เรื่องโดย ภาณุพงศ์  ธงศรี

ภาพโดย อติเทพ จันทร์เทศ

จังหวัดอุบลราชธานี ขึ้นชื่อว่าเป็นจังหวัดที่มีขบวนงานแห่เทียนพรรษาช่วงวันอาสาฬหบูชาก่อนช่วงเข้าพรรษาที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในประเทศไทย โดยในปี 2562 งานจัดขึ้นช่วงวันที่ 16-17 กรกฏาคม พ.ศ. 2562

ถ้าจะกล่าวว่าเป็นจังหวัดแรกที่นำงานประเพณีลักษณะนี้มาปฏิบัติกันและไปสู่จังหวัดอื่นๆ ก็คงไม่ผิดนัก เพราะตามหลักฐานประวัติศาสตร์ จังหวัดอุบลราชธานีนำการแห่เทียนพรรษามาบรรจุเป็นประเพณีของจังหวัด ช่วงปี พ.ศ. 2444 หรือ 118 ปีที่แล้ว 

ตามข้อมูลระบุว่า ปีนั้นมีการจัดงานบุญบั้งไฟเป็นงานประเพณีประจำจังหวัดซึ่งคล้ายคลึงกับจังหวัดยโสธร ทุกคุ้มจะนำบั้งไฟมารวมกันที่วัดหลวงริมแม่น้ำมูล มีการแห่บั้งไฟไปรอบเมืองและจุดขึ้นไปบนท้องฟ้าทำให้เกิดอุบัติเหตุ บั้งไฟตกลงมา ถูกชาวบ้านตายในงาน รวมถึงมีการชกต่อยตีรันฟันแทงกัน ก่อเหตุวุ่นวายไปทั้งงานอีกด้วย

เหตุการณ์ดังกล่าวทำให้กรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์ ผู้สำเร็จราชการเมืองอุบลฯ สมัยนั้น ได้ยกเลิกงานประเพณีบุญบั้งไฟแล้วให้มาจัดงานประเพณีแห่เทียนพรรษาแทน เพราะมีความเกี่ยวเนื่องกับวันสำคัญของศาสนาพุทธอย่างวันอาสาฬหบูชาก่อนช่วงเข้าพรรษา หลังจากนั้นประเพณีแห่เทียนพรรษาจึงกลายเป็นประเพณีประจำจังหวัดอุบลราชธานีตั้งแต่นั้นมาจนถึงปัจจุบัน

จากเทียนติดลำไม้ไผ่สู่เทียนแกะสลักที่ยิ่งใหญ่

แต่เดิมการแห่เทียนเป็นเพียงการนำเทียนมาติดกับลำไม้ไผ่ แล้วนำต้นเทียนไปมัดติดกับปิ๊ปน้ำมันก๊าด แล้วนำขึ้นบนเกวียน หรือล้อเลื่อนที่ใช้วัวหรือคนลากจูงแห่ด้วยไปถวายวัด การแห่ของชาวบ้านก็จะมีฆ้อง กลอง กรับ และการฟ้อนรำด้วยความสนุกสนาน

ประมาณ พ.ศ. 2480 เริ่มมีการทำต้นเทียนจากการหล่อออกจากเบ้าพิมพ์ที่เป็นลายง่ายๆ จนพัฒนาเป็นลายแกะสลักเทียนที่ยากและซับซ้อนขึ้น 

ช่วงปี 2500 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน ทุกอำเภอในจังหวัดอุบลราชธานี เริ่มทำขบวนแห่เทียนแข่งกัน ทำให้มีช่างแกะสลักเทียนประจำคุ้มมากขึ้น กระทั่งกลายในจังหวัดอุบลราชธานีเป็นพื้นที่เรียนศาสตร์เกี่ยวกับการแกะสลักเทียนทำให้ศิลปินทั้งในและต่างประเทศได้มาฝึกและโชว์ฝีมือเกี่ยวกับการแกะสลักและปฏิมากรรมเกี่ยวกับเทียนที่จังหวัดนี้

ไม่เพียงแต่จังหวัดอุบลฯ เท่านั้นที่มีงานแห่เทียนพรรษาที่ยิ่งใหญ จังหวัดนครราชสีมาก็มีประเพณีงานแห่เทียนพรรษาที่ยิ่งใหญ่ตระการตาเช่นกัน

เพราะมีช่างแกะเทียนในจังหวัดและช่างแกะเทียนจากอุบลราชธานีร่วมแกะสลักเทียนเพื่อประกอบขบวนแห่เทียนช่วงเวลาเดียวกันอีกด้วย ทำให้งานแห่เทียนที่โคราชสวยงามและยิ่งใหญ่ไม่แพ้จังหวัดอุบลราชธานี

ท่องเที่ยวชมขบวนแห่เทียนแกะสลัก

แม้ขึ้นชื่อว่างานแห่เทียนพรรษาแกะสลัก ที่มีขบวนแห่ต้นเทียนขนาดใหญ่ แต่หากขบวนไม่มีเสียงดนตรีหมอลำและเหล่านักฟ้อนรำก็คงไม่ดึงดูดผู้ที่มาชมเท่าใดนัก

ขบวนฟ้อนรำพื้นเมืองถือเป็นอีกจุดเด่นสำคัญที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวมาเที่ยวชม เนื่องจากการฟ้อนรำพื้นเมือง อย่างการฟ้อนกลองตุ้ม ฟ้อนกลองยาวประกอบจังหวัดดนตรีพื้นบ้านอีสานเป็นการนำเสนอเอกลักษณ์ความเป็นอีสานใต้จังหวัดอุบลราชธานีได้เป็นอย่างดี

นอกจากนี้ภายในงานยังมีกาแสดงงานศิลปะอย่างงานหัตถกรรมท้องถิ่นและงานศิลปะท้องถิ่นอื่นๆ เช่น หมอลำกลอน หนังประโมทัย อีกด้วย

อีกหนึ่งชุมชนที่แกะสลักเทียนแต่ละชุมชนในจังหวัดอุบลราชธานี ยังเปิดให้ผู้ที่สนใจเรียนรู้การแกะสลักเทียนพรรษาเข้าไปศึกษาเยี่ยมชมและเรียนรู้กับช่างแกะสลักเทียนท้องถิ่นได้ เช่น บ้านคำปุน เป็นต้น การเปิดชุมชนช่างแกะสลักเทียนถือเป็นจุดเด่นที่ทำให้ผู้คนจากนอกพื้นที่เข้ามาท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมได้จำนวนมากพอสมควร 

งานแห่เทียนพรรษา สามารถสร้างรายได้ให้กับแต่ละจังหวัดได้เป็นอย่างดี เพราะภายในงานมีการขายสินค้าท้องถิ่น โดยในปี 2562 การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานจังหวัดอุบลราชธานี คาดการณ์ว่า จะมีเงินไหลเข้าสู่จังหวัดจากการจับจ่ายใช้สอยของนักท่องเที่ยวในงานประเพณีแห่ต้นเทียนไม่น้อยกว่า 60 ล้านบาท 

จะเห็นได้ว่า ที่สุดแล้วคุณค่าของงานแห่เทียนในเชิงวัตถุคือพื้นที่แสดงศิลปวัฒนธรรม ประเภทงานศิลปกรรมและประติมากรรมเพื่อวันสำคัญของศาสนาพุทธตามความเชื่อความศรัทธาต่อพระพุทธศาสนา แต่ความโดดเด่นของงานประเพณีแห่เทียนแกะสลัก ซึ่งเป็นประเพณีประดิษฐ์ของจังหวัดกลับกลายเป็นสินค้าสร้างรายได้ให้จังหวัดจำนวนมากอีกด้วย

image_pdfimage_print