ภาพถ่ายโดย ลุก ดักเกิลบี

นับตั้งแต่ชาวบ้านประกาศศึกต่อสู้ภายใต้ชื่อ “กลุ่มรักษ์อำเภอวานรนิวาส” เพื่อต่อต้านบริษัทไชน่า หมิงต๋า โปแตช คอร์ปอเรชั่น (ประเทศไทย) จำกัด ที่เป็นผู้ได้สิทธิ์สำรวจแร่โพแทชบนพื้นที่ประมาณ 120,000 ไร่ ในเขต อ.วานรนิวาส จ.สกลนคร เมื่อปี 2558 เป็นต้นมา การต่อสู้เพื่อปกป้องสิทธิชุมชนและสิ่งแวดล้อมครั้งนี้ก็ได้ดำเนินมาเกือบครบ 5 ปี เราได้เห็นภาพผู้หญิงนักสู้จากวานรฯ ออกมาเป็นหัวหอกกล้าท้าชน ทั้งรัฐและนายทุน ทุกคนต่างพร้อมใจกันใส่เสื้อสีเขียวข้อความต้านเหมือง

“เราออกมาต่อต้านโครงการนี้เพราะไม่อยากให้ป่า แม่น้ำ ทรัพยากรธรรมชาติ ที่เป็นแหล่งอาหารของครอบครัวหมดไป” มะลิ แสนบุญศิริ หนึ่งในสมาชิกกลุ่มรักษ์อำเภอวานรนิวาส กล่าว

แม้โครงการทำเหมืองแร่โพแทช ในพื้นที่จะยังไม่เกิด เพราะยังอยู่ในขั้นตอนการสำรวจพื้นที่หาแร่ใต้ดินเท่านั้น แต่มะลิและสมาชิกกลุ่มรักษ์อำเภอวานรนิวาสกังวลว่า หากมีเหมือง อาจจะเกิดผลกระทบ เช่น ดินทรุดจากการทำเหมืองใต้ดิน การซึมของเกลือลงพื้นที่สาธารณะที่อาจส่งผลกระทบต่อการเกษตรจนไม่สามารถเพาะปลูกได้

“ในกลุ่มของพวกเรา มีผู้หญิงถึง 70% อายุเฉลี่ย 30 ปีขึ้นไป เพราะเราเชื่อว่า การปกป้องชุมชนไม่ควรปล่อยให้เป็นหน้าที่ผู้ชายฝ่ายเดียว พวกเราควรช่วยกัน” มะลิกล่าวด้วยน้ำเสียงหนักแน่น 

เธอยังบอกอีกว่า แม้ว่ารัฐและบริษัทจะบอกว่า ถ้ามีเหมือง คนในชุมชนจะมีงาน ชาวบ้านมีรายได้ ไม่ต้องออกไปเก็บของป่า หาอาหารตามแม่น้ำ ลำคลองกิน แต่สำหรับเธอทรัพยากรธรรมชาติยั่งยืนกว่าอุตสาหกรรม

คล้ายกับ ลัดดาวัลย์ พันธ์ดา ชาวบ้านวังบงน้อย หนึ่งในกลุ่มรักษ์อำเภอวานรนิวาส ที่บอกว่า ยังคงให้เกียรติสามีเป็นผู้นำในบ้าน แต่การต่อต้านเหมืองแร่ถือเป็นหน้าที่ของครอบครัวที่ทุกคนต้องร่วมมือกัน “ทุกครั้งที่มีการชุมนุม สามีและลูกๆ จึงไปร่วมเคลื่อนไหวด้วย” ลัดดาวัลย์กล่าว

ลัดดาวัลย เล่าประสบการณ์การชุมชนร่วมกับกลุ่มรักษ์อำเภอวานรนิวาสว่า นอกจากร่วมเดินรณรงค์เพื่อสร้างความเข้าใจให้กับชุมชนและคนที่ยังไม่รู้ปัญหาของเหมืองแร่โพแทชที่อาจจะเกิดขึ้นแล้ว เธอยังมีหน้าที่เตรียมอาหารให้กับผู้เคลื่อนไหวด้วย 

“เราไม่ได้เดินขบวนอย่างเดียว แม่และเพื่อนๆ ที่เป็นผู้หญิงยังทำหน้าที่หุงหาอาหาร เตรียมน้ำ และดูแลผู้ที่ร่วมเคลื่อนไหว เราต้านเหมืองแร่เพราะรักชุมชนของเรา ไม่อยากให้แหล่งอาหาร แหล่งน้ำที่เราใช้กินใช้อยู่เปลี่ยนแปลง มันเป็นสิ่งที่มีค่าสำหรับเรา เป็นมรดกของลูกหลานเรา” ลัดดาวัลย์กล่าว 

มะลิและลัดดาวัลย์เห็นพ้องกันว่า บทบาทผู้หญิงไม่ใช่ดูแลครอบครัวเท่านั้น แต่บทบาทการเคลื่อนไหวในเรื่องการเมืองเพื่อปกป้องทรัพยากร ก็เป็นเรื่องสำคัญเช่นเดียวกัน  

ปกป้องความมั่นคงและอธิปไตยทางอาหาร 

ผู้หญิงกับการเคลื่อนไหวเพื่อปกป้องทรัพยากรธรรมชาติในชุมชนนั้น กนกวรรณ มะโนรมย์ อาจารย์ประจำคณะศิลปศาสตร์ ม.อุบลราชธานี ผู้เขียนบทนำในหนังสือ “แม่ญิง (ผู้หญิง) แม่มูน: วิถีชีวิตและการต่อสู้” บอกว่า เป็นเพราะพวกเธอต้องการปกป้องแหล่งอาหาร รักษาทรัพยากรที่เป็นฐานการผลิตอาหารและเป็นแหล่งรายได้หลักของครัวเรือน

เธอกล่าวว่า ผู้หญิงที่เข้าร่วมขบวนการเคลื่อนไหวนี้ไม่ได้ต้องการเป็นแกนนำเพื่อต่อรองอำนาจกับรัฐ แต่เป้าหมายหลัก คือการปกป้องความมั่นคงทางอาหาร การออกมาเคลื่อนไหวครั้งนี้สะท้อนว่า ผู้หญิงมีความสามารถและมีศักยภาพในการต่อสู้และเสนอความต้องการของตัวเอง เพื่อต่อรองอำนาจรัฐและทุนได้ 

“สังคมเชื่อว่า บทบาทนี้ควรเป็นหน้าที่ของผู้ชาย เพราะต้องเผชิญหน้ากับเจ้าหน้าที่รัฐและนายทุนที่มักจะมีแต่ผู้ชาย” กนกวรรณกล่าว

พลังหญิงอำนาจต่อรองรัฐ 

กนกวรรณ บอกอีกว่า มีสิ่งที่น่าสังเกตในขบวนการเคลื่อนไหวที่มีผู้หญิงร่วมด้วยคือ บางขบวนการใช้ยุทธวิธีเผชิญหน้า โดยใช้ความเป็นผู้หญิงที่สังคมบอกว่าต้องอ่อนโยน มาเป็นเครื่องมือในการเผชิญหน้ากับเจ้าหน้าที่รัฐ เพื่อผลักดันให้ข้อเรียกร้องได้รับความสนใจจากรัฐ

“ความอ่อนโยน ไม่รุนแรง ไม่ได้แปลว่า ผู้หญิงกลัวหรือสู้ไม่ได้ แต่เป็นวิธีประนีประนอมบนฐานการต่อรองกับรัฐ ถือเป็นอีกยุทธวิธีการต่อสู้หนึ่งที่น่าสนใจ” กนกวรรณกล่าว 

บทบาทการเคลื่อนไหวของผู้หญิงในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่ออกมาปกป้องทรัพยากรธรรมชาติและชุมชนครั้งนี้ จึงไม่ใช่ครั้งแรก แต่เห็นความเข้มแข็งจากบทบาทของพวกเธอด้วยแนวทางสันติวิธีตั้งแต่ปี 2540 ในนามสมัชชาคนจน ต่อต้านการสร้างเขื่อนปากมูน จ.อุบลราชธานี เป็นต้นมา  

ภาพถ่ายชุดนี้ได้รับการสนับสนุนโดย พิพิธภัณฑ์ศิลปะร่วมสมัยใหม่เอี่ยม (MAIIAM Contemporary Art Museum)

image_pdfimage_print