โดย วิทยากร  โสวัตร

ภาพหน้าปกโดย เคอร์มิต ครูเกอร์

คลิกอ่านตอนที่ 1 

คุณว่า อะไรทำให้ศูนย์กลางอำนาจกรุงเทพฯ ให้ความสนใจอีสาน ทั้งๆ ที่ “คนอีสานกับคนลาวฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขง เป็นกลุ่มคนที่อยู่ในวัฒนธรรมเดียวกันมาตลอดประวัติศาสตร์อันยาวนาน รัฐไทยส่วนกลางก็ไม่ค่อยให้ความสนใจนัก เพราะเป็นดินแดนที่ถูกนิยามว่ากันดาร  รัฐไทยให้ความสนใจเพียงการส่งส่วย แต่กลับละเลยในแง่ของการพัฒนา…” (ผศ.ธีระพงษ์ มีไธสง, พระสงฆ์กับอำนาจรัฐไทย : บทเรียนจากอดีต-พระธรรมยุตสายอีสาน. ศิลปวัฒนธรรม ปีที่ 35 ฉบับที่ 4 กุมภาพันธ์ 2557)

สรุปก็คือ ไม่เคยเหลียวแล คิดถึงแต่ผลประโยชน์ที่จะได้ คือ ส่วย

จนกระทั่งเกิดกรณีเจ้าอนุวงศ์ในสมัยรัชกาลที่ 3 ซึ่งลงเอยด้วยการปราบปรามยึดเผาเวียงจันท์  เคลื่อนย้ายประชาชนออกจากพื้นที่ให้พลัดที่นาคาที่อยู่ เพื่อไม่ให้เกิดการรวมกำลังขัดขืนอำนาจกรุงเทพฯ  พูดง่ายๆ ความสนใจของศูนย์กลางกรุงเทพฯ ครั้งนี้คือ ความกลัวว่าประชาชนลาวในแผ่นดินที่ราบสูงโคราช จะร่วมก่อการกับศูนย์อำนาจเวียงจันท์ทำลายความมั่นคงของตัวเอง 

พอเข้าสู่สมัยของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ราชสำนักกรุงเทพฯ เริ่มเกิดความกลัวต่อภัยคุกคามจากภายนอก คือ ลัทธิล่าอาณานิคมของตะวันตก ที่รุกคืบเข้ามายังดินแดนฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงแล้ว  “อีสาน ซึ่งเป็นดินแดนฝั่งขวาของแม่น้ำโขง กลายเป็นดินแดนที่อ่อนไหวต่ออำนาจการยึดครอง ทำให้รัฐไทยหันมาสนใจดินแดนแห่งนี้ในฐานะเป็นส่วนหนึ่งของไทย ทั้งที่ในอดีต ดินแดนแห่งนี้ถูกละเลยมานาน ทั้งนี้ โดยเหตุผลว่า ประเทศมหาอำนาจอาจผนวกเอาดินแดนแห่งนี้เป็นส่วนหนึ่งของลาว เพราะคนอีสานมีวัฒนธรรมประเพณีและวิถีชีวิตแบบลาว ดังนั้น พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อเสด็จขึ้นครองราชย์ ทรงมีนโยบายปฏิรูปหัวเมืองลาวให้เป็นไทย โดยพยายามที่จะทำหัวเมืองต่างๆ ในอีสานให้กลายเป็นรัฐชาติไทยอย่างสมบูรณ์ ผ่านการชำระประวัติศาสตร์ในลักษณะชาตินิยมขึ้นด้วยพระราชนิพนธ์ต่างๆ เช่น ปฐมวงศ์ พงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ พระราชพงศาวดารย่อรัตนโกสินทร์ พงศาวดารสยามอย่างย่อ เป็นต้น” (เรื่องเดียวกัน) จะว่าไปแล้ว ถ้าจะบอกว่า เติม วิภาคย์พจนกิจ เขียนประวัติศาสตร์อีสาน ขึ้นบนฐานคิดนี้ก็คงไม่ผิด

คำถามคือ ถ้าไม่มีภัยคุกคามจากลัทธิล่าอาณานิคม จะหันมาสนใจดินแดนแห่งนี้ในฐานะเป็นส่วนหนึ่งของไทยหรือไม่?  คำถามต่อมาคือ เป็นส่วนหนึ่งของไทย เพื่อผลประโยชน์คือ ส่วยหรือทรัพยากรที่จะได้จากดินแดนนี้หรือไม่? เพราะการเรียกเก็บภาษีอากรในสมัยรัชกาลที่ 5 นั้นหนักหน่วงมาก และกรณีกบฏผีบุญที่ลงเอยด้วยการล้อมฆ่าเมื่อ 4 เมษายน 2444  นับเฉพาะที่เมืองอุบลนั้น (เท่าที่เจ้าหน้าที่รัฐบันทึกไว้) มีคนตายมากกว่า 200 คน บาดเจ็บอีก 500 คนเศษ และถูกจับเป็นอีก 120 คน และหลังจากนั้นตลอด 3 เดือน ก็มีการกวาดล้างกลุ่มขบถทั่วภาคอีสาน (มณฑลอีสานและมณฑลอุดร) จับผู้ร่วมขบวนการได้อีก 400 คนเศษนั้น จากบันทึกรายงานของ พระญาณรักขิต (จันทร์ สิริจนฺโท)

พระภิกษุรูปสำคัญที่อยู่ในพื้นที่ขณะนั้นก็ชี้ให้เห็นสาเหตุของการขบถว่า เกิดจากความขัดแย้งภายในระหว่างผู้ปกครองส่วนกลางกับผู้ปกครองส่วนท้องถิ่น เรื่อยไปจนถึงความขัดแย้งระหว่างผู้ปกครองกับราษฎรอีสาน อันมีสาเหตุจากความขัดสนทางเศรษฐกิจและความกดดันทางจิตใจ จึงแสดงออกมาในรูปของความเชื่อทางศาสนาและไสยศาสตร์

ถ้าจะมองว่า การที่คนอีสานลุกขึ้นมาสู้กับศูนย์กลางอำนาจกรุงเทพฯ คือการทวงคืนสิทธิของตัวเองในทรัพยากรและความมั่นคงของชีวิตได้หรือไม่? 

แต่หลังจากนั้น ข่าวคราวอีสานก็เงียบหายไป… 

อีสานมามีชีวิตคึกคักขึ้นมาก็ในช่วงหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นประชาธิปไตย (ผมไม่แน่ใจว่า ช่วงแรกของการเปลี่ยนแปลงการปกครองนั้น สถานะของพระมหากษัตริย์ทรงอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญหรือทรงเป็นประมุข) จนกระทั่ง 4 รัฐมนตรีอีสานถูกฆาตกรรม และคณะราษฎรสูญสิ้น อีสานก็ถูกเพ่งเล็งในฐานะพื้นที่อันตรายของผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์และผู้มีความพยายามที่จะแบ่งแยกดินแดน (ซึ่งผลของมันก็เป็นดังเช่นที่ 4 อดีตรัฐมนตรีได้รับ) 

1.เนื่องจากชนภาคนี้อยู่ใกล้ชิดกับประเทศลาว และเป็นเชื้อชาติเดียวกัน เป็นเหตุให้มีความผูกพันทางจิตใจต่อฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งอย่างไม่แน่นอน  

2.เรื่องการคิดอ่านแบ่งแยกดินแดนนั้น เป็นเรื่องจี้ถูกเส้น ในอนาคตอาจมีได้ เพราะเด็กรุ่นนี้ซึ่งจะเป็นผู้ใหญ่ในวันหน้า ได้รู้ ได้เห็น ได้ศึกษาภาวการณ์ทั่วไป ทั้งภายในและภายนอกประเทศ ก็อาจจะคิดเช่นเดียวกับชาวไอริช แม้จะอยู่เกาะอังกฤษก็ยังแยกปกครองจากอังกฤษ เป็นต้น  

3.ในสมัย ทองอินทร์, เตียง, ถวิล และจำลอง เป็นรัฐบาลนั้น ได้รับการสนับสนุนจากปรีดีให้รวมลาวทั้ง 2 ฝั่ง โดยอาศัยหลักเชื้อชาติ ซึ่งการกระทำเช่นนี้ ความจริงเป็นดาบ 2 คม คือ อาจเป็นว่า ลาวฝั่งโน้นมารวมกับฝั่งนี้ หรือฝั่งนี้อาจหันไปรวมกับฝั่งโน้น  

4.หน่วยใต้ดินเสรีไทยในภาคอีสานที่ก่อตั้งกันขึ้นไว้ในสมัยโน้นยังไม่สิ้นขาด หากเมื่อใดไม่พอใจการกระทำของรัฐบาล หรือต้องการเป็นใหญ่เป็นโตเสียเอง ก็อาจทำการปลุกปั่นขึ้นก็ได้… ทางฝ่ายรัฐบาลจำเป็นที่จะต้องดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งอย่างจริงจัง…” (กจช.(3)สร.0201.22/66 รายงานการตรวจราชการภาคอีสานของนายเลียง ไชยกาล (ส.ส.อุบลราชธานี) รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงยุติธรรม 10 พฤษภาคม 2500) 

ต้องบันทึกไว้ด้วยว่า ปีรุ่งขึ้นหลังสิ้นคำรายงานนี้ เมื่อจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ทำการปฏิวัติเปลี่ยนประเทศให้เป็นระบอบเผด็จการอย่างเต็มที่ ก็ได้กลับฟื้นคืนพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ด้วย

ดังนั้น เมื่อเกิดมีกระแสลัทธิการปกครองแบบสังคมนิยมคอมมิวนิสต์เข้ามา ก็เป็นธรรมดาที่เผด็จการซึ่งหนุนโดยรัฐบาลสหรัฐขณะนั้นจะเกรงกลัว และทางกษัตริย์เองก็หวาดหวั่นด้วยเห็นการถูกโค่นของราชวงศ์โรมานอฟในรัสเซีย ราชวงศ์ลาวและกัมพูชา ทำให้เกิดการร่วมมือต่อสู้ทุกๆ ทางกับคอมมิวนิสต์ และความร่วมมือนั้น ระหว่างกองทัพกับกษัตริย์ ก็มั่นคงมาถึงวันนี้ จนวางรากฐานแห่งอำนาจแน่นหนาทุกองคาพยพในประเทศ

และอีสานก็เป็นดินแดนที่มีการต่อสู้รุนแรงที่สุด  

คำถามคือ ทำไมคนอีสานจึงจับปืนขึ้นสู้กับศูนย์กลางอำนาจรัฐมากมายขนาดนั้น คำตอบนั้นอาจมีมากมายแล้วจากการศึกษาของนักวิชาการ แต่ส่วนตัว ผมเคยคุยกับแม่ชีคนหนึ่งที่วัดแห่งหนึ่งบนภูพาน ผู้ซึ่งเคยเป็นสหายหญิงใน พคท. ซึ่งการพูดคุยนั้นมีรายละเอียดน่าสนใจมาก

“หนทางมันกะบ่ดี พวกแม่กะระเบิด มันกะมาซ่อมเฮ็ดให้ดี สิข้ามน้ำกะยาก สะพานกะบ่ดี พวกแม่กะเผา เผาแล้วมันกะมาสร้างให้ดี บ่พอใจหยัง หรืออยากได้หยังกะเผากะสู้เอา พวกมันจังสิมาเฮ็ดมาสร้างมาดูแล  บอกดีๆ เว้าดีๆ นำมันบ่เฮ็ด… พอได้ตามที่ต้องการแล้ว พวกแม่กะเลิกเป็นคอมฯ มาเป็นคนธรรมดา” 

และแล้วพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) ก็แพ้ราบคาบ (แพ้เพราะอะไรยังไง ประเด็นนี้ก็ท้าทายให้ศึกษาค้นคว้ามาก) 

แต่ปัญหาคือ ตลอดเวลาอันยาวนาน คนอีสานกลับเสมือนเป็นพลเมืองชั้นสอง เป็นอย่างที่ ฌาคส์  ร็องซิแยร์ ให้นิยามว่า “ส่วนที่ถูกนับ เพื่อที่จะไม่นับรวมให้เป็นส่วน” นั่นแหละ

คนอีสาน มามีตัวตนทั้งในเรื่องสิทธิความเป็นพลเมือง อำนาจต่อรองทางเศรษฐกิจ และการเมือง ก็ตอนที่รัฐธรรมนูญ 40 ออกดอกผล (สังเกตไหมว่า สังคมหรือคนอีสานตื่นตัวมีชีวิตชีวา ก็ต่อเมื่อมีระบอบการเมืองประชาธิปไตยที่เขามีส่วนร่วมจริงๆ) จึงไม่แปลกที่พวกเราพร้อมไปตายเมื่อปี 2553 ซึ่งลึกๆ แล้ว ไม่ใช่เพื่อทักษิณ ชินวัตร แบบที่คนสิ้นคิด อคติอัดแน่นกินสมอง กล่าวหาหรอก แต่มันคือการลุกขึ้นมาปกป้องอัตลักษณ์หรือตัวตนความเป็นคนเป็นมนุษย์และสิทธิอำนาจในการแชร์ผลประโยชน์ชาติ มันเป็นการต่อสู้เพื่อรักษาดอกผลแห่งชีวิตที่ดีที่เพิ่งได้รับ ซึ่งผ่านเวลาอันยาวนานในประวัติศาสตร์การต่อสู้เรื่องนี้มา

แต่แล้ว มันก็ถูกทำลายลงแล้วแทบจะสิ้นซากด้วยรัฐประหารปี 2557 และคงถูกขังลืมด้วยรัฐธรรมนูญมีชัยและโร้ดแม็บ 20 ปี 

ทั้งหมดนี้ เป็นคำถามที่ผมมีต่อความพยายามของศูนย์กลางอำนาจรัฐ ในการที่จะทำให้คนอีสานกลายเป็นคนไทย (ไทยอีสาน) ว่าจริงใจที่จะมุ่งมั่นทำให้เป็นแบบนั้นอย่างสมบูรณ์แท้จริงหรือไม่?

อ่านมาถึงตรงนี้คุณๆ ก็น่าจะรู้ว่าผมคิดอย่างไร.

image_pdfimage_print