ชัยภูมิ – แม้การสอบปลายภาคจะมีขึ้นภายใน 2 สัปดาห์ แต่เด็กๆ วัยเรียนในชุมชนบ่อแก้ว ต.ทุ่งพระ อ.คอนสาร จ.ชัยภูมิ กลับไม่ไปโรงเรียน
“จะมีคนมารื้อบ้าน หนูกลัวว่า เขาจะจับปู่กับย่าไปค่ะ กลัวว่า พอกลับจากโรงเรียนแล้วจะไม่เห็นใคร” เป็นเหตุผลที่ รัชนี พานแย้ม หรือ แก้ม เด็กหญิงวัย 11 ขวบ อธิบายสาเหตุที่ไม่ไปโรงเรียน
รัชนีเรียนอยู่ชั้น ป.5 โรงเรียนองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ 19 (สวนป่าคอนสาร)บ้านทุ่งพระ อยู่ห่างจากชุมชนบ่อแก้วประมาณ 2 กิโลเมตร
รัชนี พานแย้ม หรือ แก้ม เด็กหญิงวัย 11 ขวบ กำลังทานข้าวเช้าร่วมกับเพื่อนเมื่อวันที่ 27 สิงหาคม ซึ่งเป็นวันครบกำหนดการไล่รื้อชุมชนบ่อแก้ว อ.คอนสาร จ.ชัยภูมิ
กรมบังคับคดีกำหนดให้คนในชุมชนบ่อแก้วกว่า 180 คน ต้องย้ายออกจากเขตป่าสงวนแห่งชาติภูซำผักหนามภายในวันที่ 27 สิงหาคม ซึ่งเป็นไปตามคำตัดสินของศาลฎีกาเมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมาว่า บุกรุกป่า
บ้านพักของคนในชุมชนบ่อแก้ว ต.ทุ่งพระ อ.คอนสาร จ.ชัยภูมิ ภาพโดย อติเทพ จันทร์เทศ
รัชนีพาเดอะอีสานเรคคอร์ดสำรวจชุมชนบ่อแก้ว พบว่า บ้านพักส่วนใหญ่ถูกสร้างไม่นาน บางหลังอยู่ระหว่างการต่อเติม
เช่นเดียวกับบ้านของเธอที่เป็นบ้านชั้นเดียวและยังสร้างไม่เสร็จ รัชนีอยู่กับปู่ ย่า และย่าทวดวัย 85 ปี ที่เป็นผู้ป่วยติดเตียง ส่วนพ่อกับแม่ไปทำงานต่างถิ่น
“เราไม่ค่อยมีเงินก็ค่อยๆ ต่อเติมไป เราไม่มีที่ดินทำกินก็ต้องไปรับจ้าง พอได้เงินจากการรับจ้างก็นำมาต่อเติมบ้าน” สมหมาย โถปั้น ยายของรัชนีเล่า
เธอยังเล่าอีกว่า พ่อแม่เคยทำกินในที่ดินประมาณ 60 ไร่ และมีหลักฐานเป็น ภบท.5 แต่เมื่อปี 2521 เจ้าหน้าที่แจ้งว่า ให้ออกไปอยู่นอกพื้นที่ป่าคอนสาร เพราะจะมีการปลูกต้นไม้
“เราเคยออกไปอยู่ข้างนอกแล้วกลับมาใหม่เมื่อปี 2552 และมีการจัดสรรที่ดินกันเองกับเพื่อนบ้าน จึงได้ที่ดินเพียง 1 ไร่” สมหมาย เล่า
เธอและครอบครัวแบ่งพื้นที่บางส่วนปลูกผักสวนครัวและไม้ผล แต่ก็ไม่เพียงพอกับการสร้างรายได้ เธอและสามีจึงต้องทำงานรับจ้าง ซึ่งหวังว่า วันหนึ่งจะได้ที่ดินบางส่วนคืน แต่เมื่อศาลฎีกาตัดสินว่า พวกเขาบุกรุกป่า และขีดเส้นตายให้ย้ายออกจากพื้นที่ สถานการณ์ก็เปลี่ยนไป
“พอหลานรู้ว่าเขาจะมาจับ ก็เลยไม่ไปโรงเรียน เพราะกลัวว่า กลับมาจะเจอแต่บ้านเปล่า ถ้าจะมาจับก็ต้องจับไปทั้งหมด” สมหมาย กล่าว
แม้ศาลฎีกาจะตัดสินว่า คนในชุมชนบ่อแก้ว “บุกรุกป่า” แต่เมื่อดูสภาพพื้นที่กลับพบว่า ชุมชนบ่อแก้วอยู่ในที่ราบ มีพืชผลอาสินที่มีอายุเกินกว่า 30 ปี
ถังน้ำประปาประจำหมู่บ้านบ่อแก้ว อ.คอนสาร จ.ชัยภูมิ ภาพโดย อติเทพ จันทร์เทศ
ภายในชุมชนติดตั้งน้ำประปาหมู่บ้านและไฟฟ้าจากการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค แต่เสาไฟฟ้ายังคงเป็นเสาไม้แบบชั่วคราว
ที่ตั้งหมู่บ้านอยู่ไม่ไกลจากถนนขอนแก่น-ชุมแพ ทางเข้าหมู่บ้านมีศูนย์ปฏิบัติธรรมรัศมีที่มีพื้นที่กว่า 240 ไร่ ส่วนถนนเข้าหมู่บ้านเป็นถนนคอนกรีตที่ก่อสร้างโดยองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ทุ่งพระ
สุวรรณ์ ดาบภูเขียว แสดงหลักฐานการสำรวจเนื้อที่ดินเพื่อเสียภาษีบำรุงท้องที่ประจำปี 2509 ถึง 2512 อ.คอนสาร จ.ชัยภูมิ ภาพโดย อติเทพ จันทร์เทศ
ขณะที่ สุวรรณ์ ดาบภูเขียว หญิงวัย 68 ปี เป็นหนึ่งในผู้ที่มีเอกสารสิทธิ์ครอบครอบที่ดิน ภ.บ.ท. 6 และ ส.ค. 1 เล่าว่า พ่อแม่เข้ามาจับจองที่ดินตั้งแต่ปี 2494 เนื้อที่กว่า 100 ไร่ ต่อมารัฐให้ชาวบ้านออกจากพื้นที่ โดยอ้างว่า “จะทำประโยชน์”
“ตอนนั้นเราไถที่เพื่อเตรียมจะปลูกข้าวโพด แต่เขาก็ถืออาวุธมาไล่ มีต้นไม้อะไร เขาก็ตัดทิ้งหมด” สุวรรณ์กล่าว
เธอมีเอกสารยืนยันการครอบครองที่ดินหลายฉบับ อาทิ ใบเสร็จรับเงินการเสียภาษีบำรุงท้องที่ หรือ ภ.บ.ท. 8 มีนายอำเภอคอนสารเป็นผู้ออกให้ โดยเริ่มเสียภาษีครั้งแรกเมื่อ 15 สิงหาคม 2496 เป็นต้นมา
นอกจากนี้ตามเอกสารเลขที่ 18/2509 แบบสำรวจเนื้อที่ดินเพื่อเสียภาษีบำรุงท้องที่ประจำปี 2509 ถึง 2512 ระบุชื่อผู้ชี้เขต คือ ก่อม บางขุนทด ต.ทุ่งพระ อ.คอนสาร จ.ชัยภูมิ ครอบครองที่ดิน 4 แปลง จำนวน 46 ไร่
สุวรรณ์แสดงเอกสารการครอบครองที่ดิน อ.คอนสาร จ.ชัยภูมิ ภาพโดย อติเทพ จันทร์เทศ
ต่อมาปี 2517 ได้เปลี่ยนเอกสารเป็นหนังสือรับรองการทำประโยชน์ และหนังสืออนุญาตให้เข้าใช้ประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดิน (ส.ป.ก.) ในที่สุด
แม้จะมีเอกสารยืนยันการครอบครองที่ดิน แต่หัวหน้าครอบครัวก็จำใจพาสมาชิกออกจากผืนดินตัวเองและปลูกบ้านนอกพื้นที่
“ตอนนี้เรามีบ้านอยู่นอกชุมชนบ่อแก้ว แต่ก็มีที่ดินอยู่ในพื้นที่นี้ ตอนนี้พวกเราต้องการที่ดินคืน เพื่อให้ลูกหลานได้ทำกิน” สุวรรณ์ กล่าว
ข้อมูลการครอบครองที่ดินยังไม่เป็นข้อยุติว่า “คนอยู่ก่อนป่า” หรือ “ป่าอยู่ก่อนคน”
หลังจากคณะกรรมการยุทธศาสตร์แก้ไขปัญหาที่ดิน กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นำโดย กัญจนา ศิลปอาชา ลงพื้นที่เมื่อวันที่ 26 สิงหาคมที่ผ่านมา ได้ข้อสรุปว่า จะนำเอกสาร หลักฐานและพยานบุคคลเข้าสู่การพิจารณาในวันที่ 30 สิงหาคมนี้
ความไม่ชัดเจนในข้อมูลทำให้เจ้าหน้าที่กรมป่าไม้ต้องเร่งหาข้อเท็จจริงเพื่อนำเสนอคณะกรรมการฯ
เจวิทย์ คำนึงผล หัวหน้าหน่วยป้องกันและพัฒนาป่าไม้คอนสาร หน่วยป้องกันรักษาป่าที่ 4 จ.ชัยภูมิ (ชย.4) เปิดเผยว่า กำลังรวบรวมภาพถ่ายทางอากาศที่ถือเป็นหลักฐานสำคัญต่อการพิจารณาการครอบครองที่ดิน
“เรากำลังแปลภาพถ่ายทางอากาศ แต่เท่าที่ดู เห็นว่า พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นสีเขียว แต่เราต้องให้ความเป็นธรรมกับชาวบ้าน เพราะการทำเกษตรก็เป็นสีเขียว ผมจึงติดต่อไปยังอดีตหัวหน้าหน่วยป้องกันฯ คนเก่าๆ ให้เป็นพยาน เพื่อนำข้อมูลเสนอต่อคณะกรรมการฯ” หัวหน้า ชย.4 กล่าว
เขายังชี้แจงอีกว่า หลังกรมป่าไม้อนุญาตให้ อ.อ.ป. เข้าทำประโยชน์ในสวนป่าคอนสารกว่า 21,000 ไร่ ได้จัดสรรที่ดินให้ชาวบ้านคนละ 1 ไร่ ในหมู่บ้านสวนป่า ซึ่งอยู่ฝั่งตรงข้ามสวนป่าคอนสาร และได้สร้างโรงเรียนรองรับลูกหลานของชาวบ้าน
บุญ ปานสกุล ชาวบ้านสวนป่า ต.ทุ่งพระ อ.คอนสาร จ.ชัยภูมิ ซึ่งเป็นหมู่บ้านที่องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ (อ.อ.ป.) จัดสรรที่ดินให้สำหรับการปลูกบ้าน ภาพโดย อติเทพ จันทร์เทศ
เดอะอีสานเรคคอร์ดพบว่า ฝั่งตรงข้ามสวนป่าคอนสารมีหมู่บ้านและโรงเรียน ตามที่หัวหน้าหน่วยป้องกันและพัฒนาป่าไม้คอนสาร หน่วยป้องกันรักษาป่าที่ 4 จ.ชัยภูมิชี้แจง
บุญ ปานสกุล หญิงวัย 79 ปี ชาวบ้านสวนป่า อ.คอนสาร จ.ชัยภูมิ บอกว่า เคยทำเกษตรในเขตป่าคอนสาร แต่เมื่อรัฐจัดสรรที่ดินให้ปลูกบ้านและทำกิน จึงอพยพออกจากพื้นที่
“ไม่คิดว่า เรื่องนี้จะเป็นปัญหา และมีคนในหมู่บ้านสวนป่าไปร่วมเรียกร้องที่ดินในชุมชนบ่อแก้ว 4-5 คน แต่ดิฉันแก่แล้วจึงไม่เข้าร่วม” ชาวบ้านสวนป่ากล่าว
ลำดับเหตุการณ์ชุมชนบ่อแก้ว
2494 ชาวบ้านเข้าทำประโยชน์ในที่ดิน อ.คอนสาร จ.ชัยภูมิ
2496 เริ่มเสียภาษีบำรุงท้องที่ หรือ ภ.บ.ท. 8
2516 ประกาศเขตป่าสงวนแห่งชาติภูซำผักหนาม
2521 องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ (อ.อ.ป.) ได้รับอนุญาตจากกรมป่าไม้ให้เข้าทำประโยชน์
27 สิงหาคม 2552 อ.อ.ป.ฟ้องขับไล่ชาวบ้านและผู้เกี่ยวข้อง 31 คน
29 มกราคม 2562 ศาลฎีกามีคำพิพากษาว่า 31 คน บุกรุกป่าและให้ออกจากพื้นที่
26 กรกฎาคม 2562 เจ้าหน้าที่กรมป่าไม้และฝ่ายปกครองปิดหมายบังคับคดีให้ออกจากพื้นที่ภายในวันที่ 27 สิงหาคม 2562
การแก้ไขปัญหาสวนป่าคอนสาร จ.ชัยภูมิ ถูกหยิบยกมาถกเถียงในหลายรัฐบาล สมนึก ตุ้มสุภาพ อดีตคณะกรรมการแก้ไขปัญหาที่ดินทำกินในรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เปิดเผยว่า ขณะนี้มีผู้ได้รับผลกระทบทั้งหมด 277 ครอบครัว แยกเป็นคนที่อาศัยอยู่ในชุมชนบ่อแก้ว 46 ครอบครัว ส่วนที่เหลืออาศัยอยู่นอกชุมชน แต่มีที่ดินทำกินในชุมชนบ่อแก้ว
“คณะกรรมการฯ เคยมีมติให้สวนป่าคอนสารเป็นโฉนดชุมชน และให้ชุมชนจัดการกันเอง เมื่อเปลี่ยนรัฐบาล การแก้ไขปัญหาก็ไม่สำเร็จ และตอนนี้ชาวบ้านก็เรียกร้องให้จัดสรรที่ดิน 830 ไร่ เพื่อเป็นโฉนดชุมชน” สมนึกระบุ
การแก้ไขปัญหาที่ดินในสวนป่าคอนสาร ถือเป็นมหากาพย์เรื่องยาวที่อดีตคณะกรรมการแก้ไขปัญหาที่ดินเห็นว่า “ควรจบเสียที”