โดย มาโนช พรหมสิงห์

แผ่นดินอีสานตั้งแต่โคราชกับอีสานใต้ทั้งหมด เคยถูกขีดแบ่งโดยภูมิการเมืองให้เป็นบริเวณที่เรียกว่า “เมืองเขมรป่าดง” ก่อนถูกผนวกและปฏิรูปการปกครองในสมัย ร.5 แห่งสยาม ต่อมาก็กลายเป็นดินแดนของพวกกบฏผีบ้าผีบุญ (ซึ่งมีคนตายจากการปราบกบฏในประวัติศาสตร์การสร้างประเทศชาติ (nation state) มากที่สุด) ผมจึงตั้งชื่อบทความนี้จากมูลเหตุข้างต้น

ชื่อของบทความใช้คำว่า วรรณคดี (folk literature) ทว่าขอให้เข้าใจว่า ผมตั้งใจจะนิยามให้กินความกว้างขวางไปยังนิทานพื้นบ้าน (folk tale) เรื่องเล่ามุขปาฐะขนาดสั้น นิทานก้อม นิทานสัปดน เพลงพื้นบ้าน (folk song) เพลงลำ เพลงกล่อมเด็ก เพลงลาวแพน (ballad) คติชาวบ้าน (folklore) ภาษา ผญา คำทวยขนบประเพณี คาถา รอยสัก ศิลปะ และตำนาน ความเชื่อต่างๆ แล้วจะนำความเป็นพื้นบ้านทั้งปวงตามที่กล่าวมานั้น มาสร้างสรรค์ให้เป็นวรรณกรรมร่วมสมัยได้อย่างไร

จะว่าไปแล้ว น่าจะย้อนกลับไปสู่สังคมในอดีตที่มีการทำให้ความเป็นพื้นบ้านพื้นเมืองถูกลดทอนคุณค่า ถูกทำลาย หรือสุนทรียศาสตร์แบบพื้นบ้านถูกทำให้ไร้ค่า ซึ่งปรากฏขึ้นราวๆ ปลายพุทธศตวรรษที่ 24 (ปลายรัชสมัย ร.4 ต่อเนื่องรัชสมัย ร.5) เมื่อภูมิกายา (geo-body) ของสยามประเทศเริ่มก่อกำเนิดรูปร่างขึ้น ยามที่ระบอบอาณานิคมตะวันตกมาพร้อมกับแผนที่หรือการกำหนดเขตแดนแน่ชัดตายตัว และการมีอำนาจอธิปไตยหนึ่งเดียว 

การเข้ายึดครองไรือแบ่งสรรพื้นที่ของสยามกับเจ้าอาณานิคมอังกฤษและฝรั่งเศส เหนือดินแดนเหล่าประเทศราชทั้งเหนือ ใต้ ตะวันออก และตะวันตก จึงเกิดขึ้น

เมื่อความสัมพันธ์แบบประเทศราชถูกแทนที่ด้วยการเข้าครอบครองเขตแดนแผนที่และแนวคิดรัฐฏาธิปัตย์สมัยใหม่ ข้อกฎหมาย ระเบียบบังคับ ข้อกำหนดต่างๆ จึงถูกส่งจากศูนย์กลางของสยามมาให้ราษฎรของตนปฏิบัติยึดถือร่วมกัน 

มิเว้นแม้แต่ข้อกำหนดที่มีผลต่อศิลปะวรรณกรรม ความเป็นพื้นบ้าน และคติชนทั้งปวงที่เห็นเด่นชัดอาทิ เช่น ในสมัย ร.4 (พระบิดาวิทยาศาสตร์ไทย) ประกาศห้ามเล่นแอ่วลาว เพราะเป็นเหตุของการเกิดอาเพศฝนแล้ง และให้พระธรรมยุติที่ทรงเริ่มก่อตั้งที่เมืองอุบลฯ สอนหรือเรียนภาษาไทยและภาษาอังกฤษ เพราะพระเถรวาทในวัดพื้นเมืองดั้งเดิมเอาแต่ช่วยชาวบ้านดำนาเกี่ยวข้าว สอนแต่ตำนานชาดก และไม่สอนหรือเรียนบาลีและสันสกฤต ในสมัย ร.5 ประกาศห้ามเขียนหรือศึกษาตัวไทยน้อย อักษรธรรมอีสาน

หลังเกิดกบฏผีบ้าผีบุญจึงมีการห้ามเด็ดขาดอีกครั้งในสมัยจอมพล ป.พิบูลสงครามกรณีข้างต้นเป็นตัวอย่างของการขาดตอนหรือยุติการสืบทอด ขณะเดียวกันก็เหยียดให้ความเป็นพื้นบ้านทั้งปวงให้กลายเป็นของต่ำ 

ภาษา ศิลปะ และการละเล่นอันเป็นต้นธารสำคัญของสุนทรียศาสตร์ของคนพื้นบ้านพื้นเมือง จึงไม่ถูกนับให้เป็นความงามหรือความจริงที่ควรจะใส่ใจ ถูกชี้นิ้วว่า เป็นอาเพศ เป็นความเอะอะมะเทิ่ง หยาบเถื่อน ไม่ศิวิไลซ์ และเป็นความเป็นอื่น (otherness)

การนำคติชาวบ้าน ตำนาน และนิทาน มาเล่าใหม่ ขยาย และตีความ ให้เป็นวรรณกรรมสร้างสรรค์แห่งยุคปัจจุบัน จึงนับเป็นสิ่งท้าทายนักคิดนักเขียน ที่จะสร้างผลงานจากรากเหง้าให้มีอัตลักษณ์อันโดดเด่นเป็นสากล

จะทำอย่างไร … ผมขอเสนอวิธีการ (ซึ่งอาจจะไม่ถูกต้องทั้งหมด) ดังนี้

  • นำตัวบทของ นิทาน ตำนาน เกร็ดประวัติศาสตร์ พงศาวดาร (หรือประวัติศาสตร์) กระซิบมาเล่าอีกครั้งด้วยกลวิธีการเล่าสมัยใหม่ หรือขยายความให้กระจ่างขึ้น
  • นำตัวบทข้างต้น มาตีความใหม่ มายั่วล้อ (parody) มาเสียดสี (satire)
  • นำคติชาวบ้าน (folklore) มาแทรกในตัวบทอย่างมีชั้นเชิงทางศิลปะ
  • นำภาษาลาวอีสานมาใช้ให้เหมาะสมกับบริบทของเรื่อง

ในวรรณกรรมต่างประเทศระดับโลกอันหลากหลาย มีการหยิบความเป็นพื้นถิ่นพื้นบ้าน มาสร้างงานเขียนยิ่งใหญ่ไว้เป็นหมุดหมายสำคัญแห่งบรรณพิภพอยู่ทุกมุมโลก อาทิ Hermann Hesse (1877-1962) ชาวเยอรมัน ต่อมาโอนสัญชาติเป็นสวิส (1923) ผู้นำการตรัสรู้บรรลุธรรมของพระพุทธเจ้าหรือภูมิปัญญาตะวันออกมาผสมผสานกับปรัชญาพุทธ เต๋า และฮินดู เพื่อสร้างสรรค์งานเขียน เช่น Siddhartha, Steppenwolf, และ The Glass Bead Game เป็นต้น เขานิยามตนเองว่า ประชาธิปไตยเป็นศรัทธาการเมืองของข้าพเจ้า ปัจเจกนิยมเป็นทัศนะทางโลก อีกทั้งยังช่วยเหลือมิตรสหายที่หนีภัยของนาซีมาอยู่ที่สวิสฯ 

Bram Stoker (1847-1912) ชาวอังกฤษ (ดับลิน) นำประวัติศาสตร์ของแคว้นใหญ่ของโรมาเนียในสมัยของ Vlad III Dracul ผสมผสานตำนานพื้นบ้าน ลำนำ และคดี Jack ‘the Ripper’ ในลอนดอน เขียนออกมาเป็นนวนิยายสยองขวัญเรื่อง Dracula

Akutagawa Ryunosuke (1892-1927) ชาวญี่ปุ่น นำนิทานเรื่องเล่าพื้นบ้าน มาสร้างงานเขียน เช่น Rashomon ขัปปะ (Kappa) และเรื่องสั้นอื่นๆ เป็นผู้ที่ฆอร์เก้ บอร์เฆส กล่าวเชิงยกย่องไว้ว่า เป็นเรื่องยากที่เราจะแบ่งแยกความเป็นตะวันออกหรือตะวันตกในงานเขียนของเขา

Arthur Miller (1915-2005) นักเขียนบทละครชาวอเมริกัน นำประวัติศาสตร์อเมริกายุคล่าคอมมิวนิสต์ในช่วงทศวรรษ 1950 โดยลัทธิแมคคาร์ธีของพรรครีพับลิกัน ผสมผสานกับสังคมยุคไสยศาสตร์ การล่าแม่มด และเรื่องของ ฌาน ดาร์ต (โจน ออฟ อาร์ค) วีรสตรีชาวฝรั่งเศส ซึ่งถูกกล่าวหาว่า เป็นแม่มดแล้วถูกจับเผาทั้งเป็นมาเขียนบทละครเรื่องหมอผีครองเมือง (The Crucible) 

Gabriel Garcia Marquez (1928-2014) ชาวโคลัมเบีย ผู้นำเรื่องเล่าหลากหลายของย่ายายในสมัยยังเยาว์วัย นิทานหรือตำนานพื้นบ้านของละตินอเมริกา มาผสมผสานประวัติศาสตร์การต่อสู้เพื่อความเป็นไทของคนพื้นบ้านพื้นเมือง เขียนงานวรรณกรรมออกมาเป็นงานสกุลใหม่สัจนิยมมหัศจรรย์ (magical realism) เช่น หนึ่งร้อยปีแห่งความโดดเดี่ยว (One Hundred Years of Solitude), Of Love and Other Demons เรื่องราวสะท้อนภาพชีวิตภายใต้เผด็จการด้วยมุมมองและแง่มุมหลากหลาย อละ The Autumn of the Patriarch เป็นต้น

Toni Morrison (1931-2019) ชาวอเมริกัน นักเขียนสตรีผิวดำคนแรกที่ได้รับรางวัลโนเบลเมื่อปี 1993 ซึ่งเธอเพิ่งจะเสียชีวิตเมื่อต้นเดือนสิงหาคมที่เพิ่งผ่านมานี้เอง ผู้นำข่าวการใช้มีดเชือดคอลูกสาววัยสามขวบตายของทาสหญิง และพยายามเชือดลูกชายอีกสองคน เพื่อมิให้ลูกๆ ของเธอถูกจับตัวส่งกลับไปเป็นทาส ขณะทั้งครอบครัวกำลังหลบหนีการไล่ล่าของพวกนายทาสในปี 1856 นับเป็นคดีทารกฆาต (infanticide) ที่ก่อให้เกิดการถกเถียงของผู้คนทั่วไปในหลากหลายมิติ พร้อมกับนำตำนาน นิทานพื้นบ้านและประวัติศาสตร์การค้าทาส รวมไปถึงแนวคิดของการยกระดับคนหรือวัฒนธรรมแอฟริกันอเมริกันว่า มิใช่ความเป็นอื่นหรือชายขอบ 

ทว่ามันเป็นส่วนหนึ่งของการหลอมรวมความเป็นอเมริกา เธอเขียนงานยิ่งใหญ่ออกมาหลายเรื่อง อันมีแนวการเล่าแบบสัจนิยมมหัศจรรย์ อาทิ BelovedSong of Solomon (ซึ่งนวนิยายเล่มนี้ เธอหันไปสำรวจการเปลี่ยนผ่านเป็นผู้ใหญ่ของเด็กชาย มิใช่ตัวละครเพศหญิงอย่างนวนิยายก่อนหน้า The Bluest Eye  Sula) เป็นต้น

จริงอยู่ว่า บนแผ่นดินอีสาน การปรากฏขึ้นของ ลาว คำหอม หรือ คำพูน บุญทวี ที่ทำให้เลือดเนื้อแห่งพื้นบ้านพื้นเมืองมีชีวิตมีตัวตนเด่นผงาดขึ้นมาในโลกวรรณกรรม ทั้ง ฟ้าบ่กั้น แมว ลูกอีสาน นายฮ้อยทมิฬ หรือต่อมาอย่างครูบ้านนอก ของ คำหมาน คนไค คำอ้าย ของ ยงค์ ยโสธร และ ชะบน ของ ธีรยุทธ ดาวจันทึก

ทว่างานเขียนยิ่งใหญ่อันเป็นหมุดหมายเหล่านี้ ทำอย่างไรจึงจะมิให้นักเขียนอีสานบังเกิดมายาภาพว่า เป็นห้วงน้ำทิพย์อันน่าหลงใหล ว่ายวนอยู่อย่างมิยอมออกเดินทางไกล (แม้จะปรากฏการสร้างสรรค์อยู่บ้างในกาลต่อมาอย่าง นักเขียนรุ่นเก่าในกลุ่มวรรณกรรมลำน้ำมูลบางคน หรือนักเขียนรุ่นใหม่สุดในกลุ่มคณะเขียนแห่งชายคาเรื่องสั้น แม้จะยังกระเส็นกระสาย แต่ก็นับเป็นนิมิตหมายที่ดีทีเดียว)

ออกไปผจญภัยและเดินทัพทางไกลกันเถอะ เพราะการเดินไปข้างหน้าย่อมเป็นการสร้างสรรค์ และจะต้องดำเนินไปเคียงคู่กับเสรีภาพในการเขียน การอ่าน พ้นจากการชี้นำ ครอบงำ ปิดกั้น จากกลุ่มวรรณกรรม องค์กรต่างๆ และอำนาจรัฐ นั่นแหละจึงจะเป็นการสร้างสรรค์ที่ทรงค่าอย่างแท้จริง 

image_pdfimage_print