โดย ภาณุพงศ์  ธงศรี

ในวันที่ศิลปวัฒนธรรมเคลื่อนไหวไปกับกระแสโลก หมอลำสินไซบ้านห้วยหว้า เป็นเพียงเรื่องเล่าในชุมชน ถือเป็นตำนานที่เล่าสืบทอดกันมาผ่านผู้เฒ่าผู้แก่ที่เคยเป็นหมอลำสินไซในหมู่บ้านห้วยหว้า ตำบลโนนฆ้อง อำเภอบ้านฝาง จังหวัดขอนแก่น

“ประชากรในสังคมไทยในยุคปัจจุบัน มีแนวโน้นเป็นสังคมของผู้สูงอายุมากขึ้น ในสังคมชนบทข้อมูลความรู้ล้วนบันทึกผ่านความทรงจำและภูมิปัญญาท้องถิ่น หากไม่อนุรักษ์สืบสานไว้ สักวันต้องหายไปจากความทรงจำของชุมชน” สุนทรชัย ชอบยศ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ประจำวิทยาลัยการเมืองการปกครอง มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ผู้ร่วมก่อตั้งอุทยานการเรียนรู้สินไซโนนฆ้องเล่าถึงแนวคิดในการสร้างอุทยานการเรียนรู้สินไซโนนฆ้อง ซึ่งเป็นศูนย์การเรียนรู้ศึกษาธรรมชาติผสานกับตัวบทวรรณกรรมอีสาน

เรื่องสินไซ เป็นวรรณกรรมที่สำคัญในชุมชนแห่งนี้ เพราะกว่าร้อยละ 80 ของหมู่บ้านในตำบลโนนฆ้อง มีคณะหมอลำสินไซเป็นเอกลักษณ์ที่โดดเด่น

หมอลำสินไซเป็นหมอลำเรื่องต่อกลอนประเภทหนึ่ง แสดงแต่เรื่องสินไซเท่านั้น ลักษณะกลอนลำแตกต่างจากกลอนลำวาดอุบล วาดขอนแก่นและวาดบัวบานเคิ่ง มหาสารคาม

คำว่า สินไซ มาจากวรรณกรรมเรื่องสินไซ นักวิชาการหลายท่านให้ความเห็นว่า ท้าวปางคำเป็นผู้แต่งขึ้น ศิลปะการใช้ภาษา เนื้อเรื่องมีความโดดเด่น เป็นเอกลักษณ์ แฝงแนวคิดเกี่ยวกับฮีตคองของชาวอีสาน ในวันศีลใหญ่ พระสงฆ์จะนำวรรณกรรมเรื่องนี้มาเทศนา นอกจากนั้นในงานงันเฮือนดีก็จะมีการอ่านหนังสือผูกฉบับนี้อย่างแพร่หลาย

จุดเริ่มต้นของหมอลำสินไซเกิดขึ้นในช่วงปี 2470 – 2500 ชาวอีสานเดินทางขายแรงงานและแลกเปลี่ยนสินค้า ต่อมาการติดต่อคมนาคมด้วยรถไฟสะดวกมากขึ้นจึงเริ่มรับอิทธิพลศิลปะการแสดงจากท้องถิ่นอื่นเข้าสู่ภาคอีสาน เช่น หนังประโมทัย หมอลำเพลิน หมอลำสินไซ จุดนี้เองที่หมอลำสินไซได้รับการปรับปรุงพัฒนากระทั่งกลายเป็น “หมอลำสินไซ” ในปัจจุบัน

จะเห็นว่า หมอลำสินไซมีกลอนลำเป็นโคลงสาร พบการใช้คำประพันธ์ลักษณะนี้ได้ทั่วไปในการแต่งนิทาน ตำนาน และเรื่องราวทางพระพุทธศาสนา โดยทั่วไปโคลงสารสามารถเป็นกลอนลำได้หลายทำนอง มีทั้งแบบคำสร้อยเสริมวรรคท้าย ส่วนมากใช้กับลำทางยาว แบบไม่มีคำสร้อยเสริมวรรคท้าย หมอลำร้องเป็นจังหวะทางสั้น 

กล่าวถึงเจ้า      ยักษ์ใหญ่กุมภัณฑ์

มันก็เนาคีรี      เขตผีสางเชื้อ

มันบ่มีเมียซ้อน      นอนเดียวแล้วเปล่า

ตากุมภัณฑ์ยักษ์เฒ่า     เนายั้งเขตดง

อโนราชใหญ่กว้าง      เขตด่านกุมภัณฑ์

มีแต่คนเดียวมัน      อยู่ดอยเขากว้าง

ดินว่าเขาหลวงนั้น      กุมภัณฑ์เป็นชื่อ

ลือเดชกล้า      คนฆ่าบ่ตาย

โขงเรียบค่าย      กลัวเดชกุมภัณฑ์

ยังบ่มีคนใด๋      อาจถองถึงได้

นับแต่คนเมืองพื้น      จักรวาลแสนย่าน

(สุนทรชัย ชอบยศ และคณะ, 2562 : 36 – 37)

คำประพันธ์ที่ยกมาเป็นตัวอย่างส่วนหนึ่งของกลอนลำหมอลำสินไซ บ้านห้วยหว้า ตำบลโนนฆ้อง อำเภอบ้านฝาง จังหวัดขอนแก่น โดยเนื้อหากล่าวถึงยักษ์กุมภัณฑ์ ซึ่งเป็นตัวละครสำคัญของเรื่องสินไซ อีกทั้งยังเป็นตัวละครเริ่มต้นสร้างปมขัดแย้งในเรื่อง เพราะไปอุ้มนางสุมนทามาเป็นภรรยาของตน

ทำให้สินไซและบรรดาน้องๆ ต้องรับอาสาออกไปตามหาอา (นางสุมนทา) เป็นที่มาของกลอนลำที่ได้รับความนิยม คือ สินไซเดินดง เป็นกลอนลำที่เล่าถึงการผจญภัยของสินไซที่ใช้ไหวพริบปฏิภาณและปัญญาในการแก้ปัญหาต่างๆ ให้ถูกต้องตามครรลองฮีตคองประเพณี

รูปแบบการแสดงของหมอลำสินไซจะรำเป็นคณะ คล้ายรำวงภาคกลางด้วยลักษณะดังกล่าวจึงพออนุมานให้เราเห็นการประยุกต์ทางวัฒนธรรมจากลำพื้นสู่ลำสินไซ โดยเฉพาะในจังหวัดร้อยเอ็ด มหาสารคามและขอนแก่น มีคณะหมอลำสินไซกระจายในชุมชนต่าง ๆ โดยเฉพาะในตำบลโนนฆ้อง อำเภอบ้านฝาง จังหวัดขอนแก่น มีหมอลำสินไซอยู่หลายคณะ เช่น หมอลำสินไซ คณะรวมดาวบันเทิงศิลป์ บ้านโนนฆ้อง หมอลำสินไซบ้านห้วยหว้า ตำบลโนนฆ้อง อำเภอบ้านฝาง จังหวัดขอนแก่น

สำหรับหมอลำสินไซบ้านห้วยหว้า หมอลำทองอ่อน คำมี เล่าถึงประวัติความเป็นมาว่า“หมอลำสินไซบ้านห้วยหว้า เรียนลำกับพ่อทุย พ่อขูลู บ้านศาลา อำเภอหนองเรือ จังหวัดขอนแก่น เพราะติดใจการแสดงของหมอลำทั้งสองคน ในหมู่บ้านสมัยนั้นมี 2 คณะ คือ บู่ทองบันเทิงศิลป์และชาลีบันเทิงศิลป์ เรียนลำกันไม่นานก็ออกลำ โชาวบ้านจะเรียก ลำกกขาขาว หรือ ลำสินไซกกขาขาว คณะหมอลำเล่นอยู่หลายปี กระทั่งช่วงปี 2510 หมอลำสินไซหมดความนิยม หมอลำในคณะก็หันไปลำเรื่องต่อกลอนวาดขอนแก่น ลำเพลิน” 

จุดเริ่มต้นของคณะหมอลำสินไซ บ้านห้วยหว้าจึงมาจากความชื่นชอบหมอลำและศิลปะการแสดงที่สามารถสร้างรายได้ให้กับครอบครัว

นับตั้งแต่ปี 2510 หมอลำสินไซบ้านห้วยหว้า ไม่ได้รับความนิยม เพราะมีหมอลำแบบใหม่ขึ้นมาแทนที่ เยาวชนรุ่นใหม่เริ่มไม่รู้จัก หมอลำรุ่นก่อตั้งเริ่มโรยแรงและเสียชีวิตไป ร่องรอยในอดีตเหลือเพียงปื้มกลอนลำที่สืบทอดกันมารุ่นต่อรุ่น 

ขณะเดียวกันสภาพสังคมเศรษฐกิจก็ขับให้คนออกจากหมู่บ้านเพื่อขายแรงงาน ในหมู่บ้านเหลือเพียงเด็กและคนแก่ 

ภูมิความรู้ด้านการลำสินไซก็เลือนหายไปกับชีวิตของหมอลำ ด้วยเหตุนี้ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สุนทรชัย ชอบยศและคณะ ซึ่งเป็นลูกหลานบ้านห้วยหว้า จึงเห็นความสำคัญของภูมิปัญญาที่จะต่อยอดเป็นสินค้าทางวัฒนธรรมและเป็นแหล่งเรียนรู้เกี่ยวกับวรรณกรรมพื้นบ้านและศิลปะการแสดงได้ 

จึงเป็นที่มาของอุทยานการเรียนรู้สินไซโนนฆ้อง ภายใต้การสนับสนุนของมหาวิทยาลัยมหาสารคาม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัยและศูนย์มานุษยวิทยาสิริธร

อุทยานการเรียนรู้สินไซโนนฆ้องแห่งนี้ เป็นพื้นที่รวบรวมมรดกทางภูมิปัญญาของหมอลำสินไซจากชุมชนเอาไว้ มีพื้นที่ในการแสดงหมอลำสินไซ เป็นจุดรวมของผู้สูงอายุในชุมชนได้มาสนุกสนาน แลกเปลี่ยน ถ่ายทอดองค์ความรู้ไว้ให้ลูกหลานในชุมชนสืบต่อไป 

การขับเคลื่อนนี้ทำให้หมอลำสินไซกลายเป็นสินค้าทางวัฒนธรรมสร้างรายได้ให้กับชุมชนจากการเปิดพื้นที่เป็นนิทรรศการเกี่ยวกับวรรณกรรมสินไซ 

ในอดีตพื้นที่ของวรรณกรรมสินไซ ปรากฎในฮูปแต้มหรือหมอลำเท่านั้น แต่วันนี้เรื่องราวของวรรณกรรมสินไซถูกถ่ายทอดบอกเล่าผ่านอุทยานการเรียนรู้ แนะนำตัวบทและตัวละครในเรื่อง โดยใช้แนวคิดจากกลอนลำ สินไซเดินดง เป็นตัวดำเนินเรื่องในด่านต่างๆ ฐานความรู้ในพื้นที่ป่า เช่น ฐานงูซวง ฐานยักษ์กันดารและฐานพญาช้าง  

เป็นการสร้างองค์ความรู้ด้านวรรณกรรมให้เป็นที่รู้จักร่วมกันในชุมชน ตลอดจนบุคคลทั่วไปที่สนใจ พร้อมทั้งยังได้นำหมอลำสินไซบรรจุในหลักสูตรท้องถิ่นใช้พื้นที่แห่งนี้เป็นสื่อการเรียนรู้ที่สามารถเข้าถึงได้ง่าย 

หมอลำสินไซบ้านห้วยหว้าจึงกลับมามีชีวิตชีวา คนเฒ่าคนแก่เริ่มนำกลอนลำเก่าๆ ออกมาบอกเล่าร่วมกันอนุรักษ์และเห็นคุณค่าของภูมิปัญญาด้านศิลปะการแสดงที่มีอยู่

หมอลำสินไซ ในวันที่โลกสมัยใหม่เสพสื่อบันเทิงผ่านโลกออนไลน์ คนในชุมชนไม่ได้ให้ความสำคัญกับภูมิปัญญาในกลอนลำ อุทยานการเรียนรู้สินไซโนนฆ้อง จึงเป็นสถานที่ที่ช่วยต่อลมหายใจของหมอลำสินไซและภูมิปัญญาวรรณกรรมท้องถิ่นให้คงอยู่ต่อไปภายใต้กระแสวัฒนธรรมที่เปลี่ยนแปลง ปรับเปลี่ยนรูปแบบการนำเสนอจากหน้าเวที สู่หน้าจอออนไลน์ที่คนเข้าถึงได้เพียงแค่มีสัญญาณอินเทอร์เน็ต

เอกสารอ้างอิง

  • สุนทรชัย ชอบยศและคณะกลอนลำและประวัติศาสตร์หมอลำสินไซ บ้านห้วยหว้า ตำบลโนนฆ้อง อำเภอบ้านฝาง จังหวัดขอนแก่น. ขอนแก่น: อภิชาติการพิมพ์, 2562.
image_pdfimage_print