การออกมาต่อต้านเหมืองแร่โพแทสเซียมของกลุ่มรักษ์อำเภอวานรนิวาส จังหวัดสกลนคร ตั้งแต่ปี 2558 แล้วแกนนำถูกฟ้องร้องถึง 20 คดี ทั้งคดีอาญาและคดีแพ่งเรียกค่าเสียหายกว่า 3.6 ล้านบาท ล่าสุดศาลจังหวัดสว่างแดนดิน จังหวัดสกลนครตัดสินให้ชาวบ้านชดใช้ค่าเสียหายให้กับบริษัทเอกชนเป็นเงิน 1.5 ล้านบาท พร้อมค่าทนายความ 

คดีนี้ไม่ใช่คดีแรกที่ชาวบ้านผู้ลุกออกมาปกป้องสิทธิชุมชนจากการพัฒนาจากโครงการของรัฐหรือเอกชนต้องเผชิญ แต่มีคดีตัวอย่างให้เห็นมาแล้วนับครั้งไม่ถ้วน 

สักกพล ไชยแสงราช ที่ปรึกษาด้านกฎหมายกลุ่มรักษ์อำเภอวานรนิวาส กล่าวว่า คดีหลักๆ ที่บริษัทฟ้องร้องชาวบ้านมีอยู่ 2 คดี คือ คดีร่วมกันปิดกั้นการเจาะสำรวจ คดีนี้บริษัทฟ้องเอาผิดทางอาญา รวมถึงฟ้องเรียกค่าเสียจากแกนนำผู้คัดค้าน 9 คน รวมเป็นเงิน 34 ล้านบาท ส่วนอีกคดีบริษัทฟ้องคดีอาญาด้วยข้อหาหมิ่นประมาทและการกระทำผิดตาม พร.บ..คอมพิวเตอร์ 2560 ต่อผู้แสดงความคิดเห็นผ่านสังคมออนไลน์ 

“ในเชิงกฎหมาย เป็นการใช้สิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชน เพื่อปกป้องทรัพยากร วิถีชีวิต ที่ประชาชนสามารถทำได้” ที่ปรึกษาด้านกฎหมายฯ กล่าวขณะเดียวกัน อภิชาติ สายะสิญจน์ ผู้จัดการบริษัทไชน่า หมิงต๋า โพแทช คอร์ปอเรชั่น (ประเทศไทย) แสดงจุดยืนว่า บริษัทถูกขัดขวางด้วยวิธีที่ผิดกฎหมายและก่อให้เกิดความเสียหายต่อการลงทุน ถ้าไม่ใช้กฎหมาย ก็ไม่มีใครปกป้องบริษัทได้ เราจำเป็นต้องดำเนินคดี เพราะการขัดขวางการขุดเจาะสำรวจแร่ 1 หลุม บริษัทต้องสูญเงินประมาณ 5 ล้านกว่าบาท

ต้องการทางเลือก-ทางออก

กว่า 5 ปีในการคัดค้านโครงการเหมืองแร่โพแทสเซียมของกลุ่มรักษ์วานรนิวาส แกนนำได้ขอข้อมูลจากอุตสาหกรรมจังหวัดสกลนครถึง 4 ครั้ง แต่ถูกปฏิเสธโดย มะลิ แสนบุญศิริ ชาวบ้านหินเหิบหินกอง หนึ่งในสมาชิกกลุ่มรักษ์อำเภอวานรนิวาส เล่าว่า ชาวบ้านทราบว่าจะมีโครงการสำรวจแร่และทำเหมืองแร่โพแทสเซียมด้วยตัวเอง แต่หน่วยงานรัฐและบริษัทเอกชนไม่เคยชี้แจงรายละเอียด 

“เราไม่อยากได้อุตสาหกรรม ไม่อยากให้พื้นที่ที่อุดมสมบูรณ์ไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติกลายเป็นโรงงานอุตสาหกรรม ถ้ารัฐบาลต้องการพัฒนาคุณภาพชีวิตคนในพื้นที่ ควรมีนโยบายให้ราคาผลผลิตทางการเกษตรดีขึ้น หาตลาดเพื่อขายสินค้า มีนโยบายพัฒนาระบบชลประทานเพื่อใช้ในการเกษตร การพัฒนาแบบนี้เหมาะสมและไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม” หนึ่งในสมาชิกกลุ่มรักษ์วานรนิวาสกล่าว 

อีกเหตุผลหนึ่งที่ทำให้การคัดค้านโครงการมีมาอย่างต่อเนื่องตลอด 5 ปีที่ผ่านมา คือ การตั้งคำถามต่อโครงการที่อาจไม่ชอบด้วยกฎหมาย โดยเ​ฉพาะการไม่ได้รับข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับโครงการอย่างเพียงพอต่อการตัดสินใจของคนในชุมชนและโครงการอยู่ใกล้แหล่งน้ำและป่าชุมชนหรือไม่

อดิศักดิ์ ตุ้มอ่อน สมาชิกกลุ่มนิเวศน์วัฒนธรรม กล่าวว่า รัฐบาลและบริษัทเอกชนควรเปิดเผยข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้องรอบด้านเกี่ยวกับโครงการให้คนในพื้นที่รับรู้เพื่อให้คนในพื้นที่พิจารณาว่า การทำโครงการจะสร้างผลดีหรือผลเสียต่อพวกเขาอย่างไร 

“นายทุนมักชี้แจงแต่ข้อมูลด้านดี เช่น ถ้ามีเหมืองคนในหมู่บ้านจะมีงานทำ สร้างรายได้ให้กับ ชุมชน เกษตรกรจะได้ซื้อปุ๋ยราคาถูก วิธีนี้ไม่ใช่การชี้แจงข้อมูล แต่เป็นโฆษณาชวนเชื่อ บริษัทเอกชนควรชี้แจงข้อเสียที่อาจจะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชนด้วย” อดิศักดิ์กล่าว 

ารให้สิทธิ์กับบริษัทต่างชาติเข้ามาสำรวจและลงทุนในประเทศไทยไม่ใช่เรื่องใหม่ ไชยณรงค์ เศรษฐเชื้อ อาจารย์สาขาวิชาการพัฒนาชุมชน คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ม.มหาสารคาม เห็นว่า การให้สิทธิ์ครั้งนี้ทำเพื่อประโยชน์ทางเศรษฐกิจอย่างเดียว แต่ไม่คำนึงถึงผลกระทบที่อาจจจะเกิดขึ้นกับคนพื้นที่ 

“การลงทุนครั้งนี้มีการลดขั้นตอนของกฎหมายเพื่อเอื้อประโยชน์ให้บริษัททำโครงการได้เร็วและสะดวกกว่าเดิม ถือว่า เป็นปรากฏการณ์ที่รัฐเปลี่ยนทรัพยากรให้เป็นสินค้า โดยกำหนดหินเกลือ กลายเป็นแร่ตามกฎหมายแร่ทำให้รัฐสามารถใช้อำนาจเข้าบริหารจัดการหินเกลือได้อย่างอิสระและกีดกัดไม่ให้คนในท้องถิ่นได้ใช้ประโยชน์จากทรัพยากร” นักวิชาการผู้นี้กล่าว 

เลิศศักดิ์ คำคงศักดิ์ ผู้ประสานงานกลุ่มนิเวศน์วัฒนธรรม หนึ่งในนักพัฒนาเอกชนที่ติดตามโครงการเหมืองแร่โพแทชเซียมในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ตั้งข้อสังเกตว่า พร..บ.แร่ 2560 มีความผิดปกติ โดยพบว่า ช่วงที่ร่างกฎหมายฉบับนี้กำหนดเวลาก่อนการอนุมัติโครงการประมาณ 310 วัน แต่เปลี่ยนมาเป็น 100-150 วันเท่านั้น รวมถึงให้อำนาจข้าราชการประจำที่ถูกแต่งตั้งมาในชื่อ “คณะกรรมการนโยบายบริหารจัดการแร่แห่งชาติ (คนร.)” เป็นผู้อนุมัติใบอนุญาตสำรวจและทำเหมืองแร่แต่เพียงผู้เดียว 

ยังไม่มีเหมือง อย่ากังวล

อย่างไรก็ตาม ธัญญพัฒน์ หวังวงศ์สิริ ผู้จัดการบริษัทไชน่า หมิงต๋า โพแทช (ประเทศไทย) จำกัด ชี้แจงว่า บริษัทชี้แจงกับคนที่คัดค้านว่า อย่ากังวลถึงผลกระทบจากการทำเหมือง เพราะยังอยู่ในขั้นตอนสำรวจ ยังไม่ถึงขั้นตอนของการทำเหมือง บริษัทต้องสำรวจเพื่อนำแร่มาตรวจสอบว่า มีคุณภาพจริงตามข้อมูลทางธรณีวิทยาระบุหรือไม่ เพื่อไม่ให้การทำธุรกิจขนาดใหญ่และใช้เงินทุนมหาศาลขาดทุน 

“อย่าเพิ่งกังวลถึงผลกระทบ บริษัทยังไม่ทำเหมืองใต้ดิน การจะทำเหมืองได้ต้องผ่านขั้นตอนการเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นของคนในพื้นที่ตามกฎหมายก่อน เพราะนี่คือการลงทุนขนาดใหญ่หลายหมื่นล้านบาทและการร่วมมือระหว่างประเทศ เรื่องความปลอยภัยและมาตรการป้องกันผลกระทบ ต้องให้ความสำคัญเป็นอันดับแรก” ผู้จัดการบริษัทไชน่าหมิงต๋าฯ กล่าว

ที่มาเหมืองโพแทชไทย-จีน วานรนิวาส

เมื่อปี 2553 กระทรวงทรัพยากรจีนประกาศว่า ปริมาณสำรองแร่ในประเทศน้อยลง เพราะแหล่งผลิตแร่โพแทชลดลง จึงจำเป็นต้องนำเข้าแร่โพแทสเซียมคลอไรด์เพื่อนำไปผลิตปุ๋ยเคมีสำหรับภาคเกษตรจำนวนมาก 

แต่ละปีจีนต้องการแร่โพแทสเซียมมากถึง 3 ล้านตันและต้องนำเข้าจากประเทศแคนาดา เยอรมันนี รัสเซีย และสหรัฐอเมริกา แต่การนำเข้าแร่ชนิดนี้จากตะวันตกมีราคาสูง จีนจึงต้องแสวงหาแหล่งผลิตแห่งใหม่ 

ขณะเดียวกันเมื่อปี 2516 นักธรณีวิทยาจากกรมทรัพยากรธรณีวิทยาพบว่า ภาคตะวันออกเฉียงเหนือกว่า 55,000 ตารางกิโลเมตร ครอบคลุมพื้นที่ 14 จังหวัดเป็นแหล่งที่มีแร่โพแทชอยู่จำนวนมาก 

สำหรับประเทศไทยยังไม่สามารถผลิตปุ๋ยเคมีจากแร่โพแทชเซียมเองได้ ต้องพึ่งพาการนำเข้าจากต่างประเทศเพื่อนำมาผลิตปุ๋ยเคมีประมาณปีละ 700,000 ตัน โดยนำเข้าจากประเทศแคนาดา รองลงมา คือ เบลารุสและเยอรมนี หากไทยสามารถผลิตแร่โพแทชได้เอง จะช่วยลดการนำเข้าปีละกว่า 70,000 ต้น คิดเป็นมูลค่ากว่า 10,000 ล้านบาทต่อปี

สอดคล้องกับข้อมูลจากสำนักงานอุตสาหกรรมพื้นฐาน กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ กระทรวงอุตสาหกรรม ที่ระบุว่า มีปริมาณสำรองแร่โพแทสเซียมใต้ดินในพื้นที่แห่งนี้ประมาณ 407,000 ล้านตัน คาดว่ามูลค่าของแร่โพแทสเซียมอาจสูงถึง 3.8 พันล้านล้านบาท โดยแร่โพแทสเซียมที่พบแบ่งออกเป็น 2 ชนิด คือ แร่คาร์นัลไลต์ (Carnallite) และ แร่ซิลไวต์ (Sylvite) ทั้ง 2 ชนิดเป็นแร่ที่มีปริมาณสารโพแทสเซียม (K) ที่เป็นส่วนผสมในอุตสาหกรรมการผลิตปุ๋ยเคมีและอุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์

“แร่โพแทชที่มีปริมาณโพแทสเซียมสูง คือ ชนิดซิลไวต์ มีใต้ดินจังหวัดอุดรธานีมากที่สุด ส่วนชนิดแร่คาร์นัลไลต์ แร่ที่มีโพแทสเซียมน้อยและคุณภาพต่ำจะอยู่บริเวณใต้ดินจังหวัดสกลนครและชัยภูมิ” สันติภาพ ศิริวัฒนไพบูลย์ อาจารย์สาขาวิชาวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี ผู้ติดตามนโยบายการทำเหมืองแร่โพแทชในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กล่าว

จุดเริ่มโครงการโพแทช อ.วานรนิวาส

โครงการนี้เริ่มต้นตั้งแต่ปี 2540 เมื่อ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น เดินทางเยือนจีนและทำข้อตกลงบันทึกความเข้าใจ (MOU) การลงทุนทำเหมืองแร่โพแทสเซียมในภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่ถือเป็นความร่วมมือไทย-จีน ครอบคลุมพื้นที่ 14 จังหวัด หนึ่งในนั้นคือ พื้นที่อำเภอวานรนิวาส จังหวัดสกลนคร

การทำ MOU ครั้งนั้นได้เปิดโอกาสในนักลงทุนจีนยื่นขออนุญาตเจาะสำรวจแร่โพแทสเซียมอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้เพื่อยืนยันว่า พื้นที่เหล่านั้นมีแร่คุณภาพจริงและเพื่อให้คุ้มค่าต่อการลงทุน 

กระทั่งปี 2559 บริษัทได้เจาะสำรวจแร่ โดยมีแผนเจาะสำรวจหาปริมาณและนำมาตรวจวัดคุณภาพประมาณ 60 หลุม ใช้พื้นที่หลุมละ 1 ไร่ ห่างกันหลุมละ 2 กิโลเมตร ก่อนการเจาะสำรวจบริษัทต้องขออนุญาตเจ้าของพื้นที่ พร้อมให้เงินชดเชยการใช้พื้นที่และต้องปรับพื้นที่ขุดเจาะให้อยู่ในสภาพเดิมหลังการเจาะ 

โดยบริษัทได้สำรวจแร่สำเร็จไปแล้ว 2 หลุม แต่หลังจากนั้นการเจาะสำรวจแร่ก็ถูกคนในพื้นที่ขัดขวางอย่างต่อเนื่อง กระทั่งบริษัทเอกชนฟ้องร้องชาวบ้านเพื่อเรียกค่าเสียหายจากการลงทุน 

หมายเหตุ* *แก้ไขตัวเลขค่าเสียหายที่บริษัทฟ้องร้องชาวบ้าน จาก 34 ล้านบาทเป็น 3.6 ล้านบาท

 

อิหยังที่มันอยู่ใต้ดินกะให้มันอยู่ใต้ดิน

หญิงแถวหน้ากับการต้านเหมืองโพแทชวานรฯ จ.สกลนคร

 

สู้คดีอย่างไรให้ชนะ – กลุ่มค้านเหมืองโพแทช สกลฯ ถอดบทเรียนการต่อสู้จากนาหนองบง

image_pdfimage_print