โดย ภาณุพงศ์ ธงศรี

ปีนี้ฝนฟ้าตกไม่เป็นไปตามฤดูกาลเช่นเคย ต้นกล้าของชาวนาในภาคอีสานก็พลอยได้รับความเสียหายไปด้วย หลายชุมชนจึงทำพิธีกรรมขอฝนตามความเชื่อดั้งเดิม ทั้งการแห่นางแมว การเซี่ยงข้อง การจุดบั้งไฟ การหาแม่แล้ง จนสร้างความฮือฮาในสังคมออนไลน์ 

พิธีกรรมนี้คนที่ไม่เข้าใจความเชื่อและความหมายก็หาว่างมงาย แต่พิธีกรรมนี้สำหรับบางคนคือกิจกรรมเพื่อจรรโลงใจ หล่อเลี้ยงความหวังในวิกฤตภัยแล้งช่วงเพาะปลูก วิธีนี้ไม่ใช่การต่อสู้หรือฝืนธรรมชาติ แต่เป็นการอ้อนวอน ขอร้องต่อธรรมชาติ ซึ่งเป็นการอยู่ร่วมกับธรรมชาตินั่นเอง

“พิธีกรรมเต้านางด้ง” เป็นหนึ่งในหลายพิธีกรรมที่ใช้ประกอบการอ้อนวอนขอฝน พบเห็นทั่วไปในภาคอีสาน 

พิธีกรรมขอฝนนี้ มีตำนานของพญาคันคาก ต่อสู้กับพญาแถน ตำนานนี้เป็นบ่อเกิดของประเพณีบุญบั้งไฟ ประเพณีขอฝนยังมีการตั้งเต้านางด้ง เชิญผีหญิงอันเป็นตัวแทนของความอุดมสมบูรณ์ลงมาปัดเป่าความแห้งแล้ง 

คำว่า “นางด้ง” หมายถึง ผีผู้หญิงที่สถิตใน “กระด้ง” (ภาชนะไม้ไผ่สานคล้ายตะกร้ามีทั้งขนาดเล็ก – ใหญ่) นัยยะของการเลือกใช้อุปกรณ์นี้เพราะ กระด้ง เป็นหนึ่งในอุปกรณ์ทำมาหากินและใช้ในครัวเรือนของคนอีสาน เช่น ใช้ใน การฝัดข้าว แยกข้าวเปลือกและข้าวสารออกจากกัน) การประกอบพิธีมีนัยยะถึงการมีข้าวในการบริโภค การฝัดข้าวเปลือก มีความหมายคล้ายกับการแยกความไม่ดีให้ออกไปจากชุมชน

พิธีการเต้านางด้ง ที่บ้านผือ ตำบลนาเลิง อำเภอม่วงสามสิบ อุบลราชธานี ถ่ายเมื่อปี 2558 โดย นิติศักดิ์ แก้วหล่อ

ประเพณีการเต้านางด้ง (ดูภาพ) จะใช้ไม้คาน 2 แท่งนำมาขัดกัน แล้วมัดตรงกลาง ไม้คานทั้งสองจะแบ่งเป็นไม้สำหรับฤดูแล้ง เรียกว่าหลักแล้ง และไม้สำหรับฤดูฝน เรียกว่าหลักฝน คนจับจะเป็นผู้หญิง 2 คน คนหนึ่งเป็นพี่สาวคนโต หรือน้องสาวคนสุดท้อง อีกคนหนึ่งเป็นผู้หญิงที่เคยแต่งงานและมีลูก เรียกว่าแม่ฮ้าง (หย่ากับสามี) หรือแม่หม้าย (สามีตาย) 

เหตุผลที่ใช้ “ไม้คาน” เพราะเป็นอุปกรณ์ที่ใช้ในกระบวนขนย้ายข้าว เช่น การหาบข้าว หาบต้นกล้า นัยยะสำคัญของอุปกรณ์ชิ้นนี้ คือ ความอุดมสมบูรณ์ของข้าวที่จะได้กินในแต่ละปี หากไม้คานไม่ได้หาบข้าวเสียแล้วชาวบ้านก็ต้องอดตาย 

คำกล่าวในพิธีเต้านางด้ง (บทความนี้จะเรียกว่า บทเซิ้ง) ล้วนมีนัยยะการขอให้ตกเพื่อให้ข้าวในทุ่งนาเจริญเติบโต ดังเช่นตัวอย่างคำกล่าวต่อไปนี้

เต้าอีแม่นางด้งโล่งโค้งเสมอดั่งกงเกวียน     มาเวียนนี้ได้สองสามฮอบมาคอบนี้ได้สองสามที

ตักตุลี่แมงมี่ตุลาพาสาวหลงเข้าดงกำแมด     มาสู้แดดหรือมาสู้ฝนมากำฮนนำแม่เขียดไต้

เฮ็ดหยังซักไซ้นั้นเพิ่นว่าเขียดเหลือง     มีแต่เสียงนั้นเพิ่นว่าเขียดจ่อง

ลอยอ่องล่องนั้นแม่นเขียดจ่านา     หลังซาซาแม่นเขียดคันคาก

(สวิง  บุญเจิม, 2555 : 1126)

นัยยะทางภาษาที่ปรากฏในคำกล่าวของพิธีเต้านางด้ง เชื่อมโยงความคิดและโลกทัศน์เกี่ยวกับความคิดเรื่อง “แถน” (ผีที่คนอีสานเคารพนับถือ)  เช่น ข้อความว่า พาสาวหลงเข้าดงกำแมด ข้อความนี้ชี้ให้เห็นพลังของแม่ รวมถึงอิทธิพลของหญิงเป็นใหญ่ในวัฒนธรรมแถน ซึ่งสาวที่พลัดหลงเข้าไปในดงกำแมด (ไม้กะแมด) ที่มีความสัมพันธ์กับแสงแดดและความแห้งแล้ง เพราะไม้กะแมดมีความทนทานต่อความแห้งแล้ง  

ส่วนข้อความว่า มากำฮนนำแม่เขียดไต้ ชี้ให้เห็นถึงความกังวลของคนเซิ้ง พรรณนาเชิงที่ว่าความกังวล (กำฮน) กับเขียดไต้จะไม่มีในท้องไร่ท้องนาเพราะตายหมด ซึ่งเขียดที่อาศัยอยู่ในโลกแห่งนี้ จึงต้องต่อรองกับพระยาแถนเหมือนในนิทาน “พญาคันคาก” โลกทัศน์ดังกล่าว ชี้ให้เห็นการต่อรองและขอร้อง

ให้ฝนตกตามฤดูกาล นอกจากจะกล่าวถึงเขียดที่อาศัยในโลกมนุษย์แล้ว ยังกล่าวถึงบรรดาเขียดบริวารอีกด้วย เช่น เขียดเหลือง เขียดจ่อง เขียดจ่านา และเขียดคันคาก มีความสำคัญในการต่อรองเรื่องฝนฟ้ากับพระยาแถน

ผู้หญิงตำข้าวโดยใช้ครกกระเดื่องโบราณ ข้างหลังเป็นเกวียน บ้านหนองตื่น ตำบลเขวา อำเภอเมือง จังหวัดมหาสารคาม ประเทศไทย พ.ศ. 2507 ภาพถ่ายโดย Keyes, E. Jane

ในบทเซิ้งวรรคต่อมา ได้กล่าวถึงเครื่องมือทำมาหากิน มีความสำคัญต่อการประกอบอาชีพ ชี้ให้แถนทราบถึงความสำคัญของฝน ที่มีอิทธิพลต่อชีวิตมนุษย์และบรรดาสรรพสัตว์ที่ได้กล่าวไปข้างต้น 

เชิญทั้งครกไม้บากมาสูญด้งเยอ     สากไม้แดงมาสูญด้งเยอ

เชิญทั้งแอ่งข้าวม่ามาสูญด้งเยอ     ด้งน้อยน้อยฮ่อนข้าวกินขาว

(สวิง  บุญเจิม, 2555 : 1126)

การเชิญผีที่สถิตอยู่ในเครื่องมือทำมาหากิน สัมพันธ์กับคติความเชื่อโดยทั่วไปของกลุ่มชาติพันธุ์ไทย การเคารพผีที่สถิตในอุปกรณ์ทำมาหากินต่างๆ ยังมีในกลุ่มไททรงดำ ที่ยังเคารพผีบ้านผีเรือน และการเล่นเต้านางด้งในภาคอีสานนี้ยังสะท้อนความเชื่อเรื่องผีที่สถิตในกระด้งอีกด้วย ครกไม้บาก หาใช่ครกตำพริก

แต่เป็นครกตำข้าวที่ชาวอีสานเรียกว่า ครกมอง สะท้อนให้เห็นการเลือกไม้ที่นำมาทำครกมอง ที่มีคุณสมบัติพิเศษ คือ เป็นโกน (รูกลวง) ตรงกลางของต้นไม้เวลานำมาทำครกมอง จะเจาะรูตรงกลางได้ง่าย

ส่วน สากไม้แดง ก็หมายถึง สากครกมอง ที่ใช้ต่อจากตัวครกเป็นคันยาวใช้ในการตำ ไม้แดงมีคุณสมบัติพิเศษ คือ ปลวกไม่เจาะแข็งแรงทนทานรับแรงกระแทกได้ดี จึงนำมาใช้ทำสากครกมอง เห็นได้ว่า ภูมิปัญญาของคนอีสานสะท้อนผ่านตัวบทการเซิ้งนางด้ง ในการเลือกใช้วัสดุที่มีคุณภาพมากที่สุดในวัฒนธรรมข้าว

ต่อจากอุปกรณ์ในการตำข้าว แล้วขอเล่าถึงคุณสมบัติของ “กระด้ง” ด้งน้อยน้อยฮ่อนข้าวกินขาว ซึ่งเป็นกรรมวิธีหลังจากการตำข้าวในครกมอง โดยมีสาว ๆ มานั่งตำข้าว นัยของสาวตำข้าวนี้มีความหมายทั้งโดยตรงและโดยนัย โดยตรงเป็นกิจวัตรของลูกผู้หญิงในอดีตที่ต้องนั่งตำข้าว เพื่อใช้เป็นอาหารในครอบครัว โดยนัยนั้นเป็นการสะท้อนภาพหญิงผู้ให้กำเนิดข้าว หรือพระแม่โพสพ 

อีสาวสาวกะให้มานั่งอ้อม     เขาควายพร้อมเอามาเฮ็ดหวี

เหล้าไหดีเอามาต้อนฮับไถ่     เหล้าไหใหญ่เอามาต้อนฮับแถน

แขนลงมาแต่เทิงวีด้ง     เต้ยเยอด้งเปอเคอเยอด้ง

(สวิง  บุญเจิม, 2555 : 1126)

นัยยะของเพศหญิงมีความเกี่ยวข้องกับการกำเนิดมนุษย์ และความสำคัญในการให้กำเนิด เช่น ในตำนานน้ำเต้าปุง การเชิญต่อมาจึงเป็นการเชิญลงมาจากเมืองแถน เพื่อความอุดมสมบูรณ์ของโลกมนุษย์ เขาควายพร้อมเอาเฮ็ดหวี  ซึ่งแสดงให้เห็นถึงคุณค่าของ “หวี” นับแต่อดีตกระทั่งปัจจุบัน หวีเขาควายยังเป็นของมีค่า เหมาะกับการหวีผมมากที่สุด เพราะไม่มีไฟฟ้าสถิต และผมไม่แตกปลาย ในอดีตผู้หญิงที่มีฐานะดี จำเป็นต้องมีหวีเขาควายเป็นสมบัติของตนนอกจากนี้ยังใช้ “เหล้า” เป็นเครื่องติดต่อกับแถน และผีนางด้งให้มาสถิตตามคำอ้อนวอน เหล้าไหดีเอามาต้อนฮับไถ่ บรรดาเหล้าเหล่านี้ มีคุณสมบัติที่ดี คือ ความเมา

ส่วน เหล้าไหใหญ่เอามาต้อนฮับแถน เป็นการแสดงให้เห็นอำนาจของแถนว่า ต้องยิ่งใหญ่ ใช้เลี้ยงต้อนรับให้เหมาะสมกับฐานะในการลงมาแก้ปัญหาฝนแล้งให้กับมนุษย์ เหล้าไหใหญ่นี้ปรากฏทั้งในวรรณกรรม และตำนานหลายเรื่องที่เด่นชัด คือ ตำนานท้าวฮุ่งหรือเจือง และเรื่องเล่าของทุ่งไหหิน ของสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว 

มาปิ่นวัดปิ่นเวียนเดียวนี้     ฝนบ่ตกข้าวไฮ่ตายคา

ฝนบ่มาข้าวนาตายแห้ง     ฝูงหมู่แฮ้งลงซากลงโคลง

ดินเป็นผงของตายเหมิดแล้ว     น้ำเต้าแก้วไหลหลั่งลงมา

มานำกูให้เหมิดให้เสี้ยง     สาวไทเวียงเต้าแม่นางด้ง

เต้นเยอด้งเปอเคอเยอด้ง     มาสูมาให้สูมาเฮ็วเฮ่ง

มาเป่งน้ำเดือนเก้าเข้านา     เทลงมาฝนเทลงมา

(สวิง  บุญเจิม, 2555 : 1126)

ในข้อความ มาปิ่นวัดปิ่นเวียน สื่อถึงการเรียกลม ปิ่นวัด หมายถึง ตะหวัดด้วยความรวดเร็ว พัดพาฝนฟ้าให้มาถึงพื้นที่อันแห้งแล้ง ส่วน ปิ่นเวียน หมายถึง ลมหัวกุด มีนัยสำคัญถึงการเรียกผี ชาวอีสานเรียกว่า ลมผีหัวกุด หากมองในทางวิทยาศาสตร์ลมชนิดนี้เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงทางอากาศที่ปะทะกัน ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของกระแสลม เช่นเดียวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศที่ทำให้เกิดฝน หากพระยาแถนจะลงมาด้านล่าง ต้องอาศัย น้ำเต้าแก้ว ที่กำลังไหลหลั่งออกจากน้ำเต้า คือ จุดกำเนิดของมนุษย์เพื่อความอุดมสมบูรณ์ มาเป่งน้ำเดือนเก้าเข้านา เป่งน้ำเดือนเก้า มีนัยยะถึงความอุดมสมบูรณ์
และการดูแลข้าวที่กำลังจะเริ่มตั้งท้องในเดือนสิบ หากยังไม่มีน้ำเข้านาชาวนาย่อมไม่มีข้าวกินอย่างแน่นอน เดือนเก้านี้จึงมีนัยถึงความอุดมสมบูรณ์ของข้าวปลาอาหาร สัมพันธ์กับ บุญข้าวสาก ซึ่งเป็นประเพณีเพื่อการอุทิสส่วนกุศลหาญาติพี่น้อง เลี้ยงตาแฮก และสู่ขวัญข้าวที่กำลังตั้งท้อง

การเลี้ยงตาแฮก ในช่วงเดือนกลางเดือนสิบจะใช้เป็นตัวไก่ต้ม ข้าวน้ำ หมากพลู บุหรี่ มีเสาไม้ไผ่ที่เหลาเป็นช่อคล้ายฉัตร ใช้สามเสา และมีไม้ที่ทำฐานวางเครื่องไหว้ เป็นประเพณีและวัฒนธรรมของชาติพันธ์ุเยอบ้านปราสาทเยอ อำเภอไพรบึง จังหวัดศรีสะเกษ ภาพถ่ายจาก suratsomsee.blogspot.com

ประเพณีการเต้านางด้ง เป็นวิถีการปฏิบัติเพื่อต่อรองกับธรรมชาติ ที่ให้ผลเป็นความแห้งแล้ง โดยใช้บรรดากบ เขียด คันคาก เป็นตัวต่อรองกับแถน ใช้นางด้งสื่อสารกับสวรรค์ชั้นฟ้า ให้ข้าวปลาอาหารอุดมสมบูรณ์ วิถีปฏิบัตินี้จะเรียกว่างมงายได้หรือไม่เป็นเรื่องส่วนบุคคล แต่สิ่งสำคัญ คือ ผู้คนในอดีตไม่ได้ต่อสู้กับธรรมชาติผ่านการทำลาย แต่เรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกันภายใต้ทรัพยากรธรรมชาติที่เป็นไปอย่างปกติ ความผาสุกไม่ได้เกิดจากทุนนิยม แต่เกิดจากความร่วมแรงร่วมใจกันภายใต้บริบทของความเชื่อสู่วิถีปฏิบัติในท้องถิ่น

เอกสารอ้างอิง

สวิง บุญเจิม. มรดกอีสานมรดกโลก. กรุงเทพฯ : มรดกอีสาน, 2555.

image_pdfimage_print