โดย ประทีป สุธาทองไทย

ตั้งแต่เริ่มมอง “อีสาน” เป็นความรู้ หัวเรื่องหนึ่งที่ถูกเขียนขึ้นด้วยจุดประสงค์ต่างๆ ผมจึงเริ่มค้นคว้าเอกสารและหนังสือที่เกี่ยวกับเรื่องอีสาน ที่เป็นการหาลำดับหรืออายุของงานเขียน จากสำนักวิทยบริการ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ที่ถือว่า เป็นแหล่งสืบค้นข้อมูลเกี่ยวกับอีสานที่สำคัญแห่งหนึ่ง ซึ่งอำนวยให้การชอบค้นแบบไม่มีขอบเขตที่แน่นอนของผมเป็นเรื่องสนุก คือ การค้นจากบรรณานุกรมอ้างอิงในหนังสือเล่มหนึ่งย้อนกลับไปเรื่อย ๆ ทำให้พบรายชื่อเอกสารและหนังสือเก่า ๆ ของผู้เขียนที่ไม่คุ้นชื่อ และทำให้เห็นว่า ทศวรรษ 2520 เป็นยุคเฟื่องฟูของการเขียนประวัติศาสตร์อีสาน (1)  

ความสนุกของการค้นหนังสือเก่าในห้องสมุด คือ การได้เจอหนังสือเล่มอื่น ๆ ในชั้นที่กำลังหาโดยบังเอิญ หรือหนังสือที่พบระหว่างทาง (และหยุดดูจนลืมไปหาเล่มที่ต้องการ) ที่น่าสนใจทั้งในแง่ประเด็นความรู้ ชื่อหนังสือ โดยเฉพาะปกหนังสือที่ผมให้ความสนใจเป็นพิเศษ เช่น รูปบนปกหนังสือที่มีชื่อว่า “เสียงอีสาน” ที่ไม่ใช่ชื่อวงดนตรีที่ใคร ๆ ต่างรู้จัก แต่เป็นภาพถ่ายชายแก่กับหญิงสาวและเด็กน้อยนั่งอยู่กลางทุ่งนาเวิ้งว้างและดูแห้งแล้ง ซึ่งสะท้อนสถานการณ์ของปัญหาในภาคอีสานในปลาย  

ทศวรรษ 2520 และดูเหมือนเป็นภาพจำที่มีต่อคนจำนวนมากในเรื่องความแห้งแล้งของอีสาน และการล่มสลายของวิถีชุมชน ที่ถูกเน้นย้ำจากสื่ออื่น ๆ ทั้งบทเพลงหรือภาพยนตร์ ที่พูดถึงปัญหาและเรื่องราวของคนอีสานที่เดินทางไปขายแรงงานในเมืองเป็นจำนวนมากตลอดระยะเวลาหลายสิบปีที่ผ่านมา

ปกหนังสือจำนวน 12 ปก ในบทความประกอบภาพชิ้นนี้ เป็นหนังสือจากสำนักวิทยบริการ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม และสมบัติส่วนตัวที่ซื้อจากเว็บและเพจขายหนังสือเก่า ซึ่งส่วนหนึ่งผมได้เลือกไปทำงานจิตรกรรมในนิทรรศการ “ประเทศเล็กที่สมบูรณ์” (พ.ศ. 2561) เพื่อชวนให้มองร่องรอยที่รัฐพยายามทำให้เราคิดกับจำภาพบางอย่างผ่านสิ่งพิมพ์หลายประเภท ที่สามารถแพร่กระจายไปในวงกว้าง ในสมัยที่ประเทศไทยยังต้องวางแผนแก้ปัญหาเรื่องประชาชนอ่านหนังสือไม่ออกเขียนไม่ได้ และแบบเรียนเพื่อการศึกษา ตลอดจนหนังสือเพื่ออ่านประกอบมีจำนวนไม่เพียงพอ ทำให้การพิมพ์หนังสือเกี่ยวกับความรู้เรื่องต่างๆ เป็นอนุสรณ์ในงานฌาปนกิจศพช่วยขจัดปัญหาเรื่องการขาดวัสดุเพื่อการอ่านออกเขียนได้ให้เบาลงได้บ้าง (2) กับสิ่งพิมพ์ที่สนับสนุนการท่องเที่ยวในประเทศ ซึ่งช่วยทำให้คนไทยในภูมิภาคอื่น ๆ ได้รู้จักและเกิดความคิดเห็นบางอย่างเกี่ยวกับอีสานจากสื่อเหล่านี้ได้

1. ไม่มีเสียงหัวเราะจากอีสาณ ของ นายรำ นามปากกาของ รำพรรณ พุกเจียม (ขอขอบคุณอาจารย์ณัฐพล ใจจริง ที่ช่วยไขปริศนานามปากกาของนักหนังสือพิมพ์ค่าย สยามรัฐ ผู้นี้) ปกหนังสือเล่มนี้เป็นภาพประติมากรรมนูนต่ำ สตรีอุ้มเด็ก ในมือถือช่อดอกซ่อนกลิ่น ที่หลายคนคงรู้จักในชื่อ “สะพานร้องไห้” หรือ “สะพานมหาดไทยอุทิศ” (สร้างเสร็จ พ.ศ. 2457) ตั้งอยู่ใกล้กับภูเขาทอง กรุงเทพฯ ซึ่งแท้จริงแล้วสร้างขึ้นเพื่อแสดงถึงความโศกเศร้าอาลัย และรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว หลังการเสด็จสวรรคต ที่ดูจะไม่เกี่ยวกับเนื้อหาที่ปรากฏในเล่ม เพราะ “ไม่มีเสียงหัวเราะจากอีสาณ” เป็นเหมือนบันทึกการเดินทางของผู้เขียนขณะมุ่งหน้าไป จ.อุบลราชธานี ซึ่งรัฐบาล จอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้โฆษณาทางวิทยุกระจายเสียงว่า เป็นผืนแผ่นดินแห่งคอมมิวนิสต์ เพื่อพิสูจน์ข่าวลือในช่วงปลายทศวรรษ 2490 ว่า “คนอีสานกำลังจะอดตาย อีสานกำลังกลายเป็นทะเลทรายซาฮารา” นั้นเป็นเรื่องจริงหรือไม่ (หนังสือไม่ระบุปีที่พิมพ์ นอกจากวันที่ลงลายเซ็นต์เจ้าของเดิมปี พ.ศ. 2497)

2. ฝั่งขวาแม่น้ำโขง (เล่ม 1-2 พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. 2499) ของ เติม สังหัษฐิต ดูเหมือนผู้เขียนมิได้ตั้งใจจะให้หนังสือใช้ชื่อนี้ตามที่ คุณตรี อมาตยกุล เป็นผู้ตั้งชื่อให้ ก่อนที่จะเปลี่ยนชื่อเป็น “ประวัติศาสตร์อีสาน” ในฉบับพิมพ์ครั้งต่อมา (รวมถึงนามสกุลผู้เขียนเป็น เติม วิภาคย์พจนกิจ) เพราะผู้เขียนได้ตั้งชื่อหนังสือเล่มนี้ไว้ตั้งแต่ก่อนเขียนเสร็จว่า “ตำนานการปกครองหัวเมืองมณฑลอีสาณ กับ เหตุการณ์ ร.ศ. 112” ปกหนังสือใช้ภาพทิวทัศน์ซึ่งคาดว่าเป็นแม่น้ำโขงกับภาพองค์พระธาตุพนม ช่วงก่อนการบูรณะในสมัย จอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี ครั้งที่ 1 ส่วนสันปกเป็นภาพอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี

3.ไท-สัปดาห์ (ฉบับวันที่ 14 เมษายน พ.ศ. 2501) เสียดายที่ผมได้มาเฉพาะหน้าปก จึงไม่ได้อ่านเนื้อหาภายในเล่มตามที่พาดหัวเกี่ยวกับเหตุสังหารอดีต 4 รัฐมนตรีอีสาน ประกอบด้วย นายทองอิน ภูริพัฒน์ นายถวิล อุดล นายจำลอง ดาวเรือง และ ดร.ทองเปลว ชลภูมิ กลุ่มสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่พยายามทำหน้าที่เป็นตัวแทนจาก “อีสาน” ที่เป็นปากเป็นเสียงและต่อรองให้ผู้ที่อยู่นอกศูนย์กลางของอำนาจ ตั้งแต่ช่วงหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 และเป็นกำลังสำคัญของฝ่ายเสรีนิยม (ปรีดี พนมยงค์ และ หลวงธำรงนาวาสวัสดิ์) ในการสกัดกั้นบทบาททางเมืองจากฝ่ายอนุรักษ์นิยม ช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 แม้จะเป็นช่วงเวลาสั้น ๆ ก่อนถูก “ยิงทิ้ง” ระหว่างถูกควบคุมตัวอยู่บนรถของเจ้าหน้าที่ตำรวจที่กำลังมุ่งหน้าไปสถานีตำรวจบางเขน เมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ. 2492 โดยกรมตำรวจอ้างว่า เป็นฝีมือโจรจีนมลายู (3) (คดีถูกดำเนินไปสิ้นสุดถึงศาลฎีกาในปี พ.ศ. 2504)

นิตยสาร ไท-สัปดาห์ ออกฉบับแรกเมื่อ พ.ศ. 2499 โดยเน้นเนื้อหาด้านข่าวสารการเมือง แต่หลังรัฐประหาร พ.ศ. 2501 ไท-สัปดาห์ ได้เปลี่ยนสัดส่วนเนื้อหาใหม่ คือ นอกเหนือจากข่าวสารและบทความที่กล่าวถึงความสำเร็จของประเทศภายใต้การปกครองของ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ รวมถึงสารคดีต่อต้านคอมมิวนิสต์แล้ว ยังให้ความสำคัญกับบันเทิงคดีโดยเฉพาะนวนิยาย จนกระทั่งปี พ.ศ. 2506 ได้กลายเป็นนิตยสารที่เน้นบันเทิงเป็นหลัก (4)

4.อนุสาร อ.ส.ท. ทำให้รู้จักอีสานในฐานะแหล่งท่องเที่ยว (ออกฉบับแรกเมื่อเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2503) จากนโยบายของรัฐบาลในการรณรงค์ให้ประชาชนเห็นความสำคัญของการท่องเที่ยวเพื่อสร้างรายได้ให้ประเทศในสมัย จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งประเทศไทยมีความพร้อมในการพัฒนาด้านการท่องเที่ยวมากที่สุด เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศใกล้เคียงที่ล้วนอยู่ในสถานการณ์สู้รบจากเหตุความไม่สงบทางการเมือง

อนุสาร อ.ส.ท. ได้นำเสนอสารคดีท่องเที่ยวธรรมชาติในลักษณะการบุกเบิกเดินทางผจญภัยไปยังแหล่งธรรมชาติที่คนทั่วไปคงไปถึงได้ยาก รวมถึงนำเรื่องราวของวิถีชีวิตผู้คนในภาคอีสานที่มีความแตกต่างทางวัฒนธรรมกับคนภาคกลาง เช่น “บนแผ่นดินถิ่นภูไทย” (ฉบับมิถุนายน พ.ศ. 2505) ส่วนฉบับที่อธิบายภาพสาวบนปกนี้ว่า “เซิ้งที่หนองคาย” (ฉบับ กรกฎาคม พ.ศ. 2507) เป็นฉบับที่มีสารคดีแนะนำ “งานบุญเซิ้งบ้องไฟ หนองคาย” ซึ่งผู้เขียน (ปราโมทย์ ทัศนาสุวรรณ) ยังคงอธิบายว่า เป็นประเพณีสืบเนื่องมาจากการบูชาไฟของลัทธิศาสนาพราหมณ์ ด้วยดินแดนอีสานเป็นบริเวณที่เคยถูกปกครองโดยชนชาติขอม และยังกล่าวติดตลกในช่วงท้ายด้วยว่า “คนไทยเราเล่นจรวดกันมานานก่อนอเมริกาและรัสเซีย แต่การทำจรวดของเราเป็นงานบุญ หาใช่ทำเพื่อการเข่นฆ่ามนุษย์ด้วยกันเอง”

5.อีสานที่รัก (พ.ศ. 2511) ของ ปราโมทย์ ทัศนาสุวรรณ นักเขียนและช่างภาพสารคดีคนสำคัญของ อนุสาร อ.ส.ท. ผู้มีส่วนสำคัญในการสร้างภาพลักษณ์ให้อีสานถูกมองว่า เป็นแหล่งท่องเที่ยว (5) ตั้งแต่ในช่วงทศวรรษ 2500 เป็นต้นมา หนังสือเล่มนี้อ่านแล้วเหมือนเป็นบันทึกการเดินทางไปยังจังหวัดต่าง ๆ ในภาคอีสานของปราโมทย์ที่ได้พบเจอผู้คนและเห็นสภาพความเปลี่ยนแปลงของจังหวัดสำคัญ ๆ ที่เป็นพื้นที่ใกล้กับที่ตั้งฐานทัพของอเมริกาเพื่อทำศึกในสงครามเวียดนาม เช่น การรับจ้างเป็นเมียเช่าของนักบินอเมริกันที่ จ.อุบลราชธานี ในบทที่ชื่อว่า “คุณนายดอลที่อุบลราชธานี” (คุณนายดอลล่าร์) หรือ เกษตรกรใน จ.ร้อยเอ็ด กำลังนิยมปลูกแตงโม “ชานตังเก” หรือ “แตงหมอน” ที่มีรสหวาน ให้เนื้อมากและที่สำคัญคือเปลือกหนา ทนทานต่อการกระแทกระหว่างขนส่งได้ ซึ่งแท้จริงแล้ว “ชานตังเก” คือ ชื่อพันธุ์แตงโมจากสหรัฐอเมริกา ที่ชาวบ้านเรียกกันเพี้ยนมาจากชื่อเกษตรกรผู้คิดผสมพันธุ์ขึ้น คือ นายชาร์ลสตัน เกรย์ ในบทที่มีชื่อว่า “ชาร์ลสตันเกรย์ที่ร้อยเอ็ด” รวมถึงการบรรยายภาพของ “ฝั่งธน” (ซ่อง) ในบทที่ชื่อว่า “มหาสารคาม”

6.สภาพอีสาน (พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. 2514) ผลงานแปลของ ตุลจันทร์ (นามปากกาของ จันทร์แจ่ม บุนนาค) จากต้นฉบับหนังสือที่มีชื่อว่า The Far Province ของ ฟรานซิส คริปส์ (พิมพ์ครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2508) เล่าเรื่องราวเมื่อครั้งที่เขายังเป็นเยาวชนอาสาสมัครชาวอังกฤษ ได้เดินทางมาสอนหนังสือเป็นเวลาหนึ่งปีที่วิทยาลัยครูมหาสารคามในปี พ.ศ. 2504 คริปส์ สามารถถ่ายทอดบรรยายกาศและสภาพอีสาน ที่เขาได้เห็นจากการเดินทางไปกับเจ้าหน้าที่รัฐในช่วงเวลาดังกล่าวได้อย่างสนุกสนาน เป็นมุมมองและประสบการณ์ของคนนอก (ชาวต่างชาติ) ที่ได้รับการต้อนรับจากชาวบ้านเป็นอย่างดี ผู้ออกแบบปกฉบับพิมพ์ครั้งแรก คือ ศาสตราจารย์สันติ เล็กสุขุม สมัยที่เพิ่งเรียนจบปริญญาตรีและทำงานกับสำนักพิมพ์ต่าง ๆ

7.อนุสาร อ.ส.ท. ฉบับเที่ยวภาคอีสาน (ฉบับ มีนาคม พ.ศ. 2514) ในทศวรรษ 2510 อนุสาร อ.ส.ท. นำเสนออีสานด้วยแง่มุมของการเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ วัฒนธรรมประเพณี ให้คนที่อยู่ในภูมิภาคอื่นรู้จัก เช่น งานช้าง จ.สุรินทร์ งานบุญบั้งไฟ จ.ยโสธร เพื่อให้เห็นว่า อีสานเป็นส่วนหนึ่งของประเทศไทย ในขณะที่อีสานยังเป็นพื้นที่เฝ้าระวังการคุกคามจากฝ่ายคอมมิวนิสต์ ปกฉบับนี้เป็นภาพทางขึ้นปราสาทพนมรุ้ง จ.บุรีรัมย์ เนื้อหาในเล่มเป็นการให้ข้อมูลถึงความเจริญและความพร้อมของถนนที่ตัดใหม่ โรงแรม ในการต้อนรับนักท่องเที่ยว การวางแผนท่องเที่ยวในภาคอีสานที่น่าสนใจแบบ “เที่ยวเป็นวงรอบ” ซึ่งทำให้จุดสุดท้ายมาบรรจบกับจุดเริ่มต้นโดยไม่ต้องย้อนกลับทางเดิมได้ และในเดือนกุมภาพันธ์ของปีนั้น อ.ส.ท. ยังได้จัด “สัมมนาว่า ด้วยการเดินทางและท่องเที่ยวภาคอีสาน ครั้งที่ 1” ณ โรงแรมโฆษะ จ.ขอนแก่น ซึ่งมีการอภิปรายเรื่อง “อีสานมีอะไรดีทางอุตสาหกรรมท่องเที่ยว” และเริ่มเห็นการให้ความสำคัญกับเรื่องประเพณีและวัฒนธรรมท้องถิ่นของอีสานที่จะเป็นสิ่งดึงดูดนักท่องเที่ยวได้  

8.ประเทศเล็กที่สมบูรณ์ (ฉบับพิมพ์ครั้งแรกที่ พ.ศ. 2517) หนึ่งในชุดแบบเรียนนิทานร้อยบรรทัด จำนวน 5 เล่ม (ใช้เป็นแบบเรียนระหว่างปี พ.ศ. 2501-2526) ที่ ภิญญพันธุ์ พจนะลาวัณย์ กล่าวว่าเป็น “แบบเรียนที่กล่อมเกลาความคิดในทศวรรษ 2500 ย้ำถึงหน้าที่และความรับผิดชอบ ชื่อเรื่องในแบบเรียน “นิทานร้อยบรรทัด” ยังสื่อให้เห็นถึงความคิดรวบยอดของรัฐได้เป็นอย่างดี ถึงการเชื่อมโยงอุดมการณ์กับหน่วยทางสังคมแบบครอบครัวได้แก่ “บ้านที่น่าอยู่” (ป. 2-3) “ครูที่รักเด็ก” (ป. 4) “ประเทศเล็กที่สมบูรณ์” (ป. 5) “ต้นตระกูลไทยที่คงที่” (ป. 6) และ “ประชาธิปไตยที่ถาวร” (ป. 7) รัฐเปรียบได้กับเจ้าของบ้าน ซึ่งมีประชาชนเป็นเสมือนเด็กในครอบครัว หากใครดื้อด้านก็ต้องถูกคนในครอบครัวลงโทษ” (6)

เนื้อหาบทเรียนจากในเรื่อง “ประเทศเล็กที่สมบูรณ์” ประกอบด้วย “เรื่องที่ 1 ทรัพย์ในดินสินในน้ำ” กล่าวถึง ความอุดมสมบูรณ์ของแผ่นดินไทย ให้ทุกคนรู้จักทำมาหากิน ไม่เลือกงาน “เรื่องที่ 2 กิจกรรมในชนบท” กล่าวถึง การพานักเรียนไปรู้จักสภาพชนบทไทย การขุดดินทำไร่ ในช่วงปิดภาคเรียน “เรื่องที่ 3 จดจำเป็นนิสัย” กล่าวถึง การฝึกงานด้านต่าง ๆ ให้นักเรียนรู้จักสุขใจที่ได้ทำงาน ไม่ว่าจะเป็นงานหนักหรืองานเบา ให้เกิดเป็นนิสัยในการทำงาน “เรื่องที่ 4 นาไร่ คือ สันหลัง” กล่าวถึง การคมนาคมในชนบทเจริญก้าวหน้าขึ้นมาก และ “เรื่องที่ 5 วางขลัง ด้วยคมนาคม” กล่าวถึง ผลดีของการตัดถนนเชื่อมหลาย ๆ ทาง ทำให้การไปมาสะดวก การค้าขายก็ส่งผลิตผลได้ดี (7)

9.อีสาน เล่ม 1–3 (พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. 2525) เป็นชุดหนังสือสารคดีเพื่อสนับสนุนการเดินทางและการท่องเที่ยวในภาคอีสาน ที่ให้คำแนะนำถึงวิธีการเดินทางจากกรุงเทพฯ ไปยังจังหวัดต่าง ๆ ในภาคอีสานรวม 16 จังหวัด ข้อมูลสถานที่สำคัญของประวัติศาสตร์แต่ละจังหวัด

ผมลองตั้งข้อสังเกตเรื่องการใช้ภาพผู้หญิงขึ้นปกหนังสือท่องเที่ยวที่ ภิญญพันธุ์ พจนะลาวัณย์ ได้ชี้ให้เห็นในบทความเรื่อง “การท่องเที่ยว พื้นที่แห่งอำนาจในการแสวงหาของผู้ชาย” ที่กล่าวถึงการใช้ภาพลักษณ์ของ “สาวเหนือ” เป็นวัตถุดิบอย่างดีในการสร้างความโดดเด่นให้กับสินค้าและการท่องเที่ยว ความตอนหนึ่งว่า “กลุ่มทุนเชียงใหม่ได้จัดทำหนังสือพิมพ์ และวารสารคนเมือง (2496) ที่ผลิตและขายในกรุงเทพฯ ทำหน้าที่ผลิตซ้ำความหมายของผู้หญิงเหนืออย่างเป็นระบบ โดยการนำเอารูปผู้หญิงขึ้นปก กล่าวกันว่า จุดขายดังกล่าวเป็นที่พออกพอใจของผู้อ่านซึ่งมักจะเป็นผู้ชาย ไม่เพียงเท่านั้น ตัวบทยังทำหน้าที่สร้างความหมายว่า ความงามของหญิงสาวนั้นทำให้สถานที่แห่งนี้นั่นน่าไปเยี่ยมชม มีเสน่ห์เย้ายวนให้ไปเที่ยวหา” (8) ซึ่งก็น่าคิดว่าภาพลักษณ์ของ “สาวอีสาน” บนปก อ.ส.ท. ก็คงถูกสร้างและนำไปใช้ในแง่มุมที่ไม่ต่างกัน

10.เสียงอีสาน (พ.ศ. 2530) หนังสือรวมบทความที่แปลจากสารคดีชุด VOICES FROM THE ESAN เคยตีพิมพ์ในบางกอกโพสต์โดย สนิทสุดา เอกชัย นักหนังสือพิมพ์ประจำบางกอกโพสต์ ลงพื้นที่ตามหมู่บ้านเล็ก ๆ ในภาคอีสาน เพื่อเก็บข้อมูลปัญหาต่าง ๆ จากสายตาของ “ตาสีตาสา” เช่น ปัญหาบ้านแตกสาแหรกขาดจากความแห้งแล้วและยากแค้น ภาพหมู่บ้านที่เกือบจะร้าง เพราะคนที่ยังมีเรี่ยวแรงต้องทิ้งบ้านไปหางานทำในเมืองกันหมด ก่อนหลายคนที่ต้องกลับมา เพราะมีอาการเสียสติจากฤทธิ์ยากระตุ้น ในยุคที่คนขับรถจับจ้างนิยมใช้ “ยาขยัน” (ยาบ้า) เพื่อทำงานหนักต่อเนื่องได้นานๆ หรือ หรือปัญหาจากโครงการปลูกต้นยูคาลิปตัส ในเขตทุ่งกุลาร้องไห้ ที่ทำให้ดินเสื่อมสภาพ ซึ่งเป็นปัญหาของภาคอีสานในช่วงปลายทศวรรษ 2520

ผมไม่ขอสร้างข้อสรุปใด ๆ จากปกสิ่งพิมพ์เกี่ยวกับอีสานที่นำมากล่าวถึงในบทความนี้ นอกจากเห็นว่า สิ่งพิมพ์เหล่านี้มีความน่าสนใจในประเด็นของหนังสือกับการเลือกใช้ภาพ เพื่อแทนเนื้อหาสำคัญบางอย่าง ตั้งแต่ช่วงหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 ที่อีสานถูกมองเป็นส่วนหนึ่งของประเทศไทยชัดเจนขึ้น แต่ก็ยังไม่มีภาพอะไรที่จะสะท้อนถึงอีสานได้อย่างชัดเจน นอกจากการเป็นดินแดนของคนที่ถูกมองว่าต้อยต่ำในสายตาของส่วนกลาง ซึ่งเป็นประเด็นที่อยากชวนให้ผู้สนใจร่วมกันตั้งข้อสังเกตผ่านสิ่งพิมพ์ในช่วงเวลาดังกล่าวต่อไป

  • (1) อ่านเพิ่มเติมได้จาก “พัฒนาการ การเขียนประวัติศาสตร์ท้องถิ่น : กรณีประวัติศาสตร์อีสาน” ของ ทวีศิลป์ สืบวัฒนะ. แนวคิดและแนวทางการศึกษาประวัติศาสตร์ท้องถิ่น. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์อินทนิล, 2545.
  • (2) สุพัฒน์ ส่องแสงจันทร์. การศึกษาประเภทของหนังสืออนุสรณ์ในงานฌาปนกิจศพที่คัดลอก เรื่องจากต้นฉบับของหอสมุดแห่งชาติ และเรื่องที่ได้จากแหล่งอื่น ๆ ระหว่างปี พ.ศ.2501-2510. ปริญญานิพนธ์ (กศ.ม.) มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร, 2512.
  • (3) ชาญวิทย์ เกษตรศิริ และธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์, บรรณาธิการ.ปรีดี พนมยงค์ และ 4 รัฐมนตรีอีสาน +1. กรุงเทพฯ : มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์, 2544.
  • (4)  บาหยัน อิ่มสำราญ. นวนิยายไทยระหว่าง พ.ศ. 2501-2506 : การวิเคราะห์แนวคิด.  วิทยานิพนธ์ (อ.ม. ภาษาไทย) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2527.
  • (5)  คณิตา เลขกุล. “สัมนาฯ ที่อีสาน” ใน อนุสาร อ.ส.ท. (เมษายน 2514)
  • (6) ภิญญพันธุ์ พจนะลาวัณย์. “การสร้าง ‘พื้นที่ประเทศไทย’ ด้วยพลานุภาพของสิ่งพิมพ์ ความเย้ายวนทางเพศ และการท่องเที่ยวทศวรรษ 2550” ใน ศิลปวัฒนธรรม. (มกราคม 2553)
  • (7)  สุณีย์ อัตศาสตร์. (2526) ความเป็นมาของแบบเรียนภาษาไทย. (กรุงเทพฯ : ภาควิชาภาษาไทย คณะวิชามนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ วิทยาลัยครูธนบุรี) 2526.
  • (8)  ภิญญพันธุ์ พจนะลาวัณย์. “กาละเทศะในวันเด็กแห่งชาติ และความเป็นเด็กในพลเมืองไทยยุคพัฒนา” ใน ศิลปวัฒนธรรม. (มกราคม 2556)
image_pdfimage_print