1

มหากาพย์สวนป่าคอนสาร…. แผ่นดินนี้ใครครอง

ชัยภูมิ – แม้การสอบปลายภาคจะมีขึ้นภายใน 2 สัปดาห์ แต่เด็กๆ วัยเรียนในชุมชนบ่อแก้ว ต.ทุ่งพระ อ.คอนสาร จ.ชัยภูมิ กลับไม่ไปโรงเรียน 

“จะมีคนมารื้อบ้าน หนูกลัวว่า เขาจะจับปู่กับย่าไปค่ะ กลัวว่า พอกลับจากโรงเรียนแล้วจะไม่เห็นใคร” เป็นเหตุผลที่ รัชนี พานแย้ม หรือ แก้ม เด็กหญิงวัย 11 ขวบ อธิบายสาเหตุที่ไม่ไปโรงเรียน 

รัชนีเรียนอยู่ชั้น ป.5 โรงเรียนองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ 19 (สวนป่าคอนสาร)บ้านทุ่งพระ อยู่ห่างจากชุมชนบ่อแก้วประมาณ 2 กิโลเมตร

กรมบังคับคดีกำหนดให้คนในชุมชนบ่อแก้วกว่า 180 คน ต้องย้ายออกจากเขตป่าสงวนแห่งชาติภูซำผักหนามภายในวันที่ 27 สิงหาคม ซึ่งเป็นไปตามคำตัดสินของศาลฎีกาเมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมาว่า บุกรุกป่า 

รัชนีพาเดอะอีสานเรคคอร์ดสำรวจชุมชนบ่อแก้ว พบว่า บ้านพักส่วนใหญ่ถูกสร้างไม่นาน บางหลังอยู่ระหว่างการต่อเติม 

เช่นเดียวกับบ้านของเธอที่เป็นบ้านชั้นเดียวและยังสร้างไม่เสร็จ รัชนีอยู่กับปู่ ย่า และย่าทวดวัย 85 ปี ที่เป็นผู้ป่วยติดเตียง ส่วนพ่อกับแม่ไปทำงานต่างถิ่น 

“เราไม่ค่อยมีเงินก็ค่อยๆ ต่อเติมไป เราไม่มีที่ดินทำกินก็ต้องไปรับจ้าง พอได้เงินจากการรับจ้างก็นำมาต่อเติมบ้าน” สมหมาย โถปั้น ยายของรัชนีเล่า 

เธอยังเล่าอีกว่า พ่อแม่เคยทำกินในที่ดินประมาณ 60 ไร่ และมีหลักฐานเป็น ภบท.5 แต่เมื่อปี 2521 เจ้าหน้าที่แจ้งว่า ให้ออกไปอยู่นอกพื้นที่ป่าคอนสาร เพราะจะมีการปลูกต้นไม้ 

“เราเคยออกไปอยู่ข้างนอกแล้วกลับมาใหม่เมื่อปี 2552 และมีการจัดสรรที่ดินกันเองกับเพื่อนบ้าน จึงได้ที่ดินเพียง 1 ไร่” สมหมาย เล่า 

เธอและครอบครัวแบ่งพื้นที่บางส่วนปลูกผักสวนครัวและไม้ผล แต่ก็ไม่เพียงพอกับการสร้างรายได้ เธอและสามีจึงต้องทำงานรับจ้าง ซึ่งหวังว่า วันหนึ่งจะได้ที่ดินบางส่วนคืน แต่เมื่อศาลฎีกาตัดสินว่า พวกเขาบุกรุกป่า และขีดเส้นตายให้ย้ายออกจากพื้นที่ สถานการณ์ก็เปลี่ยนไป 

“พอหลานรู้ว่าเขาจะมาจับ ก็เลยไม่ไปโรงเรียน เพราะกลัวว่า กลับมาจะเจอแต่บ้านเปล่า ถ้าจะมาจับก็ต้องจับไปทั้งหมด” สมหมาย กล่าว 

แม้ศาลฎีกาจะตัดสินว่า คนในชุมชนบ่อแก้ว “บุกรุกป่า” แต่เมื่อดูสภาพพื้นที่กลับพบว่า ชุมชนบ่อแก้วอยู่ในที่ราบ มีพืชผลอาสินที่มีอายุเกินกว่า 30 ปี

ภายในชุมชนติดตั้งน้ำประปาหมู่บ้านและไฟฟ้าจากการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค แต่เสาไฟฟ้ายังคงเป็นเสาไม้แบบชั่วคราว 

ที่ตั้งหมู่บ้านอยู่ไม่ไกลจากถนนขอนแก่น-ชุมแพ ทางเข้าหมู่บ้านมีศูนย์ปฏิบัติธรรมรัศมีที่มีพื้นที่กว่า 240 ไร่ ส่วนถนนเข้าหมู่บ้านเป็นถนนคอนกรีตที่ก่อสร้างโดยองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ทุ่งพระ

ขณะที่ สุวรรณ์ ดาบภูเขียว หญิงวัย 68 ปี เป็นหนึ่งในผู้ที่มีเอกสารสิทธิ์ครอบครอบที่ดิน ภ.บ.ท. 6 และ ส.ค. 1 เล่าว่า พ่อแม่เข้ามาจับจองที่ดินตั้งแต่ปี 2494 เนื้อที่กว่า 100 ไร่ ต่อมารัฐให้ชาวบ้านออกจากพื้นที่ โดยอ้างว่า “จะทำประโยชน์”

“ตอนนั้นเราไถที่เพื่อเตรียมจะปลูกข้าวโพด แต่เขาก็ถืออาวุธมาไล่  มีต้นไม้อะไร เขาก็ตัดทิ้งหมด” สุวรรณ์กล่าว 

เธอมีเอกสารยืนยันการครอบครองที่ดินหลายฉบับ อาทิ ใบเสร็จรับเงินการเสียภาษีบำรุงท้องที่ หรือ ภ.บ.ท. 8 มีนายอำเภอคอนสารเป็นผู้ออกให้ โดยเริ่มเสียภาษีครั้งแรกเมื่อ 15 สิงหาคม 2496 เป็นต้นมา 

นอกจากนี้ตามเอกสารเลขที่ 18/2509 แบบสำรวจเนื้อที่ดินเพื่อเสียภาษีบำรุงท้องที่ประจำปี 2509 ถึง 2512 ระบุชื่อผู้ชี้เขต คือ ก่อม บางขุนทด ต.ทุ่งพระ อ.คอนสาร จ.ชัยภูมิ ครอบครองที่ดิน 4 แปลง จำนวน 46 ไร่ 

ต่อมาปี 2517 ได้เปลี่ยนเอกสารเป็นหนังสือรับรองการทำประโยชน์ และหนังสืออนุญาตให้เข้าใช้ประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดิน (ส.ป.ก.) ในที่สุด 

แม้จะมีเอกสารยืนยันการครอบครองที่ดิน แต่หัวหน้าครอบครัวก็จำใจพาสมาชิกออกจากผืนดินตัวเองและปลูกบ้านนอกพื้นที่

“ตอนนี้เรามีบ้านอยู่นอกชุมชนบ่อแก้ว แต่ก็มีที่ดินอยู่ในพื้นที่นี้ ตอนนี้พวกเราต้องการที่ดินคืน เพื่อให้ลูกหลานได้ทำกิน” สุวรรณ์ กล่าว 

ข้อมูลการครอบครองที่ดินยังไม่เป็นข้อยุติว่า “คนอยู่ก่อนป่า” หรือ “ป่าอยู่ก่อนคน” 

หลังจากคณะกรรมการยุทธศาสตร์แก้ไขปัญหาที่ดิน กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นำโดย กัญจนา ศิลปอาชา ลงพื้นที่เมื่อวันที่ 26 สิงหาคมที่ผ่านมา ได้ข้อสรุปว่า จะนำเอกสาร หลักฐานและพยานบุคคลเข้าสู่การพิจารณาในวันที่ 30 สิงหาคมนี้ 

ความไม่ชัดเจนในข้อมูลทำให้เจ้าหน้าที่กรมป่าไม้ต้องเร่งหาข้อเท็จจริงเพื่อนำเสนอคณะกรรมการฯ  

เจวิทย์ คำนึงผล หัวหน้าหน่วยป้องกันและพัฒนาป่าไม้คอนสาร หน่วยป้องกันรักษาป่าที่ 4 จ.ชัยภูมิ (ชย.4) เปิดเผยว่า กำลังรวบรวมภาพถ่ายทางอากาศที่ถือเป็นหลักฐานสำคัญต่อการพิจารณาการครอบครองที่ดิน

“เรากำลังแปลภาพถ่ายทางอากาศ แต่เท่าที่ดู เห็นว่า พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นสีเขียว แต่เราต้องให้ความเป็นธรรมกับชาวบ้าน เพราะการทำเกษตรก็เป็นสีเขียว ผมจึงติดต่อไปยังอดีตหัวหน้าหน่วยป้องกันฯ คนเก่าๆ ให้เป็นพยาน เพื่อนำข้อมูลเสนอต่อคณะกรรมการฯ” หัวหน้า ชย.4 กล่าว 

เขายังชี้แจงอีกว่า หลังกรมป่าไม้อนุญาตให้ อ.อ.ป. เข้าทำประโยชน์ในสวนป่าคอนสารกว่า 21,000 ไร่ ได้จัดสรรที่ดินให้ชาวบ้านคนละ 1 ไร่ ในหมู่บ้านสวนป่า ซึ่งอยู่ฝั่งตรงข้ามสวนป่าคอนสาร และได้สร้างโรงเรียนรองรับลูกหลานของชาวบ้าน

เดอะอีสานเรคคอร์ดพบว่า ฝั่งตรงข้ามสวนป่าคอนสารมีหมู่บ้านและโรงเรียน ตามที่หัวหน้าหน่วยป้องกันและพัฒนาป่าไม้คอนสาร หน่วยป้องกันรักษาป่าที่ 4 จ.ชัยภูมิชี้แจง 

บุญ ปานสกุล หญิงวัย 79 ปี ชาวบ้านสวนป่า อ.คอนสาร จ.ชัยภูมิ บอกว่า เคยทำเกษตรในเขตป่าคอนสาร แต่เมื่อรัฐจัดสรรที่ดินให้ปลูกบ้านและทำกิน จึงอพยพออกจากพื้นที่ 

“ไม่คิดว่า เรื่องนี้จะเป็นปัญหา และมีคนในหมู่บ้านสวนป่าไปร่วมเรียกร้องที่ดินในชุมชนบ่อแก้ว 4-5 คน แต่ดิฉันแก่แล้วจึงไม่เข้าร่วม” ชาวบ้านสวนป่ากล่าว 

ลำดับเหตุการณ์ชุมชนบ่อแก้ว

2494 ชาวบ้านเข้าทำประโยชน์ในที่ดิน อ.คอนสาร จ.ชัยภูมิ 

2496 เริ่มเสียภาษีบำรุงท้องที่ หรือ ภ.บ.ท. 8 

2516 ประกาศเขตป่าสงวนแห่งชาติภูซำผักหนาม 

2521 องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ (อ.อ.ป.) ได้รับอนุญาตจากกรมป่าไม้ให้เข้าทำประโยชน์

27 สิงหาคม 2552 อ.อ.ป.ฟ้องขับไล่ชาวบ้านและผู้เกี่ยวข้อง 31 คน 

29 มกราคม 2562 ศาลฎีกามีคำพิพากษาว่า 31 คน บุกรุกป่าและให้ออกจากพื้นที่ 

26 กรกฎาคม 2562 เจ้าหน้าที่กรมป่าไม้และฝ่ายปกครองปิดหมายบังคับคดีให้ออกจากพื้นที่ภายในวันที่ 27 สิงหาคม 2562 

การแก้ไขปัญหาสวนป่าคอนสาร จ.ชัยภูมิ ถูกหยิบยกมาถกเถียงในหลายรัฐบาล สมนึก ตุ้มสุภาพ อดีตคณะกรรมการแก้ไขปัญหาที่ดินทำกินในรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เปิดเผยว่า ขณะนี้มีผู้ได้รับผลกระทบทั้งหมด 277 ครอบครัว แยกเป็นคนที่อาศัยอยู่ในชุมชนบ่อแก้ว 46 ครอบครัว ส่วนที่เหลืออาศัยอยู่นอกชุมชน แต่มีที่ดินทำกินในชุมชนบ่อแก้ว

“คณะกรรมการฯ เคยมีมติให้สวนป่าคอนสารเป็นโฉนดชุมชน และให้ชุมชนจัดการกันเอง เมื่อเปลี่ยนรัฐบาล การแก้ไขปัญหาก็ไม่สำเร็จ และตอนนี้ชาวบ้านก็เรียกร้องให้จัดสรรที่ดิน 830 ไร่ เพื่อเป็นโฉนดชุมชน” สมนึกระบุ 

การแก้ไขปัญหาที่ดินในสวนป่าคอนสาร ถือเป็นมหากาพย์เรื่องยาวที่อดีตคณะกรรมการแก้ไขปัญหาที่ดินเห็นว่า “ควรจบเสียที”