ขอนแก่น – ชาวบ้านไทรทอง จ.ชัยภูมิ เล่าวินาทีใช้ชีวิตในเรือนจำหลังถูกจับคดีบุกรุกป่า เผยถูกจับทั้งครอบครัวทำให้แม่เป็นโรคซึมเศร้า ส่วนทนายความแนะชาวบ้านบ่อแก้ว จ.ชัยภูมิสู้ต่อ เหตุ องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ (ออป.) ไม่มีสิทธิไล่หลังเจ้าหน้าที่ปิดหมายบังคับให้ออกจากพื้นที่ ส่วนพรรคอนาคตใหม่ส่งตัวแทนรับฟังปัญหาเตรียมเสนอ ส.ส.ตั้งกระทู้ด่วนถามรัฐบาลเร็วๆ นี้
เมื่อวันที่ 14 สิงหาคม 2562 คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น จัดเสวนาเรื่อง “การแย่งยึดที่ดินจากนโยบายทวงคืนผืนป่า” มีผู้ได้รับผลกระทบจากนโยบายทวงคืนผืนป่าจากหลายจังหวัดภาคอีสานเข้าร่วมกว่า 100 คน
นิตยา ม่วงกลาง ตัวแทนจากกลุ่มชาวบ้านไทรทอง จ.ชัยภูมิ และเป็น 1 ใน 14 คนที่ถูกตัดสินใจจำคุกกรณีบุกรุกอุทยานแห่งชาติไทรทอง กล่าวว่า เพิ่งออกจากเรือนจำมาได้ไม่ถึง 2 สัปดาห์ทำให้รู้สึกว่า นโยบายของรัฐมีแต่คนจนต้องติดคุกและวาทกรรมคุกมีไว้ขังคนจนก็ได้ซึมซับเข้ามาตอนที่อยู่ในเรือนจำกว่า 2 เดือน
“ตอนที่อยู่ในเรือนจำมีคนถามว่า ทำผิดคดีอะไร เพราะพวกเขาไม่เข้าใจว่า การทำไร่ก็ติดคุกหรือ ก่อนถูกจำคุกพวกเราเคยยื่นหนังสือต่อหน่วยงานต่างๆ ให้แก้ไขปัญหา แต่ก็ไม่มีใครทำอะไร สุดท้ายศาลก็ตัดสินจำคุก 14 คน ทำให้แม่ต้องกลายเป็นโรคซึมเศร้า โดยเฉพาะครอบครัวดิฉันที่ถูกจับทั้งครอบครัว” นิตยา เล่าประสบการณ์การอยู่ในเรือนจำ
หนึ่งในผู้ถูกดำเนินคดีข้อหาบุกรุกป่า ยังเสนอให้รัฐบาลทบทวนนโยบายทวงคืนผืนป่า เพราะทำให้ชาวบ้านติดคุก โดยเฉพาะคดีนี้ชาวบ้านไม่มีแนวทางต่อสู้ในชั้นศาลฎีกาและเกรงว่า จะได้รับผลกระทบจากคดีเรียกร้องค่าเสียหายทางแพ่งด้วย
เครือข่ายองค์กรประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากนโยบายทวงคืนผืนป่าภาคอีสานอ่านแถลงการณ์
ส่วน ไพโรจน์ ไทรทอง ตัวแทนชาวบ้านจากชุมชนไทรทอง จ.ชัยภูมิ กล่าวว่า พรบ.อุทยานฉบับใหม่ที่จะมีผลบังคับใช้เดือนพฤศจิกายนปีนี้ จะทำให้เกิดการรางวัดที่ดินใหม่ทั่วประเทศและจะเป็นระเบิดเวลาสำหรับคนที่อยู่ในป่า แม้พวกเขาจะได้รับสิทธิที่ดินทำกินตกทอดจากมรดกก็ตาม
“ถ้าไม่หยุดกฎหมายอุทยานฉบับใหม่ อนาคตจบอยู่ที่ศาลทุกคนและ 14 คนในชุมชนไทรทอง จ.ชัยภูมิที่ถูกจำคุก ผมถือว่า เป็นผู้กล้า พวกเขาได้ลุกขึ้นสู้แล้ว การสู้ในครั้งนี้ไม่ได้ติดคุกฟรี เพราะการติดคุกครั้งนี้ทำให้เห็นว่า รัฐบาลล้มเหลวในการจัดการปัญหาที่ดินตามนโยบายทวงคืนผืนป่า” ไพโรจน์ กล่าว
ขณะที่ สวาท อุปฮาท ตัวแทนเครือข่ายไทบ้านผู้ไร้สิทธิจังหวัดสกลนคร กล่าวว่า ตั้งแต่รัฐบาล คสช.เข้ามาบริหารประเทศได้สร้างความเจ็บช้ำให้ชาวบ้านเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะชาวจังหวัดสกลนคร ทั้งที่เครือข่ายฯ เคยเสนอกลไกการแก้ไขปัญหาที่ดินต่อผู้ว่าราชการจังหวัดแล้ว แต่รัฐไม่ยอมรับ กลับใช้คำสั่ง คสช.เข้ายึดคืนที่ดินและไล่ชาวบ้านออกจากพื้นที่และทำลายทรัพย์สินชาวบ้านในหมู่บ้านจัดระเบียบ อ.ภูพาน จ.สกลนคร รวมทั้งกล่าวหาชาวบ้านว่า เป็นนายทุนบุกรุกป่าและถูกจับดำเนินคดีทั้งหมด 37 คดี
“คสช.จับกุมชาวบ้าน 11 คน มีตั้งแต่อายุ 14 ปีถึงอายุ 70 ปี มีคนรอลงอาญา 21 คน ต่อมาศาลยกฟ้อง เรื่องนี้ไม่ใช่การทำหน้าที่อย่างตรงไปตรงมา แต่เป็นการจับแบบหว่านแห ถ้าเป็นแบบนี้ปัญหาสังคมไทยแก้ไขไม่ได้แน่ เราขอเรียกร้องให้รัฐบาลตรวจสอบข้อเท็จจริงผู้ถูกกล่าวหาทั้ง 34 คน เพราะไม่มีใครเป็นนายทุน แต่เป็นคนยากคนจน เมื่อชาวบ้านไม่ได้กระทำความผิดต้องมีมาตรการเยียวยา” สวาท กล่าว
นอกจากนี้เวทีเสวนาครั้งนี้ยังได้ประมวลสถานการณ์ปัญหาการแย่งยึดที่ดินทำกินจากนโยบายทวงคืนผืนป่า โดยสมนึก ตุ้มสุภาพ ผอ.ศูนย์ศึกษาและพัฒนากฎหมายเพื่อสิทธิมนุษยชน กล่าวถึงกรณีการทวงคืนผืนป่าไทรทอง จ.ชัยภูมิว่า หากพิจารณาคำสั่ง คสช. ฉบับที่ 66/2557 เท่ากับว่า ชาวบ้านไทรทองควรได้รับความคุ้มครองจากคำสั่งนี้ เพราะถือเป็นคนยากไร้ ในชั้นศาลฎีกาชาวบ้านควรสู้ในประเด็นนี้และการตีความกฎหมายต้องตีความให้เป็นคุณ
สมนึกยังกล่าวถึงกรณีชาวบ้านบ่อแก้ว อ.คอนสาร จ.ชัยภูมิว่า แม้ศาลฎีกาจะตัดสินให้ชาวบ้านออกจากพื้นที่แล้ว แต่ชาวบ้านยืนยันจะอยู่ต่อไม่ถือว่า เป็นการละเมิดอำนาจศาล เพราะองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ (ออป.) ถือเป็นรัฐวิสาหกิจไม่ใช่เจ้าหน้าที่ของรัฐ แต่ ออป.จะต้องแถลงต่อศาลเพื่อบังคับคดี จากนั้นคดีจึงจะมีผลบังคับ
จากนั้นเครือข่ายองค์กรประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากนโยบายทวงคืนผืนป่าภาคอีสานได้ออกแถลงการณ์และยื่นหนังสือต่อตัวแทนศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดขอนแก่น เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลเร่งแก้ไขปัญหาเฉพาะ เช่น กรณีชาวบ้านถูกฟ้องร้องดำเนินคดีข้อหาบุกรุกอุทยานแห่งชาติไทรทอง อ.หนองบัวระเหว จ.ชัยภูมิจำนวน 14 คนและกรณีอื่นๆ ที่ชาวบ้านถูกฟ้องร้องข้อหาเดียวกัน
อีกทั้งเรียกร้องให้รัฐบาลเร่งแก้ไขปัญหาให้ผู้ได้รับผลกระทบจากนโยบายทวงคืนผืนป่าและขอให้ทบทวนมติคณะรัฐมนตรีวันที่ 26 พฤศจิกายน 2562 โดยขอให้แก้ไขพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 พระราชบัญญัติป่าชุมชน พ.ศ. 2562 พระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 รวมทั้งแก้ไขคู่มือปฏิบัติการแนวทางการแก้ไขปัญหาที่ดินของราษฎรในเขตป่าอนุรักษ์ของกรมอุททยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช เพราะกฎหมายเหล่านี้ส่งผลกระทบโดยตรงต่อผู้ทำกินและอาศัยอยู่กับป่ามาอย่างยาวนาน อีกทั้งขอให้รับฟังความคิดเห็นของประชาชนผู้มีส่วนได้เสียโดยตรง รวมทั้งขอให้รัฐบาลมีมาตรการคุ้มครองนักปกป้องสิทธิในที่ดินทำกิน ทั้งนี้เพื่อลดความขัดแย้งที่เกิดขึ้น
การเสวนาครั้งนี้มี ชัน ภักดีศรี กรรมการบริหารพรรคอนาคตใหม่เข้าร่วมรับฟังปัญหาด้วย โดยเขากล่าวว่า ปัญหาที่ดินทำกินถือเป็น 1 ใน 20 นโยบายที่พรรคอนาคตใหม่พยายามเกาะติดเพื่อนำไปสู่การแก้ไข ซึ่งจะเสนอข้อมูลเรื่องปัญหาของชาวบ้านบ่อแก้ว อ.คอนสาร จ.ชัยภูมิ ให้ส.ส.เพื่อตั้งกระทู้ถามรัฐบาลเป็นเรื่องเร่งด่วน ส่วนประเด็นเกี่ยวกับกฎหมายที่เกี่ยวข้องจะนำเป็นข้อมูลให้พรรคพิจารณาต่อไป