โดย พิรุณ อนุสุริยา

หนังไทยหรือภาพยนตร์ไทยนั้นเคยมียุคที่รุ่งเรือง โดยเฉพาะช่วงปี 2540 เป็นต้นมา ที่หนังหลายเรื่องถึงพร้อมทั้งรายได้และเสียงวิจารณ์ที่ดี หมุดหมายที่สำคัญคือ การที่หนังสามารถโกยรายได้หลักร้อยล้าน ส่วนความสำเร็จในด้านอื่นๆ ก็ได้แก่ การนำเสนอเนื้อหาที่ประทับใจผู้ชม มีความหลากหลายของเนื้อหา หรือการที่ตัวหนังได้รับรางวัลการันตีจากเวทีระดับนานาชาติ 

มีหนังไทยที่อยากกล่าวถึง ทั้งสองเป็นหนังที่เสพย่อยง่าย ใครที่เคยดูส่วนมากก็ประทับใจ สองเรื่องที่ว่านั้น คือ “มือปืน/โลก/พระ/จัน” และ มนต์รักทรานซิสเตอร์” 

หมาลูกบักเขียบ จาก มือปืน/โลก/พระ/จัน 

มือปืน/โลก/พระ/จัน จำกัดความได้ว่าเป็น “หนังแมส” (หนังที่ตลาดนักดูหนังกลุ่มใหญ่เข้าถึงได้) ในยุคสมัยนั้น และมันยังเป็นต้นกำเนิดของการนำเอา “ตลกคาเฟ่” มาเป็นนักแสดง จนกลายเป็นสูตรสำเร็จให้หนังเรื่องอื่นทยอยทำตามๆ กันมา ซึ่งในเรื่องนี้มีดาวตลกที่เลื่องชื่อ 4 นาม ได้แก่ ป๋าเทพ ถั่วแระ หม่ำ และเท่ง ส่วนตัวหนังนั้นกำกับโดย ต้อม ยุทธเลิศ สิปปภาค 

“หม่ำ จ๊กม๊ก” หรือ เพ็ชรทาย วงศ์คำเหลา รับบทเป็น “หมา ลูกบักเขียบ” ตัวละครนักฆ่ารับจ้างที่เป็นคนอีสานโดยพื้นเพ มีอาวุธประจำกายเป็นระเบิดมือแบบขว้าง หรือที่เรียกกันง่ายๆ ว่า ระเบิดน้อยหน่า (น้อยหน่า ภาษาลาวอีสานเรียกว่า บักเขียบ) เพราะเขาปฏิเสธจะใช้ปืนอย่างนักฆ่าคนอื่น และมีเพื่อนซี้ที่เป็นไม้เบื่อไม้เมาอย่าง  “เอ๋อ เอลวิส” ซึ่งรับบทโดย “เท่ง เถิดเทิง” โดยเอ๋อ เอลวิสนั้น อดีตเคยเป็นมือปืนโหดแต่กลับถูกลูกหลงระเบิดของหมา จนกลายเป็นคนเสียสติไป 

โดยเส้นเรื่องของหนังเรื่องนี้ มันคือหนังแอ็คชั่น ตลก ผจญภัย แต่เมื่อพิจารณาถึงเนื้องานและตัวตนของผู้กำกับที่ชอบทำหนังโดยแฝงความเสียดสี จิกกัด จะพบการปะทะกันระหว่าง “ความบ้าฝรั่ง” และ “ความเสี่ยว” ในหนังเรื่องนี้ 

อันที่จริงแล้ว เมื่อพูดถึง “ความเป็นฝรั่ง” สังคมมักยกให้เป็นความเท่ห์ ความหรูหรามีระดับ ความเป็นสากล เช่น การใช้สินค้าแบรนด์เนมจากต่างประเทศ การแสดงออกว่าพูดภาษาอังกฤษได้ การมีแวดวงเพื่อนฝูงหรือผู้ร่วมงานชาวต่างชาติ สิ่งเหล่านี้ถูกให้ค่าว่าเป็นสิ่งเลอค่ากับคนบางกลุ่ม 

หม่ำ จ๊กม๊ก หรือ เพ็ชรทาย วงศ์คำเหลา รับบทเป็น หมา ลูกบักเขียบ ตัวละครนักฆ่ารับจ้างที่เป็นคนอีสาน ในภาพเขากำลังตั้งท่าพร้อมท้าต่อยกับฝรั่งร่างใหญ่ด้วยใจสู้ ภาพจาก อาวอง (อาร์เอสฟิล์ม)

ขณะที่ “ความเสี่ยว” กลับเป็นความเฉิ่มเชย ไกลปืนเที่ยง และไม่เข้าท่า โดยนิยามของภาษาอีสานอาจมีคำเรียกกันอย่างคุ้นชินว่า “ความสี้เด๋อ” ก็ไม่ผิดนัก ซึ่งภาพรวมของนิยามในความเสี่ยวนี้ มักจะใช้พูดโดยแฝงการกดเหยียดคนอีสานและคนชนบทอยู่ในที เช่น การรับประทานส้มตำปูปลาร้า การแต่งกายอย่างท้องถิ่น หรือการพูดสำเนียงท้องที่ให้คนพูดไทยกลางรับรู้ 

หนังเรื่องนี้แสดงให้เห็น ตั้งแต่ฉากเปิดว่า สังคมไทยเข้าสู่กลียุค บ้านเมืองวุ่นวาย มีอาชญากรรมตามท้องถนน และกองทัพของทหารเข้ามาปกครองประเทศ จากนั้นจึงเริ่มเล่าถึงตัวละคร อดีตมือปืนวัยกลางคนอย่าง เป๋ ปืนควาย (รับบทโดย ป๋าเทพ) ที่เพิ่งพ้นโทษออกจากเรือนจำมาพบกับ ผี ไรเฟิล (รับบทโดย ถั่วแระ) และทั้งสองตกอยู่ในสภาวะตกงาน หากินฝืดเคือง เพราะยุคนี้ไม่มีใครจ้าง “มือปืน (คนไทย)” กันแล้ว 

บทสนทนาที่ผีไรเฟิลพูดคือ “ตอนนี้คนมันพากันบ้าฝรั่งไปหมดแล้วพี่” ขณะที่พูดนั้น ฉากหลังก็ยังมีแผ่นโปสเตอร์หาเสียงที่ฝรั่งลงเลือกตั้ง และจากจุดนี้เองที่หนังเริ่มปักหมุดการยั่วล้อเสียดสี และปะทะกันระหว่าง ความบ้าฝรั่งของคนไทย กับความตลกผิดที่ผิดทางในความเสี่ยว โดยผ่านมุกตลกที่สอดแทรกมาเป็นระยะ แต่เมื่อหนังดำเนินไป เราก็จะเห็นว่าฝรั่งก็ไม่ได้เจ๋งอย่างที่คิด โดยมีบทพูดกันในกลุ่มมือปืนด้วยกันว่า “เจ้านาย อย่าคิดว่าพวกฝรั่งมันจะเก่งเหมือนที่เคยดูในหนังนะครับ” 

ยุทธเลิศเคยแสดงทรรศนะในบทสัมภาษณ์ผ่านสื่อในยุคนั้นว่า เขาจงใจเสียดสีความคลั่งบูชาฝรั่งของคนไทยบางจำพวก แล้วขณะเดียวกันคนจำพวกเดียวกันนี้กลับเหยียดหรือดูถูกรากเหง้าของตนเอง ในฉากหนึ่งของหนังเรื่องนี้ มีการเล่าถึงฉากเปิดตัว “งานศิลปะในแกลอรี่ชั้นสูง” ของลูกสาวตำรวจเหล็ก เธอเป็นเด็กจบนอก หัวสูง แต่งตัวนำสมัย แต่กลับสร้างงานศิลป์ที่มีรูปลักษณ์ไม่ต่างจากอวัยวะเพศชายขนาดยักษ์ 

ยุทธเลิศต้องการยั่วล้ออย่างจงใจถึง “ความบ้าฝรั่ง” โดยให้ท้ายที่สุด ลูกสาวของตำรวจเหล็กถูกลูกหลงโดนยิงตาย หนำซ้ำตัวลูกสาวก็เป็นเพียงเด็กก้าวร้าว เอาแต่ใจ โดยการศึกษาจากต่างประเทศไม่ได้ช่วยขัดเกลาเธอให้ดีขึ้นได้เลย และงานศิลป์ที่ก่อร่างขึ้นมาก็เป็นเพียงผลิตผลจากความสร้างสรรค์ทางศิลปะที่สุดจะต่ำทราม จนผู้เป็นพ่อยังรับไม่ได้ 

การแสดงจุดยืนในอัตลักษณ์มีผ่านตัวละคร “หมา ลูกบักเขียบ” กับ “เอ๋อ เอลวิส” ที่เสียสติคิดว่าตัวเองเป็นเอลวิสจนไม่พูดภาษาไทย ในฉากหนึ่งเราได้พบเห็นการบีบบังคับให้เอ๋อ เอลวิสสวมชุดชาวนา ซึ่งสะท้อนการลดระดับจากคอสตูมเอลวิสสุดเท่มาในชุดม่อฮ่อม ผูกผ้าขาวม้า สวมงอบชาวนาเฉิ่มเชยบ้านนอก 

การเล่นมุกพูดภาษาอังกฤษอย่าง “This is a book” ของผี ไรเฟิล ก็เช่นกัน มันได้สะท้อนความลักลั่นของคนที่พยายามแสดงตัวตน ฉาบเคลือบตัวเองในสิ่งที่ไม่ได้เป็นโดยเนื้อแท้ เหมือนที่พวกมือปืนในเรื่องพยายามปลอมตัวประดับประดาตัวเองให้ดูเหมือนภาพจำของศิลปินเข้าไปในงานแสดงศิลปะชั้นสูง แต่พบว่าคนที่มางานจริงต่างพากันใส่สูทเรียบๆ ไม่ต่างจากคนเพี้ยนที่เชื่อว่าเขาคือเอลวิส แต่งกาย ทำท่าทาง พูดให้เหมือนเอลวิสแค่ไหน แต่สุดท้ายก็ยังต้องใช้มือจกข้าวเหนียวกินส้มตำให้เห็นเป็นที่เอือมระอาในพฤติกรรม จนเพื่อนอย่างหมาต้องบ่นออกมา 

ฉากหนึ่งในเรื่อง มือปืน/โลก/พระ/จัน ที่พวกมือปืนปลอมตัวเป็นศิลปินเพื่อเข้าดูงานศิลปะ ซึ่งมือปืนเหล่านี้มีภาพจำในหัวว่า ศิลปินน่าจะแต่งตัวแบบนี้

แต่มีเพียงหมาที่มีจุดยืนชัดเจนในกำพืดตนเอง เขามีฉายานามที่ฟังดูอีสาน (หรือลาว) อย่าง “ลูกบักเขียบ” ยืนยันจะไม่ใช้ปืน และพร้อมจะปะทะกับฝรั่งทหารรับจ้างโดยไม่เกรงกลัวด้วยสไตล์มวยวัด ยุทธเลิศได้ให้สัมภาษณ์ถึงการตายของตัวละครนี้ว่า ถึงเขาสู้แพ้ แต่ก็ยังสู้จนตัวตายอย่างวีรบุรุษ โดยในบทพูดบทหนึ่ง หมาได้ท้าทายฝรั่งที่จะต่อยกันว่า “เข้ามาบักสีดา” โดยฝรั่งตอบโต้กลับไปว่า “ได้เลย บักลาว” 

ด้วยส่วนนึงที่ยุทธเลิศเองพื้นเพก็เป็นคนอีสานและได้ไปเรียนต่างประเทศ เขาจึงได้สะท้อนแนวคิดและแฝงความจิกกัดในหนังอีกหลายเรื่อง เช่น คลิปโปรโมทหนัง อีติ๋มตายแน่ ที่จงใจล้อเลียนหนังเจมส์บอนด์ในฉากตีไข่ โดยมีชายหน้าตาแบบแขก แต่กลับพูดสำเนียงอีสานคล่องปร๋อ ขณะกำลังทรมานตัวเอกอย่าง โน้ส อุดม 

โปสเตอร์มนต์รักทรานซิสเตอร์ ฉบับอินเตอร์ ภาพจาก : ไฟว์สตาร์โปรดัคชั่น

บักเสี่ยว จาก มนต์รักทรานซิสเตอร์ 

มนต์รักทรานซิสเตอร์ เป็นหนังรักแนวชีวิตที่ประทับใจผู้ชมหลายคน เพราะมันเป็นหนังสะท้อนสังคมที่แยบคายโดยไม่ทิ้งความซาบซึ้งตรึงใจ ใต้บรรยากาศชนบทและเพลงลูกทุ่งอันชวนถวิลหาในครึ่งแรก ก่อนจะมืดหม่นตลกร้ายในครึ่งหลัง โดยครึ่งหลังหนังเล่าถึงชะตากรรมของหนุ่มบ้านนาอย่าง แผน (ศุภกรณ์ กิจสุวรรณ) ที่ต้องพัวพันตกระกำลำบากกับ เสี่ยว (อำพล รัตนวงศ์) เพื่อนที่เป็นแรงงานตัดอ้อยด้วยกัน จนมาก่ออาชญากรรมในเมืองหลวงและถูกจับติดคุกอยู่เป็นปี 

เสี่ยว เป็นหนึ่งตัวละครอีสานในหนังไทยที่อาจเรียกได้ว่าเป็น คาแรคเตอร์แบบยุคหลังสมัยใหม่ (Postmodern) กล่าวคือ ไม่ได้เป็นตัวละครที่ถูกเขียนมาให้ทุกข์ยากของการเป็นเกษตรกรในถิ่นทุรกันดารอย่าง ลูกอีสาน เพื่อสะท้อนอุดมการณ์หรือวิถีชีวิตที่เชื่อตามรอยบรรพบุรุษแบบนั้น 

ขณะเดียวกัน เสี่ยว ก็ไม่ใช่ตัวละครอีสานที่ถูกผลิตซ้ำออกมาเป็นภาพจำของคนอีสานที่เป็นตัวตลกด้านเดียว ประเภทบทคอยเรียกเสียงฮาหรือเป็นคนใช้แบบในละครไทยยุคก่อนที่มีมิติเพียงการนินทาเจ้านายให้ตัวละครอื่นได้ยินเพื่อให้เรื่องชิงรักหักสวาทของพวกชนชั้นนำ อันเป็นเส้นเรื่องหลักของละครได้ขับเคลื่อนไปข้างหน้า 

เสี่ยว ในมนต์รักทรานซิสเตอร์ เป็นคนอีสานที่ถูกเกณฑ์มากับรถสองแถว เพื่อถูกส่งไปแคมป์ไร่อ้อยจนได้รู้จักกับแผน ต้องไปกินนอนร่วมกันห่างไกลครอบครัว และหนำซ้ำแรงงานเหล่านี้ยังนำเสนอภาพการปกครองแบบครอบครัว ด้วยการให้หัวหน้าคนงานไร่ดูแลตัวเอกอย่างแผนเสมือนเป็นลูกชาย แต่หนังก็ยังเสนอด้านมืดด้วยการสะท้อนชีวิตที่ถูกใช้แล้วทิ้งในแคมป์ด้วยภาพการตายของคนงานที่ล้มป่วยด้วยไข้ป่า ซึ่งเป็นความปกติที่เกิดในแคมป์อย่างเป็นเรื่องสามัญ เพราะเช้าวันถัดมาคนงานที่ยังมีลมหายใจก็ต้องตัดอ้อยต่อไปเช่นวันอื่นๆ

ภาพจำของเสี่ยว (อำพล รัตนวงศ์) และดาว (พรทิพย์ ปาปะนัย) – หญิงที่แผนเจอในวงลูกทุ่งซึ่งต่อมาได้กับเสี่ยว ในความคิดของแผน ภาพจาก : ไฟว์สตาร์โปรดัคชั่น

ในเส้นเรื่องของหนังครึ่งหลังอันว่าด้วยชีวิตแผนที่ซวยซ้ำซวยซ้อน และห่างไกลจากเมียและลูกที่ตนทิ้งมาจากบ้านนอก หนังได้แทรกเนื้อเรื่องของเสี่ยวที่แผนได้ร่วมรับรู้ ภาพชีวิตอันอัตคัดของคนงานที่ไม่มีสวัสดิการ ข้าวกลางวันที่มีเพียงข้าวกับผัก การขับถ่ายอุจจาระตามหลุมในป่า และความบันเทิงอย่างเดียว คือการเล่นพนันกับหัวหน้าคนงานในไร่ จนกระทั่งความขัดแย้งระหว่างหัวหน้าคนงานกับเสี่ยวมาถึงจุดแตกหัก ทั้งเสี่ยวและแผนจึงหนีตายจากแคมป์ตัดอ้อยมาแสวงหาทางรอดในเมืองหลวงอย่างกรุงเทพ โดยไม่เหลือเงินติดตัวสักแดงและต้องไปนอนข้างกองขยะ 

ดังนั้น เสี่ยว จึงเป็นเพียงภาพสะท้อนของผู้ใช้แรงงานธรรมดา ที่ไม่ได้เป็นภาพแทนของการเป็นชาวนาบนผืนแผ่นดินของตนอย่างในอดีตอีกต่อไป คนอีสานที่เป็นแรงงานดังกล่าวถูกให้ค่าไม่ต่างอะไรจากปัจจัยการผลิต ที่เสียก็หาใหม่ (เหมือนแรงงานที่ตายเพราะไข้ป่าก็ตายไป ที่อยู่ก็ทำต่อไป) เขาไม่ได้ตัดอ้อยเพื่อขายเอง แต่ได้เพียงค่าจ้าง (ซึ่งก็หมดไปกับการพนัน) โดยนัยยะนี้ เสี่ยวจึงเป็นภาพแทนของ “การดิ้นรนเอาตัวรอดแบบจำยอม” ในหนังเรื่องมนต์รักทรานซิสเตอร์ 

ตัวบทของหนังสือนั้นเขียนโดย “วัฒน์ วรรลยางกูร” ซึ่งเป็นนักเขียนที่มีชื่อเสี่ยงคนหนึ่ง ซึ่งในปัจจุบันผู้ที่ติดตามข่าวการเมือง คงคุ้นเคยกับวัฒน์ในบทบาทของการเคลื่อนไหวทางการเมืองฟากฝั่งประชาธิปไตย การมองย้อนไปศึกษาตัวละครเสี่ยว ณ เวลานี้ จึงเลี่ยงไม่ได้ที่จะเห็นความเสียดสีเย้ยหยันทางสังคมที่หนังได้สอดแทรกเอาไว้

และส่วนหนึ่งก็ต้องยกเครดิตให้กับผู้เขียนบท อย่าง “เป็นเอก รัตนเรือง” ซึ่งดัดแปลงด้วยการเขียนบทในแบบฉบับของเขาเอง เป็นเอกเคยให้สัมภาษณ์ว่า เขาเคยอ่านหนังสือเมื่อครั้งนานมาแล้ว แต่พอเริ่มเขียนบทดัดแปลงก็ใช้วิธีนึกเอาแต่ส่วนสำคัญที่หวนนึกได้เท่านั้น จึงยากจะอนุมานได้ว่า ตัวละคร บักเสี่ยว ที่เราเห็นในจอนั้น คงความเป็น วัฒน์ หรือ เป็นเอก อย่างไหนมากน้อยกว่ากัน (ผู้เขียนเองก็ยังไม่ได้อ่านหนังสือต้นฉบับของวัฒน์)

เมื่อเสี่ยวสะท้อนการดิ้นรนของการเป็นคนชายขอบในเมืองหลวง 

แต่สิ่งที่สะท้อนออกมาจากตัวหนัง แม้ไม่อาจแน่ใจว่ามีที่มาจากตัวบท (หนังสือ) แค่ไหน ก็ยังนับว่าเสียดสีได้อย่างเจ็บแสบ เมื่อเสี่ยวและแผนหนีตายจากไร่อ้อยมาในสภาพมอมแมมนอนข้างกองขยะ พวกเขาจับพลัดจับผลูเข้าไปในงานสังคมชั้นสูง ที่กำลังจัดงานคล้ายกับ “งานแฟนซีคนจน” ของพวกเศรษฐี ด้วยสารรูปสุดซกมกของทั้งแผนและเสี่ยว จึงกลมกลืนกับงานได้อย่างแนบเนียนและเข้าไปกินอาหารร่วมกันกับพวกไฮโซที่ดัดจริตพยายามทำตัวจนได้โดยไม่ถูกสงสัย ระแคะระคาย

ความตลกร้ายเกิดขึ้นอย่างเย้ยหยันในชะตากรรมยิ่งกว่าเดิมอีก เมื่อทั้งแผนและเสี่ยววางแผนกระชากสร้อยคอคนที่แยกอนุสาวรีย์ชัย แต่แผนกลับถูกจับติดคุกคนเดียว เมื่อออกมาจากคุก แผนกลับพบว่า เสี่ยวแปรสภาพตัวเองจากบักเสี่ยว คนบ้านนอกอดีตแรงงานไร่อ้อย กลายเป็นเสี่ยร่ำรวย ซี่งบัดนี้เสี่ยวน่าจะมีเอี่ยวกับธุรกิจมืดและพร้อมจะดึงแผนเข้ามาร่วมหัวจมท้ายอีกครั้ง

ชะตาชีวิตเสี่ยวกับแผนจึงเหมือนตลกร้าย คนที่แผนเคยช่วยไว้ในไร่อ้อยกลับกลายเป็นคนที่ชีวิตก้าวหน้า ขณะที่เขาเองกลับจมอยู่กับการใช้กรรมในคุกที่เพื่อนเป็นฝ่ายร่วมก่อ ซ้ำร้ายเมื่อพ้นโทษออกมาก็ยังถูกชักชวนให้เข้าสู่วงจรธุรกิจที่น่าจะเงินดีแต่ก็ยืนอยู่บนความเสี่ยงจากการค้าของผิดกฎหมาย

แผน (ซ้ายมือ) เพิ่งออกจากคุกมาเจอเพื่อนอย่างเสี่ยว (ขวามือ) ที่ตอนนี้กลายเป็นเสี่ยร่ำรวย ภาพจาก : ไฟว์สตาร์โปรดัคชั่น

แต่คนอีสานอย่างเสี่ยว ผิดหรือที่เป็นแบบนั้น เมื่อมองในสภาพสังคมปัจจุบันหากต้องการดิ้นรนเพื่ออยู่รอด หลายครั้งหลายคราเราก็ได้เห็นคนแบบเสี่ยว คนอีสานที่ในที่สุดเปลี่ยนจากแรงงานไร้อนาคตและผันตัวเองเข้าสู่ธุรกิจหรือเส้นสายอิทธิพลบางอย่าง เพื่อถีบตัวเองให้พ้นจากความยากจน การถูกกดขี่ในระบบแรงงานที่ไม่มีวันจะได้ลืมตาอ้าปาก

ถึงแม้ว่าจะต้องเข้าไปมีเอี่ยวกับธุรกิจที่ผิดกฎหมาย แต่หากคนเราไม่มีอะไรจะเสียแล้ว แม้ฟางเส้นเดียวตอนจะจมน้ำก็ยังคว้าได้ ชีวิตเสี่ยวหรือชีวิตคนอีสานที่เลือกทางเดินที่ผิดแผกจากชนชั้นกลาง เช่น การมีสามีฝรั่ง การขายบริการทางเพศ หรือแม้แต่การค้ายาเสพติด หรือก่ออาชญากรรม เราจะสามารถพูดว่า คนเหล่านั้นเลวได้อย่างเต็มปากโดยไม่ได้พิจารณาบริบททางสังคมที่บีบให้เขาต้องเลือกทำอย่างนั้นได้อย่างไร

image_pdfimage_print