามารถทำเกษตรกรรมได้ รวมถึงทำลายแหล่งน้ำและระบบนิเวศน์ที่สำคัญอีกด้วย
ปัจจุบัน ภายในระยะเวลาไม่ถึงปีก่อนที่อาชญาบัตรพิเศษของบริษัทก็จะหมดอายุลง ทำให้ชาวบ้านในพื้นที่และกลุ่มรักษ์อำเภอวานรนิวาสจึงต้องยิ่งเพิ่มแรงกดดันเพื่อให้มีการยุติโครงการเหมือง เนื่องจากชาวบ้านกลัวว่าจะมีการต่ออายุอาชญาบัตรพิเศษใหม่ให้กับบริษัทฯ
เมื่อเดือน ธ.ค. 2561 ชาวบ้านกลุ่มรักษ์อำเภอวานรนิวาส ร่วมกันจัดกิจกรรม “ไทวานรก้าวเดิน” (Wanon Walk) โดยมีชาวบ้านประมาณ 200 คน พากันเดินเท้าระยะทาง 85 กิโลเมตร จากชุมชนของตนไปยังอำเภอเมือง จังหวัดสกลนคร
กิจกรรมของกลุ่มฯ ได้รับการติดตามอย่างใกล้ชิดจากเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหาร และหน่วยข่าวกรอง โดยชาวบ้านผู้เข้าร่วมกิจกรรมทุกช่วงวัยและอายุใช้เวลาเดินเท้าทั้งหมดเป็นเวลา 6 วัน ระหว่างการเดินทางชาวบ้านจะหยุดแวะพักรับประทานอาหารและนอนค้างแรมที่วัดเท่านั้น ก่อนจะเดินทางต่อเพื่อร่วมชุมนุมกับสมาชิกกลุ่มและเครือข่ายภาคประชาชนที่มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนครเป็นจุดหมายแห่งสุดท้าย
ต่อมาในเดือนมีนาคม 2562 ระยะเวลา 4 เดือนหลังจากจัดกิจกรรมไทวานรก้าวเดิน ทางกลุ่มรักษ์วานรฯ ร่วมกันจัดงานบุญสืบชะตาอ่างเก็บน้ำห้วยโทง ซึ่งตั้งอยู่ไม่ไกลจากชุมชน โดยจุดประสงค์การจัดงาน คือเพื่อบวงสรวงและสืบชะตาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ผู้พิทักษ์อ่างเก็บน้ำแห่งนี้
อ่างเก็บน้ำห้วยโทง เป็นแหล่งน้ำดื่มน้ำใช้ของชาวบ้านนับพันชีวิตที่อาศัยในหมู่บ้านใกล้เคียง รวมถึงชาวบ้านในอำเภอวานรนิวาส นอกจากนั้นยังเป็นแหล่งน้ำให้กับพื้นที่เกษตรกรรมขนาดใหญ่ และเป็นแหล่งอาหารโปรตีนสำคัญของชาวบ้าน ไม่ว่าจะเป็นปู ปลา กุ้ง และหอย อีกด้วย
หากเหมืองแร่โปแตชเกิดขึ้นอาจทำให้อ่างเก็บน้ำแห่งนี้ปนเปื้อนสารเคมีหรือหางเกลือรั่วไหลลงสู่สิ่งแวดล้อม ไม่เพียงแต่ระบบนิเวศน์โดยรอบเท่านั้นที่จะได้รับผลกระทบ แต่วิถีชีวิตความเป็นอยู่ดั้งเดิมของผู้คนจะได้รับผลกระทบด้วยเช่นกัน
การบวงสรวงและสืบชะตาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ผู้พิทักษ์อ่างเก็บน้ำของชุมชนให้อยู่ดีมีสุข ถือเป็นอีกหนึ่งความเชื่อที่จะช่วยทำให้ชาวบ้านมีแหล่งน้ำกินน้ำใช้ที่สะอาดและปลอดภัย แต่คงจะดีกว่าถ้าชาวบ้านสามารถหยุดทำเหมืองแร่ได้ก่อนที่ทุกอย่างจะเปลี่ยนแปลงไปจนเอากลับคืนมาเหมือนเดิมไม่ได้
ชาวบ้านอำเภอวานรนิวาสที่นำวัวควายออกมาเลี้ยง กำลังนั่งหลบแดดพลางมองดูสัตว์เลี้ยงของตนกินหญ้าในทุ่งธรรมชาติอยู่เบื้องหน้า ชาวบ้านจะพาสัตว์เลี้ยงออกไปกินหญ้าที่ทุ่งแห่งนี้ตั้งแต่เช้าจนพลบค่ำ เฝ้าดูตลอดทั้งวันก่อนจะพากลับไปยังคอกในหมู่บ้าน ซึ่งหากบริษัทเหมืองแร่เริ่มขุดเจาะโปแตช ชาวบ้านกังวลว่าวิถีชีวิตที่เงียบสงบและเรียบง่ายแบบนี้จะหายไป
เหลือ วัย 68 ปี กำลังจับปลาในอ่างเก็บน้ำห้วยโทงที่อยู่ติดกับหมู่บ้านของตน อ่างเก็บน้ำแห่งนี้ไม่เพียงแต่เป็นแหล่งอาหารให้กับชาวบ้าน แต่ยังเป็นแหล่งน้ำดื่มให้แก่คนนับพันที่อาศัยอยู่โดยรอบ ซึ่งหากบริษัทเหมืองแร่ดำเนินการต่อ ชาวบ้านกังวลว่าแหล่งน้ำจะได้รับการปนเปื้อนและกลายเป็นน้ำเค็ม ทำให้สัตว์น้ำ เช่น ปลา อาศัยอยู่ไม่ได้
เหลือและวิกัน กำลังรอความช่วยเหลือหลังจากเรือของพวกเขาพลิกคว่ำลงกลางอ่างเก็บน้ำห้วยโทงขณะออกหาปลาช่วงเช้ามืดวันหนึ่ง เรือของพวกเขาล่มห่างจากฝั่งประมาณ 1 กิโลเมตร และที่น้ำลึกประมาณ 5 เมตร ทั้งสองพากันเกาะท้องเรือที่คว่ำอยู่และรอประมาณ 20 นาที จนกว่าชาวบ้านที่ออกมาหาปลาคนอื่นจะเข้ามาช่วยเหลือ
ตุ๋ย วัย 51 ปี กำลังหว่านแหจับปลาในคลองขนาดเล็ก ซึ่งเป็นคลองน้ำที่ไหลมาจากอ่างเก็บน้ำห้วยโทง อ่างเก็บน้ำหลักของชุมชน
ผู้หญิงชาวบ้านแห่งบ้านวังบงน้อย กำลังพากันหาหอย ปู ปลาและกุ้ง วิถีชีวิตของชาวบ้านแต่ดั้งเดิม คือเมื่อจับสัตว์น้ำแหล่งอาหารเหล่านี้ได้ พวกเขาจะนำมารับประทานเป็นอาหารร่วมกับครอบครัว หากเหลือก็จะนำไปขายที่ตลาด ชาวบ้านอำเภอวานรนิวาสดำรงชีพอาศัยอยู่ร่วมกับธรรมชาติมาช้านาน หากผืนดินและแหล่งน้ำธรรมชาติถูกทำลาย ชุมชนจะได้รับผลกระทบและต้องเผชิญกับความทุกข์ยากเป็นอย่างมาก
ป้ายต่อต้านเหมืองแร่ภายในชุมชน เขียนว่า “กูรักบ้านกู กูจะไม่ยอมให้มีเหมืองแร่เกิดขึ้น”
เช้าวันแรกของการทำกิจกรรม “ไทวานรก้าวเดิน” ชาวบ้านประมาณ 200 คน รวมตัวกันที่วัดแห่งหนึ่งในอำเภอวานรนิวาส เพื่อเตรียมตัวเดินเท้าไปยังอำเภอเมือง
ชาวบ้านคนหนึ่งถือภาพถ่ายของนายหนูเจียม ไฝ่สีทา แกนนำกลุ่มรักษ์อำเภอวานร ที่เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางรถยนต์หนึ่งวันก่อนกิจกรรมการเดินเท้าจะเริ่มต้นขึ้น
ชาวบ้านเดินเรียงแถวบนถนนโดยสวมใส่เสื้อสีเขียว พลางโบกธงสีเขียวตลอดระยะทาง กิจกรรมการเดินเท้าไปยังอำเภอเมือง จังหวัดสกลนครครั้งนี้ ชาวบ้านใช้เวลาทั้งหมด 6 วัน โดยแวะรับประทานอาหารข้างทางและนอนค้างแรมในวัดระหว่างทาง วัตถุประสงค์การเดิน คือเพื่อรณรงค์และต่อต้านโครงการเหมืองแร่โปแตชในพื้นที่
สมาชิกกลุ่มรักษ์อำเภอวานรที่ร่วมกิจกรรม “ไทวานรก้าวเดิน” ต่างพากันเปล่งเสียงตะโกนข้อเรียกร้องและความกังวลของกลุ่ม ขณะเดินเท้าไปยังอำเภอเมืองเพื่อรณรงค์ต่อต้านการทำเหมืองแร่โปแตช
ตลอดระยะทางการเดินเท้า มีเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหาร และหน่วยข่าวกรอง คอยสังเกตการณ์กิจกรรมของกลุ่มชาวบ้านที่เดินรณรงค์ต่อต้านการทำเหมืองแร่โปแตชอยู่เสมอ
ในวันที่ 4 ของการเดินเท้ารณรงค์ต่อต้านการทำเหมืองแร่โปแตช ชาวบ้านได้ตั้งแคมป์พักแรมที่วัดแห่งหนึ่ง โดยก่อนเข้านอน ชาวบ้านได้พากันตั้งป้ายต่อต้านเหมืองขึ้นพร้อมกับวงเสวนาเพื่อรณรงค์เกี่ยวกับผลกระทบจากการทำเหมือง โดยได้เชิญนักวิชาการ นักกิจกรรม และชาวบ้านจากชุมชนอื่นๆ มาร่วมเสวนาด้วย
กลุ่มชาวบ้านผู้สูงอายุรวมตัวกันบริเวณด้านนอกศาลาวัดที่เพิ่งเริ่มสร้างขึ้นไม่นานมานี้ ชาวบ้านแวะพักแรมที่วัดแห่งนี้ ซึ่งอยู่ห่างจากเมืองสกลนครประมาณ 5 กิโลเมตร
แกนนำกิจกรรมไทวานรก้าวเดิน ยืนต่อต้านเหมืองระหว่างการเดินเท้าไปยังอำเภอเมืองวันที่ 5 ตลอดการเดินทางมีเจ้าหน้าที่ตำรวจและทหารยืนสังเกตการณ์อยู่ฝั่งตรงข้ามถนน ทั้งนี้ จำนวนเจ้าหน้าที่มีจำนวนมากเกือบเท่ากับจำนวนชาวบ้านผู้ร่วมเดินรณรงค์ต่อต้านทีเดียว
จุดหมายแห่งสุดท้ายที่มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร ชาวบ้านผู้ต่อต้านเหมืองแร่โปแตชกว่า 200 คน กำลังนั่งฟังการบรรยายและเสวนาโดยนักวิชาการและตัวแทนจากกลุ่มต่อต้านเหมืองแร่กลุ่มอื่น ๆ โดยมีเจ้าหน้าที่คอยสังเกตการณ์อย่างใกล้ชิด
กลุ่มชาวบ้านสตรีผู้สูงอายุยืนฟังผู้เชี่ยวชาญที่กำลังบรรยายเรื่องการทำเหมืองแร่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย ทั้งนี้ ชาวบ้านนักเคลื่อนไหวกว่าร้อยละ 80 เป็นผู้หญิง และมีบทบาทสำคัญในกิจกรรมของกลุ่มฯ เป็นอย่างยิ่ง
กลุ่มชาวบ้านผู้ต่อต้านเหมืองโปแตชร่วมใจกันอ่านข้อความเรียกร้องให้ยุติโครงการเหมืองแร่และพากันร้องเพลงสร้างขวัญกำลังอย่างสมัครสมานสามัคคี
ชาวบ้านผู้เข้าร่วมกิจกรรมต่อต้านเหมือนแร่โปแตชรายหนึ่งใช้กระดาษปิดหน้าของตน เนื่องจากมิอาจกลั้นน้ำตาไม่ให้ไหลออกมาได้ขณะเข้าร่วมกิจกรรม ในช่วงสุดท้ายของการเดินเท้ารณรงค์ต่อต้านเหมืองครั้งนี้ การปรากฏตัวของเจ้าหน้าที่ด้านความมั่นคงระหว่างการทำกิจกรรมทำให้ชาวบ้านรู้สึกกังวลและตึงเครียด ชาวบ้านยังไม่อาจรู้ได้ว่ากิจกรรมการเดินเท้าครั้งนี้จะเพียงพอทำให้บริษัทฯ ไม่สามารถต่ออาชญาบัตรพิเศษได้หรือไม่ แต่ไม่ว่าจะอย่างไร ชาวบ้านนักเคลื่อนไหวของกลุ่มฯ ก็จะพยายามรณรงค์และต่อสู้ต้านเหมืองต่อไป
หลังจากการเดินเท้ารณรงค์ต่อต้านเหมือง 4 เดือนต่อมา กลุ่มรักษ์อำเภอวาร ยังคงดำเนินกิจกรรมเพื่อต่อต้านเหมืองอย่างต่อเนื่อง โดยชาวบ้านสมาชิกของกลุ่มฯ พากันขับรถรณรงค์รอบหมู่บ้านต่างๆ เพื่อรับบริจาคเงินจัดงานยบุญสืบชะตาอ่างเก็บน้ำห้วยโทง ซึ่งเป็นแหล่งน้ำดื่มน้ำใช้ของชาวบ้านที่อาศัยอยู่โดยรอบนับพันชีวิต กลุ่มรักษณ์วานรมีความกังวลว่าการทำเหมืองโปแตชจะทำให้อแหล่งนร้ำในชุมชนได้รับการปนเปื้อน ทำให้ไม่สามารถนำมาดื่มใช้และทำให้สัตว์น้ำแหล่งอาหารของชาวบ้านอยู่ไม่ได้
ชาวบ้านนักเคลื่อนไหว ซึ่งสวมใส่เสื้อสีเขียว อันเป็นสัญลักษณ์ต่อต้านเหมืองของกลุ่มฯ กำลังรณรงค์ให้ข้อมูล พร้อมอธิบายเกี่ยวกับสภาพปัญหาและผลกระทบจากโครงการเหมืองแร่ที่จะเกิดขึ้น โดยมีชาวบ้านร่วมบริจาคเงินสนับสนุนกิจกรรมต่อต้านเหมืองตลอดทางอีกด้วย
ระหว่างการจัดงานบุญสืบชะตาอ่างเก็บน้ำห้วยโทง พ่อใหญ่เหลือกำลังต่อสายสิญจ์สีขาวจากศาลพระภูมิไปยังพื้นที่โดยรอบพิธีสืบชะตา ห่างจากศูนย์ชุมชนประมาณ 1.5 กิโลเมตร
เด็กชายวัย 12 ปี ช่วยถือด้ายขาวจากศาลพระภูมิไปยังศาลาประชาคมหมู่บ้าน
ชาวบ้านผู้เฒ่าผู้แก่ประจำหมู่บ้านกำลังทำพิธีบวงสรวงสิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำอ่างเก็บน้ำห้วยโทง
ชาวบ้านกลุ่มรักษ์อำเภอวานรกำลังร่วมพิธีสืบชะตาอ่างเก็บน้ำห้วยโทง ซึ่งมีการจัดขึ้นทุกปีตลอด 3 ปีที่ผ่านมา เพื่อสร้างความสามัคคีและเป็นขวัญกำลังใจในการต่อต้านและต่อสู้กับบริษัทเหมืองแร่สัญชาติจีน
ระหว่างการจัดงานบุญสืบชะตา แม่มณี ซึ่งเป็นแกนนำต่อต้านเหมืองโปแตชในจังหวัดอุดรธานี ลุกขึ้นกล่าวให้กำลังใจชาวบ้านอำเภอวานรนิวาส แม่มณีมาจากชุมชนในจังหวัดอุดรธานี ซึ่งมีประสบการณ์ต่อสู้กับบริษัทเหมืองโปแตชอีกรายหนึ่งตลอดช่วง 20 ปีที่ผ่านมา ชาวบ้านนักกิจกรรมต่อต้านโครงการเหมืองแร่ในพื้นที่ของตนเองได้รวมตัวกันสร้างเครือข่ายเพื่อรณรงค์-ต่อต้านโครงการเหมืองแร่ขึ้นมา ซึ่งเครือข่ายดังกล่าวมีบทบาทสำคัญต่อการทำกิจกรรมเคลื่อนไหวต่อต้านเหมืองในภาคตะวันออกเฉียงเหนือเป็นอย่างยิ่ง
ภาพถ่ายทั้งหมดที่ปรากฎในบทความนี้ได้รับการสนับสนุนโดย MAIIAM Contemporary Art Museum และจะเป็นส่วนหนึ่งของงานนิทรรศการที่จะจัดขึ้นในเดือนธันวาคม 2562 ที่จะถึงนี้