กาฬสินธุ์ – หลังสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดกาฬสินธุ์จัดรับฟังความคิดเห็นในพื้นที่ก่อนเปิดให้ 2 บริษัทเอกชนทำประทานบัตรเหมืองแร่ทรายแก้วในพื้นที่ อ.กุฉินารายณ์ จ.กาฬสินธุ์ ทำให้ชาวบ้านบางส่วนไม่พอใจและเข้าร้องเรียนต่อผู้ว่าราชการจังหวัดให้ยกเลิกเวทีรับฟังความคิดเห็น

สนั่น พงษ์อักษร รองผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผู้รับหนังสือร้องเรียนจากชาวบ้านแทนผู้ว่าราชการจังหวัดเนื่องจากติดภารกิจ โดยระบุว่าจะรับเรื่องร้องเรียนส่งให้ศูนย์ดำรงธรรมและสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดพิจารณา 

“ผมและเจ้าหน้าที่ศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดกาฬสินธุ์จะขอลงพื้นที่ ก่อนจะมีเวทีรับฟังความคิดเห็นเพื่อรับฟังปัญหาของคนในพื้นที่อีกครั้ง”สนั่น กล่าว

เพชรแสง พุทธาผาย แกนนำกลุ่มฅนเหล่าไฮงามไม่เอาเหมืองแร่ จ.กาฬสินธุ์ ให้สัมภาษณ์ว่า ทางกลุ่มฯ มาติดตามความคืบหน้าเพื่อขอให้ทางจังหวัดยกเลิกการรับฟังความเห็นต่อโครงการฯ ที่จัดขึ้นเมื่อวันที่ 5 และ 7 สิงหาคมที่ผ่านมา เพราะเป็นการรับฟังความคิดเห็นที่ไม่ชอบธรรมและไม่ครอบคลุมผู้ได้รับผลกระทบ

“สาเหตุที่เราไม่เอาเหมืองหิน เพราะพื้นที่การทำเหมืองของทั้ง 2 บริษัทอยู่ในพื้นที่ต้นน้ำ โดยเฉพาะโรงแต่งแร่ที่จะก่อสร้างริมฝายน้ำล้นที่อยู่ใกล้แหล่งรับน้ำจากภูเขา ซึ่งจะทำให้น้ำจากโรงแต่งแร่ไหลเข้าที่นาและส่งผลกระทบต่อการเกษตรของชาวบ้าน” เพชรแสง กล่าว 

แถลงการณ์ของกลุ่มฅนเหล่าไฮงามไม่เอาเหมืองแร่ระบุว่า ตามที่สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดกาฬสินธุ์ได้จัดเวทีรับฟังความเห็นของชุมชนต่อการขอพื้นที่ประทานบัตรทำเหมืองแร่ประเภทที่ 1 ชนิดทรายแล้วเป็นกระบวนการที่ไม่ชอบธรรม เพราะในตำบลเหล่าไฮงาม อ.กุฉินารายณ์ จ.กาฬสินธุ์ มีประชากรกว่า 7 พันคน แต่มีชาวบ้านบางส่วนที่ได้รับหนังสือ อีกทั้งยังไม่มีกระบวนการให้ข้อมูลเพียงพอต่อผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพที่อาจจะเกิดจากการทำเหมืองแร่ทรายแก้ว 

“เราจึงขอให้ยกเลิกผลการรับฟังความคิดเห็นวันที่ 5 สิงหาคม และ 7 สิงหาคมที่ผ่านมา เพราะขัดกับรัฐธรรมนูญมาตรา 58 เรื่องการมีส่วนร่วมของประชาชนและขอให้จัดเวทีสาธารณะเพื่อชี้แจงข้อมูลการทำเหมืองแร่ทรายแก้วอย่างมีส่วนร่วม รวมทั้งขอให้ยึดตามผลประชามติของชาวบ้านเท่านั้น” แถลงการณ์ของกลุ่มฅนเหล่าไฮงามไม่เอาเหมืองแร่ ระบุ 

หลังจากนั้น วัฒนพรรณ ชัยสิทธิ์ อุตสาหกรรมจังหวัดกาฬสินธุ์ยืนยันกับชาวบ้านว่า อุตสาหกรรมจังหวัดได้ยกเลิกการรับฟังความเห็นในวันที่ 7 สิงหาคมตามคำร้องเรียนของชาวบ้านแล้ว ส่วนเรื่องหนังสือเชิญประชุมนั้นยอมรับว่า ไม่ได้ทำอย่างละเอียด จึงทำให้รายชื่อหลายคนตกไป หากมีการประชุมครั้งหน้าจะส่งหนังสือเชิญให้ชาวบ้านทุกคน

“เหมืองแร่ในจังหวัดกาฬสินธุ์ถือเป็นเรื่องใหม่ เราไม่เคยมีเหมืองแร่มาก่อนอย่าเพิ่งกังวลว่าจะเกิดผลกระทบ เพราะยังอยู่ในช่วงรับฟังความเห็น ยังไม่ถึงขั้นตอนการพิจารณาอนุญาตให้ทำเหมือง” อุตสาหกรรมจังหวัดกาฬสินธุ์ กล่าว 

“จริงๆ แล้วเหมืองแร่ที่จังหวัดเราเป็นเหมืองประเภทที่ 1 มีพื้นที่การทำไม่เกิน 100 ไร่ ไม่เหมือนเหมืองแร่ทองคำจึงไม่อยากให้ไปเปรียบเทียบว่า จะเกิดผลกระทบต่างๆ เหมือนเหมืองแร่อื่นๆ เช่น เหมืองแร่ทองคำ” วัฒนพรรณ กล่าว

image_pdfimage_print