1

ค้านเหมืองแร่โพแทชเมืองสกลฯ ชัยชนะที่รอวันสิ้นสุด (1)

แม้การรวมตัวปิดถนนทางเข้าโครงการขุดเจาะสำรวจแร่โพแทชเซียมหลุมที่ 4 ของกลุ่มอำเภอรักษ์วานรนิวาส จังหวัดสกลนคร เมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2561 จะเป็นชัยชนะอันหอมหวาน 

เพราะปฏิบัติการครั้งนั้นสามารถต้านการขนอุปกรณ์เข้าไปในพื้นที่เหมืองสำเร็จ ทำให้จนถึงตอนนี้บริษัทไชน่า หมิงต๋า โพแทช คอร์ปอเรชั่น (ประเทศไทย) จำกัดไม่สามารถสำรวจแร่ต่อ 

สำหรับชาวบ้าน ชัยชนะครั้งนั้น ถือเป็นชัยชนะครั้งที่ 2 ที่สามารถขัดขวางการเจาะสำรวจแร่ของบริษัทเอกชนสำเร็จ 

ชาวบ้านอ้างไม่รู้ข้อมูลก่อนเหมืองมา 

ก่อนหน้านั้นกลุ่มรักษ์อำเภอวานรนิวาส เคยเข้าขัดขวางการเจาะสำรวจแร่ของบริษัทสำเร็จมาแล้วหนึ่งครั้ง ซึ่งก็คือการเจาะสำรวจหลุมที่ 3 แต่หลุมที่ 1 และที่ 2  ชาวบ้านไม่รู้ข้อมูล จึงไม่มีการเข้าขัดขวาง

“บริษัทเอกชนเจาะสำรวจแร่ในพื้นที่ไปแล้ว 2 หลุม โดยที่คนในชุมชนไม่รู้ข้อมูลการเจาะสำรวจเลย” มะลิ แสนบุญศิริ ชาวบ้านหินเหิบหินกอง ต.วานรนิวาส อ.วานรนิวาส จ.สกลนคร หนึ่งในสมาชิกกลุ่มรักษ์อำเภอวานรนิวาส กล่าวด้วยน้ำเสียงขุ่นเคือง 

“แร่เกลือ” ความกลัวของคนวานรฯ​

เธอบอกอีกว่า หากบริษัทฯ รู้ตำแหน่งแร่คุณภาพแล้ว จะต้องขอใบอนุญาตทำเหมืองแร่ ซึ่งชาวบ้านไม่อยากให้มีเหมือง เพราะกังวลผลกระทบต่อด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของคนในชุมชน 

 “เคยรู้มาว่า เหมืองแร่ใต้ดินเสี่ยงต่อดินทรุดตัว และแร่โพแทชเซียม คือแร่เกลือที่มีความเค็ม น้ำเค็มจากเหมืองแร่เสี่ยงต่อการไหลลงแหล่งน้ำ ปลาจะตายและน้ำเค็มจะซึมลงใต้ดิน จะทำให้ดินเค็มปลูกอะไรไม่ได้ เราไม่อยากให้หมู่บ้านเกษตรของเราเป็นหมู่บ้านอุตสาหกรรมเหมือง” มะลิกล่าวด้วยความหวัง

ปัญหาสุขภาพจากฝุ่นเกลือ

หากมีเหมืองแร่โพแทชเซียม ชาวบ้านยังกังวลว่า ในหมู่บ้านจะมีภูเขาเกลือขนาดใหญ่ขึ้น อาจเกิดจากการนำเศษเกลือจากกระบวนการคัดแยกและแต่งแร่โพแทชเซียมมาทิ้ง คนในพื้นที่จึงกังวลผลกระทบจากฝุ่นละอองเกลือที่อาจเกิดขึ้นต่อสุขภาพ

สมพร เพ็งค่ำ ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาระบบประเมินผลกระทบด้วยชุมชน ซึ่งเคยวิจัยเรื่องผลกระทบด้านสุขภาพที่อาจเกิดขึ้นจากการทำเหมืองแร่โพแทชเซียม กล่าวว่า หากคนในชุมชนสูดดมฝุ่นละอองเกลือเข้าไปในร่างกายจำนวนมาก อาจทำให้เกิดโรคในระบบทางเดินหายใจ 

“หากทำเหมืองแร่ ฝุ่นละอองที่อาจจะเกิดขึ้นในชุมชน คือ  ฝุ่นละอองที่มีการปนเปื้อนของสารโลหะหนักที่เกิดจากกระบวนการเผาไหม้ที่ไม่สมบูรณ์ในการทำเหมืองแร่ เช่น ฝุ่นละอองขนาดเล็กที่เกิดจากเชื้อเพลิงน้ำมันดีเซล” สมพรอธิบาย

“นาเกลือ” ฝันร้ายของคนสกลฯ 

ห่างจากขอบเขตพื้นที่ที่บริษัทสัญชาติจีนได้รับสิทธิ์สำรวจแร่โพแทชเซียม อำเภอวานรนิวาส จังหวัดสกลนคร ไปประมาณ 50 กิโลเมตร คือ อำเภอบ้านม่วง จังหวัดเดียวกัน ถือเป็นแหล่งทำนาเกลือแห่งใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 

การทำอุตสาหกรรมเกลือและการต้มเกลือปรากฎให้เห็นมานานว่าส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะการปล่อยน้ำเสียลงในพื้นที่และการเกิดหลุมยุบจากการสูบน้ำเค็มมาทำนาเกลือ ทำให้สมาชิกกลุ่มรักษ์อำเภอวานรนิวาสกังวลว่า หากมีเหมืองแร่โพแทชเซียม การแพร่กระจายของน้ำเกลือจะมีมากยิ่งขึ้น 

“ภูเขาเกลือเป็นข้อกังวลหลักที่คนในชุมชนไม่รู้ว่า บริษัทจะมีวิธีการป้องกันฝุ่นและน้ำเค็มจากภูเขาเกลืออย่างมีประสิทธิภาพอย่างไร” มะลิตั้งคำถาม 

“นาเกลือ” โศกนาฎกรรมชุมชนอีสาน

สันติภาพ ศิริวัฒนไพบูลย์ อาจารย์สาขาวิชาวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี เชื่อว่า กรณีนี้จะคล้ายกับพื้นที่ชุมชนบ้านหนองบ่อ อ.บรบือ จ.มหาสารคาม ที่ได้รับผลกระทบการกระจายตัวของน้ำเค็มจากการทำนาเกลือเชิงอุตสาหกรรมแห่งแรกในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เมื่อประมาณ 30 ปีที่แล้ว ส่งผลให้ระบบนิเวศ วิถีชีวิตและวัฒนธรรมของคนในพื้นที่ถูกทำลาย จนรัฐบาลต้องออกกฎหมายห้ามทำนาเกลือ เพื่อฟื้นฟูระบบนิเวศธรรมชาติและชุมชน

ขณะที่ บำเพ็ญ ไชยรักษ์ นักวิจัยอิสระ ผู้ศึกษาเรื่องเกลือในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กล่าวว่า เกลือในหมู่บ้านโนนสะแบง อำเภอบ้านม่วง เปรียบเสมือนทองคำที่เหล่านักล่าสมบัติต้องการ ทำให้หมู่บ้านนี้เป็นที่หมายตาของนายทุนและมีการเข้ามาซื้อที่ดินทำนาเกลือ คนที่เคยเป็นเจ้าของที่ดินต้องกลายเป็นคนงานรับจ้างทำนาเกลือ

“คนเหล่านั้นต้องกลายเป็นแรงงานรับจ้างรายวัน ไม่มีที่ดินทำกินเป็นของตัวเอง กลายเป็นคนจน เกิดความไม่มั่นคงในชีวิต ในที่สุด นำมาสู่การล่มสลายของชุมชน” นักวิจัยอิสระกล่าว

อย่างไรก็ตาม อภิชาติ สายะสิญจน์ ผู้จัดการบริษัทไชน่า หมิงต๋า โพแทช คอร์ปอเรชั่น (ประเทศไทย) จำกัด ชี้แจงว่า บริษัทมีแผนป้องกันฝุ่นละอองและการรั่วไหลของน้ำเกลือจากภูเขาเกลือลงสู่ดินและแหล่งน้ำธรรมชาติไว้แล้ว รวมทั้งมีมาตรการนำเกลือที่กองเป็นภูเขาเกลือกลับเข้าไปในอุโมงค์แร่เหมือนเดิม เพื่อเสริมความแข็งแรงของดินและป้องกันการแพร่กระจายของละอองเกลือและน้ำเค็มจากภูเขาเกลือ

เดินหน้าต้านเหมืองแร่โพแทช 

บริษัทไชน่า หมิงต๋า โพแทช คอร์ปอเรชั่น (ประเทศไทย) จำกัด ได้รับสิทธิ์สำรวจแร่โพแทชเซียมในจังหวัดสกลนคร ครอบคลุมพื้นที่กว่า 120,000 ไร่ ตั้งแต่ปี 2554 โดยคาดว่าชาวบ้านจาก 82 หมู่บ้านใน 6 ตำบล ของอ.วานรนิวาส จ.สกลนคร จะได้รับผลกระทบ 

นอกการจากขัดขวางการเจาะสำรวจในช่วงที่ผ่านมาแล้ว ชาวบ้านทั้ง 6 ตำบลในเขตพื้นที่สำรวจแร่ยังได้รวมตัวกันเดินขบวนประท้วงโครงการขุดสำรวจแร่อีกหลายครั้ง 

นอกจากนี้ ยังได้ยื่นหนังสือต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและบริษัทเอกชนเพื่อให้ยุติโครงการ และจัดเวทีเสวนาพูดคุยเรื่องผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมจากการทำเหมือง รวมถึงจัดกิจกรรมแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ต่อต้านการทำเหมืองแร่ทั้งในพื้นที่และในสังคมออนไลน์ 

ล่าสุดเมื่อวันที่ 27 พฤษาคม พ.ศ. 2561 กลุ่มรักษ์อำเภอวานรนิวาส จัดกิจกรรมเดินรณรงค์ (Wanon Walk) ระยะทางกว่า 90 กิโลเมตร ผ่าน 4 อำเภอ เป็นเวลา 5 วัน โดยมีเป้าหมายคือตัวอำเภอเมืองสกลนคร เพื่อบอกเล่าความกัลวลเรื่องผลกระทบจากการทำเหมืองแร่โพแทชให้ผู้คนระหว่างทางได้รับรู้ และเชิญชวนให้ออกมาร่วมต่อต้านการทำเหมืองแร่ในพื้นที่ 

แต่การคัดค้านของกลุ่มรักษ์วานรนิวาสกลับทำให้แกนนำ 9 คน ถูกฟ้องร้องคดีอาญาและคดีแพ่ง เรียกค่าเสียหายรวม 3.6 ล้านบาท ต่อมา ศาลจังหวัดสว่างแดนดิน (31 กรกฎาคม พ.ศ.2562) ได้อ่านคำพิพากษาในคดีแรก ซึ่งเป็นคดีแพ่งให้ชาวบ้านทั้ง 9 คน ชดใช้ค่าเสียหายให้แก่บริษัทฯ เป็นจำนวนเงิน 1,544,964.17 บาท พร้อมทั้งให้จ่ายค่าทนายความแก่ฝ่ายโจทย์อีกจำนวน 10,000 บาท กรณีชาววานรนิวาสหลายสิบคนชุมนุมขัดขวางการขนอุปกรณ์ขุดเจาะสำรวจแร่โพแทชหลุมที่ 4 บริเวณบ้านน้อยหลักเมือง ต.วานรนิวาส อ.วานรนิวาส จ.สกลนคร เมื่อเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2561 จนทำให้บริษัทเสียโอกาสในการดำเนินโครงการฯ แต่ชาวบ้านขออุทธรณ์คดี

รอติดตามตอนที่ 2 

อ่านเรื่องที่เกี่ยวข้องต่อได้ที่

“ย่าน”ความกลัวผลกระทบจากเหมืองแร่โพแทช สกลนคร

อิหยังที่มันอยู่ใต้ดินกะให้มันอยู่ใต้ดิน

หญิงแถวหน้ากับการต้านเหมืองโพแทชวานรฯ จ.สกลนคร

สู้คดีอย่างไรให้ชนะ – กลุ่มค้านเหมืองโพแทช สกลฯ ถอดบทเรียนการต่อสู้จากนาหนองบง