ยศพนธ์ เกิดวิบูลย์ เรื่อง

บ่ายคล้อยของวันดีเดย์ 27 สิงหาคมที่ผ่านมา ถือเป็นวันที่ชาวชุมชนบ่อแก้ว ต.ทุ่งพระ อ.คอนสาร จ.ชัยภูมิ ต้องขวัญหนีดีฝ่อกับคำสั่งของกรมบังคับคดีให้ออกจากสวนป่าคอนสาร หลังการตัดสินของศาลฎีกาว่า ชาวบ้านและผู้เกี่ยวข้อง 31 คน “บุกรุกป่า”  

แต่การลงพื้นที่ของคณะกรรมการยุทธศาสตร์แก้ไขปัญหาที่ดินทำกิน กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพียง 1 วัน ก่อนการขับไล่ สามารถยืดเวลาบังคับคดีออกไป 30 วัน 

เดอะอีสานเรคคอร์ดมีโอกาสจับเข่าคุยกับ อรนุช ผลภิญโญ หนึ่งในคณะกรรมการเครือข่ายปฏิรูปที่ดินภาคอีสาน (คปอ.) เพื่อพูดคุยถึงต้นตอปัญหาและแนวทางแก้ไขปัญหาที่ดินทำกินที่เป็นปัญหาคลาสสิคของรัฐบาลทุกยุคทุกสมัย 

ข้อพิพาทระหว่างรัฐกับชาวบ้าน ทั้งกรณีชุมชนบ่อแก้วและชุมชนใกล้อุทยานแห่งชาติไทรทอง จ.ชัยภูมิ สะท้อนปัญหาสิทธิเรื่องที่ดินทำกินอย่างไร 

สะท้อนว่า รัฐบาลยังคงบังคับใช้กฎหมายอุทยานแห่งชาติหรือป่าสงวนแห่งชาติ รวมทั้งกฎหมายป่าชุมชนกับคนที่อาศัยในพื้นที่ โดยรัฐอ้างว่า ต้องการอนุรักษ์ป่า โดยไม่พิจารณาให้รอบคอบว่า ชุมชนเข้ามาอยู่บริเวณนั้นก่อนประกาศเป็นเขตป่าอนุรักษ์หรือไม่ ทำให้คนที่อาศัยอยู่ในป่า ซึ่งบางคนเป็นผู้บุกเบิกเพื่อสร้างที่อยู่อาศัยและทำกิน กลายเป็นผู้บุกรุกป่า ผิดกฎหมายบ้านเมือง กลายเป็นปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชน ละเมิดสิทธิชุมชนที่เขาอยู่มาก่อน 

อย่างเช่น กรณีชุมชนบ่อแก้ว เห็นได้ชัดเจนว่า โครงการขององค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ (อ.อ.ป) ที่มาปลูกไม้ยูคาลิปตัสเพื่อเป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรมเยื่อกระดาษทั้งที่ชาวบ้านมีเอกสารสิทธิ์ในที่ดินและใช้ประโยชน์ในที่ดินอยู่ก่อนแล้ว แต่ อ.อ.ป. ไม่ได้สนใจเรื่องนี้ สนใจแต่เพียงว่า ต้องการพื้นที่ป่าเพิ่มเพื่อปลูกไม้ยูคาลิปตัสกี่ไร่เท่านั้น 

ปัญหานี้ ไม่ว่ารัฐบาลไหนเข้ามาบริหารก็ไม่ได้รับการแก้ไขอย่างจริงจัง มิหนำซ้ำกลับมีผู้ได้รับผลกระทบจากกฎหมายนี้เพิ่มขึ้น

จะบอกว่าปัญหานี้ คือ ปัญหาระดับโครงสร้าง เป็นเรื่องรัฐบังคับใช้กฎหมายใช่ไหม 

ใช่ มองลึกๆ แล้วเป็นปัญหาเรื่องสิทธิในที่ดินทำกิน ที่เกิดจากการบังคับใช้กฎหมายของรัฐที่ไม่เป็นธรรม เป็นปัญหาการกระจายการถือครองที่ดินให้กับคนในประเทศที่ไม่เป็นธรรมด้วย เพราะผู้ที่จะบอกว่า ที่ดินเป็นของใคร เป็นพื้นที่ป่า คนไม่ควรอยู่ ป่าแห่งนี้ควรได้รับการอนุรักษ์ คือ รัฐ รัฐผูกขาดอำนาจนี้ไว้เพียงผู้เดียว ประชาชนไม่มีส่วนร่วมในการจัดสรรที่ดินนี้ 

หลายครั้งที่รัฐต้องการป่า รัฐจะนั่งในห้องแอร์แล้วก็ใช้ปากกาชี้จุดและวาดอาณาเขตเพื่อกำหนดว่า ตรงนี้เป็นเขตอนุรักษ์ ทั้งที่บริเวณนั้นอาจมีชุมชน มีชาวบ้านที่อาศัยทำกินมาก่อน 

ถ้าย้อนไปในอดีด ที่ดินบนภูเขาหรือในป่ายังไม่มีการกำหนดว่า เป็นของรัฐหรือชุมชนใครบุกเบิกก็ได้เป็นของตัวเอง แล้วใครควรจะมีสิทธิ์ในที่ดินเหล่านั้น

ส่วนใหญ่ชาวบ้านบุกเบิกที่ดินในพื้นที่ป่าเพื่อตั้งชุมชนและทำกิน โดยเฉพาะคนอีสาน คนเหนือ แต่พอรัฐประกาศเขตอนุรักษ์ป่าช่วงปี 2484 รัฐก็ชี้ว่า พื้นที่ตรงไหนเป็นป่าหรือเข้านิยามคำว่า “ป่า” ที่กฎหมายกำหนด นี่คือต้นเหตุของปัญหาป่าไม้และสิทธิที่ดินทำกิน เพราะกฎหมายป่าไม้มีการตีความคำว่า “ป่า” ว่า เป็นพื้นที่ที่ไม่มีเอกสารสิทธิ์ตามประมวลกฎหมายที่ดิน 

เวลาพูดถึงการประกาศพื้นที่อนุรักษ์ ไม่ว่าจะเป็นแหล่งน้ำ ลำห้วยก็จะถูกตีความว่า เป็นพื้นที่ป่าทั้งหมด รวมทั้งที่ดินทำกินของชาวบ้านที่เขามีใบเอกสารการเสียภาษีบำรุงท้องที่ (ภาษีดอกหญ้า) ซึ่งท้องถิ่นเก็บ แต่ไม่ใช่เอกสารแสดงสิทธิครอบครองที่ดิน รัฐก็จะถือว่า เป็นพื้นที่ป่าที่ต้องอนุรักษ์ และต้องบังคับขับไล่คนที่อยู่ในป่าก่อนประกาศเป็นป่าสงวนฯ ออกจากพื้นที่ ซึ่งกฎหมายเหล่านี้เป็นกฎหมายที่ล้าหลัง ควรมีการแก้ไขการตีความหรือนิยามคำว่า “ป่า” ใหม่

ถ้าไม่มีกฎหมายป่าไม้ คนก็อาจแย่งกันบุกเบิกที่ป่าเพื่อทำกิน 

ก็ดี แต่ความหมายของการอนุรักษ์ควรจะหมายถึง การควบคุม ดูแล ฟื้นฟู และจัดการใช้ประโยชน์จากป่าได้ ไม่ใช่ว่า ไม่สามารถใช้ประโยชน์จากป่า อีกอย่างการอนุรักษ์ไม่ควรเป็นการอนุรักษ์แบบเชิงเดี่ยวที่ให้รัฐเป็นผู้อนุรักษ์ฝ่ายเดียว ต้องให้คนในป่า ชุมชนข้างป่าได้ประโยชน์จากป่า ได้ไม้ ได้อาหาร 

พวกเขาควรมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์และจัดการทรัพยากรป่าด้วย กรมอุทยาน กระทรวงทรัพยากรและธรรมชาติเองก็ยอมรับว่า กำลังเจ้าหน้าที่มีไม่เพียงพอต่อการรักษาป่า สิ่งที่จะทำให้เกิดการอนุรักษ์ป่าได้ “ชุมชน” คนในป่าสามารถช่วยได้ ทำไมเราถึงไม่ทำให้พวกเขาอยู่ร่วมกับป่าโดยมีแผนจัดการร่วมกัน

ถ้าอย่างนั้นก็หมายความว่า คนสามารถอยู่กับป่าได้ 

ใช่ คนที่เขาอาศัยทำกินในป่าก็ต้องพึ่งพาอาหารในป่าอยู่แล้ว การพึ่งพาอาหารก็ต้องอนุรักษ์ระบบนิเวศเพื่อให้มันผลิตอาหารอยู่แล้ว ไม่มีใครอยากทำลายหม้อข้าวตัวเองหรอก แม้แต่ชาวบ้านก็เหมือนกัน ชาวบ้านก็รู้ว่า ถ้าเขาทำลายป่า เขาจะไม่มีอาหาร เขาจะไม่มีไม้ใช้สอย ไม่มีความมั่นคงในเศรษฐกิจ ไม่มีความมั่นคงในชีวิต 

การอนุรักษ์จึงไม่ใช่การแยกคนออกจากป่า แล้วเปิดให้เอกชนเข้ามาสัมปทานสร้างเขื่อน ทำเหมืองแร่ หรือตัดต้นไม้ไปขาย

ทราบว่า เครือข่ายปฏิรูปที่ดินทั่วประเทศมีข้อเสนอเรื่องโฉนดชุมชน นัยยะของ “โฉนดชุมชน” ควรเป็นอย่างไร 

คำว่า โฉนดชุมชน ของคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินอีสาน (คปอ.) ที่ร่วมกับขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (พีมูฟ) พยายามผลักดันให้เป็นกฎหมายของภาคประชาชน  โดยร่าง พ.ร.บ.โฉนดชุมชน เสนอให้รัฐรับรองสิทธิ์ของชุมชนที่อาศัยและทำกินในพื้นที่ป่า

กฎหมายฉบับนี้มีหลักการว่า ควรให้สิทธิ์แก่ชุมชนที่ทำกินก่อนรัฐประกาศเป็นเขตป่าสามารถทำกินได้ และให้เปลี่ยนกรรมสิทธิ์ถือครองที่ดินแบบปัจเจกบุคคลเป็นกรรมสิทธิ์แบบร่วม 

ให้ชุมชนเป็นเจ้าของโฉนดที่ดินร่วมกัน เพื่อป้องกันไม่ให้คนในชุมชนนำที่ดินไปขายให้นายทุน และกฎหมายฉบับนี้จะตั้งกองทุนธนาคารที่ดินเพื่อให้ผู้ที่ไร้ที่ดินทำกินเข้าถึงสิทธิ์การถือครองที่ดินเพื่อที่อยู่อาศัยและที่ดินทำกิน

ทำไมต้องเป็นกรรมสิทธิ์ร่วม ทั้งที่การให้โฉนดแก่บุคคลดูแลเป็นเรื่องที่จัดการง่ายกว่า

ถ้าที่ดินของชุมชนถูกเปลี่ยนมือจากการกว้านซื้อของเอกชน ก็จะทำให้ปัญหาที่ดินทำกินรุนแรงขึ้น เพราะมักมีเอกชนซื้อที่ดินเพื่อเก็งกำไรและทำธุรกิจ เช่น ซื้อที่ดินไว้สร้างโรงงาน ทำเหมืองแร่ ปลูกพืชเชิงเดี่ยว เป็นต้น สิ่งเหล่านี้อาจทำให้เกิดปัญหาเรื่องผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมตามมา 

นอกจากนี้ อาจจะเกิดปัญหาคนไร้ที่ดินทำกิน แม้บางคนอาจไม่อยากขายที่ดินให้เอกชนที่มากว้านซื้อ แต่สุดท้ายจำเป็นต้องขาย เพราะเขาซื้อที่ดินโดยรอบแล้ว สุดท้ายวิถีชีวิตคนนั้นก็เปลี่ยนไป พวกเขาต้องหาที่อยู่ใหม่ในเขตเมือง จากเคยทำอาชีพเกษตรกรรม พึ่งพาอาหารจากธรรมชาติ เปลี่ยนเป็นทำงานในโรงงาน ทำงานรับจ้าง บางคนกลายเป็นคนจนเมือง 

จากการทำงานเรื่องปัญหาที่ดินมานาน “ที่ดิน” สำคัญต่อชีวิตคนจนอย่างไร

ที่ดิน คือ ชีวิต ที่ดิน คือ คำตอบของพวกเขา สมมติว่าคนในครอบครัวมีที่ดินทำกิน พวกเขาอาจจะไม่ต้องไปขายแรงงาน เพราะที่ดินทำให้มีรายได้จากการขายผลผลิต เขาอยู่ได้ เลี้ยงตัวเองได้ แล้วเขาก็สามารถดูแลครอบครัวได้ นี่คือคำตอบว่า ทำไมที่ดิน คือชีวิต

แต่หลายคนอาจจะไม่เข้าใจว่า ที่ดินมีความหมายกับพวกเขาอย่างไร 

จริงๆ อยากจะให้ทุกคนเข้าใจว่า ไม่มีใครอยากถูกกล่าวหาว่า เป็นผู้บุกรุก ความจริงเขาเป็นผู้บุกเบิก เขาอาศัยทำกินมาก่อน รัฐควรจะให้สิทธิ์เขาในเรื่องนี้ และคนควรคุ้มครองสิทธิ์ของเขาด้วย 

ไม่ต้องช่วงชิงเอาสิทธิ์ไปจากเขา อยากให้เข้าใจว่า คนที่อยู่ในพื้นที่ซ้อนทับกับเขตป่า คนที่อยู่ในป่า ไม่ได้เป็นคนทำลายป่า ที่ผ่านมารัฐมักจะมองว่า คนที่อยู่ในป่าทำลายป่า เป็นคนจุดไฟเผาป่า แต่จริงๆ พวกเขาไม่ได้เป็นคนทำ ตรงกันข้ามเขาทำหน้าที่ดูแลรักษาป่าด้วย เพราะป่า คือแหล่งอาหารของเขา 

เชื่อว่า จะเป็นคนในเมือง ข้าราชการ คนทำงานมีเงินเดือนก็ต้องการที่ดินทำกินทั้งนั้น พวกเขาไม่ต้องการไปเช่าอพาร์ตเม้นท์อยู่ตลอดชีวิต เมื่อคุณต้องการการผลิต เราต้องกระจายที่ดินทำกินให้เป็นธรรม และก็ทุกคนควรจะมีที่ดินทำกินเป็นของตัวเอง 

image_pdfimage_print