ชัยภูมิ – หลังจากเจ้าหน้าที่จากกรมป่าไม้และฝ่ายปกครองจังหวัดชัยภูมิกว่า 50 คน เข้าปิดหมายบังคับคดีให้คนในชุมชนบ่อแก้ว ชุมชนที่ถูกศาลฏีกาตัดสินว่าบุกรุกทำกินในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าภูซำผักหนาม ออกจากพื้นที่ ล่าสุดชาวบ้านเตรียมเข้ายื่นหนังสือต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพย์ฯ 

นิด ต่อทุน แกนนำกลุ่มชาวบ้านบ่อแก้ว อ.คอนสาร จ.ชัยภูมิ และหนึ่งในผู้ที่ศาลพิพากษาว่า กระทำความผิดในคดีบุกรุกป่าสงวนแห่งชาติป่าภูซำผักหนาม เปิดเผยถึงความคืบหน้าหลังถูกเจ้าหน้าที่จากกรมป่าไม้และฝ่ายปกครองกว่า 50 คนเข้าปิดหมายบังคับคดีให้ออกจากพื้นที่ภายในวันที่ 27 สิงหาคมนี้ ว่า ชาวบ้านที่ถูกฟ้องขับไล่ให้ออกจากชุมชนบ่อแก้วทั้ง 31 คน เตรียมจะเข้ายื่นหนังสือต่อ วราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เร็วๆ นี้ 

“แม้ศาลฏีกาจะตัดสินว่าเราบุกรุกป่าและให้ออกจากพื้นที่ แต่เราจะขออยู่ต่อในพื้นที่เดิม เพราะมีหลักฐานทั้งเอกสารและหลักฐานทางนิติวิทยาศาสตร์ที่ตรวจพิสูจน์จากกระดูกบรรพบุรุษ ว่าเราอยู่มาก่อนประกาศเป็นเขตป่าสงวน พวกเราจึงจะไปยื่นหนังสือขอติดตามความคืบหน้า เพื่อขอให้รัฐจัดสรรที่ดินในรูปแบบโฉนดชุมชน ที่จะให้คนในชุมชนมีส่วนร่วมดูแลรักษาและใช้ประโยชน์จากที่ดินเพื่อให้พวกเราได้ทำกินในที่ดินเดิม” แกนนำกลุ่มชาวบ้านบ่อแก้ว กล่าว

นิด ต่อทุน จำเลยในคดีบุกรุกป่าสงวนแห่งชาติป่าภูซำผักหนามและแกนนำกลุ่มชาวบ้านบ่อแก้ว ต.ทุ่งพระ อ.คอนสาร จ.ชัยภูมิ (ภาพจากแฟ้ม)

นิด อธิบายอีกว่า พวกเขาเคยยืนยันในชั้นศาลตั้งแต่ศาลชั้นต้นว่า ไม่ได้บุกรุกป่าตามที่ถูกกล่าวหาและเคยแสดงหลักฐานการถือครองที่ดินและทำประโยชน์ในที่ดินมาตั้งแต่ปี 2496 ก่อนประกาศเป็นเขตป่าสงวน 

หน้าเพจเฟซบุคของ สำนักข่าวปฏิรูปที่ดินอีสาน ที่ติดตามเรื่องสิทธิที่ดินทำกิน ระบุว่า สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 27 สิงหาคม พ.ศ. 2552 องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ (อ.อ.ป.) รัฐวิสาหกิจสังกัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเพื่อประกอบธุรกิจเกี่ยวกับอุตสาหกรรมป่าไม้ เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง นิด ต่อทุน และพวกรวม 31 คน ข้อหาบุกรุกเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าภูซำผักหนามจำนวนกว่า 1,400 ไร่ ที่ อ.อ.ป. ได้รับสัมปทานให้ปลูกต้นยูคาลิปตัสในสวนป่าคอนสารเนื้อที่ 4,401 ไร่ตั้งแต่เมื่อปี 2521 

กรณีที่ อ.อ.ป. ได้รับสัมปทานปลูกต้นยูคาลิปตัสในพื้นที่ป่าสงวนฯ ทับที่ดินทำกินชาวบ้านจำนวนกว่า 300 คน ทำให้ชาวบ้านบ่อแก้วออกมาเคลื่อนไหวเรียกร้องความเป็นธรรมและสิทธิในที่ดินทำกิน ทั้งมีการยื่นหนังสือต่อหน่วยงานรัฐ รวมถึงสู้คดีต่างๆ มาตั้งแต่ปี 2553 เป็นต้นมา กระทั่งเมื่อวันที่ 29 มกราคม 2562 ศาลจังหวัดภูเขียว จ.ชัยภูมิ มีคำพิพากษาให้ชาวบ้าน 31 คนออกจากพื้นที่

ขอบคุณภาพหน้าปกจาก สำนักข่าวปฏิรูปที่ดินอีสาน

image_pdfimage_print