โดย กนกวรรณ มะโนรมย์

ผลพวงการสร้างเขื่อนลำน้ำโขงเพื่อความมั่นคงทางพลังงานและนโยบายทวงคืนผืนป่าที่อุทยานแห่งชาติผาแต้มเพื่อการอนุรักษ์ป่า เกิดไล่เลี่ยกันจนส่งผลกระทบต่อชุมชนริมแม่น้ำโขง จ.อุบลราชธานี สะท้อนอำนาจรวมศูนย์และการจัดการทรัพยากรของกลุ่มผู้มีอำนาจ เป็นทั้งรัฐและทุนที่มีเหนือชุมชน

ภาพวาดของเด็กชุมชนริมโขงเกี่ยวกับผลกระทบของเขื่อนจีนที่มาถึงหมู่บ้ายตามุย อ.โขงเจียม จ.อุบลราชธานี ภาพ: คำปิ่น อักษร

แม่น้ำโขงและป่าล้อมรอบชุมชน

ชุมชนบ้านตามุย บ้านกุ่ม และ บ้านท่าล้ง ต.ห้วยไผ่ อ.โขงเจียม จ.อุบลราชธานี มี 366 ครัวเรือน ด้านหนึ่งมีพรมแดนติดกับแม่น้ำโขงและอีกด้านติดกับเขตอุทยานแห่งชาติผาแต้ม

คนที่นี่พึ่งพาแหล่งอาหารจากแม่น้ำและป่า เพียงแค่เดินเข้าป่า ขึ้นภูเขา พร้อม มีด พร้า เสียม หรือ ไม้ ก็ได้ของป่าตามตามฤดูกาล สิ่งเหล่านี้สะท้อนว่าทั้ง 3 หมู่บ้านมีแหล่งอาหารอันสมบูรณ์จากธรรมชาติบริเวณนี้ แม้พวกเขาจะจับจองที่ดินใกล้ภูเขาแต่ก็มีครัวเรือนละไม่เกิน 2-3 ไร่เท่านั้น

ชาวบ้านตามุยเดินขึ้นภูหาอาหารและเรียนรู้ธรรมชาติ ภาพ : คำปิ่น อักษร

เขื่อนพลังงานไฟฟ้าในลำน้ำโขง..ได้เปลี่ยน “ความสมบูรณ์” เป็น “ความขาดแคลน”

รายงานของคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง  (Mekong River Commission) ปี 2553 ซึ่งเป็นองค์การร่วมมือระหว่างรัฐบาลในประเทศที่ได้ผลประโยชน์จากแม่น้ำโขงร่วมกันคาดว่า ทรัพยากรน้ำในลุ่มน้ำโขงตอนล่างจะมีศักยภาพผลิตไฟฟ้าได้ถึง 30,000 เม็กกะวัตต์ ซึ่งมากพอในการพัฒนาเศรษฐกิจและด้านต่างๆของภูมิภาค โดยนับจากปี 2553 ถึงปี 2568 ประเทศในภูมิภาคแม่น้ำโขงจะมีความต้องการพลังงานไฟฟ้ามากขึ้นเฉลี่ย 2-7 เท่า ขึ้นอยู่กับระดับการพัฒนาของแต่ละประเทศ  

ปัจจุบันประเทศจีนมีเขื่อนในลำน้ำโขงตอนบนมากถึง 14 เขื่อน เพื่อตอบสนองนโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจในภาคตะวันตกของประเทศ โดยเฉพาะบริเวณจังหวัดยูนนาน (Magree, 2555)

ส่วนประเทศลุ่มน้ำโขงตอนล่าง ได้แก่ ลาว ไทย กัมพูชา และเวียดนาม ต่างสนับสนุนการสร้างเขื่อนเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจและลดความยากจน ทำให้เกิดเขื่อนขนาดใหญ่ทั้งสร้างแล้วเสร็จ กำลังจะสร้างและมีแผนจะสร้างรวม 11 เขื่อนและในลำน้ำสาขาของแม่น้ำโขงอีก 120 เขื่อนภายในปี พ.ศ. 2583 (MRC, 2561)

ที่มา: หนังสือสรุปสถานการณ์แม่น้ำโขงสำหรับลูกหลานแม่น้ำโขง โดย เครือข่ายประชาชนไทย 8 จังหวัดลุ่มน้ำโขง

ไม่เพียงแต่เขื่อนปั่นไฟฟ้าจากจีนที่เปิด – ปิด ประตูเขื่อนไม่ตรงเวลาและทำให้บางเวลาน้ำโขงท่วม และบางเวลาน้ำโขงแห้งขอดจนนำมาสู่ปัญหาต่อชุมชนริมแม่น้ำโขงอย่างรุนแรงต่อระบบนิเวศอีกด้วย 

การผลิตกระแสไฟฟ้าของเขื่อนในแม่น้ำโขงตอนบนมีมาอย่างต่อนเนื่อง จนล่าสุดช่วงเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2562 จีนถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักจากเครือข่ายภาคประชาชนไทย 8 จังหวัดลุ่มน้ำโขงและองค์กรแม่น้ำนานาชาติ (International Rivers) ว่าการผลิตไฟฟ้าและปล่อยน้ำลงมายังแม่น้ำโขงตอนล่างของจีนส่งผลกระทบต่อชุมชนที่อาศัยอยู่ริมแม่น้ำโขงและมีการทำลายเกาะแก่งในแม่น้ำโขง แม้สถานทูตจีนประจำประเทศไทยจะชี้แจงข้อกล่าวหาก็ไม่ได้ทำให้ชาวบ้านวางใจต่อผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้น 

ไล่เลี่ยกันในช่วงกลางเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2562 ทางการลาวได้ออกประกาศเกี่ยวกับการทดสอบการเดินเครื่องผลิตกระแสไฟของเขื่อนไชยะบุรี โดยเตือนให้ชุมชนริมฝั่งโขงเตรียมรับการผันผวนของแม่น้ำโขง ซึ่งเป็นการซ้ำเติมปัญหาการเข้าถึงทรัพยากรปลาของชาวบ้านริมแม่น้ำโขงมากขึ้น

“เขื่อนจากจีนและลาวได้ส่งผลให้ปลาในแม่น้ำลดลงมาก หาปลายากขึ้น ได้ปลาน้อยลง เคยหาปลาขายได้เงินวันละหลายร้อยบาท ปัจจุบันหาได้แต่พอกินหรือขายได้เพียงเล็กน้อย” คือเสียงสะท้อนของพรานปลาบ้านตามุย ที่บอกกับผู้เขียน

ภาพวาดของเด็กไทยริมโขงที่เกิดจากการอยู่กับแม่น้ำ ในขณะที่แม่น้ำกำลังถูกทำลาย ภาพ: คำปิ่น อักษร

ใน ปี พ.ศ. 2553 ผู้เชี่ยวชาญด้านประมงในลำน้ำโขงเคยประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมเชิงยุทธศาสตร์ (Strategic Environmental Assessment) ในลำน้ำโขงสายหลักไว้ว่า หากมีการสร้างเขื่อนในลำน้ำโขงแล้ว ความหายนะของระบบนิเวศน์ปลา พันธุ์ปลาและปริมาณปลาจะลดลงอย่างมากและส่งผลกระทบต่อความมั่นทางอาหารและเศรษฐกิจท้องถิ่น 

ดังนั้นจึงเสนอไม่ให้มีการสร้างเขื่อนในลำน้ำโขงอย่างน้อย 10 ปี  แต่ข้อเสนอนั้นก็ไม่ได้รับการปฏิบัติเพราะประเทศในลุ่มน้ำโขงยังเดินหน้าสร้างเขื่อนต่อไป

“ทวงคืนผืนป่า” อีกผลกระทบกับชาวบ้านริมโขง

นอกจากปัญหาข้ามพรมแดนเรื่องเขื่อนของประเทศเพื่อนบ้านที่ชาวบ้านตามุยกำลังประสบแล้ว ชาวบ้านตามุยยังเผชิญกับนโยบายทวงคืนผืนป่า

สำหรับผู้เขียนนโยบายดังกล่าวกำลังแยกชาวบ้านออกจากป่าและที่ดินทำกินผ่านกลไกที่แยบยล ได้แก่ การใช้กฎหมายเพื่อรวมพื้นที่ให้เป็นผืนป่าขนาดใหญ่ทำให้ภาพของชาวบ้านเปลี่ยนจากผู้บุกเบิกเป็นผู้บุกรุกและการสร้างเขื่อนตามนโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศและภูมิภาคเพื่อความทางพลังงานและเศรษฐกิจ เปลี่ยนชาวบ้านจากผู้มีอยู่มีกิน เป็นขาดแคลนเนื่องจากทางเลือกในการดำรงชีพแคบและตีบตันลงเรื่อยๆ

ทรัพยากรธรรมชาติบริเวณบ้านตามุยยังคงอุดมสมบูรณ์ ภาพ: คำปิ่น อักษร

จาก  “ผู้บุกเบิก” กลายเป็น “ผู้บุกรุก”

หากย้อนไปถึงยุคโบราณ ก่อนจะเป็นชุมชนและเมืองนั้นบริเวณผาแต้ม พบว่า ถ้ำและเพิงผาเป็นเสมือนเมืองศูนย์กลางทางวัฒนธรรมของคนยุคก่อนประวัติศาสตร์ 

เห็นได้จากภาพเขียนในผนังถ้ำเช่น ผาแต้ม ที่เป็นภาพปลาและเครื่องมือหาปลา สะท้อนว่า พื้นที่แม่น้ำโขงมีพื้นที่อุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรป่าและแม่น้ำ

ศรีศักดิ์ วัลลิโภดม นักวิชาการด้านโบราณคดีและมานุษยวิทยาเรียกบริเวณนี้ว่า “เขตสะสม” ของกลุ่มคนที่มีอิสระในการสร้างสรรค์วัฒนธรรมและสร้างบ้านเมืองจนกลายเป็นชุมชนขนาดใหญ่ทำให้บริเวณนี้สามารถเรียกว่า เป็นเมืองขนาดใหญ่ มีขนาดเท่ากับรัฐในเวลาต่อมา และพื้นที่รอบๆ ผาแต้มก็เป็นแหล่งสร้างชุมชนมายาวนานจากฐานทรัพยากรธรรมชาติ

จากการสอบถามชาวบ้านในพื้นที่ริมแม่น้ำโขงและติดกับเขตป่า พบว่าได้ตั้งถิ่นฐานมานานมากก่อนที่รัฐจะประกาศเป็นเขตอุทยานฯ เหตุผลสำคัญที่ชาวบ้านตัดสินใจมาตั้งหลักแหล่ง เนื่องจากพื้นที่มีความอุดมสมบูรณ์เพราะติดกับแม่น้ำโขงที่สามารถหาปลาเพื่อแลกข้าวและสิ่งของจำเป็นต่างๆ ได้ ต่อมาสามารถขายปลาเพื่อสร้างรายได้อย่างเป็นกอบเป็นกำ

ปลายปี 2534 ผาแต้มถูกประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติ โดยกำหนดแนวเขตอุทยานฯ มีเนื้อที่ประมาณ 340 ตารางกิโลเมตร หรือ 212,500 ไร่ ถือว่าครอบคลุมพื้นที่เป็นวงกว้าง 

ตั้งแต่รัฐประกาศให้พื้นที่ที่มีชาวบ้านทำกินอยู่เป็นเขตอุทยานฯ ทำให้เกิดความขัดแย้งเรื่องที่ดินทำกินระหว่างรัฐกับคนในพื้นที่ โดยเฉพาะปัญหาที่ดินที่ซ้อนทับกันระหว่างที่ดินในเขตอุทยานฯและที่ดินทำกินของคนในชุมชน ซึ่งเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นมานานกว่า 28 ปีและยังไม่ได้รับการแก้ไข 

เมื่อปี 2557 หลังจากรัฐบาลทหาร คสช.ออกคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คำสั่ง คสช.) ที่ 64/2557 เรื่อง การปราบปรามและหยุดยั้งการบุกรุกทําลายทรัพยากรป่าไม้ หรือที่รู้จักในชื่อ ‘นโยบายทวงคืนผืนป่า’  

ถือเป็นนโยบายที่ส่งผลสะเทือนต่อชาวบ้านที่อาศัยในพื้นที่ติดกับอุทยานฯ และพื้นที่จัดสรรเขตอุทยานฯ ที่เป็นป่าเสื่อมโทรมให้ชาวบ้านทำกินทั่วประเทศ เพราะผู้ที่อาศัยในพื้นที่นั้นถูกเจ้าหน้าที่กล่าวหาว่า เป็นผู้บุกรุกและทำลายป่าสงวนในเขตอุทยานฯ ซึ่งนำมาสู่การจับกุม แจ้งข้อหา และขับไล่ชาวบ้านออกจากพื้นที่ทำกิน

พื้นที่ของชาวบ้านที่ถูกกล่าวหาว่าบุกรุกป่า ภาพ: คำปิ่น อักษร

ชาวบ้านในหมู่บ้านตามุย จึงได้รับผลกระทบจากการทับซ้อนที่ดินระหว่างรัฐและชาวบ้านจำนวน 3 รายและฝืนใจเซ็นชื่อยินยอมคืนที่ดิน (อีก 9 รายอยู่บ้านท่าล้ง)  แต่มีหนึ่งคนในบ้านตามุยไม่ได้ลงชื่อยินยอม จึงถูกเจ้าหน้าที่อุทยานแจ้งข้อกล่าวหาว่าบุกรุกที่ดินป่าสงวนในเขตอุทยานฯ จำนวน 2 ไร่ 3 งาน ปัจจุบันกรณีนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาในกระบวนทางศาล 

รัฐจริงใจหรือไม่….คำถามที่ไร้คำตอบ 

เมื่อในวันที่ 28 พฤษภาคม 2562 ที่ผ่านมา ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่ที่ 9  ได้ออกประกาศกำหนดระยะเวลาการสำรวจการครอบครองที่ดินของชาวบ้านในเขตอุทยานแห่งชาติผ่าแต้ม เพื่อดำเนินการตรวจสอบสิทธิ์ครอบครองที่ดิน  เจ้าหน้าที่ได้แจ้งให้ชาวบ้านที่มีพื้นที่ทำกินหรือพื้นที่อาศัยในเขตอุทยานแห่งชาติผาแต้มมาแจ้งการครอบครองที่ดินต่อเจ้าหน้าที่ เพื่อนำไปสู่ขั้นตอนการสำรวจการครอบครองที่ดิน

ชาวบ้านตามุย อ.โขงเจียม จ.อุบลราชธานี ไปยื่นหนังสือให้เจ้าหน้าที่อุทยานฯ ให้เร่งวัดเขตที่ดินของชาวบ้านในเขตอุทยานฯ ให้ชัดเจน ภาพ: คำปิ่น อักษร

ชาวบ้านในหมู่บ้านตามุยได้เข้าร่วมกับโครงการฯ นี้ ในฐานะหมู่บ้านนำร่องเพราะชาวบ้านมีพื้นที่ทับซ้อนกับอุทยานจำนวน 4 คน เพื่อแก้ไขปัญหาเรื่องเขตแดนการทำกินของประชาชนให้ครอบคลุม ชัดเจนและเป็นธรรม

แต่ปรากฏว่า การวัดเขตพื้นที่อุทยานฯ ของเจ้าหน้าที่เต็มไปด้วยความเร่งรีบ มีความไม่แน่นอนในการขอบเขตในการวัด เจ้าหน้าที่ไม่เปิดโอกาสให้ชาวบ้านมีส่วนร่วมในการเสนอขอบเขตพื้นที่  เจ้าหน้าที่หลีกเลี่ยงที่ไม่วัดพื้นที่ที่ชาวบ้านชี้ แต่กลับเน้นที่จะวัดในพื้นที่โล่งๆ ที่เป็นหัวไร่ปลายนาและทำดินทำกินของชาวบ้าน ทั้งนี้ชาวบ้านต้องการให้เจ้าหน้าที่วัดที่นาและพื้นที่ใช้สอยของชาวบ้านเพื่อแสดงว่าเป็นพื้นที่ทำกินที่ชาวบ้านมีสิทธิการใช้และครอบครอง  

การจัดการพื้นที่ทับซ้อนระหว่างที่ทำกินและพื้นที่เขตอุทยานผาแต้มผ่านกลไกต่างๆ มากมายที่ไม่ตรงไปตรงมา ได้แก่ การหลีกเลี่ยงการฟังความเห็นและข้อเสนอของชาวบ้านเรื่องขอบเขตการครอบครองที่ดินตามประเพณีที่เคยทำมาของชาวบ้าน การสร้างความไม่ชัดเจนในการวัดและการให้ข้อมูล และการใช้กฎหมายแจ้งจับชาวบ้านข้อหาบุกรุกป่า

หนึ่งในชาวบ้านตามุยที่ถูกแจ้งข้อหาบุกรุก เขตอุทยานแห่งชาติผาแต้ม ภาพ: คำปิ่น อักษร

ปรากฎการณ์การสร้างเขื่อนเพื่อความมั่นคงทางพลังงานและการทวงคืนผืนป่าจึงสะท้อนการใช้อำนาจรัฐผ่านข้ออ้างทางนโยบาย การใช้กฎระเบียบของการกำหนดขอบเขตแดนให้ชัดเจน โดยอาศัยกฎหมายบีบบังคับ ซึ่ง Derek Hall et al., (2554) เรียกสิ่งเหล่านี้ว่า “อำนาจการกีดกัน (Power of exclusion)” เพื่อสร้างความชอบธรรม (Legitimacy) ให้กับรัฐในประเทศลุ่มแม่น้ำโขง และ การต่อสู้ต่อรองกับรัฐทั้งเรื่องเขื่อนและการทวงคืนผืนป่าดำเนินการไปด้วยความยากลำบาก มีความซับซ้อนและยากที่จะแก้ไขเพื่อลดปัญหาที่เกิดกับชุมชน

ในแง่การต่อสู้เรื่องเขื่อนนั้น ภาคประชาชนได้พยายามดำเนินการทางกฎหมายผ่านกระบวนการศาลมากับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยมาโดยตลอดแต่ก็มีความเชื่องช้า รวมทั้งพยามต่อรองกับจีนผ่านรัฐบาล แต่การต่อรองของภาคประชาชนไม่ทันการกับผลกระทบที่เกิดขึ้นมาแล้ว  

การสร้างโรงเรียนแม่น้ำโขง (โฮงเฮียนแม่น้ำของ) ที่เชียงราย และอุบลราชธานี จึงเป็นหนทางหนึ่งเพื่อสร้างกระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ของชาวบ้านคนรุ่นต่างๆเพื่อตระหนักถึงความสำคัญของแม่น้ำโขง ภัยคุกคามต่อแม่น้ำโขงและวิถีชีวิตร่วมกัน อีกทั้งสร้างความตระหนักในสิทธิของภาคประชาชนเพื่อรักษาแม่น้ำโขงให้ยั่งยืนเพื่อลูกหลานของตนในอนาคต

โฮงเฮียนแม่น้ำของ บ้านตามุย อ.โขงเจียม จ.อุบลราชธานี ภาพ: คำปิ่น อักษร

ในการจัดการทรัพยากรป่าและที่ดินนั้น ชาวบ้านได้พยายามแก้ไขปัญหาดังกล่าวด้วยตัวเองด้วยการยื่นหนังสือต่ออุทยานแห่งชาติเรื่องการรังวัดที่ดินให้ชัดเจนตามการใช้ประโยชน์จริงของชาวบ้าน แต่ไม่ได้รับความสนใจจากภาครัฐระดับพื้นที่ 

ล่าสุดเมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2562 ชาวบ้านได้เข้าร่วมกับขบวนการขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (พีมูฟ) ที่เป็นองค์กรภาคประชาสังคมระดับชาติ เพื่อร่วมกับเครือข่ายภาคประชาชนอื่นๆ ยื่นหนังสือข้อเรียกร้องให้รัฐบาลมาแก้ไขปัญหา

การลดลงของทรัพยากรที่ชุมชนริมแม่น้ำโขงพึ่งพาอาศัย ทั้งแม่น้ำ ป่า และที่ดินที่เกิดขึ้นพร้อมๆ กันที่แสดงถึงอำนาจการกีดกันที่เปลี่ยนความสมบูรณ์เปลี่ยนเป็นความขาดแคลน กำลังบั่นทอนทางเลือกการได้มาซึ่งอาหารและรายได้ นำมาสู่ความเสี่ยงและความไม่แน่นอนของการดำรงชีพในปัจจุบันและอนาคต 

การต่อสู้ต่อรองของภาคประชาชนดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง แต่อยู่บนพื้นฐานของอำนาจที่ไม่เท่ากัน ทำให้กระบวนการของภาคประชาชนในการขับเคลื่อนเรื่องการจัดการทรัพยากรเป็นไปด้วยความท้ายทายและยากลำบาก 

ทางออกที่ผู้เขียนเห็นว่า ควรจะต้องดำเนินการในเรื่องการจัดการเขื่อนในลำน้ำโขง คือ ทำการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมเชิงกลยุทธ์ใหม่ที่มาจากการมีส่วนร่วมของภาคประชาสังคมที่สนับสนุนโดยคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงอีกครั้งเนื่องจากการประเมินผลกระทบดังกล่าวเมื่อ 10 ปีที่แล้วไม่ทันสมัยและยังไม่มีผลกระทบจากเขื่อนที่สร้างหลังปี 2553 มาประกอบสร้างให้เห็นภาพรวมของผลกระทบต่อลุ่มน้ำและคนในลุ่มน้ำ 

ส่วนทางออกการทวงคืนผืนป่านั้น ผู้เขียนเห็นว่า รัฐควรต้องทบทวนนโยบายนี้อีกครั้งและเน้นใช้แนวทาง “คนอยู่ร่วมกับป่าเพื่อรักษาป่า” ตามกรอบที่ภาคประชาสังคมเคยเสนอมานานกว่า 27 ปี และล่าสุดสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ได้รับรอง พรบ.ป่าชุมชน พ.ศ.แล้ว ทั้งนี้เพื่อเป็นกรอบคิดในการจัดการป่าที่เน้นการสร้างให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการจัดการทรัพยากรป่าร่วมกันให้ครอบคลุมพื้นที่ต่างๆให้มากที่สุด

อ้างอิง

มติชน. 2562. สนช.ไฟเขียว ‘ป่าชุมชน’ ลุยจัดตั้งอีก 21,850 แห่งทั่ว ปท. ชี้ลดการบุกรุกพื้นที่สงวนได้. https://www.matichon.co.th/local/quality-life/news_1367447

ศรีศักร วัลลิโภดม. 2546. แอ่งอารยธรรมอีสาน. พิมพ์ครั้งที่ 4. กรุงเทพ : มติชน

สำนักข่าวชายขอบ. 2562. เว็บไซต์ลาวแจ้งข่าวด่วน รับมือระดับน้ำโขงอีสานผันผวนหนัก เหตุเขื่อนไซยะทดลองปั่นไฟ.  อ้างจาก http://transbordernews.in.th/home/ เข้าใช้ข้อมูล วันที่ 16 กรกฎาคม2562.

เสน่ห์ จามริก และ ยศ สันตสมบัติ. (2538). ป่าชุมชนในประเทศไทย: แนวทางการพัฒนาเล่ม 1. กรุงเทพฯ: สถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา.

Bangkok Post. 2019. Dam tests spark crisis. (20 July 2019).

Hall, D., P. Hirsch and T.M. Li. 2011. Powers of exclusion: land dilemmas in Southeast Asia. Singapore and Honolulu: National University of Singapore Press and University of Hawai’i Press. ICEM. 2010. MRC Strategic Environmental Assessment (SEA) of hydropower on the Mekong mainstream: summary of the final report, Hanoi, Viet Nam. MRC 2010. State of the Basin Report 2010. Mekong River Commission, Vientiane, Lao PDR.

 Magree, D. 2555. “The Dragon Upstream China’s Role in Lancang-Mekong 

Development”: International Rivers อ้างใน https://www.internationalrivers.org/sites/default/files/attached-files/ir_lacang_dams_2013_5.pdf.

MRC. 2018 ‘Study on the Sustainable Development and Management of the Mekong River, including Impacts of Mainstream Hydropower Projects’ อ้างใน http://www.mrcmekong.org/assets/Publications/the-CS-reports-cover.pdf)

สำนักข่าวชายขอบ.2562. สถานทูตจีนแจง 4 ประเด็นสถานการณ์แม่น้ำโขง ระบุสื่อมวลชนรายงานเท็จ อ้างทุ่มเทอนุรักษ์นิเวศ-สิ่งแวดล้อมเหมือนลูกตาตัวเอง เครือข่ายภาคประชาชนลุ่มน้ำโขงโต้ทันควัน “ย้อนแย้ง”ชี้จัดการน้ำไม่เป็นธรรม เผยสถิติน้ำโขงผันผวนมากที่สุด

ข่าวสด. 2562. ม็อบมาแล้ว “พีมูฟ” บุกทำเนียบ จี้รัฐบาล“ตู่ 2” แก้ปัญหาคนจน หลัง 5 ปี ไม่คืบหน้า! 

คำแถลงของโฆษกสถานเอกอัครราชทูตจีนประจำประเทศไทย ว่าด้วยคำวิพากษ์วิจารณ์ที่เกี่ยวกับจีนในปัญหาน้ำแม่น้ำโขงhttp://www.mymekong.org/uncategorized/คำชี้แจงของเครือข่ายประชาชนไทย 8 จังหวัดลุ่มน้ำโขง ต่อคำแถลงของโฆษกสถานเอกอัครราชทูตจีนประจำประเทศไทย ว่าด้วยคำวิพากษ์วิจารณ์ที่เกี่ยวกับจีนในปัญหาน้ำแม่น้ำโขง http://www.mymekong.org/document/

image_pdfimage_print